Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วิกิกับพี่พิม
•
ติดตาม
9 มิ.ย. 2022 เวลา 11:00 • การศึกษา
Ep. 10 บนเส้นทางจากอดีต...... ณ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์
DPRK-Pyongyang:Korean Central History Museum
ตอนบ่าย ได้ไปแวะโรงแรมเปียงยาง เพื่อให้ผู้ที่ไม่มีรูปสำหรับทำวีซ่าเข้าจีนได้ถ่ายรูป ในอดีต โรงแรมนี้คงเคยเป็นโรงแรมชั้นนำของเมือง นายถามตุ้ยนุ้ยว่า ทำไมไม่พาไปร้านถ่ายรูปโดยตรง ตุ้ยนุ้ยก็ว่าที่นี่แหละสะดวกและรวดเร็วดี
นายถามอีกว่า เมื่อไหร่จะพาไปช้อปปิ้งบ้าง ตุ้ยนุ้ยก็ย้อนกลับว่าจะซื้ออะไรล่ะ บ้านผมไม่มีอะไรเป็นพิเศษให้ซื้อหรอก ... ดูท่าทางแล้ว ไม่เต็มอกเต็มใจเลยที่จะให้พวกเราได้ผันเงินวอนที่เพิ่งจะมีโอกาสแลกที่โรงแรมแห่งนี้เสียบ้างเลย
นายไม่ยอมแพ้ เดินรี่ไปหาคุณหลัง ผู้มีอำนาจเต็มในการจัดต้อนพวกเรา ตุ้ยนุ้ยก็รีบเดินตามมาติดๆ ด้วยหน้าที่ของเขาคือ ต้องแปลทุกอย่างที่พวกเราหรือคุณหลังพูด นายบอกคุณหลังว่า ทั้งคณะที่มาอยากหาซื้อเหล้าโสมกับชาโสมรสเลิศแบบที่ได้ดื่มที่บ้านมารัม และอยากได้ของที่ระลึกบ้างนิดหน่อย เมื่อไรคุณหลังจะกรุณาพาไปดูของ คุณหลังฟังแล้วพยักยิ้มสุภาพ ตอบผ่านตุ้ยนุ้ยว่า พรุ่งนี้หรือมะรืนนี้ได้ดูแน่
คุณหลังผู้นี้เป็นคนพูดน้อยต่อยหนัก ดูสงบ สุภาพ และระแวดระวังอยู่ในทีตลอดเวลา ดังนั้น เวลาคุณหลังสัญญาอะไรแล้วเชื่อถือได้เสมอ อนึ่ง คณะของเราคงจะทำความหนักใจให้คุณหลังมิใช่น้อย เพราะเป็นคณะใหญ่ ฟองน้ำสังเกตว่า เวลาไปไหน คุณหลังจะอยู่รั้งท้ายคอยนับเรา ถ้านับครบ 15 แล้วคุณหลังก็จะทำท่าโล่งใจ พร้อมกับพูดเบาๆ ว่า ‘ซีโบ่’
ในหมู่พวกเรานั้น คนที่มักอยู่รั้งท้ายก็คือ คุณรุ่ง กับ คุณดำ คุณหลังจึงมักจับตาดูที่ 2 คนนี้ เป็นทำนองว่าถ้าเห็นทั้ง 2 คนนี้แล้ว เย็นใจได้ว่า อีก 13 คนก็ต้องอยู่ในกลุ่มแล้ว
นายถามกบน้อยได้ความว่า เลข 15 ภาษาเกาหลีว่า ‘ซีโบ่’ ดังนั้น ระยะหลังๆ เราจึงแหย่คุณหลังเล่น เวลาเห็นคุณหลังแอบเหลียวหน้าเหลียวหลังนับจำนวนพวกเรา พอครบ เราก็ช่วยคุณหลังนับเลขว่า ‘ซีโบ่’ ดัง ๆ คุณหลังยิ้มเขิน ๆ ที่พวกเราแอบล้วงความลับนี้ได้
ฟองน้ำตามนายไปชะแง้ดูเขาถ่ายรูปกัน ห้องถ่ายรูปอยู่ค่อนไปทางด้านหลังของโรงแรม ลักษณะเหมือนกับห้องถ่ายรูปทั่วไป คือมีฉากหลัง สปอตไลท์ มีอุปกรณ์ถ่ายรูปตั้งอยู่บนขาหยั่งคลุมผ้าดำ ที่แปลกคือ เก้าอี้นั่งถ่ายรูปเป็นม้ายาว เขาจัดให้ถ่ายพร้อมกันทีละ 2 คน เพื่อประหยัดฟิล์ม (เหมือนกันกับที่สถานทูตเกาหลีเหนือที่ปักกิ่ง)
นายพูดขำๆ ว่า นี่ถ้าเขาบังคับว่าต้องถ่ายรูปคู่หญิง-ชาย โดยจับพี่จินต์คู่คุณนันต์ จับคุณหมอคู่พี่แมวแล้วไซร้ คงยุ่งพิลึก ... ก่อนถ่าย ช่างภาพก็สั่งให้นั่งชิดจนไหล่ชนกัน เพื่อจะได้แน่ใจว่าไม่มีใครหลุดไปจากกรอบ! พอถ่ายเสร็จ เขาก็ตัดฟิล์มแยกออกก่อนนำไปอัด ค่าถ่ายรูป 4 คน รวม 10 วอน ได้รับรูปเหมือนตัวจริงมากคนละครึ่งโหล
ในระหว่างนั้น บางคนก็ถือโอกาสเดินดูของในร้าน 2-3 ร้านของโรงแรม บางคนก็รี่ไปซื้อโปสการ์ดที่เคาน์เตอร์พนักงานต้อนรับ ที่นี่มีแสตมป์ขายด้วย
พวก ‘ช่างซื้อ’ ซื้อนั่นซื้อนี่กันหลายคน รวมทั้งนายด้วย เพราะเพียงแค่ 3 วัน เราก็ตระหนักได้แล้วว่าจะไม่มีโปรแกรมช้อปปิ้งแบบ ‘ตามใจฉัน’ แน่ๆ ด้วยไม่เคยมีรายการหยุดข้างทางนอกกำหนดการ หรือถึงอยากไปช้อปเอง เราก็ไม่กล้าหาญพอที่จะลอดอุโมงค์ออกไปเจรจาขออนุญาตกับทหารยาม และที่สำคัญ ไม่มีปัญญาเดินเข้าเมือง 20 กิโลแน่ๆ
ฟองน้ำยังไม่เคยเห็นตู้ไปรษณีย์ที่นี่เลย ซึ่งที่เมืองไหนๆ ก็มักมีตั้งอยู่ข้างถนน แต่ที่นี่ไม่มี นายคุยกับนักศึกษาคนหนึ่งที่ท่าน้ำบ้านมารัมเมื่อวันก่อน เขาบอกว่าจดหมายทุกฉบับ ต้องผ่านระบบการเซนเซอร์ ก่อนที่จะส่งผ่านออกทางปักกิ่ง ถ้าส่งไปยังประเทศแถบเอเซีย และต้องผ่านมอสโคว์ ถ้าเป็นจดหมายสำหรับประเทศทางยุโรป อย่างไปเมืองไทย คงกินเวลาประมาณ 3 อาทิตย์ – 1 เดือน!
1
ปกติ นายเป็นโรคชอบส่งโปสการ์ดถึงเพื่อนฝูงเวลาไปเที่ยวไหนๆ แต่คราวนี้นายรู้สึกหมดสนุก เพราะกว่าคนรับจะได้อ่าน ข่าวของนายก็เก่าเก็บไปแล้ว ถึงกระนั้น ฟองน้ำก็ยังเห็นนายทู่ซี้เขียนถึง 2 แผ่น เป็นโปสการ์ดไม่ใส่ซอง เพราะนายอยากอำนวยความสะดวกแก่ฝ่ายเซนเซอร์
ข้อความในโปสการ์ดทั้ง 2 แผ่นนั้น บรรยายถึงนครเปียงยางอย่างเลอเลิศเป็นพิเศษด้วย ฟองน้ำรู้สึกว่านายอาจเสียค่าแสตมป์ไปเปล่า ๆ เพราะแผ่นหนึ่งนั้นนายจ่าหน้าซองถึงพ่อ-แม่ทูนหัวที่เบอร์ลินตะวันตก ในเขตปกครองของอเมริกันเสียด้วย!
เสร็จธุระที่โรงแรมเปียงยางแล้ว เขาก็พาเราไปชมพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ ใกล้ๆ กับพิพิธภัณฑ์เป็นทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นตึกใหญ่ 2 ตึกตั้งประจัญหน้ากัน มีลานหินกว้างคั่น ที่หน้าตึกหลังหนึ่ง มีภาพวาดของมาร์กซ์ และ เลนิน ติดไว้คนละปีก ส่วนอีกตึกหนึ่ง ติดรูปท่าน คิม อิล ซุงไว้ตรงกลาง รูปใหญ่เป็น 2 เท่าของ
รูปมาร์กซ์และเลนิน
พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์นี้ ตั้งขึ้นในค.ศ. 1945 ทันทีหลังจากได้รับอิสรภาพจากญี่ปุ่น ทั้งนี้เพราะท่านประธานาธิบดีเห็นความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ประชาชนเกาหลีทุกคนจะต้องรู้ประวัติความเป็นมาอันยาวนานของชาติตน พิพิธภัณฑ์แบ่งเป็น 14 ห้องใหญ่ เรียงเนื้อหาสาระตามลำดับความเก่าแก่ทางประวัติศาสตร์ โดยเริ่มตั้งแต่วิวัฒนาการของคนเกาหลีเมื่อกว่า 5,000 ปีมาแล้ว จนกระทั่งถึงปี 1919
เหตุการณ์ต่อจาก ค.ศ. นี้ เขาแยกไปแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ปฏิวัติ ซึ่งถือว่าเป็นพิพิธภัณฑ์สำคัญที่สุดที่เราจะได้ไปชมในวันมะรืนนี้
มุมมองอีกด้านหนึ่งของตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์
เมื่อคณะเราไปถึง ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นผู้หญิงออกมาต้อนรับ แล้วเธอก็ส่งมอบเราให้กับไกด์สาวในเครื่องแบบสีน้ำเงินที่มาร่วมต้อนรับด้วยไกด์ผู้คล่องแคล่วของพิพิธภัณฑ์เริ่มบรรยายฉาดฉานด้วยภาษาอังกฤษ
1
ที่ห้องหมายเลข 1 เธอชี้ไปที่แผนที่คาบสมุทรเกาหลีทั้งหมด เน้นว่า ชาวเกาหลีถือครองแผ่นดินนี้มาตั้งแต่สมัยโบราณกว่า 5,000 ปีมาแล้ว ไม่เคยมีผู้อพยพมาจากที่อื่น แล้วก็ชี้ลงมาทางใต้ของคาบสมุทร (บริเวณดินแดนเกาหลีใต้) พลางว่า ตอนนี้ทางใต้ของประเทศตกอยู่ในอิทธิพลของต่างชาติ แต่เรากำลังขจัดอิทธิพลนั้นและเราจะรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในอนาคต
เขาจำลองภูเขาโคมุมโมรุ ซึ่งเชื่อว่าเป็นที่อยู่ของชนเผ่าดั้งเดิมไว้ที่มุมห้อง ชนเผ่านี้ชื่อ เป่าตงกูซิค หรือเรียกอีกชื่อว่า คนภูเขา “ยูนิซัน” แปลว่า “Man of Victory” เป็นชนเผ่าที่มีรูปร่างสูงใหญ่และแข็งแรงกว่าชาวตะวันออกทั่วไป
มีบ้านจำลองลักษณะคล้ายบ้านชาวไทยภูเขาบ้านเรา คือมีห้องสารพัดประโยชน์ห้องเดียวในบ้าน มีเตาไฟอยู่ตรงกลาง ในตู้โชว์ มีโครงกระดูกศีรษะมนุษย์โบราณ เครื่องปั้นดินเผาอายุกว่า 700 ปีขึ้นไป เครื่องประดับทำด้วยหิน บรอนซ์ และภาชนะต่าง ๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน
มีโอ่งแบบต่างๆ ตั้งเรียงรายอยู่ ไกด์อธิบายว่า สมัยก่อนนั้นเก็บตุนอาหารโดยยัดใส่โอ่ง แล้วคว่ำโอ่งเอาไว้เพื่อรักษาความเย็น และยังใช้เป็นเฟอร์นิเจอร์ประดับบ้านไปด้วย ดังนั้น แต่ละบ้านจึงมักมีโอ่งหลายใบ รูปร่างและลวดลายแตกต่างกันไปตามฐานะและฝีมือของเจ้าของบ้าน
จากการขุดคุ้ยของนักโบราณคดีพบหลักฐานว่า มีการปลูกข้าวในเกาหลีกว่า 3,000 ปีมาแล้ว มีผู้พบเมล็ดข้าวเรียงรายอยู่ใกล้ๆ หลุมฝังศพมากมาย ที่ฝังศพคนใหญ่คนโตมักมีศพทาสฝังอยู่รอบๆ ด้วย (ประมาณศตวรรษที่ 8 – 7 ก่อนคริสตกาล) และพวกเขาจะสรรหา ‘หินตั้ง’ (Dolmen) มาวางไว้เป็นสัญลักษณ์บนหลุมฝังศพ หินตั้งบางก้อนยาวถึง 8 เมตร
1
ระบอบศักดินาสวามิภักดิ์ (Feudalism) ครอบคลุมเกาหลีเป็นเวลานานเกือบ 2,000 ปี เริ่มด้วยการเกิดของอาณาจักรใหญ่ 3 อาณาจักร ได้แก่
อาณาจักร โกกูริโย (Kokuryo) ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นอาณาจักรที่เข้มแข็งที่สุด ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาล จนถึงกลางศตวรรษที่ 7
อาณาจักร ปาลเฮ (Palhae) ปลายศตวรรษที่ 7 ถึงต้นศตวรรษที่ 10
อาณาจักร โกริโย (Koryo) ตั้งแต่ศตวรรษที่ 10 ถึงศตวรรษที่ 14 ซึ่งเป็นยุคที่เกาหลีได้รวมตัวกันเป็นปึกแผ่น
ภายในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์
ขอขอบคุณภาพจาก
www.dprktourism.com
และ
www.koreakonsult.com
เกาหลีเริ่มมีระบบกษัตริย์ในปลายศตวรรษที่ 14 ภายใต้การปกครองของกษัตริย์แห่ง
ราชวงค์ลี ซึ่งปกครองเกาหลีมาเป็นเวลานาน จนกระทั่งเกาหลีตกไปเป็นของจีน ในปีค.ศ. 1627 และต่อมา ก็ตกเป็นดินแดนในอารักขาของญี่ปุ่นเมื่อจีนแพ้สงครามญี่ปุ่น (1894 – 1895) และในที่สุด ญี่ปุ่นก็ได้ผนวกเกาหลีเข้าเป็นดินแดนของตนเมื่อ 1910 (ประโยคหลังนี้ไกด์ไม่ได้พูด แต่นายสรุปต่อเอง)
ในพิพิธภัณฑ์นี้ มีของสวยๆ งามๆ ที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์มากชิ้นทีเดียว ฟองน้ำดูจนลายตาไปหมด เราเดินผ่านตู้โชว์เสื้อเกราะของนักรบแห่งอาณาจักรโกกูริโย พร้อมกับรองเท้าใส่ขี่ม้าออกรบรูปร่างทู่ๆ น่าเอ็นดู แต่พิษสงอยู่ตรงหนามที่พื้นรองเท้า
อีกห้องหนึ่งเป็นห้องมืด สมมุติเป็นถ้ำจำลองบรรยากาศที่เก็บศพกษัตริย์สมัยโบราณ เพดานเขียนภาพพระอาทิตย์คู่กับพระจันทร์ และจำลองภาพจิตรกรรมฝาผนังไว้ด้วย เป็นภาพสีของสมัยโกกูริโย ที่วาดไว้เมื่อ 1,500 ปีมาแล้ว นอกจากนั้น ยังมีภาพแผนภูมิทางดาราศาสตร์และอื่นๆ ที่แสดงให้เห็นว่า อาณาจักรโกกูริโย เจริญก้าวหน้าในศาสตร์ต่างๆ เพียงไร
ยังมีงานฝีมือประเภทศิลาดลที่มีชื่อหลายชิ้นวางโชว์อยู่ ว่ากันว่า ศิลาดลโกริโยสีเขียวอมฟ้า ที่ผลิตขึ้นในศตวรรษที่ 13 เหล่านี้ ถือว่าเป็นศิลาดลที่มีค่าและเก่าแก่ที่สุดในโลกทีเดียว ไกด์เล่าว่า มีห้องจำลองสถานที่ และวัตถุโบราณที่ขณะนี้ยังตกค้างอยู่ใน “ตอนใต้ของคาบสมุทรเกาหลี” ที่นี่ด้วย (เธอเลี่ยงไม่ใช้คำว่า “เกาหลีใต้” เลย)
1
นายยืนจ้องภาพ ๆ หนึ่งอย่างรู้สึกแปลกๆ เป็นภาพวาดในศตวรรษที่ 14 เป็นรูปภรรยาตัดผมตัวเองขายเพื่อแลกข้าวให้สามีกิน ที่มุมบนซ้ายของภาพ มีตารางอธิบายประกอบว่า สิ่งที่แพงที่สุดในยุคนั้น เรียงตามลำดับได้แก่ วัว ผู้หญิง เด็ก แล้วก็ผู้ชาย (ซึ่งค่าตัวต่ำที่สุดแน่ะ!)
1
ผ่านห้องแสดงภาพวาดภูมิประเทศของเกาหลี มีรูปภูเขาที่สวยที่สุดของเกาหลี ชื่อ ภูเขากุมกัง (Mount Kumkang) เป็นยอดสูงแห่งหนึ่งของเทือกเขากุมกัง ซึ่งมีอาณาเขตติดกับเกาหลีใต้ เกาหลีทั้งสองฝ่ายต่างก็อยากพัฒนาเทือกเขานี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพราะมีภูมิประเทศสวยมาก แต่ติดขัดตรงเงื่อนไขที่แต่ละฝ่ายเสนอ โครงการนี้จึงต้องยับยั้งไว้ก่อน
อย่างไรก็ดี ฝ่ายเหนือเขาอวดว่า เทือกเขากุมกังที่อยู่ในดินแดนของเขาสวยกว่าของทางใต้
มีห้องเก็บพระพุทธรูปทองคำงามๆ หลายองค์ ไกด์เล่าอีกว่า ศาสนาพุทธถูกนำมาเผยแผ่ในเกาหลีเมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว แต่เขาห้ามสร้างวัดในเขตเมือง และต่อมา การนับถือศาสนาพุทธก็หมดสิ้นไปเมื่อเกาหลีเปลี่ยนการปกครองเป็นสังคมนิยม ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นวัดพุทธมีอยู่กระจัดกระจายตามป่าเขาเท่านั้น ชาวพุทธซึ่งเป็นคนส่วนน้อยที่เหลือจึงขึ้นไปตั้งรกรากอยู่ตามเขาใกล้วัด เพื่อจะได้ปฏิบัติศาสนกิจตามความเชื่อของตนได้สะดวก
1
เนื่องจากเรามีเวลาน้อย ไกด์จึงพาเดินทะลุบางห้องไปอย่างรวดเร็วแบบที่ว่า แค่ชำเลืองตา
มองก็ยังเห็นได้ไม่ทั่ว เธอพาไปหยุดที่ภาพการฝังเข็ม มีรูปหมอผู้ริเริ่มการฝังเข็มในศตวรรษที่ 15 ชื่อ “โคจู” ท่านผู้นี้ได้แต่งตำราเกี่ยวกับการรักษาโรคด้วยการฝังเข็ม ต้นฉบับตำรานี้วางอยู่บนแท่นโดดๆ มีกระจกใสปิด 4 ด้าน
เราได้ดูภาพอักษรเกาหลีโบราณที่จารึกไว้บนแผ่นผ้าไหมหนา สมัยนั้นใช้ตัวหนังสือแบบอักษรภาพ มีสระประสมมากมาย แต่มีพยัญชนะเพียง 28 ตัว สำหรับตัวอักษรที่ใช้ในปัจจุบัน ซึ่งฟองน้ำเข้าใจว่ามีรากมาจากภาษาจีนปนญี่ปุ่น และคนที่นี่เรียกว่า อักษร ‘อานกุล’ นั้น เพิ่งประดิษฐ์ใช้ในสมัยกษัตริย์ ซีจอง แห่งราชวงค์ลี และเริ่มใช้อย่างแพร่หลายเมื่อประมาณปี 1896 นี่เอง
ไกด์เชิญให้เรานั่งกันบนม้ายาวที่ตั้งอยู่ตรงหน้าเครื่องดนตรีของศตวรรษที่ 18 สองชิ้น อันหนึ่งรูปร่างเหมือนราวระฆัง 8 ลูกเรียงกัน กับอีกอันเหมือนเอากระเบื้อง 8 แผ่นมาแขวนเรียงบนราง ไกด์เล่นเพลง “จังแบกซัน” ที่นายเคยหัดร้องบนรถไฟ เสียงกังวานสะท้อนของ ‘ราวระฆัง’ กับ ‘ราวกระเบื้อง’ นั้นใสไพเราะ
ท่ามกลางความเงียบและสลัวของห้อง ทำให้พวกเราที่ได้นั่งพักเอาแรงอยู่บนม้ายาว รู้สึกผ่อนคลายและกระปรี้กระเปร่าขึ้นมาก
ไกด์สาธยายต่อว่า คนเกาหลีเรียกตัวเองว่า Koryo แปลว่าสูงส่งและปราดเปรื่อง (High and brilliant) แต่ต่อๆ มา คนต่างชาติออกเสียงเพี้ยนไปเป็น Korea
การชมพิพิธภัณฑ์จบลงที่ห้องสุดท้ายซึ่งกว้างมาก เป็นห้องเก็บภาพเขียนเกี่ยวกับชีวประวัติของท่านประธานาธิบดี คิม อิล ซุง ตั้งแต่วัยเด็ก จนถึงระยะกอบกู้เอกราช มีภาพบิดาของท่านกำลังสอนหนังสือแก่ท่าน ภาพบ้านที่มังญงเด ภาพการสู้รบต่อต้านญี่ปุ่นแบบกองโจรในป่า ฯลฯ และมีตู้เก็บอาวุธยุทโธปกรณ์ในการสู้รบของท่านด้วย
1
นายบ่นเมื่อยอย่างสุดทน แต่ใจยังสู้ ทำเป็นเดินตัวตรงตามกลุ่มเข้าไปยังห้องรับรอง ซึ่งมีเก้าอี้บุนวม คลุมด้วยผ้าปักสวยเหมือนทุกแห่ง ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์รอบรรยายสรุปส่งท้ายอยู่แล้ว เจ้าหน้าที่สาวในชุดเกาหลีลำลองเข้ามาเสิร์ฟน้ำหวาน แล้วเราก็แลกเปลี่ยนของที่ระลึกกันตามธรรมเนียมก่อนอำลา
ใกล้ประตูออก มีร้านเล็กๆ ขายเซรามิค บางอันจำลองจากของที่แสดงในพิพิธภัณฑ์ก็มี ราคาของค่อนข้างสูงและไม่มีให้เลือกมากนัก ฟองน้ำเล่าแล้วหรือยังว่า มีของ 2 สิ่งที่เขาภูมิใจอวดต่างชาตินักหนา คือ โสม และเซรามิค?
ก่อนจากกัน นายชมไกด์ว่าพูดภาษาอังกฤษดี และถามว่า ไปเรียนภาษาอังกฤษมาจากที่ไหน สาวน้อยตอบอย่างภูมิใจว่าเรียนที่เปียงยางนี่แหละ เพราะเราไม่จำเป็นต้องไปเรียนที่ต่างประเทศ หรือพึ่งพาชาวต่างชาติ!
ออกจากพิพิธภัณฑ์ เราก็ไปชมนิทรรศการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เขาตั้งชื่อว่า “นิทรรศการความสำเร็จของการปฏิวัติตามแบบสังคมนิยม” เมื่อเราไปถึงเป็นเวลาเกือบบ่าย 4 โมงครึ่งแล้ว ผู้อำนวยการจัดงานออกมาต้อนรับ บอกว่า ธรรมดานิทรรศการจะปิดเวลา 5 โมงเย็น แต่เขาได้รับคำสั่งให้เปิดให้พวกเราเข้าชมเป็นพิเศษตามอัธยาศัย
เมื่อเราเดินเข้าไปในตัวตึกนั้น ยังมีคนที่มาชมเหลืออยู่มากพอประมาณ พอเห็นพวกเราเข้าไป เขาเหล่านั้นก็พากันหยุด หลีกให้เราผ่านโดยอัตโนมัติ คงเห็นว่าเราเป็นคนต่างชาตินั่นเอง เพราะถึงหน้าเอเซียเหมือนกัน แต่ไม่ได้ติดเข็มรูปประธานาธิบดีเหมือนพวกเขา
ในงาน มีการโชว์ความก้าวหน้าของการผลิตสินค้าด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น การประดิษฐ์นาฬิกาคอมพิวเตอร์บอกเวลาของ 130 ชาติ การทำแก้วเจียระไนเทียม เคมีภัณฑ์ต่าง ๆ อุปกรณ์เกี่ยวกับสายตา ตลอดจนสินค้าเศรษฐกิจหลายประเภท ทั้งด้านเกษตรและอุตสาหกรรมหนักเพื่อส่งออก เช่น รถแทรกเตอร์ รถหว่านข้าว รถไถนา และอื่นๆ มาโชว์ด้วย
ทั้งยังมีภาพจำลองเขื่อนยักษ์ที่กำลังสร้างที่เมืองนามโป (หรือปากน้ำโพของนาย) ซึ่งพรุ่งนี้ คณะเราจะได้ไปชมของจริง
วันนี้เป็นวันตะลอนอยู่ในเมืองโดยแท้ คุณหลังบอกว่า เราจะได้กลับไปทานข้าวเย็นที่มารัม ตอน 3 ทุ่มครึ่ง โดยเราจะอยู่ดูกายกรรมเปียงยางกันเสียก่อน
กายกรรมเล่นเวลาทุ่มตรง ยังมีเวลาเหลือเกือบชั่วโมง คุณหลังจึงบงการให้คนขับรถ ขับพาเราออกนอกโปรแกรมเป็นครั้งแรก โดยพาไปนั่งเล่นเย็นๆ ที่ศาลาริมน้ำฝั่งตรงข้ามกับหอจูเช่พอดี
จากศาลาไม้แบบเกาหลีที่เรานั่งเล่นกัน มองเห็นภาพหอจูเช่เด่นสดใสอยู่ในฟ้าสีคราม เปลวไฟสีแดงที่ยอดเป็นประกายด้วยแสงแดดอ่อนที่ทอทอดลงมา และมีรุ้งกินน้ำพาดจับที่ละอองฝอยพวยพุ่งของน้ำพุทั้งคู่ เป็นภาพที่งามสงบมากสำหรับผู้ที่ดื่มด่ำกับธรรมชาติโดยแท้
ช่างภาพสมัครเล่นทั้งหลายชุลมุนเก็บภาพกันใหญ่ ต่างก็เจาะจงให้วิวกิ่งต้นหลิวริมน้ำได้ห้อยย้อยเข้ามาประดับอยู่ในกรอบภาพด้วย ... เบื้องล่างของศาลาเป็นสวนสาธารณะเล็ก ๆ มีม้าหินตั้งอยู่เป็นระยะ ๆ ผู้คนที่นั่งอยู่ ยิ้มมองมายังกลุ่มเราด้วยสายตาเป็นมิตร
หลังจาก ‘อิ่มธรรมชาติ แต่ท้องเริ่มหิวนิด ๆ’ แล้ว คุณหลังก็ส่งสัญญาน แล้วพาเรามุ่งตรงไปยังโรงละคร
รถจอดเทียบประตูพิเศษด้านข้าง มีบันไดขึ้นปูพรมสีแดงเลี้ยวไปสู่ห้องรับรองที่มีเฟอร์นิเจอร์ชิ้นเดียวประดับเด่นอยู่ คือภาพของท่านผู้นำ ผู้อำนวยการโรงละครเป็นคนหนุ่มร่างเล็ก ท่าทางสุภาพ มาพาไปนั่งพักผ่อนรอการแสดงอยู่ชั่วครู่
สุภาพสตรีในคณะต่างก็รี่ไปยังมุมทำธุระส่วนตัว เพราะได้เล่นบท ‘นางอั้น’ มาตลอดบ่ายแล้ว เมื่อเปิดประตูห้องสุขาหญิงเข้าไป พวกเราก็เกิดอาการไม่ค่อยอยากสุขาเท่าไหร่ ด้วยเขากั้นที่สุขาซึ่งมีอยู่ที่เดียวด้วยประตูกระจกฝ้าบางๆ ทั้งบาน ซึ่งถ้าเข้าไปทำธุระแล้ว คนที่รออยู่ด้านนอกสามารถมองทะลุเห็นแอคชั่นทุกขั้นตอนหมด ... (ยังนับว่าบุญแล้วที่ประตูนอกเป็นไม้ทึบ)
วันหลังๆ พวกเราเริ่มชินเพราะไปชมห้องสุขาที่อื่นๆ ก็เป็นประตูกระจกฝ้าเต็มบานอย่างนี้เหมือนกันหมด
พอใกล้จะได้เวลาแสดง เจ้าหน้าที่ก็มาเชิญเข้าไปนั่งในโรงละคร คุณหลังชี้กำกับให้ตุ้ยนุ้ยเข้านั่งขนาบข้างหัวหน้าคณะเราในที่ที่เขากำหนดเอาไว้ก่อน แล้วจึงเชิญคนอื่นๆ นั่ง แล้วเขากับกบน้อยก็เข้ามานั่งขนาบหัว-ท้ายของกลุ่มเราอีกที รู้สึกว่าเขาเคร่งครัดกับเรื่องที่นั่งเสียจริงๆ คงจะกลัวเราหนีเล็ดลอดเข้าไปขอลี้ภัยอยู่กับชาวเมืองเขากระมัง?
นักกายกรรมเล่นโลดโผนโจนทะยานได้อย่างน่าหวาดเสียว ไม่ผิดหวังเลยที่อยากดูของจริงมานาน แต่ฟองน้ำก็ไม่ทราบว่านายคร่ำครวญอยากดูอะไรกันนักหนา เพราะเห็นนายหลับตาทุกทีตอนเขาเล่นหวาดเสียว ฟองน้ำเองกลับชอบดูชุดตลกมากกว่า เพราะดูแล้วมันได้หัวเราะสบายใจดี ไม่ต้องนั่งเกร็งหลับหูหลับตาเหมือนที่นายทำ
กายกรรมเปียงยาง
ชะรอยเขาคงทราบว่าเรา หิว หิว และหิว ดังนั้น พอพักครึ่งเวลา เขาจึงเชิญกลับไปนั่งดื่มเบียร์ดำและน้ำหวานที่ห้องรับรอง มีกับแกล้มเป็นปลาแห้งท่อนเล็กๆ ยาวๆ ที่รสชาติเป็นกลางเหลือเกิน คือจืดๆ และเหนียวนิดๆ เหมือนกับกินมันสำปะหลังแก่ๆ ที่ชะโลมกลิ่นปลา
แต่คนเรายามหิว อะไรๆ ก็อร่อยได้ทั้งนั้น ฟองน้ำจึงไม่แปลกใจที่ได้ยินเสียงคุณวิ ซึ่งนั่งอยู่ใกล้ๆ คุณนันต์ รำพึงขึ้นมาเบาๆ ว่า “เอ ... กินไปกินมา เจ้าปลานี่ก็อร่อยดีเหมือนกันแฮะ!” นอกจากปลาสวรรค์อบแห้งนี้แล้ว ยังมีพานใส่ลูกอม และบิสกิตจืดๆ ห่อกระดาษเหมือนลูกอมวางไว้ให้ด้วย รสชาติเหมือนกับที่บ้านมารัมเปี๊ยะเลย
กลับมาถึงมารัมอย่างโซๆ เวลา 3 ทุ่ม 40 นาที ทุกคนตรงรี่สู่ห้องอาหารโดยไม่ต้องนัดหมาย โต๊ะอาหารจัดรอเราอยู่เพียงโต๊ะเดียว พร้อมกับบ๋อยผู้ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ทั้ง 2 คน ที่ยิ้มแย้มเสิร์ฟผ้าเย็นในทันทีที่เรานั่งลง
โปรดติดตามตอนต่อไป………
เรื่องเล่า
เกาหลีเหนือ
ประวัติศาสตร์
1 บันทึก
3
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
อรุณสงบที่เปียงยาง
1
3
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย