Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วิกิกับพี่พิม
•
ติดตาม
15 มิ.ย. 2022 เวลา 05:00 • ประวัติศาสตร์
Ep. 11 "มองเกาหลีเหนือ" ....ผ่านเขื่อนยักษ์ โรงหมอ และวังวัฒนธรรม
เขื่อนยักษ์….ที่เมืองนามโป
วันที่ 28 สิงหาคม 2528 วันนี้เจอฝนตก อากาศจึงเย็นนิดหน่อย เราออกเดินทางกันเช้ากว่าปกติ คือ 7.30 น.เพื่อไปชมการสร้างเขื่อนใหญ่ที่สุดของเกาหลีเหนือที่เมืองนามโป ซึ่งอยู่ไกลกว่าเปียงยาง ท่ามกลางสายฝน รถเราก็ยังแล่นเร็วอย่างหน้าหวาดเสียวเช่นเคย ถนนคอนกรีตกว้าง 4 เลนนั้นว่างเปล่าตามปกติ
หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า งานฝีมือด้านคอนกรีตที่นี่คงใช้แรงคนทำ ไม่ใช่เครื่องจักร เพราะถนนออกจะขรุขระ ถ้าเป็นพื้นหรือบันไดซีเมนต์ก็มักลาดๆ เอียงๆ ไม่เรียบ ทางไปเมืองนามโปเลียบขนานกับแม่น้ำแตดองเป็นส่วนใหญ่ และใกล้ถึงปากแม่น้ำมีการทำนาเกลือทั้งสองฟากถนน รวมเนื้อที่ราว 300,000 เฮกตาร์ เห็นมีกองเกลือสีคล้ำๆ คลุมด้วยผ้าใบหรือถุงปุ๋ยอยู่เป็นหย่อม ๆ
ตลอดทางขาไป กบน้อยมานั่งคู่คนขับแทนตุ้ยนุ้ยในรถของนาย และซักถามหัวหน้าคณะเรื่องเศรษฐกิจปัจจุบันของเมืองไทยนิดๆ หน่อยๆ จากนั้นก็บรรเลงเพลงชักจูงให้เราคล้อยตามการรวมประเทศของทั้ง 2 ฝ่าย “แบบเกาหลีเหนือ”
ประมาณชั่วโมงครึ่งก็ถึงทางเข้าเขื่อน ปรากฏว่า วันนี้เป็นวันรวมแขกต่างประเทศให้มาชมเขื่อนพร้อมกันหมด เราจึงเพิ่งได้มีโอกาสเจอ ‘คนต่างด้าว’ ด้วยกันพร้อมหน้าพร้อมตา
เหตุที่เขานำเรามาชมเขื่อนพร้อมๆ กัน ก็เพราะที่นี่เป็นเขตทหาร เขื่อนก็สร้างโดยทหาร จึงไม่อนุญาตให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาในบริเวณก่อสร้างได้อย่างเสรีบ่อยนัก เขาถือว่าเขื่อนยักษ์นี้จะเป็นอนุสรณ์สถานแห่งหนึ่งของชาติที่จะต้องพาแขกต่างเมืองมาชม จึงสร้างให้ใหญ่โตเพื่อโชว์ด้วย
รถเบนซ์ติดดาวทั้งหมดมีประมาณ 25 คัน และมินิบัสของคณะเราอีก 1 คัน แล่นพาแขกต่างประเทศประมาณ 40 คนพร้อมล่ามมาชมการก่อสร้างนี้ ล่ามทุกกลุ่มรอบคอบพอ จึงเตรียมร่มมาให้แขกด้วย เราหยุดรอให้ฝนซากันในรถทั้งขบวน ณ จุดต้อนรับ พอฝนซาบ้างแล้วจึงลงรถ ไปยืนกางร่มฟังการบรรยายสรุปก่อนชมเขื่อน
มีทหารยศนายพล 2 นายเป็นผู้ต้อนรับเรา โดยคนหนึ่งเป็นผู้บรรยายสรุปเป็นภาษาเกาหลีผ่านโทรโข่ง แล้วล่ามประจำแต่ละกลุ่มก็จะแปลเป็นภาษาต่างๆ ให้กลุ่มของตนฟังเสียงขรมไปหมด
2
ล่ามของแหม่มชาวรูมาเนียคนที่ยืนอยู่ใกล้ ๆ นายนั้น ตัวเล็กแต่เสียงดัง นายจึงไม่ฟังตุ้ยนุ้ยแปล แต่หันไปสนใจภาษาของแหม่มแทน ทั้งๆ ที่ใช่ว่านายจะฟังรู้เรื่อง ถัดไปก็เป็นล่ามญี่ปุ่น และไกลๆ ออกไปหน่อย ก็เป็นล่ามภาษาฝรั่งเศส ฟองน้ำมองไปแล้วก็ขำดี นี่มันเรื่องอะไรกันหนอ ที่อยู่ๆ เราก็มายืนกางร่มกรำฝนฟังภาษาประหลาดๆ กันอยู่อย่างนี้ ...
1
เขื่อนนามโป
ท่านนายพลบรรยายสรุปว่า เมื่อปี 1951 ท่าน คิม อิล ซุง ได้มาตรวจพื้นที่บริเวณนี้ทางเรือ และแนะนำให้สร้างเขื่อน ในภายหลัง ความปรารถนาของท่าน ได้ถูกทำให้เป็นจริงตามการชี้แนะและให้คำปรึกษาของท่าน คิม จอง อิล ผู้บุตรชาย
งานสร้างเขื่อนได้เริ่มในปี 1982 และคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในปีหน้า (1986) ใช้คนงานทหาร 3 กองพัน ตัวเขื่อนถูกสร้างปิดปากแม่น้ำแตดองที่ไหลลงสู่อ่าวเกาหลี ความยาวของเขื่อน 8 กิโลเมตร กว้าง 25 เมตร สูง 16 เมตร มีประตูน้ำ 36 แห่ง ประตูน้ำใหญ่สามารถปรับระดับของน้ำให้เรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ 2.000- 15,000 ตันแล่นเข้ามาในแม่น้ำได้
1
ถนนและทางรถไฟบนเขื่อน จะเชื่อมเมืองทางเหนือและใต้ของทะเลตะวันตกให้ถึงกันได้โดยรวดเร็ว ไม่ต้องอ้อมผ่านเปียงยาง การก่อสร้างสิ้นเปลืองซีเมนต์ไปแล้วหนึ่งล้านตัน และเหล็กอีกหนึ่งแสนห้าหมื่นตัน เมื่อทำประตูน้ำเสร็จจะสามารถเก็บกักน้ำใว้ในอ่างเหนือเขื่อนได้ถึง 2.5 พันล้านลูกบาศก์เมตร
เรือเดินสมุทรขนาดใหญ่จะแล่นเข้าไปได้ถึงเปียงยาง ซึ่งอยู่ห่างจากปากแม่น้ำราว 40 กิโลเมตรได้อย่างสบาย เพราะระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนจะลึกถึง 85 เมตร (ระดับน้ำเดิมก่อนสร้างเขื่อนคือ 25 เมตร) จะมีปลาในอ่างเก็บน้ำไว้เลี้ยงประชากรอีกมากมาย และเขตตะวันตกที่เคยแห้งแล้ง ก็จะชุ่มชื้นด้วยระบบชลประทานจากอ่างเก็บน้ำ ...
เรากลับมาขึ้นรถเพื่อเข้าไปชมข้างในตัวเขื่อน ที่ประตูทางเข้า มีป้ายคำขวัญตัวเบ้อเริ่มสีขาวบนพื้นสีแดงเขียนไว้ว่า “จงช่วยกันก่อสร้างให้สำเร็จตามการชี้แนะของท่านผู้นำอันเป็นที่รัก ! ” คำขวัญลงวันที่ 11 เมษายน 1984
เขาพานั่งรถยนต์ไปจนถึงปลายเขื่อน ซึ่งอยู่ฟากใกล้ทะเล ผ่านบ้านพักคนงาน และกลุ่มทหารที่กำลังทำงาน ทุกคนหยุดทำงาน และหันมาโบกมือให้รถติดป้ายมีดาวกันทุกคน จากนั้นเขาพาลงเรือท้องแบนลำใหญ่ไปชมวิวอีกฟากหนึ่ง ซึ่งกำลังมีการสร้างประตูกั้นน้ำ ในเรือท้องแบนลำนี้ มีทหารยืนระวังตรงคอยรักษาการณ์อยู่ตามจุดต่าง ๆ หลายนาย มีคนในคณะเราอยากไปชมห้องสุขา ก็ยังมีทหารยศนายพันไปเป็นเพื่อนคอยอยู่หน้าห้อง !
1
ท่านนายพลเจ้าของสถานที่กล่าวอย่างภูมิใจว่า ทหารของท่านทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองตลอดเวลา ช่วงไหนไม่ออกรบ ก็สลัดปืนออกมาถืออุปกรณ์ก่อสร้างบ้าง ช่วยชาวนาชาวไร่บ้าง เรียกได้ว่า ถ้าไม่ออกป้องกันประเทศก็อยู่ช่วยพัฒนาประเทศ ไม่ให้ได้ว่างกันเลย (ขยัน
พอๆ กับทหารบ้านเรา) จบการชมวิวทางน้ำเมื่อใกล้เที่ยง และเราก็กลับมาทานกลางวันที่มารัมช้ากว่าปกติ คือราวบ่ายโมงเศษ
ระหว่างทาง ตุ้ยนุ้ยเล่าอย่างชื่นชมถึง Great Leader ว่าเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม รักประชาชนทุกคนเท่ากัน ไม่เคยมีมุมไหนจุดใดของประเทศที่ท่านยังไม่เคยไปเยี่ยม ถ้าไม่เชื่อให้หยุดรถลงไปถามชาวบ้านได้เลยว่า ท่านเคยมาแถวนี้ไหม ...
ปกติท่านไม่สวมแว่นตา แต่เมื่อปี 1968 ท่านสวมแว่นปรากฏตัวในที่สาธารณะเป็นครั้งแรกและดูผอมลงนิดหน่อย ชาวประชาร่ำไห้ว่าท่านแก่ลงไปแล้ว พวกผู้เฒ่าผู้แก่พากันเข้าป่าเสาะหาโสมป่าซึ่งเป็นของหายาก และกินบำรุงกำลังดีกว่าโสมบ้านหรือโสมเลี้ยง แล้วต่างก็ส่งมากำนัลท่านจากทั่วทุกทิศของประเทศ (คนเกาหลีเรียกโสมว่า Insam) รวมแล้วได้โสมป่าเป็นกองมหึมา
แต่ Great Leader ไม่ได้เก็บไว้สำหรับตนเอง ท่านแบ่งไปแจกเด็กๆ ทั่วประเทศ เพราะท่านถือว่าเด็กคืออนาคตของชาติ เขาควรจะได้รับการบำรุงให้ร่างกายแข็งแรง
1
ตุ้ยนุ้ยเล่าไป นัยน์ตาแพรวพราวอยู่หลังแว่นอย่างเลื่อมใสศรัทธายิ่งในตัวบุคคลที่กำลังกล่าวถึง ฟองน้ำเองก็ฟังไปด้วยนัยน์ตาแพรวพราวเหมือนกัน ... ตุ้ยนุ้ยเล่าสนุกจริง ๆ
ภาคบ่าย เป็นรายการเข้าเมืองชมโรงพยาบาลแม่และเด็ก (Maternity Hospital)
โรงพยาบาลตั้งอยู่ไม่ไกลจากหอจูเช่เท่าใดนัก และอยู่อีกฝั่งหนึ่งของเขตที่พวกเราพำนักอยู่ เมื่อรถแล่นเข้ามาถึงในเมือง ฟองน้ำรู้สึกว่า วันนี้ที่ใจกลางเมืองดูมีชีวิตชีวาผิดปกติ ผู้คนไม่รู้ว่ามาจากไหนกันมากมายเดินอยู่เต็ม 2 ฟากถนน ทุกคนถือช่อดอกไม้แห้งสีแดงหรือสีชมพูช่อโต
รถเราแล่นได้ช้า เพราะผู้คนเหล่านี้ข้ามถนนกันทีละกลุ่มใหญ่ ๆ ด้วยอาการไม่แคร์รถเท่าไหร่ คนขับของเราจึงระวังเป็นพิเศษ สอบถามตุ้ยนุ้ยได้ความว่า ในวันนี้ประธานาธิบดี
มูกาเบแห่งซิมบับเวมาเยือนเกาหลีเหนือ ท่านผู้นี้เป็นผู้นำที่ดี เป็นมิตรประเทศของเรา เคยมาเยี่ยมเยือนหลายหนแล้ว ชาวเมืองจึงพากัน (ถูกบังคับให้) ออกมาต้อนรับประธานาธิบดีซิมบับเว
ฟองน้ำไม่ทราบว่า ชาวเมืองเขาเดินกันมาจากไหน ไกลเพียงใด เพราะมองไม่เห็นยวดยานพาหนะที่บรรทุกพวกเขามาส่งเลย หลายกลุ่มท่าทางจะมาจากต่างจังหวัด อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนเหล่านี้ช่วยปลุกให้นครเปียงยางมีชีวิตชีวาด้วยสีหลากหลายของเสื้อผ้าและช่อดอกไม้แดงๆ ...
ถึงโรงพยาบาล คุณหมอ ลิง มัน ซู ผู้อำนวยการมาต้อนรับที่บันไดตึกซึ่งเป็นหินอ่อน แล้วพาเข้าไปในห้องโถงที่ทำเอาเราเงียบงันไปด้วยความคาดไม่ถึง นี่ถ้าไม่ได้ทราบมาก่อนว่าเขาจะพามาชมโรงพยาบาล ก็คงนึกว่าเป็นห้องโถงในวังขององค์ชายหมายเลขอะไรสักองค์แน่ๆ
ห้องนี้เป็นห้องโล่งโปร่งตาด้วยหน้าต่างประดับลูกไม้ เสาเป็นหินอ่อนลายสวยต้นใหญ่ พื้นก็ทำด้วยหินอ่อนหลากสี เพดานห้อยโคมแก้วเจียระไนระย้า และปลายสุดของห้องโถง เป็นภาพวาดเต็มเนื้อที่ผนังของประธานาธิบดี ห้อมล้อมด้วยหมอ นางพยาบาล และผู้หญิงกับเด็กๆ มีเชือกกำมะหยี่สีแดงเข้มกั้นอยู่ที่ฐานของภาพ
1
เข้าใจว่าบางส่วนของโรงพยาบาลนี้ คงสงวนไว้สำหรับเป็นส่วนที่พาแขกต่างประเทศมาชมโดยเฉพาะ ชั้นที่พาเราไปชมนั้น คือชั้นที่ 2 และ 3 กับชั้นที่ 4 โรงพยาบาลดูสะอาดสะอ้าน ไม่มีกลิ่นยาหรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรคเหมือนโรงพยาบาลทั่วๆ ไป คล้ายๆ กับไม่ได้ถูกใช้เป็นที่บริการผู้ป่วยตามปกติ
ก่อนที่เราจะขึ้นไปยังชั้นบน เราต้องเปลี่ยนรองเท้าเป็นรองเท้าผ้าหุ้มส้นของโรงพยาบาล และสวมเสื้อกาวน์สีขาวที่เขามาช่วยใส่ให้ แล้วจึงได้ขึ้นไปชมโรงพยาบาล มันน่าครึ้มน้อยอยู่เมื่อไหร่ ที่อยู่ ๆ ก็ได้เล่นบทคุณหมอจำเป็นในโรงพยาบาลจริงๆ เสียด้วย
คุณหมอ ลิง มัน ซู สรุปให้ฟังว่า ท่านประธานาธิบดีมีบัญชาให้สร้างโรงพยาบาลแห่งนี้ขึ้น เมื่อเดือนมีนาคม ปี 1980 เพื่อเป็นของขวัญแก่แม่ทุกคน ซึ่งเป็นผู้มีความสำคัญในการผลิตอนาคตของชาติ ท่านต้องการให้ผู้หญิงที่มาคลอดลูกที่นี่ทุกคนได้อยู่พักฟื้นหลังคลอดอย่างมีความสุขที่สุด ด้วยบริการพิเศษที่รัฐมอบให้
2
เพื่อแม่ ๆ เหล่านี้จะได้ซาบซึ้งในความเอาใจใส่ของรัฐ และจะได้มีกำลังกายกำลังใจที่จะอบรมลูก ๆ ของเธอให้มีคุณภาพ พรัอมที่จะอุทิศตนเพื่อประเทศชาติต่อไป
2
โรงพยาบาลมี 3 ตึก มีห้องรวมทั้งหมด 2,100 ห้อง และมีหมอประจำ 350 คน มีรูปประธานาธิบดีติดไว้ทุกห้อง
โรงพยาบาลแม่และเด็ก
การเยี่ยมแม่และเด็กหลังคลอดทำโดยผ่านจอทีวี เพื่อป้องกันการติดเชื้อ กล่าวคือ ในห้องโถงกลางของแต่ละชั้น เขาตั้งทีวี 6 เครื่องแยกไว้ตามช่องต่างๆ ของห้อง มีแจกันดอกไม้ประดิษฐ์วางประดับไว้ด้วยทุกช่องและมีฉากกั้นเป็นม่านผ้า ผู้มาเยี่ยมจะนั่งรอที่ห้องทีวีชั้นล่างเท่านั้น บรรดาแม่ๆ ก็จะอุ้มทารกของตนมานั่งที่จอทีวีแต่ละช่อง ซึ่งจะถ่ายทอดลงไปให้คนชั้นล่างได้เห็น มีไมโครโฟนวางให้แม่พูดกับผู้มาเยี่ยมด้วย
1
อุปกรณ์ที่ใช้ในโรงพยาบาลส่วนใหญ่มาจากออสเตรีย เยอรมันตะวันออก และฮังการี มีเครื่องมือยี่ห้อญี่ปุ่นบ้างนิดหน่อย เครื่องมือบางชิ้น มีสีป้ายแดงติดกำกับไว้ว่า ประธานาธิบดีมอบให้เมื่อวันนั้น ปีนั้น
เป็นที่น่าสังเกตว่า สถานที่ที่เราไปทุกแห่ง จะมีป้ายสีแดงแบบนี้บ่งบอกเอาไว้เสมอ บางแห่งก็บอกกระทั่งจำนวนครั้งที่ประธานาธิบดีมาเยือนสถานที่นั้นๆ สรุปว่า เจ้าของสถานที่จะนับไว้ทุกครั้ง พร้อมกับแสดงป้ายประกาศว่า ประธานาธิบดีหรือบุตรชายของท่านมาเยือนเมื่อใด
แผนกยาของโรงพยาบาลแบ่งเป็น 2 ฟาก คือ แผนกยาตะวันออก คือยาพื้นบ้านหรือพวกสมุนไพร กับแผนกยาเคมีแบบสากล
พวกเราซึ่งมีคุณหมอตัวจริงอยู่ 1 คน ที่เหลือนอกนั้นล้วนเป็นคุณหมอตัวปลอม ก็ได้ซักถามคุณหมอ ลิง มัน ซู หลายเรื่องเกี่ยวกับด้านสุขอนามัยของคนเกาหลี สรุปได้ว่า น้ำหนักของเด็กแรกเกิดประมาณ 3,000 – 3,200 กรัม อัตราการตายของทารกแรกเกิดเท่ากับ 4 ต่อ 1,000 คน อัตราตายของแม่ 2 ต่อ 20,000 คน อัตราตายมากที่สุด เกิดจากโรคมะเร็ง และอัตราหมอกับประชากร เท่ากับ 24 ต่อ 10,000 คน
การวางแผนครอบครัว เป็นเรื่องแล้วแต่ตกลงกันในครอบครัว ทางการไม่ได้เข้มงวดอะไร ส่วนการทำหมันนั้น ผู้หญิงทำมากกว่าชาย และคุณหมอ ลิง แถมว่า เรื่องทุพโภชนาการในเด็กทารกและ ผู้ใหญ่ไม่ค่อยมี ...
แต่ฟองน้ำเองเห็นว่า ที่นี่มีแต่คนตัวผอมๆ ทั้งนั้น ไม่ว่าหญิงหรือชาย ดูสะโอดสะอง ไม่มีคนตัวอ้วนกันเลย นอกจากคนใหญ่คนโต แม้แต่คุณหมอ ลิง เองก็ยัง “พระองค์กลมกล้องแกล้ง เอวอ่อนอรอรรแถ้ง ...” ขนาดเดียวกับพระลอของเราเหมือนกัน
เยี่ยมโรงพยาบาลรวม 3 ชั้นด้วยกัน แต่ฟองน้ำได้เห็นคนไข้เพียง 3 คน กับหมอและพยาบาลอีกไม่กี่คน เราได้ไปชมห้องคลอดสะอาดเอี่ยม มี 8 ห้อง และห้องผ่าตัด 6 ห้อง ซึ่งแต่ละห้องจัดไว้อย่างเรียบร้อย จนดูแทบไม่ออกว่ามีการใช้งาน และที่น่าเอ็นดูที่สุดคือ ภาพทารกแรกเกิดที่นอนเรียงรายกันอยู่ในเบาะราวสิบกว่าคน หน้าตาบริสุทธิ์ไร้เดียงสาเหมือนกันหมด
เกือบบ่าย 4 โมงครึ่ง เราจึงออกจากโรงพยาบาลแม่และเด็ก ข้ามแม่น้ำแตดองไปยัง วังวัฒนธรรม (People’s Palace of Culture) เพื่อชมนิทรรศการผลงานของประธานาธิบดี คิม อิล ซุง โดยเฉพาะ เขาจัดรวบรวมหนังสือผลงานของท่านรวมทั้งหมด 1 ล้านเล่ม
งานเขียนของประธานาธิบดีเริ่มขึ้นหลังปี 1920 เป็นการเขียนตำราเกี่ยวกับลัทธิคอมมิวนิสต์ประยุกต์แบบเกาหลีเหนือ การต่อสู้กับญี่ปุ่นซึ่งกำลังยึดครองประเทศขณะนั้น ท่านเริ่มผลิตตำราลัทธิจูเช่ในปี 1930 ปีต่อๆ มา ก็ผลิตสารคดี และบทความเกี่ยวกับการพัฒนา ปี 1958 ท่านเขียนตำราเกี่ยวกับระบอบสังคมนิยมแบบเกาหลี และเขียนตำราเกี่ยวกับอุดมการณ์ของพรรคคนงาน ซึ่งท่านเป็นเลขาธิการพรรคอยู่ในปัจจุบัน
ในช่วงหลัง ๆ เป็นงานเขียนเกี่ยวกับการต่อต้านสหรัฐอเมริกาด้วย รายชื่อหนังสือที่ลงบัญชีไว้ในห้องนิทรรศการมี 1,000 เล่ม และงานเขียนของบุตรชายท่านอีก 50 เล่ม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับแนวความคิดจูเช่ คาร์ล มาร์กซ์ และเลนิน
1
มุมหนี่งของห้องโชว์หนังสือและบทความเกี่ยวกับประธานาธิบดีและประเทศเกาหลีเหนือที่เขียนโดยผู้อื่นและได้รับการตีพิมพ์ในต่างประเทศ กลางหิ้งหนังสือเหล่านี้ มีภาพลายมือท่านประธานาธิบดีใส่กรอบทองใหญ่หนาโชว์ไว้ด้วย
เมื่อออกจากห้องนิทรรศการ เดินมาทางระเบียงทึบ ก็พบภาพข่าวการสัมมนาในหลาย ๆ ประเทศเกี่ยวกับลัทธิจูเช่ ทั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติ ตลอดจนข่าวและภาพผู้คนต่างชาติที่กำลังสนใจในแนวคิดของลัทธินี้ ... ฟองน้ำเพ่งหาจนปวดตาก็ไม่ได้พบภาพที่แสดงแนวร่วมจากประเทศไทย
เรามานั่งพักดื่มน้ำหวานกันที่ห้องรับรอง และเลือกหนังสือที่ไกด์เตรียมไว้ให้ พร้อมกับรายชื่อหนังสือทั้งหมดและแบบฟอร์มให้สั่งเล่มที่สนใจได้โดยไม่คิดมูลค่า
กลับมาถึงบ้านพักมารัมแล้ว คุณหลังและล่ามทั้งสองยังต้อนให้เข้าไปดูหนังสารคดี 2 เรื่อง ที่ห้องฉายหนังของบ้านพักนี่เอง ห้องนี้อยู่ติดกับห้องอาหาร เวลาไม่ใช้ฉายหนัง ก็ใช้เป็นห้องเล่นปิงปองได้ ที่นั่งดูหนังเป็นเก้าอี้บุนวมนั่งสบาย มีอยู่ราว 30 ที่ แต่ละที่มีหูฟังล่ามบรรยายกันสดๆ
นายบ่นว่าเมื่อยและเหนื่อย ขอฟังอะไรๆ ที่ไม่รู้เรื่องดีกว่า ดังนั้น นายจึงนั่งเคลิ้มเข้าสู่ภวังค์ฟังสารคดีภาษาเกาหลีเสียงในฟิล์มโดยไม่ใช้หูฟัง ชำเลืองคนในก๊กเดียวกัน ก็เห็นเข้าภวังค์ไปก่อนนายหลายคนแล้ว
สารคดีเรื่องแรก เป็นเรื่องกิจกรรมต่างๆ ตลอดปี 1983 ของท่าน คิม จอง อิล ด้วยปัจจุบันท่านคือทายาททางการเมืองของประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการแล้ว (หมายเหตุผู้เรียบเรียง - คิม อิล ซุง มีภรรยา 2 คน มีบุตร 6 คน คิม จอง อิลเป็นบุตรคนโต)ตั้งแต่ ค.ศ. 1977 เป็นต้นมา ได้มีการเน้นความสำคัญของบุคคลผู้นี้ ด้วยมีการจัดให้วันฉลองวันเกิดของ คิม จอง อิล เป็นวันหยุดงานด้วย คือวันที่ 16 – 17 กุมภาพันธ์
ทั้งนี้ วันหยุดงานของเกาหลีเหนือมีไม่มากนัก ได้แก่ วันขึ้นปีใหม่ 1 – 2 มกราคม วันสตรีสากล 8 มีนาคม วันฉลองวันเกิด คิม อิล ซุง 15 – 16 เมษายน วันชาติ 9 กันยายน และวันฉลองครบรอบวันสถาปนาพรรคคนงาน 10 ตุลาคม และเพิ่มวันฉลองวันเกิดของ คิม จอง อิล รวมทั้งหมด 6 ครั้งต่อปีเท่านั้น
อีกเรื่องหนึ่ง เป็นสารคดีเกี่ยวกับสงครามกับอเมริกา โดยมุมมองของเกาหลีเหนือ เริ่มตั้งแต่การที่เกาหลี โดยเฉพาะนครเปียงยาง ถูกอเมริการะเบิดยับเยินไปทั้งประเทศจนถึงตอนที่ฟื้นฟูสร้างเมืองใหม่ อาศัยการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ จนสามารถเจริญเป็นปึกแผ่นเช่นปัจจุบันนี้ ... หนังสารคดีทั้ง 2 เรื่องยาวกินเวลา 1 ชั่วโมงพอดี
ทานอาหารเย็นเสร็จ เราชักมีเรี่ยวแรงแข็งขัน จึงพร้อมใจกันเดินไปนั่งเล่นที่ศาลาริมน้ำ ลมเย็นพริ้วไหวทำให้สบายตัว และความสงบของพื้นน้ำในทะเลสาบใต้ความสลัวของแสงจันทร์ เป็นบรรยากาศที่ชวนให้สบายใจอย่างยิ่ง เบื้องหลังของเรานั้น มีความมืดจากแมกไม้ทึบมาบดบังแสงไฟของบ้านพักรับรองเสียสิ้น โลกที่ ‘มารัม’ ดูต่างจากโลกที่เชียงใหม่หรือกรุงเทพ แม้จะเป็นภายใต้เดือนดวงเดียวกันก็ตาม
นั่งดื่มด่ำกับธรรมชาติอยู่นานก็ยังไม่ง่วง เราจึงช่วยกันโก่งคอครวญเพลง “ตามใจฉัน” เท่าที่จะนึกเนื้อออก ก็โถ... แต่ละคนอายุรวมกันแล้วก็หลายศตวรรษเต็มที เพลงที่งัดออกมาร้องแต่ละเพลงจึงโบราณทั้งนั้น ที่สำคัญก็คือ ขึ้นต้นด้วยเพลงหนึ่ง ทำไมถึงไปจบด้วยอีกเพลงหนึ่งเสียแทบทุกทีซิน่า !
ปรากฏว่าล่ามทั้งสอง ตามเสียงเพลงมาสังเกตการณ์จนจบรายการ เมื่อเวลา 5 ทุ่ม…..
โปรดติดตามตอนต่อไป…….
บันทึก
3
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
อรุณสงบที่เปียงยาง
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย