8 มิ.ย. 2022 เวลา 11:18 • ประวัติศาสตร์
[ตอนที่ 68] อานาโตเลีย – เอเชีย – ออตโตมัน/อุษมานียะฮ์ – รูม – ตุรกี/ทือร์คิเย : ชื่อทั้งหลายที่เกี่ยวกับแผ่นดินประเทศตุรกี
ประเทศตุรกี (Turkey) หรือในชื่อที่ทางประเทศนี้ผลักดันด้วยนาม “ทือร์คิเย” (Türkiye) ตามที่คนในประเทศเรียก เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง (หากวัดตามขนาด GDP ที่ปรับเทียบอำนาจซื้อตามค่าครองชีพ) และเป็นหนึ่งในชาติที่มีอิทธิพลในภูมิภาคนี้ (ร่วมกับซาอุดิอาระเบีย อียิปต์ และอิหร่าน)
รูปที่ 1 – พิธีเซมา (Sema) ซึ่งเป็นพิธีกรรมร่ายรำของนักบวชคณะซูฟีนิกายเมฟเลวี ที่พิพิธภัณฑ์เมฟลานา ในเมืองคอญยา ทางตอนกลางของตุรกี เมื่อปี ค.ศ.2021 [Credit ภาพ : International Mevlana Foundation]
ประเทศตุรกีมีหลายชื่อทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับพื้นที่ประเทศในปัจจุบัน ได้แก่ อานาโตเลีย, เอเชีย, ออตโตมัน/อุษมานียะฮ์, รูม และตุรกี/ทือร์คิเย
แต่ละชื่อของดินแดนประเทศตุรกีนั้น จะมีบริบทและความเป็นมาที่แตกต่างกัน เรามาทำความรู้จักกับเรื่องราวของชื่อที่หลากหลายเหล่านี้กันครับ
วีดีโอประกอบ : สปอตโฆษณาในแคมเปญส่งเสริมการใช้ชื่อประเทศตุรกีเป็น "Türkiye" ในภาษาอังกฤษ [Credit : สถานีวิทยุโทรทัศน์ TRT ของรัฐบาลตุรกี]
1) อานาโตเลีย (Anatolia)
ชื่อ “อานาโตเลีย” จะหมายถึง “คาบสมุทรอานาโตเลีย” คาบสมุทรขนาดใหญ่ทางตะวันตกของทวีปเอเชีย ล้อมรอบด้วยทะเลดำทางเหนือ ช่องแคบตุรกีทางตะวันตกเฉียงเหนือ และทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางใต้ คาบสมุทรแห่งนี้กินพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศตุรกี
รูปที่ 2 - แผนที่ประเทศตุรกี แสดงพื้นที่ของคาบสมุทรอานาโตเลีย (พื้นที่ในเส้นขอบสีแดง) [Credit ภาพ : User ‘Spiridon Ion Cepleanu’ @ Wikimedia.org]
ที่มาของชื่อนี้มาจากคำว่า ἀνατολή “อานาโตแล” (ตามการออกเสียงภาษากรีกแถบกรุงเอเธนส์ช่วงศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสต์กาล) ในภาษากรีกโบราณ แปลว่า “การขึ้นมาเหนือขอบฟ้า” หรือ “ทิศตะวันออก” เนื่องจากคาบสมุทรแห่งนี้อยู่ทางทิศตะวันออกของกรีซ และชื่อนี้ยังปรากฏเป็นชื่อ “จังหวัดอานาโตเลีย” (Anatolic Theme) จังหวัดแห่งหนึ่งของจักรวรรดิไบแซนไทน์ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 660 - ค.ศ.1078
รูปที่ 3 - แผนที่จักรวรรดิไบแซนไทน์ในช่วงปี ค.ศ.740 ที่แบ่งเป็นจังหวัด (Theme) ต่าง ๆ รวมถึงจังหวัดอานาโตเลีย (Anatolic Theme) ที่มีศูนย์กลางที่เมือง Amorium [Credit แผนที่ : User ‘Cplakidas’ @ Wikimedia.org]
สำหรับท่อนลงท้าย -ia ของชื่ออานาโตเลีย มาจากภาษาละตินสมัยกลาง ขณะที่ภาษาตุรกีสมัยใหม่ก็รับชื่อคาบสมุทรอานาโตเลียมาจากภาษากรีกโบราณ โดยเรียกว่า Anadolu
2) เอเชีย (Asia)
ชื่อนี้ย้อนกลับไปถึงยุคสัมฤทธิ์ เริ่มที่ “รัฐอัซซูวา” (Assuwa Confederation) ที่กำเนิดขึ้นทางตะวันตกของคาบสมุทรอานาโตเลีย ก่อนที่จักรวรรดิฮิตไทต์ (Hittites Empire) จะพิชิตลง ในช่วงประมาณปีที่ 1,400 ก่อนคริสตกาล บริเวณที่เคยเป็นรัฐอัซซูวาเดิมกลายเป็น “อาณาจักรอาร์ซาวา” (Arzawa) ประมาณช่วงปลายศตวรรษที่ 15 - ต้นศตวรรษที่ 12 ก่อนคริสตกาล และถูกฮิตไทต์พิชิตลงอีกครั้ง
รูปที่ 4 - แผนที่คาบสมุทรอานาโตเลียแสดงพื้นที่ของจักรวรรดิฮิตไทต์ในช่วงปีที่ 1,350 – 1,300 ก่อนคริสตกาล (มีขอบเขตเป็นเส้นสีเขียวเข้ม) และพื้นที่ที่ฮิตไทต์แผ่อิทธิพลออกไปช่วงที่เรืองอำนาจมากที่สุด (พื้นที่สีเขียว) พร้อมแสดงพื้นที่บริเวณอดีตอาณาจักรอาร์ซาวา [Credit แผนที่ : User ‘Ikonact’ @ Wikimedia.org]
เมื่อเข้าสู่สมัยคลาสสิก (ช่วงศตวรรษที่ 8 ก่อนคริสตกาล - คริสต์ศตวรรษที่ 6) เริ่มมีชื่อของ Ἀσία “อาซีอา” ในภาษากรีก โดยนักแปลชาวโรมันแปลคำ Ἀσία เป็น Asia ในภาษาละติน
ชื่อ Asia ปรากฏในชื่อจังหวัดอาเซีย (Provincia Asia / ἐπαρχία Ἀσίας) ซึ่งเป็นจังหวัดหนึ่งของจักรวรรดิโรมัน ทางตะวันตกของคาบสมุทรอานาโตเลีย ในช่วงปีที่ 133 ก่อนคริสตกาล - คริสต์ศตวรรษที่ 7 ก่อนที่จะกลายเป็นจังหวัดอานาโตเลียของจักรวรรดิไบแซนไทน์ในเวลาต่อมา
รูปที่ 5 - แผนที่แสดงจักรวรรดิโรมันในช่วง ค.ศ.125 และบริเวณที่เคยเป็นจังหวัดอาเซีย (พื้นที่สีแดงในแผนที่) [Credit แผนที่ : User ‘Milenioscuro’ @ Wikimedia.org]
ตั้งแต่สมัยคลาสสิกเป็นต้นมา คำว่า Asia ก็เริ่มใช้ในวงกว้างมากขึ้นในบริบทของ “พื้นที่ทางตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน” อย่างเช่น
- แผนที่โลกในมุมมอง “โลกเก่า” (Old World) ของกรีกโบราณ ช่วงศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล ที่แบ่งโลกเป็นสามฝั่ง ได้แก่ Europe, Libya (ทวีปแอฟริกา) และ Asia
- ช่วงปลายสมัยโบราณ (ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 3-8) คนกรีกบางส่วนเริ่มใช้ชื่อ Μικρὰ Ἀσία (Mikrà Asía) ที่แปลว่า “อาเซียน้อย” ในการระบุถึงคาบสมุทรอานาโตเลีย และกลายเป็นชื่อในภาษาละตินว่า Asia Minor
รูปที่ 6 - แผนที่จำลอง “โลกเก่า” ตามองค์ความรู้ทางภูมิศาสตร์ของกรีกโบราณ ช่วงศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล [Credit แผนที่ : User ‘Bibi Saint-Pol’ @ Wikimedia.org]
เมื่อเวลาผ่านไป ชื่อ Asia มีความหมายทางภูมิศาสตร์ใช้กล่าวถึงทวีปใหญ่ทางตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยรวมภูมิภาค ๆ อย่างภูมิภาคตะวันออกกลาง (ยกเว้นอียิปต์) ชมพูทวีป และภูมิภาคตะวันออกไกล (เอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้) ในฐานะ “ทวีปเอเชีย” ในปัจจุบัน แทนที่ใช้กล่าวถึงเฉพาะบริเวณคาบสมุทรอานาโตเลียอย่างในช่วงที่เริ่มเกิดคำนี้
รูปที่ 7 – แผนที่โลกฉบับเก่าที่อาศัยข้อมูลจาก “แผนที่โลกของทอเลมี” (Ptolemy's world map) ที่ใช้ในสังคมกรีก-โรมัน ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 2 จะเห็นว่าแผนที่ฉบับนี้ระบุชื่อ Asia ในพื้นที่ทวีปเอเชีย
3) ออตโตมัน/อุษมานียะฮ์
“ออตโตมัน” (Ottoman) เป็นคำเรียกจักรวรรดิออตโตมัน อดีตจักรวรรดิในช่วง ค.ศ.1299-1922 ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ในบริเวณประเทศตุรกีในปัจจุบัน เคยแผ่ขยายอำนาจเหนือคาบสมุทรบอลข่านในยุโรป ชายฝั่งทางเหนือของทวีปแอฟริกา บริเวณชายฝั่งตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและบริเวณประเทศอิรักในปัจจุบัน
รูปที่ 8 – แผนที่แสดงจักรวรรดิออตโตมันในช่วง ค.ศ.1683 (แสดงด้วยพื้นที่สีเขียวเข้ม) พร้อมพื้นที่ของรัฐบรรณาการ-เขตปกครองตนเองภายใต้ออตมัน (สีเขียวอ่อน) [Credit แผนที่ : User ‘Chamboz’ @ Wikipedia.org]
ชื่อ “ออตโตมัน” เป็นชื่อที่แผลงตามเสียงในภาษาอังกฤษ ซึ่งจักรวรรดิแห่งนี้มีชื่อเต็มในภาษาตุรกีแบบออตโตมันว่า دولت عليه عثمانيه (Devlet-i ʿAlīye-i ʿOsmānīye แปลว่า “รัฐออตโตมันอันประเสริฐ”)
จากท่อนหลังสุดของชื่อนี้ (อักษรอาหรับจะอ่านจากขวามาซ้าย) ที่ว่า عثمانيه ตามอักษรอาหรับที่ภาษาตุรกีแบบออตโตมันเคยใช้ พออ่านตามแบบภาษาอาหรับจะเป็น “ʿuṯmāniyya” ซึ่งกลายเป็นชื่อ “อุษมานียะฮ์” ที่ใช้เรียกทั้งจักรวรรดิและราชวงศ์ในภาษาไทยตามแหล่งข้อมูลหรือสื่อของชาวมุสลิม (ที่มักอ้างอิงภาษาอาหรับเป็นหลัก)
ขณะที่ชื่อราชวงศ์ออตโตมันในภาษาตุรกีแบบออตโตมันจะเป็น خاندان آل عثمان (Ḫānedān-ı Āl-i ʿOsmān) แปลว่า “ราชวงศ์ออสมัน”
รูปที่ 9 – ภาพวาดจากสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19 แสดงสุลต่านออสมันที่ 1 (คนกลางในภาพ)
ชื่อของจักรวรรดิแห่งนี้และราชวงศ์ในภาษาอังกฤษ-ภาษาตุรกี-ภาษาอาหรับ ทั้ง “ออตโตมัน” “ออสมัน” หรือ “อุษมานียะฮ์” มาจากชื่อของ “สุลต่านออสมันที่ 1” (Osman I) สุลต่านพระองค์แรกที่ปกครองจักรวรรดิออตโตมัน ซึ่งชื่อ “ออสมัน” ในภาษาตุรกีของพระองค์มาจากชื่อผู้ชายในภาษาอาหรับ عثمان (Uthmān / อุษมาน) แปลว่า “เฉลียวฉลาด” หรือ “หยั่งรู้”
4) รูม (Rum หรือ Rûm)
ชื่อ “รูม” เป็นอีกชื่อหนึ่งที่เคยใช้เรียกพื้นที่แถบคาบสมุทรอานาโตเลีย โดยมาจากชื่อ “รัฐสุลต่านรูม” (Sultanate of Rum) รัฐมุสลิมของกลุ่มชนชาวเติร์กที่อพยพมาจากเอเชียกลาง ในพื้นที่ที่พิชิตได้จากจักรวรรดิไบแซนไทน์ (จักรวรรดิโรมันตะวันออก) ซึ่งรัฐแห่งนี้อยู่ในช่วง ค.ศ.1077-1308 (เกิดก่อนจักรวรรดิออตมัน)
ก่อนเกิดรัฐสุลต่านรูม คนไบแซนไทน์สมัยนั้นเรียกจักรวรรดิตนเองว่า “จักรวรรดิโรมัน” (Imperium Romanum ในภาษาละติน หรือ Βασιλεία Ῥωμαίων (Basileia Rhōmaiōn) ในภาษากรีกโบราณ) และเรียกกลุ่มชนของตนว่า “ชาวโรมัน” เพราะถือว่าจักรวรรดิของตนสืบเนื่องมาจากจักรวรรดิโรมัน
รูปที่ 10 – แผนที่จักรวรรดิไบแซนไทน์ในช่วงที่เรืองอำนาจที่สุด (พื้นที่สีแดงในแผนที่) ประมาณปี ค.ศ.555 (รัชสมัยของยุสตินิอานุสมหาราช (Justinian the Great)) [Credit ภาพ : User ‘Tataryn’ @ Wikimedia.org]
ชื่อ روم “รูม” ที่ปรากฏในภาษาอาหรับ ภาษาตุรกี และภาษาเปอร์เซีย ในความหมายถึง “จักรวรรดิไบแซนไทน์” และ “ชาวไบแซนไทน์” จึงมาจากชื่อ “โรมัน” ในภาษาละตินกับภาษากรีกตามที่คนไบแซนไทน์ใช้เรียกตนเอง เมื่อกลุ่มชนชาวเติร์กพิชิตและยึดพื้นที่จากจักรวรรดิไบแซนไทน์ ก็นำชื่อมาใช้เป็นชื่อรัฐสุลต่านรูม
ขณะที่ในภาษาตุรกีสมัยใหม่ ชื่อ “รูม” (Rum) ยังใช้ครอบคลุมถึงชาวกรีกที่อาศัยอยู่ในตุรกี และชื่อ “รูม” ได้เข้ามาเป็นคำยืม “อรุม” “อรุ่ม” หรือ “หรุ่ม” เพื่อสื่อถึงชาวตุรกีหรือดินแดนตุรกี ตามบันทึกหรือเอกสารในภาษาไทยสมัยอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
รูปที่ 11 - แผนที่คาบสมุทรอานาโตเลีย แสดงการขยายอิทธิพลเหนือพื้นที่โดยรอบของรัฐสุลต่านรูม จากช่วง ค.ศ.1100 – 1243 (ไล่จากสีครามในช่วงแรก ไปจนถึงสีฟ้าอ่อนในช่วงท้าย) [Credit แผนที่ : User ‘Swordrist’ @ Wikimedia.org]
5) ตุรกี (Turkey) / ทือร์คิเย (Türkiye)
ชื่อ Turkey ของประเทศตุรกีในภาษาอังกฤษนั้น สามารถย้อนแหล่งที่มาย้อนลงไปเรื่อย ๆ ได้ดังนี้
[ชื่อในความหมาย “ดินแดนของชาวเติร์ก”]
- ภาษาฝรั่งเศส : Turquie
- ภาษาละตินสมัยกลาง (Mediaval Latin) : Turchia (หมายถึง “ดินแดนของชาวเติร์ก”) ตามคำภาษาละติน Turcus (ชาวเติร์ก)
 
[ชื่อในความหมาย “ชาวเติร์ก”]
- ภาษาละตินสมัยกลาง : Turcus
- ภาษากรีกไบแซนไทน์ : Τοῦρκος (Toûrkos)
- ภาษาเปอร์เซีย : ترک (Turk)
- ภาษาเตอร์กิกเก่า (Old Turkic) ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 8-13 : Türk/Türük
ชื่อ Türk/Türük มาจากชื่อที่ปรากฏตามจารึกในภาษาเตอร์กิกเก่าว่า Kök Türük เพื่อสื่อถึงกลุ่มชนชาว Göktürk ซึ่งเป็นสมาพันธ์กลุ่มชนเร่ร่อนในแถบมองโกเลีย-เอเชียกลางช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 6-8 และเป็นบรรพบุรุษของกลุ่มชนชาวเติร์ก/ชาวตุรกีในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ถึงคำแรก Kök จะแปลว่า “ท้องฟ้า” หรือ “สีฟ้า” แต่คำหลัง Türük นั้น ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่ามาจากคำในความหมายใด
รูปที่ 12 – ภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงทหารม้าชาว Göktürk ที่สุสาน Shoroon Bumbagar ทางตอนกลางของมองโกเลียที่สร้างในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 7 [ที่มาของภาพ : Journal of Social and Humanities Sciences Research]
ขณะที่ชาวจีนในฐานะเพื่อนบ้านสมัยนั้นเรียกชนกลุ่มนี้ด้วยภาษาของตนว่า 突厥 (หากอ่านตามภาษาจีนกลางสมัยใหม่จะกลายเป็น Tūjué “ทู-จเหวีย” ซึ่งการออกเสียงแตกต่างจากสมัยก่อน)
รูปที่ 13 – แผนที่แสดงพื้นที่ของรัฐข่านเตอร์กิก ในช่วง ค.ศ.576 รัฐแห่งนี้เป็นรัฐของกลุ่มชนชาว Göktürk [Credit แผนที่ : Turk Bitig]
กลับมาที่คำ Turkey ที่เป็นชื่อของประเทศตุรกีในภาษาอังกฤษ คำนี้กลับเป็นทั้งคำพ้องรูป-คำพ้องเสียงกับคำ turkey อีกแบบในภาษาอังกฤษที่แปลว่า “ไก่งวง” จากการย่อคำ “ไก่ตุรกี” (turkey-cock และ turkey-hen) ในภาษาอังกฤษช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 เพื่อสื่อถึง “ไก่ต๊อก” (Guinea fowl) ที่ยุโรปนำเข้าจากตุรกี ก่อนที่ทางฝั่งอเมริกาเหนือจะนำชื่อ turkey มาใช้กับ “ไก่งวง” ในภายหลัง
ส่วนชื่อ Türkiye “ทือร์คิเย” เป็นชื่อที่ชาวตุรกีใช้เรียกประเทศตนเองอยู่แล้ว ซึ่งประธานาธิบดีเรเจป ไตยิป แอร์โดอัน (Recep Tayyip Erdoğan) มีนโยบายส่งเสริมการใช้ชื่อ Türkiye ตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ.2021 เริ่มจากการใช้ในสินค้าส่งออกจากตุรกี ก่อนที่จะส่งเสริมให้ใช้ชื่อประเทศแบบนี้ในระดับนานาชาติ
ทางรัฐบาลตุรกีมีมุมมองว่าชื่อ Türkiye สอดคล้องและสื่อถึงวัฒนธรรมและความเป็นตุรกีได้ดีกว่า อีกทั้งยังหลีกเลี่ยงมุกล้อชื่อจากความเป็นคำพ้องรูป-คำพ้องเสียงระหว่าง Turkey (ประเทศตุรกี) – turkey (ไก่งวง)
กระทรวงการต่างประเทศของตุรกีดำเนินการส่งหนังสือถึงสหประชาชาติ (UN) และองค์การระหว่างประเทศแห่งอื่น ๆ เพื่อเปลี่ยนการสะกดชื่อประเทศตนเองในภาษาอังกฤษ จาก Turkey เป็น Türkiye เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ค.ศ.2022 และ UN ได้รับรองชื่อที่สะกดใหม่อย่างเป็นทางการในช่วงต้นเดือนมิถุนายน
รูปที่ 14 - การใช้ชื่อ Türkiye ในฐานะชื่อประเทศของตุรกีครั้งแรกในองค์การสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ.2022 [Credit ภาพ : Anadolu Agency]
นอกจากนี้ ชื่อของ “ตุรกี” ยังเคยปรากฏร่วมกับชื่อ “รูม” เพื่อสื่อถึงคนตุรกี ในชื่อ “หรุ่มโต้ระกี่” อย่างในจารึกโคลงภาพคนต่างภาษา แผ่นที่ 12 ที่วัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) บางกอก ที่แต่งเนื้อหาบนจารึกโดยกรมหมื่นไกรสรวิชิต ในช่วงรัชกาลที่ 3 โดยกล่าวว่าคนชนชาติ “หรุ่มโต้ระกี่” มักบริโภคนมเนยจากวัว ไม่กินหมู ไว้หนวดเครา จมูกโด่งแหลม รูปร่างสูงใหญ่และมีจิตใจกล้าหาญ
จะเห็นได้ว่าชื่อเกี่ยวกับประเทศตุรกีที่กล่าวถึงนี้มีที่มาหลายแบบ เช่น
- จากภายนอกดินแดนประเทศตุรกี เช่น “อานาโตเลีย” ที่มีรากฐานจากภาษากรีกโบราณ และ “รูม” ที่มาจากจักรวรรดิไบแซนไทน์ ซึ่งมองว่าตนเองสืบทอดจักรวรรดิโรมันอย่างชอบธรรม
- จากภายในดินแดนประเทศตุรกี เช่น “เอเชีย” ที่มาจากชื่อรัฐหรือจังหวัดในแถบนี้สมัยก่อน และ “ออตโตมัน” ที่มาจากชื่อสุลต่านคนแรกของจัรวรรดิออตโตมัน
- จากชื่อชนชาติ เช่น ชื่อ “ตุรกี-Turkey-Türkiye” ที่ย้อนกลับไปถึง Göktürk (กลุ่มชนเร่ร่อนในแถบเอเชียกลางสมัยก่อน)
ทางผมหวังว่าจะคนอ่านเองจะได้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยทางภาษา ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของชื่อแบบต่าง ๆ ของตุรกีนะครับ
หากท่านชอบเนื้อหาในบล็อกนี้ สามารถกด “ติดตาม” บล็อกนี้บน Blockdit หรือเพจ FB ที่ https://www.facebook.com/NumMacau/ ได้ครับ...แล้วพบกันใหม่ในเนื้อหาตอนหน้าครับ
โฆษณา