8 มิ.ย. 2022 เวลา 12:15 • ปรัชญา
๖. สุดปลายแผ่นดิน
(จินตนิยายอิงประวัติศาสตร์ จากสุวรรณภูมิถึงเยรูซาเล็ม) มี ๑๗ บท
บทที่ ๑๓ อัครทูต
๕๐ วันแห่งความเงียบเชียบหลังวันประหารพระคริสต์นั้น คือ ๕๐ วันของแรงและการก่อตัวของคลื่นมหึมา ก่อนหน้าที่มันจะโถมเข้าหาฝั่ง และนั่น, ข้าพเจ้าเห็นการฟื้นพระชนม์ของพระคริสต์ในกิจกรรมของเหล่าอัครทูต!
บรรดาพระสาวกสาวิกาของพระคริสต์ได้นัดประชุมลับบนภูเขามะกอกเทศ แม้จะเป็นการประชุมลับที่เนื่องด้วยความกลัวพวกปุโรหิตก็ตาม ข้าพเจ้าและอิสไมเลียได้เข้าร่วมประชุมกับเขาทั้งหลายเหล่านั้นด้วย ดุจเป็นสมาชิกของคริสตจักร และที่จริงแล้วข้าพเจ้าและอิสไมเลียก็ยังผูกพันอยู่กับพระคริสต์เจ้าจนไม่สะดุดกระดากใจ
ข้าพเจ้ากับมิเรียมธิดาของท่านยะโฮซูอะได้เดินนำหน้าอิสไมเลีย, ศิวนาท และท่านยะโฮซูอะมาเล็กน้อย
“สุเมธะ, ที่สุวรรณทวีปของท่านอากาศหนาวอย่างนี้ไหม ?”
ข้าพเจ้าหยุดชะงักด้วยคำเรียกชื่อและบ้านเกิดที่แท้จริง
“มิเรียม, ที่นั่นไกลจากที่นี่มากเหลือเกิน”
“ครอบครัวของสุเมธะภิกษุยังอยู่หรือ ?”
“มิเรียม, ภิกษุนั้นไม่มีภรรยาดอก” ข้าพเจ้าไม่ทันนึกว่าคำตอบสั้นๆ เช่นนี้ต้องลำบากใจภายหลัง
ครู่เดียวในความมืดที่มีเพียงคณะของพวกเรา ได้กลับกลายเป็นความอบอุ่นของที่ประชุมของพระสาวกที่ข้าพเจ้าไม่อาจกำหนดจำนวนได้ และทุกคนสงบเงียบเพราะสำนึกในอันตรายของการประชุมของคริสตจักรนี้
ประกายแสงนั้นส่องให้เห็นใบหน้าของท่านเปโตรผู้ยืนเด่นอยู่กลางที่ประชุมเหล่าอัครทูต
เปโตรขอร้องให้อัครทูตทุกคนตั้งต้นการประกาศข่าวประเสริฐของพระคริสต์ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ที่วิหารของโซโลโมศูนย์กลางแห่งเยรูซาเล็มอย่างเอาชีวิตเข้าเป็นเดิมพัน
ขณะที่ท่านเปโตรเงียบสงบลง ข้าพเจ้าเห็นใครคนหนึ่งร่างสูงใหญ่ ท่านคือศิวนาทนั่นเอง ท่านหันหน้าไปโดยรอบและกล่าวขึ้นเบาๆ เบื้องหน้าท่านเปโตรว่า
“คารวะแด่ท่านเปโตรและพี่น้องชาวอิสราเอล
แม้ว่าข้าพเจ้าจะเป็นนักบวชต่างศาสนาก็ตาม แต่ข้าพเจ้าก็รักในพระเยซูคริสต์เหลือเกิน และข้าพเจ้าจะเสนอว่า...”
ท่านได้หยุดตริตรองความคิดแล้วกล่าวต่อว่า
“ใครคนใดคนหนึ่งในบรรดาอัครทูตต้องไปยังชมพูทวีป เพื่อคริสตจักรของพระเยซู เพราะว่าพระองค์ได้ตรัสมิใช่หรือว่า ท่านทั้งหลายจงเลี้ยงลูกแกะของเราจนตลอดประชาชาติจนสุดปลายแผ่นดินโลก!”
“สำหรับท่านอัครทูตผู้จะไปยังชมพูทวีป...”
“จะต้องตรึงกางเขนตนเองด้วยความสิ้นหวังที่จะกลับมาสู่บ้านเกิดโดยแน่นอน!” นี่เองคือภารกิจที่ศิวนาทได้กระทำแล้วหลังจากสนทนาค้างไว้กับข้าพเจ้าที่อุโมงค์เก็บศพ
ข้าพเจ้าได้ลุกขึ้นกล่าวเสริมท่านศิวนาท เพราะว่าเกิดความคิดในขณะนั้นว่า ถ้าเป็นไปได้ข้าพเจ้าควรไปตายในถิ่นที่เป็นพุทธภูมิ
แผนการได้ถูกวางไว้คร่าวๆ ว่าอีก ๓ เดือน การเดินทางจะตั้งต้นขึ้น ศิวนาทจะเป็นผู้นำทางและไม่มีใครคาดใจของข้าพเจ้าได้นอกจากมิเรียม
ข้าพเจ้านึกถึงศิวนาทและความคิดที่จะไปชมพูทวีปเริ่มก่อหวอดขึ้นบ้าง กระนั้นข้าพเจ้ายังอดถามตัวเองไม่ได้ว่าข้าพเจ้าจะไปชมพูทวีปทำไม?
บางครั้งข้าพเจ้าได้เห็นกิจการของพระอัครทูตแล้วก็อุตริคิดจะกระทำเช่นนั้นในนามของพระพุทธเจ้าบ้างในถิ่นนี้ แต่ข้าพเจ้าจะทำได้อย่างไรในถิ่นที่ภาษาวัฒนธรรมไม่เหมือนกันเลย ข้าพเจ้าอาจจะต้องสร้างพระเจ้าในพุทธศาสนาขึ้นเพื่อความไปกันได้ในที่นี้ มิฉะนั้นแล้วเพียงประชาชาติอิสราเอลทราบว่าข้าพเจ้าเป็นพวกอเทวนิยม เขาก็หันหลังให้และในที่สุดข้าพเจ้าอาจถูกขับไล่ด้วยก้อนหินถึงแก่ความตาย
ในที่สุดข้าพเจ้าต้องจบความคิดทุกครั้งของการเปิดเผยตัวเองในนามของพระพุทธไว้ด้วยความคิดสุดท้ายว่า “ยังไม่ถึงเวลา!” และข้าพเจ้าก็รอ
บทที่ ๑๔ พระธรรมเจ้า
เมื่อเราได้ขึ้นบนภูเขามะกอกเทศแล้วนั้นเป็นเวลาใกล้พลบ และเราทั้งสามคือท่านเปาโล, ศิวนาทและข้าพเจ้าจึงได้ตกลงใจกันว่าจะพักค้างบนภูเขานี้จนกว่าจะรุ่งสาง
เราสนทนากันเรื่องทางของฮินดู, ยูดายและคริสเตียนที่ยืนพื้นอยู่บนศรัทธา ส่วนศาสนาไชนะของพระมหาวีระนั้นเน้นไปทางขันติ พุทธธรรมนั้นเล็งไปที่ปัญญา ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการแบ่งโดยหลักทั่วไป ซึ่งโดยเนื้อแท้หาแยกกันได้เด็ดขาดไม่ เพราะว่าไม่มีศรัทธาอันแท้จริงไหนแยกจากปัญญา และไม่มีขันติอันถูกต้องไหนจะพาตนบ่ายหน้าไปสู่พระเจ้าได้โดยปราศจากปัญญา ปัญญาที่ขาดศรัทธาและขันติจะเป็นปัญญาอันสูงสุดได้อย่างไร
ท่านเปาโลปิยมิตร! ถ้าหากว่าภาษาของมนุษย์ถูกตัดคลองของมันขาดลง ภาษาของมนุษย์เป็นไม่มีความหมายใดๆ เมื่อนั้นมีลีลาของอะไรหรือที่สำแดงอยู่
ศิวนาทเปล่งวาจาออกมาว่า “โอม! นั่นคือรามลีลา หรือนาฏราชระบำของศิวะ หะซันสหายรัก”
ท่านเปาโลหันมายิ้มกับข้าพเจ้ากล่าวว่า “เมื่อภาษาถูกทำให้หมดความหมาย สิ่งที่เหลือ, ลีลาที่เหลือ, คือพระวาทะ! และลีลานั้นเป็นอยู่ในใจของเรามิใช่หรือ หากแต่ว่ามนุษย์ไปฟังแต่ความหมายของถ้อยคำ หาได้มีหูที่จะฟังพระวาทะที่เป็นที่มาแห่งถ้อยคำนั้นไม่”
“เปาโล, นี่คือสัจจะ กฎของธรรมที่เหนือคำพูดทั้งปวง เป็นอัพยากตธรรม หรืออาจจะกล่าวเป็นคำพูดสุดท้ายของมนุษย์ว่า “ความที่เพราะมีสิ่งนี้ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆ จึงเกิดขึ้น” โลกคือกระแสสืบต่อ กระแสของอะไรเล่า กระแสของอัพยากตธรรม กระแสของความเป็นเอง และถูกแล้ว กระแสของพระวาทะ!”
บทที่ ๑๕ มิเรียม
มิเรียมนอนไม่ค่อยหลับ เพราะใกล้เวลาที่หะซัน สับบาร์จะเดินทางไปชมพูทวีปแล้ว โดยทิ้งพันธะที่ละมุนละไมไว้ มิเรียมคิดว่าแมงมุมมิได้สร้างใยรักนี้ขึ้น หากว่าใยนั้นเองที่ได้สร้างชีวิตของแมงมุมเอง
และไม่ช้าเมื่อรุ่งเช้าแห่งการพลัดพรากได้มาถึง คงจะทิ้งใยแห่งความจำไว้อันไม่รู้จบ ถึงวันพรุ่งนี้ หะซัน สับบาร์ เป็นพุทธ มิเรียมเองเป็นคริสเตียนและพระเจ้าของประชาชาติอิสราเอลนั้นทรงมเหสักข์ เธอคิดว่าเธอจะยอมเปลี่ยนพระเจ้าของเธอ เพื่อไปนับถือพระเจ้าของหะซัน สุเมธะได้หรือ?
พระเจ้าของสุเมธะจะต้องเป็นพระเจ้าของมิเรียมด้วย สุเมธะไปถึงไหนมิเรียมจะไปด้วย เพื่อร่วมกันจนถึงถิ่นมรณา มิเรียมได้ลุกขึ้นนั่งในความมืด มือประสานอยู่ระหว่างอก โอ, ยะโฮวา...พระเจ้าของประชาชาติอิสราเอลบรรพบุรุษของข้า มิเรียมสวดภาวนาในใจ ขอพระองค์ทรงโปรดประทานโทษแก่ทาสีของพระองค์เถิด เพราะว่าทาสีของพระองค์ได้ขึงใยแห่งความรักขึ้น
เสียงเดินแม้จะแผ่วเบาของมิเรียม แต่หูอันว่องไวของ
หะซันก็กำหนดได้
“มิเรียม, อากาศข้างนอกคงหนาวเย็น เข้ามาข้างในเถิด”
“มิเรียม, ต้องการอะไรจากฉันหรือ?” เสียงของหะซันดุจดังอยู่ที่ขอบฟ้า
“ไม่มี! นอกจากพระเจ้าของเธอต้องเป็นของมิเรียมด้วย!”
“มิเรียมที่รัก...” หะซันกล่าวคำนี้ด้วยความสงสาร และมิเรียมก็ปลาบปลื้มในเวลาใกล้สาง “ถ้าฉันบอกเธอว่าสุเมธะภิกษุนั้นไม่มีพระเจ้าเล่า?”
“ไม่จริงหะซัน, ไม่มีศาสนาไหนไม่มีพระเจ้าในโลกนี้ บิดาได้บอกฉันเช่นนี้ และเธอก็เป็นคนดีที่มีความเชื่อในพระเจ้าของเธอด้วย”
“มิเรียม, เวลาใกล้สางแล้ว ฉันคงจะอธิบายให้เธอฟังไม่ได้ เกรงว่าใครมาประสบเราสองคน ณ ที่นี้”
 
“มิเรียม, เธอยังเป็นเด็ก และความรู้นี้ผุดขึ้นในเงาแห่งความตาย เพราะว่าพระเจ้าของฉันกล่าวว่า ความรักเป็นเหตุของความโศกและความสะดุ้งกลัว”
“มิเรียม, ฉันรักเธอและเป็นพระเจ้าของเธอไม่ได้ นอกจากว่าเราจะได้ถวายความรักภักดีแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยกัน และนั่นคือ...”
หะซันคิดว่าท่านควรถนอมกำลังใจของมิเรียม “นั่นคือ.. เราคงได้รักกันแน่มิเรียม, ในแผ่นดินของพระผู้เป็นเจ้า”
"มิเรียม, อย่าปรารถนาสิ่งใดจากความรัก, เธออาจจะรักได้และมีสิทธิ์ในความรักนั้น และจงแสวงหาแต่ความรัก อย่าแสวงหาคนรักเลย"
(อ่านต่อเนื่อง​โพสต์​ถัดไป บทที่ ๑๖ สมณะโล้น)​
หมายเหตุ​: เนื่องจากเป็นงานเขียนในรูปแบบนิยาย ซึ่งมีการวางเรื่องให้คลี่คลาย​ในภายหลัง ข้อความ​ที่โพสต์​ซึ่งเน้นไปที่การดำเนิน​เรื่อง อาจทำให้ขาดถ้อยคำสำคัญ​ไปได้
...
"สุดปลายแผ่นดิน" (จินตนิยายอิงประวัติศาสตร์ จากสุวรรณภูมิถึงเยรูซาเล็ม)​ เป็นผลงานวรรณกรรม ของท่านเขมานันทะเล่มเดียวที่เสนอในรูปแบบนิยาย ตีพิมพ์ครั้งแรก​เมื่อปี พ.ศ ๒๕๑๘ โดยครั้งนั้น ใช้ชื่อปกว่า "สุดปลายแผ่นดินโลก" และใช้นามปากกาว่า "มุนีนันทะ"
จินตนิยาย​เล่มนี้ เป็นเพียงข้อเสนอความเข้าใจอันดีต่อกันระหว่างศาสนา ท่านเขมานันทะ​เขียนในคำปรารภว่า ถ้ามีข้อผิดพลาด ซึ่งอาจนำความเสียหาย แก่ศาสนาใดแล้ว ผู้เขียนขอประทานอภัย เพราะไม่ได้เป็นจุดมุ่งหมายของการเขียน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา