Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
A WAY OF LIFE : ทางผ่าน
•
ติดตาม
9 มิ.ย. 2022 เวลา 15:21 • ไลฟ์สไตล์
“จิตกับขันธ์คนละอันกัน
จิตที่ฝึกดีแล้วกับธาตุขันธ์ธรรมดา คนละส่วนกัน
… พวกโลกุตตรจิตทั้งหลายไม่ใช่อุปาทานขันธ์”
“ … เรียนลงที่กายที่ใจ
เรียนธรรมะ เราเรียนลงที่กายที่ใจ ไม่ได้ไปเรียนที่อื่นหรอก
ธรรมะไม่ได้อยู่กับคนอื่นด้วย ไม่ได้อยู่ที่ครูบาอาจารย์ ไม่ได้อยู่ในวัด
อยากเรียนธรรมะก็เรียนลงที่กายที่ใจ
ร่างกายเราดูลงไปตั้งแต่หัวถึงเท้า ตั้งแต่ผมลงไปถึงพื้นเท้า อันนี้เรียนร่างกายแบบสมัยพุทธกาล สมัยพุทธกาลเทคโนโลยีมันยังไม่ดี วิทยาการอะไรพวกนี้ยังไม่ดี ก็แยกร่างกายเป็น 32 ส่วน อาการ 32
มายุคหลังๆ นี้ทางการแพทย์พัฒนาไปเยอะแยะเลย แยกร่างกายออกเป็นชิ้นส่วนอะไรต่ออะไรเยอะแยะ เป็นระบบๆ ระบบต่างๆ เยอะแยะ ไม่ใช่แค่ 32 อย่างโบราณแล้ว
ถามว่าดูเป็นพันๆ ส่วนอย่างนี้ได้ไหม ก็ได้
ร่างกายนี้ถ้าเราจับแยกเป็นชิ้นๆ
จะแยกเป็น 32 ส่วนหรือแยกเป็นร้อยเป็นพันส่วน
ทุกส่วนมันก็แสดงธรรมะอันเดียวกัน
มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเหมือนๆ กัน
1
ฉะนั้นในทางรูปธรรม สมัยโน้นวิทยาการแยกได้ 32 มาในสมัยนี้แยกได้เยอะ วิทยาศาสตร์หรือฟิสิกส์มันก้าวหน้าไป
แต่ในส่วนนามธรรมพวกวิทยาศาสตร์ยังตามไม่ค่อยทัน ต้องใช้เวลาอีก
ถ้าเราเป็นหมอเราไม่ต้องไปเรียนอาการ 32 เรียนที่เรารู้นั่นล่ะ ดูลงไปว่าแต่ละอันๆ เป็นคนหรือเปล่า เป็นสัตว์หรือเปล่า เป็นเราเป็นเขาหรือเปล่า ดูลงไปอย่างนั้นใช้ได้เหมือนกัน
เรียนธรรมะก็รู้เนื้อหาแก่นสารของธรรมะจริงๆ เราเรียนรูปธรรมนามธรรม เราแยกแยะ
รูปธรรมเราก็แยกเป็นส่วนๆ จะแยกกี่ส่วนก็แล้วแต่วิทยาการ
นามธรรมนั้นสมัยพุทธกาลท่านแยกเอาไว้ 4 ส่วนคือเวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์ ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ สุขทุกข์ก็เกิดที่กาย สุขทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ก็เกิดที่จิต
สัญญาความจำได้ความหมายรู้
สังขารความปรุงดีปรุงชั่ว
วิญญาณคือความรับรู้ อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
นี่ก็แยกนามธรรมออกเป็น 4 ส่วน ทำไมต้องแยก
การเรียนรู้ความจริงด้วยการแยกส่วน
เป็นวิธีการในพระพุทธศาสนาเรียกว่า วิภัชชวิธี
…
วิภัชชวิธี
ความเป็นเรานั้นมันเกิดจากองค์ประกอบต่างๆ มันมารวมตัวกัน แล้วเราหมายรู้ผิดว่านี่คือเรา
อย่างรูปธรรมนี้ ประกอบด้วยวัตถุธาตุจำนวนมากมารวมกัน หรือประกอบด้วยอวัยวะจำนวนมากมารวมกัน กล้ามเนื้อก็มีเท่านั้นเท่านี้ กระดูกก็มีเท่านั้นเท่านี้ ระบบประสาทมีอย่างนั้นอย่างนี้ หลอดเลือดเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เยอะแยะ
พอเราจับแยกออกไปได้ เราจะพบว่าความเป็นคน ความเป็นสัตว์ ความเป็นเรา ความเป็นเขานั้น มันหายไป
แยกร่างกายออกไปแล้วก็พบว่าไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา
แยกนามธรรมออกไปก็จะพบว่า นามธรรมทั้งหลายไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขาเหมือนกัน
เป็นวิธีที่จะเรียนรู้ความจริงว่าตัวเราไม่มี
มีรูปธรรม รูปธรรมก็ไม่ใช่ตัวเรา
นามธรรมก็ไม่ใช่ตัวเรา
การแยกนั้นเบื้องต้นเราแยกรูปกับนาม
รูปธรรมส่วนหนึ่ง นามธรรมส่วนหนึ่ง
รูปธรรมก็แยกออกไปได้อีก จะแยกเป็นธาตุ 4 หรือจะแยกเป็นอาการ 32 หรือจะใช้วิทยาการสมัยใหม่แยกออกมาเป็นร้อยเป็นพัน แต่เนื้อในของมันก็เหมือนกันคือมันไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา
ฉะนั้นเราไม่ต้องไปยึดติดว่าพิจารณากายต้องสามสิบสอง ถ้ามีความรู้เยอะมีความเข้าใจเยอะ จะแยกมากกว่านั้นก็ได้ สามสิบสองเป็นเทคโนโลยีสมัยพุทธกาล แยกได้แค่นั้น
นามธรรม หรือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แยกเป็น 4 ส่วน
ถ้าเราแยกได้เราก็จะเห็นเวทนาคือความรู้สึกสุขทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา
คือส่วนของนามธรรม มันก็คือเรื่อง ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายนั่นล่ะ ความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ มันก็ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา
สัญญาความนึกได้ ความจำได้ การหมายรู้ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา
สังขารความปรุงดีปรุงชั่ว อย่างโลภ โกรธ หลง ความโลภไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา
แยกออกไปเรื่อย ตัวที่ยากคือตัววิญญาณ วิญญาณเป็นตัวรับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เราจะแยกได้ดีไม่ว่าจะแยกรูปแยกนาม อันแรกเราต้องมีสมาธิมากพอ ให้จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูให้ได้ก่อน
พอจิตตั้งมั่นได้ มันจะเห็นขันธ์มันจะแยกตัวออกไป รูปมันก็แยกออกไป
ทีแรกก็เห็นรูปทั้งตัวนี้กับจิตนี้คนละอันกัน แยกย่อยออกไป แยกออกไปเป็นอาการ 32 เป็นธาตุ 4 หรือจะเป็นร้อยเป็นพันแบบวิทยาศาสตร์สมัยนี้ก็ได้เหมือนกัน
ส่วนนามธรรมค่อยๆ ดูไป ขั้นแรกแยกรูปนาม แล้วก็แยกรูปต่อไป แยกนามต่อไป
การแยกนามทำอย่างไร
พอใจเราเป็นคนรู้คนดู ทำใจสบาย อยู่กับเครื่องอยู่ของเราไป จะหายใจเข้าพุทหายใจออกโธอะไรก็ได้ หรือจะใช้อย่างอื่นก็ได้ ให้จิตมันมีเครื่องอยู่สักอย่างหนึ่ง แล้วมันเกิดความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ขึ้นในร่างกาย เรารู้ทัน
ถ้าจิตเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้เห็นอยู่
มันจะเห็นว่าความสุขความทุกข์ในร่างกายนี้
ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา
เป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป
หรือเราหายใจเข้าพุทออกโธ ทำกรรมฐานของเราอยู่นี่ล่ะ ไม่ต้องไปสนใจอะไรมาก ทำไปเรื่อยๆ จิตใจมีความสุขขึ้นมารู้ทัน จิตใจมีความทุกข์ขึ้นมารู้ทัน แยกอย่างนี้ก็ได้ เป็นเวทนาทางใจ
เราจะเห็นความสุขในใจ ความทุกข์ในใจ
ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป
ค่อยๆ แยก แยกออกมาแล้วก็ดูละเอียดลงไป
ทุกสิ่งทุกส่วนที่เราแยกออกไป
ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา
ตัวสัญญา ความจำได้ ความหมายรู้ อันนี้ก็เป็นนามธรรม
บางทีก็จำได้ บางทีก็จำไม่ได้
บางทีก็หมายรู้ผิด บางทีก็หมายรู้ถูก แล้วแต่การฝึก
หมายรู้ผิดเป็นเรื่องของปุถุชนจะเป็นอย่างนั้นล่ะ
สังขาร ความปรุงดีปรุงชั่วเราก็จะเห็นอีก
ปรุงดี ความปรุงดีเกิดขึ้นจิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู
ก็จะเห็นสิ่งที่ปรุงดีๆ นั้นไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป
ความปรุงชั่วอย่างความโลภ โกรธ หลง
ความโลภเกิด ความโกรธเกิดก็เห็นมัน
มันไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา
ค่อยๆ ฝึก จิตก็ไปรับรู้อารมณ์
เดี๋ยวก็ไปดูรูป เดี๋ยวฟังเสียง
จิตที่ดูรูปก็ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา
จิตที่ฟังเสียง จิตที่ดมกลิ่น จิตที่ลิ้มรส จิตที่รู้สัมผัสทางกาย
จิตที่คิดนึกปรุงแต่งทางใจนั้นก็ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา
เฝ้าดูลงไป แยกๆๆ สิ่งที่เรียกว่าเรานี้
สุดท้ายจะพบว่าเราไม่มี มันมีแต่ขันธ์
มีแต่รูปธรรมนามธรรมที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป
รูปธรรมนามธรรมนั้นมันก็มีความสัมพันธ์กัน ถึงจะเป็นคนละส่วนกันแต่มันก็มีความสัมพันธ์กัน
อย่างรูปธรรมนี้ เราจะยิ้ม เราจะหน้าบึ้ง เราจะขยับ เราจะเดิน มันก็สัมพันธ์กับนามธรรม จิตมันเป็นคนสั่งให้รูปมันเคลื่อนไหว บางทีรูปมันก็เชื่อฟังคำสั่ง บางทีมันก็ไม่เชื่อฟัง
จิตมันสั่งลงมาในระบบประสาท คนละอันกัน จิตกับระบบประสาท จิตกับสมองคนละอันกัน แต่มันสั่งผ่าน
อย่างพวกเราเป็นมนุษย์ จิตมันก็สั่งร่างกายผ่านทางระบบประสาทของเรา ฉะนั้นพออายุมากๆ ระบบประสาทเราเสีย สมองเราเสื่อม บางทีก็สั่งไม่ค่อยจะได้ สั่งให้เดินตรงๆ ก็เดินเซๆ ควบคุมกล้ามเนื้ออะไรก็คุมไม่อยู่
แต่จิตนั้นยังไม่ได้เพี้ยน จิตยังสั่งได้ เที่ยงตรงยังไม่เสื่อม
แต่ร่างกายมันเสื่อมได้ มันเสื่อมก่อน
ความจำของจิต
จิตเสื่อมได้ไหม ได้ เพราะจิตเองก็เกิดแล้วดับ
อย่างตัวสัญญาความจำ ความจำมี 2 ส่วน
ความจำของสมอง กับ ความจำของจิต
ความจำของสมองก็แยกได้ 2 กลุ่มใหญ่ๆ ความจำเขาเรียกความจำถาวรกับความจำชั่วคราว ที่เรียกความจำถาวรเรียกโก้ๆ ไปอย่างนั้นล่ะ เอาเข้าจริงถึงจุดสุดท้ายก็จำไม่ได้เหมือนกัน
ความจำชั่วคราว อย่างเราจะทำอะไรเฉพาะหน้าไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไร มันจำได้แวบเดียวเดี๋ยวก็ลืมแล้ว อย่างเราไปท่องเลขโทรศัพท์ เพื่อนเราบอกเลขโทรศัพท์เราท่องเอาไว้ พอเราไปจดเสร็จเราก็ลืมเลย นี่มันจำชั่วคราวเฉพาะใช้งาน นี่เป็นเรื่องของสมอง
มันมีความจำอีกอันหนึ่งคือความจำของจิต เวลาที่เราทำกรรมอะไรที่มันมีความประทับใจ ต้องแรงๆ หน่อย มันจะฝังลงไปในจิตของเรา
เราทำความชั่วมากๆ เราไม่จำหรอกว่าเราฆ่าคนมาแล้วกี่คน แต่ว่าจิตมันจำ จิตมันจำความหยาบกระด้าง ความใจร้ายใจดำ มันจำได้แล้วมันก็สะสมไว้
พอเราตายไปจิตดวงใหม่ในภพใหม่ มันก็รับมรดกอันนี้ไป มันก็สะสมความใจดำมาแต่จิตดวงก่อนๆ ชาติก่อนๆ มันจำอย่างนี้ได้
หรือบางคนชอบทำบุญ ชอบภาวนา จิตมันจำได้ พอเกิดมาชาติใหม่สมองลืมไปหมดแล้ว เพราะถูกเอาไฟเผาไปแล้ว หรือไปฝังดินแตกสลายหมดแล้ว แต่จิตมันจำได้
อย่างเราเคยภาวนา เราเคยแยกขันธ์ได้ คนที่เคยแยกธาตุแยกขันธ์ได้ มาภาวนาชาติใหม่มันทำง่ายมากเลย
1
บางทีไม่ได้เจตนาแยกเลย มีอารมณ์อะไรที่แรงๆ มากระทบ ส่วนใหญ่จะเป็นอารมณ์จำพวกตกใจ เวลาเราตกใจมันเป็นอารมณ์ที่รุนแรง จิตที่เคยฝึกมีผู้รู้ ตัวผู้รู้มันจะดีดผางออกมาเลย จิตมันจะตั้งมั่นขึ้นมาเด่นดวงขึ้นมา
1
มันก็จะเห็นร่างกายนี้มันทำอะไร มันเห็นหมด ร่างกายมันตกใจ ใจสั่นอะไรอย่างนี้มันเห็น แล้วรู้เลยว่าจิตไม่ได้ตกใจ จิตเป็นคนดู
1
อย่างพวกเราถ้าตกใจ ใจเราสั่นไปด้วยเลย ประสาทเสียไปเลย
สิ่งที่จิตมันจำได้ นอกจากเรื่องดีเรื่องเลวแล้ว มันจำคุณธรรมที่สำคัญๆ ได้ อย่างเวลามันเกิดอริยมรรค อริยผลแล้ว มันจะฝังเข้าไปในใจ ไปเกิดใหม่ชาตินี้ได้โสดาบันไว้ ชาติหน้าไปเกิดใหม่ ได้ยินธรรมะนิดเดียว ธรรมะของเดิมก็กลับมาหมดเลย
1
มันแค่มีสิ่งมาเร้านิดเดียว มันก็แยกขันธ์ออกไปเห็นทุกอย่างไม่มีตัวเราได้เลย จิตมันจะทำงานอย่างนี้ได้ มันไม่ใช่สมอง
1
เพราะสมองเราพอเราตายสมองก็หยุดทำงาน แต่จิตนั้นมันไม่หยุด จิตมันดับลงไปแล้วมันก็เกิดจิตดวงใหม่ขึ้นในภพใหม่ มันส่งทอดมรดกไป ทั้งที่เป็นกุศล ทั้งที่เป็นอกุศล
กุศลถึงระดับเคยได้มรรคได้ผล อริยมรรค อริยผล พวกเราจะเกิดได้อย่างละ 4 ครั้ง อริยมรรคเกิดได้ 4 ครั้ง อริยผลเกิดได้ 4 ครั้งในสังสารวัฏ ไม่ใช่ในชาตินี้
ฉะนั้นอย่างเราภาวนาเราได้โสดาบันไป ไปเกิด บางท่านก็บอกไม่เห็นพระโสดาบันมาเกิดเลย ที่จริงคือจิตมันเป็นไปแล้ว เพียงแต่ว่าพูดธรรมะไม่ถูกเพราะบัญญัติไม่ถูก พอได้มาเรียนธรรมะบัญญัติถูกขึ้นมาก็เข้าใจ อธิบายออกมาง่ายๆ
เพราะฉะนั้นจิตกับสมองคนละอันกัน คนละเรื่อง สมองจำไม่ได้หรอก สะสมวิบากไม่เป็น ตายแล้วก็ตายไปเลย แต่จิตนั้นสะสมกุศลวิบาก อกุศลวิบาก สะสมได้
หรืออย่างถ้าเราภาวนาจิตเราเข้าถึงธรรมะ
อย่างสมมติจิตพระอรหันต์
ขันธ์มันเสื่อมไหม ขันธ์มันเสื่อม สมองเสื่อมไหม เสื่อม
ความจำเสื่อมไหม เสื่อม ก็เสื่อมได้
แต่ธรรมะที่มันประทับอยู่ในใจแล้ว มันไม่เสื่อม
คือสภาวะที่แจ่มแจ้ง
จิตที่มันแจ่มแจ้งในอริยสัจแล้ว มันจะไม่รวมตัวเข้าไปยึดถือไปเกาะไปเกี่ยว ในรูปธรรมในนามธรรมทั้งหลายอีกแล้ว แล้วมันจะแยกขาดแล้ว มันไม่รวมกันเข้ามาอีกแล้ว
ในพระไตรปิฎกท่านบอก “จิตพรากจากขันธ์”
ขันธ์จะเสื่อมก็เรื่องของขันธ์
แต่จิตนั้นพรากจากขันธ์ไปแล้ว
สัญญาบางอย่างเสื่อม สัญญาที่ใช้สมอง ความจำที่ใช้สมอง เสื่อม
สัญญาของจิตที่มีคุณภาพสูง ยิ่งเราภาวนาถึงที่สุดแห่งทุกข์แล้ว สัญญาที่ถูกไม่เสื่อม
อย่างเราเวลามองอะไรก็จะเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ไม่เห็นนิจจัง สุขขัง อัตตาหรอก นี้ไม่ได้เจตนา
มันประทับลงไปในจิตอย่างรุนแรง
แล้วจิตมันก็เปลี่ยนคุณภาพไปแล้ว
มันจะไม่กลับกลอกเข้ามายึดมาถือขันธ์ทั้งหลาย
ไม่กลับกลอกเข้ามาสำคัญมั่นหมาย
เห็นผิดว่าอันนี้สวย อันนี้งาม อันนี้เที่ยง
อันนี้เป็นสุข อันนี้เป็นตัวเรา ไม่มี
ขาดแล้วขาดเลย
1
เพราะฉะนั้นจิตกับขันธ์คนละอันกัน
จิตที่ฝึกดีแล้วกับธาตุขันธ์ธรรมดา คนละส่วนกัน
ตัวจิตในขันธ์ 5 มันก็เกิดดับๆๆ ไปตามธรรมชาติของมัน
จิตที่เหนือขันธ์ 5 จิตบางชนิดไม่ใช่อุปาทานขันธ์
คือพวกโลกุตตรจิตทั้งหลายไม่ใช่อุปาทานขันธ์
จัดอยู่ในขันธ์ 5 ไหม อยู่ แต่ไม่ใช่อุปาทานขันธ์
ไม่ใช่เป็นที่ตั้งของความยึดมั่น
จิตพวกนี้มันมีคุณภาพที่มันไม่กลับเสื่อมลงมาเป็นจิตปุถุชนอีก ถึงร่างกายจะเสื่อม สมองจะเสื่อม แต่คุณภาพของจิตชนิดนี้ไม่เสื่อมด้วย
เพราะฉะนั้นสัญญาก็มี 2 ส่วน
ส่วนของขันธ์กับส่วนของจิต
ความปรุงต่างๆ มีส่วนของขันธ์
จิตแท้ธรรมแท้ไม่ปรุงอะไร …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
4 มิถุนายน 2565
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
https://www.dhamma.com/where-is-dhamma/
เยี่ยมชม
dhamma.com
เรียนลงที่กายที่ใจ
เรียนธรรมะไม่ได้ไปเรียนที่อื่นหรอก ธรรมะไม่ได้อยู่กับคนอื่นด้วย ไม่ได้อยู่ที่ครูบาอาจารย์ ไม่ได้อยู่ในวัด อยากเรียนธรรมะก็เรียนลงที่กายที่ใจ
Photo by : Unsplash
9 บันทึก
9
7
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
อ่านธรรม : อ่านใจ
9
9
7
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย