Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Storytelling Beside Dish
•
ติดตาม
10 มิ.ย. 2022 เวลา 12:02 • อาหาร
"ตำนานกำเนิดข้าว: เพราะ 'หมาเก้าหาง' คนจึงมีข้าวกิน หรือเพราะคนกินข้าวจึงมีนิทานหมาเก้าหาง"
1
คนไท (Tai) แถบกวางสีในจีนมีตำนาน “ข้าว” ที่ "หมาเก้าหาง" ลอบขึ้นไปบนสวรรค์ เอาหางจุ่มลงไปในกองข้าวชาวสวรรค์เพื่อขโมยพันธุ์ข้าวกลับมายังโลกมนุษย์ ทำให้มนุษย์ได้มีข้าวกิน จากนั้นหมาก็ถูกลงโทษให้เหลือหางเพียงอันเดียวอย่างทุกวันนี้ (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2546)
ข้าวสวยหุงจากข้าวสารหอมมะลิสุรินทร์
นิทานกำเนิดมนุษย์ในแทบทุกชาติทั่วโลกล้วนเกี่ยวพันกับเรื่องกิน เพราะเรื่องกินเป็นเรื่องใหญ่ และตำนานกำเนิดมนุษย์ของแต่ละชาติก็ต่างมีเทวดานางฟ้าเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ
ตำนานกำเนิดมนุษย์ของอุษาคเนย์
"ตำนานน้ำเต้าปุง" เล่าว่า มีเถาน้ำเต้างอกจากจมูกซากควายซึ่งแถน (เทวดา) มอบให้มนุษย์มาใช้ไถนาแล้วตายลง มนุษย์ทั้งหลายก็ได้กำเนิดขึ้นในผลน้ำเต้านั้น ปู่ลางเชิง (แถน) เอาสิ่วเผาไฟเจาะน้ำเต้าให้มนุษย์เหล่านั้นออกมา มีทั้งไทยลม ไทยลี ไทยเลน ไทยลอ ไทควาง จากนั้นปู่ก็สอนให้มนุษย์เหล่านี้ทำไร่ไถนา
1
ตำนานกำเนิดพืชพรรณของญี่ปุ่น
ส่วนนิทานเรื่องนี้เคยเล่าไปแล้วในตอน "ถั่วแดงเย็น" ว่าด้วย เทพธิดา โอเงสึ ที่มีต้นถั่วแดงงอกออกจากจมูก (คล้ายตำนานน้ำเต้าปุงของไทย) สามารถบันดาลให้พืชนานาพรรณงอกออกจากร่างกายตน ต่อมา ซุซาโนะโอะโนะมิโคะโตะ เทพเจ้าแห่งลมพายุและผู้ปกครองปีศาจ ได้สังหารเทพธิดาโอเงสึ จากนั้นร่างของเทพธิดาโอเงสึก็ได้งอกขึ้นเป็นธัญพืชทั้งห้า นับแต่นั้นมา ผู้คนก็นับถือเทพธิดาโอเงสึเป็นเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์
ความนับถือในเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์ ทำให้ในฤดูใบไม้ร่วงชาวญี่ปุ่นจะจัดให้มีเทศกาลเฉลิมฉลองหลังการเก็บเกี่ยว และทำ โอมุซุบิ (ข้าวปั้น) บูชาเทพเจ้าเพื่อเป็นการขอบคุณ และเนื่องจาก โอมุซุบิ สมัยโบราณเป็นสีแดงตามสีพันธุ์ข้าว ทว่าต่อมาพันธุ์ข้าวกลายเป็นสีขาว ความเคร่งครัดในรูปลักษณ์ของของเซ่นไหว้ ชาวนาญี่ปุ่นจึงนำถั่วแดงมาต้มแล้วปั้นเป็นก้อน ใช้แทนโอมุซุบิที่เคยทำจากข้าวแดงอย่างสมัยโบราณ (Miharu, 2021)
ตำนานกำเนิดมนุษย์และพืชพรรณของแอฟริกา
นิทานชาวกายอานาเล่าว่า เดิมต้นตระกูลของพวกเขาอาศัยอยู่บนสวรรค์ อยู่มาวันหนึ่งได้มีเทวดาอยากรู้อยากเห็นเกิดพบรูรั่วบนท้องฟ้า จึงเอาหวายมาต่อกันเข้าทำเป็นบันไดไต่ลงมายังเบื้องล่าง เทวดาองค์นี้ปีติดีใจด้วยเป็นเทวดาองค์แรกซึ่งค้นพบโลกมนุษย์ ได้เห็นพืชและสัตว์มากมายผิดกับบนสวรรค์ เทวดาเที่ยวจับสัตว์กินอย่างเอร็ดอร่อย จากนั้นไต่บันไดกลับสวรรค์ไปบอกเทวดานางฟ้าอื่น ๆ ชักชวนกันลงมาจนหมด
เหลือเทวดาอยู่เพียงองค์เดียวซึ่งอวบอ้วน เดินไม่ทันเพื่อน มาถึงเป็นองค์สุดท้าย ทว่าไม่สามารถลอดรูท้องฟ้าลงบันไดตามลงมาได้ จะกลับขึ้นไปก็ไม่ได้ เมื่อพวกเทวดานางฟ้ากินอิ่มหนำแล้วจึงไม่สามารถกลับขึ้นขึ้นสวรรค์ ชาวสวรรค์ทั้งหลายจึงตกค้างอยู่ยังโลกมนุษย์ จำต้องต้องเพาะพืชพันธุ์สร้างโลกมนุษย์ขึ้นใหม่ดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ (ส.พลายน้อย, 2547)
ตำนานมนุษย์คู่แรกของยุโรป
อดัมกับอีวา ต้นตระกูลมนุษย์ของชาวยุโรปที่ถูกสร้างขึ้นจากน้ำมือของพระเจ้า ที่คัมภีร์ระบุ "พระเจ้าทรงสร้างผู้หญิงขึ้นมาจากกระดูกซี่โครงของอดัม" (แม้ในปัจจุบันจะมีนักวิชาการบางคนลุกขึ้นมาต่อเถียงว่า พระเจ้าทรงสร้างผู้หญิงขึ้นมาจาก "กระดูกองคชาติ" ของอดัมต่างหากก็ตาม) แต่มนุษย์คู่นี้ก็ดื้อรั้นกับพระเจ้า
อย่างไรก็ตาม อดัมกับอีวาได้ฝืนคำสั่ง โดยการชวนกันไปแอบกินแอปเปิ้ล ผลไม้หวงห้ามของพระเจ้า พระเจ้าโกรธจึงไล่ออกจากสวนสวรรค์เอเดน แต่ก็เพราะกินผลไม้นั่นเองจึงทำให้อีวาได้ออกลูกออกหลานสืบเชื้อสายต่อมาเป็นมนุษย์ในทุกวันนี้
ตำนานของทางตะวันออกก็มักจะผูกเรื่องกำเนิดมนุษย์ เทวดา ศาสดา (พระเจ้า) กับอาหารเข้าไว้ด้วยกัน แต่บ้านเราไม่มีแอปเปิ้ล ความสำคัญในตำนานจึงมุ่งไปที่ข้าวมากกว่าอย่างอื่น
คนอุษาคเนย์กินข้าวเหนียวมาก่อน?
ว่ากันว่า คนอุษาคเนย์โบราณดั้งเดิมต่างก็กินข้าวเหนียว (Sticky Rice) เป็นอาหารหลักมาก่อน ดังที่พบเมล็ดข้าวอายุ 7,000 ปี ในถ้ำปุงฮุง อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2551)
แล้วทำไมคนอุษาคเนย์จึงเปลี่ยนมากินข้าวเจ้า?
ตำนานข้าวเจ้าในอุษาคเนย์
มีหลักฐานว่า ชาวเขมรรับวัฒนธรรม "ข้าวเจ้า" จากอินเดีย ที่มาพร้อมอิทธิพลทางศาสนา ราชสำนักกัมพูชาจึงกิน "ข้าวเจ้า" เป็นอาหารหลักก่อนใครในอุษาคเนย์ และน่าเชื่อได้ว่า คำเรียก “ข้าวเจ้า” ของไทยมาจากวัฒนธรรมการกิน “ข้าวเจ้า” ตามอย่างราชสำนักกัมพูชาที่เป็นวัฒนธรรมสูงแทนที่การกิน “ข้าวไพร่” “ข้าวบ่าว” “ข้าวเหนียว” หรือ “ข้าวนึ่ง” ของชาวอุษาคเนย์ดั้งเดิม
หลักฐานด้านโบราณคดีจากบ้านโนนนกทา อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น เป็นแหล่งโบราณคดีที่ขุดค้นพบแกลบข้าว ซึ่งปนอยู่กับดินเหนียวที่ใช้ปั้นภาชนะดินเผา พร้อมร่องรอยสัตว์เลี้ยง มีวัว หมู และสุนัข (ชาร์ลส์ ไฮแอม และรัชนี ทศรัตน์, 2542) แสดงให้เห็นว่า คนที่แหล่งโบราณคดีโนนนกทาได้มีการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ตั้งแต่เมื่อประมาณ 4,300 - 3,000 ปีมาแล้ว (บัณฑิต ลิ่วชัยชาญ, 2564)
นอกจากนี้ ยังปรากฏหลักฐานเก่าแก่ที่แสดงให้เห็นว่า ชาวทวารวดีทางตอนกลางของไทยนำพันธุ์ "ข้าวเจ้า" มาจากอาณาจักรเขมรเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 13 (ธานี ศรีวงศ์ชัย, 2563; Alice Yen Ho, 1995) โดยยังปรากฏร่องรอยการกินข้าวเหนียวเป็นอาหารหลักของชาวอุษาคเนย์ก่อนรับเอาวัฒนธรรม "ข้าวเจ้า" มาจากนอกภูมิภาค ด้วยเชื่อกันว่า ต้องเซ่นไหว้ด้วยอาหารแบบที่บรรพชนเคยกินมา (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2551)
"ข้าวเจ้า" เป็นองค์ประกอบสำคัญในอาหารคาวหวานของชาวอุษาคเนย์
ตำนานข้าวของลาว
ตำนานข้าวในในวัฒนธรรมลาวรวมทั้งอีสานไทยมีการโยงนิทานเข้ากับพุทธศาสนา พบบันทึกในใบลานอักษรธรรมอีสาน มีการเผยแพร่โดย Tambiah (1970, อ้างอิงใน ศิราพร ฐิตะฐาน ณ ถลาง, 2537) ความว่า
"ในสมัยพระยาวิรูปักษ์ ข้าวเกิดขึ้นเองในสวน ต้นข้าวในสมัยนั้นใหญ่กว่ากำปั้นมนุษย์ 7 เท่า เมล็ดข้าวก็ใหญ่กว่ากำปั้นมนุษย์ 5 เท่า เมล็ดข้าวสุกสว่างดั่งเงินและมีกลิ่นหอม เมื่อพระยาวิรูปักษ์ลงมาเกิดในสมัยพระเจ้ากุกุสันโธ ก็เอาข้าวลงมาในเมืองมนุษย์ด้วย ได้ใช้ข้าวหุงให้พระเจ้ากุกุสันโธฉันและมนุษย์ก็ได้หุงข้าวกินตั้งแต่นั้นมา...
ต่อมาในสมัยพระโกนาคม เมล็ดข้าวเล็กลงขนาดเพียง 4 เท่ากำปั้นมนุษย์ ในสมัยนั้นมีหญิงหม้ายคนหนึ่งแต่งงานมา 7 หน ไม่มีลูก ไม่มีหลาน แกสร้างยุ้งข้าวทำให้ข้าวมาเกิดใต้ยุ้งมากมาย แม่หม้ายจึงตีข้าวด้วยไม้ เมล็ดข้าวจึงแตกหักและปลิวไปตกในป่าบ้าง เกิดเป็นข้าวดอยไปตกในน้ำบ้าง ข้่าวที่ตกในน้ำชื่อ "พระนางโพสพ" พระนางโพสพอาศัยอยู่ร่วมกับปลาในหนองน้ำ ด้วยความที่โกรธมนุษย์จึงไม่กลับไป มนุษย์ก็อดอยากไป 1,000 ปี...
ต่อมา มีลูกชายเศรษฐีไปเที่ยวป่าและหลงทางจนมาถึงหนองน้ำและนั่งลงร้องไห้ ปลากั้งปลอบโยนลูกชายเศรษฐี และนำนางพระโพสพมาให้ บอกให้นำไปดูแลมนุษย์และศาสนา นางพระโพสพเล่าให้ลูกชายเศรษฐีฟังเรื่องความใจร้ายของแม่หม้าย ลูกชายเศรษฐีอ้อนวอนให้นางกลับไป แต่นางก็ไม่ยอม เทวดาสององค์ปลอมเป็นปลากับนกแก้วมาอ้อนวอนให้นางกลับไปดูแลมนุษย์และศาสนาเพราะพระพุทธเจ้าจะลงไปเกิดอีก...
นางจึงกลับไปในสมัยพระกัสสโป และเป็นอาหารพระพุทธเจ้าและมนุษย์ต่อไป ครั้งนี้เมล็ดข้าวเล็กลงเท่ากำปั้นมนุษย์ ต่อมาถึงสมัยพระเจ้าศากยมุนีโคตมะ เมล็ดข้าวก็เล็กลงอีก แต่ยังมีกลิ่นหอมอยู่ ครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานได้พันปี มีพระยาคนหนึ่งมีใจที่เต็มไปด้วยความโลภสั่งให้คนสร้างยุ้งข้าวและเก็บข้าวไว้เพื่อขาย...
ในภายหลัง นางพระโพสพโกรธมากที่ถูกขายจึงหนีไปอยู่กับเจ้าที่บนเขาที่บ้านหนองโททำให้คนอดอาหารตายไปอีก 320 ปี...
คราวนี้มีตายายคู่หนึ่งกำลังจะตายด้วยความหิว เจ้าที่จึงสอนคาถาให้ตายาย ครั้งตายายว่าคาถา นางพระโพสพก็เห็นใจ เจ้าที่หันไปจับปีกและหางของนาง ทำให้เมล็ดข้าวแตกหักเกิดเป็นข้าวนานาพันธุ์ คือ ข้าวขาว ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวปี ข้าวเดือน...
หลังจากนั้นนางพระโพสพกลั้นใจตายกลายเป็นหิน ตายายเอาข้าวพันธุ์ต่าง ๆ ไปปลูก เวลาปลูกได้รับความช่วยเหลือจากผีนา ตายยายจึงบูชาผีนาด้วยเหล้า เป็ด ไก่ ข้าว หมาก เสื้อผ้า เพชรพลอย กำไล แหวน...
ตายายปลูกข้าวได้มากมาย แจกจ่ายข้าวไปให้ผู้คนในหลาย ๆ ประเทศกิน หลังจากที่ตายายตาย มนุษย์ต้องถางป่าใช้ควายไถนาและดำนาอย่างที่ทำกันทุกวันนี้ ถ้าจะตำข้าวจะต้องทำพิธีขออนุญาตนางพระโพสพ และเมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วต้องทำพิธีสู่ขวัญข้าว”
1
ตำนานข้าวท้องถิ่นอีสาน
ตำนานข้าวในสำนวนมุขปาฐะสำนวนหนึ่งที่ชาวบ้านเล่ากันในชุมชนบ้านดอนดู่ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม ความว่า
"ณ ชุมชนทวีปอุทยานของพญานาคมีข้าวเกิดขึ้น ต่อมาหญิงหม้ายคนหนึ่งใช้ไม้คานทุบเมล็ดข้าวใหญ่ให้แตกกระจาย บางส่วนของเมล็ดข้าวตกบนภูเขาเกิดเป็นข้าวไร่ บางส่วนของเมล็ดข้าวตกในน้ำเกิดเป็นข้าวนาดำชื่อนางโพสพ นางโพสพน้อยใจที่ถูกหญิงหม้ายตีจึ่งหนีไปอยู่ในถ้ำในป่า ตั้งแต่นั้นมามนุษย์จึงไม่มีข้าวกินนับพันปี...
วันหนึ่งลูกเศรษฐีหลงทางไปในป่าไปพบแม่โพสพ ลูกเศรษฐีจึงอ้อนวอนแม่โพสพกลับคืนสู่เมืองมนุษย์ และชวนให้มนุษย์ยกย่องนางเป็นเทพธิดา หลังจากที่มีข้าวอุดมสมบูรณ์ขึ้นอีกครั้ง..." (จารุวรรณ ธรรมวัตร, 2536 อ้างถึงใน ศิราพร ฐิตะฐาน ณ ถลาง, 2537)
ตำนานข้าวท้องถิ่นอีสานและลาวบอกกับเราว่า แต่ก่อนเม็ดข้าวมีขนาดใหญ่มาก การที่มนุษย์มีข้าวกินล้วนเป็นความเมตตาของพระพุทธเจ้า เทวดา เจ้าที่ ผีนา และแม่โพสพ รวมทั้งหากเป็นคนไท (Tai) แถบจีนตอนใต้ยังต้องสำนึกบุณคุณ "หมาเก้าหาง" ด้วย คนที่กินข้าวจึงต้องกินด้วยความเคารพ ไม่เช่นนั้นผู้มีบุญคุณเหล่านี้ โดยเฉพาะ "แม่โพสพ" จะโกรธเคือง น้อยใจ และอาจหนีหายไปทำให้มนุษย์ต้องอดข้าวอีก
เช่นเดียวกับในประเทศอินโดนีเซีย ประชากรทุกศาสนาส่วนใหญ่กินข้าวเจ้าเป็นอาหารหลัก กินกับแกงไม่ต่างจากชาวอุษาคเนย์ทั่วไป โดยเฉพาะในเกาะชวา สุมาตรา และบาหลีนิยมบูชา “เทวีศรี” เทพเจ้าแห่งข้าว และมีเทศกาลเฉลิมฉลองที่เกี่ยวข้องกับข้าว โดยพบว่า อินโดฯมีข้าวหลากหลาย เช่น ข้าวขาว (เบอรัส ปูตี) ข้าวแดง (เบอรัส เมระห์) ข้าวเหนียวขาว (เคอตัน ปูตี) และข้าวเหนียวดำ (เคอตัน ฮีตัม) เป็นต้น (ศิริพร โตกทองคำ, 2549)
นอกจากนี้ นิทานยังบอกกับเราว่า รากเหง้าดั้งเดิมของคนอุษาคเนย์คือ "ข้าวเหนียว" แม้ปัจจุบันพวกเขาจะกิน "ข้าวเจ้า" เป็นอาหารหลัก แต่อาหารหรือขนมหวานที่ใช้ประกอบพิธีกรรม โดยเฉพาะการเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์และวิญญาณบรรพชน ยังคง "ต้องเซ่นไหว้ด้วยอาหารแบบที่บรรพชนเคยกินมา" เป็นอาหารหรือขนมที่ทำมาจากข้าวเหนียว แม้แต่ขนมไหว้เจ้าในเทศกาลตรุษจีน และขนมในพิธีกุรบาล (Qurban) ของชาวมุสลิมก็ตาม
และเพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ช่างสงสัย และเต็มไปด้วยคำถาม มนุษย์ในวัฒนธรรมข้าวจึงมีนิทานอธิบายเหตุเช่น “หมาเก้าหาง” เกิดขึ้นเป็นคำตอบให้มนุษย์ช่างสงสัย แม้การกินข้าวพร้อมนิทานกำเนิดข้าวอาจไม่ทำให้หายสงสัยแต่น่าเชื่อว่าทำให้หายหิวแน่นอน
บรรณานุกรม
ชาร์ลส์ ไฮแอม และรัชนี ทศรัตน์. (2542). สยาม
ดึกดำบรรพ์ก่อนประวัติศาสตร์ถึงสมัย
สุโขทัย. กรุงเทพฯ: ริเวอร์บุ๊คส์
ธานี ศรีวงศ์ชัย. (2563). การปลูกข้าวและวิถี
ชีวิต. สืบค้นเมื่อ 25 ธันวาคม 2563. จาก:
http://www.corsat.agr.ku.ac.th/doc/
rice56-1.pdf/
บัณฑิต ลิ่วชัยชาญ. (2564). ข้าว: คำและความ
หมายที่เรา (ไม่) รู้. ใน ข้าว: ต้นธาร
อารยธรรมไทย. หน้า 9-34. กรุงเทพฯ:
สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์.
ศิราพร ฐิตะฐาน ณ ถลาง. (2537). ในท้องถิ่นมี
นิทานและการละเล่น…การศึกษาคติชนใน
บริบททางสังคมไทย. กรุงเทพฯ: มติชน.
ศิริพร โตกทองคำ. (2549). อินโดนีเซีย.
กรุงเทพฯ: หน้าต่างสู่โลกกว้าง.
ส.พลายน้อย. (2547). กระยานิยาย. กรุงเทพฯ:
มติชน.
สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2551). ข้าวปลาหมาเก้าหาง.
กรุงเทพฯ: มติชน.
สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2551). อาหารไทยมาจากไหน.
กรุงเทพฯ: นาตาแฮก.
Alice Yen Ho. (1995). At the South-East
Asian Table. Oxford: Oxford University
Press.
Miharu. (2021). ถั่วแดงกับขนมญี่ปุ่น..เพราะเรา
โตมาด้วยกัน. สืบค้นเมื่อ 5 มิถุนายน 2565
จาก:
https://www.marumura.comazuki
-japan-red-bean/
เรื่องเล่าข้างสำรับ
ประวัติศาสตร์อาหาร
ข้าว
3 บันทึก
8
7
6
3
8
7
6
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย