18 มิ.ย. 2022 เวลา 15:41 • ไลฟ์สไตล์
“ตอนที่มันเกิดอริยมรรคจริงๆ มันเกิดชั่วขณะเท่านั้นล่ะ
… ที่เราเจริญอยู่ทุกวันนี้ยังไม่ได้เจริญอริยมรรค
เราเจริญบุพพภาคมรรค
เราทำเบื้องต้นให้เกิดอริยมรรค”
“ … ที่เราทำคือพัฒนาองค์มรรคทั้งหลาย เพื่อวันหนึ่งเราจะได้รู้ทันสภาวะทั้งหลายตามความเป็นจริง
เราจะเห็นเลยว่ารูปธรรมทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้
นามธรรมทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้เหมือนกัน
เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไปเรื่อยๆ ในที่สุดจิตจะค่อยๆ พัฒนาเข้าไปสู่ความเป็นกลาง
อย่างเราเห็นบ่อยๆ ว่าจิตดี จิตโกรธเกิดแล้วก็ดับ
จิตไม่โกรธเกิดแล้วก็ดับ
ทั้งดีทั้งชั่ว เกิดแล้วก็ดับ
ต่อไปเวลาจิตมันดีขึ้นมาเราก็จะไม่หลงดีใจ
เพราะมันยังเป็นของที่ดับได้อยู่
แล้วเราก็ไม่หิวจิตที่ดี ไม่ต้องไปหิวมัน
ถ้าเราหิวอยากได้จิตที่ดี
ในขณะนั้นจิตเลวเพราะจิตอยาก
คอยรู้เท่าทันตัวเอง
แล้วต่อไปเราก็จะเห็นเลย
ที่ดีก็ชั่วคราว ที่ชั่วมันก็ชั่วคราว
ที่สุขก็ชั่วคราว ที่ทุกข์ก็ชั่วคราว
ตัวนี้ดูง่าย
เราคอยรู้คอยดูไปจิตใจเราเดี๋ยวก็สุข
จิตใจเราเดี๋ยวก็ทุกข์
สุขก็อยู่ชั่วคราว ทุกข์ก็อยู่ชั่วคราว
พอเราตามรู้ตามเห็นเนืองๆ ไป
ความรู้ถูกความเข้าใจถูกก็จะมากขึ้นๆ
สุดท้ายมันก็จะเป็นกลาง
มันจะเข้าสู่ความเป็นกลาง
ความสุขเกิดขึ้นมันก็เท่านั้นล่ะ เดี๋ยวมันก็ดับ
ความทุกข์เกิดขึ้นมันก็เท่านั้นล่ะ เดี๋ยวมันก็ดับ
ประตูแห่งอริยมรรค
ฉะนั้นจิตจะไม่กระเพื่อมหวั่นไหว ไม่แกว่งขึ้นแกว่งลง
เดี๋ยวชอบใจ เดี๋ยวไม่ชอบใจ
พอจิตมันเป็นกลางจิตก็จะหมดความดิ้นรน
ตรงที่จิตมันเป็นกลางนี่ล่ะเป็นประตูแห่งอริยมรรค
ถ้าเป็นพระโพธิสัตว์ตรงนี้จิตเป็นกลางด้วยปัญญา แล้วบารมีเรามากพอ เราไปพบพระพุทธเจ้า ไปปฏิญาณตัวว่าตั้งความปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต
แล้วท่านพิจารณาแล้วจิตของเรามีคุณภาพ
เป็นกลางต่อความปรุงแต่งทั้งสุขและทุกข์ ทั้งดีและชั่ว
ดูแล้วมีโอกาสจะได้ท่านก็จะพยากรณ์ให้
ถ้าจิตเรายังแกว่งไปแกว่งมา
ยังหิวความสุข ยังเกลียดความทุกข์ ดิ้นพล่านๆ
เจอพระพุทธเจ้าท่านก็ไม่พยากรณ์
คุณภาพยังไม่ถึง ยังกระจอกอยู่
ถ้าเราไม่ได้หวังเป็นพระพุทธเจ้า
ตรงที่จิตมันเข้าสู่ความเป็นกลางด้วยปัญญานี้
เป็นประตูของอริยมรรค
ถ้าที่เราสะสมของเรามา ศีล สมาธิ ปัญญามันแก่กล้าพอแล้ว อริยมรรคจะเกิดขึ้นเอง
ฉะนั้นสัมมาสมาธิ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เรามีมาก
มันมาจากสัมมาวายามะมันมากแล้ว
สัมมาสติมันก็เลยมาก สัมมาสมาธิก็เลยมาก
ตามรู้ตามเห็นความจริงได้เยอะเลย
ทุกอย่างเกิดแล้วดับ ทั้งรูปทั้งนาม
ฉะนั้นมีสัมมาญาณะ สัมมาญาณะเราสมบูรณ์ สัมมาวิมุตติก็จะเกิดขึ้น
วิมุตติคือมรรคผลก็จะเกิดขึ้น
นิพพานไม่เกิด มรรคผลเกิด เกิดแล้วก็ดับไป
ไม่ใช่มรรคผลไม่ดับ
โลกียธรรมทั้งหมดเกิดแล้วดับ
โลกุตตรธรรมบางส่วนเกิดแล้วดับ บางส่วนไม่เกิดไม่ดับ
เราเคยได้ยินไหมคนโบราณเวลาทำบุญ
ขอให้ได้มรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1
มรรค 4 ก็คือโสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค
ผล 4 ก็คือ โสดาปัตติผล สกิทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตตผล
สิ่งเหล่านี้เกิดแล้วดับ
อริยมรรคทั้งหลายเกิดขึ้นชั่วขณะจิตเท่านั้น
อริยผลเกิดขึ้น 2 – 3 ขณะจิตเท่านั้นแต่ละครั้ง
ส่วนนิพพานไม่เกิดไม่ดับ
เป็นสภาวธรรมที่มันไม่เกิดไม่ดับ
เราทำได้อย่างเดียวคือการเข้าไปเห็นแจ้ง
เข้าไปประจักษ์ เข้าไปเห็นแจ้ง
นิพพานเป็นสภาวะที่สิ้นตัณหา
เพราะฉะนั้นถ้าเมื่อไรเราภาวนาจนใจเราสิ้นตัณหา
ใจเรามีปัญญาเป็นกลางต่อทุกสิ่งทุกอย่าง
ไม่มีความอยากใดๆ เกิดขึ้น
เกิดอริยมรรค เกิดอริยผล
เราจะเห็นพระนิพพาน
พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี เวลาจะเข้าไปเห็นพระนิพพานซ้ำๆ ทีหลัง หลังจากบรรลุไปแล้ว ท่านจะเห็นผ่านการทำวิปัสสนา ส่วนพระอรหันต์ไม่ต้องผ่านวิปัสสนา พระอรหันต์มนสิการถึงก็ถึงเลย แค่นึกถึงก็ถึงแล้ว
นิพพานไม่ใช่โลกๆ หนึ่ง
นิพพานไม่มีรูปธรรม ไม่มีนามธรรม
ไม่มีพระพุทธเจ้านั่งเข้าแถว ไม่ใช่หรอก นั่นนิมิต
สภาวะของนิพพาน สงบ สงบเพราะอะไร
เพราะสิ้นตัณหา
เราลองลิ้มรสนิพพานเล็กๆ ดู
นิพพานแบบหลอกๆ แค่เป็นตัวอย่าง ฉายหนังตัวอย่าง
เราคอยรู้เท่าทันจิตใจของเรา
เวลาจิตเรามีความอยากขึ้นมา มันทุกข์ไหม
ตอนไหนที่จิตไม่ได้มีความอยากขึ้นมา มันไม่ทุกข์
มันก็สงบ มันก็ว่าง นี่นิพพานตัวอย่าง
ฉะนั้นนิพพานไม่ใช่เป็นภพๆ หนึ่งหรอก
มันคือสภาวะที่สิ้นตัณหา มีความสุขมาก
มีความสุขไม่มีอะไรเหมือนหรอก
ฉะนั้นองค์มรรคทั้ง 8 ถ้าเราหัดดูจิตดูใจ
เราสามารถทำองค์มรรคทั้ง 8 นี้ให้บริบูรณ์ได้
ด้วยการที่เรามีสติคอยรู้เท่าทันจิตใจของตัวเอง
การที่เราคอยรู้จิตใจของตัวเอง
ก็คือการเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
เรารู้ทันกิเลส รู้ทันกุศลที่เกิดขึ้นในใจเรา
มันจะบงการความคิดของเรา เรารู้ทัน
เราก็จะได้สัมมาสังกัปปะ
มันจะบงการคำพูดของเรา เรารู้ทัน
เราก็ได้สัมมาวาจา
มันจะบงการการกระทำ
อย่างกิเลสจะบงการการกระทำ เรารู้ทัน
เราก็จะได้สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ
ตรงนั้นทั้งหมดคือการเจริญสัมมาวายามะ
 
แล้วการที่เรามีสติคอยรู้จิตใจตัวเอง
นั่นก็คือการเจริญสติปัฏฐานหรือสัมมาสติ
แล้วเราเจริญสัมมาสติไปเรื่อยๆ
ตรงที่เรารู้สภาวะถูกต้องปั๊บ
สัมมาสมาธิก็จะเกิดขึ้นเอง
สัมมาสติเกิดบ่อยๆ ในที่สุดสัมมาสมาธิก็แข็งแรงขึ้น
เราดูตัวเราเอง ถึงเรายังไม่เป็นพระอริยบุคคล
เราภาวนาทุกวันสม่ำเสมอ
เรารู้สึกไหมจิตมันมีกำลังขึ้น
ฉะนั้นถ้าเรามีสติถี่ยิบเลย ไม่ต้องกลัวว่าจิตจะไม่มีกำลังหรอก จิตจะตั้งมั่นเด่นดวงมีกำลังขึ้นมา
พอจิตตั้งมั่นแล้วอย่าตั้งอยู่เฉยๆ
หน้าที่เรา ที่เราเรียนมาจากสัมมาทิฏฐิก็คือ
เรายังต้องลดละกิเลส ต้องต่อสู้เอาชนะตัณหา
ฉะนั้นถ้าเราจิตมีสมาธิแล้วทรงตัวเฉย สงบสบายอยู่
ไม่ได้ชนะกิเลสตัณหาตรงไหนเลย
ฉะนั้นตัวสัมมาทิฏฐิจะเป็นไกด์ไลน์ให้เรารู้ว่าเราจะไปทางไหน
แล้วเวลาลงมือปฏิบัติเราจะวัดความคืบหน้าของตัวเองได้
เราสามารถลดละอกุศลได้มากขึ้นไหม
เราสามารถเจริญกุศลได้มากขึ้นไหม
อย่างแต่เดิมเคยหลงนาน เราหลงสั้นลง
อย่างนี้ถือว่ากุศลเราเจริญขึ้น สติมันไวขึ้น
ฝึกตัวเอง มีสติรู้เท่าทันจิตใจตัวเอง
มันจะครอบคลุมการปฏิบัติในองค์มรรคทั้งหมดเลย สามารถทำได้
เมื่อเราเจริญอยู่ในมรรค ยังไม่ใช่ตัวอริยมรรคหรอก
ที่เราหัดที่เราฝึกเขาเรียกว่า บุพพภาคมรรค
เป็นเบื้องต้นที่จะให้เกิดอริยมรรค
ตอนที่อริยมรรคเกิดนั้นมันเกิดชั่วขณะจิตเดียว
ในขณะนั้นรู้ทุกข์ ละสมุทัย แจ้งนิโรธ คือแจ้งพระนิพพานแล้ว ก็เกิดอริยมรรคขึ้น
เกิดในขณะเดียว ไม่ได้หลายขณะหรอก
แต่ว่าตอนที่เราสะสม เราสะสมกัน 7 วัน 7 เดือน 7 ปี นี่ล่ะศึกษาไป ปฏิบัติดูไปซ้ำๆๆ แล้วตอนที่มันเกิดอริยมรรคจริงๆ มันเกิดชั่วขณะเท่านั้นล่ะ
ฉะนั้นที่เราเจริญอยู่ทุกวันนี้ยังไม่ได้เจริญอริยมรรค
เราเจริญบุพพภาคมรรค
เราทำเบื้องต้นให้เกิดอริยมรรค
สรุปง่ายๆ รู้ว่าเราภาวนาเพื่อจะพ้นจากอำนาจของตัณหา
จิตใจที่พ้นตัณหานั่นล่ะมันจะเจอพระนิพพาน
นิพพานเป็นสภาวะที่สิ้นตัณหา
จะสิ้นตัณหาได้ก็อาศัยสติ รู้ทันจิตใจของตัวเองไป
องค์มรรคทั้ง 7 ที่เหลือมันก็จะเจริญขึ้น
จนกระทั่งจิตมันตั้งมั่น
ตัวสัมมาสมาธิไม่ใช่ตัวกระจอก เป็นตัวที่ยากที่สุด
ท่านจัดเอาไว้อันดับ 8 ไม่ใช่ว่าไม่สำคัญ
สัมมาสมาธินี่ล่ะเป็นที่รวมขององค์มรรคอีก 7 ตัวที่เหลือ
สัมมาสมาธิอยู่ที่ไหน อยู่ที่จิตนี่เอง
เป็นตัวที่รวบรวมองค์มรรคทั้ง 7
ให้มารวมอยู่ในจุดเดียวกันคือที่จิต
ในขณะเดียวกัน คือ หนึ่งขณะจิตนั้นเอง
ถ้าปราศจากสัมมาสมาธิ
เราก็ทำบุพพภาคมรรคเหวี่ยงไปเรื่องโน้นเรื่องนี้
ทำอันโน้นทำอันนี้ไป
วันนี้ทำสัมมาวาจา วันนี้ทำสัมมากัมมันตะ ไร้สาระ
เจริญสติไป อ่านจิตอ่านใจไป
สุดท้ายจิตก็ตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา
องค์มรรคทั้งหมดมันจะประชุมกัน
ครูบาอาจารย์หลวงปู่มั่นท่านเรียก “มรรคสมังคี”
มรรคสมังคีคือมรรคมันมาประชุมกัน
สามัคคีกันอยู่ในจุดเดียวกัน ในขณะเดียวกัน
แล้วตรงนี้ล่ะที่มันจะข้ามวัฏฏะได้
ล้างสังโยชน์เป็นลำดับๆ ไป
นี่คือเส้นทางที่เราจะเดิน …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
12 มิถุนายน 2565
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา