15 มิ.ย. 2022 เวลา 05:21 • ไลฟ์สไตล์
“คำว่าพระอรหันต์ มันก็คำสมมตินั่นล่ะ
จิตมันพ้นกิเลส พ้นทุกข์ได้จริงหรือเปล่า
ตัวนี้ต่างหากที่สำคัญ”
“ … โลกวุ่นวาย เราไม่วุ่นวายไปกับโลก
1
โลกมันวุ่นวาย ไม่มีวันสงบหรอก
คนในโลกมันก็อยู่กันด้วยกิเลส
เบียดเบียนกระทบกระทั่งกันตลอดเวลา
ไปแก้ตรงนั้น เราแก้ไม่ได้ เราตัวเล็กนิดเดียว
พยายามฝึกตัวเองให้สามารถอยู่ได้อย่างสงบสุขในทุกๆ สถานการณ์
พวกเราได้เปรียบคนประเทศอื่น คนศาสนาอื่นอะไรอย่างนี้ คือเรามีธรรมะ เป็นศาสตร์ที่สอนให้เราฝึกตัวเองจนเราสามารถอยู่ด้วยความสงบสุขในทุกๆ สถานการณ์
ถ้าโลกวุ่นวายมันเรื่องของโลก
มันกระทบกระทั่งได้แค่ร่างกายเรา
แต่มันกระทบเข้ามาไม่ถึงจิตใจเรา
ศาสตร์ของพระพุทธเจ้าวิเศษมาก ท่านถึงบอกว่า
คนทั่วๆ ไปเวลามีปัญหามากระทบ
กระทบเข้าที่ร่างกาย ที่ชีวิตความเป็นอยู่
แล้วมันก็ยังกระทบครั้งที่สองต่อเนื่องเข้ามา
คือกระทบเข้ามาที่ใจ
ส่วนสาวกของพระพุทธเจ้า
ปัญหา ความทุกข์ยากอะไรมันกระทบได้แต่ร่างกาย
แต่มันกระทบเข้ามาไม่ถึงจิตใจ
เพราะเรามีศาสตร์ที่จะฝึกจิตของเราให้พ้นจากความทุกข์
คนส่วนใหญ่เขาฝันๆ เอาว่าอย่างตอนนี้ลำบากก็ทนๆ ไป ไม่นานมันก็ผ่าน แล้วชีวิตจะได้มีความสุข เอาเข้าจริงมันไม่เป็นอย่างนั้นหรอก
พอปัญหาอันหนึ่งจบไป ปัญหาใหม่มันก็มา
ปัญหาบางที ปัญหาเก่ายังไม่จบ
ปัญหาใหม่เข้ามาแล้ว ซ้อนๆ กันเข้ามาตลอดเวลา
โลกมันเป็นอย่างนี้ล่ะ
1
เราจะไปเพ้อฝันว่าโลกจะต้องมีสันติภาพ มีความสงบสุข คนในโลกจะต้องดีต่อกัน ช่วยเหลือเกื้อกูล ไม่เอาเปรียบกันอะไรอย่างนี้ เป็นความฝัน เขาเรียกว่าโลกในอุดมคติ ซึ่งมันไม่เคยมี ก็เพ้อๆ ฝันๆ กันไป
เรามาเรียนศาสตร์ของพระพุทธเจ้ากัน
เบื้องต้นก็รักษาศีลเอาไว้
ถัดจากนั้นก็เป็นงานฝึกจิตฝึกใจของเราเอง
รักษาศีล ก็คือดูแลคำพูดและการกระทำของเราไม่ให้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ให้เบียดเบียนตัวเอง
เราไม่เบียดเบียนคนอื่น ไม่เบียดเบียนตัวเอง
ก็มีเวลามาฝึกจิตฝึกใจตัวเอง
การฝึกจิตฝึกใจของเรามันมีงานสำคัญอยู่ 2 งาน
คือการเจริญสมาธิ เรียกทำสมถกรรมฐาน
กับเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า สมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานมันเป็นสิ่งที่เราควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง
องค์ธรรมที่ทำหน้าที่อยู่ในกลุ่มของมรรค
ธรรมะ บางทีท่านก็พูดพลิกแพลงไปตามจริตนิสัย ตามวาสนาบารมีของคนฟัง
โดยทั่วๆ ไปท่านก็พูดถึงทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
ทุกข์ ก็คือ รูปนาม
สมุทัย คือ ตัณหา
นิโรธ คือ พระนิพพาน ความดับทุกข์
มรรคก็มีองค์ 8
บางทีท่านก็สอน ตัวมรรค สิ่งที่ควรเจริญ
ท่านย้ำลงไปว่าคือสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน
สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานก็คือองค์ธรรมที่ทำหน้าที่อยู่ในกลุ่มของมรรค คือสิ่งที่เราต้องเจริญ
สมถกรรมฐาน เราฝึกไปเพื่อให้จิตเราตั้งมั่น
ให้จิตเรามีกำลัง ให้มีความพร้อม
เพื่อให้มีความพร้อมที่จะเจริญปัญญา
เราไม่ได้ทำสมถกรรมฐานเพื่อความสุข
ความสงบ ความดีอะไรทั้งสิ้น
ความสุขเป็นของไม่เที่ยง ความสงบก็ไม่เที่ยง
ความดีก็ไม่เที่ยง ยังเป็นโลกิยธรรมอยู่
แต่เราทำความสงบ ทำความตั้งมั่นของจิตให้เกิดขึ้น
เพื่อการเจริญปัญญา หรือการทำวิปัสสนากรรมฐานนั่นเอง
แล้วถ้าเราเจริญปัญญาได้มากพอมรรคผลก็จะเกิดขึ้น
จิตใจเราเข้าถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้น
พระพุทธเจ้าท่านบอกบุคคลเข้าถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา แต่ปัญญาตัวนี้ต้องเป็นวิปัสสนาปัญญา
ปัญญามีหลายอย่าง ปัญญาอย่างโลกๆ ก็มี
ปัญญาในการทำสมถะก็มี
เราจะทำสมาธิให้จิตตั้งมั่น
ให้จิตสงบก็ต้องมีปัญญาเหมือนกัน
ทำโง่ๆ ดุ่ยๆ ไป ไม่รู้เหตุรู้ผลไป มันก็ไม่ได้ผล
แต่ปัญญาที่เลิศที่จะทำให้เราพ้นทุกข์จริงๆ
คือตัววิปัสสนาปัญญา
วิปัสสนาปัญญาจะมีได้ถ้าจิตเรามีสมาธิที่ถูกต้องมากพอ
พอเรามีสมาธิที่ถูกต้อง ทำให้มาก เจริญให้มาก
ปัญญามันก็จะเกิด
เพราะฉะนั้นเราต้องพยายามฝึกตัวเอง
สิ่งที่เราต้องฝึก ถ้าเราไปดูในองค์มรรค
อริยมรรคมีองค์ 8 ทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องของการฝึกจิตฝึกใจทั้งนั้น
มันเป็นการฝึกในปัญญาเบื้องต้น
เป็นตัวสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูก
สัมมาสังกัปปะ ความคิดถูก
มีความคิดความเห็นที่ถูกต้อง นี่เป็นปัญญาขั้นต้น
เราก็ต้องพัฒนา ไม่พัฒนาก็ไม่ได้
การสร้างสัมมาทิฏฐิในเบื้องต้นนั้นอาศัยการฟัง
อาศัยการอ่านคำสอนตามพระไตรปิฎก
มันเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าบ้าง
ของพระสาวกผู้หลักผู้ใหญ่ที่เชื่อถือได้บ้าง
อาศัยคำสอนอย่างนี้เราจะได้สัมมาทิฏฐิในเบื้องต้น
มันเป็นสัมมาทิฏฐิในภาคปริยัติ
เกิดจากการอ่าน การฟัง หรือการพิจารณาไตร่ตรอง
มันเป็นปัญญาที่เกิดจากการคิดเอา พิจารณา
ตรงนี้ยังไม่พ้นทุกข์หรอก
เราเรียนสัมมาทิฏฐิเบื้องต้นให้ได้ก่อน
สัมมาทิฏฐิในเบื้องต้นที่เราต้องรู้จักก็คืออริยสัจ 4
กิจของอริยสัจ 4 คือสิ่งที่เราต้องเรียน
อริยสัจ 4 ก็คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ สรุปเลยก็คือรูปนามนี้ล่ะคือตัวทุกข์
อาการปรากฏของทุกข์ก็เช่น
ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นอาการปรากฏของมัน
1
คนทั่วไปเขามองเห็นได้แค่นี้
เวลาแก่ขึ้นมา ร่างกายไม่แข็งแรง ไม่กระฉับกระเฉง
ป่วยบ่อย ไม่มีความสุข กินข้าวก็ไม่อร่อย นอนก็ไม่หลับ
ขับถ่ายก็ไม่สะดวกอะไรอย่างนี้ แก่ เดินโซซัดโซเซ
1
อันนี้เป็นธรรมะที่ท่านชี้ให้ดูสำหรับคนซึ่งอินทรีย์ยังไม่แก่กล้า
ก็ดูความทุกข์ง่ายๆ อย่างนี้
แก่ก็เป็นทุกข์ เจ็บก็เป็นทุกข์ ตายก็เป็นทุกข์
พลัดพรากจากสิ่งที่รักจากคนที่รักก็เป็นทุกข์
ต้องเจอกับสิ่งที่ไม่รัก เจอกับคนที่ไม่รักก็เป็นทุกข์
ปรารถนามีความต้องการอะไรแล้วไม่ได้อย่างที่อยากก็เป็นทุกข์
เบื้องต้นท่านสอนทุกข์ที่ชาวบ้านฟังรู้เรื่อง
เสร็จแล้วท่านมาขมวดสิ่งที่เรียกว่าทุกข์จริงๆ
สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา
โดยสรุปขันธ์ทั้ง 5 เป็นตัวทุกข์
พอขันธ์ทั้ง 5 เป็นตัวทุกข์
มันก็ไม่มีคนแก่ คนเจ็บ คนตาย
คนพลัดพรากจากสิ่งที่รัก
คนประสบกับสิ่งที่ไม่รัก
มันมีแต่ขันธ์ ขันธ์ทั้ง 5 เป็นตัวทุกข์
รูปนี้เป็นตัวทุกข์ เพราะมันถูกบีบคั้นให้แตกสลายอยู่ตลอดเวลา
พอมันถูกบีบคั้นก็กลายเป็นความแก่ ความเจ็บ ความตายขึ้นมา ตัวรูป
1
จิตใจมันก็ตัวนาม ก็เป็นตัวทุกข์
มีความอยากเกิดขึ้นทีไร ก็มีความทุกข์เกิดขึ้นทุกที
อันนี้ยังเป็นปัญญาระดับกลางๆ เท่านั้น
ระดับสูงขึ้นไปอีก ก็คือมีรูปมีนามก็มีทุกข์แล้วล่ะ
รูปยังไม่ต้องแปรปรวนรุนแรงให้เราเห็นเป็นความแก่ ความเจ็บ ความตาย
รูปก็มีความทุกข์อยู่ทุกๆ ขณะ
นามคือจิตใจของเรานี้
มันก็มีความทุกข์บีบคั้นอยู่ทุกๆ ขณะ
จะสมอยากหรือไม่สมอยาก
มันก็ทุกข์โดยตัวของมันเอง
รากฐานของทุกข์
ธรรมะมันมีเป็นขั้นเป็นตอน
ถ้าสอนคนไม่มีพื้นฐานเลย
ก็จะสอนเกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นทุกข์
พลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์
ประสบสิ่งที่ไม่รักเป็นทุกข์
ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์
แม้ความโศก ความร่ำไรรำพัน
ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ
ความคับแค้นใจก็เป็นทุกข์
อันนี้สอนพื้นๆ คนทั่วไปมองเห็น
ถ้าเราจะภาวนาจะปฏิบัติให้ลึกขึ้นไป
ใครมันแก่ ใครมันเจ็บ ใครมันตาย
รูปมันแก่ รูปมันเจ็บ รูปมันตาย
ใครสมหวัง ใครผิดหวัง
นามธรรม จิตมันสมหวัง จิตมันผิดหวัง
ฉะนั้นตัวที่เป็นรากเป็นฐานของทุกข์จริงๆ
ก็คือตัวขันธ์ 5 ตัวรูป ตัวนามนั่นเอง
ท่านถึงสอนบอกว่า
ว่าโดยย่อ โดยสรุปอุปาทานขันธ์ทั้ง 5 เป็นตัวทุกข์
เราภาวนาใหม่ๆ เราไม่เห็นหรอกตรงนี้
เราฝึกให้จิตเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่นขึ้นมาก่อน
แล้วก็มีสติระลึกรู้กาย มีสติระลึกรู้ใจ
มีสัญญาหมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ของกายของใจ
จิตมีความตั้งมั่น คือมีสมาธิที่ถูกต้อง
มีองค์ธรรมหลายอย่างร่วมกันทำงาน
ในที่สุดก็เกิดความรู้ถูกความเข้าใจถูก
คือตัวปัญญา รูปนามนี้คือตัวทุกข์
ฉะนั้นธรรมะมีหลายขั้นหลายตอน
ธรรมะอย่างหยาบๆ ถ้าพูดให้ชาวโลกฟัง
ถ้าเราภาวนาเราก็แยกแยะออกไป
ในโลกพระพุทธเจ้าสอน ความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นทุกข์ ชาวโลกฟังแล้วก็ไม่ได้ฟังอย่างที่พระพุทธเจ้าบอก ท่านบอกความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นทุกข์
พอเราฟังปุ๊บ กิเลสก็พาแปลธรรมะเลย
คนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตายเป็นทุกข์
มีคนขึ้นมาทันทีเลย
หรือเรา เราแก่ เราเจ็บ เราตายเป็นทุกข์
พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนั้น
ท่านบอกว่าความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย มันเป็นทุกข์
ไม่ใช่คนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย
กระทั่งธรรมะพื้นๆ พอฟังแล้วก็เพี้ยน
กลายเป็นฟังแล้วมีคน มีสัตว์ มีเรา มีเขาขึ้นมาทุกทีเลย
เพราะอะไร
เพราะพื้นเดิมของเรามันพึงพอใจที่จะมีตัวมีตนอยู่ มีเรา
พื้นของจิตเลยมันถูกสะสมมาอย่างนี้
พอได้ยินธรรมะที่บอกว่าความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นทุกข์ มันก็แปลทันทีเลย คนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตายเป็นทุกข์
ถ้าจะทุกข์มากก็คือ เราแก่ เราเจ็บ เราตาย ทุกข์มาก
บางทีเห็นคนอื่นแก่ คนอื่นเจ็บ คนอื่นตาย ไม่เห็นจะทุกข์เลย เรื่องของเอ็ง ไม่ใช่เรื่องของข้า มีเรามีเขาขึ้นมา
ธรรมะของพระพุทธเจ้าประณีตมาก
เวลาฟังแล้วฟังให้มันรู้เรื่อง
ท่านสอนว่าความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นทุกข์
ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก
การประสบกับสิ่งที่ไม่รักเป็นทุกข์
ท่านไม่ได้บอกว่าคนอกหักรักคุดเป็นทุกข์
เพราะมันไม่มีคน
พระพุทธเจ้าสอนประณีตมากเลย
พอภาวนาละเอียดลึกซึ้งเข้าไปอีก ก็จะเห็นเลย
อย่างท่านสอนว่า ว่าโดยย่ออุปาทานขันธ์ทั้ง 5 เป็นทุกข์
พอได้ยินว่า ว่าโดยย่ออุปาทานขันธ์ทั้ง 5 เป็นทุกข์
ก็ตีความทันทีเลย ขันธ์ที่เราเข้าไปยึดทุกข์
ถ้าเราไม่ยึดก็ไม่ทุกข์ ขันธ์มันไม่ทุกข์
ท่านไม่ได้สอนอย่างนั้น
คำว่าอุปาทานขันธ์ เป็นการจำแนกชนิดของขันธ์
จริงๆ แล้ว ขันธ์เป็นทุกข์ทั้งนั้นล่ะ
เกิดขึ้น แล้วตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปทุกชนิด
ขันธ์ เอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้
เราไปคิดว่าถ้ายึดแล้วจะทุกข์ ถ้าไม่ยึดไม่ทุกข์ ไม่ใช่
หรือจิตเรานี้ เราภาวนา มีปัญญาเล็กๆ น้อยๆ
เราก็เห็น ถ้าจิตเข้าไปยึดอะไร จิตทุกข์
ถ้าจิตไม่ยึด จิตเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ไม่ทุกข์
ภาวนากันไปเรื่อยๆๆ รู้เลย ตัวจิตนั่นล่ะ ตัวทุกข์
จะยึดหรือไม่ยึด ตัวจิตนั่นล่ะ คือตัวทุกข์
ธรรมะมันหลายระดับ
ชาวโลกก็เห็นว่ามีคน มีเรา มีเขา เราทุกข์ คนอื่นทุกข์อะไรอย่างนี้
พอภาวนาไปช่วงหนึ่ง ก็จะเห็นมีแต่ขันธ์ๆ
แล้วจิตเข้าไปยึดบ้างไม่ยึดบ้าง
ยึดเมื่อไรก็เป็นทุกข์ ไม่ยึดก็ไม่ทุกข์
บางทีก็เห็นจิตอยาก จิตยึด จิตทุกข์
จิตไม่อยาก จิตไม่ยึด จิตไม่ทุกข์ เห็นอย่างนี้
ตรงนี้ปัญญายังไม่พอหรอก
ถ้าปัญญาพอ ภาวนาไปถึงจุดหนึ่งจะเห็น
จะอยากหรือไม่อยาก จะยึดหรือไม่ยึด
จิตหรือขันธ์ทั้งหลายคือทุกข์ คือตัวทุกข์
ถ้าเราเห็นทุกข์ได้ประณีตถึงระดับนี้
การละสมุทัยถึงจะเกิดขึ้น
คือเราเห็นว่าขันธ์เป็นตัวทุกข์แล้ว
ความอยากที่จะให้ขันธ์ไม่ทุกข์ไม่มี ไม่เกิดแล้ว
เพราะความอยากให้ขันธ์มันไม่ทุกข์
เป็นความโง่ซึ่งเราล้างไปแล้ว เพราะขันธ์มันคือตัวทุกข์
ถ้าภาวนาถึงจุด ขันธ์นี้คือตัวทุกข์
ตัวหัวโจกของขันธ์ก็คือตัวจิตผู้รู้นั่นล่ะ
ตัวอันตราย ตัวร้ายกาจที่สุดเลย
ดูยากที่สุดว่ามันคือตัวทุกข์
เราเห็น เห็นผิดๆ แต่จะว่าผิดก็ไม่เชิง
ก็เห็นถูกเหมือนกัน แต่ถูกไปตามลำดับ
เราเห็นว่าจิตอยาก จิตยึด จิตทุกข์
จิตไม่อยาก จิตไม่ยึด จิตไม่ทุกข์
ภาวนาให้มันมากพอจริงๆ
มันรู้แจ้งแทงตลอดในกองทุกข์
อะไรคือทุกข์ รูปนามขันธ์ 5 นั่นล่ะตัวทุกข์
จะอยากหรือไม่อยาก จะยึดหรือไม่ยึด มันก็ทุกข์
มันมีขันธ์อยู่ส่วนหนึ่งที่ไม่ใช่อุปาทานขันธ์
คือพวกโลกุตตรจิตทั้งหลาย
กับโลกุตตรเจตสิกที่เกิดร่วมกับโลกุตตรจิต
พวกเราฟังไม่ค่อยรู้เรื่องหรอก
พวกนี้เป็นขันธ์ แต่ไม่ใช่อุปาทานขันธ์
เพราะว่าไม่ใช่ที่ตั้งของความยึดมั่นได้
ไม่มีใครยึดมั่นโลกุตตรจิตหรอก
แต่มันเที่ยงไหม … มันไม่เที่ยง
มรรคจิตเที่ยงไหม … ไม่เที่ยง
ผลจิตเที่ยงไหม … ไม่เที่ยง
เพราะฉะนั้นในส่วนของขันธ์ แม้แต่จะเป็นโลกุตตระ
ก็ยังเอาเป็นที่พึ่งที่อาศัยไม่ได้
เพราะมันเป็นของที่เกิดแล้วก็ดับไปเหมือนกัน
เหมือนกับธรรมะฝ่ายโลกิยะทั้งหลายนั่นล่ะ
แต่พอจิตมันรู้แจ้งแทงตลอดจริง จิตมันปล่อยวาง
มันวางกระทั่งโลกุตตรจิต ไม่ได้หิวโหยอยากได้
มันวางจิตทุกชนิดลงไป ไม่ยึดถือ
ตรงนี้ล่ะที่ใครภาวนาเข้ามาถึงตรงนี้
ไม่คิดหรอกว่าตัวเองเป็นพระอรหันต์หรือไม่เป็น
ไม่มีนัยยะอะไร
คำว่าพระอรหันต์ มันก็คำสมมตินั่นล่ะ
จิตมันพ้นกิเลส พ้นทุกข์ได้จริงหรือเปล่า
ตัวนี้ต่างหากที่สำคัญ
ฉะนั้นอย่าเห่อ เราชอบเห่อพระอรหันต์
ลือองค์นั้นพระอรหันต์ องค์นี้พระอรหันต์
อย่างหลวงพ่อ คนก็มาตั้งให้เป็นพระอรหันต์ตั้งเยอะ
บอกประสาทกินสิ เอาอะไรมาตั้ง
เรื่องอย่างนี้ มันรู้ได้เฉพาะตนเองว่ากิเลสเรายังเหลืออยู่ไหม
จิตยังเข้าไปยึดไปถืออะไรไหม
ฉะนั้นเราค่อยๆ ฝึก ค่อยๆ ฝึกไป
จิตเราก็จะค่อยห่างความทุกข์ออกเป็นลำดับๆ …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
11 มิถุนายน 2565
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา