11 มิ.ย. 2022 เวลา 03:48 • ไลฟ์สไตล์
“ทำไม เรื่องง่ายถึงกลายเป็นเรื่องยาก ….”
พัฒนาเครื่องมือให้ดี
ธรรมะมันธรรมดาที่สุดแล้ว ที่ไม่ธรรมดาก็คือจิตพวกเรา
เวลามันเกิดความอยากขึ้นมา ใจมันก็ดิ้น
อยากปฏิบัติใจยังดิ้นเลย สร้างภพของนักปฏิบัติขึ้นมา
ทำนิ่งๆ ซึมๆ อะไร สร้างขึ้นมาทั้งหมด
ธรรมะจริงๆ เป็นของเรียบง่าย เรียบง่ายมากๆ เลย
แต่ใจเราต่างหากที่มันไม่เรียบง่าย
เราไปวาดภาพธรรมะเอาไว้ลึกลับซับซ้อน
ของง่ายเลยกลายเป็นของยาก มันไปหาผิดที่
อย่างพอเรานั่งสมาธิ เราก็พยายามดู
จิตมันก็ถลำลงไปดู เที่ยวค้นคว้าใหญ่
จิตมันอยู่ตรงไหน มันหาอย่างไรก็ไม่เจอ
เพราะเรากำลังเอาจิตไปเที่ยวแสวงหาจิตอยู่
เกือบร้อยละ 100 เวลาที่เราบอกเราจะดูจิตอย่างนี้
เราเที่ยวควาน อยู่ที่ไหนหนอ เที่ยวหา
ไปเจออะไรแปลกๆ เจออะไรไหวๆ ขึ้นมา
เราบอกนี่ล่ะจิต ที่จริงไม่ใช่จิตหรอก
เป็นแค่ความปรุงแต่งที่เกิดขึ้น
ฉะนั้นเราจะไปหลงติดอยู่ที่ตัวอารมณ์ เข้ามาไม่ถึงตัวจิต
หลงในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส หลงทางใจ
เช่น หลงเพ่ง หลงถลำลงไปควานหา
ดูลงไปในใจ เที่ยวควาน นี่ก็หลง
หลงหยาบๆ ก็หลงคิด หลงนึก มันก็หลงทั้งหมด
เมื่อไรหายหลง ใจก็หมดอยาก หมดความยึดถือ หมดความดิ้นรน
ปฏิบัติเพื่อจะเรียนรู้จิตใจตัวเอง
ครูบาอาจารย์ท่านสอนหลวงพ่อ
นิพพานมีอยู่ต่อหน้าต่อตานี้เอง
ไม่มีอะไรมาก ลืมตาขึ้นมา
ลืมตาหมายถึงใจเรา เปิดตาของจิต
เปิดจิตขึ้นมารับรู้ซื่อๆ จะเห็นธรรมะที่พ้นความปรุงแต่ง
นิพพานเป็นธรรมะที่พ้นความปรุงแต่ง
เราก็ปรุงแต่งไม่เลิก มันก็เลยไม่เห็นนิพพาน
มันก็รู้สึกยากๆ แต่จะว่าพวกเราก็ไม่ได้ มันก็ต้องปรุงไปก่อนทุกคน
1
หลวงพ่อตอนเป็นโยมก็เที่ยวแสวงหานิพพาน ไปอ่านพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ ท่านก็เที่ยวแสวงหาพระนิพพาน ใช้เวลานาน ตั้ง 20 อสงไขยแสนมหากัป
ผ่านไป 16 อสงไขยถึงได้พบพระทีปังกร ได้รับพยากรณ์ ผ่านมาอีกตั้ง 4 อสงไขยแสนมหากัป ท่านถึงเจอ
ที่ท่านไม่เจอเพราะตัณหา เพราะความอยาก พาจิตสร้างภพไปเรื่อยๆ
อยากปฏิบัติก็สร้างภพของนักปฏิบัติขึ้นมา
จิตมันก็สร้างภพน้อยภพใหญ่ไปเรื่อยๆ
ให้เราคอยฝึกสติ สมาธิ เป็นเครื่องมือสำคัญ
มีความเพียรชอบ
เป็นกรอบให้รู้ว่าเราจะปฏิบัติเพื่ออะไร
เราปฏิบัติเพื่อลดละกิเลสที่มีอยู่แล้ว
เพื่อปิดกั้นกิเลสใหม่ไม่ให้เกิด
เพื่อทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น
เพื่อทำกุศลที่เกิดแล้วให้เจริญขึ้น
1
ตัวอกุศลก็มีตัวโลภ ตัวโกรธ ตัวหลง
ตัวกุศลก็มีตัวไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง
ฟังเหมือนกำปั้นทุบดินนิดหนึ่ง มันกลับข้างกัน
แต่ทั้งคู่นี้ก็เป็นเหตุให้เกิดความปรุงแต่ง
เหตุชั่ว 3 อัน เหตุดี 3 อัน รวมแล้วมีเหตุ 6 อย่าง
ที่เราไปงานศพ พระสวดบทสุดท้าย
เริ่มต้นประโยคแรก เหตุปัจจะโย
ปัจจัยที่เป็นเหตุมี 6 อย่างใช่ไหม
มีโลภ โกรธ หลง ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง
มีโลภ มีโกรธ มีหลง จิตก็เกิดความอยาก
ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง มันประณีตขึ้นไปอีก
ค่อยๆ ดู ค่อยๆ สังเกตไป
ที่ว่าไม่โลภๆ ลึกๆ ก็ยังโลภอยู่
ที่ว่าไม่โกรธก็ยังหลงอยู่
ความหลงเป็นกิเลสยืนพื้นเลยอยู่ในใจพวกเรา
ศัตรูสำคัญที่สุดเลยของเราคือตัวหลงนี่ล่ะ
พยายามฝึกตัวเอง
สิ่งที่ตรงข้ามกับตัวหลงก็คือตัวปัญญา
สิ่งที่ตรงข้ามกับตัวโมหะคือตัวปัญญา
ปัญญาคือความรู้ถูก ความเข้าใจถูก
รู้อะไร เข้าใจอะไร
ก็รู้ว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง
ความปรุงแต่งทั้งหลาย รูปธรรม นามธรรมทั้งหลาย ไม่เที่ยง
สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์
ธรรมทั้งหลายทั้งที่เป็นสังขาร ทั้งไม่ใช่สังขาร ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน
เห็นอย่างนี้ก็จะล้างความเห็นผิดไป
สิ่งที่เราคิดว่าเป็นตัวเราของเราก็คือกายกับใจนี้ล่ะ
ฉะนั้นมีสติรู้กายรู้ใจไปอย่างที่มันเป็น
ดูสิ จริงๆ มันเป็นไหม เป็นเราจริงไหม
เราจะรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงได้ ก็ต้องมีสมาธิ
จิตของเราจะต้องตั้งมั่น จิตของเราจะต้องเป็นกลาง
ตั้งมั่นอย่างเดียวยังไม่เต็มที่ ต้องเป็นกลางด้วย
ฉะนั้นเรามีกรอบของการปฏิบัติ
เราไม่ได้ปฏิบัติเพื่ออะไรหรอก
ปฏิบัติเพื่อจะเรียนรู้จิตใจตัวเอง
มีกิเลสเข้ามาปรุงแต่งจิต เราก็รู้
มีกุศลเข้ามาปรุงแต่งจิต เราก็รู้ กุศลก็ปรุงแต่งจิต
อย่างเราอยากฟังเทศน์อย่างนี้ ใจเราก็ดิ้นรน อยากใส่บาตร อุตส่าห์ลุกขึ้นมาแต่เช้ามืดเลย จะมาใส่บาตรแล้วก็ไปชะเง้อหน้าบ้าน เอ พระจะมาหรือเปล่า หรือว่าวันนี้พระไม่มา ใจก็ดิ้นรน
อยากดีมันก็ดิ้นรน อยากชั่วยิ่งดิ้นหนักเข้าไปอีก
เพราะฉะนั้นจะเหตุดีหรือจะเหตุชั่ว จิตก็ดิ้นรน
จนกว่ากุศลนั้นมันจะสมบูรณ์ คือล้างตัวโมหะได้
ต้องฝึก ค่อยๆ สังเกตไป เครื่องมือที่จะใช้ในการสังเกตว่าตอนนี้จิตใจเราเป็นอย่างไร ก็คือตัวสติ
ส่วนเราจะเห็นความจริงของจิตใจได้ เราต้องมีสมาธิที่ถูกต้อง
สติเป็นตัวรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในกายในใจ
แล้วถ้ารู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลางคือจิตที่ทรงสมาธิที่ถูกต้อง ปัญญาถึงจะเกิด
สติเกิดจากจิตจำสภาวะได้แม่น
เราหัดดูสภาวะไปเรื่อยๆ
จิตโลภขึ้นมาก็รู้ จิตไม่โลภก็รู้
จิตโกรธก็รู้ จิตไม่โกรธก็รู้
จิตหลงก็รู้ จิตไม่หลงก็รู้
หัดรู้อย่างนี้ไปเรื่อยๆ
พอรู้ไปซ้ำแล้วซ้ำอีก สติเป็นตัวไปรู้พวกนี้
ถ้าจิตเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้เห็น
เราก็จะเกิดปัญญาเห็นไตรลักษณ์ได้
ถ้าจิตเราไม่ตั้งมั่น ปัญญาจะไม่เกิด
อย่ามักง่าย บางคนบอกต้องมีสมาธิถึงจะเกิดปัญญา สมาธิมี 2 ตระกูล 2 พวก สัมมาสมาธิกับมิจฉาสมาธิ
สมาธิที่คนทั้งโลกเขาฝึกกัน
มันออกไปทางมิจฉาสมาธิเสียส่วนใหญ่
แต่ไหนแต่ไรก็เป็นอย่างนั้น
หลวงพ่อเคยเข้าไปตามวัดครูบาอาจารย์ ดูเขานั่งสมาธิกัน เป็นมิจฉาสมาธิ หาคนมีสัมมาสมาธิยากมากเลย
สัมมาสมาธิเป็นสภาวะของความตั้งมั่น ไม่ใช่แค่สงบ
มันตั้งมั่นด้วย สงบด้วย ก็ต้องพัฒนาตัวนี้ขึ้นมา
สติที่เราเจริญให้มากก็จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์ขึ้นมา
ภาวนาไปสบายๆ อย่าลุกลี้ลุกลน
อยู่กับอารมณ์กรรมฐานของเราไป
แล้วจิตมันเคลื่อนไปจากอารมณ์กรรมฐานให้รู้ทัน
จิตมันถลำลงไปในอารมณ์กรรมฐานให้รู้ทัน
ตรงที่เรารู้ทันสภาวธรรมที่กำลังเป็นอยู่ กำลังปรากฏอยู่ จิตจะตั้งมั่นขึ้นมาอัตโนมัติ มันไหลแล้วรู้ มันก็ไม่ไหล มันก็ตั้งมั่นขึ้นมา
พอจิตตั้งมั่นขึ้นมาแล้ว พอสติระลึกรู้ร่างกาย
จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้เห็นอยู่ ปัญญาจะเกิด
ร่างกายนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
สติระลึกรู้จิตใจ สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ดีบ้าง ร้ายบ้าง
จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูอยู่ เพราะมีสัมมาสมาธิเกื้อกูลอยู่
มันจะเกิดปัญญาเห็นว่าจิตนั้นมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
นามธรรมทั้งหลายที่เกิดร่วมกับจิตก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
สติเกิดจากการที่เราเห็นสภาวะบ่อยๆ ตรงนี้ตำราเขาดีๆ บอกถิรสัญญา การที่จิตมันจำสภาวะได้แม่นยำ เป็นเหตุใกล้ให้เกิดสติ
เพราะฉะนั้นเราหัดดูสภาวะเนืองๆ
อย่างที่พระพุทธเจ้าสอนให้ทำสติปัฏฐาน
รู้กายเนืองๆ รู้เวทนาเนืองๆ รู้จิตเนืองๆ อะไรอย่างนี้
รู้บ่อยๆ แล้วจิตมันจำสภาวะได้
เช่น จำสภาวะรูปหายใจออกได้
จำสภาวะรูปหายใจเข้าได้
พอเราขาดสติ เราเกิดหายใจปุ๊บ สติมันมาเองเลย
หรือร่างกายเคลื่อนไหว
เราคอยรู้สึกร่างกายหยุดนิ่ง คอยรู้สึก
พอเราขาดสติ เกิดขยับตัวนิดเดียว สติมาเองเลย
ฉะนั้นสติมันมีถิรสัญญา
การที่จิตจำสภาวะได้แม่นยำเป็นเหตุใกล้ให้เกิด
จำสภาวะได้แม่นเพราะมันเห็นสภาวะบ่อยๆ
ตัวสมาธิต้องฝึก ต้องมีความสุข
ความสุขเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ
ฉะนั้นเราอยู่กับอารมณ์กรรมฐานของเราไป
สงบก็ช่าง ไม่สงบก็ช่าง
แต่เราก็อยู่กับอารมณ์กรรมฐานของเรานี้ล่ะ
อยู่ๆ แล้วจิตมันก็สงบอยู่ในอารมณ์อันนั้น
อันนั้นก็ได้สมาธิชนิดสงบ
แต่เราอยู่กับอารมณ์กรรมฐานแล้วจิต มันเคลื่อนไป
เคลื่อนหนีอารมณ์กรรมฐาน เคลื่อนไปคิดอะไรอย่างนี้
เรารู้ทัน จิตจะตั้งมั่นขึ้นมา
หรือจิตเราถลำลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน เรารู้ทัน
จิตก็จะตั้งมั่นขึ้นมา
อย่างที่พวกเรานั่งสมาธิ พอนั่งปุ๊บ
จิตก็ไหลลงไปแล้ว ถลำลงไปแล้ว ไปดูว่าจะดูอะไรดี
ถ้าเรารู้ตรงนี้ว่าจิตกำลังเที่ยวแสวงหาอยู่ข้างใน
รู้อยู่ตรงนี้ปุ๊บเดียว จิตจะดีดตัวตั้งมั่นขึ้นมาเอง
ให้รู้ไปสบายๆ ความสุขเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ
แต่อาศัยสติเข้ามากำกับ
สมาธิอันนั้นก็จะกลายเป็นสัมมาสมาธิ
สัมมาสมาธิต้องประกอบด้วยสติเสมอ
ส่วนสมาธิทั่วๆ ไป ไม่จำเป็นต้องมีสติ
แมวจะจับนกใช่ไหม มันจ้องมันมีสมาธิไหม มันมี
แต่มันไม่มีสติ มันไม่ได้รู้กาย มันไม่ได้รู้ใจตัวเอง
มันรู้แต่นก จิตมันออกนอก
เราอาศัยสติ แล้วก็ทำกรรมฐานไป
มีสติคอยรู้ทันจิตใจตัวเองไว้
เราจะได้สมาธิชนิดตั้งมั่นขึ้นมา
ฉะนั้นสมาธิชนิดตั้งมั่น หรือสัมมาสมาธิต้องประกอบด้วยสติเสมอ
ในพระไตรปิฎก ในพระสูตรท่านก็สอน
สัมมาสติที่เจริญให้มากก็จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์
ฉะนั้นถ้าไม่มีสติเสียตัวเดียว
ไปนั่งสมาธิ มันกลายเป็นมิจฉาสมาธิหมด
เอาสติมาใช้อย่างไร ก็ทำกรรมฐานไป
แล้วจิตมันหนีไปจากอารมณ์กรรมฐาน มีสติรู้ทัน
จิตมันถลำลงไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน มีสติรู้ทัน
เท่านี้ล่ะ ความตั้งมั่นก็จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
ไม่มีใครสั่งจิตให้ตั้งมั่นได้
เช่นเดียวกับไม่มีใครสั่งจิตให้มีสติได้
เราบังคับมันไม่ได้สักอย่าง แต่เราทำเหตุของมันได้
จิตเป็นอนัตตา บังคับไม่ได้
แต่จิตเป็นธรรมชาติที่ฝึกได้
ทำไมจิตของพวกเราไม่ค่อยมีสติ
เพราะเราฝึกของเรามาอย่างนี้
เราฝึกขาดสติมาตั้งแต่เกิด
ทำไมจิตเราไม่มีสมาธิที่ถูกต้อง
เพราะเราฝึกมาอย่างนี้ล่ะ
หลงโลกตลอดเวลา มันจะไปมีสมาธิได้อย่างไร
พอไปนั่งสมาธิ ก็ไม่มีสติกำกับ
มันก็กลายเป็นมิจฉาสมาธิขึ้นมาอีก
พอเราได้จิตที่ตั้งมั่นอย่างแท้จริง
พอสติระลึกรู้อะไร ปัญญามันจะเกิด
ปัญญามันเห็นอะไร เห็นไตรลักษณ์
เช่น จิตเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้อยู่ ร่างกายเคลื่อนไหว
มันจะรู้สึกขึ้นมาเองเลย ไม่ได้คิด
มันรู้สึกเองเลย ตัวที่ขยับอยู่นี้ไม่ใช่เราหรอก
เหมือนหุ่นกระบอกตัวหนึ่งขยับไปขยับมา
หรือเหมือนหุ่นยนต์ตัวหนึ่งขยับไปขยับมาเท่านั้นเอง
ไม่ใช่ตัวเรา
ความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์เกิดขึ้นในร่างกาย
จิตเป็นคนรู้
มันก็จะเห็นความรู้สึกสุขทุกข์ในกายไม่ใช่ร่างกาย
แล้วก็ไม่ใช่จิต
เป็นสภาวะอีกอันหนึ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเราเหมือนกัน
หรือจิตเราตั้งมั่นอยู่ มีความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ รู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์เกิดขึ้นในใจ สติระลึกรู้
เช่น เรานั่งภาวนาของเราอยู่นี้ล่ะ
หรือไม่ภาวนาก็ได้ นั่งเผลอๆ อยู่อย่างนี้
อยู่ๆ จิตใจมันเกิดความสุขผุดขึ้นมา มันผุดขึ้นมา
ถ้าเราเคยฝึกสติชำนาญแล้ว สติเกิดเอง
เห็นสภาวะบ่อยๆ พอมันผุดขึ้นมาปุ๊บ สติระลึกได้
แล้วจิตขณะนั้นตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้เห็นอยู่ มันจะเห็นเลย
ความสุขไม่ใช่ตัวเรา
เป็นสิ่งที่แปลกปลอมขึ้นมาชั่วครั้งชั่วคราวแล้วก็แตกสลายไป
ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ปัญญามันเกิด
ฉะนั้นปัญญามันเกิดโดยอาศัยสติ อาศัยสมาธิที่ถูกต้อง
สมาธิที่ถูกต้องก็อาศัยสติมากำกับ
สัมมาสมาธิที่บริบูรณ์จะส่งผลให้สัมมาญาณะสมบูรณ์ขึ้นมา
ภาวนาไป ทำกรรมฐานไปด้วยจิตใจสบายๆ
อย่าไปโลภ อย่าไปอยากสงบ อย่าไปอยากดี
อยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากได้
อันนั้นจิตไม่มีความสุขหรอก
จิตมีแต่ความอยาก จิตมันหิวตลอดเวลา
ไม่มีความสุข ไม่มีความสงบเกิดขึ้น
ฉะนั้นเราอยู่กับอารมณ์กรรมฐานของเราไปสบายๆ
แล้วมีอะไรแปลกปลอมขึ้น มีสติรู้ไป แค่นี้ล่ะ
สมาธิที่ถูกต้องก็จะเกิดขึ้น
ถ้าจิตตั้งมั่นขึ้นมา ท่านถึงสอน พระพุทธเจ้าก็เทศน์ไว้
สติที่เราเจริญให้มาก มันก็จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์ขึ้นมา
สัมมาสมาธิบริบูรณ์แล้วจะเกิดอะไรขึ้น
สัมมาญาณะ การหยั่งรู้ด้วยปัญญาจะเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้นพอจิตเราตั้งมั่น
มีอะไรเกิดขึ้นในร่างกาย สติระลึกรู้
จิตตั้งมั่นเป็นคนรู้คนเห็น ปัญญามันก็เกิด
มันจะเห็นเลยตัวที่เกิดขึ้น
มันเกิดแล้ว มันก็ตั้งอยู่ แล้วมันก็ดับไป
ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา
ไม่ว่าจะรูปธรรมหรือนามธรรม ก็ตกอยู่ในลักษณะอันเดียวกัน คือเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป
เพราะฉะนั้นสัมมาสมาธิที่บริบูรณ์จะส่งผลให้สัมมาญาณะสมบูรณ์ขึ้นมา
สัมมาญาณะคือการที่เราเจริญปัญญาเห็นไตรลักษณ์ถูกต้อง ซ้ำแล้วซ้ำอีกมากขึ้นๆ สุดท้ายสัมมาวิมุตติก็จะเกิดขึ้น
ทำไมต้องมีคำว่าสัมมาด้วย วิมุตติ ความหลุดพ้น เพราะสิ่งที่คนเรียกว่าวิมุตติๆ หรือความหลุดพ้นอะไรอย่างนี้ แต่ละศาสนามันก็หลุดพ้นกันคนละแบบ
บางลัทธิบางศาสนาคิดว่าถ้าจิตเราทรงสมาธิรวมเป็นหนึ่ง เขาก็คิดว่ารวมเข้ากับพระเจ้า จริงๆ จิตมันรวมลงไป เวลาจิตรวมลงไป อาการมันเยอะ
บางทีรวมลงไป ไปเป็นพรหม พรหมเห็นจักรวาลจำนวนมากไหลผ่านไปรอบๆ จักรวาลทั้งหลายไหลผ่านไป กระทบกันบ้าง ห่างออกจากกันบ้าง เกิดขึ้นบ้าง ดับลงบ้างอะไรอย่างนี้ เขาก็คิดว่าการที่เป็นพรหมอยู่อย่างนั้น เป็นสภาวะที่สูงสุดแล้วๆ
บางคนก็คิดว่าทรมานตัวเองไปเรื่อยๆ จนกระทั่งใจมันชินชากับความทุกข์ ร่างกายทรมานไปเรื่อยๆ จนใจมันชินชา มีความทุกข์แค่ไหน ใจก็ไม่เดือดร้อน นี่ก็ถือว่าเป็นวิมุตติของเขาเหมือนกัน
บางคนก็วิมุตติก็คือการที่ไปอยู่กับพระเจ้า เราก็ไม่ว่าเขา ก็วิมุตติแบบของเขา แต่ของเราสัมมาวิมุตติ เกิดอริยมรรค เกิดอริยผล สัมผัสพระนิพพาน นิพพานไม่ได้อยู่ที่อื่นเลย
ถ้าจะพูดถึงนิพพาน นิพพานมีลักษณะของสันติ สงบ
ดูละเอียดลงไป ทำไมถึงสงบ เพราะสิ้นตัณหา
ฉะนั้นนิพพานเป็นสภาวะที่สิ้นตัณหา
ลักษณะสงบมันเกิดจากการที่มันสิ้นตัณหา
นิพพานไม่เกิดหรอก แต่จิตเราถ้าสิ้นตัณหา เราก็จะสัมผัสพระนิพพาน
ฉะนั้นวิมุตติของแต่ละศาสนาก็ไม่เหมือนกัน วิมุตติของเราต้องเป็นมรรคผลนิพพาน วิมุตติอย่างอื่นๆ ไม่ยั่งยืนหรอก เกิดได้ก็ยังดับได้อีก
ค่อยภาวนา พัฒนา ตั้งใจถือศีลไว้ เป็นเครื่องมือสู้กิเลสอย่างหยาบ
ฝึกจิตใจให้สงบ ฝึกจิตใจให้ตั้งมั่นเป็นเครื่องมือต่อสู้กิเลสชั้นกลาง เรียกว่านิวรณ์
ค่อยต่อสู้กิเลสชั้นละเอียดด้วยปัญญาแทงทะลุลงไปในจิต
อาศัยสติและสมาธินั่นล่ะเป็นเครื่องมือ
อาศัยสัมมาสติ สัมมาสมาธิ
บางคนบอกว่าสัมมาสติไม่จำเป็นต้องเรียกอย่างนี้ เรียกสติเฉยๆ ก็ได้ แต่สัมมาสติไม่ใช่สติเฉยๆ ไปเรียนตำรามากแล้วคิดว่าสติมีอย่างเดียว เพราะฉะนั้นไม่ต้องมีคำว่าสัมมา ไม่เหมือนสมาธิ มีทั้งสัมมาสมาธิ มิจฉาสมาธิ
สติอะไรที่ไม่ได้เนื่องด้วยการระลึกรู้กายรู้ใจ ไม่ใช่สติปัฏฐาน อันนั้นไม่ใช่สัมมาสติ ฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านอธิบายสัมมาสติด้วยสติปัฏฐาน 4
ฉะนั้นมีสติเดินไม่ตกถนนอะไรอย่างนี้ ใจเกิดเป็นกุศล อยากทำบุญใส่บาตรในขณะนั้นเป็นกุศลแล้ว แสดงว่าต้องมีสติ แต่สติอย่างนั้นมันยังไม่ใช่สติปัฏฐาน
แต่ถ้าใจอยากใส่บาตร มีสติระลึกรู้ว่าอยากใส่บาตร
อันนี้อยู่ในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ฉะนั้นสติที่จริงต้องใช้คำว่าสัมมาสติ ท่านใช้คำของท่านถูกแล้ว
1
สติทั่วๆ ไป สาธารณะ เกิดขึ้นในจิตที่เป็นสาธารณกุศล อยากทำดีอะไรทั้งหลายมันก็มีสติทั้งนั้นล่ะ จิตมันเป็นกุศล แต่มันไม่ได้ระลึกรู้กายรู้ใจ ไม่ใช่สัมมาสติ
สัมมาสมาธิ พระพุทธเจ้าท่านอธิบายด้วยฌาน ฌาน 1, 2, 3, 4
ทำไมมี 1, 2, 3, 4
5, 6, 7, 8 หายไปไหน 5, 6, 7, 8 เป็นอรูปฌาน
ก็คือฌานที่สี่นั่นล่ะ แต่ใช้อรูปเป็นอารมณ์
ฉะนั้นเวลาพูดท่านก็พูด 1, 2, 3, 4 แค่นี้ก็พอแล้ว
แล้วสัมมาสมาธิมันไปเกิดตอนไหน
พวกเราเข้าฌานไม่เป็น มันเกิดตอนที่อริยมรรคเกิด
จิตมันจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิเองล่ะ
ไม่ต้องดิ้นรนหรอก ยิ่งอยากเข้า ยิ่งไม่เข้า
ฉะนั้นเราเจริญสติ รู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงนี่ล่ะ
ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลางนี่ล่ะ
ทำไปให้มากพอ ศีล สมาธิ ปัญญาก็จะสมบูรณ์มากขึ้นๆ
เพราะเรามีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง พอศีล สมาธิ ปัญญาสมบูรณ์แล้ว จิตจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิเอง มันรวมของมันเอง ไม่ต้องเจตนาเข้าฌาน
ไม่ใช่ตอนนี้เจริญศีล สมาธิ ปัญญาพอสมควรแล้ว เข้าฌานเพื่อให้เกิดมรรค ไม่เกิด ถ้าจงใจจะให้เกิดจะไม่เกิด เพราะไม่มีใครทำอริยมรรคให้เกิดขึ้นได้
อริยมรรคมันเกิดเอง
เมื่อศีล สมาธิ ปัญญาของเราสมบูรณ์
ฉะนั้นหน้าที่เราก็คือพัฒนาศีล สมาธิ ปัญญานั่นล่ะ
มีสติไว้ ศีลก็จะดีขึ้นๆ
มีสติกำกับการทำสมาธิ
อยู่ในอารมณ์กรรมฐานของเราไปด้วยความมีสติ
จิตหนี เรารู้ จิตถลำลงไป เรารู้
สมาธิมันก็จะเกิดที่ถูกต้อง สัมมาสมาธิมันก็เกิด
สติระลึกรู้กาย สติระลึกรู้ใจ
ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง
ดูกายอย่างที่กายเป็น ดูใจอย่างที่ใจเป็น
ดูซ้ำๆๆ ไปเรื่อย กำลังมันพอแล้ว
จิตมันรวมเข้าอัปปนาสมาธิเอง
ใส่คำว่า เอง ถ้าเราพยายามจะให้เกิดมรรคเกิดผล
ไม่เอง มันจะเอ๋งเลย มันเป็นไปไม่ได้ ถูกมันหลอก
ฉะนั้นพัฒนาเครื่องมือให้ดี อันแรกถือศีลไว้ แล้วก็ฝึกสติของเรา
คอยระลึกรู้กาย คอยระลึกรู้ใจเนืองๆ
ต่อไปไม่ได้เจตนาระลึก
พอมีอะไรเกิดขึ้นในกาย สติเกิดเอง
มีอะไรเกิดขึ้นในจิตใจ สติเกิดเอง
สติตัวนี้เป็นสัมมาสติแล้ว
แล้วจิตมันเคลื่อนไปๆ หลงไปที่อื่น รู้ทัน
หลงไปในอารมณ์กรรมฐาน รู้ทัน
หลงไปแสวงหาอารมณ์ว่าจะดูอะไรดี ควานๆๆ รู้ทัน
สติรู้ จิตก็เด่นดวงขึ้นมา เป็นผู้รู้ขึ้นมา
มีสัมมาสมาธิขึ้นมา
สัมมาสมาธิที่หลวงพ่อต้องพูดทุกวันๆ เพราะหลวงพ่อเห็นว่ามันคือตัวที่พวกเราขาดมากที่สุดเลย ขาดอย่างยิ่งเลย
พวกหนึ่งก็มักง่าย คิดว่าจิตทุกดวงมีสมาธิอยู่แล้ว ไม่ต้องฝึก สมาธิตรงนั้นมันเป็นมิจฉา
สมาธิ มันเกิดกับจิตทุกดวง
จะมาบอกว่าจิตทุกดวงมีสมาธิอยู่แล้ว มีเอกัคคตาอยู่แล้ว ไม่ต้องฝึก
ไม่ฝึก หมาแมวอะไรมันก็คงบรรลุมรรคผลไปหมดแล้ว
เป็นกลางต่อความปรุงแต่งทั้งหลายด้วยปัญญา
สัมมาสมาธิก็ต้องฝึก ที่พลาดที่สุดเลยคือเรื่องสัมมาสมาธิ
การเจริญสติรู้กายรู้ใจก็ยังมีคนคอยรู้คอยดู อย่างเช่น ไปดูท้องพองยุบมีสติ ท้องพองก็รู้ ท้องยุบก็รู้อะไร ถามว่าฝึกสติไหม ฝึก
ขยับ อย่างสายหลวงพ่อเทียนท่านขยับมีสติไหม มีๆ แล้วอะไรที่ขาดกัน ขาดสัมมาสมาธิ จิตไม่ตั้งมั่น
ขยับ พวกหนึ่งจิตไหลเข้าไปอยู่ในมือ
พวกหนึ่งไปคิดว่าท่านี้แล้วจะไปท่าไหน พวกที่ขยับจนชิน ขยับได้ด้วยไขสันหลังแล้ว เคลื่อนไหวถูกเป๊ะ สวยงาม จิตหนีไปคิดเรื่องอื่นแล้ว แต่มือขยับถูก อย่างนี้มันไม่มีสมาธิที่ถูกต้อง
หรือดูท้องพอง ดูท้องยุบ จิตไปจ้องอยู่ที่ท้อง ก็สว่างขึ้นมาเลย
ทำไมมันสว่างขึ้นมาได้ ก็มันเป็นกสิณ เพ่งอะไรเข้าไป มันเพ่งรูปอยู่ มันก็คือกสิณนั่นล่ะ กสิณดิน
ถ้าเห็นความพอง เห็นความยุบ เพราะลมมันเคลื่อนก็เป็นกสิณลม มันไม่ใช่ทาง มันออกไปเรื่องของกสิณเรื่องอะไรไป
บางพวกไม่เอาสมาธิเลย บางพวกเอาสมาธิ แต่เป็นมิจฉาสมาธิ นั่งกันแล้วก็เคลิ้มหรือนั่งไปแล้ว ก็เห็นโน่นเห็นนี่อะไรอย่างนี้
หลวงพ่อเห็นโน่นเห็นนี่มาตั้งแต่ 7 ขวบ แล้วก็รู้ว่ามันไม่มีสาระอะไร ไปเห็นเทวดา เห็นจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ จิตหลอนเอาก็ได้ จิตมันหลอนเก่ง ไม่ใช่ผีหลอกผีหลอน จิตมันหลอกมันหลอนเอาเอง
เห็นผี เห็นเทวดา เห็นนรก เห็นสวรรค์อะไรอย่างนี้ ไปเห็นแล้วมันได้อะไร ได้เหมือนกัน ได้กลัวบาป
อย่างไปเห็นสัตว์นรก เห็นผีเปรต เห็นอะไรอย่างนี้ กลัวบาป ไม่อยากเป็นอย่างนี้ ก็ได้กลายเป็นคนดี ไม่ยอมทำชั่ว ถือว่าดีเหมือนกัน แต่เกี่ยวกับมรรคผลไหม ยังไม่เกี่ยวหรอก
เห็นผีเห็นเปรต สู้เห็นกิเลสตัวเองไม่ได้
ผีเปรตตัวจริงอยู่ตรงนี้
ฉะนั้นพยายามฝึกทุกวัน ถือศีล 5 ไว้ แล้วก็ทำกรรมฐานไว้
แล้วจิตเคลื่อนไปจากกรรมฐานของเรา เรารู้ทัน
จิตไปเพ่งกรรมฐาน เรารู้ทัน
จิตหนีไปทำอะไร รู้ทันไว้
แล้วจิตมันจะตั้งมั่น
พอจิตตั้งมั่น ไปเห็นสติระลึกรู้สภาวะ
ทีแรกก็จะไม่เป็นกลาง
เจอสภาวะที่ดี ที่มีความสุขที่ดี เป็นกุศล จิตพอใจ
เจอสภาวะที่ทุกข์ หรือที่เป็นอกุศลจิตไม่พอใจ
มีสติรู้ซ้ำลงไปอีก จิตยินดีจิตยินร้าย รู้ลงไปอีก
ในที่สุดมันก็จะเป็นกลางขึ้นมา
เราก็มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริงด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง
ตั้งมั่น ยังไม่เป็นกลางหรอก ค่อยภาวนาไป เห็นสภาวะทั้งหลาย หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไป ในที่สุดมันก็เป็นกลางขึ้นมา
ตรงที่จิตตั้งมั่นและเป็นกลางด้วยการเจริญปัญญา มีสติระลึกรู้รูปนามเรื่อยมานั้น จิตจะเป็นกลางด้วยปัญญา เราจะต้องฝึกจนวันหนึ่งมาถึงตรงนี้ให้ได้ เพราะจุดนี้ล่ะคือจุดที่จะแตกหักกับกิเลส
ปัญญาที่ทำให้จิตเป็นกลางต่อความปรุงแต่งทั้งปวง เรียกว่าสังขารุเปกขาญาณ
สังขารคือความปรุงแต่ง รูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย
อุเบกขาก็รู้จักอยู่แล้วใช่ไหม
ญาณคือปัญญา
มีปัญญาจนกระทั่งเราเป็นกลางต่อความปรุงแต่งทั้งหลาย
พอเรามีจิตตั้งมั่นเป็นคนรู้คนดู สติระลึกรู้
เราเห็นความสุขเกิดแล้วก็ดับ ความทุกข์เกิดแล้วดับ
กุศลเกิดแล้วดับ อกุศลเกิดแล้วดับ
ทุกอย่างมีแต่เกิดแล้วดับ
รูปหายใจออก แล้วรูปหายใจเข้า มีแต่เกิดแล้วดับ
หรือถ้าดูถึงตัวธาตุ เราก็จะเห็น
อย่างเราหายใจ หายใจเข้าใช่ไหม ลมมันเย็น
หายใจออก ลมมันร้อน
เห็นความเปลี่ยนแปลง ของธาตุไฟ
ในอากาศอันเดิมนั่นล่ะ
แต่อุณหภูมิของอากาศไม่เท่ากัน
พอผ่านเข้าไปในร่างกายเราอย่างนี้ มันมีไฟอยู่ข้างใน
เป็นไฟธาตุทั้งหลาย
หายใจออกมาอากาศก็ร้อนขึ้นมา
ธาตุเองก็ไม่เที่ยงๆ อย่างนี้ดูยาก ไม่ต้องดูหรอก
ถ้าจิตไม่ทรงสมาธิจริงๆ ดูไม่เห็น
จะฟุ้งซ่านจะนั่งคิดอะไรอย่างนี้ เหนื่อยตายชักเลย
ไม่ต้องทำหรอก
พอฝึกมากๆ ต่อไปจิตก็เป็นกลาง
สุขกับทุกข์ก็เสมอกันล่ะ เกิดแล้วดับเหมือนกัน
ดีกับชั่วก็เสมอกัน เพราะเกิดแล้วดับเหมือนกัน
อันนี้ในขั้นเจริญปัญญา ไม่ใช่ในขั้นจริยธรรม
ในขั้นจริยธรรม ดีกับชั่วไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากัน แต่ในขั้นที่เราเจริญวิปัสสนาดีกับชั่วเท่ากันด้วยความเป็นไตรลักษณ์ จิตมันเจริญปัญญา มันเห็นไตรลักษณ์ไปเรื่อยๆ
ในที่สุด มันเห็นว่าสุขกับทุกข์ มันเท่ากันด้วยความเป็นไตรลักษณ์
ดีกับชั่วก็เท่ากันด้วยความเป็นไตรลักษณ์
แล้วถัดจากนี้ถ้าอินทรีย์เราแก่กล้าพอ
ศีล สมาธิ ปัญญาเราสมบูรณ์พออริยมรรคก็จะเกิดเอง
จิตจะเข้าอัปปนาสมาธิเอง
นี่คือเส้นทางที่พระอริยเจ้าท่านเดินกันมา
บอกก่อนหลวงพ่อไม่ใช่คนเก่ง หลวงพ่อเป็นแค่คนอึด ทน เราเจอครูบาอาจารย์ที่ท่านดี ท่านเก่ง เรามันโง่ แต่อาศัยความอดทน ศึกษากายศึกษาใจของตัวเองไม่เลิก ทำอยู่อย่างนั้นล่ะ
ไม่ต้องกลัวๆ ว่าจะไม่ได้ผลหรอก ภาวนาโง่ๆ นั่นล่ะ
ดูกายอย่างที่กายเป็น ดูใจอย่างที่ใจเป็น
ไม่ต้องรู้อะไรมากหรอก
เห็นแค่ว่าสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
มีแล้วหายไป บังคับไม่ได้ ควบคุมไม่ได้
รู้อยู่แค่นั้นล่ะ ให้มันถึงอกถึงใจจริงๆ
ถึงจุดหนึ่ง จิตก็จะพ้นไป
พ้นอะไร พ้นขันธ์นั่นล่ะ จิตมันพรากจากขันธ์
ในสติปัฏฐานมีคำนี้อยู่ตอนท้าย จิตพรากจากขันธ์
ฉะนั้นพระอริยเจ้าทั้งหลายท่านเจริญสติปัฏฐาน จิตพรากจากขันธ์ จะมีคำนี้อยู่ด้วย
ไปท่องตำรานั่งนึกเอา จิตพรากจากขันธ์เป็นอย่างไรอะไรต่ออะไร
ภาวนา ไม่ต้องนึกหรอก มันพรากให้ดู
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
5 มิถุนายน 2565
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา