20 มิ.ย. 2022 เวลา 03:54 • หุ้น & เศรษฐกิจ
BBLAM Weekly Investment Insights 20 - 24 มิถุนายน 2022
"ถ้าถามว่านาทีนี้ ภูมิภาคไหนน่าลงทุน BBLAM ก็มองว่า หุ้นอาเซียนนี่แหละที่น่าสนใจ เพราะเศรษฐกิจเพิ่งจะมาฟื้นตัวเต็มรูปแบบในปีนี้ ตามหลังภูมิภาคอื่นที่ฟื้นตัวไปแล้วแถมเงินเฟ้อในภูมิภาคก็ค่อนข้างต่ำ ทำให้ธนาคารกลางในภูมิภาคนี้ไม่ต้องรีบขึ้นดอกเบี้ยเร็ว
และที่สำคัญสุดๆ คือ ภูมิภาคนี้มีความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ หรือ geopolitical risk น้อย แล้วถ้าดูว่า ประเทศไหนในอาเซียนที่น่าจับตา หนึ่งในนั้น ต้องยกให้เวียดนาม"
เดือนที่ผ่านมาทาง Fund manager และ Investment analyst จาก BBLAM บินตรงไปเวียดนาม เพื่อลงพื้นที่หาข้อมูลการลงทุนในประเทศเวียดนาม ทั้่งนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อการเข้ามาสะสมหุ้นเวียดนาม ซึ่งถือเป็นหนึ่งในภูมิภาคอาเซียนที่มีความโดดเด่น
จังหวะนี้ถ้านักลงทุนกำลังมองอยู่ว่าจะลงทุนหุ้นภูมิภาคไหนดี ก็ต้องยกให้อาเซียนเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่น่าสนใจ โดยมีเวียดนามเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญ ซึ่ง BBLAM เชื่อมั่นว่า มีโอกาสเติบโตได้สดใสในระยะกลางและระยะยาว
ถ้าถามว่านาทีนี้ ภูมิภาคไหนน่าลงทุน คุณเจฟ สุธีโสภณ Fund manager จาก BBLAM ก็มองว่า หุ้นอาเซียนนี่แหละที่น่าสนใจ เพราะเศรษฐกิจเพิ่งจะมาฟื้นตัวเต็มรูปแบบในปีนี้ ตามหลังภูมิภาคอื่นที่ฟื้นตัวไปแล้วแถมเงินเฟ้อในภูมิภาคก็ค่อนข้างต่ำ ทำให้ธนาคารกลางในภูมิภาคนี้ไม่ต้องรีบขึ้นดอกเบี้ยเร็ว และที่สำคัญสุดๆ คือ ภูมิภาคนี้มีความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ หรือ geopolitical risk น้อย
แล้วถ้าดูว่า ประเทศไหนในอาเซียนที่น่าจับตา หนึ่งในนั้น ต้องยกให้เวียดนาม ซึ่งนักลงทุนหลายคนอาจได้เห็นปรากฎการณ์หุ้นเวียดนามร่วงลงมาหนักช่วงที่ผ่านมา
แต่คุณเจฟ ระบุว่า นั่นเป็นผลจากการคุมเข้มเรื่องการปั่นหุ้น และทางการต้องการลดความร้อนแรงของภาคอสังหาริมทรัพย์ ไม่อยากให้สถานการณ์เดินไปถึงจุดเดียวกับที่จีนเคยเจอ ซึ่งอาจช็อคตลาดในระยะสั้นแต่จริงๆ แล้วเป็นผลดีระยะยาว เพราะเมื่อตลาดมีความโปร่งใสมากขึ้น ก็อาจจะสนับสนุนให้กำไรขยับขึ้นได้
คุณเจฟ ระบุว่า ตลาดเวียดนามมีนักลงทุนรายย่อยถึง 90% และในเวลาแค่ปีเดียว จำนวนรายย่อยที่เปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ เพิ่มจาก 2 ล้านบัญชีเป็น 5 ล้านบัญชี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบัญชีมาร์จิ้น คือ วางเงินไว้ส่วนหนึ่งและยืมเงินส่วนหนึ่งซื้อหุ้นได้
นักลงทุนหน้าใหม่เหล่านี้ ไม่เคยเจอสถานการณ์ตลาดหมี (bear market) มาก่อน พอเจอข่าวคราวที่ทำให้หุ้นตก ก็เลยตกใจ และผู้ที่ใช้บัญชีมาร์จิ้น เวลาที่หุ้นตก จะถูกเรียกวางหลักประกันเพิ่ม แต่เมื่อวางไม่ได้ ก็โดนบังคับขายหุ้นไปโดยปริยาย เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ตลาดผันผวน ราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) ของตลาด ที่เคยอยู่ที่ 14 เท่า ก็หล่นลงมาเหลือ 11 เท่า
คุณเมธา พีรวุฒิ Investment analyst จาก BBLAM กล่าวเสริมว่า การปรับฐานของตลาดหุ้นเวียดนามครั้งนี้ เป็นหนึ่งในการปรับฐานที่รุนแรงในประวัติศาสตร์ ซึ่งตลาดเวียดนามเวลานี้ คล้ายกับไทยกว่า 10 ปีก่อน ที่มีนักลงทุนรายย่อยมาก และเป็นหน้าใหม่เข้ามามาก ข้อดีของตลาดที่นักลงทุนรายย่อยมากคือสภาพคล่องสูง
แต่ข้อเสียคือ ตลาดจะผันผวน โดยเฉพาะถ้าใช้บัญชีมาร์จิ้นซื้อขาย ส่วนเวลาที่ดอกเบี้ยปรับขึ้น ก็จะเจอการตกใจขาย หรือ panic sell ได้
ส่วนกรณีที่รัฐบาลเวียดนามปราบปรามแบบเอาจริงเอาจังในตลาด BBLAM กลับมองเป็นผลดีมากกว่า เพราะสิ่งนี้จะช่วยให้ตลาดเลื่อนสถานะจากการเป็นตลาดหุ้นชายขอบ (Frontier market) ไปเป็นตลาดหุ้นเกิดใหม่ (Emerging Market) ได้
ในส่วนของ P/E ที่ปรับลดลง เรามองว่าอาจไม่ได้กลับขึ้นมารวดเร็ว เพราะมีเรื่องการปราบปรามในเวียดนามยังเคลียร์ไม่จบ ส่วนโลกก็กำลังมีความเสี่ยงเรื่องการเกิดสถานการณ์เงินเฟ้อสูงแต่เศรษฐกิจตกต่ำ หรือ stagflation สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นรบกวนตลาด แต่ถ้าตัดภาพไปดูความสามารถทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนเวียดนาม จะพบว่า มีมากพอจะผลักดันตลาดขึ้นไปได้ ดังนั้นในระยะกลางและระยะยาว ตลาดเวียดนามก็ยังเป็นตลาดที่สดใส
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22-26 พฤษภาคม 2022 Invesment analyst จาก BBLAM ไปสำรวจตลาดเวียดนามด้วยตัวเองมา เพื่อเจาะลึกให้เห็นภาพจริงๆ สิ่งที่เราพบ คือ ความคึกคักของเศรษฐกิจเวียดนามเริ่มกลับมาเกือบเป็นปกติแล้ว ร้านค้ามีคนเนืองแน่น
โดยรวมช่องว่างในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจให้กลับมาสู่ระดับก่อนเกิดโควิดเวลานี้ ไม่ได้มาจากกิจกรรมในประเทศ แต่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังน้อย ขณะที่ด้านค้าปลีกกลับมาโตเทียบเท่าก่อนโควิด ส่วนการก่อสร้างก็เติบโตตามปกติ
เมื่อดูเทรนด์ธุรกิจที่น่าสนใจ เราเริ่มเห็น shop in shop คือการที่แบรนด์สินค้าต่างๆ นำร้านขายสินค้าอื่นๆ ในเครือบริษัท เข้ามาอยู่ในบริเวณเดียวกันกับหน้าร้านขายสินค้าเดิม เป็นการแบ่งปันยอดผู้ใช้บริการซึ่งกันและกัน ขณะที่การชำระเงินดิจิทัลก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ส่วนหนึ่งมาจาก ธนาคารขนาดใหญ่เริ่มให้ผู้ใช้งานโอนเงินได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมเหมือนไทยแล้ว ทำให้การใช้กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ และการชำระเงินผ่านมือถือเป็นที่นิยม
ทั้งนี้ ถ้าดูความน่าสนใจของหุ้นเวียดนาม คุณเจฟ กล่าวว่า หากดูตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ราคาหุ้นธนาคารของเวียดนามปรับลดลงมามาก แต่ผลกำไรที่ทำได้สวนทางกัน โดยไตรมาสแรก มีกำไรเติบโตถึง 30% หลักๆ ที่หุ้นลง มาจากการมีนักลงทุนรายย่อยจำนวนมาก ซื้อขายด้วยบัญชีมาร์จิ้น ทำให้หุ้นธนาคารโดนเทขายมาก
ส่วนปัจจัยที่ทำให้เห็นว่า หุ้นธนาคารมีกำไรดีคือ โดยปกติธนาคารเวียดนามจะได้รับโควต้าการปล่อยกู้จากธนาคารกลาง ซึ่งปีนี้ธนาคารกลางกำหนดให้ปล่อยกู้เติบโตได้ 14% แต่ผ่านมาครึ่งปี ธนาคารบางแห่งใช้โควต้าการเติบโตเกือบเต็มแล้ว เมื่อปล่อยกู้ได้ดี กำไรก็ดี
และล่าสุดธนาคารกลางก็ต้องการให้ธนาคารขนาดใหญ่ไปซื้อกิจการธนาคารขนาดเล็ก ซึ่งแม้ว่าจะต้องลุ้นว่ามีความเสี่ยงเรื่องหนี้เสียแถมมาด้วยหรือไม่ แต่สิ่งที่ธนาคารขนาดใหญ่จะได้มาด้วยแน่ๆ คือ การขยายโควต้าปล่อยกู้ได้มากขึ้น และไม่ต้องรวมบัญชีของธนาคารที่ไปควบรวมกิจการมาในช่วง 7-8 ปีข้างหน้า โดยรวมแล้วหุ้นกลุ่มธนาคารจึงยังเป็นกลุ่มที่น่าสนใจ
เมื่อมองไปที่หุ้นกลุ่มอื่นๆ คุณเมธา ระบุว่า เทรนด์หุ้นที่น่าสนใจคือ เราพบความพยายามของธุรกิจที่ต้องการสร้างระบบนิเวศของตัวเอง มีหลายธุรกิจในเครือ และพยายามใช้ดิจิทัลเข้ามาเสริมความแข็งแกร่ง เช่น ภาคค้าปลีกที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการเลือกที่ตั้งร้านค้าใหม่ เพื่อเพิ่มอัตราความสำเร็จ ซึ่งเราเชื่อว่า ภาคค้าปลีกฝั่งออฟไลน์และออนไลน์จะเติบโตคู่กันไปได้
อีกเทรนด์ที่น่าสนใจ คือ ESG หรือการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล จะเรียกว่าเป็นพลังการเติบโตใหม่ของเวียดนามก็ว่าได้ หลังจากเวียดนามให้คำมั่นว่าจะร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะยาว
โดยปัจจุบันเวียดนามมีกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมากที่สุดในอาเซียนแล้ว ส่วนใหญ่เป็นพลังงานจากน้ำและแสงอาทิตย์ ขณะที่บริษัทระดับโลกที่เข้าไปตั้งโรงงานในเวียดนาม ก็ประกาศลงทุนเพื่อสร้างโรงงานที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ดังนั้นแนวทางนี้จะบังคับให้ตลาดมุ่งไปทาง ESG โดยปริยาย
หันไปดูที่ภาคท่องเที่ยว ก็พบว่า อนาคตการท่องเที่ยวของเวียดนามน่าจะเติบโตมาก ซึ่งเวียดนามก็มีการสร้างโรงแรมใหม่ๆ รองรับไว้มากเช่นกัน
คุณเมธา ชี้ว่า ในการคัดเลือกหุ้นเวียดนามของกองทุน B-VIETNAM นั้น BBLAM ใช้กลยุทธ์ top down คือ ดูภาพรวมก่อน และใช้กลยุทธ์ bottom up คือ มุ่งไปที่ตัวบริษัท ควบคู่กันไป โดยเราวัฎจักรเศรษฐกิจแบบนี้ เราจะมองหาหุ้นที่มีงบการเงินที่ดี สามารถส่งผ่านต้นทุนปรับขึ้นราคาได้ รวมทั้งมองหาบริษัทผู้ชนะในช่วงที่ตลาดอ่อนแอ หรือสามารถไปควบรวมกิจการได้
ทั้งนี้ เนื่องจาก B-VIETNAM มีการลงทุนในหุ้นขนาดกลางของเวียดนามด้วย ซึ่งหุ้นเหล่านี้จะดูเพียงตัวเลขอย่างเดียวไม่ได้ ต้องทำการบ้านลงพื้นที่ดูให้เห็นในเชิงลึก พร้อมพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญในตลาดนี้
เช่น มีการพูดคุยกับตัวแทนของธนาคารกรุงเทพ ซึ่งมีสาขาอยู่ในเวียดนาม ดังนั้นก็จะทราบข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับตลาดดี พร้อมกันนี้ยังมีทีมนักเศรษฐศาสตร์คอยหาข้อมูลเศรษฐกิจมหภาคมาวิเคราะห์ร่วมกัน และที่สำคัญทีมยังนำประสบการณ์จากการซื้อขายหุ้นในประเทศอื่น มาต่อจิ๊กซอว์เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นด้วย
โดยรวมแล้ว BBLAM มีประสบการณ์ลงทุนในหุ้นอาเซียนมา 5-6 ปีแล้ว ซึ่งถือเป็นหนึ่งในบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนที่มีประสบการณ์ตรงในตลาดนี้ แนะนำกองทุน B-VIETNAM และถ้าต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี แนะนำกองทุน B-VIETNAMRMF
Press. conf. ล่าสุดของ Fed สะท้อนให้เห็นถึงความไม่มีทิศทางชัดเจน มีทั้ง บวก ลบ และ กลาง ๆ แต่ก็เลือกปรับเพิ่มดอกเบี้ยขึ้น 0.75%
Economist จาก BBLAM อัปเดตข้อมูลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) หรือ FOMC ประจำเดือนมิถุนายน เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2022 ว่า ที่ประชุม มีมติ 10:1 ให้ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 75 bps หรือ 0.75% สู่กรอบ 1.5-1.75% โดยมีคณะกรรมการ 1 ท่านคือ Esther George หรือประธาน Fed สาขา Kansas City เห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 50 bps หรือ 0.50%
หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้ FOMC ตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยแรงในรอบนี้ เนื่องด้วยเครื่องชี้ความคาดหวังอัตราเงินเฟ้อที่จัดทำโดย University of Michigan ปรับตัวแรงเป็นไปในลักษณะเดียวกับเครื่องชี้อื่นๆ ที่จัดทำโดย Fed เป็นผลให้ประเด็นด้านเงินเฟ้อกลายเป็นความกังวลหลักของคณะกรรมการทุกท่าน
ด้านทิศทางของการดำเนินนโยบายการเงินในเดือนกรกฎาคม นั้น ประธาน Fed ยังเปิดทางเลือกปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระหว่าง 50 หรือ 75 bps ซึ่งประธานไม่ออกความเห็นชัดเจนเมื่อผู้สื่อข่าวถามความเป็นไปได้ของการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปถึง 100 bps
ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งนี้ได้มีการเปิดเผยประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ ด้วย โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป หรือ Headline PCE ปีนี้ ถูกปรับขึ้นเป็น 5.2% จาก 4.3% ในประมาณการครั้งก่อน ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE ได้รับการปรับขึ้นเล็กน้อยมาที่ 4.3% จากประมาณการครั้งก่อนที่ 4.1% ด้านอัตราการว่างงานปีนี้ ปรับขึ้นมาที่ 3.7% จาก 3.5% ในครั้งก่อน และมีสิทธิไปถึง 4.1% ในปี 2024 จากเดิมมองไว้ 3.6%
ส่วน GDP ได้รับการปรับลงมาที่ 1.7% ในปีนี้ จากครั้งก่อนมองไว้ 2.8% และถูกปรับลดลงต่อเนื่องในปี 2023 ที่ 1.7% จากก่อนหน้าที่ประมาณการไว้ 2.2% ส่วนการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะยาวอยู่ที่ 1.8%
ขณะที่ Dot Plot ซึ่งเป็นการสำรวจความเห็นคณะกรรมการบริหารและผู้แทนจาก Fed เพื่อประมาณการการปรับอัตราดอกเบี้ยของ Fed สะท้อนภาพของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่แรงขึ้น
โดยมาอยู่ในกรอบ 3.25-3.5% ในปีนี้ เพิ่มจากประมาณการเดิม 1.50% และ 3.75% ในปี 2023 เพิ่มจากประมาณการเดิม 1% ก่อนจะกลับมาในกรอบ 3.25-3.5% ในปี 2024 ซึ่งเดิมมองไว้ที่ 2.75% ส่วน Terminal Rate หรือจุดสูงสุดของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้ถูกมองไว้อยู่ที่ 2.5% จากประมาณการเดิมที่ 2.4%
สิ่งที่น่าสนใจคือ ในการสัมภาษณ์สื่อมวลชน เรายังเห็นคำตอบที่ค่อนข้างหลากหลาย ดังนั้นคงต้องติดตามพัฒนาการของตัวเลขเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยการประชุมครั้งถัดไปของ Fed คือ ระหว่างวันที่ 26-27 กรกฎาคม นี้
‘China is back’ สัญญาณบวกสำหรับการลงทุนในจีนเริ่มมีมาให้เห็นแล้ว หลังจีนกลับมาเปิดประเทศ ผ่อนคลายด้านนโยบายต่าง ๆ โดยเฉพาะกับบริษัทเทคโนโลยี และดูเหมือนจุดที่แย่ที่สุดของจีนก็ผ่านพ้นไปแล้ว
ดร.มิ่งขวัญ ทองพฤกษา Chief Economist จาก BBLAM อัปเดตข้อมูลเศรษฐกิจรอบล่าสุดใน BBLAM Monthly Economic Review โดยชี้ให้เห็นว่า เวลานี้เริ่มเห็นสัญญาณบางอย่างในจีนว่าเริ่มจะมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้ว “China is back” น่าจะเป็นประโยคสั้นๆ ที่พูดถึงจีนได้ดีที่สุดในเวลานี้
โดยจีนมีเรื่องของการกลับมาเปิดเมือง (Reopening) การผ่อนคลายด้านนโยบาย โดยเฉพาะการผ่อนคลายที่เกี่ยวกับบริษัทเทคโนโลยี (Policy & Tech Easing) รวมทั้งจุดที่แย่ที่สุดของจีนน่าจะจบลงแล้ว (Bottoming Out)
  • ปี 2017- ต้นปี 2018 ที่ดัชนีปรับขึ้นมาเนื่องจากกลุ่มหุ้นเทคโนโลยีเฟื่องฟู
  • ปี 2018 จีนเผชิญปัญหาสงครามการค้า (Trade war)
  • ปี 2019 หุ้นจีนก็ปรับขึ้นมาได้ ด้วยความหวังว่า Trade war จะสิ้นสุดลง เพราะว่าในปี 2020 ได้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่
  • จากนั้นเมื่อเข้าสู่ช่วงปี 2020-2022 ภาพของจีนถูกกำหนดโดยเรื่อง COVID-19
  • ปี 2020 ดัชนีหุ้นวิ่งขึ้นมาจนเข้าสู่ปี 2021 หุ้นก็ยังขยับตัวขึ้นได้ต่อเนื่อง
  • ปี 2021 ช่วงครึ่งปีไปแล้ว มีเรื่องนโยบายเกี่ยวกับ COVID-19 รวมทั้งการคุมเข้มนโยบาย เช่น การปราบปรามหุ้นเทคฯ (Tech crackdown) และนโยบายการมีความเจริญรุ่งเรืองเท่าเทียมกัน (Common Prosperity) ทำให้ภาพหุ้นจีนไม่ได้รับข่าวดีทางเศรษฐกิจเท่าไหร่ บวกกับนโยบายอยู่ในเชิงคุมเข้มด้วย
  • ช่วงรอยต่อปี 2021 เข้าสู่ปี 2022 มีภาพการปิดๆ เปิดๆ ท่าเรือสำคัญ รวมทั้งเมื่อมีไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนเข้ามา ทำให้การติดเชื้อง่ายขึ้น โดยที่จีนยังใช้ Zero-Covid Policy เลยเกิด Supply Disruption ที่เป็นเหตุให้ค่าระวางเรือปรับสูงขึ้น ทำให้ภาพจีนดูไม่สวยงามเท่าไหร่
  • ตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2022 เริ่มเห็นสัญญาณ Bottoming Out เป็นภาพของดัชนีที่หาทางทะยานขึ้นไป จริงอยู่ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนดูแล้วยังไม่ฟื้นตัวมากนัก แต่นักลงทุนในตลาด รวมถึงสถาบันการลงทุนใหญ่ๆ ในตลาดออกมาให้ความเห็นว่า ตลาดคงไม่แย่ไปกว่านี้แล้ว
สัญญาณที่บ่งบอกว่า ตลาดหุ้นจีนน่าจะผ่านจุดที่แย่ที่สุดมาแล้ว มีดังนี้
1. เซี่ยงไฮ้ Reopening ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2022 เป็นต้นไป มีการอนุญาตให้มาทำกิจกรรมข้างนอกได้ โดยที่อาจจะมีข้อจำกัดบ้าง แต่ก็ยังดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา กิจกรรมเริ่มเกิดขึ้น ภาพของการบริโภคเริ่มมา กิจกรรมทางเศรษฐกิจ นำโดยเซี่ยงไฮ้และปักกิ่งก็เลยมีสัญญาณที่ดีหลัง Reopening
2. Policy Easing คือ ทั้งฝั่งรัฐบาลและฝั่งนโยบายการเงิน คือ ธนาคารกลางจีน ปรับนโยบายให้อยู่ในรูปแบบที่ผ่อนคลายมากขึ้น เช่น รัฐบาลที่ออกมาตรการถึง 33 รายการ เพื่อมากระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุน ซึ่งเป็นสัดส่วนสำคัญของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) การบริโภคในประเทศ ซึ่งขาดหายไปนาน จึงส่งผลบวก
พร้อมกันนี้ในด้านนโยบายการเงิน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2022 ธนาคารกลางจีนก็ปรับลดอัตราเงินกู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับการกู้ยืมสินเชื่อบ้านลงมา ก็เป็นสัญญาณว่า คงจะไม่คุมเข้มตลาดอสังหาริมทรัพย์มากเท่าเดิมแล้ว ซึ่งภาพนี้ให้ผลหลายอย่างในเชิงหุ้นด้วย
เช่น มาตรการ 33 รายการที่รัฐบาลออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ หนึ่งในรายการสำคัญ คือ การส่งเสริมการซื้อรถยนต์ ทำให้ซื้อง่ายขึ้น มีสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยรถยนต์ถือเป็นสินค้ารายการสำคัญที่มีผลต่อการบริโภค ดังนั้นจึงส่งอานิสงส์ด้านบวกให้กลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ไปด้วย ซึ่งในประเด็นยอดซื้อรถยนต์นี้ ก็ทำให้หุ้นตัวหนึ่งปรับตัวขึ้นได้ดี
3. '618' เป็นเทศกาลเซลประจำปีของจีน โดย 6 ก็คือ เดือนมิถุนายน ส่วน 18 ก็คือวันที่ 18 ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลขายออนไลน์ เหมือนกับที่ไทยมี 6/6 ดังนั้นเราต้องมาจับตามองว่า ในแง่ของยอดค้าปลีก เมื่อมีเทศกาล 618 บวกกับการกลับมาเปิดเมือง คนจะมีอารมณ์กลับมาซื้อของมากขึ้นหรือไม่
4. Tech Easing สถานการณ์ Tech crackdown ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2021 ก็มีสัญญาณที่ดีขึ้น หน่วยงานกำกับที่เกี่ยวข้องกับการปรามปรามหุ้นเทคฯ พยายามทำให้เรื่องการสืบสวนสอบสวนใกล้สิ้นสุดแล้ว ซึ่งก็จะมีหุ้นบางตัวมารับข่าวดีนี้เช่นกัน พร้อมกับมีหุ้นบางตัวในกลุ่มเทคโนโลยีที่ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาสแรกออกมาดีทีเดียว
โดยรวมแล้ว จากภาพที่ฉายไป เป็นข่าวที่ช่วยหนุนให้หุ้นจีนคงไม่ปรับลงต่ำไปมากกว่านี้แล้ว ขณะที่ช่วงที่ผ่านมานักลงทุนหลายท่านกังวลกับการลงทุนในหุ้นจีนพอสมควร แต่เมื่อเห็นสัญญาณตอนนี้ก็น่าจะเห็นแล้วว่า เวลานี้ติดลบน้อยลงพอสมควรแล้ว โดยเฉพาะหุ้นในตลาดฮ่องกง
หากมีการลงทุนแบบถัวเฉลี่ยเท่ากันทุกเดือน หรือ DCA ตั้งแต่ต้นปี เวลานี้ก็น่าจะเห็นสัญญาณที่เป็นบวกแล้ว ส่วนคนที่ลังเลว่าจะเข้าลงทุนในตลาดหุ้นจีนดีหรือไม่ เวลานี้ก็ถือเป็นจุดที่น่าสนใจ เพราะมูลค่าหุ้นก็ยังถูก มีภาพนโยบายเข้ามาหนุนด้วย จึงเป็นจุดที่น่าเข้าสะสมได้อีกรอบ แนะนำกองทุน B-CHINE-EQ และถ้าต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี แนะนำกองทุน B-CHINAARMF หรือ B-CHINESSF
หลังจีนส่งสัญญาณดีขึ้น ส่งผลให้เทรนด์การบริโภคของคนจีนฟื้นตัว อีกทั้งเรื่องของพลังงานสะอาดกำลังเป็นเทรนด์แรง ทำให้กองทุนเน้นเทรนด์อนาคตให้ความสำคัญกับสองเรื่องดังกล่าวเพิ่มขึ้น
กองทุน B-FUTURE เป็นกองทุนต่างประเทศที่มีการลงทุนยืดหยุ่น โดยจะลงทุนในตราสารทุนต่างประเทศของบริษัทที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องหรือได้รับประโยชน์จากแนวโน้มการบริโภคในอนาคต ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ ที่พัฒนาขึ้นเพื่อรองรับแนวโน้มการบริโภค การดำเนินธุรกิจ และเศรษฐกิจในอนาคต
ผู้จัดการกองทุนลดการลงทุนใน AGI Global AI แต่ยังคงไว้เป็นสัดส่วนหลักของพอร์ต และเพิ่มน้ำหนักใน Fidelity Funds – China Consumer หลังกฎระเบียบต่างๆ ในจีนผ่อนคลายขึ้น พร้อมกับเพิ่มการลงทุนใน Pictet – Clean Energy ด้วย
ปัจจุบัน หุ้นกลุ่มที่ส่งผลบวกต่อกองทุน ได้แก่ กลุ่มบริษัทจัดการสวัสดิการด้านสุขภาพที่มีผลการดำเนินงานดีที่สุด โดยในเดือนเมษายน บริษัทรายงานผลประกอบการรายไตรมาสที่แข็งแกร่งและเหนือกว่านักวิเคราะห์คาดหวัง มียอดขายสูงสุดคือมีสมาชิกเพิ่มขึ้นกว่า 3 ล้านราย
รวมถึงกลุ่มอาหารจานด่วนที่รายงานผลประกอบการรายไตรมาสที่แข็งแกร่ง โดยได้แรงหนุนจากการเติบโตของยอดขายจากสาขาเดิม (Same-Store-Sales) มีการเพิ่มเพื่อพัฒนาระบบแปลงเป็นดิจิทัล รวมถึงการสั่งซื้อออนไลน์และคีออสก์
ส่วนหุ้นกลุ่มที่กดดันผลการดำเนินงานของกองทุน คือ กลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า (electric vehicle : EV) Tesla ที่มีความท้าทายในห่วงโซ่อุปทานอย่างต่อเนื่อง และบริษัท Plug Power ผู้พัฒนาระบบเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่ใช้แทนแบตเตอรี่ทั่วไปในอุปกรณ์และยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า
ทั้งนี้ ผู้จัดการกองทุน BBLAM ปรับลดการลงทุนในกองทุน AGI Global AI เพื่อลดความผันผวนให้กับพอร์ต แต่ก็ยังให้กองทุน AGI Global AI เป็น Core Port หรือมีสัดส่วนหลักในพอร์ตอยู่ โดยผู้จัดการกองทุนมีมุมมองเชิงบวกต่อธีมการลงทุนของกองทุนในส่วนของการประยุกต์ใช้ AI ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ในกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน กลุ่มซอฟต์แวร์แอปพิลเคชัน และระบบ และอุตสาหกรรมการเข้าถึงด้วย AI หรือ AI-enabled
นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนใน Fidelity Funds - China Consumer หลังจากความเสี่ยงด้านกฎระเบียบที่ควบคุมกลุ่มธุรกิจ อุตสาหกรรมต่างๆ ในจีน ผ่อนคลายมากขึ้น รวมถึงเพิ่มการลงทุนในกองทุนที่ลงทุนเกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด โดยมองว่าเป็น ธีมการลงทุนที่มีศักยภาพสูง ได้รับแรงหนุนจากรัฐบาลทั่วโลกโดยเฉพาะในยุโรป จีน และสหรัฐอเมริกา
จากข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2022 กองทุน B-FUTURE ลงทุนใน Allianz Global Artificial Intelligence 58.83% Fidelity Funds - China Consumer Fund 14.92% Pictet - Clean Energy - I USD 0.89% และตราสารทุนอื่นๆ 17.02% แนะนำกองทุน B-FUTURE และถ้าต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี แนะนำกองทุน B-FUTURERMF หรือ B-FUTURESSF
รักงานไม่ใช่เรื่องผิด เพราะสิ่งนี้ก็เป็นความรับผิดชอบสำคัญในชีวิต แต่ก็มีอีก 3 สิ่งที่ไม่ควรลืมดูแลเช่นกัน นั่นคือสุขภาพกาย สุขภาพใจ และที่สำคัญก็คือสุขภาพการเงินการลงทุน โดยถ้าไม่มีเวลา และไม่มีเงินมากพอ ก็ใช้วิธีลงทุนแบบ DCA กับกองทุนที่จัดพอร์ตมาแล้วอย่าง BMAPS ได้ และล่าสุด BBLAM ก็กำลังรอการอนุมัติจาก ก.ล.ต. เพื่อเสนอขาย BMAPSRMF 3 กองทุน วันที่ 22-28 มิถุนายน นี้
คุณเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในสมาคมคนรักงานอยู่ใช่ไหม? ไม่ว่าจะงานเข้า งานช้าง งานเยอะ ก็ไม่หวั่นพร้อมสู้บุกตะลุยฟันฝ่าอุปสรรคที่ขวางกั้น เพื่อให้งานสำเร็จลุล่วง ซึ่งคนรักงานส่วนใหญ่ อาจทำงานจนลืมเวลา กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็เลิกงานถึงเวลานอนเสียแล้ว
การทำงานเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบสำคัญในชีวิต แต่พบว่ายังมี 3 สิ่งสำคัญที่มักจะลืมหรือไม่มีเวลาดูแลหรือจัดการอยู่ ได้แก่ การดูแลสุขภาพกาย การดูแลสุขภาพใจ และการดูแลสุขภาพการเงินการลงทุน
  • ดูแลสุขภาพกาย – เพราะสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญของชีวิต บางคนอาจทำงานจนมีผลกระทบกับร่างกายและการใช้ชีวิต ซึ่งอาจจะต้องหาตัวช่วย เช่น อุปกรณ์ หรือ แอปพลิเคชัน ที่คอยเตือนให้ลุกขึ้นจากเก้าอี้บ้าง ไปตรวจสุขภาพ หรือเจียดเวลาสักนิดเพื่อออกกำลังกาย เพื่อจะได้มีพลังในการทำงานที่เรารัก
  • ดูแลสุขภาพใจ - เพราะจิตใจเป็นศูนย์กลางของชีวิต การทำงานอย่างเคร่งเครียดจนไม่มีเวลาผ่อนคลาย อาจส่งผลให้หมดไฟ (Burn Out) ในการทำงานที่เรารักได้ และอาจกระทบเป็นลูกโซ่ต่อสุขภาพกายและสุขภาพเงิน ดังนั้นจึงควรหาเวลาพักผ่อนสมอง ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว การใช้เวลากับครอบครัว หรือทำงานอดิเรกที่มี Passion เช่น อ่านหนังสือหรือดูซีรีส์ที่ชอบ เพื่อเติมพลังใจ ใช้ชีวิตในวันต่อ ๆ ไป
  • ดูแลสุขภาพการเงินการลงทุน – ทุกเรื่องราวตลอดชีวิต มักมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง เราเข้าใจคนรักงานที่รับผิดชอบหน้าที่ เพื่อมีรายได้มาพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น วัยทำงานสร้างรายได้จึงควรเริ่มต้นออม รวมทั้งลงทุนเพื่อเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น เพื่อสุขภาพการเงินที่ดี อาจเริ่มที่ตั้งเป้าหมายการเงินก่อน เมื่อมีรายได้ก็ให้หักเงินไปออมหรือลงทุนก่อนใช้จ่าย จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายการเงินได้เร็วขึ้น
อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดของคนทำงานในเรื่องการลงทุนที่พบบ่อย คือ “ไม่มีเวลา” และ “ไม่มีเงินมากพอ” เนื่องจาก...
  • การลงทุน ต้องใช้เวลาในการศึกษาทำความเข้าใจ และเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่ตรงกับความสามารถในการยอมรับความเสี่ยง
  • การลงทุน ต้องใช้เวลาในการติดตามสถานการณ์ตลาด และปรับพอร์ตการลงทุนรองรับความผันผวน
  • การลงทุน ควรมีการกระจายความเสี่ยงในหลายสินทรัพย์ เพื่อไม่ให้การลงทุนกระจุกตัวในสินทรัพย์หรืออุตสาหกรรมใดมากเกินไป เพราะไม่มีสินทรัพย์ใดที่ให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดอยู่ตลอดเวลา สินทรัพย์การลงทุนแต่ละชนิดก็มีจังหวะการขึ้นลงตามสภาวะของเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นข้อจำกัดของคนวัยทำงานอย่างเรา ๆ ที่อาจไม่ได้มีเงินลงทุนในทุกสินทรัพย์ ทุกอุตสาหกรรม หรือทุกตลาด
สำหรับคนรักงานที่อยากลงทุนแต่ไม่มีเวลา เรามีเคล็ดลับดี ๆ มาแนะนำ ซึ่งสามารถ #ลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการใช้วิธีตัดเงินเพื่อลงทุนทุกเดือนในแบบ DCA (Dollar Cost Average) #ลงทุนในกองทุนรวม แทนการลงทุนตรงในสินทรัพย์ด้วยตัวเอง เพราะกองทุนรวมมีนโยบายลงทุนให้เลือกหลากหลาย มีผู้จัดการกองทุนมืออาชีพบริหารจัดการให้
และใช้เงินลงทุนเริ่มต้นไม่มากเพียงหลักร้อยเท่านั้น #เลือกกองทุนรวม ที่มีกระจายความเสี่ยงลงทุนในกองทุนที่มีการกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่หลากหลาย ตามความเสี่ยงที่ยอมรับได้
เพื่อให้คนรักงานมีเวลาดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจ ส่วนอุปสรรคด้านการลงทุน ให้ BBLAM ช่วยบริหารจัดการผ่านกองทุนรวมที่จัดพอร์ตมาให้สำเร็จรูปตามระดับความเสี่ยงที่รับได้ กองทุนเปิดบัวหลวงบีแมพส์ (BMAPS) ซึ่งมีนโยบายลงทุนผสมผสานระหว่างหุ้น ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ สามารถลงทุนได้ทั้งในและต่างประเทศ โดยพัฒนาขึ้นอย่างเข้าใจผู้ลงทุนทุกกลุ่มที่ยอมรับความเสี่ยงได้แตกต่างกัน โดยมี 3 ทางเลือก ได้แก่
  • BMAPS25 เป็นกองทุนสำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้น้อย มีสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงไม่เกิน 25%
  • BMAPS55 เป็นกองทุนสำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง เปิดโอกาสรับผลตอบแทนสูงขึ้นได้บ้าง โดยมีสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยงไม่เกิน 55%
  • BMAPS100 เป็นกองทุนที่เหมาะสำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้สูง เน้นการสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว โดยกองทุนนี้ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงได้สูงสุด 100%
และถ้าต้องการลงทุนผ่านกองทุนจัดพอร์ตสำเร็จรูปแบบนี้ พร้อมกับได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีด้วย BBLAM ก็จัดมาให้แล้ว ได้แก่ BMAPS25RMF, BMAPS55RMF และ BMAPS100RMF โดยทั้งสามกองทุนเปิดขายครั้งแรกระหว่างวันที่ 22-28 มิถุนายนนี้
ซึ่งทั้ง 3 กองทุนนี้มีนโยบายการลงทุนเหมือนกับกองทุน BMAPS ซึ่งเป็นกองทุนรวมทั่วไปเลย เรียกว่า คนทำงานไม่มีเวลา ก็ลงทุนผ่านตัวช่วยดี ๆ ได้ง่าย ๆ ตามระดับความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้ แถมได้ลดหย่อนภาษีไปในตัว ครบจบในที่เดียว

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา