27 มิ.ย. 2022 เวลา 12:15 • หุ้น & เศรษฐกิจ
BBLAM Weekly Investment Insights 27 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม 2022
อีกไม่กี่วันก็จะครึ่งปีแล้ว เชื่อว่าหลายคนนั่งดูพอร์ตลงทุนตัวเองในเวลานี้ ก็อาจจะปาดเหงื่อกับตัวเลขผลตอบแทนติดลบเป็นหางว่าว เพราะแทบทุกสินทรัพย์ลงทุนปรับลดลง แต่จังหวะนี้ก็อาจไม่ใช่การตัดใจขายโดยไม่ได้ดูให้ดี เพราะการที่สินทรัพย์ปรับราคาลงมาก็เป็นโอกาสกับการลงทุนระยะยาว
คุณมทินา วัชรวราทร CFA® Head of Investment Strategy จาก BBLAM ออกมาให้คำแนะนำว่า การลงทุนในช่วงนี้ มีความผันผวนมาก ตลาดให้ผลตอบแทนที่ไม่ดีในระยะสั้น ส่วนในช่วงครึ่งปีหลังนี้ มีสิ่งที่นักลงทุนต้องจับตา 3 ประเด็นหลักๆ คือ เงินเฟ้อ การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และเศรษฐกิจถดถอย
ทั้ง 3 ประเด็นนี้ เป็นประเด็นใหญ่ที่มีผลต่อการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ
  • โดยในเรื่องเงินเฟ้อ เราคิดว่า ไม่น่าจะลดลงมาได้ง่ายๆ เพราะเงินเฟ้อ มาจากทั้งราคาน้ำมัน ราคาอาหาร บ้าน รถยนต์มือสอง มาจากหลายๆ ส่วนของภาคเศรษฐกิจ เรียกว่า เริ่มลามไปใหญ่
  • ส่วนเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ก็มาพร้อมกับนโยบายการเงินแบบรัดกุมในเชิงปริมาณ หรือ Quantitative Tightening (QT) ที่เริ่มขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้ ดังนั้นเราก็ต้องมาสังเกตว่า มีตลาดการเงินไหนที่เริ่มตึงตัวหรือไม่ เช่น ตลาดกู้ยืมระยะสั้น (repo) ตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (corporate bond) ตลาด Mortgage Back Securities (MBS) หรือตราสารทางการเงินที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยหนุนหลัง
  • สุดท้าย คือ เรื่องเศรษฐกิจถดถอย ถ้าเกิดเป็นเช่นนี้จริงๆ ตลาดสหรัฐฯ สามารถปรับตัวลงไปได้อีก โดยค่าเฉลี่ยการปรับลดลงคือ 36% และใช้เวลาประมาณ 14 เดือน กว่าจะเจอจุดต่ำสุด ซึ่งถ้าดู ณ เวลานี้ตลาดปรับลงมาเพียง 5 เดือนเท่านั้น
ดังนั้นเมื่อถามว่าครึ่งปีหลังจะเป็นอย่างไร BBLAM ก็มองว่าตลาดจะผันผวนมากขึ้นกว่าเดิม เพราะเงินเฟ้อไม่ลง และนักวิเคราะห์อาจเริ่มปรับมุมมองเรื่องกำไรของบริษัทจดทะเบียน สะท้อนภาพเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม Howard Marks นักลงทุนเจ้าของกองทุน Oaktree Capital Management ที่บริหารเงินมากกว่า 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ กล่าวในหนังสือ Mastering The Market Cycle ว่า ตลาดมักจะแกว่งตัวจากด้านหนึ่งมาอีกด้านหนึ่งเสมอ เช่น จากด้านลบมาด้านบวก โดยตลาดมักจะประเมินราคา (price in) ข่าวร้าย มากเกินไป และเวลามีข่าวดี ตลาดก็จะมีมุมมองเชิงบวกมากเกินไป
ในช่วงที่ตลาดขาลงนี้เอง นักลงทุนอาจจะตัดสินใจผิดพลาดโดยการพยายามจะจับจังหวะตลาด และขายตอนที่ตลาดลง ทำให้จากที่เป็น Unrealized Loss คือ การขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง ก็กลายเป็น Permanent Loss หรือการขาดทุนอย่างถาวร
Howard Marks ยังบอกอีกว่า เมื่อใดที่ตลาดมองไม่เห็นข่าวดี มองเห็นแต่ข่าวร้าย ไม่มีการตีความข่าวใดๆ ออกมาทางดี ทั้งตลาดมองโลกในแง่ร้าย เขามองว่า เป็นสัญญาณการลงทุนที่ดี
ในความเห็นส่วนตัว มองว่าบางทีตลาดก็อาจจะซึมไปอีกสักระยะ ตลาดฝั่งจีนอาจจะฟื้นตัวก่อน ดังนั้น ถ้าเป็นผู้ที่จัดพอร์ตเอง เราแนะนำให้เพิ่มเงินสด ควรจะถือเงินสดไว้มากพอสมควร โดยที่ปีนี้อาจจะลดน้ำหนักสหรัฐฯ ลง และเพิ่มน้ำหนักจีนมากขึ้น
สำหรับการลงทุนในสหรัฐฯ ก็อาจจะเน้น sector ที่เป็นหุ้นเชิงรับ หรือ defensive เช่น Healthcare อย่างกองทุน BCARE และ กลุ่มสาธารณูปโภค เช่น B-GLOB-INFRA
อย่างไรก็ตาม การมองหาโอกาสเพื่อสะสมลงทุนอาจต้องใช้เวลา และความชำนาญมากขึ้น การมองหากองทุนทีมีนโยบายกระจายลงทุน และจัดพอร์ตโดยผู้จัดการกองทุนก็เป็นหนึ่งในทางเลือกที่น่าสนใจ อย่างเช่น กองทุน BMAPS ที่ผู้สนใจสามารถเลือกได้ตั้งแต่ต้นว่าต้องการโอกาสลงทุนมากน้อยในระดับไหน
สำหรับหลักการลงทุนของ BMAPS ก็คือ กองทุนนี้จะเน้นทำ Asset Allocation ลงทุนในสินทรัพย์ที่คาดว่าจะให้ผลประโยชน์ที่ดีกับนักลงทุนในระยะยาว โดยคำนึงถึงทั้งผลตอบแทนและการบริหารความเสี่ยงความผันผวนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม แต่ก็มีการปรับเปลี่ยนพอร์ตให้เข้ากับสถานการณ์ลงทุนในแต่ละขณะด้วย
อย่างเช่น ในช่วงที่อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ หรือ Bond Yield ปรับตัวขึ้นมา แต่ก็ยังต่ำอยู่ และผลตอบแทนไม่สามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้ ก็จะเลือกให้หุ้นเป็น Asset Class สำคัญในพอร์ต เพราะว่าให้ผลตอบแทนที่ดีล้อไปกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างธุรกิจ สังคม เศรษฐกิจ ที่ทำให้มีหุ้นที่ได้รับประโยชน์อยู่เสมอ ซึ่ง BMAPS ก็เลือกใช้กองทุน B-GLOBAL เป็น Core Port เปรียบเหมือนกับอาหารจานหลัก
แล้วสมมติถ้าในช่วงนั้นมีโอกาสลงทุนในเทรนด์ไหน ก็จะเพิ่มสัดส่วนกองทุนอื่นๆ มาเสริม เพื่อให้สอดคล้องกับโอกาสการลงทุน เป็นเหมือนอาหารว่าง เครื่องเคียง เช่น B-SIP ที่ได้ประโยชน์จาก Trend พลังงานทางเลือก และการลดปล่อยก๊าซคาร์บอน หรือ Decarbonization และ B-INNOTECH ที่ได้ประโยชน์จากการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ผู้จัดการกองทุนก็จับกองทุนเหล่านี้มาใส่ เป็นต้น
แนะนำกองทุน BMAPS25, BMAPS55 และ BMAPS100 และถ้าต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี แนะนำกองทุนเสนอขาย IPO ระหว่างวันที่ 22-28 มิถุนายน นี้ BMAPS25RMF
ถ้าจะถามว่าปัจจัยไหนที่มีอิทธิพลกับการลงทุนมากๆ ในเวลานี้ หนึ่งเรื่องที่ต้องติดตามใกล้ชิดก็คือ ความเคลื่อนไหวของ Fed ที่ไม่ว่าจะขยับตัวทำอะไร ก็มีผลกับโลกของการลงทุนไปหมด ที่สำคัญ หลายท่านที่ติดตามว่า Fed จะเอายังไงก็คงปวดหัว เพราะถ้าเป็นสัญญาณไฟ เหมือน Fed เปิดหมดทั้งไฟแดง เหลือง และเขียว
ดร.มิ่งขวัญ ทองพฤกษา Chief Economist จาก BBLAM อธิบายว่า ทุกครั้งที่ฟัง Jerome Powell ประธาน Fed ให้สัมภาษณ์ จะคิดย้อนกลับเสมอว่าพูดอะไรบ้าง ผลปรากฎว่า พูดไม่เหมือนกันสักครั้ง ซึ่งในรอบล่าสุดเดือนมิถุนายน 2022 ที่ Fed ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% สิ่งที่ Jerome Powell พูดส่งสัญญาณกับตลาด หากเปรียบกับไฟเขียว ไฟแดง ไฟเหลือง ก็ราวกับเปิดทุกสัญญาณไฟพร้อมกัน ส่งทั้งสัญญาณบวก ลบ และไม่บวกไม่ลบ
  • สัญญาณไฟเขียว (สัญญาณบวก) : บอกให้สบายใจว่าสิ่งที่พูด หรือสิ่งที่ Fed กำลังจะทำ คงไม่ทำให้เศรษฐกิจถดถอย
  • สัญญาณไฟแดง (สัญญาณลบ) : ธนาคารกลางควบคุมทุกอย่างไม่ได้ ควบคุมปัจจัยเกี่ยวกับน้ำมันที่จะส่งผลกระทบไปถึงเงินเฟ้อไม่ได้ โดยควบคุมได้เพียงแค่เงินเฟ้อที่มาจากความต้องการซื้อสินค้า และ ถ้าต้องทำให้เงินเฟ้อปรับลดลง ก็ต้องยอมให้การจ้างงานแย่ลง
  • สัญญาณไฟเหลือง (สัญญาณที่ไม่บวกไม่ลบ) : พูดถึงการขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อไปว่า ไม่รู้จะขึ้นดอกเบี้ย 0.50% หรือขึ้น 0.75%
ดร.มิ่งขวัญ เจาะลึกกลไกการขึ้นดอกเบี้ยว่า ถ้าย้อนดูเรื่องราวเดือนพฤษภาคม 2022 จะพบว่า Joe Biden ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เรียกประชุมด่วนอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง รวมทั้งประธาน Fed
ซึ่งในการประชุมครั้งนั้นดูเหมือน Biden จะส่งธงให้ประธาน Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ย ด้วย keyword 2 อย่างคือ 1.แผนของเขาคือการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ และ 2.เศรษฐกิจก็สำคัญ แต่เขามองว่า อยากให้ความชอบธรรมกับธนาคารกลางในการบริหารจัดการเงินเฟ้อ
แล้วถ้ามาดูว่า Fed ดำเนินนโยบายการเงินมีผลอะไรกับตลาดบ้าง ดร.มิ่งขวัญ อธิบายว่า นโยบายการเงิน ก็เหมือนสิ่งที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างธนาคารกลางกับธนาคารพาณิชย์ แต่มีผลกับนักลงทุนด้วย ซึ่งนโยบายการเงินที่ Fed ทำ มี 2 ส่วน คือ
  • 1.
    Conventional Monetary Policy หรือนโยบายทั่วไป คือ นโยบายดอกเบี้ย และหน้าต่างดอกเบี้ยต่างๆ ที่เป็นตัวกำหนดสภาพคล่องในหลายๆ ตลาด
  • 2.
    Unconventional Monetary Policy หรือนโยบายแบบแหวกแนว ฉีกตำราทิ้ง ถูกคิดค้นหลังปี 2008 ไม่เคยมีชาติไหนในโลกทำมาก่อน มี Fed เป็นผู้นำการดำเนินนโยบาย แล้วตามมาด้วย ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ)
ถ้าเปรียบธนาคารกลางกับธนาคารพาณิชย์เหมือนคู่รัก นโยบายการเงิน 2 ส่วนนี้ ทำให้ทั้งคู่เหมือนจะรักกันแต่ก็เกลียดกัน อยู่ในสถานะตัดไม่ได้ขายไม่ขาด โดย Fed ออกนโยบายการเงินมา เพราะต้องการบริหารเสถียรภาพภายในสถาบันการเงิน
ซึ่งจะส่งผลกระทบกับธนาคารพาณิชย์ 4 ด้าน คือ 1. งบดุลของธนาคาร 2.Flow of Fund คือ ธนาคารจะจัดการเงินทุนในตลาดต่างๆ ยังไง 3.Funding Market คือ ตลาดกองทุนตราสารตลาดเงิน ที่ได้ดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากเพียงเล็กน้อย ซึ่งตลาดนี้มีขนาดใหญ่กว่าตลาดหุ้น และ 4.สภาพคล่อง
โดยปกติ Funding Market หรือ Money Market Fund (ตลาดตราสารการเงิน), Equity Market (ตลาดหุ้น) และ Bond Market (ตลาดตราสารหนี้) เป็นเหมือน 3 ประสาน เวลาที่ตลาดใดตลาดหนึ่งมีปัญหาก็จะกระทบตลาดอื่นไปด้วย
ดร.มิ่งขวัญ ยกตัวอย่างนโยบาย QE กับQT ของ Fed ว่า การทำ Quantitative Easing (QE) หรือมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณที่หลายคนเข้าใจว่าเป็นการพิมพ์เงิน จริงๆ แล้วมันคือการที่ Fed ไปเป็นเจ้าหนี้ของธนาคารพาณิชย์ในรูปแบบเงินสดสำรองธนาคาร หรือ Bank Reserve ซึ่งเป็นเพียงการคืนกลับทางบัญชี แบบแถมดอกเบี้ยเล็กน้อย ไม่ได้ให้เป็นเงินจริงๆ เป็นแค่การตกแต่งให้งบดุลของธนาคารพาณิชย์ดีขึ้น
การทำเช่นนี้เกิดขึ้นหลังปี 2008-2009 ที่ธนาคารพาณิชย์ประสบปัญหาไปลงทุนใน mortgage back securities (mbs) หรือตราสารทางการเงินที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยหนุนหลัง แล้วตราสารเหล่านี้มีปัญหา ทำให้ Fed เข้ามาช่วยโดยใช้ QE ให้ธนาคารพาณิชย์นำ mbs ที่มีปัญหามาแลกกับ Fed
เมื่อ QE ไม่ใช่การพิมพ์เงิน Quantitative Tightening (QT) หรือการใช้นโยบายแบบรัดกุมในเชิงปริมาณ ก็ไม่ใช่การเผาเงินเช่นกัน แต่เป็นเพียงการทำย้อนกลับจากสิ่งที่ทำไปทั้งหมดใน QE คือ จากนี้ไป Fed จะไม่รับซื้อตราสารที่เคยรับซื้อมาเท่าเดิมอีกแล้ว ดังนั้นธนาคารพาณิชย์ก็จะได้ bank reserve กลับคืนทางบัญชีน้อยลง
เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ก็ไปมีผลต่องบดุลของธนาคารพาณิชย์ เพราะงบดุล ฝั่งหนี้สินกับสินทรัพย์ต้องสมดุลกัน ดังนั้นช่วงที่ทำ QT หมายถึงฝั่งสินทรัพย์หายไป ธนาคารก็ต้องทำให้ฝั่งหนี้สินหายไปด้วย ซึ่งก็คือ ลดการรับเงินฝาก เพราะเงินฝากเป็นต้นทุน ที่เอาไว้ปล่อยสินเชื่อ
ซึ่งเวลานี้ Fed ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อจัดการเงินเฟ้อ ไม่ได้ขึ้นเพราะเศรษฐกิจดี ทำให้ธนาคารพาณิชย์ไม่ได้อยากปล่อยสินเชื่อ ดังนั้นก็ไม่อยากรับเงินฝากเข้ามามากเกินไป เพราะไม่รู้ว่าจะนำไปปล่อยกู้ได้รึเปล่า
มีคำพูดที่น่าสนใจของ Jamie Dimon ซีอีโอของ J.P. Morgan ที่บอกว่า ให้เตรียมตัวรับเฮอริเคนให้ดี หลังจากนี้ทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิม และเขาเองจะ very conservative with our balance sheet หรือมีมุมมองแบบอนุรักษ์นิยมมากๆ กับงบดุลของธนาคาร
แถมยังบอกอีกว่า การทำ QT ครั้งนี้ไม่เหมือนในอดีตที่ทำทีละนิดแล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่เป็นการถอน QT ทีละมากๆ ทำให้เขาไม่มั่นใจว่าเศรษฐกิจจะเป็นยังไง จึงไม่อยากเก็บเงินฝากมาก เพราะไม่รู้ว่าจะไปปล่อยกู้ได้มั้ยในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้
ดร.มิ่งขวัญ ขยายความว่า
  • Fed ไม่ได้ใจดีเหมือนเดิมอีกแล้ว : ช่วงทำ QE พบว่า Fed ไม่ได้ออกแค่ QE กับลดดอกเบี้ย แต่ยังมีโปรแกรม pay check protection program และ main street lending program ซึ่ง Fed สร้างมาเพื่อให้ธนาคารช่วยปล่อยกู้ให้ธุรกิจที่กำลังแย่
โดยถ้าปล่อยกู้ตามโปรแกรมนี้ธนาคารจะไม่ต้องตั้งสำรอง ต่างจากทุกครั้งที่ปล่อยกู้ก็ต้องตั้งสำรอง ดังนั้นเมื่อ Fed ไม่ใจดีผ่อนเกณฑ์เหมือนเดิม และอัตราดอกเบี้ยก็ขึ้น ฝั่งธนาคารเลยกังวลใจ 3 เรื่อง คือ 1. ไม่อยากบริหารเงินฝาก เพราะต้นทุนเริ่มสูงขึ้น 2.ไม่รู้ว่าคุณภาพสินเชื่อเป็นอย่างไร และ 3.ไม่อยากกันสำรองเผื่อหนี้เสียเพิ่ม
  • กองทุนตราสารตลาดเงินก็กระทบด้วย : ผลของการขึ้นดอกเบี้ยและทำ QT ไม่ได้จบเท่านี้ แต่เกี่ยวพันถึง money market fund หรือกองทุนตราสารตลาดเงิน ด้วย เพราะธนาคารไม่ต้องการรับเงินฝาก จึงชวนนักลงทุนมาลงทุนกองทุนนี้ จะได้ไม่มีต้นทุนบริหารจัดการเงินฝาก แต่เมื่อ Fed ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย ก็ไปกระทบผลตอบแทนตราสารตลาดเงินที่กองทุนประเภทนี้ลงทุนอยู่
อย่างเช่น ดอกเบี้ยระยะสั้นตัวที่ธนาคารพาณิชย์ใช้กู้ยืมข้ามคืนระหว่างกัน เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องระยะสั้น จากเดิมอัตราดอกเบี้ยนี้ต่ำมากจนเหมือนแทบไม่ต้องจ่าย แต่คราวนี้ ดอกเบี้ยก็สูงขึ้น ทำให้ต้นทุนกู้ยืมระหว่างธนาคารเพิ่มขึ้น
  • นักลงทุนเล่นหุ้นไม่แบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้น : นอกจากนี้ยังกระทบต่อไปยังดอกเบี้ยอื่นที่เป็นอัตราลอยตัว (floating rate) เช่น อัตราดอกเบี้ยบ้าน รวมทั้งไปกระทบกับการกู้ยืมเงินมาเล่นหุ้น โดยในช่วงก่อนหน้านี้นักลงทุนรู้สึกว่าบัญชีวางหลักประกันที่กู้ยืมมาเล่นก่อนได้ ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยมากนัก
ถ้าขาดทุนก็พอจะรับได้ แต่เวลานี้ดัชนีหุ้นต่างๆ ปรับลงมา ขณะที่ต้นทุนการเล่นหุ้นสูงขึ้น บริษัทหลักทรัพย์เรียกให้วางหลักประกันเพิ่ม เมื่อมูลค่าหุ้นในพอร์ตลดลง นักลงทุนจึงไม่อยากไปต่อ เพราะไม่ต้องการแบกรับต้นทุนกู้เงินมาเล่นหุ้นเพิ่ม เลยเกิดผลพวงลามต่อไปทำให้ตลาดหุ้นปรับลดลงไปอีก เพราะนักลงทุนทิ้งหุ้นได้โดยไม่สนใจอะไรเลย
จากสถานการณ์แบบนี้ ดร.มิ่งขวัญ ระบุว่า เมื่อเจออัตราดอกเบี้ยขึ้น แล้วยังมีการทำ QT พร้อมกัน ทำให้ตลาดแย่ทุกส่วน เริ่มจากธนาคารปวดหัวกับการจัดการงบดุล ส่วนคนกู้เงินก็ปวดหัวกับการบริหารจัดการหนี้ในมือ ซึ่งไม่ใช่แค่คนที่กู้เงินซื้อบ้าน แต่รวมถึงธุรกิจที่ออกตราสารหนี้เอกชนด้วย เพราะเมื่ออัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น
นักลงทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้เอกชน ก็คาดหวังผลตอบแทนมากกว่าเดิมให้คุ้มกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ถ้าบริษัทไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยตราสารหนี้ที่ออกมาได้ ก็จะเกิดเหตุการณ์นางฟ้าตกสวรรค์ ทำให้บริษัทตกชั้นลงมาอยู่ในกลุ่มตราสารหนี้ความเสี่ยงสูง หรือ Junk Bond ได้
ดร.มิ่งขวัญ ย้ำว่า QE ,QT และการขึ้นดอกเบี้ย ไม่ได้ทำให้เกิดผลแบบข้ามวันกับอารมณ์ของตลาดที่เปลี่ยนได้ข้ามคืนเท่านั้น แต่ส่งผลต่อเนื่องไปยังส่วนอื่นๆ ด้วย เพียงแค่ต้องใช้เวลา ดังนั้นในสถานการณ์แบบนี้ ที่นโยบายของ Fed ยังไม่มีอะไรแน่นอน แม้เวลานี้ขึ้นดอกเบี้ยเร็วไปดักหน้าเอาเงินเฟ้อลง แต่ถ้าเวลาผ่านไปธนาคารพาณิชย์ไม่ไหว ไม่ยอมปล่อยกู้ และเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ recession
โทนการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed อาจจะเปลี่ยนเป็นขึ้นดอกเบี้ยต่อไม่ได้แล้วก็ได้ บวกกับเดือนพฤศจิกายน นี้ จะเป็นช่วงเลือกตั้งกลางเทอม ดังนั้นถ้ามองในแง่ดี ปัจจัยนี้อาจทำให้ Fed ขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนกรกฎาคมนี้ แล้วจากนั้นก็ไม่ขึ้นต่อก็ได้เช่นกัน ถ้าเป็นแบบนี้ ก็อาจเกิดการเปลี่ยนกลุ่มหุ้นลงทุน หรือ sector rotation
แต่ถ้าทุกอย่างไม่เปลี่ยน ก็แนะนำว่า ให้ไปเลือกลงทุนในประเทศที่ไม่เกี่ยวข้องกับ Fed ก่อนดีกว่า เช่น จีน ที่เอาตัวเองออกจาก Fed พอสมควร มีเพียงปัจจัยล็อคดาวน์ในประเทศที่ต้องจับตา ส่วนอีกประเทศที่น่าสนใจคือ เวียดนาม
สุดท้ายคือให้ผู้จัดการกองทุนช่วยเลือกหุ้นให้ เพราะสภาวะแบบนี้ต้องเน้นการคัดเลือกหุ้นรายตัว หรือ selective ซึ่งผู้จัดการกองทุนจะช่วยดูหุ้นที่มีมูลค่าน่าสนใจ มีเรื่องราวที่ทำให้หุ้นกำลังมาได้ รวมถึงทำหน้าที่คัดเลือกประเทศที่ไม่เกี่ยวข้องกับ Fed เพื่อโอกาสเพิ่มผลตอบแทนให้ ขณะที่ถ้าลงทุนกับดัชนี ถัวเฉลี่ยต้นทุนยังไงก็มีแต่เสมอตัวหรือขาดทุน ยกเว้นต้องการถัวเฉลี่ยต้นทุนต่ำเพื่อหวังผลปี 2023 ไปแล้ว
หนึ่งในกองทุนที่ตรงสไตล์ที่ ดร.มิ่งขวัญ บอกมา คือ กองทุนเปิดบัวหลวงบีแมพส์ (BMAPS) ที่มีให้เลือก 3 กองทุน คือ BMAPS25 BMAPS55 และ BMAPS100 ซึ่งนักลงทุนมีหน้าที่จัดสรรเงินมาลงทุน เลือกกองทุนที่มีนโยบายสอดคล้องกับความเสี่ยงที่ตัวเองยอมรับได้
ส่วนผู้จัดการกองทุนจะทำหน้าที่นำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ตามที่นโยบายระบุไว้ โดยจะคอยปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนในประเทศต่างๆ ธีมต่างๆ ให้เหมาะกับสถานการณ์ ช่วงไหนประเทศไหนมีเรื่องราวน่าสนใจ ก็อาจจัดสรรเงินไปลงทุนในประเทศนั้นมากหน่อย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการหาผลตอบแทน
สุดท้าย ดร.มิ่งขวัญย้ำว่า การลงทุนนั้นเจอกับการเปลี่ยนแปลง ทำให้ผลตอบแทนมีขึ้นมีลง ไม่ได้ดีไปตลอด หรือแย่ไปตลอด และสถานการณ์ที่เราเจออยู่ตอนนี้ก็ไม่ใช่ทั้งหมดของการลงทุน ดังนั้นจึงอยากให้มองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วให้เวลาตกใจกับตัวเองแค่ 3 นาที จากนั้นนำเวลาที่เหลือไปคิดว่าจะจัดการอย่างไรกับพอร์ตลงทุนของตัวเองดี
สุดท้าย ดร.มิ่งขวัญย้ำว่า การลงทุนนั้นเจอกับการเปลี่ยนแปลง ทำให้ผลตอบแทนมีขึ้นมีลง ไม่ได้ดีไปตลอด หรือแย่ไปตลอด และสถานการณ์ที่เราเจออยู่ตอนนี้ก็ไม่ใช่ทั้งหมดของการลงทุน ดังนั้นจึงอยากให้มองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วให้เวลาตกใจกับตัวเองแค่ 3 นาที จากนั้นนำเวลาที่เหลือไปคิดว่าจะจัดการอย่างไรกับพอร์ตลงทุนของตัวเองดี
เพราะถ้าเราใช้เวลาตกใจมากเกินไป กังวลมากเกินไป แล้วไม่แก้ไขพอร์ตลงทุน ไม่ได้โฟกัสที่การลงทุนของตัวเอง เราอาจเสียโอกาสการถัวเฉลี่ยต้นทุนให้ต่ำลงไปได้ และเมื่อเราลงทุนไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่ง เราก็จะอ่านเกมออกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต
เวลานี้หุ้นเอเชียก็ถือว่ามีมูลค่าที่น่าสนใจ ราคาต่อมูลค่าหุ้นตามบัญชีก็ต่ำกว่าถ้าเทียบกับในอดีต กลุ่มที่น่าสนใจเป็นกลุ่มเทคฯผลิตชิ้นส่วนเฉพาะทาง
ผู้จัดการกองทุนหลักของ กองทุน B-ASIA ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน Invesco Funds - Invesco Asian Equity Fund (กองทุนหลัก) ล่าสุดมีมุมมองว่า ตลาดหุ้นเอเชีย มีมูลค่า หรือ Valuation ที่น่าสนใจ เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต โดยดัชนี MSCI Asia ex Japan มีราคาต่อมูลค่าหุ้นตามบัญชี (Price to Book Value Ratio หรือ P/B) อยู่ที่ 1.7 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตเล็กน้อย ขณะที่อัตราการเติบโตยังคงมีอยู่
หุ้นกลุ่มที่ผู้จัดการกองทุนสนใจ ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการผลิตชิ้นส่วนเฉพาะทางที่มีแนวโน้มเป็นที่ต้องการของตลาด กลุ่มบริโภคและอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะเกมส์และอี-คอมเมิร์ซ กลุ่มยานยนต์ที่จะได้รับประโยชน์จากการปรับตัวหลังจากเกิดการขาดแคลนวัตถุดิบ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่ระดับราคาลดต่ำลงจนอยู่ในระดับที่น่าสนใจ และกลุ่มสถาบันการเงินที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย
ทั้งนี้ ผู้จัดการกองทุนเน้นลงทุนในหุ้นที่มีราคาต่ำกว่าราคาพื้นฐานของกิจการ และมีแนวโน้มเติบโตที่ดีในอนาคต เมื่อมาดูมุมมองรายตลาดในเอเชีย ผู้จัดการกองทุนมองว่า ตลาดหุ้นจีนจะมีภาพรวมโดยรวมลดลง แต่หุ้นอี-คอมเมิร์ซและอินเทอร์เน็ตของจีนเริ่มปรับตัวได้ดี จากสัญญาณการผ่อนคลายกฎระเบียบจากภาครัฐ ขณะที่กลุ่มพลังงานได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น
กองทุนเข้าไปลงทุนเพิ่มในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ เมื่อปลายปี 2021 ซึ่งส่งผลบวกต่อกองทุน โดยผู้จัดการกองทุนได้เพิ่มน้ำหนักในหุ้นจีนช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา จนปัจจุบันมีน้ำหนักการลงทุนในหุ้นจีนใกล้เคียงกับดัชนีชี้วัดแล้ว คือประมาณกว่า 40% จากที่เคยมีน้ำหนักน้อยกว่าดัชนีชี้วัดกว่า 10%
นอกจากนี้ ผู้จัดการกองทุนมีมุมมองเชิงบวกับอินโดนีเซีย เพราะไม่เพียงแต่เป็นประเทศส่งออกน้ำมันซึ่งได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันโลกปรับตัวขึ้นแล้ว ภาคการธนาคารก็มีผลการดำเนินงานที่ดีจากการฟื้นตัวจากโควิด เช่น Bank Negara Indonesia Persero ที่กองทุนมีน้ำหนักการลงทุน 2.3% โดยนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2022 ราคาหุ้นบริษัทนี้ปรับเพิ่มขึ้นมา 22% แล้ว
ขณะที่ภาคธุรกิจก็มีผลการดำเนินงานดีขึ้น เช่น หุ้น Indonesia’s Astra International บริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นในไตรมาสแรกที่ผ่านมา โดยกองทุนลงทุนใน ASTRA ในสัดส่วนมากอันดับที่ 7 ของพอร์ต หรือ 3.1% และนับตั้งแต่ต้นปีราคาหุ้นบริษัทนี้ปรับเพิ่มขึ้นไป 20%
แนะนำกองทุน B-ASIA และถ้าต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี แนะนำกองทุน B-ASIASSF และ B-ASIARMF
ถ้าถามว่าตอนนี้ลงทุนหุ้นจีนได้รึยัง BBLAM ก็ต้องบอกว่า จีนเป็นตลาดสำคัญที่ควรมีในพอร์ตไม่น้อยกว่า 5% ซึ่งเวลานี้จีนก็มีหลากหลายปัจจัยที่น่าสนใจ และเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา MSCI China ขึ้นมา 20% บ่งบอกสัญญาณกระทิงกลับมา
ถ้าถามว่าตอนนี้ลงทุนหุ้นจีนได้รึยัง BBLAM ก็ต้องบอกว่า จีนเป็นตลาดสำคัญที่ควรมีในพอร์ตไม่น้อยกว่า 5% ซึ่งเวลานี้จีนก็มีหลากหลายปัจจัยที่น่าสนใจ และเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา MSCI China ขึ้นมา 20% บ่งบอกสัญญาณกระทิงกลับมา
ก่อนหน้านี้หุ้นจีนลงไปถึงจุดต่ำสุดวันที่ 15 มีนาคม 2022 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่ Liu He รองนายกรัฐมนตรีออกมาชี้แจงประเด็นเรื่องการถอนบริษัทจีนออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ (delisting) ว่า ยังสนับสนุนบริษัทจีนให้จดทะเบียนในตลาดต่างประเทศ และอยู่ระหว่างพูดคุยกับฝั่งสหรัฐฯ
ถ้าดูปัจจัยที่กดดันหุ้นจีนช่วงที่ผ่านมา พบว่าเป็นเรื่องนโยบาย ซึ่งถ้าตัดภาพมาดูตอนนี้ก็พบว่า เริ่มเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์บ้างแล้ว เพราะนโยบายเริ่มผ่อนคลายมากขึ้น และเผลอๆ เรื่องนโยบายอาจกลายเป็นความหวังของนักลงทุนด้วยเช่นกัน สังเกตได้จากคำที่ถูกค้นหามากบนโลกอินเทอร์เน็ต
ก่อนหน้านี้เป็นคำว่า common prosperity ซึ่งก็มาจากความกังวลว่าจะมีนโยบายอะไรออกมาอีก ผลคือเริ่มไม่มีแล้วตั้งแต่เดือนมีนาคม พอมาถึงตอนนี้คำที่ค้นหาบ่อยกลายเป็นคำว่า support economic growth เพราะคนสนใจว่ารัฐบาลมีมาตรการสนับสนุนธุรกิจอย่างไร หลังคลายล็อคดาวน์
พอดูที่หุ้นจีนที่ราคาปรับลดลงไปจากประเด็นนโยบาย เพื่อดูว่า ราคาตอนนี้สมเหตุสมผลหรือยัง คุ้มค่าที่จะเสี่ยงหรือไม่ คุณมทินา ระบุว่า ปกติเวลามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น หุ้นจีนลงลึกได้มากกว่า 30% ซึ่งครั้งนี้ ลงไปถึง 54% ถือว่าอาการหนักถ้าเทียบครั้งก่อนๆ
ขณะที่ราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) ลงไปอยู่ที่ 8.6 เท่า และถ้านำตัวเลขแบบนี้ไปเทียบหุ้นสหรัฐฯ ก็พบว่า ช่วงตลาดหมี หุ้นสหรัฐฯ ลงได้ถึง 35% ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยที่ใกล้เคียงกับจีน แปลว่า ถ้ามองว่าหุ้นจีนเสี่ยงมาก หุ้นสหรัฐฯ ก็เสี่ยงเหมือนกัน
เมื่อดูว่าอะไรที่ทำให้หุ้นจีนน่าสนใจ ก็พบว่า ถ้าดู P/E ของ MSCI China ปีนี้อยู่ที่ 12 เท่า ปีหน้าอยู่ที่ 10 เท่า ก็ถือว่า หุ้นจีนถูกกว่าประเทศอื่น และตลาดหุ้นจีนมีขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก มีสภาพคล่องสูงรองจากสหรัฐฯ จึงทำให้ BBLAM มองว่า หุ้นจีนมีความสำคัญสำหรับการจัดพอร์ต
ยิ่งถ้าเทียบวัฎจักรของจีนกับสหรัฐฯ ตอนนี้ ก็ยิ่งทำให้จีนน่าสนใจ เพราะขณะที่สหรัฐเร่งขึ้นดอกเบี้ยรับมือเงินเฟ้อที่สูงมาก แต่จีนยังมีความสามารถลดดอกเบี้ยได้ ยังดำเนินนโยบายการเงินที่ยืดหยุ่นได้ ไม่จำเป็นต้องไปเร่งขึ้นดอกเบี้ยถ้าเศรษฐกิจไม่พร้อม และเงินเฟ้อจีนยังต่ำ
นอกจากนี้จีนยังใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีก ต่างจากสหรัฐฯ ที่ทำไม่ได้แล้ว เพราะใช้ไปเต็มที่แล้วก่อนหน้านี้ และพอดูกำไรของบริษัทจดทะเบียน ก็พบว่า นักวิเคราะห์กำลังปรับลดประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ ลง ส่วนในจีน อาจถูกปรับลดลงบ้างแต่ไม่มาก แต่ก็มีบางอุตสาหกรรม เช่น โครงสร้างพื้นฐาน วัสดุก่อสร้าง อาจถูกปรับประมาณการกำไรขึ้น
เมื่อส่องดูว่าหุ้นจีนธีมไหนบ้างที่น่าจับตา อย่างแรกก็ต้องยกให้ธีมการฟื้นตัวของกำลังซื้อผู้บริโภค เพราะคนเริ่มเบื่อการชอปปิงออนไลน์ อยากไปเดินห้าง เลือกซื้อของเอง เราจึงมองว่า กลุ่มเสื้อผ้า รองเท้ากีฬา เครื่องสำอาง จะฟื้นตัวกลับมา ซึ่งในธีมนี้จะตรงกันข้ามกับสหรัฐฯ ที่เจอข้าวของแพงขึ้น ก็จะลดค่าใช้จ่ายลงไป
ธีมต่อมาของจีนคือ อุตสาหกรรมที่ฟื้นตัว เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ที่ก่อนหน้านี้ความต้องการหายไป ทั้งยังมีปัญหาเรื่องห่วงโซ่อุปทาน และชิปขาดแคลน แต่หลังเปิดเมืองปัญหาเหล่านี้จะดีขึ้น ค่ายรถยนต์ต่างๆ ก็น่าจะมีภาพที่ดีขึ้นตามไปด้วย ขณะที่กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ในจีน ก็จะน่าสนใจมากขึ้น เมื่อนักลงทุนรายย่อยเริ่มมีความมั่นใจเพิ่มขึ้นและต้องการกลับเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้น
พอมาดูที่ประเด็นค่าเงินหยวนอ่อนจะดีกับธุรกิจไหน ก็พบว่า ดีกับหลายอุตสาหกรรม เพราะทำให้ราคาสินค้าจีน ดูเหมือนจะถูกลงเมื่อไปเทียบกับประเทศอื่น ดังนั้นก็จะส่งออกได้มากขึ้น โดยกลุ่มที่น่าจะได้รับผลดีคือ พลังงานสะอาด การผลิตแบตเตอรี่ หรือกลุ่มสุขภาพ เกี่ยวกับการคิดค้นและผลิตยา แต่ในขานำเข้าก็ต้องมีต้นทุนแพงขึ้นเช่นกัน เช่น จีนก็ต้องนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์แพงขึ้น ซึ่งอาจทำให้จีนเจอเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นบ้าง
ขณะเดียวกันเงินหยวนที่อ่อนก็อาจไม่ดีต่อสายการบินสักเท่าไหร่ เพราะรายได้จากต่างประเทศยังมีน้อย แต่มีหนี้เป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐมาก ไม่ว่าจะค่าเช่าเครื่องบินหรือค่าน้ำมันก็ล้วนเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐทั้งนั้น หรือในภาคอสังหาริมทรัพย์ ก็คงไม่ได้ผลดี เพราะต้องนำเข้าวัตถุดิบมา และหนี้ส่วนใหญ่ของผู้ประกอบการเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่กลุ่มเทคโนโลยี พอเจอเงินหยวนอ่อนค่าเข้าไป ก็ไม่ได้มีผลอะไรนัก
คุณมทินา กล่าวถึงอีกประเด็นที่ทำให้หุ้นจีนน่าสนใจคือ โดยปกติ ค่าความสัมพันธ์ระหว่างหุ้นจีน A-Shares กับหุ้นสหรัฐฯ ค่อนข้างต่ำ อยู่ที่ 0.4 เท่านั้น หมายความว่า ถ้าหุ้นสหรัฐฯ ลงไป 10% หุ้นจีนอาจจะลงแค่ 4% ดังนั้นในหลายช่วงเวลาหุ้นจีเลยทำผลงานได้ดีกว่าหุ้นสหรัฐฯ และเวลาที่หุ้นสหรัฐฯ ลงไปมากกว่า 10% หรือ
ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอย หุ้นจีนก็อาจจะยังทำผลงานที่เหนือกว่าสหรัฐฯ ได้ ดังนั้นเราจึงแนะนำว่า นักลงทุนควรจีหุ้นจีน A-Shares ในพอร์ต อย่างน้อยที่สุด 5% และถ้าเพิ่มขึ้นจีน A-Shares ไปมากกว่านั้น ก็จะทำให้มีโอกาสได้ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ความเสี่ยงไม่ได้เปลี่ยนไป
แนะนำกองทุน B-CHINE-EQ และถ้าต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี แนะนำกองทุน B-CHINESSF และ B-CHINAARMF
สองแผนของทางยุโรป ได้แก่ REPowerEU และ Easter package ซึ่งมีเป้าหมายและกำหนดการชัดเจนสำหรับการใช้พลังงานหมุนเวียนภายในไม่เกินปี 2030 นำไปสู่การเติบโตของธุรกิจที่ให้บริการด้านนี้อย่างมีนัยสำคัญ
จากข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2022 กองทุน B-SIP ซึ่งลงทุนในกองทุนที่ Pictet Asset Management บริหารจัดการ 2 กองทุน ได้แก่ ลงทุนใน Pictet – Global Environmental Opportunities ในสัดส่วน 69.56% ของ NAV และลงทุนในกองทุน Pictet – Clean Energy 25.03% ของ NAV
กองทุน Pictet - Clean Energy ที่ B-SIP ลงทุนอยู่นั้น พบว่ามีแรงหนุนการเติบโตที่น่าสนใจคือ สหภาพยุโรปเปิดตัวแผน REPowerEU โดยมีเป้าหมายใช้พลังงานหมุนเวียน 45% ในปี 2030 จากปัจจุบัน 15% และเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์เป็น 2 เท่าภายในปี 2025 และ 4 เท่าภายในปี 2030
รวมถึงให้มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนพื้นที่สาธารณะและดาดฟ้าอาคารพาณิชย์ภายในปี 2027 และที่อยู่อาศัยใหม่ทั้งหมดต้องติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ภายในปี 2029
ขณะที่เยอรมนีนำเสนอ Easter Package ซึ่งเป็นแผนใหม่ที่กำหนดเป้าหมายการใช้ไฟฟ้ามาจากพลังงานหมุนเวียนอย่างน้อย 80% ภายในปี 2030 จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 42% ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เองช่วยหนุนให้หุ้นกลุ่มที่กองทุนลงทุนอยู่มีการเติบโตเพิ่มมากขึ้น
สำหรับกองทุน Pictet Global Environmental Opportunities เข้าไปลงทุนใน
  • ธุรกิจกลุ่มการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกลุ่มนี้ยังคงให้ผลตอบแทนที่ดี โดยเฉพาะในบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ที่ได้รับแรงหนุนจากการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าและระบบอัตโนมัติต่างๆ อย่างไรก็ตาม กองทุนมีการลดน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มนี้ลง โดยลดน้ำหนักหุ้น NXP และ LAM จากความสามารถในการเติบโตที่ลดลง ท่ามกลางราคาพลังงานที่สูงขึ้นและปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทาน
  • กลุ่มธุรกิจรีไซเคิลและการจัดการของเสีย ซึ่งเป็นกลุ่มที่สร้างรายได้ดี รวมถึงไม่ได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่งสูงขึ้น โดยกองทุนได้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มนี้ ด้วยการเพิ่มการลงทุนในบริษัท Stora Enso ผู้ผลิตเยื่อกระดาษ กระดาษ และผลิตภัณฑ์จากพืช
  • กลุ่มการควบคุมมลพิษ ที่กองทุนลงทุนก็ยังคงมีความต้องการที่แข็งแกร่ง ทั้งด้านระบบขนส่งอย่างยั่งยืน การใช้พลังงานไฟฟ้า การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงได้รับแรงหนุนจากการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ ในสหรัฐฯ จีน และตลาดเกิดใหม่
  • กลุ่มการลดการใช้ทรัพยากรการผลิต การจัดการวงจรการผลิต (PLM) ยังคงมีความต้องการอย่างมาก ทั้งการพัฒนาซอฟต์แวร์จำลอง การเพิ่มความเร็วในการผลิต รวมไปถึงอุตสาหกรรม Internet of Things ที่เพิ่มขึ้น โดยในส่วนของกองทุนได้ขายหุ้นในกลุ่มนี้เพื่อทำกำไรจากราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้น
  • กองทุนยังลงทุนในกลุ่มพลังงานทดแทน โดยได้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ เนื่องจากประเทศต่างๆ หันมาให้ความสำคัญกับการป้องกันการขาดแคลนด้านพลังงาน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา