22 มิ.ย. 2022 เวลา 05:00
Ep.13 มหาวิทยาลัยการเศรษฐกิจแห่งชาติ และ วังเยาวชน
มหาวิทยาลัยการเศรษฐกิจแห่งชาติ
เส้นทางไปมหาวิทยาลัยนี้ต้องเข้าเมืองก่อน แล้วจึงเลี้ยวแยกขึ้นเนินไปอีกทิศหนึ่ง คุณคงจำได้ว่า ฟองน้ำเคยพูดถึงเนินต่างๆ หลายแห่งแล้ว ตัวเมืองเปียงยางนี้สวยตรงที่มีเนินเขา
เตี้ยๆ มากมาย และมีแม่น้ำใหญ่ 2 สายไหลผ่าน คือแม่น้ำแตดองกับแม่น้ำโพตง และยังมีลำธารอีกหลายสาย ทุกแห่งล้วนมีน้ำใสไหลริน ปราศจากมลภาวะเกินขีดจำกัด
ทางการปลูกต้นหลิวเขียวชอุ่มไว้ริมน้ำ แผ่กิ่งก้านอ่อนพริ้วไหวและร่มรื่น ขอบทางมักมีต้นทานตะวันออกดอกเหลืองอร่ามแซม และมีต้นไม้ใหญ่ปลูกเอาร่มอยู่เป็นแนว 2 ข้างทาง
ที่ฟองน้ำสังเกตอีกอย่างคือ เมืองนี้มีระบบชลประทานทั่วถึง เพราะมีแม่น้ำและเขื่อนเล็กเขื่อนน้อยอยู่มากแห่ง และมีทางรถไฟเยอะ เราผ่านแฟลตยาวๆ แต่ไม่สูงนักที่ตั้งอยู่ริมถนนในเมือง มีรั้วกั้นขนานไปกับถนน ไม่มีประตูรั้ว มีแต่ช่องว่างเว้นไว้ให้เป็นทางเดินเข้า กว้างประมาณ 3-4 เมตร และลึกเข้าไปจากช่องว่างนี้ราว 1 เมตร มีกำแพงคอนกรีตยาวเท่ากับความกว้างของช่องเข้า – ออก กั้นบังสายตาคนนอกอยู่ทุกช่อง
ฟองน้ำแอบส่งสายตาเลี้ยวลดเข้าไปในบ้านคนเกาหลีเขาผ่านรั้วโปร่ง ก็เห็นภาพประธานาธิบดีติดอยู่ ทั้งในห้องรับแขกและทั้งในห้องนอนด้วย
วันนี้ มีคนขี่รถจักรยาน 2 คัน ถีบตามกันมาด้วยสไตล์ของงูแท้ ๆ คือคดไปคดมา คงเพิ่งจะหัดใหม่ จึงเลี้ยวเข้ามาเกือบจะสีกับรถของเรา นายว่ารายการหวาดเสียวประจำวันแบบนี้น่ะ เดี๋ยวนี้ชินเสียแล้ว วันไหนไม่เจอก็รู้สึกเหมือนขาดอะไรไปสักอย่าง
ตอนเข้าเมืองในช่วงเช้า เราได้เห็นรถทำความสะอาดถนนหลายคัน ตุ้ยนุ้ยบอกว่า จะมีการทำความสะอาดถนนใหญ่ในเมืองวันละ 2 ครั้งด้วยรถแบบนี้ แต่ถ้าเป็นถนนเล็กหรือถนนในชนบท ก็จะให้เป็นหน้าที่ของคนงานหญิง ซึ่งเกณฑ์จากตามบ้านที่อยู่ใกล้ๆ ถือว่าเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องทำให้ถนนหน้าบ้านหรือใกล้บ้านของตนสะอาด
ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้เห็นกลุ่มคนงานหญิง มีผ้าโพกศีรษะกันแดด ซึ่งอาจเป็นกลุ่มเดียวกันกับเมื่อเช้า ช่วยกันกวาดถนนกันใหญ่ในตอนบ่าย ขณะที่แดดกำลังแผดร้อนอยู่ สมแล้วที่โปรเฟสเซอร์ชาท่านว่า ประเทศนี้ไม่มีคนว่างงาน
 
มองถนนในเปียงยางแล้วสบายตา
จริง ๆ
รองอธิการบดีของมหาวิทยาลัยมาคอยรับ และพาเข้าห้องรับรองเพื่อทำการบรรยายสรุป มีอาจารย์อีก 2 คนมาร่วมต้อนรับด้วย แต่ก็ไม่ได้วิสาสะกันเพราะเขาพูดแต่ภาษาเกาหลีกับรัสเซียเท่านั้น
มหาวิทยาลัยแห่งนี้ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1946 ตั้งแต่เริ่มตั้งจนถึงขณะนี้ มีนักศึกษาจบไปประมาณ 50,000 คนแล้ว ที่นี่รับแต่นักศึกษามาเรียนปริญญาโท หรือคนที่ทำงานแล้วและต้องการมาหาความรู้เพิ่มขึ้นในสาขางานที่ตนกำลังทำอยู่เท่านั้น
พรรคคนงานทั่วประเทศจะเป็นผู้ส่งสมาชิกของตนเข้าสอบ เพื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ จำนวนรับนักศึกษาในแต่ละปีไม่แน่นอน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายแต่ละปีของพรรคคนงาน ซึ่งเป็นพรรคที่บริหารประเทศ
 
จำนวนอาจารย์ 300 คน จาก 24 ภาควิชา อาทิเช่น ภาควิชาปรัชญา เศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ รวมทั้งภาควิชาการศึกษาผลงานของประธานาธิบดี คิม อิล ซุง ด้วย
รองอธิการบดีอธิบายต่อว่า การจัดหลักสูตรแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่ 1 เป็นหลักสูตรระยะสั้น 1 – 3 เดือน สำหรับหัวหน้าหน่วยงานต่างๆ มาอบรมเพิ่มเติม และหาความรู้ วิทยาการใหม่ๆ ให้ทันสมัย ทั้งนี้ ถือเป็นนโยบายระดับชาติว่า ข้าราชการทุกคนจะต้องผลัดเปลี่ยนกันมารับการอบรมตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ตามความเหมาะสมของตำแหน่งงาน อย่างน้อยปีละ 1 เดือน หรือ 2 – 3 ปี ก็ต้องมาอบรมเสีย 1 เดือน ถ้าทำทุกปีไม่ได้
กลุ่มที่ 2 หลักสูตรระดับหลังปริญญาตรี ระยะเวลา 3 ปี แบ่งพื้นความรู้ผู้เรียนเป็น 2 พวก
1. พวกที่จบปริญญาตรีจากที่อื่น แล้วมาเรียนต่อที่นี่เลยทันที เราจะคัดเลือกคนเก่งอบรมเป็นพิเศษ เพื่อให้เป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยนี้ต่อไป ที่เหลือก็จะไปทำงานตามหน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย
2. พวกที่จบปริญญาตรีและทำงานแล้วระยะหนี่ง จึงถูกส่งมาเรียนที่นี่ เพื่อเพิ่มพูนระดับความรู้ให้สูงขึ้น
กลุ่มที่ 3 หลักสูตรสำหรับผู้บริหารที่ไม่ได้ปริญญาตรี แต่มีประสบการณ์ในการทำงานมานาน ส่วนมากกลุ่มนี้จะเป็นชั้นหัวหน้างาน ทั้งประเภทงานสำนักงานและงานโรงงาน เช่น หัวหน้าหน่วยงานของรัฐ หรือผู้จัดการโรงงาน กลุ่มนี้ ใช้เวลาเรียน 2 ปี โดยทาง “หน่วยเหนือ” จะเป็นผู้ส่งมาเรียนต่อ จะเห็นได้ว่า นักศึกษาของมหาวิทยาลัยนี้ล้วนแต่หัวกะทิ และเป็นคนระดับโตๆ ทั้งนั้น
การเรียนแบ่งเป็นภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ รวม 36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ วิธีเรียนเป็นแบบค้นคว้าเองโดยมีครูคอยแนะนำ และทุกสาขา มีห้องปฏิบัติการที่จำลองมาจากของจริง และยังมีการออกไปฝึกงานตามสถานที่ที่เกี่ยวข้องนอกมหาวิทยาลัยด้วย
1
เขาพาไปดูห้องฝึกงานที่จำลองของจริงมาไว้ในตัวตึก เช่น ด้านชลประทาน ก็จำลองเขื่อนและระบบระบายน้ำมาให้ลอง มีการย่อส่วนเหมืองแร่มาไว้เพื่อศึกษาถึงวิธีการทำเหมือง มีห้องคอมพิวเตอร์ และอื่นๆ ทั้งยังมีห้องสำหรับอาจารย์และนักศึกษา มาถกปัญหาและแนวคิดเรื่องอุดมการณ์จูเช่โดยเฉพาะอีกด้วย
1
นักศึกษาส่วนใหญ่อยู่ประจำในที่พักของมหาวิทยาลัย และยังได้รับเงินเดือนทุกเดือนระหว่างการมาศึกษาอบรม ทุกอย่างรัฐให้สวัสดิการฟรี เว้นแต่ค่าอาหารและตำราบางอย่าง ต้องออกค่าใช้จ่ายเอง ซี่งทั้ง 2 อย่างนี้ ราคาถูกมาก
1
สำหรับอาจารย์นั้น ทุกคนจะต้องผลัดเปลี่ยนกันไปเข้าอบรมหลักสูตร “การเรียนจากของจริง” เขาใช้คำว่า “Finish class of reality” นั่นก็คือให้ไปหาประสบการณ์และเทคนิคใหม่ๆ ในการเรียนการสอน เพื่อครูจะได้ไม่เซ็งต่อความจำเจ และตื่นตัวแสวงหาความก้าวหน้าอยู่เรื่อยๆ
ดังนั้น เพื่อให้นโยบายนี้ไม่ติดขัด มหาวิทยาลัยจึงรับอาจารย์เกินเอาไว้บ้าง เพื่ออาจารย์จะได้ผลัดกันไปเข้าคอร์ส Finish class of reality นี้ได้อย่างต่อเนื่อง หลักสูตรนี้ใช้เวลาถึง 1 ปีเต็ม
1
เราสนใจถามเรื่องค่าตอบแทนของอาจารย์ และได้คำตอบกลับมาว่า คนที่จบปริญญาตรี
จะเริ่มที่ 90 วอน (เอา 12 คูณ ก็เป็นเงินบาท) และถ้าจบสูงขึ้นก็จะได้เงินเพิ่ม ผู้ช่วยศาสตราจารย์และรองศาสตราจารย์จะไต่ขั้นเงินเดือนไปได้ถึง 200 วอน และศาสตราจารย์เต็มขั้นจะได้ 250 วอน ซึ่งเท่ากับเงินเดือนของรัฐมนตรีทีเดียว
เขายกตัวอย่างว่า พนักงานที่ขับรถให้เรานั่งกันทุกวันนี้ ได้เงินเดือน 102 วอน และดูเหมือนตุ้ยนุ้ยซึ่งกำลังทำปริญญาเอกไปด้วยพร้อมกับทำงานรับใช้รัฐ ได้เงินเดือน 112 วอน ไม่ไกลจากตัวเลขเงินเดือนของคนขับรถเลย
ภาระงานสอนของอาจารย์ เฉลี่ยรวมกับการคุมฝึกงานของนักศึกษา ปรมาณ 1,000 ชั่วโมงต่อปี บางวิชาเอกก็มีภาระงานสอนน้อย แต่ไปหนักในการคุมปฏิบัติงานมากกว่า เกณฑ์เกษียณอายุของอาจารย์คือ 60 ปี แต่อาจารย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในบางสาขาที่ขาดแคลน จะได้รับการ “ต่ออายุ” ไปเรื่อยๆ โดยไม่มีกำหนด
บ่าย 4 โมงเย็น เราเดินทางต่อไปยัง “วังเยาวชน” (Students and Children’s Palace) เพื่อชมกิจกรรมและการแสดงของนักเรียน
ระบบการเรียนขั้นก่อนอุดมศึกษา จะมีการสอนในโรงเรียนเฉพาะช่วงเช้า ตอนบ่าย ระหว่าง 3 โมง ถึง 6 โมงเย็น จะให้นักเรียนไปศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง ตามห้องสมุดใกล้บ้าน หรือใกล้โรงเรียน ถือว่าภาคบ่ายนี้เป็นส่วนหนึ่งของการบ้านภาคบังคับที่โรงเรียนให้ทำ
ส่วนการเรียนภาคปฏิบัติด้านศิลปะ ดนตรี กีฬา และอุดมการณ์ทางการเมืองของประเทศ จะมีสอนเป็นพิเศษที่วังเยาวชนแห่งนี้ ซึ่งแต่ละวัน มีนักเรียนและนักศึกษาตั้งแต่ชั้น ป.1 ถึงระดับอาชีวะและอุดมศึกษา มาใช้สถานที่และบริการเฉลี่ยประมาณวันละ 1,000 คน
วังเยาวชน
ขอบคุณภาพจาก www.koreaconsult.com และ https://avax.news
กิจกรรมต่างๆ ที่เน้นสำหรับเด็กและเยาวชนมีหลายประเภท ขึ้นอยู่กับความถนัดและความสนใจของเด็ก ถ้าครูเห็นว่าเด็กคนไหนมีแววในทางใด ครูจะเก็บตัวไว้ฝึกเป็นพิเศษ ให้เชี่ยวชาญไปตามสาขาความถนัดนั้น
เมื่อประธานาธิบดี คิม อิล ซุง มีบัญชาให้สร้างวังเยาวชนนี้ขั้นในปี ค.ศ.1963 ท่านได้กล่าวไว้ว่า “เด็กเกาหลีทุกคนคือกษัตริย์ของประเทศ”วังเยาวชนแห่งนี้ จึงมีความหมายยิ่งต่อการพัฒนาการของ “อนาคตของชาติ” และสถานที่นี้คืออีกจุดหนึ่งที่ต้องพาแขกต่างชาติมาชม
วังเยาวชนสูง 13 ชั้น มีเนื้อที่ 50,000 ตารางเมตร ประกอบด้วยห้องกิจกรรมต่างๆ จำนวน 500 ห้อง และมีโรงละคร เพื่อเด็กๆ ที่มาฝึกการแสดงได้มีโอกาสโชว์ผลงานให้คนทั่วไปได้ชม
เมื่อคณะเราไปถึงในเวลาไล่เลี่ยกับแขกต่างประเทศกลุ่มอื่นๆ นั้น มีเด็กนักเรียนในเครื่องแบบ ออกมายืนเรียงรายปรบมือต้อนรับเราทั้งสองฟากถนนที่มุ่งสู่ตัวตึก จำนวนกว่าร้อยคน นักเรียนหญิงทุกคนคาดผมด้วยดอกไม้ผ้าสีแดง มีผ้าผูกคอสีแดงซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงว่า เป็นอนุกาชาดหรือเนตรนารี หรือถ้าเป็นชาย ก็จะเป็นพวกลูกเสือ อะไรทำนองนั้น
แบบฟอร์มนักเรียนหญิงคือเสื้อขาว กระโปรงน้ำเงิน แต่สวมรองเท้าสีขาวหรือดำก็ได้ หนูน้อยเหล่านี้คงถูกเกณฑ์ให้มายืนรอปรบมือนานแล้ว พวกเธอคงถูกอบรมให้มีความอดทนอยู่เป็นนิตย์ ยังส่งยิ้มแช่มชื่นได้อยู่ แม้ว่าขบวนรถที่จอดรอคิวให้ผู้โดยสารลงทีละคัน จะยาวเหยียดหลายสิบคันทีเดียว
เราเริ่มการเยี่ยมชมตั้งแต่แผนกของเด็กชาย มีห้องหัดขับรถยนต์อยู่กับที่ ให้ลองบังคับพวงมาลัย มีการศึกษาส่วนประกอบของเครื่องยนต์จากของจริง ห้องหัดทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ห้องหัดชกมวย ยูโด และกีฬาอื่น ๆ โดยเฉพาะห้องเล่นปิงปองใหญ่มาก วางโต๊ะปิงปองไว้ถึง 12 โต๊ะ
1
สำหรับเด็กผู้หญิง จะเน้นการหัดดนตรี (พร้อมกับหัดฉีกยิ้มกว้างๆ ไปด้วยขณะเล่น) บัลเลต์ ยิมนาสติก การปักผ้าด้วยไหม วาดเขียน และหัดเขียนตัวหนังสือเป็นอักษรสวยๆ สำหรับห้องหลังนี้ พอพวกเราโผล่เข้าไป เด็กๆ ก็เขียนป้ายภาษาอังกฤษ ความว่า “ยินดีต้อนรับผู้มาเยือน” แล้วยื่นให้พวกเราอ่าน
ในห้องดนตรีมีอุปกรณ์หลายประเภทเช่น แอคคอร์เดียน ไวโอลิน ห้องเปียโนมีแกรนด์เปียโน 4 ตัว และเปียโนธรรมดา 3 ตัว มีเด็กชาย – หญิงตัวเล็ก ๆ กำลังซ้อมอยู่อย่างขะมักเขม้น
ถ้าเป็นบ้านเรา นักเรียนเปียโนส่วนใหญ่ จะสอบเลื่อนเกรดกับสถาบัน Trinity College of London ของอังกฤษ นายสงสัยว่า พวกมีแววดนตรีที่นี่เขาจะไปเรียนต่อที่ไหนกัน กบน้อยอธิบายว่า ถ้าจะเรียนดนตรีต่อ ก็ไปมอสโคว์ หรือเวียนนา หรือไม่ก็ไปเรียนที่ฝรั่งเศสก็ได้
ด้านยิมนาสติกก็มีการฝึกกันหนัก เป็นที่นิยมทั้งเด็กและผู้ปกครอง เพราะมีแรงจูงใจจากประเทศพี่เบิ้มทั้ง 2 ประเทศ คือจีนกับรัสเซีย ยังมีงานผีมืออีกชนิดหนึ่งที่เราทึ่ง นั่นก็คือการปักผ้าด้วยไหมเส้นละเอียด ถือเป็นหัตถกรรมดั้งเดิมแบบคลาสสิคที่ประณีตมาก ที่เขาพยายามรักษาเอาไว้ เมื่อเราได้มีโอกาสไปดูที่ร้านขายของของรัฐ ก็ได้เห็นชิ้นงานผ้าปักไหมเป็นส่วนใหญ่ แม้แต่รูปภาพ ก็ปักด้วยไหมสีสดๆ ใส่กรอบวางขายอยู่
ในห้องดนตรี ฟองน้ำติดใจเด็กเกาหลีตัวน้อยๆ ในชุดเกาหลีสีสดใส และถูกฝึกให้ยิ้มค้างเอาไว้ตลอดเวลาที่เล่นดนตรีอยู่ หนูๆ เหล่านี้เล่นจะเข้เกาหลี ที่เรียกว่า “คายากุม:Gayageum” เสียงของมันเพราะใส เข้ากันกับทำนองเพลงเกาหลีที่หวานๆ แกมเริงร่าเร้าใจนิดๆ (นายว่าคล้ายเสียงพิณฝรั่งผสมกับเสียงจระเข้ของเรา)
1
นายพยายามปะติดปะต่อลักษณะของเพลงเกาหลีเอาไว้ว่ามี 3 ประเภท คือเพลงปลุกใจให้รักชาติและเลื่อมใสผู้นำและอุดมการณ์ ซึ่งฟังแล้วฮึกเหิม เพลงชมธรรมชาติที่หวานๆ และเพลงเศร้าๆ ที่คร่ำครวญอาลัยหาทหารหาญผู้จากไปเพื่อปฏิบัติภารกิจของชาติ ประเภทเพลงเพื่อชีวิตแบบบ้านเรา หรือจำพวกที่ร้องไปเต้นไปจนไฟแลบ แบบตะวันตกนั้นไม่เคยเห็นเลย
ระหว่างเวลา 5 – 6 โมงเย็น เราเข้าไปชมการแสดงของนักเรียนในโรงละคร เขาจัดฉากสวย และเด็กๆ ก็แสดงได้ดี เสียดายที่นั่งไกลไปหน่อย ฟองน้ำจึงไม่อาจถ่ายรูปน่ารักๆ ของเด็กๆ มาฝากคุณได้
ที่บ้านมารัม หลังอาหารเย็น คณะเรายังมีรายการนั่งเล่นย่อยอาหารที่ศาลาริมทะเลสาบเหมือนเมื่อคืนก่อน มองพระจันทร์ที่ยังเต็มดวงอยู่ แล้วใครหลายคนก็เลยพากันเชียร์ให้คุณหมอร้องเพลงโปรด Full Moon And Empty Arms ตุ้ยนุ้ยกับกบน้อยฟังแล้วเคลิ้ม ถึงกับเปลี่ยนบทจากผู้สังเกตการณ์มาเป็นผู้ร่วมรายการในคืนนี้ด้วย
โดยตุ้ยนุ้ยฝอยเรื่องตำนานรักของหนุ่มสาวเกาหลีสมัยโบราณ และกบน้อยก็โหยหวนเพลงรักที่ไม่มีการแปลให้เราฟัง เป็นที่ครึกครื้นสนุกสนาน
มินิคอนเสิร์ตครั้งนี้จบลงเมื่อดึกมากแล้ว
โปรดติดตอนต่อไป......

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา