23 มิ.ย. 2022 เวลา 05:00
Ep. 14 เยี่ยมชมมหาวิทยาลัย คิม อิล ซุง
มหาวิทยาลัย คิม อิล ซุง
ขอบคุณภาพจาก http://www.ryongnamsan.edu.kp/
วันที่ 30 สิงหาคม 2528 วันนี้ มีนัดไปชมมหาวิทยาลัย คิม อิล ซุง เวลา 9 โมงเศษ หลังจากทานอาหารเช้าตามปกติตอน 7 โมงแล้ว เรายังมีเวลาเหลือเฟือ นายกับฟองน้ำจึงพากันไปเดินเล่นตามทางเดินอีกด้านหนึ่งของตึก ซึ่งนายหมายตาเอาไว้หลายวันแล้วว่าจะไปสำรวจดูสักที
ถนนที่บ้านมารัมเป็นคอนกรีตหมด มีทางระบายน้ำแบบปิดตลอดขอบถนน และทำไหล่ทางด้วยการวางหินธรรมชาติก้อนเตี้ยๆ ทางที่เราเดินสำรวจนั้นชันนิดๆ และเคี้ยวคดขึ้นไปบนเนินเขา รอบๆ บริเวณเป็นต้นไม้สูงใหญ่หลายประเภท ฟองน้ำรู้จักเพียงต้นสนใบเขียวจัด ที่มีลูกสีน้ำตาลเกาะเต็ม และเราเห็นมีกรงนกวางอยู่บนต้นไม้บางต้นด้วย นกเหล่านี้ จะบรรเลงดนตรีเพราะๆ ให้เราฟังยามเช้าทุกวัน
ตามเสาไฟฟ้าติดไฟนีออนมีลวดตาข่ายหุ้มเพื่อกันแมลงเข้าไปทำหลอดไฟสกปรก มีแมลงรูปร่างแปลกๆ ที่ฟองน้ำไม่เคยเห็นมาก่อน ติดอยู่ที่ลวดตาข่ายมากมาย ควรที่นักเล่นแมลงบ้านเราจะขอมาดูงานที่นี่บ้าง
เราค่อยๆ ไต่เนินเตี้ยๆ นี้ขึ้นไปอย่างสบายๆ แม้จะสายบ้างแล้ว แต่อากาศบนเขามีความชื้นมาก จึงยังทันได้เห็นน้ำค้างกลอกกลิ้งวาววับอยู่บนยอดหญ้ากลางแสงแดดอ่อน เมื่อขึ้นไปถึงเนินโค้งสุดท้าย เราก็เห็นหลังคาบ้านพักรับรองอีกตึกหนึ่งโผล่ออกมาพ้นยอดไม้ มีรั้วลวดหนามแข็งแรงขึงกั้นไว้ตลอดแนว แต่เมื่อเดินเลี้ยวต่อไปอีกนิด นายก็ชะงัก ...
ทางเดินต่อไปนั้นเป็นทางออกไปสู่ประตูใหญ่ แต่ที่นายชะงัก ไม่ใช่เพราะกลัวจะหลุดออกไปนอกบริเวณดอก แต่เป็นเพราะทหารยามตัวสูงใหญ่สะพายดาบปลายปืนที่ยืนระวังตรงอยู่ที่ประตูนั้น กำลังจ้องเป๋งมาพอดีต่างหาก เขากับนายยืนห่างกันแค่ 50 เมตรเอง! โดยอัตโนมัติ นายส่งยิ้มแห้งๆ แล้วค่อยๆ หันหลังเลี้ยวกลับไปตามทางเดิมอย่างเรียบร้อยและระทึกใจหน่อยๆ
เมื่อเดินกลับพ้นเนินโค้ง ก่อนไต่ทางลาดลงมา เราก็ได้เห็นวิวสวยสงบอยู่เบื้องหน้า จุดที่เรายืนอยู่บนเนิน ดูคล้ายกับว่าเรายืนอยู่บนยอดไม้สูง และเมื่อทอดสายตามองระยอดไม้ลงมา ก็ได้เห็นน้ำในทะเลสาบระยิบระยับเป็นประกายอยู่ในแสงแดด ตัดกับฟ้าสีครามใส
9:30 น. เราก็ไปนั่งเรียบร้อยอยู่ ณ ห้องรับรองของมหาวิทยาลัย คิม อิล ซุง ซึ่งสว่างตาด้วยพรมสีชมพูเข้ม พร้อมที่จะฟังการบรรยายจากท่านรองอธิการบดี
“หลังจากการปลดแอกประเทศเมื่อ ค.ศ.1945 ในวันที่ 1 ของเดือนตุลาคมของปีถัดไป เราก็ได้ตั้งมหาวิทยาลัยนี้ขึ้น ด้วยจุดประสงค์จะสร้างปัญญาชนให้ไปรับใช้ชาติด้านบริหาร เศรษฐศาสตร์ ปรัชญา และยึดมั่นในอุดมการณ์ของประเทศ (ภาษาอังกฤษเขาใช้ว่า มหาวิทยาลัยนี้เป็น “The highest seat of the Juche oriented education”)
เมื่อตอนก่อตั้ง เรามีอาจารย์ 16 คน นักศึกษา 1,500 คน และมี 24 ภาควิชาใน 7 คณะ ต่อมาในปี 1948 ซึ่งเป็นปีที่สร้างมหาวิทยาลัยเสร็จสมบูรณ์ คณะวิชาการคมนาคมและคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้แยกตัวไปตั้งในโรงเรียนโปลิเทคนิค และคณะแพทยศาสตร์ก็แยกไปตั้งเป็น มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์แห่งเปียงยาง คณะเกษตรศาสตร์ ก็ปลีกตัวออกไปเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองวันซัน ...
เราจึงถือว่า มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นมหาวิทยาลัยแม่
เยี่ยมชมมหาวิทยาลัย คิม อิล ซุง
“...ปัจจุบันนี้ (ในปีนั้น) เรามีอาจารย์ประจำ 4,000 คน นักวิจัย 2.000 คน และนักศึกษา 12,000 คน แบ่งเป็นคณะต่างๆ 14 คณะ กับ 8 สถาบันวิจัย มีห้องทำงานวิจัย 50 ห้อง และมีอาจารย์เพียงส่วนน้อยที่ถูกส่งไปเรียนต่างประเทศ” เมื่อเราถามย้ำว่า เช่น ส่งไปเรียนประเทศไหนบ้าง ล่ามก็แปลอ้อมแอ้มว่า ส่งไปเรียนในประเทศที่เป็นมิตรกัน เช่น รัสเซีย จีน และบุลกาเรีย
1
หลักสูตรปริญญาตรีมีทั้งสาขาที่เรียน 5 ปี ได้แก่ กฏหมาย เศรษฐศาสตร์ ปรัชญา ประวัติศาสตร์ และวรรณคดีต่างประเทศ กับหลักสูตร 6 ปี ได้แก่ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ธรณีวิทยา เป็นต้น
 
ระดับปริญญาโทเรียน 3 ปี ปริญญาเอก 2 ปี และยังมีหลักสูตรพิเศษหลังปริญญาตรี โดยเรียนเพียง 1 ปีด้วย
เมื่อปี 1960 เดียร์ลีดเดอร์ คิม จอง อิล ก็ได้เข้ามาเป็นนักศึกษาเศรษฐศาสตร์ที่นี่
 
ภาษาต่างประเทศที่เปิดสอนได้แก่ อังกฤษ รัสเซีย จีน ฝรั่งเศส และเยอรมัน แต่ยังมีสถาบันภาษาแห่งอื่นๆ ที่สอนภาษาต่างประเทศอีกหลายภาษา นอกเหนือจากที่มหาวิทยาลัยนี้
การรับนักศึกษานั้น เลือกจากนักเรียนที่เรียนเก่งทั่วประเทศ แล้วมาทำการสอบคัดเลือกอีกที โดยจะคัดไว้เพียง 20% ของผู้เข้าสอบ 80% ของนักศึกษาที่นี่ อยู่ประจำเพราะเป็นเด็กต่างจังหวัด อีก 20% อยู่ในเปียงยาง นักศึกษาทุกคนจะได้รับเงินช่วยค่าครองชีพทุกเดือนจนกว่าจะเรียนจบ
มหาวิทยาลัย คิม อิล ซุง มีนักศึกษาต่างชาติมาเรียนบ้างเหมือนกัน เขาไม่ได้บอกจำนวน บอกแต่เพียงว่า มีนักศึกษาจากเอเซีย แอฟริกา ลาตินอเมริกา และยุโรปบ้างเล็กน้อย ในขณะที่มหาวิทยาลัยการเศรษฐกิจแห่งชาติ (หรือ ว.ป.อ. แกม นิด้าของนาย) ที่เราไปชมเมื่อวาน ไม่รับนักศึกษาต่างชาติเลย รับแต่คนเกาหลีล้วนๆ
สำหรับอาจารย์ผู้สอนนั้น จะได้รับเงินเดือนตามความสามารถเฉพาะตัว ไม่ได้ขึ้นอยู่กับระดับปริญญาที่ร่ำเรียนมา
 
รู้สึกว่า ท่านรองอธิการบดีจะบรรยายด้วยลีลาซีเรียส ด้วยท่าทางเกร็งหน่อย ๆ ไม่ยิ้มเลย และดูนาฬิกาแก้เขินอยู่เรื่อย ท่านสาธยายต่อว่า
1
สถาบันวิจัย 8 แห่งของมหาวิทยาลัย ได้แก่
- สถาบันแนวคิดของลัทธิจูเช่ (ซึ่งโปรเฟสเซอร์ชาเป็นผู้อำนวยการ)
- สถาบันวิจัยสังคมศาสตร์
- สถาบันวิจัยพลังงานนิวเคลียร์
- สถาบันวิจัยอิเล็กทรอนิกส์
- สถาบันวิจัยฟิสิกส์
- สถาบันวิจัยเคมี
- สถาบันวิจัยเซลและโมเลกุล และ
- สถาบันวิจัยคอมพิวเตอร์และคำนวณ
ในด้านการบริหาร มหาวิทยาลัยมีสภาให้คำปรึกษาแก่อธิการบดีและหัวหน้าภาควิชา (เราก็ลืมถามไปว่า เขามีคณบดีหรือเปล่า) นอกจากนี้ ยังมีคณะกรรมการส่งเสริมหรืออุดหนุนมหาวิทยาลัย (Sponsoring Committee) คณะกรรมการชุดนี้จะไม่ก้าวก่ายการบริหาร แต่จะช่วยด้านการพัฒนามหาวิทยาลัยเท่านั้น
บรรยายสรุปเสร็จ ท่านรองอธิการก็พาไปชมห้องปฏิบัติงานของนักศึกษา ซึ่งเปิดโชว์เป็นบางห้องเท่านั้น ถึงกระนั้น ฟองน้ำก็เมื่อยตาพอแล้ว เท่าที่จำได้ ก็มีห้องพิพิธภัณฑ์สัตว์ป่าสตัฟฟ์ไว้หลายพันธุ์ และสัตว์ทะเลซึ่งเป็นของขวัญจากประธานาธิบดี เขาสรรเลือกสัตว์ที่ตัวโตและรูปร่างหล่อเหลาทั้งนั้นมาสตัฟฟ์ แต่ละตัวยืนวางท่าน่าดูอยู่ในตู้กระจก มีป้ายบอกที่มา น้ำหนัก วันที่สตัฟฟ์
ฟองน้ำเห็นว่ามีหมีหน้าดุ ตัวดำ หนักถึง 420 กิโลกรัม ใหญ่กว่าสัตว์ตัวอื่นๆ ในห้องนี้ แล้วก็มีหมูหนัก 230 กิโลกรัม ตุ้ยนุ้ยมากระซิบอวดนายว่า หมีกับหมูคู่นี้ ถูกแขกที่มาชมถ่ายรูปเอาไปโชว์เกือบจะทุกมุมโลกแล้วนะ
นายคงกลัวมันน้อยใจว่าพี่ไทยไม่สน จึงขอเพื่อนในคณะให้ช่วยถ่ายรูปนายกับหมีและหมูอย่างละรูป ผลปรากฏว่ารูปที่ถ่ายกับหมีไม่ติด แต่รูปที่ถ่ายกับหมูนั้น อัดแล้วหน้าของนายหายออกไปจากกรอบภาพเหลือครึ่งเดียว เห็นแต่หมูถูกโฟกัสอย่างชัดแจ๋วกลางรูปพอดี!
ที่ปีกตึกอีกด้านหนึ่ง คือพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับประวัติของประธานาธิบดีและบุตรชาย พร้อมทั้งภาพลำดับกิจกรรมการเยี่ยมมหาวิทยาลัยของผู้นำทั้ง 2 คน ที่มาเยือนรวมเบ็ดเสร็จกว่า 100 ครั้ง
เขาจัดทางเข้าชมแบบเข้าทาง ออกทาง ติดๆ กันถัดมานั้นเป็นห้องประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย แสดงภาพวันก่อตั้ง วันที่นักศึกษารุ่นแรกเรียนจบ จำนวน 19 คน โดยท่านประธานาธิบดีเป็นผู้มอบปริญญาบัตร ภาพชีวิตในมหาวิทยาลัยช่วงที่ต้องไปเรียนในป่า เพราะต้องหนีระเบิดตอนสงครามเกาหลี ...
เขาติดแอร์ไว้ตลอด 24 ชั่งโมง เพื่อกันไม่ให้ฝุ่นและความร้อน ความชื้น มาทำลายภาพประวัติศาสตร์เหล่านี้ให้เปลี่ยนสภาพไป เมื่อเข้าไปในห้องนี้ เราก็รู้สึกเย็นและหอมชื่นใจ ด้วยเขาฉีดสเปรย์ฟุ้งไว้ทั่วห้อง
 
ทั้งหมดนี้ เป็นการชมห้องต่างๆ ในตึกบริหารของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นตึกเก่าแก่หลังเดียว ตึกอื่น ๆ นั้นล้วนสร้างขึ้นใหม่ ในระหว่าง 10 กว่าปีที่ผ่านมา
1
รองอธิการบดี (ที่ตอนแรกทำหน้าเคร่ง แต่ทว่า ตอนนี้เผยยิ้มบ่อยขึ้นแล้ว) จัดแจงให้ตุ้ยนุ้ยลงจากรถหัวหน้าคณะเราชั่วคราว แล้วท่านเองก็ขึ้นไปนั่งแทน
ท่านนำพวกเราไปชมบริเวณมหาวิทยาลัยซึ่งกว้างด้วยเนื้อที่ 1,150,000 ตารางเมตร เป็นที่ตั้งตึกต่างๆ เสีย 400,000 ตารางเมตร เราแวะเป็นแห่งแรกที่ตึกหอสมุดกลาง ที่นี่มีหนังสืออยู่ประมาณ 2 ล้านเล่ม และมีวารสารภาษาต่าง ๆ 4,000 รายการ มีห้องอ่านหนังสือทั่วไป จุผู้อ่านได้ 1,200 ที่นั่ง
1
หอสมุดกลาง แห่ง มหาวิทยาลัย คิม อิล ซุง
ขอบคุณภาพจาก Exploredprk.com
เรากรายเข้าไปชะโงกดูกลุ่มคนที่กำลังก้มหน้าอ่านหนังสือกันอยู่ พบว่าเป็นหนังสือภาษาเกาหลีทั้งนั้น นักอ่านเหล่านี้อยู่ในชุดนักศึกษา ผู้ชายใส่กางเกงสีเข้ม เสื้อปล่อยชายสีฟ้าอ่อน ผู้หญิงจะใส่เสื้อหลากสีและสวมชุคแซกคอวีกว้างสีเขียวแก่ หรือน้ำเงินเข้มทับอีกที ทุกคนติดเข็มรูปประธานาธิบดีในกรอบต่างกันไปหลายแบบ ซึ่งฟองน้ำไม่ทราบว่า กรอบแต่ละแบบมีความหมายเป็นพิเศษอย่างไรหรือเปล่า
โต๊ะอ่านหนังสือ ทำสำหรับนั่ง 4 คน มีแผงกั้นบนโต๊ะ 2 ด้านเพื่อความเป็นสัดส่วน นักศึกษาสามารถยืมหนังสือทั่วไปได้ครั้งละ 1 – 2 เดือน ห้องสมุดเปิดตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 3 ทุ่ม โดยไม่มีวันหยุด แต่วันอาทิตย์จะยืมหนังสือออกไม่ได้
ในคณะของเรา มีผู้เชี่ยวชาญด้านบรรณารักษ์มาด้วย คือคุณวิ ฟองน้ำจึงแอบตามไปฟังคุณวิซักถามเกี่ยวกับระบบห้องสมุดที่นี่ ได้ยินคุณวิพูดกับคุณนันต์ว่า “รู้สึกว่าเขาไม่มีการสอนวิชาบรรณารักษ์ศาสตร์ และการจัดหมวดหนังสือก็ไม่ได้ใช้ระบบดิวอี้ แต่เป็นระบบเกาหลีล้วน ๆ ...”
 
เราผ่านโรงพิมพ์ของมหาวิทยาลัย แต่เขาไม่ได้พาไปแวะ ผ่านสวนพฤกษศาสตร์ โรงผสมพันธุ์สัตว์ หอพักนักศึกษา ศูนย์สุขภาพและสวัสดิการ ...
2
เราได้แวะชมตึกสังคมศาสตร์ ซึ่งเป็นตึกสูงที่สุดของมหาวิทยาลัย คือสูง 22 ชั้น มีเนื้อที่ใช้สอย 52,000 ตารางเมตร เราขึ้นลิฟท์ไปชั้นที่ 14 ดูการสอนพอเป็นตัวอย่าง 1 ห้อง คือห้องสอนวิชาแนวคิดของลัทธิจูเช่ มีนักศึกษา 14 คน การจัดห้อง มีกระดานทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ส่วนด้านข้าง ก็มีภาพประธานาธิบดีและบุตรชาย ผู้ก่อตั้งและผู้นำลัทธิจูเช่มาประยุกต์ใช้ในเกาหลีเหนือ
แห่งสุดท้ายที่แวะชมคือ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ (Natural Museum) ซึ่งอยู่ไม่ไกลเท่าใดนักจากประตูทางออกของมหาวิทยาลัย สิ่งน่าสนใจในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ อยู่ที่แผนกรวบรวมตัวอย่างหินและแร่มากมายหลายๆ ชนิด ซึ่งแสดงว่า “ทรัพย์ในดิน” ของประเทศนี้มีอุดมมากทีเดียว
ไกด์สาวหน้าแฉล้มในชุดเกาหลี ตัดด้วยลูกไม้โปร่งสีขาวอมชมพูจางๆ อธิบายว่า เนื้อดินของคาบสมุทรเกาหลีนั้นแปลกกว่าที่อื่นตรงที่ชั้นดินสับสนปนกัน แหล่งแร่จึงมิได้อยู่เป็นแนว แต่อยู่ผิดที่ผิดทาง มีการขุดพบแร่ปะปนกันอยู่ประมาณ 200 ชนิดในบริเวณใกล้เคียงกัน
ที่พบมากคือ เหล็ก กราไฟต์ (เราไม่รู้จัก เขาจึงอธิบายว่าคือผงธรรมชาติสีเทาดำมันวาวแต่ทึบแสง มีคุณสมบัติทั้งโลหะและอโลหะ ใช้ผสมเหล็กหล่อให้ดัดงอได้แต่ไม่ยืดหยุ่น นำความร้อนและทนไฟสูง – ฟองน้ำฟังเข้าหูซ้าย ออกหูขวาอีกแล้ว!)
นอกจากนี้ ยังมี ทังสเตน ถ่านหินแอนทราไซต์ และทองคำ เป็นต้น เกาหลีเคยผลิตทองคำได้เป็นอันดับ 5 ของโลก ในช่วงระหว่างปี 1931 – 1934 สมัยยังไม่ได้แบ่งเป็น 2 ประเทศ โดย 2 ใน 3 ของทองที่ผลิตได้ มาจากดินแดนเกาหลีเหนือ
เนื้อที่ส่วนใหญ่เป็นหินแกรนิต 27% หินไนส์ 31% นอกนั้นเป็นหินบะซอลต์ หินปูน และ หินทราย ส่วนที่เป็นดิน มีเนื้อดินเหนียวปนอยู่ถึง 12.5%
จากสัดส่วนของทรัพยากรธรรมชาติที่มี ทำให้เกาหลีมีการทำเครื่องแก้ว เครื่องกระเบื้อง และเซรามิคมากกว่าอย่างอื่น อนุสรณ์สถานใหญ่โตที่สร้างไว้หลายแห่ง ก็ล้วนสร้างด้วยหินแกรนิตก้อนโตๆ เป็นส่วนใหญ่
และเนื่องจากเกาหลีมีภูเขาหลายพันลูก จึงมีป่าไม้นานาพันธุ์ที่อุดมด้วยสัตว์ป่า เช่น เสือ หมี จิ้งจอก อยู่มาก เราแบ่งเขตภูมิศาสตร์ออกเป็น 2 ภาค ตามชนิดของพันธุ์ไม้ คือ เขตทางเหนือเป็นไม้สนเมืองหนาว ในฤดูหนาวจะมีหิมะปกคลุมอยู่ทั่ว มีสถานที่เล่นสกีหลายแห่ง
ส่วนเขตทางใต้อบอุ่นกว่า มีต้นไม้จำพวกสนที่ผลัดใบ และมีโสมธรรมชาติขึ้นอยู่ตามป่าเหล่านี้ กับทั้งมีการปลูกโสมตามหมู่บ้านหลาย ๆ แห่งทั่วไป โสมเลี้ยงนี้เจริญเร็วกว่าโสมป่าหลายเท่า ราคาจึงถูกกว่าโสมป่าหลายเท่าเช่นกัน แหล่งโสมที่มีชื่อเสียงที่สุด คือโสมจากเมืองแคซอง (Kaesong) อยู่ใกล้ ๆ กับตำบลปันมุมจอมนี่เอง
ในพิพิธภัณฑ์ มีโสมป่าอายุ 80 ปี ที่เขาขุดได้ตั้งโชว์อยู่ในตู้กระจก เป็นโสมที่มีรูปร่างสมบูรณ์แบบ ต้องตามตำราโสมเกาหลีแท้เป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือ มีลำต้นตรง มีดอกเป็นพวงงามคล้ายดอกโป้ยเซียน มีกิ่ง 3 กิ่ง และที่สำคัญคือ หัวโสมก็มี 3 หัวด้วย
ไกด์เธอบอกว่า ถ้าคุณเดินเข้าไปในป่า แล้วไปเจอโสมป่าลักษณะนี้เข้าสักไม่กี่ต้นละก็ คุณจะรวยไม่รู้เรื่องทีเดียว เพราะใครๆ ก็อยากเป็นเจ้าของ “ซังซัม” กันทั้งนั้น (โสมธรรมดา เรียกว่า Insam แต่เกาหลีใต้เรียก Ginseng/แต่โสม 3 กิ่ง 3 หัวแบบนี้ เรียกว่า Sansam)
2
ก่อนเที่ยงเล็กน้อย เราไปแวะที่สถานทูตจีนอีกครั้ง เพื่อแจ้งว่าได้ตั๋วรถไฟแล้ว เจอเจ้าหน้าที่คนเดิม ซึ่งวันนี้ยิ่งน่ารัก และบริการประทับใจเหลือเกิน พอเห็นพวกเราเขาก็แจ้งทันทีว่า ได้โทรศัพท์ติดต่อทางการจีนให้เราเรียบร้อยแล้ว ไม่ต้องห่วงทั้งเรื่องที่พักและโปรแกรม เพราะเจ้าหน้าที่จากคณะกรรมาธิการการศึกษาของจีนจะมารับพวกเราที่สถานีปักกิ่ง
แล้วเจ้าหน้าที่สถานทูตจีนผู้นี้ ก็จัดการประทับตราวีซ่าเข้าจีนลงบนพาสปอร์ตของเราอย่างรวดเร็ว ใช้เวลาเพียง 15 นาที สำหรับพาสปอร์ตทั้ง 15 เล่ม เราซาบซึ้งในน้ำใจของเขาเสียจนลืมมอบหนังสือที่ระลึกเกี่ยวกับเมืองไทยที่เตรียมไว้ มานึกได้ว่าลืม ก็ต่อเมื่อมาถึงบ้านมารัมแล้ว!
ขากลับจากสถานทูตจีน เจอรถติดนิดหนึ่งเป็นครั้งแรก ที่ใกล้ๆ ทางแยกออกนอกเมือง (ราว 2 นาที ก็ถือว่าเป็นเรื่องไม่ปกติแล้ว) เราต้องรอให้ขบวนรถบรรทุกทหาร 10 กว่าคันผ่านไปก่อน ในรถ มีทหารชาย – หญิงนั่งปนกันมาเต็มทุกคัน ระหว่างหยุดรอ มีกลุ่มชาวนาหญิงถือห่อผ้ากันทุกคนเดินผ่านรถเรา เมื่อเห็นพวกเราในรถติดป้ายดาวแดง เธอเหล่านั้นก็พากันหยุดโบกมือยิ้มให้
ไม่ทราบว่าตุ้ยนุ้ยของเราคิดอะไร ถึงได้หันมาพูดว่า “ใคร ๆ ก็ชอบกล่าวหาว่าประเทศเราไม่มีเสรีภาพ นั่นไม่จริงหรอก เพราะคุณก็เห็นแล้วใช่ไหมว่า คนกลุ่มที่ผ่านไปนี้ มีใบหน้าที่ยิ้มแย้มมีความสุขดีออก ... คนเกาหลีทางใต้กับทางเหนือนั้น ที่จริงมีความรู้สึกนึกคิดเป็นหนึ่งเดียวกันแท้ๆ แต่ ‘คนอื่น’ ต่างหากที่แยกเราออกจากกัน”
 
ไม่มีคอมเม้นต์จากนาย นอกจากรอยยิ้ม (สไตล์เดียวกับชาวนาเมื่อตะกี้?)
1
โปรดติดตามตอนต่อไป........

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา