29 มิ.ย. 2022 เวลา 05:00
Ep. 15 สู่เขาเมียวญัง
ภาพมุมสูงจากเขาเมียวญัง
บ่าย 3 โมงตรงเป๋ง เราออกเดินทางด้วยรถบัสเพียงคันเดียวเพื่อไปค้างแรมบนภูเขาเมียวญัง (Mount Myohyang) อันเป็นสถานที่พักตากอากาศบนเขาที่มีชื่ออันดับสอง รองลงมาจากเทือกเขากุมกัง ที่ได้รับสมญาว่า “เทือกเขาแอลป์สแห่งเกาหลี”
1
การเดินทางเที่ยวนี้อบอุ่นและสนุกสนาน ด้วยคณะทั้ง 15 คนได้นั่งรวมกันในรถคันเดียวเป็นครั้งแรก มีคุณหลังกับล่ามตุ้ยนุ้ยเดินทางมาด้วยเพื่ออำนวยความสะดวกให้เรา ส่วนกบน้อยนั้นถูกเรียกลงกลางทางเพื่อให้ไปทำธุระอื่น
อันที่จริงเราเคยขอคุณหลังไว้แล้วว่า อยากนั่งรวมกันตลอดการมาเยือน เพราะที่นั่งในมินิบัสก็ยังมีเหลือเฟือ และเขาจะได้ไม่เปลืองรถเก๋งอีก 2 คัน แต่คุณหลังสั่นศีรษะเด็ดเดี่ยว พร้อมกับยิ้มสุภาพตามวิสัย และไม่พูดอะไรเลย เราจึงต้องยอมเขาตามเคย
รถแล่นผ่านที่ราบเชิงเขาที่เต็มไปด้วยนาข้าวเหลืองอร่าม บางแห่งก็เก็บเกี่ยวแล้ว เนื้อที่ราบสำหรับการเพาะปลูกเขามีไม่มากนัก จึงใช้ที่ดินให้เป็นประโยชน์แทบทุกตารางนิ้ว เขาปลูกถั่วเหลืองไว้เต็มคันนา และขอบทางก็เป็นต้นทานตะวันกำลังออกดอกเหลืองเช่นกัน เรียกได้ว่าไม่มีที่ดินแห่งไหนถูกทิ้งให้ว่างเปล่าเลย
พืชที่ปลูกบางแห่งเท่าที่เห็น มีมะเขือยาว พริก และผักกาด ซึ่งใช้มากในการทำกิมจิ ที่ทุกบ้านจะทำเก็บไว้กินระยะยาวทั้งปี
คนใช้รถใช้ถนนกับชาวนาที่นี่ดูเขาถ้อยทีถ้อยอาศัยกันดีเหลือเกิน ระยะนี้เป็นฤดูเกี่ยวข้าว ชาวนาจึงเอาข้าวเปลือกมาตากไว้บนถนนคอนกรีต กินเนื้อที่ถึงเกือบครึ่งถนน เป็นระยะทางยาวหลายสิบกิโลเมตร คนขับรถก็จะค่อยๆ ขับเลี่ยงไปไม่ให้ทับข้าวเปลือก เกวียนที่บรรทุกข้าวเปลือกเทียมวัวเดี่ยว และล้อเกวียนทำด้วยยางรถยนต์เส้นบางๆ
ผ่านเมืองซุงชน (Sungchon) ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมใหญ่ มีโรงงานทำปูนซีเมนต์ และโรงงานทำเส้นใยสังเคราะห์ ตุ้ยนุ้ยอธิบายว่า เมืองอุตสาหกรรมใหญ่ของประเทศมีทั้งหมด 17 แห่ง
ก่อนขึ้นเขา เราผ่านเมืองเล็ก ๆ ชื่อ แคชน (Kaechon) เมืองนี้มีถ่านหินเยอะ ที่สถานีรถไฟมีโบกี้บรรทุกถ่านหินอยู่เต็มจอดอยู่หลายคัน ตัวสถานีและบริเวณใกล้เคียงถูกปกคลุมด้วยฝุ่นจากถ่านหินจนเป็นสีมอ ๆ ที่หน้าสถานี มีรูปประธานาธิบดีแผ่นใหญ่ติดอยู่ เหมือนสถานีอื่น ๆ ที่เคยผ่าน รถไฟจากเปียงยางจะมาจอดที่สถานีนี้เป็นจุดสุดท้าย ก่อนขึ้นไปยังสถานีปลายทางบนเขาเมียวญัง
พอรถเริ่มขึ้นเขา เราก็ได้เห็นไร่ถั่วเหลืองสลับกับไร่หม่อนเต็มไปหมด เขามีการเลี้ยงไหมและทอผ้าไหมอยู่มากพอสมควร แต่ไหมเกาหลีนั้นเส้นบางละเอียดมากและเนื้อเรียบ มีความมันแวววาวในตัวน้อยกว่าไหมไทย ช่างทอส่วนใหญ่ มักทอผ้าแบบปักแคบ ราว 24 นิ้วเท่านั้น ราคาตกประมาณเมตรละ 80 – 100 บาทไทย เป็นอย่างต่ำ
ภาพมุมสูงของแม่น้ำชงชล
ทางบนเขาคดเคี้ยวเลียบแม่น้ำชงชล (Chongchol) ซึ่งแปลว่า "ลำธารสีน้ำเงิน" น้ำใสสะอาดจริงๆ เต็มไปด้วยกรวดทราย และสะท้อนสีน้ำเงินของท้องฟ้าสมชื่อ ตามเกาะแก่งบางแห่ง มีคน (ผู้ชาย) นุ่งลมห่มฟ้าอาบน้ำ โดยนั่งอยู่บนโขดหิน หันหลังให้ถนนพอมิให้ดูอนาจาร
1
ไกลออกไปอีกฝั่งแม่น้ำ เห็นไร่เขียวชอุ่ม และทิวเขาซ้อนเหลื่อมกันอยู่ลิบๆ เราเลี้ยวซ้ายข้ามสะพานอันน่าหวาดเสียวตรงที่ไม่มีราว มีแต่ตอซีเมนต์กั้นขอบสะพานเป็นระยะห่าง ๆ สูงราว 1 ฟุตเท่านั้น ไม่เหมาะอย่างยิ่งที่คนเสพเหล้าโสมจนเพียบ จะขับรถผ่านกลางดึก
ข้ามสะพานแล้ว ก็เป็นเนินศาลาที่พักริมทาง วิวสวย มองลงมาจากศาลาแห่งนี้ เห็นวิวคุ้งน้ำได้ถึง 2 โค้ง เขาปลูกดอกบานชื่นฝรั่งสวยๆ หลากสี นักเล่นไม้ดอกจากเมืองไทยในคณะหลายคน จึงถือโอกาสแอบขมายดอกแห้ง นิดๆ หน่อยๆ ใส่กระเป๋ามาแกะเมล็ดเก็บไปเพาะ ...
ฟองน้ำหวังว่า ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ดอกบานชื่นพันธุ์ ‘เมียวญัง’ นี้ คงจะบานสะพรั่งอยู่ตามหมู่บ้านแถบเชิงดอยสุเทพ …
คณะเรามีแผนกส่งเสบียงบำรุงกำลังที่มีประสิทธิภาพ จึงไม่มีใครเหงาปากขณะชมวิว เพราะคุณสุ กับ คุณพึง หัวหน้าแผนกนี้ทั้ง 2 คน (มีอำนาจใหญ่เท่ากัน) จัดแจงปอกผลไม้ที่คว้ามาจากพานในตู้เย็นบ้านมารัม ส่งมาให้รองท้องอยู่เรื่อยๆ และยังมีช็อกโกแลตกับทอฟฟี่ยี่ห้อมารัมเช่นกัน กับผลไม้อื่นๆ อีกถุงใหญ่ให้เคี้ยวเล่นอีกด้วย
ทางต่อจากนี้เริ่มชันขึ้น และแม่น้ำซึ่งเคยอยู่ทางซ้ายมือก็กลับมาอยู่ด้านขวาของเรา
ประมาณ 6 โมงเย็นเราก็เดินทางมาถึงเชิงเขาเมียวญัง ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองชื่อเดียวกับภูเขา สถาปัตยกรรมของเมืองนี้ ตั้งแต่ศาลาเทศบาลไปจนถึงบ้านช่องของชาวเมืองเป็นแบบเกาหลีหมด และกำลังมีการสร้างโรงแรมใหญ่ 2 แห่ง เพื่อรับแขกต่างชาติที่ทะยอยกันมาเยือนเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้โรงแรม ‘เมียวญังซัน’ แห่งเดียวที่มีอยู่ขณะนี้ ชักไม่พอเสียแล้ว
อากาศบนเทือกเขาเมียวญังเย็นนิดๆ กำลังสบาย ภูเขานี้มียอดน้อยใหญ่เรียงรายนับร้อยยอด มีอาณาบริเวณกว้าง 375 ตารางกิโลเมตร เป็นเนื้อที่ท่องเที่ยว 128 ตารางกิโลเมตร ที่เหลือเป็นป่าทึบตามธรรมชาติที่สงวนไว้ (ยังไม่มีการแอบถางเสียจนโล่งเตียนเหมือนในบางประเทศ)
ภูเขาทุกยอดสูงเกิน 1,000 เมตร และยอดสูงที่สุดชื่อ ‘บิโร’ สูง 1,909 เมตร เป็นเขาหินแกรนิตที่อุดมสมบูรณ์ด้วยต้นไม้ใหญ่เขียว มีชะง่อนผารูปร่างแปลกตา ตามหุบเขามีน้ำตกน้อยใหญ่ และลำธารมากแห่งที่มีน้ำเย็นใสไหลรินตลอดปี เขาเลี้ยงปลาเทร้าต์ในลำธารไว้ดูเล่นเท่านั้น (จริง ๆ นะ เพราะเป็นของต้องห้ามสำหรับนักตกปลา)
ในวนอุทยานธรรมชาติแห่งนี้ มีนกนานาชนิดซึ่งทางการสงวนไว้ไม่ให้เป็นเหยื่อของนักแม่นปืน นกเหล่านี้เกาะอยู่ตามแมกไม้ใหญ่ และส่งเสียงเพลงสอดประสานกันระงมยามพลบค่ำ
ฤดูร้อนบนเทือกเขาเมียวญัง
ตอนนี้เป็นฤดูร้อน ภูเขาเขียวแห่งนี้จึงถูกแต่งแต้มด้วยสีสันของดอกไม้ที่บานสะพรั่ง ดอกไม้บางชนิดก็ส่งกลิ่นหอมรวยริน แต่กลิ่นหอมเหล่านี้คงจะไม่เป็นที่สบจมูกของเหล่านก เพราะฟองน้ำสังเกตว่า ไม่ค่อยได้ยินเสียงนกร้องตามต้นไม้ที่อยู่ใกล้ดงไม้หอม แต่อาจเป็นอุปทานส่วนตัวของฟองน้ำเองก็ได้ ที่คิดเอาเองว่า วิหคเกาหลีไม่ชื่นชมของหอมๆ น่ะ!
รถของเราแล่นข้ามสะพานเหนือธารน้ำใสชื่อ ‘เฮียงซัน’ แล้วเลี้ยวซ้ายขึ้นเนินไปนิดเดียว เราก็ได้เห็นโรงแรมเมียวญังซันโดดเด่นอยู่ในหุบเขาเตี้ยๆ ไกลออกไปเป็นเขาสูงอยู่รายรอบ ทางเข้าโรงแรมเป็นซุ้มประตูกว้าง เขียนคำขวัญไว้ยาวตลอดความกว้างของคานประตู ใจความจะแปลว่ากระไรก็ไม่มีจังหวะจะถามตุ้ยนุ้ย ฟองน้ำคิดว่าคงจะเป็นป้ายยินดีต้อนรับที่มีรายละเอียดขยาย
ตัวโรงแรมเป็นตึก 3 ชั้น หลังคาสีเขียวแบบเกาหลี หน้าจั่วงอนเชิดขี้นไปน้อยๆ ทั้ง 2 ข้าง เป็นโรงแรมที่ทางการจัดไว้รับรองแขกต่างชาติ มีประมาณ 30 ห้องเท่านั้น เป็นห้องชุดเสีย 4 ห้อง อยู่ที่มุมสุดของปีกตึก
ที่ห้องโถงของโรงแรม มีต้นโสมบอนไซทรงสวยมากวางโชว์อยู่บนขอนไม้ ผนังห้องประดับด้วยภาพวาดของประธานาธิบดีที่ห้อมล้อมด้วยบุคคลต่างวัย ต่างอาชีพ จำได้ว่า เราเจอภาพนี้ในที่หลายๆ แห่ง เป็นภาพที่วาดโดยจิตรกรมีชื่อของเกาหลี ซึ่งชื่อของเขาออกเสียงยากชะมัดจนฟองน้ำจดเป็นภาษาไทยไม่ถูกและจำไม่ได้แล้ว
ตรงข้ามกับเคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ มีร้านเล็กๆ อยู่ 2 ร้าน ขายของที่ระลึกและของใช้ที่จำเป็นบางอย่าง เช่น หวี แป้ง น้ำมันทาผิว เป็นต้น และขายเครื่องดื่มชนิดมีแอลกอฮอล์ด้วย
เคาน์เตอร์ของโรงแรมเมียวญังซันนี้แปลกตรงที่ว่า ตรงผนังด้านหลังเคาน์เตอร์ มีรองเท้ายางหุ้มส้นสีน้ำเงินและดำ ห่อถุงพลาสติกใสหลายสิบคู่ วางเรียงรายอยู่เต็ม
พนักงานต้อนรับมองตามสายตาของเรา แล้วอธิบายว่า เป็นรองเท้าใส่ปีนเขาที่ทางโรงแรมจัดไว้บริการแขก ทั้งนี้เพราะ 90% ของแขกที่มาพักซึ่งล้วนเป็นชาวต่างประเทศ มักจะไม่มีใครเตรียมรองเท้ากีฬาใส่กระเป๋าเดินทางมาด้วย และจุดท่องเที่ยวของที่นี่ คือการปีนเขาชมธรรมชาติ
นอกจากนี้ แผนกห้องอาหารก็พร้อมเตรียมอาหารกล่องและเครื่องปิกนิกไว้เสมอ สำหรับผู้ที่ต้องการปีนเขาสูงลูกที่อยู่ไกลๆ ซึ่งต้องใช้เวลาไป - กลับทั้งวัน
ภาพมุมสูงของโรงแรมเมียวญังซัน
เราได้ห้องพักสำหรับ 2 คน อยู่ชั้นล่างบ้าง ชั้นบนบ้าง หัวหน้าคณะได้ห้องเก๋หน่อยตรงที่เป็นห้องชุด ติดป้ายสีแดงไว้เหนือประตูว่า ท่านประธานาธิบดีเคยมาพักผ่อนที่ห้องนี้ 2 ครั้ง คือเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 1979 และวันที่ 17 เมษายน 1981
ตรงหน้าห้อง มีเก้าอี้รับแขกวางอยู่นอกเหนือจากในห้องอีก 1 ชุด และเมื่อเราตามเข้าไปชมห้องพักด้านใน ก็ได้พบเฟอร์นิเจอร์ประดับอยู่ชิ้นเดียวในห้องรับแขก นั่นคือภาพของท่านประธานาธิบดี ติดอยู่ที่ผนังบุวอลล์เปเปอร์เป็นดอกไม้สีเหลืองเล็ก ๆ น่ารัก ทำให้ห้องดูใสสว่าง ส่วนห้องนอนเป็นสีชมพูจาง แต่ผ้าคลุมเตียงเป็นไหมมันหนาหนักสีแดงทอลวดลายแบบเกาหลีในเนื้อผ้า ห้องน้ำกว้างมาก กั้นแยกส่วนจากห้องสุขา
ที่ทำให้เราตื่นตา คือทัศนียภาพอันรื่นรมย์ที่เฉลียงกว้างด้านหลังของห้องชุดนี้
เมื่อเปิดประตูออกไป ก็ได้เห็นสนามเขียวเรียบ ลาดลงไปยังทางเดินที่ปลูกดอกไม้สวยๆ ไว้เต็มขอบทาง เมื่อข้ามทางเดิน ก็เป็นพุ่มไม้และลำธารที่เราเพิ่งข้ามมา คะเนว่าลำธารคงอยู่ห่างจากตัวโรงแรมราว 100 เมตร เรายังได้ยินเสียงน้ำไหลเซาะโขดหินได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะในตอนกลางคืน และไกลออกไปราว 500 เมตร คือขุนเขาสูงตระหง่านเงื้อม ดูทะมึนน่าเกรงขามในช่วงพลบค่ำ
1
เขาเมียวญัง
อาหารเย็นกำหนดเวลา 2 ทุ่ม ดังนั้นหลังจากอาบน้ำแล้ว นายกับฟองน้ำจึงออกไปเดินเล่นรอเวลา เดินเลี้ยวออกห้องโถง เป็นห้องบิลเลียด ประตูเปิดแง้มไว้ ฟองน้ำเห็นคุณหลังกำลังสำราญอยู่กับการแทงบิลเลียดอย่างทะมัดทะแมงทีเดียว
ที่ห้องโถง นายได้พบผู้หญิงอินเดียวัยสาวใหญ่ผู้หนี่ง เธออยู่ในชุดกางเกงกระทัดรัด กำลังยื่นรองเท้าปีนเขาคืนให้กับเจ้าหน้าที่ของโรงแรม เมื่อหันมาเห็นนาย เธอก็ทำท่าแปลกใจหน่อยๆ เพราะเธอทราบดีว่านายต้องไม่ใช่คนเกาหลี แต่ทว่า แขกต่างชาติของประเทศนี้ที่หน้าเอเชียมีน้อยมาก จึงคงทำให้เธอฉงน ใคร่รู้ว่านายเป็นใครกัน
เธอเดินมาถามว่านายมาจากไหน นายตอบว่า มาจากกรุงเทพ (เพราะกลัวว่าเธอไม่รู้จักเชียงใหม่) เธอร้องขึ้นมาทันทีว่า “เหมือนกันเลย ฉันก็มาจากกรุงเทพ ฉันทำงานอยู่ที่เอสแคป ได้รับเชิญมาช่วยปรับปรุงโปรแกรมการศึกษาระดับประถมที่นี่ร่วมกับอีกหลายชาติ และฉันจะกลับกรุงเทพพรุ่งนี้แล้ว ...”
นายกับสาวแขกยืนคุยกันอีกหลายสิบประโยค แล้วสาวแขกก็แยกขึ้นไปอาบน้ำแต่งตัวใหม่ เพราะเธอมีนัดดินเนอร์กับสุภาพบุรุษเกาหลีผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นคนใหญ่โตของการประถมศีกษาเกาหลีเหนือ ส่วนนายก็ออกไปเดินเล่นต่อพร้อมฟองน้ำ
เราเดินไปตามถนนที่ล้อมตัวตึก 3 ด้าน อีกด้านติดภูเขา และด้านหลัง คงเป็นบ้านพักของพนักงานโรงแรม ฟองน้ำชอบที่เขาสร้างถนนให้ห่างจากตัวตึกมากพอที่จะให้ความเป็นส่วนตัวแก่ผู้มาพัก ห้องพักมีระเบียงทุกห้องเหมือนๆ กัน ยกเว้นห้องชุด ที่เฉลียงยื่นยาวออกไปเป็น 3 เท่าของระเบียง มีโต๊ะพร้อมเก้าอี้หวาย 2 ตัวไว้ให้นั่งเล่น
เมื่อเราเดินอ้อมตึกไปจนเกือบสุดทางตัน ก็พบสวนหย่อมแบบเกาหลี เป็นสวนกรวดตบแต่งอยู่ข้างสระน้ำที่ขุดขึ้นเป็นรูปคล้ายใบบัว มีสะพานโค้ง ปูหินกลมๆ เป็นระยะๆ ให้เดินข้าม มีกอไม้ประดับปลูกไว้ใกล้ๆ เชิงสะพานด้วย
และเมื่อหันหลังกลับไปมองที่ตัวโรงแรม ก็ได้เห็นห้องอาหารสวยยังกับภาพวาด เป็นห้องกระจกเต็มทั้ง 2 ด้าน ประดับด้วยม่านลูกไม้สีขาว ที่มัดรวบด้วยริบบิ้นสีสดไว้อย่างเรียบร้อย เพื่อให้คนที่มารับประทานอาหารได้มองดูวิวของสวนหย่อมและขุนเขาสูงได้ถนัดตา
ม่านลูกไม้มีระบายจีบ ห้อยโค้งลงมาดูอ่อนช้อย มีต้นไม้ของจริงเลื้อยพันจากเสาไปถึงหลังคา แสงไฟจากโคมแก้วระย้าของห้องอาหาร สะท้อนแวบวับกับกระจกตู้โชว์ด้านหลัง ที่บรรจุขวดเหล้านานาชนิด และของกินเล่นอีกหลายๆ กระป๋อง
มีผู้ใช้บริการที่โต๊ะอาหารเพียง 3 โต๊ะ และผู้ที่นั่งอยู่ที่โต๊ะๆ หนึ่ง ก็คือสาวแขกที่เราเพิ่งเจอเมื่อกี้นี่เอง พร้อมสุภาพบุรุษแต่งสูทโก้ ตอนนี้เธอแต่งส่าหรีสวย นายจึงหายสงสัยว่า ‘เกาหลีจะพาแขก’ ไปดินเนอร์ที่ไหน ด้วยว่า นอกเหนือไปจากที่โรงแรมเมียวญังซันนี้แล้ว เราก็ไม่เห็นแสงไฟจากเนินเขายอดใดเลย
ติดกับห้องอาหาร เป็นเฉลียงเปิดหลังคา มีไม้เลื้อยใช้บังร่มแทน และ มีผ้าม่านโปร่งสีขาวคล้ายๆ ผ้ามุ้งลายเม็ดพริกไทยผูกไว้ พอค่ำลง เขาก็จะปลดโบว์ที่ผูกม่านออก แล้วรูดม่านให้ติดกัน เพื่อกันยุงและแมลงจากภายนอกไม่ให้บินเข้าไปเดินเล่นอยู่บนถ้วยกิมจิหรือจานเนื้อย่าง นายชอบใจความคิดนี้มาก และแอบตั้งชื่อห้องอาหารนี้ว่า “มุ้งกางภัตตาคาร” และนายทำเป็นเรียกสำเนียงเกาหลีให้เพื่อนๆ นายฟังว่า "มุงกัง เรสโตรองต์"
เกิดเป็นนายนี่ก็ดีไปอย่าง เห็นอะไรก็คิดเป็นเรื่องขำไปได้หมด และนายมีวิธีจำประหลาดๆ ที่นายไม่เคยสงวนลิขสิทธิ์ อย่างเช่น เช้าวันนี้ นายบอกฟองน้ำว่า “หนูเอ๋ย วันนี้เราจะไปขึ้นเขา ‘แมวย่าง’ แล้วไปพักที่โรงแรม ‘แมวย่างสั่น’ แล้วรุ่งขึ้นก็ไปปีนเขา ‘มันพกใบตอง’ กัน ...”
(ที่จริง ตุ้ยนุ้ยเรียกว่า เขา ‘มันปกตง’) ก้อนายแปลงชื่อเกาหลีเป็นแบบไทยๆ อย่างนี้ ฟองน้ำจึงจำชื่อสถานที่ต่าง ๆ ได้แม่นเชียวแหละ
1
เดินเรียกน้ำย่อยอยู่จน 2 ทุ่ม ก็ได้เข้าไปใน “มุ้งกาง เรสโตรองต์” เสียที แขกเก่าเหลืออีกเพียง 1 โต๊ะ เมื่อคณะเราเข้าไปจับจอง 2 โต๊ะใหญ่ ทำให้บรรยากาศคึกคักขึ้นมาทันตาเห็น เครื่องดื่มมื้อนี้คือน้ำแร่กับเบียร์ดำ (ซึ่งเขาดื่มกันจัง) ที่วางรออยู่แล้วบนโต๊ะ
อยู่บ้านมารัมไม่กี่วัน ชักจะติดนิสัยเจ้ายศเจ้าอย่างกันแล้ว เพราะพอมองทั้งแก้ว จาน ผ้าเช็ดมือ ช้อนส้อม พวกเราก็เอ่ยออกมาโดยไม่ได้นัดกันเลยว่า “แจ๋วสู้มารัมไม่ได้เลยเนาะ”
อาหารที่จัดแบบไม่ประดิษฐ์ประดอย วางรวมกันไว้บนโต๊ะแล้ว มีผัดผัก 3 จาน ผัดหมูกับปลาเค็มอีก 2 อย่าง และข้าวสวย ไม่มีของหวานหรือผลไม้ และไม่มีการเสิร์ฟเต็มรูปแบบเหมือนที่มารัม ทีแรกเราต่างนั่งคอยเขามาเสิร์ฟ คอยไปคอยมาสักครู่ ถึงนึกได้ว่านอกเมืองกับในเมืองคงจะคนละระบบ เราจึงจัดการช่วยบริการกันและกันอย่างสนุกสนานและสะดวกใจ ยามหิวนี่ อะไร ๆ ก็อร่อยหมด
คุณหลังกับตุ้ยนุ้ยไม่ได้มาทานกับเรา แต่เข้าไปทานในห้องข้างๆ ใกล้ทางเดินเข้าห้องอาหารนี่เอง ห้องนั้นประตูเปิด แต่มีฉากบังทัศนวิสัยภายในห้องเอาไว้ ฟองน้ำแอบทำสายตาโค้งมองเข้าไป เห็นหนุ่มทั้งสองนั่งขัดสมาธิกับพื้นพุ้ยข้าวกันตุ้ยๆ อย่างเอร็ดอร่อย มีกับข้าววางอยู่บนตั่งเตี้ยๆ ที่ตั่งอื่นๆ ก็มีพนักงานนั่งกันอยู่ เสียดายว่าน่าจะให้เรานั่งทานแบบเกาหลีบ้าง
เสร็จจากอาหารเย็นที่ห้องอาหาร เราออกมาจบท้ายมื้อนี้ด้วย “ผลไม้มารัม” ที่เหลือกันต่อ ณ เฉลียงของ “มุ้งกาง เรสโตรองต์” ซึ่งมืดและไม่มีคนเลย เราถือวิสาสะหาสวิตซ์ไฟจนเจอ ช่วยกันยกเก้าอี้ ชั่วพริบตาเราก็จัดที่ประชุมโต๊ะกลมเสร็จ และเมื่อเราจัดการกับผลไม้หมดเรียบร้อย เราก็แยกย้ายกันกลับห้องพัก ต้องรีบนอนเอาแรงหน่อย เพราะพรุ่งนี้ต้องออกแรงปีนเขา “มันพกใบตอง” ไงล่ะ
พอกลับเข้าห้องจริงๆ นายกลับหลับไม่ลงด้วยแปลกที่ นายจึงเปิดประตูออกไปฟังเสียงน้ำเซาะหินอยู่ชั่วครู่ แล้วกลับเข้ามาดูทีวี
ทีวีที่นี่มี 2 ช่อง เป็นของรัฐทั้งคู่ ไม่ทราบว่าเปิดรายการกี่โมง แต่เขาจะจบรายการเวลา 5 ทุ่มทุกคืน
 
จากที่ฟองน้ำได้ดูมา 5 วันแล้ว ฟองน้ำเห็นว่ารายการทีวีของเกาหลีเหนือมี 5 รูปแบบ คือ
1. รายการสดุดีผู้นำ โดยเสนอชีวประวัติ (ซึ่งคงซ้ำๆ อยู่บ้าง) และกิจกรรมประจำวันของท่าน ตลอดจนรายการนำชมสิ่งของ หรือสถานที่ที่สร้างขึ้นโดยได้รับการริเริ่ม ชี้แนะจากผู้นำ ทั้งยังเสนอข่าวของรัฐบาลด้วย
1
2. รายการภาพยนต์ที่เน้นความงดงามของภูมิประเทศ ทิวทัศน์ และสถานที่ท่องเที่ยว
3. ละครปลุกใจ และภาพยนตร์สงคราม เน้นความรู้สึกต่อต้านญี่ปุ่นและอเมริกัน
4. รายการดนตรีสากลคลาสสิค และการละเล่นพื้นเมือง กับดนตรีเกาหลีเท่านั้น ไม่มีประเภทร้องไป ชักกระตุกไป สำหรับดนตรีคลาสสิคนั้น จะเป็นวิดีโอเกี่ยวกับอัจฉริยะทางดนตรีของชาวรัสเซีย หรือของประเทศยุโรปตะวันออก
5. รายการกีฬา มีการถ่ายทอดสดบ่อยๆ โดยเฉพาะการแสดงหรือแข่งขันยิมนาสติค ที่สนับสนุนให้เล่นกันมาก ระยะที่เราอยู่เปียงยาง เป็นช่วงแข่งขันปิงปองชิงถ้วย เกาหลี คัพ มีนักปิงปองจากหลายชาติมาแข่ง รู้สึกว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนจะชนะมากกว่าเพื่อน เขาถ่ายทอดสดการแข่งขันปิงปองให้ดูทุกวัน วันที่ 2 กันยายนที่จะถึงนี้ เป็นวันชิงชนะเลิศ
1
ส่วนรายการข่าวประจำวันนั้น มีเพียงวันละ 2 ครั้งเท่านั้น คือ เวลา 1 ทุ่ม กับ 3 ทุ่ม ... และไม่มีข่าวต่างประเทศผ่านดาวเทียมเลย !
โปรดติดตามตอนต่อไป.........

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา