30 มิ.ย. 2022 เวลา 05:00
Ep. 16 ไปไหว้พระ.... ที่วัดพุทธ
วัดโพเฮียน หรือ วัดโพเฮียวซา
วันนี้ฟองน้ำออกมาชมวิวที่เฉลียงหลังแต่เช้า เมื่อวานวิวมัวไปหน่อย เพราะตะวันลับเขาไปแล้ว
แดดอ่อนยามเช้ากำลังทอทอดไปที่ภูเขาสูงเบื้องหน้า ใกล้ยอดเขาคือหินผามหึมา รูปร่างคล้ายสี่เหลี่ยมผืนผ้าในแนวตั้ง หินผานี้เป็นสีทองแดงอ่อน ตัดแต่งหน้าเรียบ สลักคำว่า “จูเช่” ซึ่งเป็นอักษรเกาหลี 2 คำสีแดงตัวใหญ่มาก ล้อมกรอบด้วยแมกไม้สีเขียวเห็นเด่นแต่ไกล อักษร 2 คำนี้ แต่ละตัวมีความสูง 7 เมตร กว้าง 1 เมตร และสลักลึกลงไปประมาณ 30 เซนติเมตร นี่คือคำที่บ่งถึงศูนย์รวมจิตใจของคนเกาหลีเหนือทุกคน
ตุ้ยนุ้ยบอกไว้ล่วงหน้าแล้วว่า ภูเขาที่เราแหงนจนคอตั้งบ่ามองนี่แหละ ที่ชาวคณะจะต้องไปปีนป่ายบ่ายนี้ !
ประมาณ 8 โมงครึ่ง เราออกไปชมวัดพุทธแห่งเดียวที่เหลืออยู่ในประเทศนี้ คือวัดโพเฮียน หรือ โพเฮียวซา (Pohyon Temple or Pohyosa) ซึ่งทางการบูรณะรักษาไว้ เพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์อีกแห่งหนึ่ง
วัดอยู่บนเขาใกล้กับโรงแรม แต่เราต้องนั่งรถข้ามสะพานไปอีกราว 5 นาทีจึงถึง เมื่อเราลงจากรถ ก็มีไกด์ผิวดีมากในชุดกระโปรงเกาหลีพองๆ รอต้อนรับอยู่ และมีมัคนายกวัดมาช่วยอธิบายด้วยอีกคนหนึ่ง
ทางเข้าวัดนี้ ก็เหมือนกับวัดมหายานโดยทั่วไป คือต้องผ่านประตู 3 ด่าน ประตูเข้าชั้นแรก มีกุมภัณฑ์ 4 ตนเฝ้าอยู่ ประตูที่ 2 เป็นประตูสมาธิ และประตูที่ 3 หมายถึงประตูไปสู่นิพพาน
ก่อนเข้าประตูแรก มีศิลาจารึกเก่าอยู่ 2 หลัก จารึกไว้ว่า วัดนี้สร้างโดยคำสั่งกษัตริย์ เมื่อ ค.ศ.1141 เพื่อใช้เป็นที่ปฏิบัติศาสนกิจของชาวพุทธ ที่ขึ้นมาตั้งรกรากบนเขาใกล้ๆ วัด ต่อมากลายเป็นวัดร้างอยู่ระยะหนึ่ง จนกระทั่งถึงปี ค.ศ.1242 จึงมีการค้นพบวัดนี้ และบูรณะขึ้นใหม่ดังปัจจุบัน
ระหว่างสงครามหลายครั้ง ทหารเกาหลีใช้วัดนี้เป็นที่ซ่อนตัว ในการรบแบบกองโจรตามป่าตามเขา ฝ่ายตรงข้าม ได้มาทิ้งระเบิดทั่วป่าทุกแห่ง วัดจึงถูกบอมบ์เสียหาย รวมทั้งหมดถึง 6 ครั้ง ในศิลาจารึก เอ่ยชื่อพระนักรบรูปหนึ่งของศตวรรษที่ 16 ชื่อ ‘โซซัมเดซา’ เป็นหัวหน้า นำทัพเกาหลีต่อสู้กับการถูกรังควานจากจีน และต่อมา นักประพันธ์หลายคนได้เขียนตำนานเกี่ยวกับวีรกรรมของพระรูปนี้ไว้หลายสำนวนด้วยกัน
คณะศรัทธาวัดโพเฮียนมีอยู่ 3,000 คน ซึ่งน่าจะถือเป็นตัวเลขของจำนวนชาวพุทธในเกาหลีเหนือได้ เพราะไม่มีวัดพุทธอื่นหลงเหลืออยู่อีกแล้ว
กุมภัณฑ์เฝ้าหน้าประตูวัด
รัฐบาลเป็นผู้อุปถัมภ์วัดนี้ โดยให้เงินเดือนพระ คนทำความสะอาดวัด รวมทั้งเงินเดือนผู้ดูแลวัด และ คนสวน – สนามหญ้า มีการซ่อมแซมบ่อย และรักษาความสะอาด ความเป็นระเบียบทั่วบริเวณวัด ซึ่งกินเนื้อที่กว้างบนเขาทั้งลูก นับเป็นวัดที่มีบรรยากาศเป็นธรรมชาติ อยู่ในความวิเวก เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้แสวงหาความสงบสว่างจากธรรมะ
เราเดินผ่านลานวัดที่อยู่ระหว่างศาลา มาหยุดกันที่ใต้ต้นไม้ขนาดกลาง ซึ่งมัคนายกวัดบอกว่า คือต้นโพธิ์ เข้าใจว่าคงจะเป็นโพธิ์คนละพันธุ์กับโพธิ์พุทธคยา เพราะลำต้นและใบไม่คล้ายต้นโพธิ์ที่เราคุ้นตากันเลย
ต้นโพธิ์ที่วัดนี้ มีลูกกลมป้อมสีดำ บรรดาชาวพุทธจะมาคอยเก็บเฉพาะลูกที่หล่น เอามาร้อยเป็นลูกประคำไว้บูชา เส้นหนึ่ง จะร้อย 108 ลูก สายประคำนี้จะเอาไว้ห้อยคล้องคอนับขณะหลับตาสวดมนต์เพ่งสมาธิ
ผ่านประตูที่ 2 และศาลาไม้เพดานสูง มีลวดลายต่างๆ เข้ามาแล้ว ก็มาถึงลานกว้างอีกลานหนึ่ง ตรงกลางเป็นเจดีย์หลายชั้น ก่อด้วยหินแกรนิต สูงราว 5 เมตร มัคนายก ซึ่งรู้จักบางกอกจากแมกกาซีน (เกี่ยวกับศาสนานะ) บอกว่า เหมือนเจดีย์องค์หนึ่งที่วัดโพธิ์ ...
ทั้งวิหารและศาลา สร้างอย่างประณีตงดงาม และวิจิตรด้วยสีสันตามสไตล์เกาหลี โดยเฉพาะหลังคาซีเมนต์ลอนลูกฟูกหนา เป็นชิ้นเล็กๆ ที่นำมาต่อกันนั้น นับว่าเป็นงานละเอียดที่ต้องใช้เวลาสร้างนานทีเดียว
เจดีย์หิน 13 ชั้น
ที่หน้าวิหารใหญ่ มีเจดีย์หิน 13 ชั้น อายุ 600 ปี แต่ยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ เราเห็นโปสการ์ดรูปวิหารกับเจดีย์นี้วางขายอยู่ทั่ว จึงรู้ว่านี่คือจุดถ่ายรูปที่สวยมากแห่งหนึ่งของวัด เราจึงเข้าคิวแถวเรียงสองถ่ายรูปกันเสียหน่อย
วิหารใหญ่ของเดิมถูกระเบิดทำลายไปแล้ว หลังนี้เพิ่งสร้างขึ้นมาใหม่เมื่อสัก 10 ปีมานี่เอง โดยสร้าง ณ ที่เดิม และพยายามให้เหมือนวิหารเดิมให้มากที่สุด
พระประธานนั้นปิดทองทั้งองค์ พระพักตร์ยิ้มอย่างเปี่ยมเมตตา พระหัตถ์ซ้ายชูนิ้วชี้ตั้งขึ้นระหว่างพระอุระ พระหัตถ์ขวากุมนิ้วชี้ องค์พระประดิษฐานอยู่บนแท่นสูง มีกระถางธูปเทียนเรียงรายอยู่เต็มหน้าแท่น ส่วนผนังทั้ง 2 ด้าน ตั้งพระพุทธรูปปางต่างๆ เรียงไว้อย่างเป็นระเบียบ เพดานไม้ เป็นรูปวาดพุทธประวัติตามแนวมหายาน
วัดนี้มีพระสงฆ์ทั้งหมด 7 รูป ครองผ้าสีเหลืองค่อนข้างสดแบบหลวงจีน ที่ฟองน้ำเคยเห็นในหนังกำลังภายใน
คุณหลังคงจะบอกเจ้าอาวาสว่า พวกเรามาจากเมืองพุทธ ท่านจึงบอกว่าจะทำพิธีสวดให้ศีลให้พรแก่เรา พิธีเริ่มโดยท่านเจ้าอาวาสในชุดผ้าต่วนดำมัน มีแถบใหญ่ๆ ที่คอและแขน สวมสายประคำดำ จุดธูปเทียนเป็นอันดับแรก แล้วหยิบบัณเฑาะว์มาเคาะเป็นจังหวะ และร่ายมนต์ตาม
ทีแรกท่านก็นั่งสวดเป็นภาษาคล้ายๆ บาลี เสียงดังกังวาน ต่อมาก็ยืนสวดเป็นภาษาเกาหลี ท่านโค้งคำนับไป เคาะบัณเฑาะว์ไปด้วยเป็นระยะๆ ทั้งหมดนี้ กินเวลาประมาณ 10 นาที ระหว่างที่เรานั่งพับเพียบ พนมมือแต้กันนั้น คุณหลังกับตุ้ยนุ้ยก็ถอยฉากไปนั่งสังเกตการณ์อย่างสนใจอยู่ที่ริมประตู เขาคงไม่เคยเห็นพิธีแบบนี้ เพราะคนที่นี่ส่วนใหญ่ไม่ถือศาสนาใดๆ ทั้งสิ้น
1
ถวายปัจจัยใส่ในตู้กระจกหน้าองค์พระแล้ว พวกเราก็ถ่ายรูปกับท่านเจ้าอาวาสไว้เป็นที่ระลึก
 
ท่านเจ้าอาวาส (นายวงเล็บไว้ในสมุดโน้ตว่า มีลูกมีเมียได้) เล่าว่า ยังมีวัดร้างวัดเล็กวัดน้อยที่ปรักพังอยู่ในหุบเขาแถวนี้อีกราว 30 แห่ง ที่ทางการทอดทิ้ง ไม่ได้บูรณะเหมือนวัดนี้
องค์พระประธานภายในวิหารใหญ่
ออกจากวิหาร เราเดินขึ้นเนินเตี้ยๆ ที่เต็มไปด้วยดอกไม้หลากสี ปลูกอยู่ใต้ต้นสนสูงร่มรื่น วัดนี้ สะอาดและสงบเป็นธรรมชาติดีเหลือเกิน เราเห็นกระรอกตัวน้อยหลายตัวไต่เล่นอยู่บนหลังคา และมีเสียงดนตรีจากจั๊กจั่นบรรเลงแถมให้ฟังอีกด้วย
พ้นเนินเล็กๆ นี้ เป็นวิหารพระโพธิสัตว์ หรือที่ทางมหายานเรียกกวนอิม เป็นวิหารเก่าของเดิม สร้างในศตวรรษที่ 13 สาวไกด์บอกว่า พระโพธิสัตว์องค์นี้ป๊อบปูล่าร์มากกว่าองค์ใดในย่านนี้ เพราะมีชื่อในทางเมตตา ใครมาอธิษฐานขอสิ่งใดก็จะสัมฤทธิ์ผลเสมอ โดยเฉพาะใครที่อยากได้ลูกชายละก้อ ให้มาขอเถอะ รับรองไม่ผิดหวัง ... ฟองน้ำฟังแล้ว ชักอยากพาคุณต้อย เพื่อนร่วมงานของนาย มาไหว้ขอลูกจากท่านมั่งจัง
ที่สนามใกล้ๆวิหารพระโพธิสัตว์ มีหินโม่แป้งขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางราว 1 เมตร ตั้งแสดงอยู่ ในสมัยสงคราม ชาวบ้านที่มาหลบภัยอยู่แถวนี้ ใช้โม่แป้ง และช่วยกันทำขนมส่งไปให้ทหารหาญในป่า ตอนนี้เลิกใช้โม่หินนี้แล้ว แต่ตั้งโชว์ว่าเป็นของเก่าที่มีค่าและมีความหมายชิ้นหนึ่ง ในบริเวณของพิพิธภัณฑ์วัดพุทธแห่งนี้
ศาลาถัดไป ชื่อศาลาเขาคิชกุฏ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ศาลาพระอรหันต์ 18 องค์ ตามจำนวนพระพุทธรูปที่ประดิษฐานไว้ที่นี่ พระ 18 องค์หมายถึงศีล 18 ข้อ ศาลานี้ใช้เป็นศาลาการเปรียญและฟังเทศน์ฟังธรรม สร้างเมื่อ 200 ปีมาแล้ว มีธูปจุดไว้ใหม่ๆ หลายดอก แสดงว่ามีคนเพิ่งมาไหว้พระ เพดานของศาลานี้วิจิตรพิสดารมาก มีรูปดอกบัวอันเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า กับรูปปลา สัญลักษณ์ของความเจริญและร่ำรวย วาดประดับอยู่ทั่ว
ศาลาสุดท้าย คือศาลาเซน ถือว่าเป็นศาลาอันหาค่าบ่มิได้ เพราะเป็นที่เก็บเอกสารต้นฉบับลายมือ และของมีค่ายิ่งทางประวัติศาสตร์ จึงปิดใส่กุญแจไว้อย่างหนาแน่น ภายในศาลาเซน มีเครื่องปรับอากาศและเครื่องควบคุมความชื้นและแสงสว่าง เพื่อรักษาสภาพของโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์เอาไว้
ของมีค่า นอกจากตู้เก็บพระพุทธรูปทองคำแท้ ขนาดเล็กจิ๋ว จนถึงองค์ใหญ่หน้าตักกว้างประมาณ 15 เซนติเมตรแล้ว ยังมีแผ่นไม้แกะสลักของศตวรรษที่ 13 จำนวน 1,159 แบบ และมีแผ่นสลักข้อความในพระสูตรโดยเฉพาะ ถึง 80,000 แผ่น ของโบราณทุกชิ้นถูกเก็บรักษาเป็นอย่างดี ในตู้กระจกปรับอุณหภูมิและความชื้น และจะนำมาแสดงให้ชมเพียงคราวละ 4 – 5 ชิ้นเท่านั้น
เอกสารต้นฉบับลายมือถูกเก็บรักษาอย่างดี
เราออกจากวัดทางประตูอีกด้านซึ่งมีศาลาไว้ระฆังใบใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางกว้างสัก 2 เมตรเห็นจะได้ ระฆังนี้หล่อเป็นรูปมังกรหลายๆ ตัวที่กำลังช่วยกันออกแรงขยุ้มระฆังเอาไว้ ระฆังของเดิมสร้างเมื่อ ค.ศ. 1449 เป็นระฆังของวัดแห่งหนึ่งซึ่งถูกบอมบ์ระหว่างสงคราม เขานำวัสดุเก่ามาหล่อใหม่เมื่อปี 1719 แล้วนำมาตั้งไว้ที่วัดนี้
นอกจากระฆังโบราณนี้แล้ว รอบๆบริเวณศาลาระฆัง ยังวางของเก่าที่ขนมาจากวัดร้าง
แห่งอื่นๆ ไว้อีกด้วย
คนขับรถช่างรู้ใจจริง ๆ ว่าเราเริ่มเมื่อยขาแล้ว จึงมาจอดรถรอเราตรงกลางประตูออกเลยทีเดียว จากนั้น เราก็เดินทางต่อไปยังพิพิธภัณฑ์มิตรภาพ ซึ่งมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า International Friendship Exhibition ที่แฝงตัวอยู่ในอีกหุบเขาหนึ่ง ไม่ไกลมากนัก
โปรดติดตามตอนต่อไป......

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา