29 มิ.ย. 2022 เวลา 11:49 • ประวัติศาสตร์
เมืองสุโขทัยยุคหลัง
ช่วงครึ่งแรกในสมัยพุทธศตวรรษที่ 19 ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง ประชากรมีจำนวนมากขึ้นจึงมีการสร้างเมืองสุโขทัยแห่งใหม่ขึ้นทางทิศใต้ของเมืองสุโขทัยยุคแรก ซึ่งน่าจะเป็นการการขยายเมืองออกมาตั้งบนชัยภูมิที่เหมาะสมกว่าด้วยอีกประการหนึ่ง
เมืองสุโขทัยที่สร้างขึ้นใหม่มีขนาดใหญ่กว่าเดิมประมาณ 8เท่า มีพื้นที่ภายในกำแพง 1,600 ไร่ มีคูน้ำและกำแพงเมือง 3 ชั้น สูงประมาณ 5-8 เมตร ระหว่างกำแพงเมืองมีคูน้ำคั่น เกือบกึ่งกลางของกำแพงเมืองแต่ละด้านมีประตูเมืองและมีป้อมดินรูปสี่เหลี่ยมขวางอยู่
กำแพงเมืองชั้นในสุโขทัย
เมืองสุโขทัยใหม่นี้มีตรีบูร หมายถึงกำแพงเมือง 3 ชั้น คงมีไว้เพื่อป้องกันข้าศึกและคงใช้ประโยชน์จากคูน้ำรอบกำแพงเพื่อกักเก็บน้ำและระบายน้ำเข้าสู่ตัวเมืองไว้ใช้อีกอย่างนึงด้วย
แนวความเชื่อเกี่ยวกับกำแพงเมืองที่เรียกว่า ตรีบูร อาจเกี่ยวเนื่องกับการสร้างศาสนสถาน โดยย่อรูปกำแพงวัดที่มีคูน้ำล้อมรอบ ดังเช่นวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ศูนย์กลางอันศักดิ์สิทธิ์ ตั้งอยู่กลางเมือง มีพระศรีมหาธาตุเป็นเจดีย์ประธาน ที่เปรียบดั่ง พระเจดีย์จุฬามณี ซึ่งพระอินทร์สร้างไว้บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า
สะท้อนให้เห็นว่าเมืองสุโขทัยยุคหลังนี้ได้เปลี่ยนคติจากพุทธศาสนามหายานมาเป็นพุทธศาสนาแบบเถรวาทแล้ว
ที่อยู่อาศัยของประชาชนและแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผา (เตาทุเรียง) จะอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมือง
ทางทิศตะวันตกของเมืองเป็นอรัญญิก (วัดป่า) ตลาดปสาน ไร่นา เรือกสวน ส่วนบ้านเรือนที่อยู่อาศัยอยู่ทางทิศเหนือ
ตลาดปสาน
ทิศตะวันออกและทิศใต้เป็นส่วนของเมืองที่ขยายออกไปเมื่อมีผู้คนเพิ่มมากขึ้นคงตั้งแต่ราวรัชสมัยของพระยาลิไทเป็นต้นมา
นอกจากนี้แล้วยังมีสิ่งก่อสร้างเนื่องในระบบชลประทาน เช่น คันบังคับน้ำ, ทำนบ, คลองส่งน้ำ, คลองระบายน้ำ เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าเมืองสุโขทัยมีระบบการจัดการน้ำที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
อ้างอิง:หนังสือ "ประวัติศาสตร์และศิลปะสุโขทัย" ของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สุรพล ดำริห์กุล

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา