1 ก.ค. 2022 เวลา 18:42 • ความคิดเห็น
ค่านิยมเรื่องบุพการี x บุญคุณ “ต้อง” ทดแทน...จริงหรือ?
ประเด็นนี้ค่อนข้างอ่อนไหวมากในสังคมไทย *คำเตือน* “ถ้ารับไม่ไหว” ให้ข้ามบทความนี้ไปเลยนะครับ
โดยส่วนตัวผมเป็นคนที่สนใจความคิดของ #คนรุ่นใหม่ และคนรุ่นใหม่ที่จะพูดถึงในบทความนี้ก็คือคน Gen Z ซึ่งห่างจากผมไป 2 รุ่น ง่ายๆ ก็คือรุ่นลูกนั่นแหละ (ผม Gen X เจนที่ใกล้กับผมหน่อยก็คือ Gen Y หรือคนยุค Millennials) เด็ก Gen Z จะมีความคิดและโลกทัศน์ที่ค่อนข้างต่างไปจากคนรุ่นผมมาก
คน Gen X รุ่นผม มักถูกนิยามว่าเป็นรุ่นที่คาบเกี่ยวระหว่างยุค Analog กับยุค Digital (ก็ใช่นะ! เพราะผมทันทีวีขาวดำ สมัยเป็นเด็กตัวเล็กๆ กำเงิน 1 สลึง หรือ 50 สตางค์ ยังใช้ซื้อขนมกินได้ ช่วงวัยรุ่นก็ทันเพจเจอร์ และมือถือรุ่นกระติกน้ำ ต่อมาก็อยู่ในยุคที่อินเทอร์เน็ตเพิ่งถือกำเนิดใหม่ๆ) แต่คน Gen Z ถือเป็น Digital native โดยกำเนิด คือตั้งแต่เกิดมาก็แวดล้อมไปด้วยสื่อดิจิตอลแล้ว
เคยถามเพื่อนๆ ที่มีลูกวัยนี้ เล่าให้ฟังว่า เด็กๆ รุ่นนี้ ไม่คิดว่าพ่อแม่มีบุญคุณ เพราะเขาไม่ได้อยากเกิดเอง พ่อแม่ต่างหากที่ทำให้เขาเกิดมา ทำนองนั้น และในคลิปนี้จากเพจ “บ้านกูเอง” ซึ่งเป็นคน Gen Z ก็ตอบว่า #พ่อแม่ไม่มีบุญคุณกับลูก เช่นกัน เพราะเป็นหน้าที่ขั้นพื้นฐานที่พ่อแม่ต้องทำอยู่แล้ว เลยนับเป็นบุญคุณไม่ได้ อาทิ ความต้องการปัจจัย 4 หรือการให้การศึกษากับลูก เป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องรับผิดชอบ โดยที่ไม่ควรนับว่า...เป็นบุญคุณ
เหมือนที่เราต้องการมีสัตว์เลี้ยงอย่าง หมา แมว สิ่งที่ตามมาก็คือความรับผิดชอบในชีวิตนั้นๆ จริงไหม? แล้วทำไม? เราถึงไม่เคยคิดที่จะทวงบุญคุณกับหมากับแมวเลยล่ะ! นั่นคือ...ไม่ได้ต่างกันเลย หากสิ่งมีชีวิตนั้นจะเปลี่ยนมาเป็น “ลูก”
แต่บางครอบครัวที่ไม่พร้อมจะมีลูก (แต่ดันทำให้เกิดมาแล้ว) ก็ไม่ได้รักลูกขนาดนั้น หรือไม่เท่ากับหมาหรือแมวที่เขาเลี้ยงดูอยู่ด้วยซ้ำ ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ ก็มีให้เห็นอยู่ตำตาทั่วไปตามหน้าข่าว ในโลกแห่งความเป็นจริง
โดยพ่อแม่จะนับเป็นบุญคุณไม่ได้ เพราะมีพันธะต่อกัน ที่ทำให้ลูกเกิดขึ้นมาเองโดยที่เขาไม่ได้เลือก ครูในโรงเรียนก็ไม่นับว่ามีบุญคุณเช่นกัน ด้วยพันธะของตำแหน่งหน้าที่ครู และการได้รับเงินเดือนจากการสอน หรือรัฐบาลที่สร้างโครงการที่ดี ทำให้ชีวิตประชาชนดีขึ้นอยู่สุขสบาย ก็นับเป็นบุญคุณไม่ได้ เพราะมีพันธะด้วยตำแหน่งหน้าที่ ที่ต้องบริหารประเทศอยู่แล้ว และยังได้รับเงินเดือนที่มาจากภาษีประชาชน
ความคิดของเด็ก Gen Z ที่น่าสนใจอีกเรื่องคือ คำว่า “บุญคุณ” จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อเป็นบุคคลหรือสิ่งมีชีวิต ที่ไม่ได้มีพันธะด้านการดำรงชีพต่อกันเลย อาทิ ญาติที่ไม่ใช่พ่อแม่ และไม่เคยมาเลี้ยงดูเราเลย แต่กลับส่งเสียเงินให้เราเรียนโดยไม่ต้องการเอาเงินคืนจากเรา แบบนี้นับเป็นบุญคุณได้ หรือพี่ข้างบ้าน มาติวให้เราฟรีๆ แบบนี้นับเป็นบุญคุณได้ เพราะไม่ได้มีพันธะใดๆ ในการดำรงชีพต่อกัน ส่วนเด็ก Gen Z คนไหนรักพ่อแม่ นั่นคือ “ความรัก” ไม่ใช่เรื่องบุญคุณ
เอาล่ะครับ! ด้วยประเด็นแบบนี้มันชวนให้ทัวร์ลงโดยแท้ (ฮา) เพราะเป็นแนวคิดที่ต่างไปจากขนบดั้งเดิมแบบตรงกันข้ามเลย หากถามว่าผมคิดยังไง? เอางี้ ทัวร์อย่าลงผมนะ (ฮา) ผมรับได้...... และไม่ได้คิดว่าความคิดแบบนี้ของเด็ก Gen Z จะแฝงเจตนาไม่ดีอะไร และในคลิปยังบอกอีกว่า ตัวเขาเองยังดูแลพ่อแม่เป็นอย่างดีอีกด้วย ทั้งๆ ที่มีพื้นฐานความคิดแบบนี้แหละ
คลิปต้นเรื่อง #บ้านกูเอง : บุญคุณพ่อแม่ ต้องชดใช้จริงหรอ?
เผยแพร่เมื่อ 17 พ.ย. 2021
ผมเองมีแม่วัยชรา เป็นคนรุ่น Baby Boomer ปีนี้อายุ 75 แล้ว ผมทั้งเต็มใจและไม่เคยมีปัญหาใดๆ ที่จะดูแลแกเลย ใช่! เพราะผมรักแม่นั่นแหละ ตอนนี้เหลือแกอยู่คนเดียว ในขณะที่เตี่ยผมเสียไปนานมากแล้ว แม่ผมมักจะพูดกับลูกๆ อยู่เสมอว่า ให้มีลูกเอาไว้นะ จะได้เอาไว้ดูแลยามแก่เฒ่า
คือตัวผมไม่ได้มีปัญหาอะไร ที่จะดูแลแม่ของตัวเองนะครับ แต่...ผมกลับมีความคิดที่สวนทางกับแก คือถ้าหากผมคิดจะมีลูก แล้วให้ลูกกลับมาดูแลตัวผมเองยามแก่เฒ่า แสดงว่าผม...ต้องการอะไรจากการมีลูกจริงๆ กันแน่? มีเพื่อตัวของเขาเอง หรือเพื่อตัวผม?
ด้วยชุดความคิดแบบนี้ ถ้าเป็นผมนะ ผมขอไม่มีเลยจะดีกว่า..... และประเด็นสำคัญที่หลายๆ คนลืมคิดถึงก็คือ เรื่องความไม่แน่นอนของชีวิต เราไม่มีวันรู้หรอกว่าใครจะตายก่อน โดยทั่วไปคงคาดหวังให้ตายเรียงกันตามลำดับ คือ ปู่ย่าตายายก่อน พ่อแม่ แล้วค่อยมาเป็นลูก แต่ในความเป็นจริง....มันเป็นอย่างงั้นหรือเปล่า? เพราะมีหลายครอบครัวกลับสูญเสียลูกก่อนวัยอันควร ผมมีญาติอยู่คนนึงที่ลูกตายก่อน ซึ่งสร้างความทุกข์ใจอย่างมหาศาล จนกลายเป็นซึมเศร้าหนักมาจนถึงทุกวันนี้
การจะคาดหวังอะไรแบบนั้น (สำหรับผม) ไม่เวิร์คและดูจะสร้างภาระให้กับลูกเสียด้วยซ้ำ สำหรับตัวผมเองนะ (ไม่ได้พูดถึงคนอื่นๆ นะครับ) ไม่ได้ต้องการอะไรแบบนั้น ให้มันไปมีชีวิตโลดโผนของตัวมันเองได้เลย ยุคนี้....เอาตรงๆ แค่จะเอาตัวให้รอดก็ยากแสนสาหัสแล้ว
ผมมีเพื่อนหลายคน ที่มีฐานะพอจะมีลูกได้ แต่กลับตัดสินใจที่จะไม่มีลูก ทั้งๆ ที่ไม่มีใครเป็นหมัน คงด้วยเหตุผลหลายประการ ซึ่งแต่ละคู่มีความคิดไม่เหมือนกัน แต่เหตุผลของการมีลูกที่ฟังดู Romanticizing ก็...อาทิ เป็นโซ่ทองคล้องใจ จะทำให้ผัวเมียรักกันมากขึ้น หรือจะได้มีคนสืบทอดกิจการ บลาๆ ส่วนตัวผมไม่มีปัญหาใดๆ ถ้าใครอยากจะมีลูกหรือไม่อยากมีลูกนะครับ
เวลานี้ ส่วนตัว....ผมกลับคิดถึงเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่เกิดมาแล้วหรือกำลังจะเกิดมา คือ....เหนื่อยมาก (ตรงๆ คือ เหนื่อยสัสๆ) เลยนะยุคนี้ เพราะเขาจะต้องเผชิญกับสังคมโลก ที่ใช้ #ความโลภ เป็นพลังผลักดันในการขับเคลื่อน ที่มีแต่จะขัดแย้งรุนแรงหนักข้อขึ้นทุกวันๆ ประกอบกับการแข่งขันก็สูงมาก ชนิดถ้าเหยียบกันไปสู่จุดที่สูงพอไม่ได้ คุณมีแต่จะจมธรณี หรือต้องลำบากแน่!
ประกอบกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติโลก ที่ดูจะเลวร้ายลงทุกวันๆ นั่นคือสิ่งที่เด็กเกิดใหม่ทุกๆ คน (รวมถึงพ่อแม่ที่ทำให้เค้าเกิดขึ้นมาด้วย) ต้องยอมรับความจริงนี้ให้ได้ หรือใครจะปฏิเสธ!
ส่วนตัวผมเองที่กำลังเข้าใกล้เขต สว. อยู่มะรอมมะร่อ แค่ปลายเท้าแล้ว จะอยู่ได้อีกนานแค่ไหน....ไม่ทราบได้ เพราะเพื่อนๆ รุ่นเดียวกันก็มีที่โบกมืออำลาบ๊าย..บาย ไปโลกหน้ากันหลายคนแล้ว
#โชคดีนะคนรุ่นใหม่............... ทาเคชิ ไม่ได้กล่าวไว้ (ใครทัน...มุกทาเคชิ แสดงว่าร่วมรุ่นเดียวกับผม....อิอิ)
จิด.ตระ.ธานี : #เล่าสู่กันฟังนะครับ
#Jitdrathanee
เฉลย : #มุกทาเคชิ มาจากคำเต็มๆ ว่า “สู้ต่อไป...ทาเคชิ” เป็นวลียอดฮิตที่มาจากซีรี่ย์ซุปเปอร์ฮีโร่ญี่ปุ่น #คาเมนไรเดอร์ (Kamen Rider, Masked Rider) ที่คนไทยรู้จักกันดีในชื่อ #ไอ้มดแดง (แต่จริงๆ ไม่ได้แรงบันดาลใจมาจาก “มด” นะ แต่มันคือ “แมลงปอ” ต่างหาก เพราะคนญี่ปุ่นมีความเชื่อว่า #แมลงปอ เป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแกร่ง ความรัก และความกล้าหาญ) วลีนี้มาจากพระเอกที่ชื่อว่า “ฮงโง ทาเคชิ” (Hongo Takeshi) ซึ่งก็คือมนุษย์ดัดแปลงที่แปลงร่างเป็น ไอ้มดแดง V.1 ซึ่งเป็นตัวแรกสุดของซีรี่ย์นี้
Kamen Rider (1971-1974) หรือไอ้มดแดง V.1 V.2 และ V.3 (ชุดสีเขียวตรงกลาง) : ซีรี่ย์ซุปเปอร์ฮีโร่ญี่ปุ่นยอดฮิต ยุค 70's | ภาพจาก Pinterest
คาเมนไรเดอร์ V.1 ออกอากาศครั้งแรกในญี่ปุ่นเมื่อ 3 เมษายน ค.ศ. 1971 (พ.ศ. 2514) ออกอากาศครั้งแรกในไทยเมื่อ 14 กันยายน พ.ศ. 2514 ก่อนผมเกิด 1 ปี จริงๆ ก็ไม่ทันหรอกครับ ผมมาทันจริงๆ ก็ตอน ไอ้มดเอ็กซ์ V.5 หรือ คาเมนไรเดอร์ X แล้ว (ตอนนั้นน่าจะสัก 3 - 4 ขวบ พอรู้เรื่องแล้ว)
แต่วลีนี้...มันฮิตต่อเนื่องกันมานานเป็น 10 ปี เพราะหลังจากพระเอกต่อสู้กับเหล่าร้ายที่มาจากองค์กร Shocker จนชนะ ก่อนจะจบในทุกๆ ตอน จะเห็นภาพไอ้มดแดงขี่มอเตอร์ไซต์เท่ๆ วิ่งบนถนนว่างๆ กลับบ้าน แล้วต้องตบท้ายด้วยประโยคนี้เสมอว่า “มนุษย์ดัดแปลง XXX (คือชื่อตัวร้ายหรือสัตว์ประหลาดในตอนนั้น) ถูกกำจัดไปแล้ว แต่องค์กรร้ายช็อกเกอร์ยังอยู่ สู้ต่อไป...ทาเคชิ”

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา