Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
A WAY OF LIFE : ทางผ่าน
•
ติดตาม
2 ก.ค. 2022 เวลา 16:12 • ไลฟ์สไตล์
“ถ้ากิเลสเราแรง เวลามาภาวนามันก็ลำบาก
ถ้ากิเลสเราเบาบาง เวลามาภาวนาก็ง่าย
ถ้ากุศลเราแรง หรืออินทรีย์เราแก่กล้า มันก็ได้ผลเร็ว
ถ้ากุศลไม่แรง กุศลอ่อน อินทรีย์ก็ไม่แก่กล้าอะไรพวกนี้ ก็ได้ผลช้า
ยุติธรรมๆ ทั้งหมด ของฟรีไม่มี”
“ … การดูจิตๆ ที่พูดว่าดูจิตๆ ดูได้ 2 อย่าง
อย่างง่ายก็คือดูความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นกับจิต
สุข ทุกข์ ดี ชั่วเกิดแล้วรู้ไป
อีกอันหนึ่งรู้พฤติกรรมของจิต
จิตมีพฤติกรรมวิ่งไปดูรูป รู้ทัน
ไปฟังเสียง รู้ทัน
ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย
ไปคิดนึกทางใจ หรือมันเป็นผู้รู้ขึ้นมา เป็นผู้รู้ขึ้นมา
ไม่ใช่ผู้ร่อนเร่โคจรไปทางอายตนะทั้ง 6
แต่ว่าเป็นผู้รู้ขึ้นมา ก็เป็นจิตชนิดหนึ่ง
เราจะเห็นจิตที่มันทำงานต่างๆ นานา
หมุนไปเรื่อยๆ เกิดดับ หมุนเวียน เปลี่ยนแปลง
ควบคุมไม่ได้ บังคับไม่ได้
…
จิตมันทำงานได้ 14 แบบ จิตทำงานได้ 14 แบบ
เราไม่ต้องเรียนทั้งหมด
เราเรียนเท่าที่เราเห็นของเราเองนี่ล่ะ
อย่างง่ายๆ เดี๋ยวมันก็รู้ตัวขึ้นมา
เดี๋ยวมันก็หลงไปคิด หลงไปดู หลงไปฟัง
หลงไปดมกลิ่น หลงไปลิ้มรส หลงไปรู้สัมผัสทางกาย
รู้อยู่อย่างนี้ แค่นี้ก็พอแล้ว
ไม่ต้องรู้ถึงทั้งหมด 14 อย่างหรอก
ค่อยภาวนาแล้วมันเห็นเองล่ะ ไม่ใช่ของยากหรอก
ที่เขาไปเรียนอภิธรรม ท่องกันแทบเป็นแทบตาย
เราไม่ต้องเรียนอย่างนั้นหรอก
เราดูของจริงไป เราเห็นอย่างที่เขาท่องนั่นล่ะ
เพียงแต่เราไม่รู้จักชื่อเท่านั้นเอง
แต่ว่าสภาวะทั้งหลาย มันจะเห็นด้วยตัวเราเอง
ถ้าเห็นด้วยตัวเอง มันแจ่มแจ้ง ประทับอยู่ในจิตใจ
ไม่ลืม ไม่เหมือนการท่องตำรา
ท่องตำราความจำมันอยู่ที่สมอง ไม่ได้อยู่ที่จิต
สมองเสื่อมเมื่อไรก็ลืมหมด
หรือไม่สนใจ สักพักเดียวก็ลืมหมด
แต่ถ้าสภาวะใด ปรากฏการณ์ใดมันกระทบเข้าที่จิต
มันประทับลงที่จิตแล้ว
มันจำข้ามภพข้ามชาติได้
เวลาเราตายไป อย่างเราเคยฝึกจนจิตเป็นผู้รู้
แล้วเดี๋ยวก็เป็นผู้หลง เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ ฝึกได้อย่างนี้
ชาติต่อไปเกิดมาใหม่
ไม่รู้จักธรรมะอะไรสักข้อเดียวเลย
อาจจะมีอะไรที่ทำให้เราตกใจขึ้นมา
เช่น ไฟไหม้ใกล้ๆ บ้าน
หรือเขายิงปืนใหญ่ตูมขึ้นมาใกล้ๆ เรา ไม่ทันระวัง
ตกใจ พอตกใจปุ๊บ แทนที่จะเตลิดเปิดเปิง
ตัวรู้มันจะผุดขึ้นมาเองเลย ตัวรู้มันผุดขึ้นมาเอง
เพราะชาติก่อนๆ มันเคยสะสมมาแล้ว
มันไม่ได้อยู่ที่สมอง แต่มันอยู่ที่จิต
นี่เป็นวิบากฝ่ายดีที่จิตมันสะสมไว้
หรือบางคนก็สะสมวิบากฝ่ายชั่วเยอะ เห็นไหม
อย่างทำไมเราโกรธง่ายๆ นั่นก็โกรธ นี่ก็โกรธ
ทั้งๆ ที่ชาตินี้มีแต่คนเอาใจ
ก็ยังหงุดหงิดไปทุกสิ่งทุกอย่าง
หงุดหงิดกระทั่งหมากับแมว
อากาศร้อน อากาศเย็นอะไร หงุดหงิดหมดเลย
ก็เพราะมันสะสมสันดานเอาไว้ ข้ามภพข้ามชาติมา
ขี้โมโห มันสะสมลงที่จิต
1
จิตก็เหมือนคลังเก็บข้อมูลอันมหาศาลเลย
แต่ต้องเป็นข้อมูลที่แรง มันก็ประทับลงที่จิต
ถ้าข้อมูลปกติ ก็เข้าสมองไป เดี๋ยวก็เสื่อม
ฉะนั้นอย่างถ้าเราภาวนา
ถ้าเราเคยได้จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้แล้ว ไม่ยากที่ผู้รู้จะเกิด
แต่ถ้ายังไม่เคยมี ก็ยากเหมือนกันล่ะที่จะได้ผู้รู้ขึ้นมา
ต้องฝึก ของฟรีไม่มี
คนที่เขาได้ง่าย เพราะเขาเคยฝึกมาแล้ว
คนซึ่งไม่เคยฝึก มันก็ยากหน่อย
ฉะนั้นท่านเลยจำแนกผู้ปฏิบัติไว้ 4 จำพวก
พวกหนึ่งปฏิบัติยาก บรรลุช้า
พวกหนึ่งปฏิบัติยากแต่บรรลุเร็ว
พวกหนึ่งปฏิบัติง่ายๆ บรรลุเร็วด้วย
บางคนปฏิบัติง่ายๆ แต่บรรลุช้า
ปฏิบัติยากหรือง่ายขึ้นกับดีกรีของกิเลส
บรรลุเร็วหรือช้า ปฏิบัติยากหรือง่าย
ถ้าเราสะสมกิเลสมาแรง สะสมไว้เยอะ
เวลาภาวนา ลำบาก นั่งภาวนา เดี๋ยวก็โมโหขึ้นมาแล้ว
เดี๋ยวก็หงุดหงิดขึ้นมาแล้ว
เดี๋ยวก็ฟุ้งซ่าน เดี๋ยวก็เบลอ เคลิ้มไปอีกแล้ว
เพราะเราสะสมวิบากไม่ดีมา ก็จะทำให้ภาวนายาก
แต่ถ้าเราสะสมวิบากที่ดีมา
อย่างที่ว่าเคยได้ผู้รู้แล้ว มันก็ได้ง่าย
เคยได้ฌานมาแต่ชาติก่อนๆ ชาตินี้มาฝึกนิดเดียว
มันก็กลับมาแล้ว
เพราะฉะนั้นบางคนปฏิบัติง่าย บางคนปฏิบัติยาก
ขึ้นอยู่กับกุศลอกุศลที่เราสะสมมา
1
แต่บางคนบรรลุเร็ว บางคนบรรลุช้า
อันนี้ขึ้นอยู่กับตัวบารมี อินทรีย์ของเรา
อินทรีย์แก่กล้าก็บรรลุเร็ว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าปัญญินทรีย์แก่กล้า
ถ้าปัญญาแก่กล้าจะไปได้เร็ว
1
อย่างพวกพระอนาคามีที่ได้ฌาน 4
แล้วก็มีอินทรีย์แก่กล้าตัวใดตัวหนึ่งใน 5 ตัว
ก็ไปเกิดในสุทธาวาส
เราได้ยินว่าพระอนาคามีไปสุทธาวาส
ไม่ใช่ทุกองค์ไปสุทธาวาส
พระอนาคามีส่วนใหญ่ไปไม่ถึงสุทธาวาสหรอก
ไปเป็นพรหมชั้นต้นๆ นี่ล่ะ
เป็นพรหมปาริสัชชา ปุโรหิตา มหาพรหมาอะไรนี่
เป็นลำดับๆ
ที่จะขึ้นถึงสุทธาวาส ต้องได้ฌาน 4 แต่ถ้าไม่ได้ ก็ไม่ถึง
แล้วต้องมีอินทรีย์ที่แก่กล้า
เช่น ศรัทธาแก่กล้า วิริยะแก่กล้า สติแก่กล้า
สมาธิแก่กล้า ปัญญาแก่กล้า
เพราะฉะนั้นสุทธาวาสเลยมี 5 ชั้น
พวกศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา 5 อย่าง
พวกที่มีปัญญาแก่กล้า พอเกิดในสุทธาวาสปุ๊บ
สะดุ้งใจขึ้นมา เอ้า นึกว่าจบแล้วตอนเป็นคนอยู่
นึกว่าภาวนาจบแล้ว
พอขึ้นไป เฮ้ย นี่มันยังเกิดอีก มันพลาดตรงไหน
ย้อนดูนิดเดียวเข้าใจแล้ว
ฉะนั้นพวกที่เขาปัญญาแก่กล้า
เขาจะหลุดไปอย่างรวดเร็วเลย
ถ้าพวกศรัทธาแก่กล้าดูกันนาน ทำไมมาอยู่ตรงนี้ได้
ดูกันนาน จนใกล้ๆ จะตายแล้วถึงจะยอมวาง
จะปฏิบัติได้เร็วหรือได้ช้า
ก็อยู่ที่ว่าอินทรีย์เราแก่กล้าไหม
ถ้าไม่แก่กล้าก็ช้าหน่อย
ถ้าอินทรีย์เราแก่กล้าก็เร็วหน่อย
โดยเฉพาะถ้าปัญญินทรีย์แก่กล้า
ปัญญาแก่กล้าจะไปได้เร็ว
อย่างพระพุทธเจ้าใช่ไหม มี 3 จำพวก
พระพุทธเจ้าของเรา ท่านเป็นปัญญาธิกะ
ท่านใช้เวลาบำเพ็ญบารมีไม่นาน
อย่างเทียบกับพระเมตไตรย เป็นวิริยาธิกะ
พระเมตไตรยใช้เวลามหาศาล
พระพุทธเจ้าเราใช้เวลาหนึ่งในสี่ของพระเมตไตรย
เร็วกว่าเพราะว่าปัญญินทรีย์ ท่านเดินด้วยปัญญา
ฉะนั้นทุกอย่างนี้สรุปก็คือมันอยู่ในกฎแห่งกรรมทั้งสิ้น
ถ้ากิเลสเราแรง เวลามาภาวนามันก็ลำบาก
ถ้ากิเลสเราเบาบาง เวลามาภาวนาก็ง่าย
ถ้ากุศลเราแรง หรืออินทรีย์เราแก่กล้า มันก็ได้ผลเร็ว
ถ้ากุศลไม่แรง กุศลอ่อน อินทรีย์ก็ไม่แก่กล้าอะไรพวกนี้ ก็ได้ผลช้า
ยุติธรรมๆ ทั้งหมด ของฟรีไม่มี บอกแล้ว
ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ รู้ไปเป็นลำดับๆ ไป ค่อยสังเกตเอา เบื้องต้นก็ดูไป ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรารู้ที่เราเห็นมีแต่ความเสื่อมไป หมดไป สิ้นไปทุกอย่าง
อย่างหลวงพ่อเกิดกรุงเทพฯ กรุงเทพฯ ที่หลวงพ่อรู้จักหมดไปสิ้นไปแล้ว กรุงเทพฯ ทุกวันนี้เป็นสิ่งที่หลวงพ่อไม่รู้จักแล้ว
หรือกรุงเทพฯ สมัยที่หลวงพ่อเป็นเด็กอยู่ มันก็เป็นกรุงเทพฯ ในยุคโน้น คนสมัยรัชกาลที่ 5 ไม่รู้จักหรอก กรุงเทพฯ ในยุครัชกาลที่ 9 อะไรอย่างนี้
มาถึงยุคนี้กรุงเทพฯ เป็นอย่างไร หลวงพ่อไม่เข้าใจ ไม่รู้จักมันแล้ว
โลกข้างนอกมีแต่เรื่องไม่แน่นอน
มีแต่ความแปรปรวน
มีแต่ของไม่มีสาระแก่นสาร
ใจมันก็วางๆ ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร ของไม่ยั่งยืน
1
มาดูลงในกาย กายก็มีแต่ภาระ
ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูกอะไร
มีแต่ภาระ ไม่ใช่ของดีของวิเศษอะไร ใจมันก็วาง
1
มาถึงจิต ก็เห็นจิตก็มีแต่ภาระ
ต้องแบกรับความทุกข์
ต้องดิ้นรนหาความสุขอะไรต่ออะไร เยอะแยะ วุ่นวาย เป็นภาระ
แล้วภาวนาถึงจุดหนึ่ง จะเห็น
แค่จิตรับรู้อารมณ์ก็เป็นภาระเรียบร้อยแล้ว
ไม่ว่าอารมณ์ดีหรืออารมณ์ร้าย
แค่จิตรับรู้อารมณ์ ความทุกข์ก็เกิดแล้ว
1
เพราะฉะนั้นตัวจิตมันคือธรรมชาติที่รู้อารมณ์
ฉะนั้นตัวจิตมันคือตัวทุกข์โดยตัวของมันเองอยู่แล้ว
ถ้าเราภาวนา เราจะรู้เลย
จิตทำงานขึ้นมาทีไร ก็ภาระเกิดขึ้นทุกทีเลย
จิตรู้อะไรขึ้นมาก็มีแต่ภาระของจิตทั้งสิ้นเลย
ถ้าเห็นตรงนี้ มันจะรู้เลยจิตนี้ไม่ใช่ของวิเศษแล้ว
จิตนี้คือตัวทุกข์
1
ค่อยฝึก แล้วจะค่อยเห็นเป็นลำดับๆ ไป
เบื้องต้นก็ยาก แต่ฝึกไปไม่เลิกวันหนึ่งมันก็ง่าย
เหมือนเราหัดขี่จักรยาน หัดทีแรกมันก็ยาก
พอหัดเป็นแล้วมันก็ง่าย
หรือหัดว่ายน้ำใช่ไหม
หัดว่ายน้ำทีแรกมันก็สำลักอยู่นั่นล่ะ จมแล้วจมอีก
พอว่ายเป็นแล้ว นอนเฉยๆ อยู่ในน้ำไม่เห็นจะจมเลย
ไม่ว่าอะไรก็เหมือนกัน อะไรที่ยังไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็น ไม่เคยสัมผัส ยากทั้งนั้นล่ะ
อะไรที่เคยรู้เคยเห็น เคยสัมผัส เคยผ่านมาแล้ว ไม่ยากหรอก
การภาวนาเบื้องต้นก็รู้สึกยาก อดทนไว้ ฝึกไปเรื่อยๆ
ค่อยๆ สังเกตเอา อันไหนถูกอันไหนผิด
ตรงที่เราเข้าไปแทรกแซงสภาวะทั้งหลาย
อันนั้นล่ะไม่ถูกล่ะ
ตรงที่เรารู้สภาวะทั้งหลายอย่างที่มันเป็น
ตรงนั้นล่ะถูก
ค่อยๆ เรียนไป แล้ววันหนึ่งเห็นความจริง
มันก็จะวางๆๆ ไป
ไม่เกิน 7 ชาติ
วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ ยากเกินไปหรือเปล่า
ยากก็ต้องฟัง จะฟังแต่ง่ายๆ อย่างเดียวก็ไม่ได้หรอก
เพราะหลวงพ่อก็เทศน์ให้พวกเราฟังเอาไว้
จำเอาไว้ก่อนเท่านั้นล่ะ
วันหนึ่งข้างหน้าก็ต้องเอาไปใช้
เหมือนหลวงปู่ดูลย์ หลวงพ่อเข้าไปกราบท่าน 24 กันยายน ปี 2526 ครั้งสุดท้ายที่พบท่าน ท่านก็สอนอะไรให้มากมายมหาศาล เกินชั้นเกินภูมิ
แต่ท่านก็สอนไว้ให้ ถึงวันหนึ่งเราก็ได้ใช้
เราไม่เคยได้ยิน ไม่เคยได้ฟัง ก็คลำเอา ไม่ใช่ง่าย
คลำเส้นทางเอา เพราะเราเป็นสาวกภูมิ
เราไม่ใช่พระปัจเจก ไม่ใช่พระพุทธเจ้า จะรู้ได้ด้วยตัวเอง
ฉะนั้นฟังไว้ก่อน เดี๋ยววันหนึ่งพอเราภาวนาถึงจุดตรงนี้
จุดที่เคยฟังไม่รู้เรื่อง มันจะรู้เลยว่าใช่แล้ว
อย่างเมื่อเช้ามีพระมาเล่าว่า ฟังหลวงพ่อมาตั้งนานเพิ่งรู้ที่หลวงพ่อสอนมันเป็นอย่างไร พวกเราอย่านึกว่าเข้าใจ เราเข้าสมอง ยังไม่เข้าใจหรอก
ถ้าเข้าใจจะล้างกิเลสได้
ถ้ายังไม่ล้างกิเลสแสดงยังไม่ได้เข้าใจ
แต่ฟังไว้ก่อน แล้วก็ลงมือรักษาศีล
ปฏิบัติในรูปแบบทุกวัน นั่งสมาธิ เดินจงกรมอะไร
จิตจะได้มีแรง
เวลาที่เหลือเจริญสติในชีวิตประจำวัน
เมื่อวานสอนแล้ว ไปรีรันฟังเอาว่าเป็นอย่างไร
เจริญสติในชีวิตประจำวัน
ถ้าทำได้อย่างนี้ มรรคผลนิพพานอยู่ไม่ไกลหรอก
ถ้าอินทรีย์แก่กล้าพอก็ได้ชาตินี้
ถ้ายังอ่อนอยู่ก็ได้ชาติต่อไป
หรืออีก 2 – 3 ชาติ หรืออีก 7 ชาติอะไรอย่างนี้ ก็ฝึกเอา
หลวงพ่อเคยถามครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง ท่านเป็นพระที่มีฤทธิ์เยอะ รู้อะไรต่ออะไรเยอะมากเลย ถามว่าถ้าเริ่มปฏิบัติ คนที่เริ่มปฏิบัติแล้วปฏิบัติถูก ฟังครูบาอาจารย์แล้วเจริญสติไปเรื่อยๆ อย่างนี้ ทำถูกแล้วใช้เวลานานไหมกว่าจะบรรลุมรรคผล
ท่านบอก “โอ๊ย ไม่นานหรอก ปราโมทย์ ไม่เกิน 7 ชาติหรอก”
เราฟัง หา!! ตั้ง 7 ชาติเชียวหรือ
ท่านบอกว่า “เกิดมากี่แสนชาติแล้วล่ะ เหลืออีก 7 ชาติ มันจะยาวอะไรหนักหนา ให้ลงมือเถอะ”
ลงมือเรียนรู้กาย เรียนรู้ใจของตัวเอง
รู้กายอย่างที่กายเป็น รู้ใจอย่างที่ใจเป็น
ทำไปไม่เกิน 7 ชาติหรอก
ถ้าเราทำดีทำถูก บางทีใน 7 ปีเท่านั้น
บางคนเขาได้ใน 7 เดือน
บางคนเขาได้ใน 7 วัน
บางคนเขาได้ในวันนั้นเลย
แล้วแต่ความแก่อ่อนของอินทรีย์เรา
แต่หลวงพ่อบอกให้อย่างหนึ่ง
คนที่ได้ฟังธรรมไม่ใช่คนที่เริ่มนับหนึ่งหรอก
คนที่เพิ่งเริ่มสะสม อยากจะปฏิบัติ
อยากจะฟังธรรมอะไรนี่หลงทางไปเสียก่อนเยอะแยะเลย มากมาย
ฉะนั้นถ้าเราเดินมาได้ตรงทางแล้ว
นี่ไม่ใช่ชาติแรกหรอกที่เราปฏิบัติ ไม่ใช่ชาติแรก
ถ้าคนไม่เคยฝึก ไม่เคยทำ บุญบารมีไม่พอ
มันก็ไปเรียนอะไรที่เพี้ยนๆ ไปเรื่อยๆ
1
เมื่อก่อนหลวงพ่ออยู่เมืองกาญจน์ มีโยมผู้ชายคนหนึ่งแกมาเล่า บอกผมมีเวรมีกรรมอะไรก็ไม่รู้ เข้าไปเรียนจากอาจารย์ไหน อาจารย์นั้นปาราชิกหมดเลย
หลวงพ่อบอก เออ ไปที่อื่นไป ไม่ต้องมาเรียนที่เราหรอก ฟังแล้วเธอนี่ตัวอัปมงคลจริงๆ
ที่แท้ไม่ใช่อะไรหรอก อันนั้นมุก
ที่แท้เธอบารมีน้อย
บารมีน้อยก็ไปเจอของหลอกๆ ไม่ใช่เจอของจริง
ถ้าเราบารมีเราแก่กล้าพอแล้ว มีบุญมากพออะไรนี่
ก็เข้าเจอเป้าหมายที่ชัดเจนไปเลย
อย่างหลวงพ่อตั้งแต่เด็ก หลวงพ่อเจอครูบาอาจารย์คือท่านพ่อลี ท่านสอนอานาปานสติให้ แล้วตอน 10 ขวบ ตัวรู้เกิดขึ้นแล้ว ไปเรียนกับท่านตอน 7 ขวบ เราก็ทำสมาธิไปเรื่อยๆ ก็มีตัวรู้ แล้วว่าวันหนึ่ง ไฟไหม้ข้างบ้านตัวรู้มันดีดขึ้นมา
ครูบาอาจารย์องค์แรกที่เข้าไปหา ท่านพ่อลี ท่านก็เป็นครูบาอาจารย์ที่ดี เสร็จแล้วเข้าไปหาหลวงปู่ดูลย์ ไปเรียนจากหลวงปู่ดูลย์ ขั้นเจริญปัญญา ท่านก็เป็นครูบาอาจารย์ที่ดี
ทำไมไปหาครูบาอาจารย์ได้แต่ครูบาอาจารย์ดีๆ
ไม่มีคำว่าบังเอิญหรอก
เราก็ต้องทำของเรามา
เราถึงได้ครูบาอาจารย์อย่างนี้มา
บางทีครูบาอาจารย์กับเราก็มีอะไรสัมพันธ์กันมา ในชาติก่อนๆ เราไม่รู้เอง ส่วนใหญ่ก็เคยรู้จักกันมา คุ้นเคยกันมา เกื้อกูลกันมาอะไรอย่างนี้
1
ฉะนั้นการที่เรามาพบกันก็ถือว่าเราต้องเคยมีบุญร่วมกันมา มาเรียนแล้ว ลงมือทำไป สังเกตตัวเองไป …”
1
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
26 มิถุนายน 2565
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
https://www.dhamma.com/suffering-body-burdened-mind/
เยี่ยมชม
dhamma.com
กายมีแต่ทุกข์ จิตมีแต่ภาระ
ร่างกายไม่ใช่ของดีของวิเศษหรอก มันแค่ของอาศัย แล้ววันหนึ่งก็แตกสลายไป ระหว่างที่ยังไม่แตกสลายก็เป็นภาระวุ่นวายไม่เลิก
Photo by : Unsplash
4 บันทึก
6
5
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
อ่านธรรม : อ่านใจ
4
6
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย