8 ก.ค. 2022 เวลา 12:19 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
เพื่อนที่ระลึก : ย้อนรอยวิกฤติต้มยำกุ้ง
เมื่อ 25 ปีก่อน ประเทศไทยเกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่ถึงแม้ว่าหลายคนอยากจะลืมเลือน แต่ก็ยังคงจดจำมันได้ดี ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจดูเหมือนกำลังจะไปได้สวย แต่กลับแตกสลายในชั่วข้ามคืน
1
ทิ้งให้นักธุรกิจผู้มั่งคั่ง กลายเป็นคนล้มละลายในพริบตา สิ่งๆ หนึ่งที่เป็นสัญลักษณ์แห่งยุควิกฤติต้มยำกุ้ง ที่ยังคงหลงเหลือมาถึงทุกวันนี้ และกลายเป็นเครื่องเตือนใจถึงพิษเศรษฐกิจในครั้งนั้น
ก็คือ สาทรยูนีค ทาวเวอร์ หรือที่หลายคนในปัจจุบันเรียกกันว่าตึกร้างสาทร ตึกที่น่าจะกลายเป็นแลนด์มาร์กของกรุงเทพฯ หากสร้างได้สำเร็จ แต่ทุกอย่างกลับต้องหยุดชะงักลงมาจนถึงปัจจุบันจากวิกฤติต้มยำกุ้งในครั้งนั้น
1
หนังเรื่อง “เพื่อนที่ระลึก” ได้หยิบยกตึกร้างสาทรแห่งนี้ มาแทนภาพความรุ่งเรือง ความฝัน และความหวัง ในช่วงก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง ก่อนที่จะกลายเป็นเพียงอนุสรณ์ของวิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบัน
ในบทความนี้ Bnomics จึงอยากชวนทุกคนมาย้อนรอยวิกฤติต้มยำกุ้ง วิกฤติที่เป็นเหมือนฝันร้ายของใครหลายๆ คน
📌 ก่อนพายุใหญ่จะมา คลื่นลมมักจะสงบ
นับตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1990 เศรษฐกิจไทยเป็นที่น่าดึงดูดการลงทุนจำนวนมากจากต่างประเทศ เนื่องจากนโยบายทางเศรษฐกิจ เป้าหมายทางเศรษฐกิจ และบรรยากาศทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่เอื้ออำนวย อีกทั้งในช่วงนั้นญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจ Stagflation พร้อมๆ กับที่เศรษฐกิจยุโรปเข้าสู่ภาวะถดถอยพอดี
ในช่วงเวลาดังกล่าวไทยยังคงใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ คือ การผูกค่าเงินไว้กับตะกร้าสกุลเงินหลักๆ อย่างดอลลาร์สหรัฐฯ อัตราแลกเปลี่ยนก็เลยมีความคงที่อยู่ที่ราวๆ 24.91 - 25.29 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
สาทรยูนีค ทาวเวอร์ หรือที่หลายคนในปัจจุบันเรียกกันว่า "ตึกร้างสาทร"
รัฐบาลสามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ที่ 3.36% - 5.7% และยังตั้งงบประมาณแบบเกินดุล
GDP เติบโตราว 8.08% - 8.94% ในช่วงระหว่างปี 1991 - 1995
อัตราดอกเบี้ยโดยเฉลี่ยแล้วก็อยู่ที่ราวๆ 13.25%
ในปี 1995 ประเทศไทยมีเงินทุนไหลเข้ากว่า 1.42 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ช่วงเวลานั้นถือได้ว่าเป็นปีทองของการลงทุนภายในประเทศ อัตราการลงทุนในประเทศไทยสูงเป็นอันดับต้นๆ ในภูมิภาค
ทางด้านตลาดอสังหาริมทรัพย์ ก็ขยายตัวกว่า 395%
สถาบันการเงิน ทั้งธนาคารและที่ไม่ใช่ธนาคาร ต่างก็โปรยเงินมหาศาลเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ ด้วยความที่การกู้ยืมเงินจากต่างประเทศในขณะนั้นไม่ค่อยมีข้อกำหนดมากมายนัก สถาบันการเงินหลายแห่งจึงเลือกที่จะกู้ยืมเงินจากต่างประเทศแล้วนำมาปล่อยกู้ภายในประเทศต่ออีกที การปล่อยสินเชื่อของไทยในตอนนั้นจึงเรียกได้ว่าเฟื่องฟูเป็นอย่างมาก
อาจเรียกได้ว่าเป็นช่วงที่คนไทยต่างเต็มไปด้วยความสุข ในบรรยากาศของเศรษฐกิจที่รุ่งเรืองเช่นนี้
📌 เศรษฐกิจเติบโตอย่างไม่มั่นคง…ย่อมพังทลายเมื่อลมพายุพัดมา
ถ้าใครที่เคยเรียนเศรษฐศาสตร์มา น่าจะเคยได้ยินคำว่า สามเหลี่ยมที่เป็นไปไม่ได้ (Impossible Trinity) กล่าวถึง นโยบายทางเศรษฐศาสตร์ทั้ง 3 อย่าง ที่ไม่สามารถเกิดขึ้นพร้อมกันใด จะเลือกได้เพียง 2 อย่างเท่านั้น ประกอบไปด้วย
  • 1.
    การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนคงที่
  • 2.
    การมีอิสระในการกำหนดนโยบายการเงิน
  • 3.
    การปล่อยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี
ช่วงเวลานั้นไทยเลือกใช้ข้อ (1) และ ข้อ (2) เศรษฐกิจจึงดำเนินมาได้เรื่อยๆ อย่างมีเสถียรภาพ แต่เรื่องราววิกฤติทั้งหลายอาจไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าวันนั้นไทยไม่ได้คิดจะแหกกฎเหล็กที่เป็นไปไม่ได้นี้ ด้วยการตั้งวิเทศธนกิจไทย (BIBF) แล้วเปิดเสรีในการกู้ยืมเงินระหว่างประเทศ เพื่อหวังจะเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาค
การปล่อยกู้เงินของสถาบันการเงินต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเป็นการปล่อยกู้หนี้แบบที่ไม่ค่อยระมัดระวังเท่าที่ควร เนื่องจากทุกคนมองว่าหากเกิดปัญหาขึ้นมา รัฐบาลหรือธนาคารกลางก็คงจะเข้ามาช่วย
อีกทั้งเงินที่ปล่อยกู้ออกไปนี้ก็ถูกนำไปใช้ในภาคส่วนที่ไม่ก่อให้เกิดผลิตภาพ สามารถขายได้แค่ในประเทศเท่านั้น เช่น อสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกของประเทศต่ำ ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยแย่ลง
สถานการณ์เริ่มส่อเค้าลางหายนะมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อบ้านและตึกต่างๆ ถูกสร้างออกมามากเกินไปจนภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มไม่มีกำไร เจ้าของกิจการไม่สามารถจ่ายคืนหนี้ที่กู้มาจากสถาบันการเงินได้ ส่งผลให้อัตราหนี้ NPL ขึ้นมาสูงถึง 13%
ในปี 1996 ส่วนสถานการณ์การค้าของไทยก็เริ่มย่ำแย่ลงเพราะมีคู่แข่งใหม่ที่ดูมีความสามารถในการแข่งขันมากกว่าอย่าง จีน เข้ามา ไทยเริ่มประสบปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ก็มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ
ถ้ายังจำกันได้ ในเวลานั้นไทยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ เมื่อเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่า ทั้งรัฐบาลและธนาคารกลางก็ต้องหานโยบายต่างๆ เพื่อเข้ามาช่วยรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเอาไว้ด้วยการนำทุนสำรองระหว่างประเทศมาอัดฉีดเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ
1
นอกจากนี้นักลงทุนส่วนใหญ่เล็งเห็นถึงสถานการณ์ที่ย่ำแย่ลงก็เริ่มขายเงินบาททิ้ง เพื่อแลกเป็นสกุลต่างประเทศอื่นๆ และบางส่วนที่เห็นว่าเงินบาทแข็งค่าเกินกว่าที่ควรจะเป็น จึงใช้ช่องทางนี้้เข้าโจมตีค่าเงิน เพื่อเก็งกำไรเงินบาท ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนลงเรื่อยๆ และธนาคารกลางก็ต้องงัดทุนสำรองออกมายื้อไม่ให้ค่าเงินบาทอ่อนลงไปกว่านี้
📌 แต่ก็อย่างที่ทุกคนรู้ว่าในการต่อสู้ครั้งนั้น ธนาคารกลางแพ้…
ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ปี 1997 เงินทุนสำรองกว่า 90% ของธนาคารกลางถูกใช้ไปกับการปกป้องค่าเงินบาท เมื่อรู้ว่าสู้ต่อไม่ไหวแล้ว ธนาคารกลางจึงต้องยอมแพ้ ยกธงขาว ด้วยการปล่อยลอยตัวค่าเงินบาทในวันที่ 2 กรกฎาคม 1997 หลังจากที่มีการประกาศออกมา จากอัตราแลกเปลี่ยนที่ราวๆ 25 บาท ก็อ่อนค่าลงจนกลายเป็นเกือบ 50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และอ่อนค่าที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ระดับ 56.1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงต้นปีถัดมา
ด้วยความที่การกู้ยืมเงินของสถาบันการเงินทำในรูปของดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ปล่อยกู้เพื่อใช้ดำเนินธุรกิจในไทย เท่ากับว่าตอนนี้ ทุกคนที่กู้ยืมเงินมา 25 ล้านบาท (1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในตอนนั้น กลายเป็นหนี้เกือบ 50 ล้านบาทโดยทันที แล้วธุรกิจที่กู้มาลงทุนก็ดันไม่สามารถทำกำไรได้ในขณะนั้น เหล่าเศรษฐีทั้งหลายจึงแทบจะกลายเป็นบุคคลล้มละลายในทันที ส่วนสถาบันการเงินกว่า 56 แห่ง ก็ถูกสั่งให้ปิดตัวลง
เมื่อพายุใหญ่ได้เข้ามาพัดทำลายปราสาทสร้างที่ไม่แข็งแรงพอ หลังจากนั้นไทย จึงต้องขอความช่วยเหลือจาก IMF ทำให้ไทยต้องปฏิบัติตามมาตรการที่เข้มงวดต่างๆ เพื่อช่วยฟื้นฟูสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ จนในที่สุดไทยก็กลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้งในอีกเกือบ 6 ปีต่อมา
ถ้าลองมองให้ลึกลงไป ภาพเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างสวยงามก่อนหน้าวิกฤตินั้นเป็นเพียงภาพลวงตา การเติบโตที่เห็นนั้นมาจากศักยภาพที่แท้จริงของเศรษฐกิจ เมื่อมีอะไรกระทบเข้านิดหน่อย ก็สามารถพังครืนลงมาได้อย่างง่ายดาย
สิ่งที่พังลงในคราวนั้น ไม่ใช่แค่ตัวเลขทางเศรษฐกิจ แต่ยังรวมไปถึงผู้คนที่ได้รับผลกระทบ หลายคนจบชีวิตลงเพราะการเปลี่ยนแปลงในชั่วข้ามคืนที่ไม่อาจตั้งรับได้ทัน แต่หลายคนก็ยังคงฮึดสู้ จนผ่านพ้นวิกฤติที่เลวร้ายนั้นไปได้
และทุกคนที่ผ่านวิกฤตินั้นมาคงรับรู้แล้วว่า ไม่ควรมองการเติบโตของเศรษฐกิจแค่ระยะสั้นๆ แต่ต้องมองให้ยาว มองให้ไกล ถึงจะเรียกได้ว่าเป็นการเติบโตอย่างยั่งยืน
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
เครดิตภาพ : GDH 599 Co.,Ltd

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา