15 ก.ค. 2022 เวลา 12:19 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
Extraordinary Attorney Woo : โอกาสในการเข้าสู่ตลาดแรงงานของผู้มีภาวะออทิสติก
“ฉันมีอาการออทิสติก ในสายตาของทุกท่านฉันอาจจะพูดตะกุกตะกัก
และแสดงท่าทีไม่เป็นธรรมชาติ แต่ฉันรักกฎหมาย
และเคารพต่อจำเลยที่ฉันมี ไม่ต่างจากทนายอื่นๆ”
2
Extraordinary Attorney Woo เป็นหนึ่งในซีรีส์เกาหลีที่มาแรงที่สุดใน Netflix ตอนนี้ เรื่องราวของทนายความสาวไอคิวสูง 164 มีความจำที่เป็นเลิศ แต่มีภาวะของกลุ่มอาการแอสเพอร์เกอร์ซึ่งอยู่ในกลุ่มอาการออทิสติกชนิดหนึ่ง
1
ทำให้เธอมีความบกพร่องทางพัฒนาการในการเข้าสังคม (อาการเดียวกับฮันกือรู ในเรื่อง Move to heaven) ซึ่งส่งผลต่อการทำอาชีพของเธอเป็นอย่างมาก เพราะถึงแม้เธอจะมีความสามารถในการว่าความเต็มเปี่ยมแค่ไหน แต่กลับต้องเผชิญอคติจากสังคม เพื่อนร่วมงาน และลูกความของเธอ ว่าเธอขาดความน่าเชื่อถือในอาชีพทนายความ
1
Bnomics จึงลองหาข้อมูลเพิ่มเติมดูว่า ในสังคมปัจจุบัน ผู้มีอาการในกลุ่มออทิสติก มีส่วนร่วมในตลาดแรงงานมากน้อยแค่ไหน และเข้าไปอยู่ในภาคส่วนไหนของเศรษฐกิจ และในบทความนี้เราจะเล่าให้ฟัง
1
ข้อมูลจาก Centers for Disease Control and Prevention (CDC) กล่าวไว้ว่า 1% ของประชากรทั่วโลก มีภาวะออทิสติก
และจากข้อมูลแสดงให้เห็นว่า ในสหรัฐฯ มีการพบผู้ที่ถูกวินิจฉัยว่ามีภาวะออทิสติกมากที่สุดในโลก คือ 168 คน ต่อเด็ก 10,000 คน
1
รองลงมาคือญี่ปุ่น พบที่ 161 คน ต่อเด็ก 10,000 คน
(ตัวเลขนี้อาจไม่ได้หมายความว่าประเทศเหล่านี้มีผู้มีภาวะออทิสติกมากที่สุดก็ได้ เพียงแต่ว่าในประเทศพัฒนาแล้ว สามารถเข้าถึงการแพทย์ได้ดีกว่า จึงมีโอกาสตรวจพบได้มากกว่า)
1
แต่ที่น่าเศร้าคือ ข้อมูลในปี 2018 พบว่า 85% ของผู้ที่มีกลุ่มอาการออทิสติกที่เรียนจบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยนั้นเป็นผู้ว่างงาน
2
📌 ผู้มีภาวะออทิสติก กับตลาดแรงงาน
แน่นอนว่าเวลานายจ้างต้องการจ้างพนักงานสักคน ก็คงคาดหวังว่าพนักงานคนนั้นจะต้องมีความสมบูรณ์ในเกือบทุกด้าน ในขณะที่ผู้มีภาวะออทิสติก มักจะมีปัญหาในเรื่องของทักษะทางสังคม ซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะที่สำคัญในการทำงาน
1
งานวิจัยหนึ่งได้สำรวจผู้ที่มีกลุ่มภาวะออทิสติกในสหรัฐฯ พบว่าในกลุ่มตัวอย่างกว่า 38.58% เป็นผู้ว่างงาน ซึ่งมากกว่าอัตราว่างงานโดยรวมทั่วประเทศที่โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ราวๆ 3 - 5% เท่านั้น
1
จากงานวิจัยหลายๆ ชิ้น ก็ชี้ให้เห็นตรงกันว่า สิ่งที่ทำให้ผู้มีภาวะออทิสติก มีโอกาสทำงานในตลาดแรงงานได้ต่ำ หลักๆ มาจากการขาดความสามารถในการรู้คิด (Cognitive ability) นอกจากนี้ยังมีปัจจัยร่วมอีก 8 ประการด้วยกันคือ
  • 1.
    ความรุนแรงของอาการ
  • 2.
    ความผิดปกติทางจิตเวช หรือมีภาวะบุคลิกภาพตรงข้าม
  • 3.
    เป็นเพศหญิง เนื่องจากในงานวิจัยหลายชิ้นพบว่าผู้มีภาวะออทิสติกที่เป็นผู้หญิงจะมีโอกาสได้งานทำที่น้อยกว่าผู้ชายโดยเปรียบเทียบ
  • 4.
    มีความสามารถทางการพูด และความสามารถทางภาษาที่ต่ำ
  • 5.
    ทักษะการอยู่ร่วมในสังคมบกพร่อง
  • 6.
    ไม่ค่อยมีแรงขับเคลื่อน
  • 7.
    มีประวัติการรักษาตัวในโรงพยาบาล
1
สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ผู้มีภาวะออทิสติกมีโอกาสเข้าทำงานได้น้อยกว่าคนปกติ หรือต่อให้ได้เข้าทำงานก็มักจะประสบความยากลำบากบางอย่าง โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับการเข้าสังคมการทำงาน
1
นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่มีงานทำ กว่าครึ่งหนึ่งเป็นการทำงานแบบพาร์ทไทม์เท่านั้น และมีแนวโน้มที่จะได้ทำงานต่ำกว่าระดับความสามารถที่แท้จริง หรืองานในระดับต้นๆ เช่น งานธุรการ, งานสายผลิตและประกอบ, งานเตรียมอาหาร, งานทำความสะอาดและซ่อมบำรุง
1
📌 ภาวะออทิสติก กับต้นทุนทางเศรษฐกิจ
งานวิจัยที่จัดทำโดย Autism Speaks Inc. ได้ทำการคำนวณคร่าวๆ ว่า กลุ่มผู้มีภาวะออทิสติกในสหรัฐฯ ก่อให้เกิดต้นทุนทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ากว่า 2.68 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2015 และคาดว่าต้นทุนจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในปี 2025
สำหรับเด็ก ต้นทุนส่วนใหญ่มาจากการที่ต้องจัดหาการเรียนการสอนแบบพิเศษให้ และสำหรับผู้ใหญ่ ต้นทุนส่วนใหญ่มาจากการที่ต้องจัดการช่วยเหลือในด้านที่พักอาศัยให้กลุ่มคนเหล่านี้
คาดการณ์ว่า ในปี 2025 จะมีวัยรุ่นที่มีภาวะออทิสติกราว 707,000 คน ถึง 1,116,000 คน จะเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ส่งผลให้ต้นทุนของการดูแลผู้มีภาวะออทิสติก อาจเพิ่มสูงถึง 4.61 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี
1
โดยปกติแล้ว ต้นทุนการดูแลรักษาผู้มีภาวะออทิสติก จะสูงกว่าคนปกติราวๆ 4 - 6 เท่า ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ และสามารถถูกตรวจพบได้ตั้งแต่ช่วงอายุ 2 ขวบ หรืออย่าวเร็วที่สุดคือ 18 เดือน ซึ่งหากตรวจพบได้เร็วและเข้าถึงการรักษา
1
ก็จะสามารถช่วยให้คนเหล่านั้นได้รับการช่วยเหลือ และฝึกในวิธีการใช้ชีวิตในสังคมได้ง่ายขึ้น จึงอาจทำให้เมื่อโตขึ้น พวกเขาเหล่านี้จะสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ไม่แตกต่างอะไรจากคนทั่วไป เพียงแค่มีลักษณะความ “พิเศษ” อยู่ในตัว เหมือนอย่างคุณทนายอูยองอูในซีรีส์เรื่องนี้ ที่มีความจำดีเลิศ สามารถจำตัวอักษรทุกตัวที่อ่านไปได้
ทุกวันนี้ สังคมเริ่มมีการตระหนักรู้ถึงการอยู่ร่วมกันกับผู้มีภาวะออทิสติกกันมากขึ้น และโอกาสในการทำงานก็เริ่มเปิดกว้างขึ้นมาบ้าง
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทใหญ่ๆ ในสหรัฐฯ ก็เริ่มมีแนวคิด “Autism at work” ที่เปิดโอกาสให้ผู้มีภาวะออทิสติกที่มีความสามารถ ได้เข้ามาร่วมทำงาน และเริ่มสร้างบรรยากาศการทำงานที่มีความครอบคลุมกลุ่มคนที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น
ถ้าลองสังเกตดีๆ ซีรีส์เกาหลียุคใหม่ๆ เริ่มมีบทละครที่ให้ตัวละครหลักมีอาการออทิสติกและใช้ชีวิตทำงานร่วมกับคนปกติ เช่น ฮันกือรู ในเรื่อง Move to heaven หรือ พัคชีอน ในเรื่อง Good doctor โดยพยายามชี้ให้เห็นถึงความสามารถบางอย่างที่โดดเด่นกว่าคนทั่วไป ว่าสามารถนำมาปรับใช้กับบางอาชีพได้อย่างน่าทึ่ง
ดังนั้นก็เป็นไปได้ว่า ในอนาคต เราอาจจะได้ร่วมงานกับเพื่อนร่วมงานที่มีความ “พิเศษ” เหล่านี้กันมากขึ้น และหวังว่ากลุ่มคนเหล่านี้ จะถูกส่งเสริมให้ได้มีโอกาสแสดงศักยภาพในตัวออกมาได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ถูกปิดกั้น หรือตีตราจากสังคมจากอาการที่พวกเขาเป็น
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา