Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ฝึกใจไปกับธรรมะ
•
ติดตาม
20 ก.ค. 2022 เวลา 11:59 • ปรัชญา
การที่จะให้ความจริงของธรรมชาติมีผลในทางปฏิบัติเป็นประโยชน์แก่หมู่มนุษย์ในสังคมก็ต้องนำหลักความจริงคือธรรมนั้นมาจัดตั้ง วางเป็นระบบระเบียบ โดยนำเอาหลักความจริงที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นเรื่องของกฎแห่งเหตุปัจจัยหรือความเป็นไปตามเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นโดยเป็นเหตุเป็นผลแก่กันนั้น พูดสั้น ๆ ว่าเอาหลักเกณฑ์ในกฎธรรมชาตินั้นมาวางรูปเป็นกฏในหมู่มนุษย์
จากกฏในธรรมชาติก็มาเป็นกฏในหมู่มนุษย์ การจัดตั้งวางระบบระเบียบในหมู่มนุษย์นี้แหละเรียกว่า วินัย
วินัยที่แท้ในความหมายที่กว้าง คือ ระเบียบระบบทั้งหมดของชีวิต และสังคมมนุษย์นั้นจะตั้งอยู่ได้ดีเป็นผลสำเร็จได้ ต้องอาศัยความเข้าใจพื้นฐานที่กล่าวแล้ว คือต้องมองวินัยโยงลงไปถึงธรรมหรือโยงวินัยกับธรรมเข้าด้วยกันได้เป็นเบื้องแรกด้วย
การที่เราสามารถจัดวินัย (ระเบียบชีวิต และระบบสังคม) ได้สำเร็จ เป็นความสามารถพิเศษของมนุษย์ เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายอื่นไม่มีความสามารถนี้ แต่การที่จะตั้งวินัยได้สำเร็จก็ต้องถึงธรรมก่อน คือเข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาติ แล้วจึงสามารถมาตั้งกฎเกณฑ์ของมนุษย์ที่เรียกว่าวินัยได้สำเร็จ และได้ผล
ในการพัฒนามนุษย์ระยะยาวถ้าไม่มีวินัยเป็นฐานก็จะทำให้เกิดความขัดข้องวุ่นวายสับสน ฉะนั้น เราจึงจัดวางวินัยเพื่อความมุ่งหมายระยะยาวในการพัฒนามนุษย์ด้วย และด้วยเหตุนี้ วินัยจึงเป็นเรื่องสำคัญในสังคมประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยต้องการโอกาสเหล่านี้ในการที่จะให้มนุษย์มาสื่อมาแสดงออก เพื่อนำเอาศักยภาพของตัวเองออกมาร่วมในการสร้างสรรค์อย่างได้ผล
ในที่สุด เมื่อมนุษย์พัฒนาดีแล้ว วินัยจะเปลี่ยนความหมายเป็นเรื่องของสิ่งหมายรู้ร่วมกันสำหรับที่จะได้ปฏิบัติถูกต้องว่าจะดำเนินชีวิตกันอย่างไร จะอยู่ร่วมกันอย่างไร และจะดำเนินการร่วมกันอย่างไร ซึ่งจะต้องลงตัวเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงจะเป็นไปด้วยดี และนี่คือความหมายที่แท้ของกฎเกณฑ์กติกามากมาย
แต่ท่านไม่รู้สึกเป็นเรื่องบังคับ ไม่ต้องฝืนใจ เพราะเข้าใจเหตุผล และความมุ่งหมายว่าที่มีกติกากันนี้ก็เพื่อประโยชน์ในการอยู่ร่วมกัน จะได้สะดวกคล่องตัว เพราะไม่อย่างนี้แล้วก็ไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไร แล้วก็จะขัดข้องวุ่นวาย
ถ้ามนุษย์มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงหลักการแห่งธรรมวินัยก็จะเกิดผลร้าย คือมีการช่วยเหลือกันระหว่างบุคคลจนกระทั่งมองข้ามกฎเกณฑ์กติกาของสังคม อันนี้จะเห็นได้ในบางสังคมที่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเป็นใหญ่ คนมีน้ำใจต่อกันช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาก จนแม้แต่ละเมิดกฎเกณฑ์กติกาก็ไม่เอาใจใส่มองข้ามไปเลย ไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์เหล่านั้น
ทำให้หลักการทั้งในความจริงของธรรมชาติ และสังคมมนุษย์ที่เรียกว่า ธรรมวินัย เลือนลางจางหายไป กลายเป็นว่าหมู่มนุษย์ไม่ปฏิบัติตามธรรม และวินัย เหมือนกับร่วมกันหรือสมคบกันทำลายตัวธรรมตัววินัยลงไปเสีย แล้วผลร้ายก็จะเกิดแก่สังคมของมนุษย์เองในระยะยาว
ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราจะเอาแต่กฎเกณฑ์กติกา ละเลยการช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างบุคคล มีความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลน้อยคน ไม่เอาใจใส่กันก็จะกลายเป็นระบบตัวใครตัวมัน ทุกคนรับผิดชอบต่อกฎเกณฑ์กติกา ต่อหลักการ ต่อตัวธรรมตัววินัย กฎหมายหรือกติกาว่าอย่างไรก็ทำตามนั้น คุณจะทำอะไรคุณทำไป แต่อย่าให้ผิดกฎผิดระเบียบนะ ฉันจัดการทันที ในระหว่างนี้ตัวใครตัวมัน ไม่เกื้อกูล ไม่ช่วยเหลือ ไม่มีน้ำใจในสังคม
แบบนี้ก็เอียงไปอีก ชีวิตแห้งแล้งขาดความอบอุ่น มนุษย์จะมีความเครียด จิตใจไม่สบาย และถ้าขาดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์จนเกินควรถึงขีดหนึ่ง คนจะเริ่มเกิดโทสะแค้นเคืองว่าไม่มีใครเอาใจใส่กันเลย ไม่ช่วยเหลือกันเลย คราวนี้ไม่เอาละหลักการกฏเกณฑ์กติกาก็ทำลายมันเลย ก็เสียอีก ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้มีดุลยภาพระหว่างความสัมพันธ์กับกฎธรรมชาติ ซึ่งถ้ารักษาไว้ให้พอดี สังคมก็จะสมดุล โลกมนุษย์ก็มีสันติสุข
• • • • •
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
ปาฐกถา แสดงที่สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร
วันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๘
.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
ที่มา : หนังสือ "สมุดบันทึก ธมฺม"
|เพื่อความสะอาด สว่าง สงบ แห่งปัญญา
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
สมุดบันทึก ธมฺม พระพรหมคุณาภรณ์ | (ป. อ. ปยุตฺโต) 📕
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย