13 ก.ค. 2022 เวลา 05:00
Ep. 19 เยี่ยมคารวะประธานหวาง
ขอบคุณภาพจาก koreanconsult.com
วันที่ 1 กันยายน 2528... เราลงมาจากเขาเมียงญังเวลา 8 โมงครึ่ง เพื่อกลับเปียงยาง คราวนี้ คุณหลังให้คนขับเปลี่ยนเส้นทางใหม่เพื่อไม่ให้เรารู้สึกจำเจ โดยอ้อมไปทางตะวันตก เพื่อผ่านเมือง อันชู ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมเคมีใหญ่ อันเป็นจุดที่เราจะแวะพักรถกลางทาง
ถนนไม่สู้ดีนักและออกจะแคบหน่อย คนขับของเราก็ขับแบบ “ข้อยบ่ยั่นหลุมบ่อดอก” เราจึงลอยขึ้นลอยลงจากที่นั่งกันบ้างพอท้วมๆ แต่ก็ไม่เป็นไร คิดเสียว่ากำลังหัดเรียนกายกรรมเปียงยางขั้นพื้นฐานอยู่ก็แล้วกัน คนขับก็แสนจะมีอารมณ์สุนทรีพิลึก เมื่อใดทำรถกระดอนได้ เมื่อนั้นก็จะหันมายิ้มกับพวกเราเกือบทุกที ไม่ทราบว่านี่เป็นวิธีขอโทษของเขาหรือเปล่า (หรือเพื่อแสดงความสะใจ?)
วันนี้เป็นวันอาทิตย์ จึงเป็นวันหยุดงาน (โดยหลักการ) ตามชนบทจะมีตลาดนัด จึงเป็นวันที่เราได้เห็นผู้คนมากหน้าหลายตาตามสองข้างถนน พี่น้องเหล่านี้ต่างหอบผลิตผลในไร่นาของตนออกเดิน เดิน เดิน ไปที่ตลาดซึ่งอยู่ลึกเข้าไปในหมู่บ้าน เราสังเกตว่า จะไม่มีการสร้างบ้านเรือนหรือตึกแถวที่เป็นร้านค้า หรือแม้แต่ตลาดใกล้ถนนใหญ่เลย แม้แต่หมู่บ้านก็จะอยู่ลึกจากถนนเข้าไปข้างใน
เราเห็นพวกเขาเดินแบกของกันเป็นแถวเข้าไปในถนนเล็กที่เลี้ยวแยกจากถนนใหญ่ เราเดาว่าเขาคงจะพากันไปยังที่ชุมนุมแลกเปลี่ยนสินค้าของแต่ละหมู่บ้าน บางทีก็เห็นเขาเดินกันไปตามคันนาก็มี คนที่นี่เดินเก่งและอดทนจริงๆ เพราะความจำเป็นบังคับ ไม่มีใครมีรถส่วนตัว อย่างนี้ ถ้าเข้าแข่งขันชิงชัยการเดินมาราธอนระดับโลก ฟองน้ำว่าเขาคงติดอับดับกันทุกคน
เมื่อรถชะลอช้าลงขณะแล่นผ่านใจกลางเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่ง ฟองน้ำก็ได้มีโอกาสเห็นสิ่งของที่พวกเขาหอบหิ้วแบกขนกันมาจนไหล่ลู่ บางคนทูนเข่งผัก ผลไม้ เช่น มะเขือยาว ผักกาด
แอปเปิ้ล...ไว้บนศีรษะ บางคนหาบลูกหมู บางคนก็หิ้วไก่เป็นๆ ที่มัดรวมไว้หลายตัวส่งเสียงขรม หรือไม่ก็แบกถุงปุ๋ยซึ่งข้างในน่าจะเป็นข้าวสาร
ผู้หญิงบางคนก็ผูกลูกน้อยติดหลังมาด้วย แต่ที่น่าเอ็นดูเหลือเกินคือ ลูกหมาที่เขาอุ้มกันอยู่ 3-4 เจ้า ฟองน้ำเองรักหมาเอามากๆ แต่ก็ไม่เคยเห็นเลยสักครั้งว่า มีน้องสี่ขาเดินเพ่นพ่านอยู่ตามถนนแม้แต่ตัวเดียว เลยสงสัยว่าคนที่นี่เขาจะเลี้ยงเจ้าตัวน่ารักนี่กันหรือเปล่า ด้วยเหตุนี้ฟองน้ำจึงประหลาดใจ ที่เห็นลูกหมาตาแป๋วหลายตัวเหล่านี้ เข้ามามีส่วนในธุรกิจการซื้อขายกับเขาด้วย ชาวเมืองเขาเดินสวนกันไปมา แล้วก็หยุดถามซื้อถามขายสินค้ากันไปเรื่อย ๆ ตามอัธยาศัย
1
ผู้หญิงชนบทไม่ว่าสาวหรือแก่ จะใส่เสื้อปล่อยชายออกข้างนอก นุ่งกระโปรงยาวครึ่งน่องบานน้อยๆ กันทั้งนั้น แต่ฟองน้ำไม่ชินตาที่เห็น “อุ้ยคำเกาหลี” เดินส่ายกระโปรงบานมีดิ้นมันวาวแซม ลากรองเท้าแตะหรือรองเท้าผ้าใบหรือคัชชูส้นแบบราบอยู่กลางถนน แถมยังเอาผ้าโพกศีรษะเรื่อยระมาถึงคอเพื่อกันแดดอีก เราคะเนว่า สาวๆ ที่แต่งชุดเกาหลีแท้มาตลาดมีไม่เกิน 20%
บรรยากาศชนบทในเกาหลีเหนือ
คนเมืองนี้ใช้ถนนแบบกันเอง ไม่กลัวรถ คนขับของเราก็ยอดเยี่ยมตรงที่เป็นนักบีบแตรตัวฉกาจ ทำเอาเราหนวกหูไปตลอดทางโดยเฉพาะตรงสี่แยก เราได้ตื่นเต้นวี้ดว้ายกันหลายหน สรุปแล้ว การจราจรในเมืองเล็กๆ แห่งนี้ เป็นแบบ ‘คนไม่กลัวรถ รถไม่กลัวคน และรถไม่กลัวรถด้วย’ คุณเข้าใจที่ฟองน้ำสรุปไหม?
ที่ฟองน้ำชอบอีกอย่าง แม้จะเป็นเรื่องปลีกย่อย แต่ก็คิดว่าน่าดูน่าทำตามอย่าง นั่นคือ ตามทางรถไฟที่ตัดผ่านถนน จะมีที่ทำการของเจ้าหน้าที่รถไฟตั้งอยู่ เขาปลูกดอกไม้หลากสีล้อมรอบบริเวณที่ทำการหลังน้อย ทำให้ดูสดชื่นตาทุกแห่ง เจ้าหน้าที่รถไฟและกรมทางหลวงของประเทศนี้คงต้องมีคุณสมบัติพิเศษ คือปลูกดอกไม้เป็นด้วย เราเห็นต้นทานตะวันอยู่เต็มสองขอบถนน นอกจากดอกสวยแล้ว ยังใช้เพื่อการเลี้ยงผึ้ง และเก็บเมล็ดเพื่อสกัดเอาน้ำมันด้วย
1
ถึงเมืองอันชู เวลา 10 โมงครึ่ง เขาพาไปแวะที่ศาลายกพื้นสูง ตั้งอยู่ในสวนสาธารณะกลางเมือง เราได้ยืดเส้นยืดสาย ไปสุขา และเดินดูดอกไม้ใบไม้ให้พอสดชื่น หลังจากนั่งหัดกายกรรมขั้นพื้นฐานอยู่ในรถเกือบ 2 ชั่งโมง มีเสียงเพลงตามสายดังไปทั่วบริเวณ และชาวเมืองพากันออกมาเดินเล่นในสวนกันหลายกลุ่ม เอ.. ฟองน้ำยังไม่เคยเห็นหนุ่มสาวมาเป็นคู่ๆ กระหนุงกระหนิงกันเลย จริงๆ นะ
จากบนศาลา เราสามารถมองเห็นวิวสวยของตัวเมืองได้ทั้ง 4 ด้าน พื้นศาลาเป็นไม้หน้ากว้างหนา และเสาคอนกรีตใหญ่ขนาด 2 คนโอบนั้น ทาสีแดงสด ตัดกับสีเขียวของชายคาดูจัดจ้านดี รอบศาลาปลูกดอกไม้สีอ่อนสดใส แต่ไร้กลิ่นหมดทุกต้น
ที่นี่แหละ ที่เราได้สัมผัสกับชาวบ้านโดยตรง ขั้นแรก ด้วยการไปยืนอยู่ห่างๆ ดูกลุ่มหนุ่มสาวที่ล้อมวงโซ้ยอาหารหลายอย่างที่ใส่กระดาษวางแผ่กับพื้น มีเหล้าคล้ายกระแช่หรือเหล้าขาวกลั้วคอด้วย ขั้นต่อมา เราก็เขยิบเข้าไปใกล้อีกหน่อย ด้วยอยากรู้รายละเอียดว่าเขากินอะไรกัน
โอ้โห... เขามีของน่ากินทั้งนั้น มีขนมหน้าตาคล้ายกุ้ยช่ายไส้ถั่ว เรียกว่า ‘ซองเพียว’ เวลากินเขาเอาจิ้มน้ำตาลทรายแดงป่นกองโต (ซึ่งฟองน้ำว่าเหมือนปูนขาวที่สีมอๆ มากกว่า) ของกินอีกอย่างเป็นเต้าหู้ขาวแผ่นบางๆ และมีปูนาตัวเล็กๆ ต้มอีกกองใหญ่ เขามีน้ำใจกวักมือชวนให้ลองกินลองดื่มกับเขาด้วย พวกเราหลายคนจึงฉลองศรัทธาเขากันนิดหน่อย ชาวชนบทที่ไหนๆ ก็เหมือนกัน คือไม่แล้งน้ำใจกับคนแปลกถิ่น
ผ่านเมืองเล็กๆ อีกเมืองชื่อ มันตน ได้สักครู่ เราก็วกมาสมทบกับถนนเปียงยาง – มารัม อันชินตา รถแล่นไปได้สักครู่ ก็เห็นล่ามคิม หรือกบน้อยของพวกเรา กำลังเดินอยู่ข้างทาง มุ่งหน้าไปทางบ้านมารัม คนขับรถหยุดรับ ท่ามกลางเสียงต้อนรับกบน้อยกันเซ็งแซ่
1
โอ้โห!… วันนี้กบน้อยหล่อเต็มที่ในสูทสีเข้ม ผูกไทเรียบร้อย เขาแจ้งแก่พวกเราว่า มีกำหนดการเพิ่มเติมจากโปรเฟสเซอร์ หวาง คือท่านจะเลี้ยงอาหารเย็นพวกเราที่ภัตตาคารในเมือง หลังจากการพบปะพูดคุยกันระหว่างช่วง 4 - 6 โมงแล้วเสร็จ
เรามาถึงมารัมเวลาเที่ยงครึ่งพอดี หลังจากทานอาหารกลางวันแล้ว คุณหลังแทรกโปรแกรมเอาใจเรานิดหน่อย ด้วยการพามาเดินดูของในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง อยู่ใกล้ๆ กับโรงเล่นสเก็ตน้ำแข็งกลางเมือง ร้านมีอยู่ 2 ชั้น แต่ขายของต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ และราคาแพงทั้งนั้น ฟองน้ำไม่แน่ใจว่า อาจจะเป็นร้าน สำหรับคนมีสตางค์เหลือใช้มากๆ เท่านั้นหรือเปล่า เราจึงออกจะผิดหวัง
พี่นิตย์กับคุณสุ อุตส่าห์หนีบซองชาโสมจากบ้านมารัมติดมือมาให้คนขายดู หมายใจว่าจะซื้อเยอะๆ กลับไปเป็นของฝาก เราชงดื่มกันทุกวันเพราะมันอร่อยดี คนขายบอกว่า ชาโสมนี้เป็นยี่ห้อที่คนเกาหลีกินเอง ไม่มีขายที่ร้านนี้!
เดินจนทั่วร้านทั้งชั้นล่างและชั้นบน ก็ยังไม่เกิดความคิดเลยว่าจะซื้ออะไร คนขายก็ไม่มีใครพูดภาษาอังกฤษ คนที่น่าสงสารที่สุดจึงเป็นตุ้ยนุ้ยกับกบน้อยตามเคย ที่แทบจะต้องแบ่งภาคออกเป็นหลายเสี่ยง แล้ววิ่งตามไปบริการชาวคณะที่เดินไปดูของกันคนละทิศคนละทาง มีแต่คุณหลังที่เหนื่อยน้อยหน่อย เพราะขนาบอยู่แต่กับหัวหน้าคณะ โดยไม่ต้องพูดอะไรเลยนอกจากยิ้มบางๆ
ในที่สุด เราจึงขอให้เขาพากลับไปยังโรงแรมเปียงยาง เพราะเมื่อวันมาถ่ายรูป เห็นมีร้านโสมอยู่ 2 เจ้า เป็นร้านที่ขายยาแผนโบราณ ซึ่งยาหลายขนานเป็นยาเข้าโสม เราจึงคาดว่าน่าจะมีโสมและชาโสมหลายชนิดจำหน่ายด้วย
เหล้าโสมต่างๆ
นายได้ ‘ผันเงิน’ ที่โรงแรมเปียงยาง ด้วยการซื้อชาและเหล้าโสมนิดหน่อย ดูท่าทางค่อยสบายใจขึ้น แต่นายยังมีความหงุดหงิดเหลืออยู่อีกสักหน่อย ที่หาซื้อผ้าพันคอไหมยังไม่ได้ ถามหาแหล่งขายของพวกผ้าไหมจากตุ้ยนุ้ยเขาก็ว่าไม่ทราบท่าเดียว อันที่จริง เราเคยเห็นในห้างสรรพสินค้าใหญ่ขนาด 8 คูหาริมถนนใหญ่ที่เราผ่านบ่อยๆ นายเคยชี้ให้ตุ้ยนุ้ยดูว่า ร้านนี้น่าจะมีของที่ระลึกสวยๆ ขาย ตุ้ยนุ้ยก็เอออออ้อมแอ้ม แต่แสดงท่าทางอยู่ในทีว่าเราไม่มีสิทธิ์หยุดแวะดูแน่ เพราะไม่มีในโปรแกรม นายจึงไม่ตอแยต่อให้เสียเหลี่ยม
นายบ่นคนเดียวดังๆ ว่า “เฮ้อ! เกิดมาก็ไม่เคยเจอ คนอะไรไม่อยากให้เงินหมุนเวียนเข้าประเทศมั่ง!” คนไทยส่วนหนึ่งที่เป็น ‘คนชอบซื้อ’ แบบนายนี่ละกระมัง ที่ทำให้เรายังเป็นชาติที่จนอยู่ยังงี้ ทำอย่างไรหนอ เราจึงจะเปลี่ยนค่านิยมของคนประเภทนายนี้ได้?
เรามาถึงประตูใหญ่ของสมาคมสังคมศาสตร์เมื่อเวลาบ่าย 4 โมงตรงเป๋ง มีทหารหนึ่งนายยืนระวังตรงอยู่ที่ป้อมหน้าประตู เมื่อตุ้ยนุ้ยโชว์บัตรผ่าน พร้อมทั้งส่งภาษา 2-3 ประโยค ก็ได้รับสัญญาณไฟเขียวจากทหารผู้นั้น โดยการพยักหน้าและผายมือให้ผ่าน แถมยังตะเบ๊ะหัวหน้าคณะ 1 ที
ตัวตึกที่ทำการสมาคมใหญ่โตและโบราณมาก ตั้งอยู่บนเนินที่มีต้นไม้ใหญ่วัยดึกแต่ยังมีใบดก ทำให้ร่มแดดและครึ้มทีเดียว ฟองน้ำลืมเล่าไปว่า วันนี้ นอกจากกบน้อยแล้ว คุณหลังของเราก็ทรงชุดใหญ่หล่อเหลาด้วยเหมือนกัน และตุ้ยนุ้ยก็เปลี่ยนจากชุดที่เราเห็นเจนตา เป็นชุดซาฟารีใหม่เอี่ยมสีฟ้า รู้สึกว่าทั้ง 3 คนเตรียมตัวเต็มที่ พวกผู้ชายฝ่ายเราจึงต้องแต่งหล่อตามด้วยเหมือนกัน
มีเจ้าหน้าที่คอยรับเราอยู่ที่บันไดตึก และนำเข้าไปพักผ่อนรอในห้องรับรองด่านแรกก่อน หลังจากนั้นชั่วครู่ก็มีคนมาเชิญไปยังห้องที่สอง เมื่อพวกเรานั่งเรียบร้อยกันแล้ว ท่านศาสตราจารย์ หวาง ก็เดินจากประตูห้องอีกด้านเข้ามาพบพวกเรา
ท่านประธานหวาง ในสายตาของฟองน้ำ เป็นผู้มีบุคลิกหนักแน่นน่าเชื่อถือ แววตากร่ำประสบการณ์ และมองคู่สนทนาอย่างหยั่งความคิดใคร่ครวญเสมอ ท่านมีรูปร่างสันทัด ค่อนข้างโปร่ง และเมื่อท่านเริ่มต้นพูด เราก็รู้สึกได้ถึงความเด็ดขาดและเชื่อมั่นในตัวเองเต็มเปี่ยม (ที่เด่นอีกอย่าง คือนาฬิกาทองอร่ามที่ข้อมือท่าน!)... แต่ฟองน้ำเองอยากให้ท่านยิ้มบ่อยกว่านี้อีกสักนิด...
ท่านหวางพยายามทำตัวเป็นกันเองกับพวกเรา โดยเล่าว่า ท่านเคยไปเยือนเมืองไทย 2 หนแล้ว คือเมื่อปี 1982 หนหนึ่ง และครั้งท้ายสุดก็เมื่อเดือนที่แล้ว ท่านออกตัวว่า ขอให้ถือว่า ที่คุยกันวันนี้ในฐานะอาจารย์ด้วยกัน ไม่ใช่นักการเมืองหรือผู้บริหารคนหนึ่งของประเทศ และสิ่งที่จะคุยกันต่อไปนี้ เป็นเรื่องของอาจารย์กับอาจารย์สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันด้านวิชาการก็แล้วกัน
แต่ฟองน้ำไม่ใช่นักวิชาการ ไม่ใช่นักการเมือง ไม่ใช่ผู้บริหาร ฟองน้ำจึงเหม่อมองดูอะไรๆ ที่เบาๆ สวยงามดีกว่า ขอให้คุณลองอ่านโน๊ตย่อ ที่ฟองน้ำแอบแกะจากลายมือขะยึกขะยือของนายดูเองเถิด (ในวงเล็บคือคอมเมนต์ส่วนตัวของนายเอง) ...
… ท่านหวางบรรยายถึง ‘จุดยืนและแนวทางพัฒนาเกาหลีเหนือ’ เป็นเวลา 1 ชั่วโมง 15 นาทีโดยไม่หยุดชะงักหรือติดขัดเลย (ท่านคงพูดเป็นครั้งที่ 100 แล้วกระมัง - และที่ใช้เวลานานเพราะล่ามต้องแปลไปด้วย) สรุปได้ 3 ประเด็นใหญ่…
“1. เกาหลีเหนือเน้นอุดมการณ์ จูเช่ ซึ่งมีเป้าหมายพัฒนา ‘คน’ เพื่อให้ได้ ‘คน’ ที่มีคุณภาพกลับมาพัฒนาประเทศ เราจึงให้การศึกษา และให้โอกาสกับทุกคน แม้แต่คนงาน เราถือคติว่า ‘คนเราจะเป็นใหญ่เป็นโตได้นั้นขึ้นอยู่กับผลงาน’ ตัวอย่างเช่น สาวที่นำกาแฟมาเสิร์ฟนี้เธอจบปริญญาตรีแล้ว ถ้าเธอทำงานดีมีคุณภาพ ในอีก 2-3 ปีเธอก็จะอาจได้เลื่อนขึ้นมาเป็นผู้ช่วยทำวิจัยได้... ตัวท่านเอง ก็เคยได้รับการคัดเลือกให้ทำงานตำแหน่งผู้น้อยก่อน แล้วจึงค่อยไต่เต้าขึ้นมาตามลำดับ
- เกาหลีมีอุตสาหกรรมหนัก เช่น ผลิตเหล็กกว่า 15 ล้านตัน/ปี แต่ยังขาดอุตสาหกรรมเบา จึงต้องพัฒนาจุดนี้ต่อไปให้มาก
- ด้านเกษตร เรามีเนื้อที่จำกัด จึงต้องปรับปรุงระบบชลประทานให้ได้ใช้ประโยชน์จากผืนดินทุกตารางนิ้ว (ท่านหยอกว่า ถ้าเมืองไทยอยู่ใกล้ก็จะขอยืมที่ดินบ้าง!)
- ด้านการเลี้ยงสัตว์ ยังทำได้ไม่พอ ดังนั้น สินค้าบางประเภทเช่น นม จึงเป็นของนำเข้า ที่สั่งมาให้โรงเรียนอนุบาลและโรงพยาบาลเท่านั้น – หมายถึงให้เด็กที่กำลังเติบโตและคนป่วยดื่มบำรุงร่างกาย (มิน่าเล่า ไอติมจึงเป็นของหวานฟุ่มเฟือย นมเปรี้ยวที่เรากินกันทุกเช้ายิ่งแล้วใหญ่)...
เราสั่งซื้อมันสำปะหลังจากไทยด้วยนะ อาหารที่เกาหลีมีเหลือเฟือคือปลา เช่น เฮริง เพราะทะเลของเรามีกระแสน้ำอุ่นกันกระแสน้ำเย็นมาเจอกัน จึงมีปลาชุกชุม ครั้งหนึ่งเราเคยจับปลาได้มากเป็นที่ 2 ของโลก (มิน่า เราถึงได้มีอาหารปลาจานอร่อยกินทุกมื้อ)
1
- ด้านสุขภาพอนามัย เราไม่มีคนทุพโภชนาการ ไม่ค่อยมีคนเป็นหวัด เพราะไม่มีผู้ไร้ที่อยู่อาศัย การบริการอนามัยเป็นของให้เปล่าจากรัฐ หมอของเราเก่ง ตรงที่พยายามหาทางป้องกันโรคได้ ไม่ใช่เก่งเพราะรักษาโรคหาย
- งบประมาณด้านการศึกษาของเรามาเป็นที่หนึ่ง และประเทศเราไม่มีการเก็บภาษีจากประชาชน (เพราะรัฐเท่านั้นที่มีรายได้)
- ด้านสวัสดิภาพ ตำรวจของเราทำหน้าที่เกี่ยวกับจราจรเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่ต้องคอยจับขโมยเพราะไม่มีโจร เนื่องจากทุกคนมีงานทำ ไม่มีอบายมุข ไม่มีสถานเล่นการพนัน บาร์ คาบาเร่ต์ หรือ เกอิชา (ท่านไม่ใช้คำว่าโสเภณี) เราจะไม่เห็นคนเมาตามท้องถนน...
1
- คนเกาหลีเรา ยิ่งมีตำแหน่งใหญ่ยิ่งต้องทำงานหนัก แต่เราก็มีการพักผ่อนหย่อนใจ เช่น ดูหนัง ดูการแสดงกายกรรมทั้งในร่มและกลางแจ้ง หรือไปเล่นเครื่องเล่นในสวนสนุก (หลายคนคงนึกแวบถึงวันที่เล่นบท ‘วัยกลับ’ ที่สวนสนุกเมื่อวันก่อนโน้น) เรามีศูนย์ศิลปวัฒนธรรม (ตุ้ยนุ้ยใช้คำว่า Art Clubs) อยู่ตามหมู่บ้าน และแม้แต่ในโรงงานก็มี สำหรับคอกีฬาก็มีการส่งเสริมให้เล่นกีฬายามว่างจากงานหรือการเรียน
- ขอสรุปว่า ชาติที่กำลังพัฒนา ต้องพึ่งตนเองให้ได้ ต้องไม่ขึ้นกับประเทศใดๆ ไม่ว่าในด้านเศรษฐกิจ การเมือง หรือการทหาร”
“2. เรื่องการรวมประเทศเกาหลีเหนือ – ใต้ คิดว่าจะทำได้ไม่ยาก แต่ต้องให้เกาหลีฝ่ายใต้ หลุดพ้นจากอิทธิพลของสหรัฐเสียก่อน... ใคร ๆ มักกล่าวหาว่า เรากระหายสงคราม แต่แท้ที่จริงแลัว เรากำลังป้องกันตนเองต่างหาก...”
1
ท่านหวางเสริมทีเล่นทีจริงอีกว่า “พวกคุณรู้ไหมว่า เราขุดอุโมงค์เก่งมากนะ เพราะเราชินกับการรบแบบกองโจร (เราเพิ่งเห็นข่าวจากหนังสือพิมพ์ว่า เกาหลีเหนือแอบเจาะอุโมงค์ใหญ่จากกรุงเปียงยาง ทะลุไปจนถึงกำแพงกั้น 2 ประเทศ ที่ปันมุมจอมด้านเกาหลีใต้!)
เราเสนอให้รวมประเทศแบบสหพันธรัฐ (Democratic Confederation Republic of Korea) โดยยึดนโยบายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Policy of Non-Alignment) แต่คงอีกยาวนานกว่าเราจะตกลงกันได้ เพราะ ‘ฝ่ายใต้’ ถูกลูกยุจาก ‘คนอื่น’...” ประเด็นนี้จบลงตรงท่านหวางให้ข่าวว่า ขณะนี้ มีกลุ่มต่างๆ จากทั่วโลกประมาณ 270 กลุ่ม ที่สนับสนุนการรวมประเทศเกาหลีเหนือ – ใต้อย่างสันติ”
“3. ด้านความร่วมมือกับประเทศอื่น เราเห็นด้วยที่ทุกประเทศควรมีอิสรภาพทางเศรษฐกิจ สิ่งไหนเรามี เราขาย สิ่งไหนเราไม่มี เราซื้อ ทั้งนี้ต้องเป็นสัดส่วนที่ยุติธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย ไม่เอาเปรียบกัน และขอเน้นว่า เราแอนตี้ระบบนายทุน! (ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ไทยจะส่งเสริมด้านการค้ากับเกาหลีเหนือให้มากขึ้น?)
- เราไม่สนับสนุนการแบ่งแยกชนชั้น ไม่ว่าโดยทางเศรษฐกิจหรือสังคม และเราอยากให้เกิดสังคมปัญญาชนขึ้นในหมู่ผู้ใช้แรงงานด้วย...
- เราเห็นว่าประเทศที่มีวัตถุดิบมาก ควรพยายามทุ่มเททำอุตสาหกรรมจากวัตถุดิบนั้นๆ ด้วยตนเอง แทนที่จะให้สัมปทานชาติอื่นมาลงทุน
- เราอยากเป็นมิตรกับทุกประเทศที่ไม่เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของเรา และเราก็ไม่ต้องการเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของใคร...”
ยังมีอีกบางสาระ จากการตอบคำถามหลังการบรรยายของท่านประธานหวาง
 
“การศึกษาภาคบังคับ 10 ปี อนุบาล 1 ปี รวมเป็น 11 ปี
- การเรียนการสอน จะเน้นเกี่ยวกับการปรับปรุงเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยไม่ละทิ้งวัฒนธรรมดั้งเดิมในสังคม
- กรรมกรในโรงงาน ต้องได้รับการอบรมเกี่ยวกับอุดมการณ์ของชาติและความเข้าใจในลักษณะงานของตน เป็นเวลา 2 ชั่งโมงต่อวัน ส่วนชาวนาซึ่งถึงฤดูทำนาเรียกมาอบรมไม่ได้ จึงมีข้อยกเว้น ให้มาอบรมเพียง 2 อาทิตย์ต่อปี
- ชาวนามีรายได้มากกว่ากรรมกร ดังนั้น นักศึกษาจากชนบทจะรวยกว่านักศึกษาในเมือง
- การรับนักศึกษา ใช้วิธีสอบคัดเลือก โดยมีหลักการ ดังนี้
นักศึกษาตามชนบทไกลๆ ต้องสอบได้คะแนน 48% ขึ้นไป
นักศึกษาตามเมืองปริมณฑล ต้องสอบได้คะแนน 50% ขึ้นไป
นักศึกษาในเมืองหลวง ต้องสอบได้คะแนน 60% ขึ้นไป
- การรวมประเทศอย่างสันติ คือ เมื่อรวมแล้ว นโยบายภายใน ต้องมีการแบ่งปันหรือแบ่งประโยชน์กันอย่างยุติธรรม ทั้งสองฝ่ายต้องไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ส่วนนโยบายภายนอก คือเป็นมิตรกับทุกประเทศที่ไม่แทรกแซงกิจการภายในของเกาหลีที่เป็นหนึ่งเดียว (Unique Korea)…!”
ท่านหวางเข้าใจภาษาอังกฤษดี แต่ไม่พูด เห็นท่านเช็คและแก้ไขคำแปลของตุ้ยนุ้ยในบางครั้ง เวลาตอบคำถาม ท่านตอบได้ละเอียดตรงจุด และคมเฉียบทีเดียว
 
นายจดเสียยาว เพราะเขามีสมุดโน๊ต ปั๊มเครื่องหมายพรรคคนงานไว้ที่ปก พร้อมดินสอเหลาแหลม บริการให้ทุกคน
คุณเหนื่อยและหนักหัวเหมือนฟองน้ำไหมเอ่ย? เอ๊ะ... ฟองน้ำลืมหมายเหตุไว้นี่ว่า เมื่อตะกี้ เราได้ดื่มกาแฟอร่อยอีกเป็นถ้วยที่สอง (หลังจากถ้วยแรกที่พิพิธภัณฑ์ของขวัญเมื่อวาน) ตามด้วยน้ำโสมแดงรสอร่อยอีกด้วย
หลังจากคุยกันเรื่องหนักๆ แต่น่าสนใจของนายจบลงแล้ว เราก็เคลื่อนขบวนตามรถคันโก้ของท่านหวางไปยังภัตตาคารริมน้ำ ซึ่งตั้งอยู่ในบ้านแบบเกาหลีหลังใหญ่มาก เขาแบ่งส่วนที่รับประทานอาหารเป็นห้องๆ แยกกันไป 2 ปีกตึก มีโถงใหญ่ตรงกลาง เข้าใจว่ามีห้องแสดงการละเล่นด้วย เพราะเห็นมีคนยืนรอคิวอยู่ตรงประตูกลางที่ยังปิดสนิท มีเสียงซ้อมดนตรีดังลอดออกมาแผ่วๆ
นี่เป็นครั้งแรกที่เราได้เปลี่ยนบรรยากาศเข้ามาทานข้าวในเมือง อาหารแปลกไปจากที่เคยทาน และอุปกรณ์ การเสิร์ฟ ก็แตกต่างออกไปด้วย อาหารมีมากมายหลายอย่าง
เท่าที่ฟองน้ำจำได้ ก็มี โป๊ะแตกแบบเกาหลีเสิร์ฟมาในหม้อเกาเหลาทำด้วยเงินขาว ขนมปังลักษณะคล้ายข้าวเหนียวตัด ซาละเปาไม่มีไส้ คล้ายหมั่นโถวแต่แป้งเป็นอีกแบบ ยำรวมมิตร ที่ทุกอย่างหันเป็นเส้นละเอียดยาวๆ โรยหน้าด้วยงาขาว ลูกไก่อบโสม ข้าวผัดใส่ถั่วต่างๆ และที่ขาดไม่ได้คือซุปใส ส่วนของหวาน เป็นพีชลูกโตหวานฉ่ำ กับไอศกรีมนมผงไม่หวานเลย รายการหลังนี้ เกาหลีตักเอาๆ แต่ไทยทานกันคนละไม่กี่ช้อน (ไม่ดีเลย แต่มันอิ่มมาก
จริงๆ จะฝืนใจกินของไม่ถูกสเปคได้อย่างไรไหว?)
ตัวอย่างอาหารเกาหลีเหนือ
ขอบคุณภาพจาก youngpioneertour.com (บนซ้าย), mykoreaneats.com (บนขวา), independent.co.uk (ล่างซ้าย) และ welkinlight.com (ล่างขวา)​
คืนนี้ ไม่มีรายการ ‘โหยหวนครวญเพลง’ ริมทะเลสาบ เพราะทุกคน อิ่ม เหนื่อย และง่วนงุนสุดแสน!
โปรดติดตามตอนต่อไป.........

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา