14 ก.ค. 2022 เวลา 05:00
Ep. 20 พบชาวนาและคนงาน
บรรยากาศทุ่งนาในเกาหลีเหนือ
วันที่ 2 กันยายน 2528... หลังอาหารเช้า พวกเรา 6 คนไปเดินเล่นย่อยอาหารกันที่ริมทะเลสาบ เจอคุณหลังกวักมือเรียกอยู่ที่ท่าน้ำ เพื่อให้เราลงไปล่องเรือเล่น วันก่อนโน้น ฟองน้ำนึกอยากลงแต่เก้อ เพราะคุณหลังไม่มีกุญแจติดเครื่องเรือ และหาตัวคนขับไม่เจอด้วย
เรือลำนี้ทาสีขาว มีเก้าอี้นวมสีเขียวขี้ม้า 6 ตัววางอยู่ พอดีกับจำนวนของพวกเรา คนขับเรือเป็นชาย แต่งชุดท้อปเลส กำลังก้มๆ เงยๆ อยู่ที่เรือ เขารีบลุกขึ้นมาคว้าเสื้อสวม ก่อนเข้าประจำที่อย่างทะมัดทะแมง
คุณหลังนั่งทำหน้าที่นายท้าย ออกคำสั่งให้คนขับพาเราวนรอบทะเลสาบ 2 รอบ จึงได้มีโอกาสมองบ้านพักรับรองจากด้านทะเลสาบบ้าง แต่ก็เห็นเพียงสีขาว ๆ ของตึกบางส่วน เพราะต้นไม้บังหมด แต่เราได้เห็นบ้านพักรับรองอีกหลังชัดยิ่งกว่า เรืออ้อมตีวง ห่างจากบ้านพักไปทางประตูกั้นน้ำ จากที่นี่ เราเห็นอุโมงค์ทางออกไปสู่โลกภายนอกได้ชัดเจน แต่บนประตูน้ำ มีทหารหนึ่งนายยืนทำเหมือนชมวิวอยู่...!
ทะเลสาบฟากตรงข้ามกับบ้านมารัมเป็นป่าทึบ ริมตลิ่ง มีคนตกปลาอยู่ 2 – 3 คน และมีทหารอีกคนยืนลุยน้ำซักผ้าอยู่ใกล้ๆ เราโบกมือรับการทักทายจากกลุ่มตกปลา เป็นขณะเดียวกับที่คุณหลังสั่งทันทีให้คนขับแล่นห่างออกจากฝั่งอีกหน่อย
เมื่อแล่นเรือขึ้นไปทางเหนือ พ้นโค้งแล้วจึงเห็นว่าทะเลสาบนี้กว้างมาก มองออกไปไกลลิบ เห็นบ้านผู้คนค่อนข้างหนาแน่น คงจะเป็นหมู่บ้านหรือเมืองเล็กๆ เสียดายที่คุณหลังสั่งคนขับเรือตีวงกลับเสียก่อน เมื่อถึงตรงปากแม่น้ำเล็กๆ ที่น้ำไหลมาลงทะเลสาบ พวกเราในเรือคุยกันเล่นๆ ว่า ถ้าเราถูกกักกันจริงก็คงจอด ดูลู่ทางแล้วไปไหนไม่รอดแน่ ถึงจะว่ายน้ำเก่งแค่ไหนก็เถอะ...
ฟองน้ำสดชื่นและสบายใจจริงๆ กับการล่องเรือเล่นลมยามเช้านี้ แดดอ่อนกำลังดี ท้องฟ้าก็สดใส ฟองน้ำชักติดใจ... หวังว่าวันหน้าคุณหลังคงจะใจดีเช่นวันนี้อีก
รายการช่วงเช้าวันนี้คือ ไปชมหมู่บ้านสหกรณ์การเกษตร หรือสหกรณ์การผลิตชื่อว่า ‘ชิลกอล” (Chilgol Cooperative Farm - จีนเรียกหมู่บ้านลักษณะนี้ว่าคอมมูน) อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเปียงยาง เราเดินทางเส้น มารัม – เปียงยางอันชินตา มาจนถึงสี่แยกใหญ่ เลี้ยวซ้ายไปตามถนนสายใหม่ ซึ่งเต็มไปด้วยไร่ข้าวโพดและแปลงถั่วเหลือง
สองข้างทางปลูกไม้ยืนต้นขนาดกลางสูงเสมอกันตลอด รูปร่างต้นไม้เหล่านี้ แปลกตรงที่ลำต้นตรงแหน๋วขึ้นไปสัก 3 เมตร แล้วจึงแยกกิ่งขึ้นไปทั้ง 2 ข้าง ดูคล้ายรูปตัว Y ลำต้นทาด้วยสีขาว และฉาบฟอสฟอรัสให้เรืองแสงในตอนกลางคืน เราเห็นทหารมาควบคุมการปลูกพืชอยู่หลายแห่ง คงจะมาเช็คดูด้วยว่าที่ใดควรปลูกอะไร และรัฐจะได้ปันส่วนผลิตผลเป็นปริมาณสักเท่าไร...
ประมาณ 1 ชั่วโมงเราก็มาถึงตึกอำนวยการสหกรณ์ หัวหน้าสหกรณ์เป็นชายวัยกลางคนท่าทางคล่องแคล่วมาคอยรับ พาเข้าห้องรับรอง ซึ่งแม้จะเป็นชนบทก็มีเก้าอี้บุนวม และมีผ้าคลุมพนักเรียบร้อย ผนังก็ติดวอลล์เปเปอร์อีกด้วย เราได้รับการต้อนรับผิดไปจากที่อื่น คือ เขามีพานลูกแพร์หวานกรอบอร่อย เป็นผลิตผลจากไร่สหกรณ์เองวางไว้ให้ชิม พร้อมกับมีดและผ้าขนหนูชุ่มน้ำผืนเล็กไว้ให้เช็ดมือ และเมื่อเริ่มพูดคุยกันได้สักครู่ ก็มีคนนำข้าวโพดหวานต้มฝักโต กำลังร้อนๆ ควันขึ้นหอมกรุ่นมาวางให้อีก แต่ไม่มีน้ำหรือชาเสิร์พ
หัวหน้าบรรยายสรุปว่า สหกรณ์นี้ตั้งขึ้นเมื่อปี 1946 จากการชี้แนะของท่านประธานาธิบดี ซึ่งมาเยี่ยมที่นี่ 14 ครั้งแล้ว มีเนื้อที่ปลูกข้าว 600 เฮกตาร์ (1 เฮกต้าร์ = 6.25 ไร่) ปลูกพืชไร่ 100 เฮกต้าร์ ไร่ผัก 100 เฮกต้าร์ และสวนผลไม้ 100 เฮกต้าร์
สมาชิกสหกรณ์มีอยู่ 325 ครอบครัว แบ่งเป็น 5 หมู่บ้าน เป็นชาวนา 765 คน วิศวกร (จบมหาวิทยาลัย) 24 คน ผู้ช่วยวิศวกร (จบอาชีวะศึกษา) 96 คน สหกรณ์มีรถแทรกเตอร์ 36 คัน รถบรรทุก 17 คัน และอุปกรณ์การเกษตรกว่า 300 ชิ้น รัฐมีที่อยู่อาศัยให้ฟรีสำหรับทุกครอบครัว มีโรงเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน มีโรงเรียนอนุบาล โรงเรียนมัธยม และมีสถานีอนามัยประจำอยู่ทุกหมู่บ้าน
เมื่อแรกตั้ง สหกรณ์มีปัญหาเรื่องน้ำแล้ง จึงต้องช่วยกันปรับปรุงระบบชลประทานใหม่ หลังจากนั้นผลผลิตเพิ่มขึ้นมาก จากที่เคยผลิตได้ 1-2 ตันต่อเฮกต้าร์ ปัจจุบันได้เกือบ 8 ตันแล้ว รัฐเป็นผู้กำหนดแผนการผลิตในแต่ละปีล่วงหน้า ผลิตผลที่ได้ สมาชิกจะเก็บไว้ให้พอกินตลอดปี ที่เหลือ (ขาย) ให้รัฐ รัฐจะนำไปขายต่อให้กรรมกรในราคาถูกอีกทีหนึ่ง ตัวอย่างเช่น ชาวนาขายข้าวสารให้รัฐ กิโลกรัมละ 60 จอน (100 jon = 1 won คำย่อ W) รัฐขายต่อให้กรรมกร 8 จอน ยอมเข้าเนื้อ 52 จอน
Chilgol Cooperative Farm
ขอบคุณภาพจาก หนังสือ Construction of Korea และ The Democratic People's Republic of Korea
รายได้ต่อหัวของชาวนาคือ 1,000 วอนต่อปี เมื่อถึงสิ้นปี ชาวนาจะได้โบนัส 5,000 วอนต่อครอบครัว ถ้าชาวนา (รวมถึงเกษตรกรประเภทอื่นด้วย) มีเงินเหลือ แล้วเอาไปฝากธนาคาร เขาจะได้ดอกเบี้ย 3-4 % ต่อปี มีวิธีเก็บเงินอีกอย่างก็คือการเสี่ยงโชค ด้วยการนำเงินไปฝากโดยไม่ได้ดอกเบี้ย แต่จะมีการจับฉลากทุก 3 เดือน โดยให้เด็กอนุบาลเป็นผู้จับ ใครโชคดีก็จะได้รับเงินเพิ่มอีก 50% ของจำนวนเงินที่ฝาก
อายุการทำงานของชาวนาคือ ชาย 17- 60 ปี หญิง 17-55 ปี เมื่อเกษียนแล้วจะทำต่อหรือเลิกทำก็ได้ แต่ชาวนาไม่มีบำเหน็จเหมือนกรรมกร จึงต้องช่วยตัวเองหรืออาศัยอยู่กับลูกหลาน
ในปีหนึ่ง ๆ ชาวไร่ชาวนาจะทำงาน 2 ช่วง คือ ตั้งแต่เมษายน – พฤศจิกายน เป็นฤดูเก็บเกี่ยว ต้องทำงานหนักมาก กับช่วงธันวาคม – มีนาคม เป็นช่วงฤดูหนาว ทำงานกลางแจ้งไม่ได้ จึงเป็นช่วงเบางานหน่อย
เสียดายที่ฝนตกอย่างชนิดทำท่ายืดเยื้อ เราไม่อาจไปชมไร่นาได้ จึงจำต้องลาชาวนาตัวอย่างหลายคนที่มาร่วมต้อนรับเพียงแค่นี้
เวลา 10.50 น. เราไปถึงย่านโรงงานรวมอุตสาหกรรมหนักแห่งเมือง แตอัน (Tae-an Heavy Machine Combine) ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเรื่องกำเนิดไฟฟ้า เครื่องกลึง เครื่องอุปกรณ์ของโรงงานทำปูนซีเมนต์ เครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมเคมีประเภทต่างๆ เป็นต้น นอกจากนั้น ศูนย์นี้ยังผลิตเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังน้ำ สำหรับติดตั้งที่เขื่อนยักษ์ที่เมืองนามโปด้วย
นายตีหน้ายุ่งเหยิงและอ่อนแรง เพราะศัพท์แสงเฉพาะต่างๆ เกี่ยวกับเครื่องจักรกลนั้น นายฟังแล้วเหมือนกับเขาสีซอให้ฟังนั่นแหละ ฟองน้ำเองก็ไม่ค่อยกล้าที่จะอธิบายเรื่องยุ่งยากพรรค์นี้ให้คุณฟัง เอาเป็นว่า ของทุกอย่างที่โรงงานแห่งนี้ผลิต ล้วนแต่ชิ้นใหญ่โตสำหรับ
โปรเจกต์ที่มโหฬารทั้งนั้น และตัวโรงงานแต่ละหลังใหญ่และกว้างประมาณสนามฟุตบอลกระมัง
ย่านโรงงานอุตสาหกรรมหนักเมืองแตอัน(Tae-an)
ขอบคุณภาพจาก หนังสือ Construction of Korea และ The Democratic People's Republic of Korea
นายเดินตามเจ้าหน้าที่ไปโดยอัตโนมัติเช่นเดียวกับเพื่อนในคณะคนอื่นๆ เมื่อมองเห็นจานเหล็กกล้าสีดำ เส้นผ่าศูนย์กลาง 3 เมตร มีขอบเตี้ยๆ มองดูคล้ายกะทะฝรั่งก้นแบน นายผู้ชอบคิดถึงแต่เรื่องกินจึงเปรยว่า “อันนี้ ถ้าเอาไปใช้ทำไข่ดาวยักษ์หรือโรตียักษ์ ส่งไปให้เขาลงกินเนสบุ้ค (หนังสือรวบรวมสถิติโลก) เสียหน่อยคงไม่เลว” แต่คุณรุ่งผู้เคร่งศาสนาซึ่งเดินตามหลังนายมา ขัดคอว่า “เห็นแล้วคิดว่า เอาไว้คั่วข้าวตอกไปวัดเวลามีงานบุญใหญ่จะดีกว่า!”
1
นายหันไปมองคุณรุ่งแล้วหัวเราะขำ นึกย้อนไปถึงสมัยที่นายไปวัดหินหมากเป้งของท่านอาจารย์หลวงปู่เทศก์ที่อำเภอศรีเชียงใหม่ กับคุณรุ่งและคณะวิจัยภาษาไทยดำเมื่อ 5-6 ปีก่อน ที่วัดมีแย้ชุกชุม วิ่งเพ่นพ่านเต็มไปหมด เมื่อมองเห็นแย้ นายร้องว่า “อยู่วัดนี้ดีนะ ไม่มีอด” (ในใจนายคิดเล่นๆ แทนคนที่นี่ว่า ถ้าไม่มีอะไรกิน ก็จับแย้มาสำเร็จโทษเสียสักตัวสองตัวก็อิ่ม) แต่คุณรุ่งเออออว่า “ฮื่อ.. อยู่วัดนี้ไม่มีอด ข้าวก้นบาตรพระเหลือแยะ แย้ถึงตัวอ้วนๆ ทั้งนั้น!”
อมิตตพุทธ! อกุศลจิตและกุศลจิตมักวิ่งสวนทางกันฉะนี้แล
มีรางรถไฟพาดผ่านเข้ามาถึงกลางอาคาร workshop ทุกอาคาร เพื่อบรรทุกอุปกรณ์ที่ผลิตเสร็จแล้วไปส่งตามออร์เดอร์ สองฟากทางเดินของโรงงานเต็มไปด้วยคำขวัญ คำโฆษณาปลุกใจให้กรรมกรขยันทำงานเพื่อชาติ ป้ายเหล่านี้เขียนด้วยพู่กัน และมีภาพวาดประกอบไม่ซ้ำกันเลย แสดงว่า คนงานที่มีแววจิตรกรคงมีเยอะ
เราเห็นป้ายเขียนตัวอักษรสีขาวบนพื้นแดง มีคำว่า “หมายเลข 26” ติดอยู่ใต้สัญลักษณ์พรรคคนงานเป็นระยะๆ เมื่อนายถาม ได้รับคำอธิบายว่า สมัยที่ท่าน คิม จอง อิล ไปฝึกงานในโรงงานแห่งหนึ่งนั้น เครื่องจักรที่ท่านได้รับผิดชอบให้ทำ คือหมายเลข 26 ท่านทำงานได้ผลอย่างวิเศษ กรรมกรรุ่นหลังจึงยึดถือเลข 26 เป็นสัญลักษณ์ปลุกใจ กระตุ้นให้คนรุ่นหลัง เบอร์หลังๆ ทำงานให้ดีที่สุดเหมือนคนที่ทำเครื่องจักรเบอร์ 26
เข้าห้องรับรองซึ่งใหญ่ขนาดจุ 50 คนได้สบายๆ ฟังบรรยายสรุปตามฟอร์มโดยรองผู้จัดกาใหญ่ เราลองมาฟังเกี่ยวกันระบบงาน และสวัสดิการของคนงานดีกว่า
โรงงานนี้มีคนงาน 20,000 คน 35% เป็นหญิงมีอาคาร workshops อยู่ 40 อาคาร สถาบันวิจัย 3 แห่ง มีไร่ผัก สวนผลไม้ ฟาร์มโคนม และฟาร์มเลี้ยงไก่ เลี้ยงหมูเอง เพื่อขายให้คนงานในราคาถูก ส่วนข้าวสารนั้น คนงานซื้อถูกๆ จากรัฐอยู่แล้วในราคากิโลกรรมละ 8 จอน หรือประมาณ 1 บาท คนงานอยู่บ้านแบบแฟลตของหลวงฟรี และถึงจะเกษียนแล้วก็ยังอยู่ที่เดิมต่อได้ เวลาทำงานตามที่นายจดคือ ทำงาน 8 ชั่งโมง นันทนาการ 8 ชั่วโมง ศึกษาหาความรู้(ส่วนใหญ่เกี่ยวกับลัทธิจูเช่) 8 ชั่วโมง
ฟองน้ำเลยไม่ทราบว่าเขาแอบนอนกันตอนไหน ชำเลืองดูโน้ตของคนอื่นก็จดทำนองเดียวกันนี้ นายจึงโมโหตัวเองที่ไม่ได้ถามเขาเรื่องเวลานอน เพราะสำหรับคนชอบนอนอย่างนายแล้วสำคัญเหลือเกิน ในที่สุด เพื่อขจัดความหงุดหงิด นายก็สรุปเอาเองว่า ช่วงนันทนาการนี่แหละคงจะเป็นช่วงที่เขาพักผ่อนนอนหลับ
ตามกฏหมายแรงงาน คนงานจะทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน แต่รัฐเรียกร้องในรูปคำสั่ง ให้เพิ่มชั่วโมงการทำงานเพื่อเร่งความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ในปี 1960 มีการจัดตั้ง “ขบวนการรับอรุณรุ่ง” (See the Morning Star Movement) ขึ้นโดยพรรคคนงาน เพื่อเร่งรัดควบคุมการทำงานและอบรมความรู้ความเข้าใจในลัทธิจูเช่ให้เข้มขึ้น
ภายในโรงงานอุตสาหกรรมหนักเมืองแตอัน(Tae-an)
ขอบคุณภาพจาก หนังสือ Construction of Korea และ The Democratic People's Republic of Korea
ศูนย์นันทนาการในโรงงานประกอบด้วย โรงยิม โรงหนัง ลานกีฬา ทั้งประเภทกลางแจ้งและในร่ม
 
บุตรหลานคนงานจะถูกส่งเข้าเรียนในโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในอาณาบริเวณของโรงงาน ตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยม และระดับอาชีวะศึกษาหลายสาขา สำหรับคนงานเอง ถ้ามีความสามารถด้านสติปัญญา ผู้ใหญ่ในพรรคคนงานจะส่งเข้าเรียนในวิทยาลัยของโรงงานโดยตรง เพื่อจะได้ก้าวหน้าต่อไปถึงระดับบริหารได้ ทั้งนี้ ต้องแบ่งเวลาทำงานและเรียนไปด้ว
การบริหารโรงงานกระทำโดยบุคคล 3 กลุ่ม ได้แก่ ตัวแทนจากพรรคคนงาน ตัวแทนจากสันนิบาตยุวชนโซเชียลิสต์ และตัวแทนจากสหภาพแรงงาน (ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มก็คือคนของรัฐทั้งหมด)
บางคำถามจากฝ่ายเรา...
คำถาม: คนงานมีแรงจูงใจมากน้อยแค่ไหน ในเมื่อการผลิตทุกอย่างเป็นของรัฐหมด
คำตอบ: หลักการของเราคือ จ่ายส่วนเกินสำหรับงานที่มีคุณภาพ ถ้าคนไหนทำงานดีเกิน 100% ของเป้าที่วางไว้ เขาก็จะได้กำไรที่เหลือในส่วนเกินนั้น คนไหนที่มีหัวคิดสร้างสรร ประดิษฐ์อะไรใหม่ๆ ขึ้นมา เขาก็จะได้เงินเพิ่มขึ้นเป็นรางวัลจากรัฐ และได้เลื่อนระดับงานด้วย
คำถาม: ถ้ามีปัญหาเรื่องการจัดการหรือการบริหาร คนงานจะร้องเรียนกับใคร?
คำตอบ: โดยทั่วไปแล้ว เราถือว่าคนงานทุกคนกับผ่ายบริหารและฝ่ายจัดการ ต่างก็เป็นเจ้าของโรงงานเหมือนกัน ในเมื่อต่างมีผลประโยชน์ร่วมกัน จึงมีการขัดแย้งกันน้อยมาก แต่หากมีปัญหาจริงๆ เขาก็สามารถปรึกษาคณะกรรมการซึ่งตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาได้ คณะกรรมการชุดนี้ ตั้งจาก 3.5% ของจำนวนผู้บริหารทั้งหมด มีการประชุมเพื่อแก้ปัญหาเดือนละ 1 ครั้ง
โรงงานรวมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เข่นที่เมือง แตอัน แห่งนี้ มีกระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ อีก 5 - 6 แห่ง แต่ละแห่งจะผลิตชิ้นส่วนเพื่อสนองความต้องการภายในเขตของตน ไม่มีการผลิตข้ามเขตถ้าไม่จำเป็น โดย 10% ของเครื่องจักรกลที่ผลิตได้ ถูกส่งไปขายยังประเทศที่ปกครองในระบอบเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน เช่น รัสเซีย จีน บุลกาเรีย และอีกหลายประเทศในยุโรปตะวันออก
1
นอกจากนี้ ในโรงงานยังมีพิพิธภัณฑ์ปฏิวัติด้วย อันนี้เขาไม่ได้พาไปดู แต่ฟองน้ำเดาเอาเองว่า คงเป็นคล้ายนิทรรศการแสดงวิวัฒนาการความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมในประเทศ จากการชี้แนะของท่านผู้นำประเทศ...
เราออกจากโรงงานเมื่อเวลาเที่ยงสิบห้า และกลับบ้านมารัมโดยผ่านเมืองอีกด้านหนึ่ง ผ่านย่านก่อสร้างแฟลตแถวชานเมือง ด้วยวิธีใหม่ที่รวดเร็วดี กล่าวคือ เขาหล่อคอนกรีตเป็นรูปผนังไว้เป็นด้านๆ เว้นช่องหน้าต่างประตูไว้เสร็จเรียบร้อย เมื่อรอจนซีเมนต์แห้งดีแล้ว ก็ใช้รถปั้นจั่นยก นำมาต่อประกอบกันจนแล้วเสร็จอย่างรวดเร็วตามแปลน ที่ดูหวาดเสียวหน่อย คือเขาไม่ค่อยกั้นบริเวณที่ก่อสร้าง บางแห่งปล่อยให้เปิดโล่ง คนที่ไม่ระวัง หรือเกิดอยากรู้อยากเห็นเดินดุ่มเข้าไปเมื่อไหร่ อาจเกิดโศกนาฏกรรมขึ้นได้
1
ฟองน้ำสังเกตว่า แฟลตที่เมืองในชนบทก็ทำเช่นเดียวกันกับในเปียงยาง คือระหว่างช่วงตึกแต่ละหลัง จะมีกำแพงต่อกัน โดยเว้นช่องประตูเอาไว้ราว 1.5 หรือ 2 เมตร แต่ไม่ใส่บานประตู แล้วก่อกำแพงอีกชั้น ให้เหลื่อมลึกเข้าไปข้างในราว 1 เมตร ให้มีความยาวกว่าช่องประตูที่เจาะไว้เล็กน้อย เป็นการบังตาคนนอกไม่ให้เห็นภายใน
ผู้คน หรือรถจักรยาน หรือมอเตอร์ไซด์ (ซึ่งมีน้อยมาก) จะเยื้องเข้าออกช่องได้ทั้งสองทาง เป็นลักษณะดังนี้ทุกแห่ง ส่วนประตูเข้าออกสำหรับรถยนต์นั้นไม่ต้องพูดถึง ไม่มีแน่นอน เพราะชาวบ้านทั่วไปมีรถยนต์ส่วนตัวไม่ได้ เราจึงไม่เคยเห็นรถอื่นใดจอดเกะกะข้างทาง นอกจากรถเมล์
ใครที่เดินไม่เก่ง ไม่มีสิทธิอยู่ประเทศนี้ คุณเห็นด้วยกับฟองน้ำไหม ?
เรากลับถึงมารัมเมื่อบ่ายโมงเศษนิดๆ เมื่อเราเขาไปในห้องอาหาร ก็ได้เห็นอาคันตุกะผิว
มะเมื่อมกลุ่มใหม่อีก 5 คน เป็นหญิงหนึ่งคน ทั้งหมดกำลังส่งภาษาชาวเกาะค่อนข้างดังและรัวเร็ว หนี่งใน 5 คนนั้น เป็นเจ้ากระทรวงศึกษาธิการของเกาะมาดากัสการ์ (เกาะใหญ่อันดับ 4 ของโลก ตั้งอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย)
ห้องอาหารวันนี้จึงคึกคักเพราะลูกค้าเสียงดังฟังชัดกลุ่มที่มาเพิ่ม เป็นอันว่า ต่อจากนี้ ฝั่งปีกตึกนี้ของบ้านมารัม เราจะมีเพื่อนกินอาหารรวม 4 โต๊ะ คือ โต๊ะออสเตรีย 2 คน (ซึ่งนายมา
ทราบภายหลังว่าผู้สามีเป็นโปรเฟสเซอร์ทางจิตวิทยา) โต๊ะฝรั่งเศส 3 คน โต๊ะมาดากัสการ์ 5 คน และโต๊ะไทยใหญ่ที่สุด 8 คน (อีก 7 คนของพวกเราพักที่อีกปีกตึกของบ้าน)
หลังจากแอบชำเลืองดูกลุ่มใหม่นี้แล้ว ฟองน้ำก็ขำอยู่ในใจว่า บัดนี้ คนเกาหลีเหนือมีคู่แข่งระบบบูชาผู้นำเข้าแล้ว ด้วยว่า แขกผู้มาใหม่ทั้ง 5 คน ติดเข็มประธานาธิบดีหน้าตาน่าเกรงขามของเขาหราที่หน้าอกและปกเสื้อกันทุกคน!
โปรดติดตามตอนต่อไป.......

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา