19 ก.ค. 2022 เวลา 02:00 • หนังสือ
ชวนอ่านหนังสือ Stolen Focus: Why Can’t You Pay Attention ใครขโมยโฟกัสของเราไป
โฟกัส (Focus) หมายถึง ความสามารถจดจ่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ความสามารถนี้จำเป็นต่อความคิดและการกระทำของมนุษย์ ในปัจจุบันความสามารถของมนุษย์เราในการโฟกัสลดลงและสูญหายไปเป็นอย่างมาก ทั้งที่การโฟกัสนั้นสำคัญต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ แต่เหตุไฉนเราจึงเห็นผู้คนรวมทั้งตัวเราเองไม่ค่อยมีโฟกัสได้อย่างที่ควรจะมี
ทุกวันนี้ ตั้งแต่ตื่นนอน เราก็ยกมือถือข้างเตียงนอนขึ้นมาไถหน้าจอ ไถไปไถมาเรื่อย ๆ อย่างล่องลอยไร้จุดหมาย (ส่วนหนึ่งเพราะอัลกอริธมของแอ็ปที่เรียกว่า endless scrolling คือ ไถหน้าจอได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดนั่นเอง) ระหว่างทานข้าวเราก็ไถมือถือไป กินไป จนไม่ได้สัมผัสรสชาติ เนื้อสัมผัส หรือกลิ่นของอาหารที่เรากิน ตอนนั่งทำงานกว่างานชิ้นหนึ่ง ๆ จะเสร็จสำเร็จลงได้ เรายกมือถือดูไลน์ ดูเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์หรือเปิดอีเมล์ เป็นสิบ ๆ รอบ ๆ (ทั้งวันอาจเป็นร้อย ๆ รอบ แทบจะยกขึ้นมาดูทุก 5 นาทีเลยทีเดียว)
หรือแม้กระทั่งเวลาพูดคุยกับคนรู้จัก คนที่ทำงานด้วย คุย ๆ อยู่ ก็มีสัญญาณเตือนดังขึ้นหรือสั่นสะเทือนที่บริเวณข้อมือ มาจากแอปเปิ้ลวอทช์ แล้วเราต้องเบือนหน้าจากคนที่คุย ไปดูว่าใครส่งอะไรมา
เห็นไหมครับว่า เราไม่ค่อยจะมีโฟกัสกันเท่าไรนัก แล้วโฟกัสนี่มันหายหรือตกหล่นไปไหน หรือว่าจริง ๆ แล้วมีใครมาขโมยมันไป
หนังสือ Stolen Focus: Why Can’t You Pay Attention โดยนักเขียน โจฮันน์ ฮาร์ริ จะมาไขคำตอบว่าใครขโมยโฟกัสของเรา ในเล่มนี้ผู้เขียนเล่าให้เราฟังถึงปัญหาเรื่องความสามารถในการจดจ่อหรือโฟกัสผ่านเรื่องราวที่เขาได้ไปสัมผัส ได้ลงไปสำรวจ ตรวจสอบ และสืบสวน ผ่านมุมมองของตนเองและของผู้เชี่ยวชาญในปัญหาด้านการโฟกัส
ผู้เขียนเล่าเรื่องผ่านมุมมองที่เป็นวิทยาศาสตร์ได้อย่างน่าสนใจ นอกจากนี้ยังเชิญชวนให้ผู้อ่านได้กลับมาคิด ทบทวนใหม่เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรื่องการโฟกัส ซึ่งปัจจุบันถือเป็นโรคระบาดไปทั่วโลก ร้ายกาจไม่แพ้โควิด-19 หรือโรคอ้วนที่อ้วนที่นับวันคนจะเป็นโรคนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ
ผู้เขียนเรียบเรียงเหตุปัจจัยออกมาเป็น 12 ข้อ เรียบเรียงมาเป็นบท ๆ ดังนี้ (ในแต่ละบทมีรายละเอียดเหตุผลที่มาที่ไป เขียนได้ชวนค้นหาคำตอบ น่าสนใจ สามารถหามาอ่านกันได้)
1. ความรวดเร็วและปริมาณของข้อมูลข่าวสารที่มากขึ้น การสวิตช์ความคิดไปมา (การทำมัลติทาสกิ้งไม่มีอยู่จริง แต่เป็นการสวิตช์ความคิดไปมามากกว่า) และความสามารถของสมองในการคัดกรองข้อมูลที่เข้ามาในความจำเพื่อใช้งานมีประสิทธิภาพลดลง (The Increase in Speed, Switching, and Filtering)
2. การสูญเสียภาวะลื่นไหล (The Crippling of Our Flow)
3. ความเหนื่อยล้าทางร่างกายและจิตใจ (The Rise of Physical and Mental Exhaustion)
4. การพังทลายลงของความสามารถในการอ่านหนังสืออย่างต่อเนื่อง (The Collapse of Sustained Reading)
5. การดิสรัปชั่นของภาวะใจลอย (The Disruption of Mind-Wandering)
6. การถือกำเนิดของเทคโนโลยีที่สามารถติดตามและควบคุมจิตใจมนุษย์ (The Rise of Technology That Can Track and Manipulate You)
7. การถือกำเนิดของการมองโลกในแง่ดีอันโหดร้าย (The Rise of Cruel Optimism)
8. การเพิ่มขึ้นของภาวะตึงเครียดซึ่งกระตุ้นภาวะตื่นตระหนก (The Surge in Stress and How It Is Triggering Vigilance)
9. การเสื่อมถอยของอาหารการกิน (Our Deteriorating diets)
10. การเพิ่มขึ้นของภาวะมลพิษ (Rising of Pollution)
11. การเพิ่มขึ้นของภาวะสมาธิสั้นและการตอบสนองต่อภาวะสมาธิสั้นโดยผู้เกี่ยวข้องอย่างไม่ตรงจุด (The Rise of ADHD and How We Are Responding to It)
12. การกักขังหน่วงเหนี่ยวเยาวชนของเราทั้งทางร่างกายและจิตใจ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม (The Confinement of Our Children, Both Physically and Psychologically)
คำสำคัญที่หนังสือเล่มนี้พูดถึงเกี่ยวกับการแก้ปัญหาเรื่องโฟกัสส่วนบุคคลว่า เป็น Cruel Optimism หรือการมองโลกในแง่ดีอันโหดร้าย หมายความว่าอย่างไร หมายความว่า ปัญหาโฟกัสไม่ใช่เรื่องเฉพาะบุคคลเพียงเท่านั้น แม้ว่าเราจะแก้ปัญหานี้สำหรับตนเองได้ แล้วคนอื่น ๆ ในสังคมล่ะ ถ้าเราแก้ไขเฉพาะตัวบุคคล ไม่แก้ไขทั้งระบบ ปัญหาคงจะไม่จบไม่สิ้น เหมือนปัญหาการเมืองบ้านเราที่เป็นอยู่ เราคงไม่สามารถจัดการปัญหาการโฟกัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้นแล้ว นอกจากตัวเรา ผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็กเล็ก ควรจะอ่านเล่มนี้แล้ว ผู้มีอำนาจทั้งทางการเมือง หรือผู้เกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (โดยเฉพาะบริษัทด้านเทคโนโลยี ซึ่งสร้างนวัตกรรม ที่ขโมยโฟกัสของพวกเราไป) ควรอ่านเป็นอย่างยิ่งและควรโฟกัสกับปัญหาโฟกัสนี้ในภาพใหญ่ ให้ความสำคัญกับปัญหานี้ว่าเป็นปัญหาในระดับสังคมและระดับโลก
ดังนั้น อย่ารีรอที่จะตั้งใจโฟกัสหาหนังสือเล่มนี้มาอ่าน และกลับมาโฟกัสกับปัจจุบัน ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องปกป้องตนเอง ปกป้องลูกหลาน และสังคมจากปัญหาอันใหญ่หลวงนี้
ขณะนี้ยังไม่มีเล่มแปลไทย แต่เท่าที่ตามจากเว็บไซต์พบว่าสำนักพิมพ์ Bookscape น่าจะกำลังแปลและตีพิมพ์ออกมาในไม่ช้าครับ (https://bookscape.co/books/coming-soon/stolen-focus) ถ้าไม่อยากรอ สามารถไปซื้อได้ที่ Asiabooks หรือ Kinokuniya หรือสั่งทาง online ก็ได้ครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา