21 ก.ค. 2022 เวลา 05:00
Ep. 22 ชมศูนย์สร้างเสริมปัญญา:หอสมุดแห่งชาติเปียงยาง
หอสมุดแห่งชาติ
วันที่ 3 กันยายน 2528 วันนี้เป็นรายการที่รอคอยมาหลายวันแล้ว นั่นคือการไปชมหอสมุดแห่งชาติ เขาใช้คำว่า Grand People’s Study House เราเคยเห็นตึกใหญ่สูงเด่นของหอสมุดนี้จากหอจูเช่ และนั่งรถผ่านหลายหนแล้ว
ออกจากบ้านพักเวลา 8 โมงครึ่ง ท่ามกลางฝนพรำ เราขอคุณหลังแวะธนาคารกลาง (Pyongyang Central Bank หรือ National Trade Bank) เพื่อแลกเงินไว้จ่ายให้ภัตตาคารที่เราจะเป็นเจ้าภาพ Farewell Party เลี้ยงขอบคุณฝ่ายเกาหลี คืนนี้ ซึ่งจะเป็นอาหารเย็นมื้อสุดท้ายของเราในเปียงยาง
อยู่เมืองนี้ต้องวางแผนแลกเงินไว้ล่วงหน้า เพราะไม่มีร้านรับแลกเงินเกลื่อนถนนอย่างเมืองไทยดอกต้องแลกที่ธนาคารเท่านั้น และเราไม่รู้เลยว่าเคยเห็นธนาคารหรือเปล่า เพราะป้ายอาคารต่างๆ ล้วนเขียนเป็นภาษาเกาหลี ป้ายธนาคารมีเขียนเป็นภาษาอังกฤษกำกับตัว
เล็กๆ และมีไม่กี่แห่ง เราอาจแลกเงินได้ที่โรงแรมใหญ่ และตามห้างสรรพสินค้าบางแห่ง แต่เงินวอนที่ให้ชาวต่างชาติแลกไปใช้ จะประทับตราสีแดง ชาวเกาหลีไม่มีสิทธิ์ใช้
ธนาคารกลางนี้ ตั้งอยู่ในซอกถนนเล็กๆ กลางเมือง ภายในใหญ่โอ่โถงและสะอาดดี มีเก้าอี้นวมอยู่หลายชุด ตั้งเรียงรายไปตามความโค้งของห้องโถง มีเบาะรองนั่งเป็นผ้าปักรับกับปลอกสวมพนักและที่วางแขน ห้องโถงเพดานสูง มีม่านโปร่งรูดเปิด – ปิด จากเพดานถึงพื้นหินอ่อนสีหม่นๆ สีเดียวกับเสาหยักมนต้นใหญ่หนามาก
บนเคาน์เตอร์ที่โค้งตามรูปผนังไม่มีเอกสารอันใดวางอยู่เลย ทุกอย่างใส่ไว้ในตู้ข้างๆ เป็นแบบลิ้นชักแคตตาล้อคห้องสมุด ลูกค้าที่มาติดต่อ จะเปิดลิ้นชักหยิบใบฝาก – ถอนออกมาเองตามต้องการ แล้วนำไปยื่นให้พนักงานพร้อมกับแจ้งความจำนง
สมุห์บัญชีใหญ่เป็นหญิง เธอนั่งอยู่กลางห้องด้านใน ท่าทางเอาการเอางาน ฟองน้ำทึ่งที่เมืองนี้ให้ความสำคัญกับผู้หญิงไม่น้อย ก้อเมื่อวาน เราพบอธิการบดีหญิง มาวันนี้ เจอสมุห์บัญชีใหญ่ของแบงก์ชาติเป็นหญิงอีก!
ที่แปลกอีกก็คือ อัตราแลกเงินเท่ากันหมด ทั้งที่แบงก์ ที่โรงแรม หรือที่ห้างสรรพสินค้า แต่เช็คเดินทางกลับแลกได้ในอัตราต่ำกว่าเงินสด
 
แลกเงินเสร็จ เราก็ไปผันเงินกันใหม่ ที่โรงแรมเปียงยางเจ้าเก่า ระหว่างรอเวลานัดกับผู้อำนวยการหอสมุดเวลา 10 โมงครึ่ง
ฟองน้ำลืมเล่าไปว่า เมื่อตอนเช้า มีคนเอารูปที่ช่างภาพเกาหลีตามไปถ่ายพวกเรามาแจกคนละซองเหมือนกันหมด เขาอัดแจกเฉพาะรูปที่เราไปชื่นชมอนุสรณ์ที่สำคัญเท่านั้น รวม 8 รูป สองวันหลังนี้ ตากล้องหายไป ไม่มาติดตามเหมือนเคย คงเป็นเพราะว่า อีก 2 วัน เราก็จะอำลาเปียงยางแล้ว ถ้าตามมาถ่าย เขาก็จะอัดให้ไม่ทันนั่นเอง รูปถ่ายที่ได้รับแจกเป็นรูปขาว – ดำ ขนาดใหญ่กว่าโปสต์การ์ดธรรมดา ฝีมือการถ่ายรูปโอเคมาก
ดูแล้วฝนฟ้าคงฉ่ำทั้งวัน จึงได้เห็นชาวนาใส่เสื้อฝนสวมหมวก ทำนากลางฝนอยู่ตามปกติ เมื่อเข้ามาในเมือง ก็ได้เห็นกลุ่มคนเดินกางร่มถือช่อดอกไม้ (ช่อเดิมเมื่อวันก่อนโน้น?) อยู่เต็มสองฟากถนน ตุ้ยนุ้ยมองตามสายตาเรา แล้วรายงานว่า วันนี้ ประธานาธิบดีจากอัปเปอร์ – โวลต้ามาเยี่ยมเรา ประชาชนจึง (ถูกเกณฑ์ออกมา?) ออกมาต้อนรับท่าน (อัปเปอร์ – โวลต้าอยู่ในอัฟริกาตะวันตก ใกล้กับประเทศกานา เมื่อปี ค.ศ. 1984 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น บูร์กินา ฟาโซ – Burkina Faso)
เป็นความภูมิใจของเขาที่มีแขกเมืองมาเยือน ด้วยเขาสู้อุตส่าห์จัดเตรียมประเทศอยู่ราว 10 ปี ตบแต่งจนงดงามตามนโยบาย แล้วจึงแง้มประตูอวดชาวโลก ฟองน้ำว่าทุกบ้านคงมีช่อดอกไม้ประดิษฐ์แบบนี้เตรียมไว้ทั้งนั้น หรือทางการอาจเตรียมไว้ให้ก็เป็นได้ เพราะหมู่นี้ แขกบ้านแขกเมืองมากันบ่อยมาก การถือช่อดอกไม้ออกไปต้อนรับอาคันตุกะของประเทศ คงเป็นงานในหน้าที่อย่างหนึ่งเหมือนกัน
หอสมุดแห่งชาติเปียงยางประทับใจเราเป็นอันดับแรก คือห้องโถงที่ใหญ่โต หรูด้วยพื้นที่ปูด้วยหินมีค่าสีต่างๆ 10 ชนิด จัดวางเป็นลวดลายงดงาม โคมระย้าเจียระไนหลายช่อเล่นไฟระยิบระยับ หน้าต่างกระจกประดับด้วยลูกไม้โปร่งสีขาว และที่ขาดไม่ได้คือ รูปปั้นหินอ่อน
ของประธานาธิบดีสง่าอยู่บนแท่นตามธรรมเนียมปฏิบัติของประเทศนี้ เนื้อที่ใช้สอยในแต่ละชั้นประมาณ 1,000 ตารางเมตร เราขึ้นไปชั้นบนด้วยลิฟต์ซึ่งมีอยู่ 2 ข้าง ตรงกลางเป็นบันใดกว้างดูโอ่โถงและราวบันใดสวยอีกต่างหาก
ห้องโถงภายในหอสมุดแห่งชาติ
ขอขอบคุณภาพจาก ttnotes.com/
หอสมุดเปิดบริการเมื่อเดือนเมษายน 1982 มีทั้งหมด 600 ห้อง ที่นั่งอ่านหนังสือรวม 5,000 ที่นั่ง มีสมบัติเสริมปัญญาเริ่มจาก 13 ล้านเล่ม จนถึงปัจจุบันประมาณ 16 ล้านเล่ม การดำเนินงานขึ้นตรงกับกระทรวงศึกษาธิการ
เจ้าหน้าที่หอสมุดมีประมาณ 1,000 คน บรรณารักษ์มีกว่า 400 คน และพนักงานแปลอีกกว่า 200 คน ที่มีนักแปลเยอะ ก็เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนเกาหลีที่ต้องการอ่านตำราภาษาต่างประเทศ โดยนักแปลเหล่านี้ จะแปลแบบสรุปย่อหนังสือภาษาต่างประเทศลงเทปเป็นภาษาเกาหลี
คนเกาหลีที่อ่านตำราต่างประเทศจะสามารถเช็คกับเทปได้ ว่าตนเองอ่านเข้าใจถูกต้องไหม (มีห้องฟังเทปย่อนี้ด้วย) นายว่า รายการนี้ดูเข้าที สำหรับตำราภาษาต่างประเทศที่คนนิยมอ่านหรือนำมาอ้างอิงกันเยอะ นักแปลก็จะนำมาแปลเป็นฉบับสมบูรณ์เลยทีเดียว ซึ่งมีรวบรวมไว้ด้วยกันในห้อง ‘หนังสือแปลจากต่างประเทศ’ โดยเฉพาะ
หลังจากขึ้นลิฟต์แล้ว เราต้องไต่บันไดต่ออีก 72 ขั้น จึงถึงห้องแค็ตตาล็อกรวม ทางหอสมุดทำสำเนารายการหนังสือใหม่ๆ จัดส่งไปยังมหาวิทยาลัย โรงเรียน ศูนย์หนังสือ ของหมู่บ้าน และโรงงานทั่วประเทศเป็นประจำ มีคนมาใช้ห้องสมุดประมาณ 5,000 – 6,000 คนทุกวัน ในจำนวนนี้ รวมถึงนักเรียนและนักศึกษา ที่มาค้นคว้างานประกอบการเรียนในช่วงบ่ายด้วย
- หอสมุดเปิกทำการ 8 โมงเช้า ถึง 4 ทุ่ม โดยไม่มีวันหยุด
- ระบบห้องสมุดเป็นระบบเกาหลี ไม่ได้ใช้แบบสากล
- มีห้องหนังสือที่ประธานาธิบดีบัญชาให้แปลโดยเฉพาะด้วย
เราไปชมห้องอ่านหนังสือใหญ่ 15 ห้อง บางห้องจุถึง 800 ที่ ซึ่งเท่ากับยกห้องสมุดขนาดปกติ 15 ห้องมาไว้ที่นี่นั่นเอง ในแต่ละห้อง มีบรรณารักษ์คอยดูแลการยืม และการคืนหนังสือ นักอ่านจะหยิบหนังสือเองไม่ได้ ที่พิเศษคือ เขาจะกำชับให้คนที่ยืมหนังสือไปอ่านต้องวิจารณ์หนังสือที่ยืมไปด้วย (เป็นการเช็คว่ายืมไปอ่านจริงหรือเปล่า)
บริการที่เข้าท่าอีกอย่างคือ ‘ห้องคำถาม-คำตอบ’ ใครที่ปัญหาเกี่ยวกับห้องสมุดหรือหนังสือ จะแวะเข้าไปถามข้อข้องใจได้ทุกเวลา เขาจัดเจ้าหน้าที่ประจำพร้อมตอบทุกคำถาม ตลอดเวลาที่หอสมุดเปิด บริการแบบนี้ ห้องสมุดหลายแห่งที่เมืองไทยก็มีเหมือนกัน
เราผ่านห้องอาหารซึ่งใหญ่มาก แต่ไม่ค่อยเหมือนที่อื่นทั่วๆ ไป คือที่นี่ไม่มีอาหารขาย มีเพียงโต๊ะเก้าอี้ให้นั่ง ทุกคนต้องพกอาหารมาเอง และเข้ามานั่งรับประทานในห้องนี้เท่านั้น มีโต๊ะสำหรับ 4 คนอยู่ประมาณ 60 โต๊ะ แต่ละโต๊ะ มีแจกันดอกไม้พลาสติกช่อยักษ์ สีแจ้ด วางอยู่ ใครอ่านหนังสือจนหิวตาลายแล้ว ก็หอบกล่องอาหารเข้ามานั่งทานได้เลย
ภายในห้องสมุด
ขอบคุณภาพจาก หนังสือ The Democratic People's Republic of Korea
ผู้อำนวยการหอสมุดอธิบายต่อว่า ชาวเกาหลีเราเรียกหอสมุดนี้ว่า “ศูนย์สร้างเสริมปัญญา” (Interlectualization Center ไม่เรียก Library) เพราะนอกจากบริการหนังสืออ่านแล้ว ยังมีโปรแกรมให้ความรู้แก่ชาวบ้านทั่วไป หรือจัดอบรมพิเศษแก่คนที่ต้องการฟื้นฟูความรู้ที่เรื้อไปแล้ว เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังจัดโปรแกรมให้ความรู้ประเภท ‘คุณขอมา’ ตามความต้องการของหน่วยงานต่างๆ อีกด้วย ทุกคนที่เข้ามาที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่หรือผู้มาใช้บริการ ถือว่าเป็นผู้ใฝ่ใจแสวงหาความรู้ทั้งสิ้น (อันนี้คงจริงแฮะ เพราะฟองน้ำเห็นพนักงานที่นั่งประจำอยู่ในลิฟต์ตัวใหญ่ อ่านหนังสือเล่มโตที่วางอยู่บนโต๊ะเล็กคลุมผ้ากำมะหยี่เสียด้วยตรงมุมลิฟต์ ฟองน้ำชะแง้ดูให้เห็นชัดๆ ...โอ้โห เป็นหนังสืออังกฤษชื่อ World History of Asia แน่ะ!)
ก่อนเข้าห้องอ่านหนังสือ ทุกคนจะต้องวางบัตรห้องสมุด หยิบหนังสือที่แจ้งยืม แล้วจึงไปนั่งอ่าน โดยหันหน้าไปทางรูปประธานาธิบดีทุกคน (ตามเก้าอี้ที่เจ้าหน้าที่จัดวางไว้) ผนังห้องอ่านหนังสือเกือบทุกห้อง ติดวอลล์เปเปอร์ลายดอกไม้ คิม อิล ซุง
การยืมหนังสือออกนอกห้อง นำมาอ่านที่ระเบียงสามารถทำได้โดยผ่านคอมพิวเตอร์ ใช้เวลาเพียง 2-3 นาทีเท่านั้น 60% ของหนังสือในหอสมุดเป็นภาษาเกาหลี หนังสือภาษาต่างประเทศจะแสดงไว้ด้านใน มีเคาน์เตอร์กันไว้ ได้เห็นแต่เพียงห่างๆ จึงไม่ทราบว่าเป็นตำราจากแหล่งไหนบ้าง แต่ที่แน่ๆ ต้องเป็นตำราจากแถวยุโรปตะวันออก และไม่มีตำราอเมริกันอย่างแน่นอน!
เราเยี่ยมชมห้องทีวีวงจรปิด มีจอทีวีตั้งเรียงกัน 4 เครื่อง ฉายสารคดีต่างกันไป ห้องปฏิบัติการทางภาษาก็ใช้ทีวีวงจรปิดประกอบแบบโสตทัศนะ มีห้องดูวิดิโอ (ยี่ห้อญี่ปุ่นนะ) และห้องฟังดนตรีด้วย ที่ห้องดนตรีนี้ เราได้ฟังเพลงเพราะคลอเสียงใสๆ ของ ‘คายากุม’ ได้แก่ เพลงนานาชาติ ‘โทราจิ’ และเพลงชมธรรมชาติชื่อ ‘นึงซือโพทริ’ ซึ่งแปลว่า ดอกไม้ 80 ดอก หรืออะไรนี่แหละ นายจดผิดๆ ถูกๆ ตามเสียงที่ไกด์เล่า เพื่อจะเอาไปล่าหาเทปฟังทีหลัง
ผู้อำนวยการนำเราไปชมวิวที่เฉลียงชั้น 7 วิวหันไปสู่ลานกว้างสวยเหลือเกิน มองเห็นแม่น้ำแตดองและอนุสาวรีย์จูเช่ ตรงกับตึกหอสมุดพอดี แดดส่องกระทบเปลวเพลิงแก้วสีแดงจัดของยอดหอจูเช่ ดูราวกับเปลวไฟจริงๆ ที่ไหวไปมา
ถนนเบื้องล่างและลานกว้างดูสงบสงัด นานๆ จึงจะเห็นความเคลื่อนไหวจากรถที่แล่นผ่านมา... ด้านหลังของเฉลียงเป็นห้องกระจกกว้างหรูหรา มองเข้าไปเห็นพรมปูหนาสีฟ้าเข้ม กลางห้องมีโต๊ะเก้าอี้สีโอ้คชุดใหญ่ แกะสลักแบบทึบเป็นรูปดอก คิม อิล ซุง ทั้ง 2 ชนิด
ผนังเป็นพรมทอภาพป่าไม้ในต้นฤดูใบไม้ร่วง ใบไม้เป็นสีเหลืองทอง ตามโคนต้นไม้มีดอกอาเซเลียบานสะพรั่ง ประตูทุกบานเป็นไม้แกะสลักหนา เปิดด้วยการดึงห่วงทองแดงที่ขัดถูจนมันวาว และแม้แต่ท่อนไม้ที่ใช้หนุน กันไม่ให้ประตูปิด ยังบุด้วยกำมะหยี่สีแดงก่ำ... ไม่มีคำอธิบายว่าเป็นห้องอะไร แต่ฟองน้ำเข้าใจเอาเองว่า อาจเป็นที่เฉพาะสำหรับท่านประธานาธิบดีหรือบุตรชายก็ได้
เราลงมาชั้นล่าง เพื่อชมนิทรรศการหนังสือของสำนักพิมพ์ต่างๆ กว่า 20 แห่ง เขาโชว์หนังสือที่ได้รับการตีพิมพ์ไว้อย่างละเล่ม รวมประมาณ 15,000 เรื่อง
 
หนังสือที่แปลจากภาษาเกาหลีเป็นภาษาต่างประเทศ จะจัดพิมพ์โดยหน่วยงานของรัฐ คือ Pyongyang Foreign Publishing House และงานที่รัฐกำลังเร่งทำอยู่ขณะนี้คือ การแปลผลงาน ของท่าน คิม อิล ซุง ออกเป็นภาษาต่างๆ ทั่วโลก มีการจ้างเจ้าของภาษามาตรวจสำนวนแปลให้สมบูรณ์และถูกต้อง
หนังสือภาษาต่างประเทศที่แสดงในนิทรรศการ มี 7 ภาษา ได้แก่ รัสเซีย จีน อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส สเปน และญี่ปุ่น
มุมสุดท้าย เป็นสิ่งพิมพ์ภาษาต่างๆ เกี่ยวกับท่าน คิม อิล ซุง ที่พิมพ์เผยแพร่ทั่วโลก มีแผนที่ขนาดใหญ่ติดอยู่เต็มเนื้อที่ผนัง แสดงลูกศรชี้ว่า เป็นสิ่งตีพิมพ์จากประเทศไหนบ้าง ไกด์ประจำนิทรรศการมีอัธยาศัยน่ารัก เธอบอกเราว่า จากประเทศไทยก็มีนะ
ว่าแล้วเธอก็ดึงหนังสือพิมพ์ The Nation’s Review มาให้ดู เป็นหน้าแสดงความยินดี ในวาระคล้ายวันเกิดปีที่ 70 ของท่านประธานาธิบดี เมื่อเมษายน 1982 มีคอลัมน์ประวัติย่อของประเทศเกาหลีเหนือและของท่านผู้นำด้วย ซึ่งจัดทำโดยกลุ่มบริษัทคนไทยที่ทำการค้ากับเกาหลีเหนือ รวม 4 หน้า
...และเราได้เห็นว่า คิม จอง อิล ทายาททางการเมืองของท่านประธานาธิบดี มีอัจฉริยะหลายด้านจริงๆ ด้วยมีนิทานสำหรับเด็กหลายเรื่องที่ท่านแต่ง แสดงอยู่ที่มุมหนังสือเด็กด้วย
 
ใกล้เที่ยงแล้ว แต่เขาก็ยังคงรักษาธรรมเนียม พาเข้าห้องรับรองเพื่อดื่มน้ำหวาน และพร้อมที่จะตอบคำถามเพิ่มเติม...
 
ถาม: หนังสือหายบ่อยไหม
ตอบ: แหม! ชาวต่างชาติชอบถามคำถามนี้กันจัง ขอตอบว่า ไม่เคยเลย
ถาม: หนังสือมีมากอย่างนี้ ใช้คนทำบัตรรายการแยกประเภทหนังสือมากไหม
ตอบ: เรามีเจ้าหน้าที่แผนกนี้อยู่ 60 คน หนังสือเข้ามาใหม่ จะถูกจัดแยกประเภททันที ส่วนหนังสือภาษาต่างประเทศจะจัดแยกภายในไม่เกิน 1 อาทิตย์
ถาม: ขอทราบเกี่ยวกับการยืมหนังสือออก
ตอบ: ยืมได้ครั้งละ 2-3 เล่ม ภายใน 1 เดือน ถ้ายืมครั้งแรกยังอ่านไม่เสร็จ ก็สามารถยืมต่อได้อีก 1 เดือน ทั้งนี้ จะยืมหรือคืนทางไปรษณีย์ก็ได้... เราไม่มีเรื่องค่าปรับหนังสือคืนเกินเวลา เพราะไม่เคยปรากฏกรณีอย่างนี้
ถาม: การบริการชุมชนนอกเหนือจากนี้มีบ้างไหม
ตอบ: สองสามครั้งต่อสัปดาห์ในช่วงเย็น เรามีเลกเชอร์เกี่ยวกับความรู้และเทคโนโลยี
ใหม่ๆ ฟรีแก่คนทั่วไป มีโปรแกรมแจ้งล่วงหน้าทางทีวี วิทยุ และหนังสือพิมพ์
 
เสียดายที่หอสมุดนี้ไม่มีบริการถ่ายเอกสาร
เราออกจาก “ศูนย์สร้างเสริมปัญญา” แห่งนี้เมื่อเที่ยงครึ่ง แล้วกลับไปทานกลางวันที่บ้านมารัมตามระเบียบ
หลังอาหารกลางวัน ท่านชานำของขวัญจากประธานาธิบดีมามอบให้พวกเราทุกคน เป็นแจกันเซรามิคสวยสีเขียวอมเทา ของหัวหน้าคณะเป็นสีเขียวอ่อนนวล ขนาดใหญ่กว่าของทุกคนนิดหน่อย นอกจากนี้ยังมีเหล้าโสม และชาโสมอีกคนละ 1 ห่อ ท่านประธานาธิบดียังเอื้อเฟื้อมอบผ้าปักด้วยไหมละเอียดงดงาม ใส่กรอบขนาดใหญ่ราว 1 เมตร ให้แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วย
โปรดติดตามตอนต่อไป....

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา