29 ก.ค. 2022 เวลา 06:25 • สุขภาพ
นมแต่ละชนิดต่างกันอย่างไร ?
1
ผลิตภัณฑ์นมเป็นผลิตภัณฑ์ที่อุดมไปด้วยโปรตีนและแคลเซียม ทั้งยังบริโภคได้ทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงวัยชรา แต่กระบวนการเก็บรักษานมนั้นมีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นพาสเจอไรส์ สเตอริไลซ์ หรือยูเอชที
แต่ละแบบมีความแตกต่างกันอย่างไร แล้วเราควรเลือกดื่มนมที่มีกระบวนการเก็บรักษาแบบไหนจึงจะดีที่สุด มาค้นหาคำตอบไปพร้อมกัน
นมแต่ละชนิดต่างกันอย่างไร ?
นมสดพาสเจอร์ไรส์ (Pasteurized milk)
นมสด 100% ที่ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อด้วยความร้อนต่ำแต่ใช้เวลานาน คือทำให้ร้อนที่อุณหภูมิ 72 องศาเซลเซียส เป็นเวลาอย่างน้อย 15-20 วินาที หรือ ผ่านความร้อนอุณหภูมิ 63-65 องศาเซลเซียส เป็นเวลานาน 30 นาที เมื่อผ่านความร้อนครบตามเวลาที่กำหนดไว้แล้ว ก็ทำให้เย็นลงทันที ที่อุณหภูมิไม่เกิน 5 องศาเซลเซียส (อุณหภูมิตู้เย็น) โดยนมชนิดนี้จะมีไขมันอยู่ประมาณ 3.8%
1
ข้อดี : นมพาสเจอร์ไรส์เป็นนมมีคุณค่าทางอาหาร มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ใกล้เคียงกับนมโคสดมากที่สุดและยังมีรสชาติสดอร่อยอีกด้วย
ข้อเสีย : กรรมวิธีการพาสเจอร์ไรส์นั้นสามารถทำลายจุลินทรีย์ได้เพียงแค่บางชนิด เช่นจุลินทรีย์ที่เป็นโทษต่อร่างกาย แต่ไม่สามารถกำจัดจุลินทรีย์ที่ทำให้นมเน่าเสียได้ ดังนั้นจึงต้องเก็บนมพาสเจอร์ไรส์ไว้ในที่อุณหภูมิ 0-4 องศาเซลเซียส (ตู้เย็น) ตลอดเวลา หลังจาก 3-5 วัน เชื้อจุลินทรีย์ที่ยังคงหลงเหลืออยู่อาจเพิ่มจำนวนขึ้นจนทำให้นมบูดได้ แต่ถ้าเปิดขวดแล้วควรดื่มให้หมดภายใน 2 วัน
#สาระจี๊ดจี๊ด
อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่านมสดพาสเจอร์ไรส์จะเป็นนมที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง แต่ก็ควรใช้เลี้ยงเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 1 ขวบขึ้นไป เด็กแรกเกิดถึง 1 ขวบควรได้รับการเลี้ยงดูดด้วยน้ำนมแม่ ที่นอกจากมีสารอาหารครบถ้วนแล้ว ยังมีภูมิคุ้มกันที่จำเป็นสำหรับทารกอีกด้วย
#สาระจี๊ดจี๊ด
นอกจากผลิตภัณฑ์นมแล้ว เรายังนำการพาสเจอไรส์ไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารประเภทอื่น ๆ เช่น อาหารกระป๋อง น้ำผลไม้ น้ำเชื่อม ไวน์ อีกด้วย
1
นมสเตอริไลส์ (Sterilized milk)
คือนมสด 100% ที่ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อด้วยความร้อนที่อุณหภูมิ 118 องศาเซลเซียส โดยใช้เวลานาน 12 นาที ความร้อนสูงของระบบสเตอริไลส์จะสามารถทำลายเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคและจุลินทรีย์ที่ทำให้นมเน่าเสีย นมชนิดนี้จึงสามารถเก็บได้นานกว่า 1 ปีโดยไม่ต้องแช่เย็น คุณภาพของน้ำนมเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก แต่ปริมาณวิตามินบีต่าง ๆ อาจจะลดลง
ข้อดี : เก็บได้นานโดยไม่ต้องแช่ตู้เย็น แต่ถ้าเปิดกล่องแล้วดื่มไม่หมด ควรนำไปแช่ในตู้เย็น
ข้อเสีย : รสชาติ ความสด น้อยกว่าเมื่อเทียบนมพาสเจอร์ไรส์
นมยูเอชที ( UHT หรือ Ultra High Temperature milk)
เป็นนมสดที่ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อด้วยความร้อนที่อุณหภูมิ 140-150 องศาเซลเซียส เป็นเวลานาน 2-3 วินาที แล้วนำมาบรรจุด้วยขบวนการปลอดเชื้อ ระบบยูเอชทีจะใช้อุณหภูมิสูงแต่ระยะเวลาการฆ่าเชื้อที่สั้นมากเพื่อไม่ให้คุณภาพของน้ำนมเปลี่ยนแปลงไป เป็นระบบที่สามารถกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ได้เกือบทั้งหมด สามารถเก็บได้นานถึง 6-9 เดือน โดยไม่ต้องแช่ตู้เย็น
ข้อดี : เก็บที่อุณหภูมิห้องได้นาน แต่ถ้าเปิดกล่องแล้วดื่มไม่หมดก็ควรนำไปแช่ในตู้เย็น
ข้อเสีย : รสชาติ ความสด คุณภาพของน้ำนมเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย
สรุปกระบวนการไหนคงคุณค่าทางสารอาหารได้มากที่สุด ?
นม ถือเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เป็นแหล่งของแร่ธาตุแคลเซียมและฟอสฟอรัสที่จำเป็นในการสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง นอกจากนี้ นมยังให้วิตามินบี 2 วิตามิน บี 12 รวมทั้งเป็นแหล่งไขมัน และให้พลังงาน
#สาระจี๊ดจี๊ด
สำหรับนมที่ยังคงคุณค่าทางสารอาหารไว้มากที่สุดคือกระบวนการพาสเจอร์ไรส์ เพราะใช้อุณภูมิในการฆ่าเชื้อโรคต่ำ มีรสชาติใกล้เคียงกับนมโคสดมากที่สุด แต่ข้อเสียก็คือสามารถทำลายจุลินทรีย์ได้เพียงแค่บางชนิด และต้องเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นเท่านั้น
#Wasabi ขอเพียงมีส่วนเล็ก ๆ ที่ช่วยให้คุณ!
"เจริญเติบโต ก้าวหน้า สำเร็จ อย่างภาคภูมิใจ"
แหล่งที่มา / แหล่งอ้างอิง
#สาระจี๊ดจี๊ด #Wasabi #ความรู้ขึ้นสมอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา