30 ก.ค. 2022 เวลา 07:30 • ประวัติศาสตร์
สก๊อตแลนด์ วันที่ 1 (ตอนที่ 3) บทเส้นทางแห่งราชา (Royal Mile)
ออกจากพระราชวังโฮลีรู้ดแล้ว เป้าหมายต่อไปคือปราสาทแห่งเอดินบะระ (Edinburgh Castle) ซึ่งอยู่ทิศตรงกันข้ามของเมือง ระยะทางจากตรงนี้ไปเกือบสองกิโลเมตรเท่านั้น เส้นทางสายหลักที่เชื่อมต่อระหว่างพระราชวังกับปราสาทมีชื่อว่ารอยัลไมล์ (Royal Mile) ซึ่งมีความสำคัญมากเพราะเป็นที่ตั้งของใจกลางเมืองยุคเก่าที่มีสถาปัตยกรรมสวยงามล้ำค่าและมีประวัติศาสตร์สำคัญทั้งบนถนนสายหลักและบริเวณโดยรอบ
ตัวเมืองเก่าเอดินบะระไม่เหมือนกับลอนดอนเลย ที่เห็นได้ชัดคือลอนดอนนั้นดูเป็นเมืองใหม่ เพราะถูกเนรมิตขึ้นมาตอนหลังไฟไหม้ แต่เอดินบะระนี่เก่าจริง อาคารแบบนีโอคลาสสิกและจอร์เจียนของที่นี่ใหญ่โตเทอะทะอัดกันแน่นบนถนนที่ไม่ได้กว้างใหญ่อะไร ร่องรอยเก่าคร่ำบนพื้นผิวต่างๆของตึกเหล่านี้ดูเป็นเขม่าจับตามผนังสีเทายิ่งทำให้ถนนสายนี้ดูโรแมนติกไปอีก เหมือนหลุดมาในโลกที่ดูกำมะลอแถมยังมีซอยเล็กๆแคบๆชวนให้เดินดูว่าจะมีอะไรลึกลับอยู่แถวนี้บ้าง
เมื่อเดินออกจากพระราชวังไปตามเส้นทาง ก็จะพบกับสถานที่มีป้ายเขียนไว้ว่า Cowgate หรือแปลตรงตัวว่าประตูวัว สังเกตได้จากรูปวัวการ์ตูนสองตัวที่ตัวหนึ่งปักตัวลงในตึกโผล่มาครึ่งตัวแค่ส่วนก้น อีกตัวโผล่ส่วนหน้าออกมาครึ่งตัวเช่นกัน (และถ้าใครคิดว่ามันเป็นตัวเดียวกันก็สามารถจินตนาการได้ว่าลำตัวของมันคงจะยาวเป็นไส้กรอก) อยู่ใกล้ๆกับประตูโค้งใหญ่โตรอรับเราอยู่
แต่อย่าเข้าใจผิดนะว่าประตูวัวตั้งชื่อขึ้นจากวัว 2 ตัวนี่ หรือว่ามีตำนานเก่าแก่เกี่ยวกับวัว เพราะจริงๆแล้วคำว่า gate ในความหมายของสก๊อตแลนด์หมายถึงถนนหรือหนทาง ดังนั้นในเมืองนี้จึงพบ gate เติมไปหมด (อย่าไปมองหาประตูล่ะอาจหลงทางได้) และถนนวัวนี่จริงๆแล้วคาดว่าในยุคกลางจะเป็นเส้นทางที่คนต้อนูฝงปศุสัตว์ไปที่ตลาดซึ่งอาจจะมีวัวเป็นหลักก็เลยมีชื่อแบบนี้
เมื่อเดินต่อไปอีกจะพบกับอาคารแบบนีโอคลาสสิกสีเทา มีด้านหน้าเป็นจั่วและเสาแบบวิหารพาร์เธนอนของกรีก นี่คือรัฐสภาของสก๊อตแลนด์ (Parliament House of Scotland) เป็นอาคารเก่าซึ่งไม่ได้ถูกใช้เป็นรัฐสภาแล้ว ด้านหน้ามีอนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้าโดยเป็นม้าที่กำลังจะควบ และบุคคลที่อยู่บนหลังคือพระเจ้าชาร์ลที่ 2 ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์หลังจากช่วงเวลาครอมมอนเวลล์สิ้นสุดลงและมีการสถาปนาระบอบกษัตริย์ขึ้นมาอีก
มองไปทางซ้ายมืออีกไม่ไกลจะพบทางแยกไปยังถนนสายเล็ก ตรงนี้มองไปทางซ้ายจะเห็นโดมใหญ่สีฟ้าสวยสด นี่คืออุ๊ย ชมเมืองไปเพลินๆแป๊บเดียวก็เห็นปราสาทบนเนินเขานั้นอยู่ตรงหน้าไม่ไกลนัก มีอะไรหลายอย่างที่รอคอยการสำรวจ แค่เดินไปไม่นานก็ได้ไปยืนอยู่ตรงนั้นแล้ว (Royal Bank of Scotland) นี่เป็นมุมมองที่ดีมากเลยทีเดียว
Royal Bank of Scotland
สถานกงสุลฝรั่งเศส จุดเด่นอยู่ที่ภาพประติมากรรมระหว่างเสาไอออนิกกรีก และห้องสมุด Signet ซึ่งภายในสวยงามมากและสามารถเช่าสถานที่ในงานแต่งได้ด้วยนะ
สถานกงสุลฝรั่งเศส
แต่ที่น่าสนใจที่สุดในบริเวณนี้คืออาคารราชบัณฑิตยสถาน (Royal Scottish Academy of Art and Architecture (RSA)) เป็นสไตล์นีโอคลาสสิกมีหน้าจั่วและเสาดอริกแบบกรีก และมีจุดเด่นคือสฟิงซ์คู่อยู่บนหลังคา ดูแล้วจะเข้าใจคำว่าแปลกวิเทศ หรือ Exotic ว่าเป็นแบบนี้นี่เอง ตอนนี้ใช้เป็นสถานที่จัดนิทรรศการศิลปะต่างๆ
Royal Scottish Academy of Art and Architecture (RSA)
และใกล้กันนั้นคือ หอศิลป์แห่งชาติสก๊อตแลนด์ (National Galleries of Scotland) ซึ่งเดี๋ยวเราจะได้เข้าไปในอีกวันนึง
สิ่งสำคัญโดดเด่นและพลาดไม่ได้เด็ดขาดสำหรับการมาเยือน Royal mile ก็คือโบสถ์ St.Giles ที่ดูโดดเด่นเตะตา โดยสถาปัตยกรรมที่เห็นเป็นสไตล์โกธิค ซึ่งแน่นอนที่เราจะได้เห็นกระจกสี ซึ่งเป็นของคู่กันกับสไตล์นี้อย่างไรก็ตามโบสถ์ St.Giles แห่งนี้ไม่ได้มีความสูงทิ่มแทงฟ้าแบบโบสถ์โกธิอื่นๆ สิ่งที่โดดเด่นสะดุดตาเป็นเอกลักษณ์ของโบสถ์คือยอดของหอคอยนั้นเป็นทรงมงกุฎยอดแหลมที่ใช้แขวนระฆังครอบอยู่ ซึ่งเป็นจุดเด่นทีเดียว (อย่าคิดถึงชฎาของไทยนะ เพราะมงกุฏฝรั่งไม่แหลมเปี๊ยบเหมือนของเรา)
เมื่อเข้าไปภายในจะเห็นว่าที่นี่ไม่ได้ประดับตกแต่งมีรายละเอียดหรูมากมายแต่อย่างใด ค่อนข้างจะเรียบง่ายด้วยซ้ำ
นี่ทำให้ St.Giles ให้ความรู้สึกที่แตกต่างจากโกธิคที่อื่น โดยเฉพาะความกลมกลืนของสีและพื้นผิวซึ่งเป็น Monotone สีน้ำตาลหม่นและพื้นผิวเก่าแก่คร่ำคร่าหนาหนัก ให้ความรู้สึกผสานกับภายนอกโบสถ์และมีบรรยากาศร่วมกับอาคารอื่นบน Royal Mile ได้อย่างดี เช่นเดียวกับกระจกสีของโบสถ์ซึ่งมีอายุประมาณร้อยกว่าปีมีสีหม่นมากกว่ากระจกสีในโบสถ์แห่งอื่นอีกด้วย นี่ทำให้ความงามของโบสถ์นี้กลมกลืนและให้อารมณ์สงบงาม
ตรงกลางโบสถ์มีรูปประติมากรรมของชายเครายาวสวมหมวกและเสื้อคลุมรุ่มร่ามอยู่ เขาคนนี้คือ จอห์น นอกซ์ (John Knox) ซึ่งเป็นบุคคลคนสำคัญมากของศาสนจักรในสก๊อตแลนด์ ซึ่งเป็นคู่ปรับกับพระนางแมรี่แห่งสจ๊วต (ก็คนเดียวกับคู่แข่งของพระนางเอลิซาเบธที่ 1 นะแหละ)
เนื่องจากพระนางแม่รี่เป็นคาทอลิกในขณะที่นอกซ์เป็นฝ่ายโปรเตสแตนต์ มีการนำพลังประชาชนและขุนนางต่างๆมาสู้กับควีนแมรี่ ทั้งในเรื่องการแต่งงานใหม่และเรื่องอื่นๆ อีกมาก ในที่สุดนอกซ์และฝ่ายโปรเตสแตนต์เป็นผู้ชนะ พระราชินีแม่รี่ถูกควีนเอลิซาเบธสั่งประหาร และนอกซ์ก็ให้ความเห็นชอบสนับสนุนสิ่งนี้ด้วย (สงสารควีนแมรี่รึยังจ๊ะ)
ด้วยเหตุนี้เขาจึงได้เป็นคนสำคัญของศาสนจักรโปรเตสแตนต์ในสก๊อตแลนด์ อีกทั้งได้เข้ามาเป็นผู้ปกครองโบสถ์ St.Giles ชัยชนะครั้งนั้นมีผลให้ฝ่ายโปรเตสแตนต์เข้ามายึดครองโบสถ์ซึ่งเป็นคาทอลิกมาแต่เดิม มีการทำลายรูปเคารพ รูปนักบุญ และสัญลักษณ์พระคาทอลิกลง รวมทั้งรูปของ St.Giles เองด้วย อีกทั้งจอห์น นอกซ์ก็ได้มาเป็นผู้ปกครองโบสถ์ในเวลาต่อมา
John Knox
บริเวณที่สวยงามมากอีกแห่งคือห้องบูชาที่ชื่อว่า Thistle Chapel เป็นโบสถ์ตกแต่งอย่างวิจิตรด้วยศิลปะแบบโกธิคที่เน้นรูปทรงแท่งสูงยาวพุ่งสู่เบื้องบน ซึ่งเราจะเห็นอยู่มาก โดยเฉพาะส่วนของเพดานโกธิค รูปพัดประดับประดาด้วยเถาดอกไม้สวยมากเช่นเดียวกับลายประดับกรอบประตูและอื่น ๆ
เดินออกจากโบสถ์ไปไม่ไกล จะเห็นอนุสาวรีย์สีเขียวอมเทาเป็นรูปชายคนหนึ่งนั่งอยู่บนเก้าอี้ กำลังมองหนังสือเล่มหนึ่งที่เขาถืออยู่ คนผู้นี้คือเดวิด ฮูม (Devid Hume) หลายท่านอาจรู้จักและร้องอ๋อ แต่อีกหลายท่านอาจไม่รู้จัก เขาคือนักปรัชญาสก๊อตแลนด์ มีชื่อเสียงระดับโลก มีชีวิตอยู่ในสมัย (1711-1776) ซึ่งเป็นช่วงสมัยเดียวกับอดัม สมิธ (Adam Smith) ชาวสก๊อตแลนด์ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านเศรษฐศาสตร์ และมีอนุสาวรีย์อีกไม่ไกลกัน
Devid Hume
อนุสาวรีย์ของฮูมห่มคลุมตัวด้วยผ้าผืนใหญ่ราวกับนักปรัชญาชาวกรีก ดูเคร่งขรึมครุ่นคิด ตัวเขาได้เขียนหนังสือและวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงอยู่มาก โดยเฉพาะแนวคิดเรื่องการไม่สมาทานเรื่องเชื่อพระเจ้าที่มีอำนาจเหนือโชคชะตามนุษย์ ซึ่งถือว่าเป็นความเชื่อที่ใหม่และนำไปสู่ยุคแห่งภูมิปัญญา
โดยแนวคิดหนึ่งที่สำคัญคือการอธิบายความรู้ของมนุษย์ที่ต่อยอดจากนักปรัชญาก่อนนี้ ซึ่งแตกกลุ่มเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งให้ความสำคัญกับความคิดและเหตุผลจากตัวตนของมนุษย์ แต่อีกฝ่ายบอกว่าความรู้นั้นเป็นสิ่งที่ต้องเกิดจากการวัดประเมินหลักฐานเชิงประจักษ์ มิใช่ว่าเอาตัวตนส่วนตัวเข้าไปจับแล้วคิดเอาไปเอง
แต่ฮูมได้นำความคิดของทั้งสองมารวมกันโดยยอมรับว่าการรับรู้จากภายนอกนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แต่การรับรู้ของมนุษย์นั้นก็มีความคิดส่วนตัว เช่นความประทับใจและอารมณ์เข้าไปรับรู้ด้วย หรือจะว่าไปแล้วสิ่งที่เรารู้จัก เห็น สัมผัส มันมีการปรุงแต่งจากตัวตนภายในเรา ทำให้เกิดความรับรู้ในแบบที่เราเข้าใจว่าเป็น
(คุ้นๆไหม แนวคิดนี้)
นอกจากนี้ในด้านคุณธรรม ฮูมคิดว่าความดีที่เราคิดนั้นเกิดจากอารมณ์เป็นหลัก การประเมินความดีจะให้คุณค่าจากความคิด อารมณ์ และเจตนา ว่าเรามีความเห็นใจ มีความรู้สึกยินดีและเสียใจ มีอารมณ์ร่วมกับผู้อื่นหรือไม่ (ตรงกับคำว่ากรุณาและมุทิตาของแนวคิดทางพุทธ) นั่นละคือสิ่งบ่งชี้ความดี มากกว่าจะดูจากบรรทัดฐานทางสังคมแม่แต่ผลที่เกิดขึ้นกับสังคม ซึ่งความคิดของ ฮูม นี้จะไปกันได้กับศิลปะโรแมนติกที่เน้นอารมณ์ และกลุ่มอิมเพรสชันนิซึมที่เน้นความประทับใจ
พอแค่นี้เถอะนะ ถ้าเขียนมากไปกว่านี้จะกลายเป็นวิชาปรัชญาพาสนุก ซึ่งไม่ตรงกับการพาทัวร์ royal mile ครั้งนี้ แต่ก่อนจะไปไหนต่อไหนอีกเรามาสังเกตนิ้วเท้าขวาของเดวิด ฮูม สักนิด จะเห็นว่าปลายนิ้วของท่านกลายเป็นทอง !!! เกิดอะไรขึ้นหรือมีตำนานอะไรหนอ
from : https://www.edinburghexpert.com/blog/david-hume-edinburghs-philosopher
ขอเฉลยจ้า อาการนิ้วทอง (ไม่ใช่นิ้วพอง) ของท่านเกิดจากความเชื่อของนักท่องเที่ยวส่วนหนึ่ง ซึ่งเอาความคิดจากไหนมาก็ไม่รู้ บอกต่อกันว่าถ้ามาถึงแล้วได้ลูบปลายเท้าท่านแล้วจะโชคดี มีความฉลาดรอบรู้แบบเดียวกับท่าน ซึ่งผมเองก็มาขอประทานความฉลาดนี้ด้วยเหมือนกันแม้ว่าจะพอมีอยู่บ้างแล้วก็ตาม
หลังจากนี้ขอพาท่านผู้ชมเดินต่อไป จนพบเจออนุสาวรีย์ของนักปรัชญาอีกคนหนึ่งคือ อดัม สมิธ และเมื่อไปเจอท่านแล้วก็จะไม่กล่าวถึงเรื่องเศรษฐศาสตร์ไปได้อย่างไร ขอเล่าสักนิดหนึ่งว่าผลงานสำคัญของเขาคือหนังสือเรื่องความมั่งคั่งแห่งชาติ (Wealth of Nations) ซึ่งเป็นที่สนใจกันมากในยุคนั้น เป็นแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อว่ากลไกของการค้าเสรีและการผลิตด้วยการแบ่งงานกันทำจะเป็นสิ่งที่สร้างความมั่งคั่งได้ดี
นอกจากนั้นเขายังได้เสนอความคิดในด้านการบริหารจัดการต่างๆ เช่น การเก็บภาษี การกระจายรายได้และอื่น ๆ ซึ่งเป็นการสนับสนุนแนวคิดแบบทุนนิยมและการจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจ ซึ่งได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้อย่างมากจนถึงปัจจุบัน
นี้อดัม สมิธ ยังเสนอแนวคิดหนึ่งว่า มนุษย์นั้นแม้จะมีความเห็นแก่ตัวอยู่ตามธรรมชาติแต่ธรรมชาติของมนุษย์ที่อยู่รวมกันในสังคมก็ยังคงตระหนักถึงเรื่องความคิดถึงผู้อื่น มีความรู้ดีรู้ชั่วและเห็นอกเห็นใจผู้อื่นอยู่ด้วย ดังนั้น การควบคุมของกำกับจากภาครัฐจึงไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องเสมอไป ซึ่งแนวคิดนี้ไปกันได้กับแนวคิดทุนนิยม ที่สนับสนุนการค้าเสรี ใช้กลไกตลาดแทนการกำกับควบคุมโดยรัฐนั่นเอง
เอาละ พอเถอะนะสำหรับเรื่องวิชาการแบบนี้ อันที่จริงแล้วบริเวณของ Royal Mill นี้มีอนุสาวรีย์สีเขียว ที่เกิดจากสนิมของโลหะทองแดง เหมือนกันไปหมด เป็นรูปบุคคลวางท่าเก๋ๆหน้าอาคารต่างๆ บางทีตั้งไว้นานก็มีนกมาเกาะและขี้ใส่ อย่างเช่นอนุสาวรีย์ของฮูม ซึ่งดูเลอะเทอะไปหมดแล้ว
อุ๊ย ชมเมืองไปเพลินๆแป๊บเดียวก็เห็นปราสาทบนเนินเขานั้นอยู่ตรงหน้าไม่ไกลนัก มีอะไรหลายอย่างที่รอคอยการสำรวจ แค่เดินไปไม่นานก็ได้ไปยืนอยู่ตรงนั้นแล้ว
ขอไปต่ออีกทีในตอนต่อไปเลยนะ
โฆษณา