31 ก.ค. 2022 เวลา 04:02 • ปรัชญา
“จะเรียนอันไหนก่อนก็ได้ ในสติปัฏฐาน 4
จะเริ่มต้นจากอันไหนก่อนก็ได้
แล้วแต่จริตนิสัยของเรา”
“ … มีปัญญารู้ทุกข์จะละกามได้
โลกเป็นอย่างนี้ หลวงพ่อบอกอยู่เสมอ
โลกไม่เคยหยุดนิ่ง
โลกไม่เป็นไปอย่างที่ใจเราปรารถนา
หมดเรื่องนี้ก็มีเรื่องนั้น
โลกไม่เคยสงบสุขแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว
ผู้มีปัญญาถึงคิดจะออกจากโลก
คนในโลกเขาไม่มีทางเขาก็ต้องอยู่กับโลกต่อไป
ไม่มีทางที่จะออกจากโลก ไม่รู้ทาง
โลกไม่มีอะไรมีแต่ทุกข์
กระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลงตลอดเวลา
เห็นไหมโควิดซาลงไปหน่อย ระบาดแล้วไม่รุนแรง ก็มีปัญหาเรื่องอื่นเข้ามาอีกแล้ว จ่อๆๆ เข้ามาตลอด อันหนึ่งปัญหาหนึ่งยังไม่ทันจะจบ ปัญหาใหม่มันก็มาแล้ว
แล้วในความเป็นจริงโลกเป็นอย่างนี้มาตลอด
โลกเป็นอย่างนี้มาตลอดเวลา
ทำไมมันเป็นอย่างนี้
เพราะกิเลสของคนมันมีอยู่ตลอด
ก็เบียดเบียนกระทบกระทั่ง
แย่งชิงผลประโยชน์ แย่งชิงอำนาจกัน
ตั้งแต่ในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ
ระดับภูมิภาค ระดับโลก
มันก็เรื่องอย่างเดียวกันทั้งนั้น
เรื่องของกิเลสทั้งหมด
เราจะไปห้ามคนอื่นไม่ให้มีกิเลส มันทำไม่ได้หรอก
ฉะนั้นเราก็ต้องอยู่กับมันให้ได้
โดยที่เราทุกข์ให้น้อยๆ หน่อย
ศาสนาพุทธจะตอบโจทย์เรา
คือเราจะสามารถอยู่ในทุกๆ สถานการณ์ได้
โดยทุกข์น้อยๆ ไม่ถึงระดับไม่ทุกข์เลยหรอก
ถึงระดับไม่ทุกข์เลย ภาวนากันหนักหน่อย ฆราวาสทำยาก
ถ้าระดับทุกข์น้อยๆ ระดับเราภาวนาได้โสดาบัน สกทาคามี ทุกข์เราจะน้อยลงไปเยอะเลย อันนี้ฆราวาสพอจะสู้ไหว
ระดับอนาคามีฆราวาสยากมาก ฆราวาสอยู่กับกาม
กามก็คือเพลิดเพลิน
ความเพลิดเพลินในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในวัตถุธรรมทั้งหลาย มันชวนให้เราเพลิน ให้เราหลง ฉะนั้นการจะข้ามกาม พ้นจากอำนาจของกามได้ ก็ไม่ใช่ง่าย
อย่างเรามีความใคร่ขึ้นมา เราก็เสพกามสนองความใคร่ไป เราไม่สามารถออกจากกามได้
กามนี้ยิ่งเราบริโภคมากเท่าไรเรายิ่งติด เมื่อก่อนมันมีทฤษฎี บางคนคิดว่าบริโภคกามให้เต็มที่ไปเลย แล้วจิตมันจะเบื่อ มีนะทฤษฎีอย่างนี้ เพราะฉะนั้นจะมั่วสุมจะอะไรต่ออะไรให้เต็มเหนี่ยวไปเลย แล้วกะว่าวันหนึ่งจิตจะเบื่อกาม
พระพุทธเจ้าท่านสอนเรื่องกาม บริโภคเท่าไรก็ไม่เบื่อหรอก มีแต่จะยิ่งติด เรื่องกาม เรื่องการนอนเรื่องอะไรพวกนี้มีอยู่ 2 – 3 เรื่อง เสพแล้วมันก็ติด เป็นของเสพติด
เพราะฉะนั้นทฤษฎีที่บอกเสพกามให้หนัก อย่างดูหนัง ฟังเพลง หาความสุขให้เต็มที่แล้ววันหนึ่งจะเบื่อ ทฤษฎีนี้ใช้ไม่ได้ เพราะพอมันเบื่ออย่างนี้มันจะไปหาอย่างอื่น มันไม่เบื่อจริง
มันไม่เหมือนวิธีของพระพุทธเจ้า
แทนที่จะมัวตอบสนองกาม
ท่านให้มาเรียนรู้ลงที่กายที่ใจนี้
ถ้าเราเห็นความจริงว่าร่างกายเราคือตัวทุกข์
จิตใจของเราคือตัวทุกข์
มันจะแสวงหากามไปเพื่ออะไร
เพื่อสนองตัวทุกข์นี้หรือ
พอมันไม่ได้รักกายรักใจ
ไม่ได้ยึดถือในกายในใจนี้แล้ว
ความดิ้นรนที่จะแสวงหากาม
ดิ้นรนที่จะแสวงหารูป เสียง กลิ่น รส
สัมผัสที่เพลิดเพลินพอใจ ก็จะไม่มี
มันคล้ายๆ เราอยากได้เสื้อผ้าอย่างดี นุ่มๆ ดีมากๆ สวมใส่สบาย แพงแค่ไหนก็ยอมซื้อ คนในโลกเขามองอย่างนี้ หาเงินมากๆ ก็ไปซื้อเสื้อดีๆ ผ้าดีๆ มาใส่ จะได้นุ่มสบายตัว
แต่ถ้าเราภาวนาเราจะรู้เลย
กายนี้คือรังของโรค กายนี้คือตัวทุกข์
มันเหมือนเราเป็นแผล
ร่างกายนี้เหมือนเรามีแผลอยู่ทั้งตัว
เอาเสื้อผ้าอย่างดีมาสวมมาใส่ มันก็ไม่ได้มีความสุข
มันก็ระคายเคืองอยู่ดี
ฉะนั้นถ้าเราเห็นกายนี้มีแต่ทุกข์แต่โทษ
ความหลงใหลในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส
ในสัมผัส มันก็จะลดลง
ไม่รู้จะเสพไปทำไม
เสพแล้วหวังว่าจะมีความสุข
แต่เสพแล้วจริงๆ มันก็หนีความทุกข์ไม่พ้น
เพราะฉะนั้นทางพ้นทุกข์ของพระพุทธเจ้า
ไม่ได้สนองกิเลส
ไม่ได้ว่าเสพกามเยอะๆ แล้วจะพ้น
แล้วก็ไม่ใช่กดข่มบังคับตัวเอง
อยากกินไม่กิน อยากนอนไม่นอน
อยากสบายก็นอนบนตะปูมันเสียเลย
แต่ท่านให้ใช้ปัญญา มีสติ มีปัญญา
มีสมาธิคือภาวะที่จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว
แล้วก็มีสติระลึกลงไปในร่างกาย
พอสติระลึกลงในกายด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลาง
มันจะเห็นความจริงของกาย
กายนี้ไม่ใช่ของดี กายนี้เต็มไปด้วยทุกข์
กายนี้เต็มไปด้วยโทษ ไม่น่าปรารถนา
เพราะฉะนั้นความหลงใหลในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสทางกาย มันจะลดลงเอง เพราะมันรู้ตัวที่เสพรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสอะไรพวกนี้ ตัวมันเองนั่นล่ะทุกข์แสนทุกข์
เพราะฉะนั้นถ้าเรามีปัญญารู้ทุกข์
เราก็จะละกามทั้งหลายได้ ละความหลงโลกได้
ที่เราหลงโลกๆ พูดไปอย่างนั้นล่ะ
ที่จริงแล้วหลงในกาม
หลงในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ
คือสิ่งที่สัมผัสกายเรา เราหลงสิ่งเหล่านี้
เราก็เรียกหลงโลก
เพราะฉะนั้นตัวกามคุณอารมณ์ทั้งหลาย
เป็นเครื่องมือของมารที่จะผูกเราไว้ในโลก
ไม่ให้หลุดออกไปหรอก
ยิ่งเราคิดว่าเสพกามเยอะๆ แล้วจะพ้น
ก็คือเราตกอยู่ใต้อำนาจของมาร
มารจะยิ่งผูกมัดเราไว้ด้วยกาม
กามก็ไม่ใช่เรื่องเซ็กซ์อย่างเดียว
เป็นเรื่องของการติดอกติดใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส
ก็คือโลกทั้งหลายนั่นล่ะ
ถ้าอยากพ้นจริงๆ เรียนรู้ลงที่กาย เรียนรู้ลงที่ใจไป
ฉะนั้นเรามาเรียนให้เห็นความจริง ความจริงในกาย
ถ้ารู้แจ้งความจริงในกาย
เราก็จะไม่ติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสทางกาย
ถ้าเรียนรู้ความจริงของใจ
เห็นของจริงของจิตแล้ว จิตคือตัวทุกข์
เราก็จะไม่ติดในรูปโลก อรูปโลก
ไม่ติดในฌานสมาบัติทั้งหลาย รูปฌาน อรูปฌาน
รูปฌาน อรูปฌานมันก็เหมือนยาแก้ปวด
เวลาจิตใจวุ่นวายก็ไปนั่งสมาธิให้จิตสงบ ก็รู้สึกมีความสุข
พออำนาจยาแก้ปวดหมด คือออกจากฌานมามันก็ทุกข์เหมือนเดิม
หรือบางทีทุกข์มากกว่าเดิม
อันนั้นเราจะพ้นจากการติด
ในความสงบของจิตของใจ ความสุขทางใจ
เราจะพ้นได้ถ้าเราเห็นความจริงว่าจิตนี้คือตัวทุกข์
เหมือนเราพ้นความติดอกติดใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส คือกามคุณอารมณ์ทั้งหลาย หรือโลกทั้งหลาย เราพ้นได้เพราะเราเห็นความจริงแล้ว กายนี้คือตัวทุกข์
เราจะพ้นความติดอกติดใจในฌานสมาบัติทั้งหลาย
ถ้าเราเห็นว่าจิตมันคือตัวทุกข์
เข้าฌานไป ผู้ไม่มีปัญญาก็เห็นว่ามีความสุข
ผู้มีปัญญาก็ยังเห็นในนั้นก็ทุกข์
ถ้าเราเคยภาวนาชำนิชำนาญในการดูจิตตนเอง
เวลาเข้าฌานแต่ละขั้นๆ ไป
เราจะเห็นว่ามันมีแต่ภาระทั้งหมดเลย มีแต่ทุกข์ทั้งนั้น
ปีติที่เขาว่าดีก็คือทุกข์
ความสุขที่เขาว่าดีก็คือทุกข์
อุเบกขาที่เขาว่าดีมันก็คือทุกข์
เป็นสิ่งที่แปลกปลอมเสียดแทงจิตใจทั้งนั้น
เพราะฉะนั้นวิธีที่จะพ้นทุกข์
ถ้าอยากพ้นจากกามาวจร
ความหลงในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส สัมผัส
คือโลกที่พวกเราคุ้นเคย
ถ้าเราเห็นความจริงของกายเมื่อไร เราจะพ้นได้
ถ้าเราเห็นความจริงว่าจิตใจนี้เป็นทุกข์
ตัวจิตเป็นตัวทุกข์
เราก็จะไม่ติดในโลกละเอียด
โลกของพรหม โลกของฌานสมาบัติทั้งหลาย
เพราะรู้เลยว่าเข้าไปมันก็เท่านั้น
เหมือนกินยาแก้ปวด พอหมดฤทธิ์ยาก็ปวดเหมือนเดิม
ฉะนั้นเส้นทางของศาสนาพุทธ
วิธีการของศาสนาพุทธ ไม่ได้เข้าไปเสพ
ไม่ใช่เสพกามเยอะๆ แล้วจะพ้น … ไม่พ้น
เข้าฌานเยอะๆ แล้วจะเบื่อ ไม่ยึดถือฌาน ไม่มีทาง
มันคือการเสพกามอย่างละเอียดนั่นเอง
แล้วก็ไม่ใช่วิธีกดข่ม กดข่มทรมานกาย ทรมานใจ
1
ศาสนาพุทธเราเป็นศาสนาของพุทธะ ผู้รู้
เพราะฉะนั้นเราต้องเดินไปด้วยสติ ด้วยปัญญา ถึงจะเป็นผู้รู้
ถ้าเราเดินด้วยความเป็นผู้หลง มันใช้อะไรไม่ได้
ก็หลงโลกไป ทั้งโลกหยาบคือกามาวจร
โลกละเอียด รูปาวจร อรูปาวจร
โลกของฌานสมาบัติทั้งหลาย มันก็คือโลกๆ หนึ่ง
ถ้าอยากพ้นจริงๆ เรียนรู้ลงที่กาย เรียนรู้ลงที่ใจไป
ระหว่างกายกับใจ กายเป็นของหยาบ
บางท่าน ท่านก็สอน
ส่วนใหญ่ก็สอนบอกให้ดูกายก่อนดูจิตทีหลัง
อันนั้นแล้วแต่จริตนิสัย
จริตนิสัยบางคนดูกายแล้วจืด จืดชืด จิตไม่เอา จิตไม่สนใจ
จิตมันรู้ลึกๆ กายมันเป็นของทิ้ง มันไม่สนใจ
มันสนใจที่จะฝึกจิตฝึกใจตัวเอง
พูดอย่างนี้ก็ดูเข้ามาที่จิตเลย
ไม่จำเป็นว่าต้องเริ่มจากกาย
แต่ไม่ว่าจะเริ่มจากการเดินปัญญาจากกาย
หรือจะเริ่มเดินปัญญาด้วยการดูจิตใจ
ทุกคนก่อนจะเจริญปัญญาต้องเรียนเรื่องจิตก่อน
บทเรียนเรื่องจิตตัวนี้เรียกว่า จิตตสิกขา
บทเรียนในทางศาสนาพุทธมีอยู่ 3 บท
ศีลสิกขา จิตตสิกขา และก็ปัญญาสิกขา
ตัวปัญญาสิกขานั้น
เราอาจจะไปเรียนรู้ความจริงของกาย ว่ากายนี้คือตัวทุกข์
หรือเรียนรู้ความจริงของเวทนา เวทนาไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาอะไรอย่างนี้ก็ได้
เรียนรู้ไปที่สังขาร ความปรุงดีปรุงชั่ว ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ก็ได้
เรียนรู้เข้ามาที่จิต เห็นจิตนี้เกิดดับอยู่ทางอายตนะทั้ง 6 เดี๋ยวเกิดที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีแต่ของไม่เที่ยง มีแต่ของบังคับไม่ได้
จะเรียนอันไหนก่อนก็ได้ ในสติปัฏฐาน 4
จะเริ่มต้นจากอันไหนก่อนก็ได้
แล้วแต่จริตนิสัยของเรา …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
23 กรกฎาคม 2565
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา