31 ก.ค. 2022 เวลา 11:48 • ไลฟ์สไตล์
“วิญญูชนจะรู้ได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องถามคนอื่นหรอก
เชื่อได้อย่างไรว่าเขาตอบถูก
ดูกิเลสตัวเองนั่นล่ะไม่หลอกลวง แต่ต้องสังเกตดีๆ ”
“… เวลาเราฝึกกรรมฐาน เกิดความรู้ความเข้าใจอะไรเกิดขึ้นกับจิต พอเราตายสมองเราถูกเผาไปหมดแล้ว จิตนี้มันยังทรงความรู้อันนี้ไว้
เวลามีอะไรมากระทบ ความรู้เก่าจะขึ้นมาง่าย
ฉะนั้นต้องแยกกัน
ความรู้ที่เกิดจากการอ่าน การฟัง
การคิดอะไรพวกนี้ มันเข้าไปที่สมอง
ความรู้ที่เกิดจากการเห็น
การเข้าไปประจักษ์ เข้าไปรู้แจ้งรู้จริง
อันนี้มันฝังเข้ามาที่จิต คนละอันกัน
3
สมองนี่ไม่ทันแก่มันก็เสื่อมหมดแล้ว จำโน้นจำนี้ไม่ได้
อย่างคนเรียนตำราท่องตำราได้เยอะๆ
อายุเยอะขึ้นก็จำไม่ได้เหมือนกัน
เหลือนิดเดียวที่จำได้
ส่วนใหญ่จำแต่เรื่องเก่าๆ ได้นิดหน่อย
1
แต่ส่วนที่ฝังลงไปที่จิตเรา มันจำข้ามภพข้ามชาติ
ไม่อย่างนั้นเขาจะระลึกชาติกันได้อย่างไร
ที่ระลึกชาติได้ก็เพราะว่าความจำเก่ามันยังฝังอยู่
ถ้าความจำเก่ามันไม่มีมันก็ระลึกไม่ได้
ฉะนั้นพวกเราภาวนาเรื่อยๆ
ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตตัวเอง
คือทำจิตตสิกขาให้มันมากๆ ให้มันแน่นๆ
ให้เชี่ยวชาญ ไม่ใช่อึดอัด
แน่นๆ หมายถึงให้มันหนักแน่น
หมายถึงไม่คลอนแคลนง่ายๆ
การฝึก Basic เบสิกสำคัญที่สุดเลย
อย่างหลวงพ่อฝึกกรรมฐาน
หลวงพ่อฝึกจนจิตเป็นผู้รู้อัตโนมัติ ไม่ได้เจตนา
อย่างมากตอนเป็นโยม จิตไหลแวบหนึ่งก็รู้สึกแล้ว
แวบหนึ่งก็รู้สึกแล้ว ที่จะแวบชั่วโมงนี่ไม่มีหรอก
อันนั้นเพราะเราฝึกเรื่อยๆ จิตมันก็ตั้งมั่น
เบสิกสำคัญ
เบสิกของการฝึกกรรมฐานก็คือทำในรูปแบบ
ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตตนเองไป
คือการฝึกจิตตสิกขานั่นล่ะ สำคัญ
เมื่อก่อนอยู่จุฬาฯ ปีหนึ่ง หลวงพ่อไปหัดฟันดาบ
เรียนฟันดาบ เพื่อนๆ เขาฝึกกันหลายท่า
หลวงพ่อฝึกท่าเบสิก มันมีท่าที่เรียกว่าท่าเบสิก
ท่าจับดาบจะตั้งดาบเฉยๆ นี่ล่ะ ฝึกอยู่อย่างนั้น
ฝึกอยู่ท่าเดียว ไม่ร่ายรำกับใครเขา ฝึกอยู่อย่างนั้น
เวลาแข่งกับเขา เขารำเราตีหัวเขาโป๊กเลย
ไม่เห็นต้องยุ่งอะไรเลย ง่ายมาก
ทันทีที่เธอเคลื่อนไหว เธอเปิดจุดอ่อนทันที
เคลื่อนไหวเมื่อไรมีจุดอ่อนทันทีแล้ว
แล้วก็ซัดตรงนั้นเลย หลักเหมือนกัน เบสิกสำคัญ
อันนั้นเทียบมาจากการฟันดาบ เฉยๆ นี่ล่ะ
พอศัตรูเคลื่อนไหว ศัตรูจะเปิดช่องโหว่ทันที
เราฝึกกรรมฐานเหมือนกัน
ทำกรรมฐานไปพอจิตมันหลงนี่ศัตรูมาแล้ว
ความฟุ้งซ่านเกิดขึ้นแล้วเรารู้ทันปุ๊บ
มันขาดสะบั้นไปเลย
จิตมันตั้งมั่นขึ้นเองอัตโนมัติเลย
จิตมันทรงตัวอยู่อย่างนั้น
ถ้าจิตเราตั้งมั่นแล้วเราก็ค่อยเจริญปัญญา
ถนัดดูกายก็ดูกาย
ถนัดเวทนาก็ดูเวทนา
ถนัดดูจิตก็ดูจิตไป
สุดท้ายทุกคนจะไปลงที่ธัมมานุปัสสนา
ไปลงที่เดียวกัน จะไปเห็นอริยสัจเหมือนๆ กัน
ครูบาอาจารย์หลวงปู่ดูลย์ท่านเคยบอกหลวงพ่อ
ว่านักปฏิบัติส่วนใหญ่ที่ว่าดีๆ ส่วนใหญ่เป็นแค่ผีใหญ่
ไปติดสมาธิอยู่โดยไม่รู้ตัว
รักษาจิตเอาไว้ตลอดเวลาเลย
ทรงฌานอยู่ตลอดเวลาเลย รักษาไว้
รักษาไว้อย่างนี้แล้วบอกว่าไม่มีกิเลสเลย
ตัวนี้คือภพอันหนึ่ง
วิญญูชนจะรู้ได้ด้วยตัวเอง
เราจะค่อยๆ เรียน ค่อยเข้าใจๆๆ ไป
คนที่พ้นจากภพจริงๆ มีไม่มากหรอก
ไม่ใช่มีขึ้นบัญชีทีหนึ่งได้ตั้งหลายสิบคน ไม่ใช่
แล้วเราภาวนา เราไม่ต้องไปนั่งถามคนอื่นหรอก
ว่าเราได้ธรรมะขั้นนั้นขั้นนี้หรือเปล่า
ฟังหลักให้แม่นๆ แล้วไปดูตัวเอง มันจะเข้าใจตัวเอง
อย่างสมมติเราภาวนาแล้วก็สว่างขึ้นมา
เราก็คิดว่า เอ๊ะ นี่ได้โสดาบันหรือเปล่า
นี่สกทาคามี อนาคามี หรือว่าเป็นพระอรหันต์แล้ว
อย่ามัวเสียเวลาสงสัย ทำใจสบายๆ ดูของเราไป
เดี๋ยวกิเลสที่มันมีอยู่มันก็โผล่ให้ดูเอง
ถ้าเป็นพระโสดาบันแล้ว จะไม่มีสักกายทิฏฐิอีกแล้ว
ถ้ายังเกิดความรู้สึกว่าตัวเรามีอยู่ มันก็ไม่ใช่
ไม่เห็นต้องถามใครเลย รู้ตัวเองไป
2
ถ้าเห็นว่า โอ๊ย ยังหลงตั้งยาวๆ โกรธแรงๆ หลงแรงๆ
มันก็ไม่ใช่พระสกทาคามี
ถ้าจิตยังติดอยู่ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ
หลงเพลินอยู่ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ
หรือเกลียดชังรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
มันก็ไม่ใช่พระอนาคามี
แล้วจิตยังติดอยู่ในฌานสมาบัติ
กำหนดจิตให้นิ่งอยู่ในฌานตลอดวันตลอดคืน
มันก็ไม่ใช่พระอรหันต์
ใช้การสังเกตกิเลส
การจะประเมินมรรคผล ดูที่กิเลสตัวเอง
ไม่ใช่ให้คนอื่นพยากรณ์
เขาพยากรณ์ถูกก็มี พยากรณ์ผิดก็มี เชื่อไม่ได้หรอก
ให้ดูตัวเอง กิเลสอะไรละแล้ว
กิเลสอะไรที่ละแล้วนั้น ละเด็ดขาดหรือละชั่วคราว
ถ้าละชั่วคราวละด้วยฌานสมาบัติ
ถ้าละด้วยมรรคมันจะละถาวร
กิเลสอะไรยังไม่ละ ยังเหลือตัวไหนอยู่
รู้ตัวเอง เรียนรู้ตัวเองเข้าไปมันก็จะตอบโจทย์ตัวเองได้
พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า “วิญญูชนรู้ด้วยตัวเอง”
วิญญูชนจะรู้ได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องถามคนอื่นหรอก
เชื่อได้อย่างไรว่าเขาตอบถูก
ดูกิเลสตัวเองนั่นล่ะไม่หลอกลวง แต่ต้องสังเกตดีๆ
เช่น จิตไปติดในสมาธิทั้งวันทั้งคืน แล้วบอกไม่มีกิเลส
… ไม่ใช่
ทำไมจะต้องเอาจิตมาอยู่ตรงนี้
ทำไมจะต้องประคองจิตอยู่กับฌานสมบัตินี้
ก็เพราะติดนั่นเอง เพราะยังรักจิตอยู่
ถึงจิตจะต้องอยู่ตรงนี้ ใช้ความสังเกตเอา
ฉะนั้นเบื้องต้นสรุป เบื้องต้นถือศีล 5 ไว้
ข้อที่สองทุกวันทำในรูปแบบ
ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเองไป
ไม่ใช่ทำเพื่อสงบ แต่ทำแล้วคอยรู้ทันจิตไปเรื่อย
เช่น หายใจเข้าพุทออกโธ จิตสงบก็รู้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้
ไม่ต้องพยายามทำให้สงบ
ถ้ารู้เฉยๆ ไม่ดิ้นรน สงบเอง สงบอย่างง่ายดายเลย
แต่ดิ้นอยากสงบๆๆ จะไม่สงบ
เหมือนเจริญปัญญาก็อยากจะรู้
อยากจะรู้จะไม่รู้ จะฟุ้งซ่าน
หรือภาวนาไปแล้วอยากได้มรรคได้ผล จะไม่ได้
เพราะความดีทั้งหลายไม่ได้มาด้วยความอยากหรอก
มันได้มาด้วยการพ้นอยาก
ฉะนั้นเราจะทำความสงบ
เราก็แค่ทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง จิตสงบก็รู้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ จิตหนีไปฟุ้งซ่านก็รู้ แล้วจิตจะสงบตั้งมั่นขึ้นมาเอง
แล้วจะดูกายก็ดูมันไป
ดูกายมันทำงานไม่ได้เข้าไปแทรกแซงกาย
จะดูเวทนาก็ดูเวทนามันทำงาน ไม่แทรกแซงเวทนา
จะดูจิตก็อย่าไปแทรกแซงจิต
ดูทุกอย่าง อย่างที่มันเป็น รู้ไปเรื่อยๆ
สุดท้ายมันจะเข้าใจ
เข้าใจก็มีหลายระดับ เข้าใจด้วยปัญญา
หรือเข้าใจด้วยมรรค เป็นปัญญาในอริยมรรค
อันนี้เราไม่ต้องสงสัยหรอก
ทำไปเยอะๆ ทำเหตุให้มากแล้วผลมันมีเอง
ฝึกจิตให้มันตั้งมั่น
แล้วก็เรียนรู้ความจริงของกายของใจไป
เรียนรู้มากพอปัญญามันก็เกิด
มรรคผลมันก็เกิดตามหลังมา
ค่อยฝึกไปเรื่อยๆ เดี๋ยววันหนึ่งก็จะเข้าใจ
พอภาวนาไปเกิดอะไรแปลกๆ
อย่าเพิ่งตื่นเต้นว่าเป็นมรรคผลหรือเปล่า
ไม่ต้องถามคนโน้นคนนี้
วิญญูชนต้องดูด้วยตัวเอง
สังเกตกิเลสที่หลวงพ่อบอก
กิเลสอะไรละแล้ว กิเลสอะไรยังไม่ละ
ดูอย่างนี้เดี๋ยวก็รู้ว่าตัวเองได้ชั้นไหนๆ แล้วรู้ไปเรื่อยๆ
ไม่ได้ยากเย็นอะไรหรอก
อดทนทำไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันก็เป็นเอง
วันนี้เทศน์ตั้งแต่ต้นจนจบเลย
ตั้งแต่เริ่มต้น ตั้งแต่เรื่องถือศีล จนถึงปัจจเวกขณะ
ย้อนมาประเมินผลตัวเองได้ …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
23 กรกฎาคม 2565
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา