9 ส.ค. 2022 เวลา 02:00 • หนังสือ
อ่านหนังสือจากกระดาษ หรือหน้าจอ อันไหนดีกว่ากัน
ปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำไปไกลกว่าในอดีต การถือกำเนิดของคอมพิวเตอร์ มือถือจอสัมผัส และแท็บเบล็ต ทำให้การอ่านหนังสือจากหน้าจอ (reading from screens) เป็นที่นิยมกันมากขึ้น ทั้งการอ่านเพื่อการศึกษาและการพักผ่อนหย่อนใจ
การอ่านหนังสือจากหน้าจอนั้นหรือเราเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าอ่านผ่านสื่อดิจิตอล หรืออ่านข้อความอิเล็คโทรนิกนั้น มีประโยชน์ที่ถูกกล่าวถึงหลายอย่าง
ตัวอย่างประโยชน์ของการอ่านหนังสือจากหน้าจอ
ราคาหนังสือมีราคาถูกลง (ส่วนหนึ่งต้นทุนการผลิตหนังสือเล่มเอง อาจทำให้ต้นทุนนั้นสูง การผลิตสื่ออิเล็คโทรนิกนั้นมีต้นทุนต่ำกว่ามาก) การอ่านผ่านหน้าจอสามารถทำได้ทุกที่ ทุกเวลา และอ่านผ่านอุปกรณ์ได้หลากหลายกว่า อุปกรณ์หนึ่ง ๆ สามารถจุหนังสือได้หลากหลายเล่มพร้อม ๆ กัน ถ้าเป็นหนังสือเล่มคงต้องพก ไปตลอดเวลา จำนวนมาก ๆ ซึ่งไม่สะดวก ถ้าในมุมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หนังสืออิเล็คโทรนิกชนะหนังสือเล่มขาด ไม่ต้องสิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติ และไม่สร้างขยะ (ถ้าอุปกรณ์ไม่พังเสียก่อน)
อย่างไรก็ตาม การอ่านหนังสือจากหน้าจอ อาจมีข้อเสียบางอย่าง ซึ่งเรามักได้ยินกัน ตัวอย่างเช่น การอ่านจากหน้าจอนั้น อาจสร้างความรู้สึกรื่นรมย์ในการอ่านน้อยกว่าอ่านจากหนังสือเล่ม ทำให้หนังสืออิเล็คโทรนิกขาดความน่าสนใจและน่าติดตาม นอกจากนี้การอ่านจากหน้าจอยังทำให้ตาเราล้าได้ง่าย เนื่องจากแสงที่แผ่ออกมาจากหน้าจอ
ประเด็นสำคัญที่เป็นเรื่องน่ากังวลสำหรับการอ่านจากหน้าจอ คือ การอ่านหนังสือจากหน้าจอทำให้ประสิทธิภาพการอ่านของเราลดลงหรือไม่ ทำให้เรามมีความเข้าใจในเนื้อหาลงหรือไม่ เมื่อเทียบกับอ่านหนังสือเล่ม ครับ มีการศึกษารวบรวมงานวิจัยในเรื่องนี้จะมาให้คำตอบ
งานวิจัยนี้เป็นการทบทวนวรรณกรรมและวิเคราะห์อภิมาน
การศึกษานี้รวบรวมงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพของการอ่าน ระยะเวลาของการอ่าน และ การตระหนักว่าตนเองเข้าใจเนื้อหาจากหนังสือมากน้อยเพียงใด เทียบระหว่างการอ่านหนังสือเล่มกับอ่านจากหน้าจอ มีจำนวนงานวิจัยเชิงทดลอง จำนวน 33 ชิ้น ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2008-2018 ผู้เข้าร่วมมีตั้งแต่ระดับอนุบาลจนไปถึงระดับมหาวิทยาลัย เด็กจนถึงผู้สูงอายุ โดยส่วนใหญ่ เป็นนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย
ผลการศึกษา พบว่า การอ่านหนังสือจากหน้าจอส่งผลในแง่ลบต่อประสิทธิภาพของการอ่านเมื่อเทียบกับการอ่านจากหนังสือเล่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือในหมวดหมู่ที่ต้องอาศัยการตีความ ส่วนหนังสือที่เป็นลักษณะการบรรยายหรือเล่าเรื่องนั้นไม่แตกต่างกัน นอกจากนี้ทักษะความเข้าใจของการอ่านยังดีกว่าในกลุ่มการอ่านจากหนังสือเล่ม อย่างไรก็ตามไม่มีความแตกต่างของระยะเวลาการอ่านหนังสือเล่มเมื่อเทียบกับการอ่านจากหน้าจอ
ผู้วิจัยอธิบายเหตุผลที่การอ่านหนังสือจากหน้าจอนั้น ทำให้ประสิทธิภาพการอ่านแย่กว่าการอ่านหนังสือเล่มไว้ว่า การอ่านจากหน้าจออาจทำให้เราใจลอยได้บ่อย (mind wandering) ทำให้เราโฟกัสกับการอ่านได้ยาก และมีสิ่งรบกวนทำให้ไขว้เขวได้ง่าย เมื่อเทียบกับหนังสือเล่ม
นอกจากนี้เป็นไปได้ว่า ส่วนใหญ่เราอ่านหนังสือจากหน้าจอ ในแบบวัตถุประสงค์เพื่อการผ่อนคลายเป็นหลัก ทำให้เมื่อเรามาอ่านเนื้อหาที่ต้องอาศัยความเข้าใจสูง เช่น บทเรียน บทความวิชาการ ทำให้ความสามารถในการอ่านนั้นลดลงได้ (เหมือนเราดูทีวีเพื่อความบันเทิงมาตลอด วันนึงเราใช้ทีวี เพื่อการศึกษา ทำให้สมองเราปรับได้ยาก เพราะเข้าใจว่าสื่อประเภทนี้ ทำเพื่อการบันเทิงมากกว่า)
จากผลการศึกษานี้ ชี้ให้เห็นว่า การอ่านหนังสือเล่มนั้น ส่งผลต่อประสิทธิภาพของการอ่าน ทำให้เข้าใจเนื้อหาได้ดีกว่า การอ่านหนังสือจากหน้าจอ
แม้ว่า งานวิจัยดังกล่าวจะสนับสนุนว่าอ่านหนังสือเล่มนั้นมีข้อได้เปรียบมากกว่าการอ่านจากหน้าจอ ก็เป็นไปได้ว่า มนุษย์เราในอดีตนั้น เริ่มต้นด้วยการอ่านหนังสือเล่มมาก่อน และถูกใช้มา อาจทำให้เมื่อเปลี่ยนมาเป็นอ่านจากหน้าจอ จึงทำให้ประสิทธิภาพอาจสู้หนังสือเล่มไม่ได้ ถ้าปัจจุบันสื่อในรูปแบบดิจิตอลถูกนำมาใช้มากขึ้นว่าสื่อสิ่งพิมพ์ เป็นไปได้ว่าในอนาคต ประสิทธิภาพของการอ่านจากหน้าจออาจสู้การอ่านจากหนังสือเล่มได้
สุดท้าย ผู้อ่านเอง เป็นผู้เลือกสื่อ ไม่ว่าจะเป็นสื่อจากหนังสือ หรือหน้าจอ ผมคิดว่าไม่ต้องซีเรียสมากไปกับการเลือกชนิดสื่อครับ ถ้าเราถนัดสื่อไหน หรือสะดวกใช้สื่อไหน ก็ขอให้ใช้มันอย่างคุ้มค่า แต่ละคนคงมีความชอบและความถนัดในการอ่านแตกต่างกัน ส่วนตัว เชื่อว่า ถ้าเราคุ้นชินกับการอ่านหนังสือจากหน้าจอแล้ว ประสิทธิภาพของการอ่านคงจะไม่แตกต่างกันเท่าไร หรือถ้าคุณกังวลว่าการใช้หน้าจอจะทำให้ประสิทธิภาพการอ่านแย่นั้น ก็สามารถเลือกหนังสือเล่มได้เช่นกัน ไม่มีใครผิดหรือใครถูกครับ เลือกสิ่งใช่ อ่านในสิ่งที่ชอบ
อ้างอิง
Clinton, V. (2019) Reading from paper compared to screens: A systematic review and meta-analysis. Journal of Research in Reading, 42: 288– 325. https://doi.org/10.1111/1467-9817.12269.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา