6 ส.ค. 2022 เวลา 00:00 • ปรัชญา
ปฏิบัติการผ่าสมองไอน์สไตน์
Blockdit Originals ซีรีส์บทความพิเศษ
2
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ถึงแก่กรรมเวลาตีหนึ่ง 15 นาที วันที่ 18 เมษายน 1955 ที่โรงพยาบาลพรินซตัน นิวเจอร์ซีย์
2
เจ็ดชั่วโมงครึ่งหลังตาย ดร. ธอมัส ฮาร์วีย์ นักพยาธิวิทยา (ผู้เชี่ยวชาญด้านโรค) ฉีดฟอร์มาลีน 50 เปอร์เซ็นต์เข้าไปในเส้นเลือดที่เข้าไปสู่สมอง แล้วผ่าสมองของนักฟิสิกส์เรืองนามออกมา แช่สมองในน้ำยาฟอร์มาลีน 10 เปอร์เซ็นต์ ถ่ายรูปขาวดำของสมองไว้ ส่วนศพถูกนำไปฌาปนกิจ
3
ดร. ธอมัส ฮาร์วีย์ นำสมองไอน์สไตน์ไปที่ห้องแล็บมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย เฉือนสมองออกเป็นสไลด์ 240 ชิ้น หลังจากนั้นชิ้นส่วนสมองของนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการยกย่องว่าฉลาดที่สุดคนหนึ่งของโลก ก็ถูกส่งไปถึงมือนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยชั้นนำในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ทั้งในสหรัฐฯและประเทศอื่น หวังว่าจะช่วยกันค้นหาความลับของสมองไอน์สไตน์
2
รายงานเบื้องแรกของ ดร. ฮาร์วีย์ชี้ว่าส่วน Sylvian fissure ในสมองไอน์สไตน์มีขนาดใหญ่ สมองทั้งสองซีกไม่มี parietal operculum ซึ่งเชื่อว่าอาจทำให้ส่วน lower parietal lobe มีขนาดเพิ่มขึ้น ทำให้มีความสามารถด้านคณิตศาสตร์สูง
1
สมองของไอน์สไตน์
การศึกษาสมองของไอน์สไตน์จริงจังเริ่มนานหลังจากนั้น
1
ในปี 1978 นักข่าวชื่อ สตีเวน เลวี แห่ง New Jersey Monthly เขียนข่าวเรื่องนี้หลังจากค้นพบว่าสมองของไอน์สไตน์อยู่ในความครอบครองของ ดร. ธอมัส ฮาร์วีย์ ซึ่งตอนนั้นย้ายไปอยู่ที่วิชิตา แคนซัส ดองในขวดโหลสองใบมานานกว่ายี่สิบปี
1
หลังจากนั้นการศึกษาสมองของไอน์สไตน์ก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การศึกษาสมองของอัจฉริยะอื่นๆ มีมานานแล้ว เช่น สมองของนักคณิตศาสตร์ชาวเยอรมัน คาร์ล ฟรีดริค เกาส์ เมื่อราวร้อยปีก่อน พบว่าสมองของเขามีพัฒนาการที่ซับซ้อน ซึ่งอาจอยู่เบื้องหลังอัจฉริยภาพของเขา
3
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาสมองของนักคณิตศาสตร์คนอื่นๆ เช่น โซเฟีย โควาเลฟสกายา นักคณิตศาสตร์รัสเซียผู้โด่งดังในศตวรรษที่ 19
1
แต่สมองของไอน์สไตน์ย่อมไม่น้อยหน้าใคร นักฟิสิกส์ผู้นี้คิดค้นทฤษฎีที่เปลี่ยนโลกฟิสิกส์ และความเข้าใจของเราในเรื่องจักรวาลในระดับน่าอัศจรรย์
4
งานศึกษาสมองของไอน์สไตน์มีหลายชิ้น ที่น่าเชื่อถือชิ้นหนึ่งชื่อ On the Brain of a Scientist: Albert Einstein ตีพิมพ์ในวารสาร Experimental Neurology ปี 1985 ผลงานของ ดร. มาเรียน ไดมอนด์ ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย, อาร์โนลด์ ชีเบิล, เกรียร์ เมอฟี จูเนียร์ และคนสุดท้ายคือ ดร. ธอมัส ฮาร์วีย์ ผู้ผ่าสมองไอน์สไตน์
2
ไอน์สไตน์
นี่เป็นรายงานเกี่ยวกับสมองของไอน์สไตน์ที่เป็นชิ้นเป็นอันที่สุดครั้งแรก
ทีม ดร. ไดมอนด์ผ่าสมองของไอน์สไตน์ออกเป็นชิ้นหนาเพียง 6 ไมครอน แล้วใช้กล้องจุลทัศน์นับจำนวนเซลล์ เทียบอัตราส่วนของ glial cell ในสมองของไอน์สไตน์กับสมองของผู้ชายสิบเอ็ดคน
1
รายงานวิจัยชิ้นนี้พบว่า สมองของไอน์สไตน์มี glial cell มากกว่าเทียบกับนิวรอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ส่วนซ้ายของ inferior parietal ซึ่งทำหน้าที่สังเคราะห์ข้อมูลจากส่วนต่างๆ ของสมอง
2
ในเรื่องสมอง เรามักได้ยินคำว่านิวรอน ไม่ค่อยได้ยินคำว่า glial cell ‘glial’ เป็นภาษากรีก แปลว่ากาว เซลล์ชนิดนี้ถูกค้นพบในปี 1856 โดยนักพยาธิวิทยา Rudolf Virchow ตั้งชื่อนี้เพราะเชื่อว่ามันมีหน้าที่เสมือนกาวเชื่อมระบบสมอง ป้องกันรักษานิวรอนและระบบเครือข่าย
4
นักประสาทวิทยาเคยเชื่อว่า ‘เซลล์กาว’ มีหน้าที่พาออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงสมอง และดูแลเซลล์ประสาท แต่ต่อมาพบว่ามันช่วยเร่งการสื่อสารระหว่างนิวรอนกับความสามารถในการรับรู้
3
ดร. มาเรียน ไดมอนด์ พบว่า เซลล์กาวและการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์กาว ช่วยเสริมสร้างความสามารถในการรับรู้ สมองของไอน์สไตน์มีประสิทธิภาพการเชื่อมต่อดีมาก โดยเฉพาะในส่วน cortex ส่วน temporal lobes และฮิปโปแคมปัส
7
จากการศึกษาเปรียบกับหนูที่มีกิจกรรมใหม่ๆ กับหนูที่ไม่เรียนรู้อะไรใหม่ ผลปรากฏว่าหนูที่ไม่ได้รับการท้าทายใหม่ๆหรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มีการเชื่อมต่อประสาทน้อยกว่าหนูที่ถูกท้าทายตลอดเวลาและเรียนรู้ข้อมูลใหม่ๆ สมองไอน์สไตน์มีการเชื่อมต่อประสาทดีเยี่ยมในสมองหลายส่วน คาดว่าอาจเกิดจากนิสัยอยากรู้อยากเห็นสิ่งใหม่ๆ ชอบเรียนเรื่องใหม่ๆ ชอบแก้ปัญหายากๆ ทางฟิสิกส์
5
รายงานฉบับนี้สรุปว่า จำนวนเซลล์กาวต่อนิวรอนที่สูงมากอาจทำให้สมองไอน์สไตน์ต้องใช้พลังงานมากกว่าปกติ ซึ่งอาจทำให้ไอน์สไตน์มีความสามารถในการคิดและจินตนาการดีกว่า
4
ในรายงานอีกชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในปี 1996 ชี้ว่าสมองของไอน์สไตน์หนักเพียง 1,230 กรัม น้อยกว่าน้ำหนักสมองมาตรฐาน 1,400 กรัม
นอกจากนี้ความหนาของ cerebral cortex (area 9) ของสมองของไอน์สไตน์บางกว่าสมองคนทั่วไป แต่ความหนาแน่นของนิวรอนของสมองของไอน์สไตน์สูงกว่ามาก พูดง่ายๆ คือสมองส่วนคอร์เท็กซ์ของไอน์สไตน์บรรจุนิวรอนมากกว่าคนธรรมดา
10
ในปี 1999 ทีมนักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยแม็คมาสเตอร์ ที่ออนตาริโอ แคนาดา ศึกษาจากรูปถ่าย เปรียบเทียบผิวนอกของสมองของไอน์สไตน์กับสมองของคน 35 คนซึ่งมีวัยเฉลี่ย 57 ปี พบว่าสมองของไอน์สไตน์มีร่องที่เรียกว่า sulcus ในสมองกลีบข้างทั้งสองซีกผิดจากคนอื่น
sulcus (ภาษาละตินแปลว่าร่อง) เป็นร่องลึกในสมองส่วนคอร์เท็กซ์
1
สมองของไอน์สไตน์
พื้นที่ส่วนสมองกลีบข้างนี้เชื่อกันว่าเกี่ยวข้องกับความสามารถด้านคณิตศาสตร์
อย่างไรก็ตาม สมองของไอน์สไตน์มีร่อง sulcus ทางขวางสั้นกว่าคนอื่นและบางส่วนก็หายไป นอกจากนี้สมองของเขายังกว้างกว่าสมองคนอื่นๆ 15 เปอร์เซ็นต์ นักวิจัยสันนิษฐานว่า มันทำให้นิวรอนเชื่อมต่อกันดีขึ้น ส่งผลต่อความสามารถทางคณิตศาสตร์
2
ขึ้นศตวรรษที่ 21 การศึกษาสมองของไอน์สไตน์ยังดำเนินต่อไป ในปี 2001 ดร. ดาห์เลีย ซายเดล แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส ตรวจสมองของไอน์สไตน์ส่วนฮิปโปแคมปัสสองชิ้น
ฮิปโปแคมปัสมีบทบาทสำคัญในการสร้างความทรงจำและการกำหนดทิศทางในที่ว่าง ฮิปโปแคมปัสในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ มักเป็นบริเวณที่ถูกทำลาย
การศึกษานี้พบว่านิวรอนฮิปโปแคมปัสด้านซ้ายมีขนาดใหญ่กว่าด้านขวามาก ซึ่งอาจแปลว่าสมองส่วนซ้ายของไอน์สไตน์มีเซลล์ประสาทแข็งแรงที่เชื่อมฮิปโปแคมปัสกับส่วนอื่นๆ ของนีโอคอร์เท็กซ์มากกว่าซีกขวา
นีโอคอร์เท็กซ์ก็คือส่วนของสมองที่ทำงานด้านวิเคราะห์และคิดค้นสิ่งใหม่ๆ
ดร. ธอมัส ฮาร์วีย์ เสียชีวิตในปี 2007 สามปีต่อมา ทายาทของเขามอบสมองของไอน์สไตน์ ข้อมูล รวมทั้งรูปถ่ายทั้งหมดให้ The National Museum of Health and Medicine หลายส่วนถูกส่งไปตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆ
ในปี 2012 มีการตีพิมพ์งานวิจัยเรื่อง The cerebral cortex of Albert Einstein: a description and preliminary analysis of unpublished photographs ในวารสาร Brain ฉบับพฤศจิกายน 2012 งานวิจัยนี้นำโดยนักมานุษยวิทยาด้านวิวัฒนาการ ดีน ฟอล์ค แห่งมหาวิทยาลัยฟลอริดา
1
พวกเขาวิเคราะห์รูปถ่าย 14 รูปที่ถ่ายไม่นานหลังเขาตายและไม่ได้รับการวิเคราะห์อย่างละเอียดมาก่อน แม้ดูทีแรกพบว่ารูปลักษณะของสมองไอน์สไตน์ไม่มีอะไรต่างจากคนอื่น แต่ปรากฏส่วนที่แตกต่างอย่างมากอยู่ตรงพื้นที่ prefrontal, somatosensory, primary motor, parietal, temporal และ occipital cortices
2
พวกเขาพบว่าสมองไอน์สไตน์ต่างจากคนทั่วไปจริง สมองของยอดนักฟิสิกส์มีแบบลายสมองที่ซับซ้อนผิดปกติใน prefrontal cortex ซึ่งสำคัญมากต่อการคิดแบบนามธรรม
6
ในเรื่องสมอง ขนาดไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด เพราะขนาดสมองกับความสามารถในการรับรู้ไม่เกี่ยวโยงกัน สมองของวาฬใหญ่กว่าสมองคนห้าสิบเท่า แต่มันไม่ฉลาดเท่าคน น้ำหนักสมองก็ไม่เกี่ยวกับความฉลาดเช่นกัน สมองวาฬหนักราว 17 ปอนด์ สมองช้างหนักราว 10 ปอนด์ สมองคนหนักแค่ 3 ปอนด์
2
ขนาดสมองไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด จำนวนเซลล์สมองต่างหากที่มากกว่าจะดีกว่า
6
งานวิจัยชี้ว่าสมองของไอน์สไตน์เล็กกว่ามาตรฐานเฉลี่ย แต่บางส่วนใหญ่กว่าคนทั่วไป สมองกลีบข้างของไอน์สไตน์ด้านบนและด้านหลังใหญ่กว่ามาตรฐาน 15 เปอร์เซ็นต์
2
พื้นที่ angular gyrus ด้านซ้ายและ supermarginal gyrus ของสมองไอน์สไตน์มีขนาดใหญ่ พื้นที่นี้น่าจะเชื่อมโยงกับความสามารถทางคณิตศาสตร์ ความคิดสร้างสรรค์ นี่น่าอธิบายว่าทำไมไอน์สไตน์สามารถจินตนาการเรื่องที่ว่าง-เวลา นำไปสู่การค้นพบที่น่าตื่นตะลึง
1
ในปี 2013 มีการตีพิมพ์งานวิจัยในวารสาร Brain เรื่อง The Corpus Callosum of Albert Einstein’s Brain: Another Clue to His High Intelligence เป็นผลงานวิจัยของแผนกฟิสิกส์ มหาวิทยาลัย East China Normal University (華東師範大學) แห่งเซี่ยงไฮ้
1
ใช้เทคนิคใหม่ในการศึกษา เทคโนโลยีใหม่นี้สามารถวัดความหนาของไฟเบอร์ได้ความละเอียดสูงสุด พวกเขาวิเคราะห์สมองส่วน corpus callosum ของไอน์สไตน์อย่างละเอียด พบว่ามันหนากว่าคนทั่วไป และยังหนากว่าสมองบางส่วนของคนหนุ่มกว่า อาจแปลว่าทำให้การสื่อสารเชื่อมโยงเครือข่ายของสมองสองซีกดีเยี่ยม
4
ทั้งหมดนี้เป็นงานศึกษาสมองไอน์สไตน์ชิ้นหลักๆ ทว่าข้อจำกัดของการศึกษาส่วนใหญ่คือ การศึกษานี้ใช้สมองของไอน์สไตน์คนเดียว ไม่ใช้ตัวอย่างนักวิทยาศาสตร์เก่งๆ คนอื่น ทำให้การวิจัยนี้ดูเหมือนไม่สมบูรณ์
นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยจำนวนหนึ่งเห็นว่าการวิจัยต่างๆ ขาดความน่าเชื่อถือหรือมีจุดตำหนิ บ้างว่าสมองมนุษย์ทั้งหลายมีเอกลักษณ์ในแต่ละคน การสรุปเหมาว่าจุดที่แตกต่างในสมองของไอน์สตน์เชื่อมโยงกับอัจฉริยภาพของเขา อาจไปไกลเกินหลักฐาน มันควรมีการศึกษาสมองคนอื่นๆ ที่มีคุณลักษณะเหมือนของไอน์สไตน์
3
เอาละ คงไม่มีใครในโลกที่คิดเปรียบเทียบสมองของตัวเองกับไอน์สไตน์ เพราะรู้ว่าเทียบกับอัจฉริยะไม่ได้ แต่ก็มีคนเชื่อว่า เหตุหนึ่งที่เราไม่ฉลาดเท่าไอน์สไตน์ เพราะเราส่วนใหญ่ใช้สมองแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ของศักยภาพของมัน
2
ขณะที่ไอน์สไตน์อาจใช้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ความเชื่อนี้ชี้ว่า สมองบางส่วนของเราว่างงาน ไม่เคยถูกใช้ เหมือนเรามีโกดังเก็บของขนาดยักษ์ แต่เก็บของแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่
จริงไหมที่คนเราใช้สมองเพียง 10 เปอร์เซ็นต์?
1
คำตอบคือไม่จริง มันเป็นแค่ความเชื่อผิดๆ
2
ข้อแย้งด้วยตรรกะธรรมดาคือ ถ้าคนเราใช้สมอง 10 เปอร์เซ็นต์ คนที่ประสบอุบัติเหตุ เกิดอาการบาดเจ็บทางสมอง ก็ไม่น่าจะเป็นอะไรมาก เพราะอาการบาดเจ็บอาจทำลายพื้นที่สมอง 90 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่ได้ใช้ แต่ความจริงคือ อันตรายต่อสมองส่วนเดียว ก็กระเทือนไปหมด
1
ข้อแย้งอย่างเป็นวิทยาศาสตร์คือการทดสอบสมองคนใต้การสแกน MRI ยืนยันว่านี่เป็นความเชื่อผิดๆ
จอห์น เฮนลีย์ นักประสาทวิทยามาโยคลินิกที่โรเชสเตอร์กล่าวว่า “มีหลักฐานยืนยันว่าแต่ละวันคุณใช้สมอง 100 เปอร์เซ็นต์”
งานวิจัยทางประสาทวิทยาทางสมองจำนวนมากล้วนยืนยันว่า สมองส่วนใหญ่ของเราทำงานเสมอ ไม่ได้ขี้เกียจ
สมองคนเราทำงานยุ่งๆ อยู่ แม้ขณะที่เรากำลังทำงานง่ายๆ มันยังทำงานแม้ตอนเรานอน
อีกเรื่องหนึ่งที่เรามักเชื่อผิดๆ คือ คิดว่ายิ่งแก่ สมองก็ยิ่งแย่ รอวันตายอย่างเดียว
4
ความจริงคือสมองคนเรามีความยืดหยุ่น หรือ Neuroplasticity
2
Neuroplasticity คือคุณสมบัติของสมองที่จะปรับเปลี่ยน เชื่อมสายใหม่ (rewire) ตัวมันเอง นี่เป็นคุณสมบัติที่จำเป็น ไม่เช่นนั้นสมองเด็กก็ไม่สามารถพัฒนาเป็นสมองผู้ใหญ่ได้ หรือเราอาจไม่สามารถฟื้นตัวจากเหตุสมองบาดเจ็บได้เลย
2
เราเปลี่ยนสมองของเราได้ในระดับหนึ่ง!
2
เดิมทีเราเชื่อว่า Neuroplasticity เกิดขึ้นเฉพาะตอนเด็ก แต่ตอนนี้หลักฐานว่าทั้งชีวิต สมองของเด็กอาจยืดหยุ่นกว่าบ้าง
สมองเป็นเครื่องมือมหัศจรรย์ มันทำงานได้หลายอย่างซ้อนกัน และหลายส่วนในสมองทำงานทดแทนกันได้ ดังนั้นถ้าเราเชื่อมสายใหม่ถูกจุด เราก็อาจแก้ปัญหาสมองบาดเจ็บหรือชราได้อย่างน้อยในระดับหนึ่ง
3
สมองแต่ละส่วนมักมีหน้าที่เฉพาะ นี่เป็นคุณลักษณ์ที่กำหนดโดยยีนของเรา ยกตัวอย่าง เช่น หากเราได้รับบาดเจ็บในสมองส่วนที่ควบคุมแขนซ้าย เราอาจขยับแขนซ้ายไม่ได้ แต่เนื่องจากสมองส่วนอื่นจัดการเรื่องความรู้สึกของแขนข้างนั้นด้วย เราก็ยังสามารถรู้สึกสัมผัสแขน เพียงแต่ขยับมันไม่ได้
1
นี่อาจเป็นกรณีสุดโต่ง เพราะในหลายกรณี สมองคนเราสามารถซ่อมตัวเองได้จริง
มีงานวิจัยที่พบว่า เมื่อเราสูญเสียประสาทบางอย่าง เราอาจได้รับการทดแทนในประสาทอื่น เช่น คนที่เสียประสาทด้านสัมผัส จะได้รับทดแทนด้วยประสาทรับกลิ่นที่ดีขึ้น เหมือนเส้นประสาทของสมองจัดการ ‘rewire’ ใหม่ เช่นกัน คนที่สูญเสียประสาทการมองเห็นแต่เด็ก มักมีโสตประสาทดีกว่าคนปกติ
4
บอกแล้วว่าสมองมันไม่ชอบอยู่แบบว่างงาน!
แม้จะอายุมากแล้ว คนเราก็ยังมีความสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ กิจกรรมใหม่ๆ ภาษาใหม่ๆ นี่ก็คือ neuroplasticity ที่หลายคนไม่ใช้ให้เป็นประโยชน์ ด้วยความเชื่อว่า “ฉันแก่แล้ว เรียนไม่ได้หรอก”
3
และหากเราสามารถใช้สมองของเราเต็มศักยภาพของมันอย่างนี้ ใครเล่าต้องการมีสมองแบบไอน์สไตน์?
2

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา