13 ส.ค. 2022 เวลา 00:00 • ปรัชญา
Amor fati : ปรัชญาโอบรับความทุกข์
5
Blockdit Originals ซีรีส์บทความพิเศษ
(คำเตือน : สองย่อหน้าแรกมีสปอยเลอร์หนังเรื่อง Arrival)
ในภาพยนตร์เรื่อง Arrival ตัวละครหลัก 'ดร. หลุยส์ แบงส์' เผชิญหน้ากับสิ่งทรงภูมิปัญญาต่างดาว ด้วยการเชื่อมกันด้วยพลังบางอย่าง เธอสามารถมองเห็นอนาคตของชีวิตเธอ เธอจะพบชะตากรรมร้ายแรงบางอย่างที่เป็นโศกนาฏกรรม แต่มันก็เป็นชีวิตที่มีความสุขเช่นกัน
เนื่องจากอนาคตของเธอยังไม่เกิดขึ้น เธอยังสามารถเลือกได้ว่าจะไปตามเส้นทางชีวิตที่เห็นหรือไม่ และเธอก็เลือกทางสายที่เป็นอยู่โดยไม่แก้ไขอะไร
หากเราอยู่ในสถานการณ์ที่สามารถเลือกได้ เราจะเลือกอนาคตของเราแบบไหน อนาคตที่มีแต่เรื่องดี หรืออนาคตที่มีสุขกับทุกข์ปนกัน
2
ในทำนองเดียวกัน หากเราสามารถเดินทางย้อนเวลากลับไปในอดีต เราจะแก้ไขปรับปรุงหรือไม่? บางทีเราอาจลบด้านไม่ดีออกให้หมด เหลือแต่ด้านดี ทำให้เป็นชีวิตที่มีแต่ความสุข? เราจะเลือกทางนั้นไหม?
3
เราทุกคนมีชีวิตที่มีทั้งสุขและทุกข์ปนกัน เรามักได้รับการสอนหรือแสดงให้เห็นว่าความทุกข์คือสิ่งที่น่ารังเกียจ ควรหนีให้ห่างไกล
นั่นขึ้นอยู่ว่าเรามองความทุกข์อย่างไร คือสิ่งที่ต้องหนี หรือสิ่งที่เราโอบรับ?
2
โอบรับความทุกข์? ล้อเล่นหรือเปล่า?
แนวคิดโอบรับความทุกข์ไม่ใช่คอนเส็ปต์ใหม่ และไม่ใช่ของใหม่ มันมีมาตั้งแต่กรีกโบราณ ภาษาละตินว่า amor fati แปลตรงตัวว่า รักชะตากรรม หรือรักชะตาของตนเอง
8
เอพิคทีตัส (Epictetus) นักปรัชญากรีกพูดถึงแนวคิดนี้ นอกจากนี้ก็ยังปรากฏในงานเขียนของจักรพรรดิโรมัน มาร์คัส ออรีลิอัส (Marcus Aurelius) แม้จะไม่ได้ใช้คำนี้ตรงๆ
เอพิคทีตัสเกิดมาเป็นทาส แต่กลายเป็นนักปรัชญา เขาเห็นว่าสิ่งต่างภายนอกอยู่เหนือการควบคุมของเรา เราจึงควรยอมรับอย่างสงบ แต่เราก็รับผิดชอบต่อชีวิตของเราเอง
4
เอพิคทีตัสเขียนว่า "จงอย่าแสวงหาทางที่สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นอย่างที่ท่านต้องการ แต่จงหวังว่าสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นตามทางของมัน แล้วท่านจะเป็นสุข"
15
amor fati จึงเป็นทัศนคติอย่างหนึ่งในการมองชีวิต มองว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตเรา ทั้งสุขและทุกข์ เป็นสิ่งที่ดีแล้ว จึงโอบรับได้
2
ผ่านไปราวสองพันปี ก็มีนักปรัชญาสมัยใหม่ในศตวรรษที่ 19 ฟรีดริค นีทเช่ สานต่อแนวคิด amor fati
นีทเช่เป็นนักปรัชญาชาวเยอรมัน อายุ 24 ก็ได้รับเสนอตำแหน่งศาสตราจารย์ แต่เลือกบินเดี่ยว สุขภาพของเขาไม่ดีตลอดชีวิต และมีปัญหาทางจิต เขาตายตอนอายุเพียง 55
1
นีทเช่มีวิธีคิดและมุมมองที่สวนทางกับขนบ เขาเขียนว่า "ฉันเชื่อในชีวิต ร่างกาย ความคิดสร้างสรรค์ และความจริงของโลกใบที่เราอาศัยอยู่ มากกว่าที่จะเป็นชีวิตในโลกอื่นใด"
1
เอพิคทีตัส
นีทเช่กล้าคิดย้อนขนบ แม้แต่กับศาสนา "ความคิดหลักของผมคือความกล้าที่จะตั้งคำถามต่อลัทธิความเชื่อทุกชนิด" ดังที่เขาเขียนว่า 'พระเจ้าตายแล้ว' ในเรื่อง The Gay Science
1
ชีวิตนีทเช่เต็มไปด้วยอุปสรรคและความล้มเหลว ปัญหาครอบครัว ปัญหางาน ขายหนังสือไม่ได้ บางครั้งต้องขอเงินจากเพื่อน ถูกผู้หญิงที่ชอบปฏิเสธ ฯลฯ
2
นีทเช่อาจคิดว่า ชีวิตเขาจะดีกว่านี้ไหมถ้าเขาเกิดที่ฝรั่งเศส ถ้าเขายังทำงานด้านวิชาการ ถ้าเขาเขียนหนังสือที่อ่านง่ายกว่านี้ ฯลฯ
แต่ตรงกันข้าม เขาเลือกที่จะโอบรับชีวิตที่ไม่ค่อยโสภาของเขา
1
ในเมื่อชีวิตของเขาไม่โสภาแต่อย่างไร ทำไมจึงบอกว่าอยากใช้ชีวิตแบบเดิมไปชั่วนิรันดร์
แน่ละ เขามิได้เป็นพวกชอบทำร้ายตัวเอง แต่เขาเชื่อว่าการยอมรับสิ่งดีและไม่ดีในชีวิตน่าจะถูกกว่า และเราก็ควรมองว่าทั้งสองอย่างนี้ไม่สามารถหลุดจากกันได้ นี่ปรากฏในงานเขียนเรื่อง The Gay Science ว่า "มีแต่ความเจ็บปวดสาหัสจึงปลดปล่อยจิตวิญญาณเป็นอิสระ ข้าฯสงสัยว่าความเจ็บปวดนั้นทำให้เราดีขึ้น แต่ข้าฯรู้ว่ามันทำให้เราลึกซึ้งมากขึ้น"
9
ฟรีดริค นีทเช่
ในฤดูร้อนปี 1882 เขาเขียนจดหมายถึงเพื่อนคนหนึ่ง บอกว่า เขาเริ่มยอมรับความคิดนี้เพื่อที่จะป้องกันเขาจากความทุกข์
1
"ฉันกำลังอยู่ในอารมณ์ 'จำนนต่อพระเจ้า' ว่าทุกอย่างถูกกำหนดมาแล้ว - ที่ฉันเรียกว่า amor fati มากจนฉันยินยอมเข้าไปในปากสิงโต"
1
เขาเห็นว่าแนวคิด amor fati เป็นเครื่องมือที่ช่วยเขาพ้นทุกข์ (ในระดับหนึ่ง) และมีแรงฟันฝ่าชีวิตต่อไป โดยไม่บ้าไปเสียก่อน
แต่สาระของ amor fati ไปไกลกว่าการปลอบโยน หากคือการยอมรับจริงๆ
เขามอง amor fati ว่าคือการยอมรับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต
2
คนที่เดินตามวิถี amor fati ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยไม่พยายามหนีอดีตหรือลบอดีต ยอมรับสิ่งดีและเลวร้าย ความผิดพลาด ด้วยพลังใจ
3
มันคือแนวคิดที่ปฏิเสธที่จะเสียใจเรื่องที่เกิดขึ้นกับตนเองในชีวิต
1
เขาใช้คำว่า eternal recurrence (การเกิดซ้ำนิรันดร์) คือความปรารถนามีชีวิตอยู่เหมือนเดิมทั้งชาติ ซ้ำชั่วนิรันดร์
1
ใน The Gay Science ซึ่งเขียนตอนที่ชีวิตของเขาเหนื่อยยากลำบาก นีทเช่เขียนว่า "ฉันต้องการเรียนรู้มากขึ้นและมากขึ้นเพื่อที่จะมองเห็นความสวยงามที่ควรมีของสิ่งต่างๆ แล้วฉันจะเป็นคนที่สร้างสิ่งสวยงาม amor fati จะเป็นความรักของฉันจากนี้ไป ฉันมิต้องการรบกับสิ่งน่าเกลียด ฉันไม่ต้องการกล่าวหา ฉันไม่แม้แต่ต้องการกล่าวหาคนที่กล่าวหา การมองไปทางอื่นจะเป็นการปฏิเสธเดียวของฉัน และทั้งหมดนี้ วันหนึ่งฉันจะปรารถนาจะเป็นคนที่ไม่แย้งใคร"
2
ความหมายคือจงยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น และโอบรับมัน
1
นีทเช่เขียนในหนังสือเรื่อง Ecce Homo ว่า สูตรของฉันสำหรับความยิ่งใหญ่ในมนุษย์คือ amor fati ซึ่งคนคนหนึ่งไม่ต้องการที่จะแตกต่าง ไม่ไปข้างหน้า ไม่ถอยหลัง ไม่ในนิรันดร์ ไม่เพียงทนสิ่งที่จำเป็น ไม่ปกปิดมัน แต่รักมันŽ
มีคำกล่าวว่า อะไรที่เกิดขึ้นย่อมเป็นสิ่งดี
2
นี่อาจฟังดูเหมือนคำปลอบใจ เช่นที่คนไทยโบราณชอบพูดเมื่อเกิดเรื่องร้ายว่า "ถือว่าฟาดเคราะห์ก็แล้วกัน" หรือ "ชดใช้กรรม"
2
ในทัศนคติแบบ amor fati เรายอมรับว่าเรื่องมันเกิดอย่างนี้เพราะไม่สามารถเกิดอย่างอื่น เราไม่สามารถแก้มันได้
2
นีทเช่ไม่ได้บอกว่าเราควรทนทุกข์ แต่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะชีวิตมิได้มีแค่ความทุกข์ มันมีความสุขด้วย ดีกับไม่ดีมาด้วยกัน
8
พูดง่ายๆ คือ ส่วนดีเพียงเล็กน้อยก็เป็นเหตุผลพอสำหรับการดำรงอยู่ของส่วนเลวร้ายนิรันดร์
4
ปรัชญาของนีทเช่นี้ก็คล้ายกับปรัชญา Absurdism ของ อัลแบร์ กามูส์
กามูส์เห็นคล้ายกับนีทเช่ที่ยอมรับชะตากรรมว่าเป็นแกนหลักของชีวิต ความสุขเป็นไปได้เมื่อเรายอมรับความไร้ความหมายหรือไร้สาระของการดำรงอยู่ของเรา
2
กามูส์กล่าวว่า "ความมุ่งมั่นที่จะมีชีวิตอยู่โดยไม่ปฏิเสธอะไรก็ตามในชีวิต เป็นคุณธรรมที่ผมยกย่องมากที่สุดในโลก"
2
กามูส์เห็นว่าทางที่ดีที่สุดน่าจะเป็นการอยู่กับชีวิตที่เป็นอยู่ โดยไม่ต้องไปยึดเกาะลัทธิความเชื่อใด หนทางอื่นๆ เป็นเรื่องไร้สาระ
2
อัลแบร์ กามูส์
ใช้ชีวิตโดยเริ่มที่ยอมรับชีวิต ยอมรับความไร้สาระแห่งชีวิต ยอมรับว่าชีวิตไม่มีสาระ ไม่มีความหมาย
4
มุมมองของแนวคิด amor fati การเอาชนะอุปสรรคอาจเริ่มที่การยอมรับ
เมื่อยอมรับโลกที่เป็นอยู่ ก็จะเป็นอิสระ แล้วจึงสามารถใช้ชีวิตอย่างเต็มที่
7
ทุกข์เป็นส่วนหนึ่งของโลก
6
จะว่าไปแล้ว Absurdism ก็คืออีกมุมหนึ่งของ amor fati
ตัวอย่างหนึ่งที่กามูส์มักยกมาประกอบคือตำนานกรีกของซิซีฟัส (Sisyphus) กษัตริย์แห่งเอพไฟรา พระองค์โกงความตายสองครั้ง จึงต้องคำสาปลงโทษให้เข็นก้อนหินใหญ่ขึ้นภูเขา แต่จะทำไม่สำเร็จเสมอ เพราะเมื่อเข็นหินใกล้ถึงยอด หินจะร่วงลงมาทุกครั้ง ต้องเข็นขึ้นไปใหม่ชั่วนิรันดร์
1
ชีวิตของซิซีฟัสย่อมไม่สนุก เพราะเห็นชัดว่าทุกข์ทรมานทั้งปีทั้งชาติ
แต่หากซิซีฟัสยอมรับ 'ชะตากรรม' นี้ มองว่าชีวิตก็เป็นอย่างนี้แหละ ชีวิตของเขาก็ไม่จำเป็นต้องทุกข์ บางทีระหว่างทางเข็นหิน เขาอาจมองทิวทัศน์งดงามและมีความสุขได้
6
บางครั้งการสัมผัสความงามของสิ่งต่างๆ เราก็ต้องมองโลกอย่างมีความงาม
เราสามารถรักชีวิตของเรา แม้มันไม่ดีนักตามมาตรฐาน แต่ท้ายที่สุดมันก็ขึ้นกับความพอใจ ความสุขคือความพอใจ พอใจเมื่อใดก็สุขเมื่อนั้น
7
เราอาจไม่ชอบทุกจุดทุกบททุกตอนในชีวิตของเรา แต่เราสามารถยอมรับได้ว่าชีวิตมีทั้งจุดดีและไม่ดี และบ่อยครั้งดีหรือไม่ดีเป็นสัมพัทธภาพ
1
ภาพยนตร์ดีเรื่องหนึ่งไม่ได้ดีเพราะมันมีแต่เนื้อเรื่องด้านสวยงาม ความสุข และแฮปปี้เอนดิง แต่มันประกอบด้วยฉากสุขและทุกข์คละเคล้ากัน
5
เราจะมีชีวิตที่ดีได้อย่างไร หากไม่เคยรู้รสความขมขื่น?
3
และนี่ต้องใช้พลังใจ
2
amor fati ก็คล้ายเพลง Que Sera, Sera (Whatever Will Be, Will Be) อะไรจะเกิดก็เกิด
1
มันก็คือการยอมรับสัจธรรม "Shit happens." (สิ่งเลวร้ายเกิดขึ้นได้เสมอ)
3
คนส่วนมากรับไม่ได้เมื่อเกิดเหตุร้ายหรือเคราะห์กรรม มักบ่นหรือตีโพยตีพาย
3
"ทำไมจึงเกิดขึ้นกับฉัน?"
1
"ทำไมฉันซวยอย่างนี้?"
4
"ชาติก่อนฉันทำกรรมอะไรไว้?"
1
ฯลฯ
1
และวลียอดฮิต "รู้งี้..."
3
รู้งี้ทำอย่างนั้นก็ดี รู้งี้ไม่ไปกับเขา รู้งี้ไม่แต่งงาน ฯลฯ แต่ใครเล่าจะสามารถกำหนดปัจจัยภายนอกได้?
1
เราไม่ยอมรับความจริง ลงท้ายด้วยเสียใจ ก่นด่า บ่น โทษคนนั้นคนนี้ โทษสิ่งนั้นสิ่งนี้ เราอยากย้อนเวลากลับไปแก้ไข
1
แต่ต่อให้เราสามารถแก้ไขอดีต ลบส่วนไม่ดีออกไป ในไทม์ไลน์ใหม่ เราก็อาจสร้างหรือประสบเรื่องทุกข์ในรูปใหม่เช่นกัน เพราะมันเป็นธรรมชาติของชีวิตที่ต้องมีสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์
4
amor fati ไม่ใช่การยกธงขาวยอมแพ้ แล้วไม่ทำอะไร นั่นจะทำให้ชีวิตแย่กว่าเดิม แต่ amor fati คือการยอมรับก่อน แล้วเดินชีวิตต่อไป มันทำให้ทุกข์น้อยกว่าเดิม
13
เมื่อยอมรับก็ไม่ทุรนทุราย แล้วหาทางทำให้ชีวิตที่เหลือดีที่สุด
4
โอบรับความทุกข์มิใช่รักทุกข์ แต่เพราะเข้าใจทุกข์ ตรงกับที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) กล่าวว่า "ทุกอย่างในโลกนี้ แม้แต่เลวที่สุด ถ้ามองเป็น ก็เป็นประโยชน์ อย่างน้อยก็ได้ความรู้ ได้ความจริง"
17

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา