Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
หนุ่มมาเก๊า
•
ติดตาม
6 ส.ค. 2022 เวลา 05:13 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
[ตอนที่ 72] ว่าด้วยชื่อของยานสำรวจดวงจันทร์ลำแรกของชาติต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย
เนื่องจากเมื่อวานนี้ (5 สิงหาคม ค.ศ.2022) เป็นวันที่ยานสำรวจดวงจันทร์ของเกาหลีใต้ถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศสำเร็จ ทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นชาติเอเชียแห่งที่ 5 ที่มียานสำรวจดวงจันทร์ของตนเอง (ถัดจากญี่ปุ่น จีน อินเดีย และอิสราเอล) ซึ่งชื่อของยานสำรวจดวงจันทร์ลำแรกของชาติเอเชียแต่ละแห่ง ก็มีที่มาของชื่อแตกต่างกันครับ
**ข่าวเกี่ยวกับการส่งยานสำรวจดวงจันทร์ลำแรกของเกาหลีใต้ขึ้นสู่อวกาศ สามารถดูได้ที่ FB Page ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ :
https://www.facebook.com/photo/?fbid=424739623029919&set=a.304334558403760
ภาพถ่ายแสดงยานทานูรีของเกาหลีใต้ ขณะอยู่ในขั้นตอนการประกอบและทดสอบยานของวิศวกร ในสำนักงานใหญ่ของสถาบันวิจัยการบินอวกาศเกาหลีใต้ (KARI) ในเมืองแทจ็อน ทางภาคกลางของเกาหลีใต้ [Credit ภาพ : KARI]
เรามาดูกันว่าชื่อของยานสำรวจดวงจันทร์ลำแรกที่ชาติเอเชีย 5 แห่งเลือกจากคำศัพท์ในภาษาของตน และภาพรวมของภารกิจยานแต่ละลำเป็นอย่างไรกันครับ
ดนตรีแนะนำให้เปิดฟังประกอบระหว่างอ่านบทความ : เพลงภาษาเกาหลี "ทัล" (ดวงจันทร์) โดย Park Yeongjun (Feat. Kim Dayeong)
https://www.youtube.com/watch?v=UwzIMD6NOW4
เยี่ยมชม
youtube.com
달 (Feat. 김다영)
Provided to YouTube by Re-one sensation달 (Feat. 김다영) · 박영준 · 김다영MOON℗ SOUNDREPUBLICAReleased on: 2017-07-17Auto-generated by YouTube.
ภาพจำลองแสดงยานฮิเต็งของญี่ปุ่น ขณะโคจรรอบดวงจันทร์ [Credit ภาพ : NHK]
1. ญี่ปุ่น : “ฮิเต็ง” (Hiten)
ชื่อของยานในภาษาญี่ปุ่นจะใช้อักษรฮิรางานะว่า ひてん ซึ่งคำนี้แปลว่า “นางอัปสร” ในฐานะนางฟ้าหรือเทพธิดาบนสรวงสวรรค์ (แต่ภาษาญี่ปุ่นในปัจจุบัน จะมีอีกคำที่ใช้อักษรคาตากานะเขียนทับศัพท์ชื่อนางอัปสรเป็น アプサラス “อาปุซาราสึ”)
หากเขียนคำ “ฮิเต็ง” ด้วยอักษรคันจิ (อักษรจีนที่ญี่ปุ่นรับมาปรับใช้) จะเป็น 飛天 อักษรคันจิของคำนี้ยังตรงกับอักษรจีนตัวเต็มด้วย ส่วนอักษรจีนตัวย่อจะเป็น 飞天 ซึ่งในภาษาจีนจะอ่านว่า “เฟย์เทียน” (อักษรพินอิน : fēitiān) เป็นได้ทั้งคำกริยา (บินไปบนท้องฟ้า / ท่องไปในอวกาศ) และชื่อเรียก (นางอัปสร)
ยานฮิเต็งถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ.1990 เฉียดใกล้ดวงจันทร์ในเดือนมีนาคมปีเดียวกัน ก่อนที่จะเข้าสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์ในเดือนมีนาคม ค.ศ.1993 และสิ้นสุดลงด้วยการถูกบังคับให้พุ่งชนดวงจันทร์ในเดือนเมษายนปีเดียวกัน
ภาพโมเสกที่ต่อจากภาพถ่ายพื้นผิวดวงจันทร์หลายภาพในจังหวะสุดท้ายก่อนที่ยานฮิเต็งจะพุ่งชนดวงจันทร์ [Credit ภาพ : JAXA / Ted Stryk]
ภารกิจของยานฮิเต็ง ได้แก่
- เรียนรู้เทคโนโลยีที่ใช้การคำนวณอย่างแม่นยำ การควบคุมวงโคจรดาวเทียม และการถ่ายทอดข้อมูล
- ทดสอบการเฉียดใกล้ดวงจันทร์ของยานสำรวจ
- ทดสอบการชะลออัตราเร็วของยานด้วยแรงเสียดทานจากบรรยากาศ (Aerobraking) เมื่อยานเฉียดใกล้โลก
- เข้าสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์
- ตรวจวัดฝุ่นในห้วงอวกาศระหว่างโลกกับดวงจันทร์
จากภารกิจของยานฮิเต็งจะเห็นได้ว่ายานลำนี้มีลักษณะเป็นยานทดสอบทางเทคโนโลยีอวกาศมากกว่ายานที่สำรวจดวงจันทร์ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งญี่ปุ่นส่งยานไปดวงจันทร์อีกครั้งเพื่อเน้นการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ ในปี ค.ศ.2007
ภาพจำลองยานฉางเอ๋อ 1 ของจีน ขณะกำลังสำรวจดวงจันทร์ [Credit ภาพ : CAST]
2. จีน : “ฉางเอ๋อ 1” (Chang’e 1)
ชื่อในภาษาจีนของยานลำนี้ “ฉางเอ๋ออีเฮ่า” เมื่อเขียนในอักษรจีนตัวย่อจะเป็น 嫦娥一号 และในอักษรจีนตัวเต็ม คือ 嫦娥一號 แปลว่า “ฉางเอ๋อหมายเลข 1”
ยานสำรวจดวงจันทร์ของจีนหลายลำ จะมีชื่อขึ้นต้นว่า “ฉางเอ๋อ” (嫦娥) มาจากชื่อเทพีฉางเอ๋อ ซึ่งเป็นเทพีแห่งดวงจันทร์ในตำนานพื้นเมืองของจีน
ยานฉางเอ๋อ 1 ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ.2007 ก่อนที่จะเข้าสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์ในเดือนถัดมา และสิ้นสุดลงด้วยการถูกบังคับให้พุ่งชนดวงจันทร์ในเดือนมีนาคม ค.ศ.2009
แผนที่ภูมิประเทศแบบ 3 มิติของพื้นผิวดวงจันทร์ที่ได้จากยานฉางเอ๋อ 1
นอกจากเป้าหมายเพื่อการวิจัยและพัฒนาด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีอวกาศแล้ว ยานฉางเอ๋อ 1 ยังมีเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์ ได้แก่
- ถ่ายภาพ 3 มิติของลักษณะภูมิประเทศต่าง ๆ บนพื้นผิวดวงจันทร์
- วิเคราะห์และทำแผนที่การกระจายตัวของธาตุเคมีต่าง ๆ บนพื้นผิวดวงจันทร์
- ศึกษาดินบนดวงจันทร์
- ศึกษาเรื่องสภาพอวกาศ (อย่างเรื่องลมสุริยะ - กระแสอนุภาคมีประจุไฟฟ้าที่แผ่จากดวงอาทิตย์) ที่บริเวณเหนือพื้นผิวดวงจันทร์ และห้วงอวกาศระหว่างโลกกับดวงจันทร์
ภาพถ่ายแสดงยานจันทรยาน-1 ขณะอยู่ในขั้นตอนการประกอบยานโดยวิศวกร [Credit ภาพ : ISRO]
3. อินเดีย : “จันทรยาน-1” (Chandrayaan-1)
ชื่อในภาษาฮินดีของยานลำนี้ มี 2 แบบ
- चन्द्रयान อ่านเป็น “จันดระยาน” แต่เมื่อถอดเป็นอักษรไทยตามรูปเขียน (เทียบตามพยัญชนะวรรค) จะเป็น “จันทรยาน”
- चंद्रयान-१ อ่านเป็น “จันดระยานเอก” แต่เมื่อถอดเป็นอักษรไทยตามรูปเขียนจะเป็น “จันทรยานเอก”
ยานสำรวจดวงจันทร์ของอินเดียหลายลำ จะมีชื่อขึ้นต้นว่า “จันทรยาน” (चन्द्रयान หรือ चंद्रयान) มาจากคำภาษาฮินดี चंद्र “จันทร” แปลว่า “ดวงจันทร์” และ यान “ยาน” แปลว่า “ยานพาหนะ”
ดังนั้น ชื่อ “จันทรยาน” ตามยานสำรวจดวงจันทร์ของอินเดีย จึงมีความหมายตรงตัวว่า “ยานดวงจันทร์”
จันทรยาน-1 ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ.2008 ก่อนที่จะเข้าสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์ในเดือนถัดมา และสัญญาณการติดต่อกับภาคพื้นดินขาดหายในเดือนสิงหาคม ค.ศ.2009 ซึ่งในปี ค.ศ.2016 องค์นาซาตรวจพบว่ายานของอินเดียลำนี้เป็นขยะอวกาศที่ยังโคจรรอบดวงจันทร์ แต่ก็ไม่ทราบชะตากรรมของยานในปัจจุบันว่าตกลงมาชนดวงจันทร์แล้วหรือไม่
แผนภาพแสดงการสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์เพื่อหาแหล่งสะสมตัวของน้ำแข็งบริเวณขั้วดวงจันทร์ ด้วยคลื่นวิทยุจากยานจันทรยาน-1 ของอินเดีย และยานลูนาร์รีคอนเนสเซนส์ออร์บิเตอร์ของสหรัฐฯ [Credit ภาพ : NASA/ISRO]
ภารกิจของจันทรยาน-1 ได้แก่
- ออกแบบและพัฒนายานสำรวจดวงจันทร์ของอินเดีย ซึ่งถูกส่งขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวดของอินเดียเอง
- ทำแผนที่พื้นผิวดวงจันทร์แบบ 3 มิติ กับแผนที่การกระจายตัวของธาตุเคมีและแร่ต่าง ๆ บนพื้นผิวดวงจันทร์
- เพิ่มองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์จากการสำรวจดวงจันทร์
- ทดสอบการปล่อยยานลำลูกขนาดเล็กให้พุ่งชนดวงจันทร์ เพื่อเป็นพื้นฐานแก่การส่งยานลงจอดบนดวงจันทร์ของอินเดียในอนาคต
ภาพจำลองยานเบเรชิต หากยานสามารถลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้สำเร็จ [Credit ภาพ : SpaceIL]
4. อิสราเอล : เบเรชิต (Beresheet)
ชื่อของยานจากประเทศอิสราเอลลำนี้เมื่อเขียนด้วยอักษรฮีบรูจะเป็น בראשית ซึ่งประกอบด้วยคำ 2 คำ โดยอ่านไล่จากขวามาซ้าย (ตามลักษณะการอ่านอักษรฮีบรู)
- בְּ־ “b’-” (ใน)
- רֵאשִׁית “reishít” (การเริ่มต้น)
ดังนั้น ชื่อยาน “เบเรชิต” สามารถแปลตามตัวว่า “ในปฐมกาล” และวลีนี้ยังเป็นท่อนขึ้นต้นของ “หนังสือปฐมกาล” (Book of Genesis) หนังสือฉบับแรกของคัมภีร์ในศาสนายูดาห์ และคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาเดิมในศาสนาคริสต์ ท่อน “เบเรชิต” จึงกลายเป็นชื่อเรียกหนังสือปฐมกาลในภาษาฮีบรูไปด้วย
ยานเบเรชิตถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.2019 ด้วยจรวด Falcon 9 ของ SpaceX บริษัทเอกชนทางเทคโนโลยีอวกาศในสหรัฐฯ และพยายามลงจอดบนดวงจันทร์ก่อนที่จะล้มเหลวด้วยการพุ่งชนพื้นผิว เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ.2019
ภาพถ่ายพื้นผิวดวงจันทร์จากยานเบเรชิตขณะอยู่ที่ระดับความสูง 22 กิโลเมตรเหนือพื้นผิว ในจังหวะก่อนยานชนดวงจันทร์ [Credit ภาพ : SpaceIL/IAI]
ยานเบเรชิตเป็นของ SpaceIL บริษัทเอกชนด้านเทคโนโลยีในอิสราเอล และรัฐวิสาหกิจอุตสาหกรรมการบินอวกาศอิสราเอล (Israel Aerospace Industries) มีเป้าหมายเพื่อเป็นยานทดสอบการลงจอดบนดวงจันทร์ และการนำทางของยาน
ภาพจำลองยานทานูรีเมื่อส่งสัญญาณกลับมายังโลกจากวงโคจรรอบดวงจันทร์ [Credit ภาพ : KARI]
5. เกาหลีใต้ : ทานูรี (Danuri)
ชื่อในภาษาเกาหลีของยานลำนี้ เมื่อเขียนด้วยอักษรฮันกึล จะเป็น 다누리 มาจากคำภาษาเกาหลี 2 คำ
- 달 “ทัล” (ดวงจันทร์)
- 누리다 “นูรีดา” (คำกริยา : รื่นรมย์ ร่าเริง สนุกสนาน)
ยานของเกาหลีใต้ลำนี้ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ.2022 และมีกำหนดเข้าสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์ในกลางเดือนธันวาคมปีเดียวกัน โดยมีระยะเวลาปฏิบัติภารกิจอย่างน้อย 1 ปี
ภารกิจของยานทานูรี ได้แก่...
- พัฒนาเทคโนโลยีอวกาศที่เป็นพื้นฐานต่อการสำรวจดวงจันทร์
- ทำแผนที่ภูมิประเทศของพื้นผิวดวงจันทร์เพื่อใช้ค้นหาพื้นที่ลงจอดสำหรับยานลงจอดบนดวงจันทร์ของเกาหลีใต้ในอนาคต และทำแผนที่การกระจายตัวของทรัพยากรธรรมชาติบนพื้นผิวดวงจันทร์ (เช่น น้ำแข็ง ยูเรเนียม)
- พัฒนาเทคโนโลยีอวกาศใหม่ ๆ
จากชื่อยานสำรวจดวงจันทร์ลำแรกของชาติต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย จะเห็นได้ว่ามักมาจากชื่อเทพธิดา/เทพีบนสวรรค์ (ญี่ปุ่น จีน) ชื่อหนังสือในคัมภีร์ทางศาสนา (อิสราเอล) ชื่อที่มีคำว่า “ดวงจันทร์” (อินเดีย เกาหลีใต้)
ชาติอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียที่ประกาศแผนส่งยานสำรวจดวงจันทร์ของตนในอนาคตแล้ว ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตุรกี และไทย หากชาติเหล่านี้สามารถส่งยานไปดวงจันทร์ได้สำเร็จ ก็น่าสนใจว่าชาติเหล่านี้จะเลือกคำศัพท์ที่มีความหมายใดมาตั้งเป็นชื่อยานสำรวจดวงจันทร์ลำแรกของตน
หากท่านชอบเนื้อหาในบล็อกนี้ สามารถกด “ติดตาม” บล็อกนี้บน Blockdit หรือเพจบน Facebook :
https://www.facebook.com/NumMacau/
ได้ครับ...แล้วพบกันใหม่ในเนื้อหาตอนหน้าครับ
[แหล่งที่มาของข้อมูล]
-
https://ja.wikipedia.org/wiki/飛天
-
https://en.wiktionary.org/wiki/飛天
-
https://www.metmuseum.org/art/collection/search/49258
-
https://web.archive.org/web/20081115183853/http://www.isas.jaxa.jp/j/enterp/missions/hiten.shtml
-
https://www.isas.jaxa.jp/en/missions/spacecraft/past/hiten.html
-
https://en.wiktionary.org/wiki/嫦娥
-
https://directory.eoportal.org/web/eoportal/satellite-missions/c-missions/chang-e-1
-
https://en.wiktionary.org/wiki/चंद्रयान-१
-
https://www.nasa.gov/feature/jpl/new-nasa-radar-technique-finds-lost-lunar-spacecraft
-
https://web.archive.org/web/20081026041754/http://www.isro.org/Chandrayaan/htmls/objective_scientific.htm
-
https://en.wiktionary.org/wiki/
בראשית
-
https://solarsystem.nasa.gov/missions/beresheet/in-depth/
-
https://en.wiktionary.org/wiki/달
-
https://en.wiktionary.org/wiki/누리다
-
https://www.hou.usra.edu/meetings/leag2017/presentations/tuesday/ju.pdf
ดาราศาสตร์
อวกาศ
ภาษาต่างประเทศ
บันทึก
3
3
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เกร็ดเรื่องราวต่าง ๆ ทางภาษาและวัฒนธรรมรอบโลก
3
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย