11 ส.ค. 2022 เวลา 14:36 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

รีวิวซีรีส์ ““Extraordinary Attorney Woo” หรือ “อูยองอู ทนายอัจฉริยะ”

ซีรีส์แนวกฎหมายของเกาหลีถูกผลิตออกมามากมาย ที่ดูแล้วส่วนใหญ่ก็จะไม่ค่อยอินเพราะด้วยบางคดีจะมีการพิจารณาด้วยระบบคณะลูกขุน (jury) ที่ให้ประชาชนเข้าร่วมการพิจารณาพิพากษาคดีโดยประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินว่าจำเลยมีความผิดหรือไม่ ส่วนผู้พิพากษามีหน้าที่เฉพาะวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งแตกต่างกับระบบศาลของประเทศไทยที่ไม่มีคณะลูกขุนแต่ผู้พิพากษาเป็นผู้ชี้ขาดทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
Extraordinary Attorney Woo
และซีรี่ส์เกาหลีมักจะถูกทำออกมาขัดกับความเป็นจริง เช่น ผู้พิพากษาศาลเยาวชนไปสืบสวนคดีเอง วิ่งไล่จับผู้ร้ายเองเหมือนเรื่อง Juvenile Justice ทำให้ดูไปก็อุทานไปว่า “บ้า ของจริงมันไม่ใช่แบบนี้สักหน่อย”
เท่าที่ดูมาเรื่องที่ดูแล้วอิน สนุก และถูกทำออกมาไม่ขัดกับความเป็นจริงมากเท่าไหร่ก็คือ “Extraordinary Attorney Woo” หรือ “อูยองอู ทนายอัจฉริยะ” บทละครทำออกมาดีมาก รู้ซึ้งถึงปัญหาจริงๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมและนำกฎหมายมาปรับเข้ากับบทละครได้ดี สื่อสารให้คนดูอินกับบทได้โดยไม่ต้องเข้าใจหลักกฎหมาย (ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่ากฎหมายของเกาหลีเป็นแบบนั้นจริงๆหรือเปล่า)
เนื้อเรื่องปูมาด้วย นางเอกเป็นเด็กออทิสติก สเปคตรัม มีความผิดปกติของพัฒนาการทางระบบประสาท แต่เป็นเด็กอัจฉริยะ จดจำสิ่งต่างๆเป็นภาพ ท่องจำตัวบทกฎหมายได้ตั้งแต่เด็ก โตมาก็จบนิติเกียรตินิยมอันดับ 1 มหาลัยโซล (ซึ่งเป็นมหาลัยชื่อดังอันดับหนึ่งของประเทศเกาหลีใต้) จบเนติบัณฑิตได้คะแนนเกือบเต็ม (ซึ่งเนติฯของเกาหลีเป็นที่เลื่องลือว่าข้อสอบยากมาก)
บทละครมีเอกลักษณ์ที่มีการสอดแทรกอุปนิสัยความชอบวาฬของนางเอกให้เข้ากับช่วงเวลาที่วาฬหรือโลมาจะออกมาจากความคิดของนางเอกได้อย่างดี ดูแล้วมีความละมุน นางเอกแสดงเป็นออทิสติกได้น่ารักมาก การสอดแทรกความซื่อตรงของนางเอกที่คิดว่าไม่น่าจะมีใครพูดโกหกในศาล ซึ่งเรื่องจริงที่เกิดขึ้นนั้นในแต่ละวันแม้จะมีการสาบานตนว่าจะพูดแต่ความจริงก่อนจะเบิกความต่อศาลแต่ศาลอาจจะเป็นที่ที่มีคนโกหกมากที่สุดในโลกก็เป็นได้
การดำเนินเรื่องตัดเข้าการพิจารณาคดีของศาลอย่างรวดเร็วไม่ยืดเยื้อไม่น่าเบื่อ สลับกับความรักโรแมนติกของนางเอกกับพระเอกได้อย่างดี ชอบฉาก คุง จั๊กจั๊ก (ย่ำ ย่อย่อ) มาก ทำได้น่ารักสุดๆ มีการนำตัวละครเพื่อนนางเอกที่ฮาๆมาตัดความดราม่าได้อย่างดี แต่บางตอนก็ดราม่าจนแทบกลั้นน้ำตาไม่อยู่จริงๆ สรุปเรื่องนี้ให้ 5 คะแนนเต็ม ⭐️⭐️⭐️⭐️⭐️ ควรดูให้ได้
(***หลังจากนี้อาจมีการสปอยล์เนื้อหาบางส่วน ใครยังไม่ดูไม่อยากโดนสปอยล์ เตือนว่าอย่าอ่านหลังจากนี้นะ แต่อ่านก็จะได้ความรู้กฎหมายไปด้วยนะ)
Ep. 1 ให้แง่คิดอย่าตัดสินคนอื่นจากภายนอก Don’t judge a book by its cover. ใครที่เห็นบุคลิกของนางเอกครั้งแรกและรู้ว่านางเอกเป็นออทิสติกส่วนใหญ่ก็จะต่อต้านอย่างเห็นได้ชัดโดยยังไม่เห็นความสามารถและความฉลาดของนางเอกก็ตัดสินไปก่อนแล้ว
  • เปรียบเทียบกับกฎหมายไทย
ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ของไทยจะตรงกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295
ความผิดฐานพยายามฆ่าจะตรงกับมาตรา 288 ประกอบ 80
การพูดว่าจะฆ่าไม่ได้หมายความว่าผู้กระทำต้องมีเจตนาฆ่าเสมอไปต้องดูพฤติการณ์อื่นประกอบด้วย เช่น ชนิดของอาวุธที่ใช้ว่าเป็นอาวุธร้ายแรงหรือไม่ อวัยวะที่ถูกกระทำว่าเป็นอวัยวะสำคัญหรือไม่ ลักษณะของบาดแผลว่าทำให้ถึงตายได้หรือไม่ และความตายเป็นผลโดยตรงจากการกระทำความผิดหรือไม่ แนวคำพิพากษาศาลฎีกาของไทยเกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่น ฎีกาที่ 2155/2530
Ep.2 ให้แง่คิดเรื่องการเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่งว่าคดีที่เกิดขึ้นจริงบางครั้งผู้เสียหายไม่ได้ต้องการเรียกร้องค่าเสียหายอะไรแต่บุคคลในครอบครัวเป็นผู้ต้องการค่าเสียหายดังกล่าวซึ่งอาจขัดกับความประสงค์ของผู้เสียหาย ซึ่งกฎหมายก็ให้อำนาจผู้เสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากบุคคลผู้ทำละเมิดได้ และก็ให้อำนาจผู้เสียหายที่จะขอถอนฟ้องในคดีแพ่งได้เช่นกัน
  • เปรียบเทียบกับกฎหมายไทย
หากมีบุคคลที่จงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิต แก่ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด ผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420
ดังนั้นหากการกระทำนั้นเป็นผลโดยตรงให้ได้รับความเสียหายจำเลยก็ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิด หากไม่ใช่ผลโดยตรงก็ไม่ต้องรับผิด ซึ่งค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้นให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์ และความร้ายแรงแห่งละเมิด ตามมาตรา 438
ในเรื่องการขอถอนฟ้องนั้นในซีรีส์ ซับไทยแปลว่า “ขอถอนคำร้องทุกข์” ก็ไม่รู้ว่าเกาหลีเขาใช้คำนี้จริงหรือแปลผิด เพราะหากเป็นกฎหมายไทย ขอถอนคำร้องทุกข์นั้นจะใช้กับคดีอาญาที่เป็นความผิดต่อส่วนตัวหรือคดียอมความได้เท่านั้นไม่ใช้กับคดีแพ่ง หากเป็นคดีแพ่งจะใช้คำว่า “ขอถอนฟ้อง”
ซึ่งก่อนจำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดี โจทก์อาจถอนคำฟ้องได้โดยยื่นคำบอกกล่าวเป็นหนังสือต่อศาล ภายหลังจำเลยยื่นคำให้การแล้ว โจทก์อาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลชั้นต้น เพื่ออนุญาตให้โจทก์ถอนคำฟ้องได้ ศาลจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตหรืออนุญาตภายในเงื่อนไขตามที่เห็นสมควรก็ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 175 ดังนั้น การขอถอนฟ้องคดีแพ่งต้องทำเป็นหนังสือเท่านั้น โจทก์จะขอถอนฟ้องด้วยวาจาโดยยกมือบอกศาลในบัลลังก์ไม่ได้
Ep.3 ให้แง่คิดความรักระหว่างพ่อแม่และลูก ไม่ว่าลูกที่เกิดมาจะมีปัญหาทางด้านร่างกายหรือจิตใจอย่างไรพ่อแม่ส่วนใหญ่ย่อมรักลูกของตัวเอง และให้แง่คิดในเรื่องการเลี้ยงดูลูกหากกดดันลูกให้เรียนแต่หนังสือมากเกินไปคาดหวังว่าการเรียนเก่งคือทุกสิ่งทุกอย่างของอนาคตลูกอาจจะทำให้ลูกเกิดความเครียดและเสพติดการเป็นที่หนึ่งจนอาจรับไม่ได้กับความผิดหวัง
  • เปรียบเทียบกฎหมายไทย
หากจำเลยมีเพียงเจตนาทำร้ายร่างกายและความตายไม่ใช่ผลโดยตรงจากการทำร้ายของจำเลย จำเลยก็ไม่ผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 และผลที่เกิดทำให้ผู้เสียหายหรือผู้ตายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจจำเลยจึงมีความผิดตามฐานทำร้ายร่างกายตาม มาตรา 295
แต่หากผู้เสียหายหรือผู้ตายได้รับบาดแผลไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ จำเลยก็จะผิดเพียงฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ มาตรา 391 คำพิพากษาศาลฎีกาของศาลไทยที่พอเทียบเคียงได้ เช่น
ฎีกาที่ 8710/2560 “จำเลยเพียงเข้าไปชกต่อยและถีบผู้เสียหาย พฤติการณ์ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นตัวการร่วมกับพวกใช้มีดแทงผู้เสียหายโดยมีเจตนาฆ่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยรู้ว่า อ. พาอาวุธมีดมา จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธมีดไปในทางสาธารณะดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดเพียงฐานร่วมกันใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตาม ป.อ. มาตรา 391 (เดิม) เท่านั้น”
Ep.4 ให้แง่คิดที่สะท้อนสังคมในยุคปัจจุบันที่มีการการเหยียด การบูลลี่คนอื่น และปัญหาพี่น้องที่แย่งเงินภายในครอบครัว
  • เปรียบเทียบกฎหมายไทย
การรับมรดกตามกฎหมายไทย หากเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ย่อมได้รับมรดกเท่ากัน เพราะเป็นทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกัน ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 (3), 1633
Ep.5 ให้แง่คิดในการประกอบวิชาชีพทนายความ การทำงานสอนบทเรียนให้แก่นางเอก การให้เลือกระหว่างผลแพ้ชนะของคดีกับการเปิดเผยความจริงช่วยเหลือคน
  • เปรียบเทียบกฎหมายไทย
ในซีรีส์ซับไทยจะแปลว่า “สิทธิอรรถประโยชน์” ซึ่งถ้านำมาเทียบตามกฎหมายไทยน่าจะตรงกับคำว่า “อนุสิทธิบัตร” ซึ่งเนื้อเรื่องบางช่วงจะใช้คำว่า ละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งไม่ถูกต้อง และผู้คนส่วนใหญ่มักจะสับสนเรียกทุกอย่างที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาเป็นลิขสิทธิ์ไปหมด
ในเรื่องนี้น่าจะเป็น อนุสิทธิบัตร ซึ่งกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของไทย ได้กำหนดไว้ว่าการประดิษฐ์ที่ขอรับอนุสิทธิบัตรได้ต้องเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่และสามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรม ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 ทวิ และการพิจารณาคดีต้องพิจารณาคดีที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเป็นศาลชำนัญพิเศษไม่ใช่ศาลยุติธรรม
Ep.6
  • เปรียบเทียบกฎหมายไทย
บุคคลจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้พ้นจากความรับผิดในทางอาญาไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 64
การทวงหนี้โดยใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้ได้ซึ่งทรัพย์มาจากผู้เสียหายแม้จะเข้าใจว่าตนมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้แต่จำเลยก็ไม่มีสิทธิเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยไม่ใช้สิทธิฟ้องร้องทางศาล จำเลยจึงอาจมีความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 หากผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายก็ต้องรับโทษหนักขึ้น คำพิพากษาฎีกาของศาลไทยที่พอเทียบเคียงได้ เช่น ฎีกาที่ 10094/2557
การส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญ กฎหมายรัฐธรรมนูญของไทยได้กำหนดว่าต้องเป็นการโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะบังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ศาลจึงจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 212 วรรคหนึ่ง
Ep.7 ให้แง่คิดความทันสมัยของโลกยุคปัจจุบันอาจะทำลายวิถีชีวิตของชาวบ้านและธรรมชาติที่ควรค่าแก่การรักษา
  • เปรียบเทียบกฎหมายไทย
น่าจะตรงกับการขอคุ้มครองชั่วคราว ที่โจทก์ชอบที่จะยื่นต่อศาลพร้อมกับคำฟ้องหรือในเวลาใด ๆ ก่อนพิพากษา ซึ่งคำขอฝ่ายเดียว ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จำเลยกระทำซ้ำหรือกระทำต่อไป ซึ่งการละเมิดหรือการผิดสัญญาหรือการกระทำที่ถูกฟ้องร้อง หรือมีคำสั่งอื่นใดในอันที่จะบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายที่โจทก์อาจได้รับต่อไปเนื่องจากการกระทำของจำเลย
หรือมีคำสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จำเลยโอน ขาย ยักย้ายหรือจำหน่ายซึ่งทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจำเลย หรือมีคำสั่งให้หยุดหรือป้องกันการเปลืองไปเปล่าหรือการบุบสลายซึ่งทรัพย์สินดังกล่าว จนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 (2)
Ep. 8 เดินเผชิญสืบ คัดค้านผู้พิพากษา
  • เปรียบเทียบกฎหมายไทย
ในซีรีส์ซับไทยใช้คำว่าพิสูจน์หน้างาน ถ้าเทียบกฎหมายไทยใช้คำว่า เดินเผชิญสืบ กฎหมายของศาลไทยให้อำนาจศาลสืบพยานนอกศาลได้ซึ่งทางปฏิบัติเรียกว่าการเดินเผชิญสืบ โดยให้ศาลที่พิจารณาคดีเป็นผู้สืบพยานหลักฐาน โดยจะสืบในศาลหรือนอกศาล ณ ที่ใด ๆ ก็ได้ แล้วแต่ศาลจะสั่งตามที่เห็นสมควรตามความจำเป็นแห่งสภาพของพยานหลักฐานนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 102 วรรคหนึ่ง
ในเรื่องการคัดค้านผู้พิพากษา เมื่อคดีถึงศาล ผู้พิพากษาคนหนึ่งคนใดในศาลนั้นอาจถูกคัดค้านได้ ถ้าผู้พิพากษานั้นมีผลประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องอยู่ในคดีนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 11 (1)
Ep.9 ให้แง่คิดสะท้อนค่านิยมของผู้ปกครองในยุคปัจจุบันที่เน้นให้ลูกเรียนโรงเรียนกวดวิชาตั้งแต่เด็กๆ การเรียนต้องดี ต้องเข้ามหาลัยดังๆให้ได้ โดยไม่สนว่าเด็กจะมีความสุขหรือไม่ จากการหาข้อมูลมาเรื่องจริงของเกาหลีใต้นั้นเด็กเกาหลีใต้จริงจังกับการเรียนมาก และใช้เวลาในการเรียนมากถึงวันละ 14 ถึง 16 ชั่วโมง
นอกจากเรียนตามปกติในโรงเรียนแล้ว หลังเลิกเรียนก็จะต้องเรียนพิเศษ เป้าหมายสูงสุดของเด็กเกาหลีก็คือ SKY ซึ่งเป็นการนำตัวอักษรตัวแรกของมหาวิทยาลัยชั้นนำที่ดีที่สุดมารวมกัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยโซล (Seoul National University), มหาวิทยาลัยเกาหลี (Korea University) และมหาวิทยาลัยยอนเซ (Yonsei University)
  • เปรียบเทียบกฎหมายไทย
ในซีรีส์ใช้คำว่าลักพาตัวผู้เยาว์ ถ้าเทียบฐานความผิดของไทยน่าจะตรงกับฐานพรากเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล โดยปราศจากเหตุอันสมควร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 317 วรรคแรก ไม่ใช่ฐานพรากผู้เยาว์โดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วยตามมาตรา 319 วรรคแรก เพราะเด็กในซีรีส์ไม่ได้มีอายุกว่าสิบห้าปี
ความผิดฐานพรากเด็กหรือพรากผู้เยาว์นี้บิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เป็นผู้เสียหาย เด็กหรือผู้เยาว์ไม่ใช่ผู้เสียหาย จึงไม่มีอำนาจขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความผิดฐานนี้ และความผิดดังกล่าวแม้เด็กหรือผู้เยาว์จะยินยอมก็เป็นความผิด
Ep.10
  • เปรียบเทียบกฎหมายไทย
การจับตัวผู้ต้องหา ตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลไม่ได้ เว้นแต่ เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือกรณีอื่นๆ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78
และต้องแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกจับทราบ หากมีหมายจับให้แสดงต่อผู้ถูกจับ พร้อมทั้งแจ้งด้วยว่า ผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้และถ้อยคำของผู้ถูกจับนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ ตามมาตรา 83 วรรคสอง ถ้าบุคคลซึ่งจะถูกจับขัดขวางหรือจะขัดขวางการจับ หรือหลบหนีหรือพยายามจะหลบหนี ผู้ทำการจับมีอำนาจใช้วิธีหรือการป้องกันทั้งหลายเท่าที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งเรื่องในการจับนั้น ตามมาตรา 83 วรรคสาม
Ep.11
  • เปรียบเทียบกฎหมายไทย
ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลมาแล้วถูกรางวัลในระหว่างเป็นสามีภริยาที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย เงินรางวัลที่ได้มาเป็นสินสมรส เป็นของทั้งสามีและภริยา ถ้าสามีตายก็ต้องแบ่งกันละครึ่ง ครึ่งหนึ่งได้ภริยา อีกครึ่งได้ทายาทของสามี ถ้าสามีไม่มีพ่อแม่ที่ยังมีชีวิตอยู่เงินก็จะตกแก่ลูกและภริยา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629
เรื่องสลากกินแบ่งรัฐบาลที่เป็นสินสมรส มีคำพิพากษาศาลฎีกา เช่น
ฎีกาที่ 1053/2537 “จำเลยใช้เงินของจำเลยซื้อสลากกินแบ่งฯ ก่อนสมรสกับโจทก์สลากกินแบ่งฯ ออกรางวัลหลังจากที่โจทก์จำเลยสมรสกันแล้ว และถูกรางวัล เงินรางวัลที่จำเลยได้รับมาจากการถูกสลากกินแบ่งรัฐบาลระหว่างสมรสถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสย่อมเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ. 2519 มาตรา 1474 (1)”
Ep.12
  • เปรียบเทียบกฎหมายไทย
การเลือกปฏิบัติต่อลูกจ้างเพศชายและเพศหญิงไม่เหมือนกัน มีคำพิพากษาศาลฎีกาเทียบเคียงได้ เช่น ฎีกาที่ 6011-6017/2545
Ep.13
  • เปรียบเทียบกฎหมายไทย
ในซีรีส์ตอนนี้จะเห็นผู้พิพากษาคนเดียวนั่งพิจารณาคดี ซึ่งหากพิจารณาเนื้อหาของคดีแล้วเป็นการฟ้องคดีแพ่งเรียกเงินคืน 3,000 วอน คิดเป็นเงินไทยในปัจจุบันประมาณ 80 บาท ซึ่งเมื่อเทียบกับกฎหมายไทยแล้วกรณีนี้เป็นคดีที่ต้องฟ้องคดีต่อศาลแขวงและผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท ตามมาตรา 25 (4) แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
Ep.14
  • เปรียบเทียบกฎหมายไทย
เครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป แม้ไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าก็ได้รับความคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534
Ep.15
  • เปรียบเทียบกฎหมายไทย
หลักกฎหมายเรื่อง “ความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล” หลักนี้ใช้ทั้งในกฎหมายอาญาและกฎหมายแพ่ง โดยพิจารณาจากการกระทำและผลนั้นมีความสัมพันธ์กันหรือไม่ หากการกระทำและผลมีความสัมพันธ์กันในลักษณะที่เป็นผลโดยตรง ผู้กระทำย่อมต้องรับผิดในผลที่เกิดขึ้นตามทฤษฎีเงื่อนไขหรือทฤษฎีผลโดยตรง แต่ถ้าผลนั้นทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น เกิดจากเหตุแทรกแซง ต้องนำทฤษฎีเหตุที่เหมาะสมมาประกอบการวินิจฉัย
Ep.16
  • เปรียบเทียบกฎหมายไทย
เรื่องการดำเนินคดีแบบกลุ่ม กฎหมายของไทยถูกบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 222/1 ถึงมาตรา 222/49 ซึ่งเป็นการดำเนินคดีที่ศาลอนุญาตให้เสนอคำฟ้องต่อศาล เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาแสดงสิทธิของโจทก์และสมาชิกกลุ่ม

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา