18 ส.ค. 2022 เวลา 01:18 • ปรัชญา
“ความสุขในโลกๆ มันเจือความวุ่นวายอยู่เสมอ”
“ … อยากได้ความสุขหรืออยากพ้นทุกข์
หลวงพ่อสอนกรรมฐานมา 30 กว่าปีแล้ว ตั้งแต่เป็นโยม คนที่มาเรียนด้วยก็เยอะ นับจำนวนไม่ถูกแล้ว ก็เห็นแต่ละคนที่เข้ามาศึกษามาปฏิบัติธรรม มีความต้องการที่แตกต่างกัน
ส่วนใหญ่ก็ปรารถนาความสุข น้อยคนที่จะปรารถนาความพ้นทุกข์
ปรารถนาความสุขก็พยายามทำความดีทั้งหลาย
ทำทาน ถือศีล มีงานบุญงานอะไรก็ไปตลอดเลย
ถามว่าดีไหม ก็ดี
เข้าพรรษาก็แห่เทียน ออกพรรษาก็มีงานโน้นงานนี้
หล่อพระ สร้างโน้นสร้างนี้
สิ่งที่ปรารถนาส่วนใหญ่ก็คือความสุข
เพราะการทำบุญ บุญเป็นชื่อของความสุข
ทำบุญแล้วก็มีความสุข
ส่วนใหญ่ก็มุ่งไปที่ตัวความสุข
1
อย่างไปหล่อพระ สร้างพระพุทธรูป หวังว่าคนมากราบมาไหว้เราก็จะได้บุญไปเรื่อยๆ ออกดอกออกผลนับภพนับชาติไม่ถ้วน
ตั้งความปรารถนาอยากได้รับบุญเยอะๆ มีความสุขนับภพนับชาติไม่ถ้วน ภพชาติมันก็ไม่จบหรอก มันก็ได้อย่างที่เราทำเหตุนั่นล่ะ
ถ้าเราตั้งความปรารถนาจะมีความสุข ทำบุญไป
ลองไปดูเรื่องบุญมี 10 ข้อ
ใน 10 ข้อนั้นเลือกทำไปเถอะ ผลที่ได้คือความสุข
คนที่ภาวนาแล้วปรารถนาความพ้นทุกข์มีน้อยจริงๆ ส่วนมากจะขอเวียนว่ายตายเกิดอย่างมีความสุขไปอีกนานๆ
คนที่ปรารถนาจะพ้นทุกข์พ้นการเวียนว่ายตายเกิดมีน้อย
ฉะนั้นมันไม่แปลกหรอก ทำไมคนทำทาน ถือศีล ทำบุญอะไรต่ออะไรมีจำนวนมาก แต่คนซึ่งจะบรรลุมรรคผลมีจำนวนน้อย
เราก็เลือกเอาเราต้องการอะไร
ต้องการเวียนว่ายตายเกิดอย่างมีความสุข
เราก็ทำบุญไป
ต้องการสิ่งที่สูงกว่านั้นคือความพ้นทุกข์
ก็เจริญศีล สมาธิ ปัญญา ต้องทำ
มันจะตัดภพตัดชาติของเราให้สั้นลงๆ
โลกไม่มีสาระ
คนส่วนใหญ่มองไม่เห็นว่า การที่เราเวียนว่ายตายเกิดไปแต่ละครั้งๆ ไม่มีสาระแก่นสารหรอก มีแต่ความทุกข์ มองไม่เห็นตัวนี้
มันจะหิวความสุขดิ้นรนอยากได้ความสุข
คนโง่ไปทำเหตุของความทุกข์ มันไปปล้น ไปฆ่า
ไปเบียดเบียนผู้อื่น ก็หวังมีความสุข
คนฉลาดขึ้นมาหน่อยก็ทำบุญ ทำทาน
ทำสาธารณประโยชน์ต่างๆ
อันนี้เขาจะมีความสุข
ตั้งแต่เขาเริ่มคิดจะทำก็มีความสุขแล้ว
อย่างเวลาเราคิดจะทำดี
แค่เริ่มคิดว่าวางแผนจะไปทำก็มีความสุขได้
ระหว่างทำก็มีความสุข
ทำเสร็จแล้วนึกถึงทีไรก็มีความสุข
อันนี้คนมีปัญญาระดับหนึ่งแล้ว
แล้วคนโง่คิดว่าไปปล้นเขาได้ ไปข่มขืนเขาได้ มีความสุข มันทุกข์ตั้งแต่เริ่มคิดชั่วแล้ว จิตใจมันเร่าร้อน
ตอนไปทำชั่วมันก็ทุกข์แต่มองไม่เห็น ไม่มีปัญญาจะเห็น
ทำไปแล้วก็ทุกข์ก็ไม่เห็นอีก ไม่มีปัญญาจะเห็น
คิดว่าตำรวจไม่จับ จับไม่ได้ ไม่ทุกข์
คนในโลกมีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับมืดบอด
ระดับที่สูงขึ้นมาก็พยายามทำความดีทั้งหลาย
ทำบุญทั้งหลาย สิ่งที่ได้ก็คือความสุข
ถ้าเรามีสติมีปัญญาจริง
เราจะเห็นโลกนี้ไม่ได้มีความสุขจริง โลกนี้มันทุกข์
อย่างเรารู้สึกตอนเราเด็กๆ มีความสุข
ตอนเด็กๆ เคยรู้สึกอยากโตขึ้นไหม
ตอนเด็กรู้สึกไม่มีอิสระ
อยากกินขนมยังต้องขอสตางค์พ่อแม่
เขาให้บ้างไม่ให้บ้าง ไม่ได้พึ่งตัวเอง ไม่มีความสุข
โตขึ้นมาก็ไปเรียนหนังสือ
ตอนเรียนหนังสือคนจำนวนมากเลยก็หวัง
เรียนจบแล้วคงมีความสุข
เรียนหนังสือแล้วมันเครียดตลอด
พอเรียนจบก็ทำงาน
กะว่าถ้าได้เงินเยอะๆ ได้ตำแหน่งดีๆ แล้วจะมีความสุข
ตรงที่หาเงินเยอะๆ หาตำแหน่งดีๆ
ก็ตีกับคนอื่นแทบตาย แย่งชิง
บางคนเรียนหนังสือมาด้วยกัน เป็นเพื่อนรักกัน
พอโตขึ้นมาทำงานก็แย่งตำแหน่งกัน ไม่มองหน้ากัน
หรือแย่งผู้หญิงกัน แย่งผู้ชายกัน
เพื่อนรักกันก็ไม่รักแล้ว
ความสุขในโลกๆ มันเจือความวุ่นวายอยู่เสมอ
บางทีทำงานกะว่าต้องเก็บเงินไว้สักก้อนหนึ่ง
หรือซื้อทรัพย์สินอะไรไว้ ยุคนี้เขานิยมไปซื้อที่ดิน
กะว่าทำงานสักช่วงหนึ่งแล้วจะไปทำไร่ทำนา
หาความสุขของตัวเอง
เพราะรู้สึกว่าชีวิตของคนเมืองมันวุ่นวายเหลือเกิน
ปัจจุบันก็เลยทุกข์
แล้วก็ฝันถึงความสุขในอนาคต
มันเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่เด็ก
ตอนเด็กๆ ก็ทุกข์ ไม่มีอิสระ ไม่มีเงิน
คิดว่าโตขึ้นแล้วจะดี
พอช่วงเรียนหนังสือก็คิดว่าเรียนจบแล้วจะดี
เรียนจบแล้วก็ทำงาน
คิดว่าได้เงินเยอะๆ ได้ตำแหน่งดีๆ แล้วจะดี
มีชื่อเสียง ทำไปช่วงหนึ่งเหนื่อยมากๆ
คิดว่าถ้า Early Retire ได้ก็จะดี
ทิ้งสังคมเมืองที่วุ่นวาย
ตื่นแต่เช้าก็ตาลีตาเหลือกไปทำงานกัน
กลับมาบ้านดึกๆ ดื่นๆ เหน็ดเหนื่อย
รู้สึกชีวิตในเมืองวุ่นวายเหลือเกิน
คิดว่าไปอยู่บ้านนอกดีกว่า ซื้อที่ซื้ออะไรไว้
คนไม่เคยทำเกษตรนึกว่าง่าย ไม่ง่ายหรอก
ส่วนใหญ่มาเริ่มทำ ส่วนใหญ่ก็เจ๊ง ไปไม่รอด ทุกข์ไปอีก
จนกระทั่งแก่คิดว่าวันหนึ่งจะได้มีความสุข
วันหนึ่งจะได้มีความสุข
หมดวัยทำงานแล้วคิดว่าเราจะได้พักผ่อน
จะได้มีความสุข มันก็ไม่มี
พอหมดวัยทำงาน
มันก็เริ่มเป็นวัยเจ็บป่วยมากขึ้นๆ แล้ว
เงินทองที่ได้ไว้เก็บ อุตส่าห์อดออมไว้
ก็ไปจ่ายค่ายาค่าหมอ ไม่มีความสุขอีกแล้ว
จนกระทั่งเจ็บมากๆ อยากตาย
หลวงพ่อเคยเห็นนะอยากตาย เมื่อไหร่จะตายเสียทีๆ
เพราะว่าชีวิตมันทุกข์เหลือเกิน
พอตายแล้วจะมีความสุข
คนในโลกน่าสงสารจริงๆ
ดิ้นรนแสวงหาความสุขแล้วก็ไม่เคยได้
คิดว่าถ้ามีอย่างนี้ ถ้าเป็นอย่างนี้
ถ้าไม่มีอย่างนี้ ถ้าไม่เป็นอย่างนี้แล้วจะสุข
แล้วไม่ได้อย่างที่ตั้งใจหรอก
บางคนเขาก็บอกกัน บอกว่าตอนเด็กๆ มีเวลา
มีเวลาว่างๆ มีเวลาไปวิ่งไปเล่น สุขภาพก็แข็งแรง
แต่ไม่มีเงิน
ตอนวัยทำงานเริ่มมีเงินแล้ว สุขภาพก็ยังดี แต่ไม่มีเวลา
พอแก่ลงมามีเวลาแล้ว ว่างๆ ไม่ได้ทำอะไรแล้ว
เงินทองบางทีก็เก็บเอาไว้ มีเงินแต่ไม่มีกำลัง
ชีวิตตั้งแต่เด็กจนแก่ มันมีแต่ความขาดตลอด
ไม่มีความสุขหรอก
ยิ่งถึงจุดที่ต้องพึ่งพาคนอื่น ยิ่งลำบากมากเลย
มีคนเขาเปรียบเทียบก็น่าฟังดี เป็นคำเปรียบเทียบ
บอกคนอายุราวๆ 50 ปีลูกหลานต้องการตัว
เพราะกำลังแข็งแรงมีรายได้ดี มีชื่อเสียง มีกำลัง
ลูกหลานก็แย่งกันเปรียบเหมือนลูกบาสเกตบอล
แย่งกันแทบเป็นแทบตาย พยายามยึดครองไว้ไม่ปล่อย
พออายุ 60 ปีเริ่มหมดกำลังลงแล้ว แต่ยังมีเงินอยู่
ลูกหลานก็พยายามเลี้ยงเอาไว้
บอกเหมือนลูกวอลเลย์บอล
ดีดกันอยู่อย่างนั้นไม่ยอมตีกันไปง่ายๆ
พอถึงอายุ 70 ปีมันเป็นภาระของคนอื่นแล้ว
บอกเปรียบเหมือนลูกฟุตบอล
ถ้าวิ่งมาข้างเรา เราก็เตะออกไปให้ไกลๆ
พอแก่ๆ แล้วลูกหลานก็อยากเตะไปไกลๆ
พอถึง 80 ปีเขาบอกเหมือนลูกกอล์ฟ
ถ้าหวดทีหนึ่งไปไกลๆ ได้ก็ดี
แล้วถ้าหวดทีเดียวลงหลุมได้ยิ่งสุดยอดเลย โฮลอินวัน
ในโลกดูไปเถอะ หาความสุขหาความสงบอะไรไม่ได้จริงหรอก ยิ่งถ้าต้องพึ่งคนอื่นยิ่งลำบาก
ผู้มีปัญญาก็จะเห็นชีวิตในโลกไม่เห็นจะดีตรงไหนเลย
แย่งชิงกันทุกสิ่งทุกอย่าง
มันจะต่างอะไรกับสัตว์เดรัจฉาน
พวกสัตว์มันก็แย่งพื้นที่กัน
แย่งอาหารกัน แย่งตัวเมีย ก็สู้กัน แย่งชิงกันอุตลุดเลย
สุดท้ายก็ว่างเปล่า
ทุกสิ่งที่เราแย่งชิงมาได้ สุดท้ายมันก็ว่างเปล่าจริงๆ
เราเอาอะไรไว้ไม่ได้สักอย่างหนึ่ง
ฉะนั้นอยู่กับโลก ถ้าเรายังรักที่จะอยู่กับโลก
ก็พยายามทำความดีเท่าที่ทำได้
อย่าทำความดีจนทุกข์
บางคนมีเงินเท่าไรเอาไปให้พระหมด ให้วัดหมด
หวังว่าชาติหน้าจะรวย
มันจนตั้งแต่ชาตินี้แล้ว
บางคนทำบุญจนไม่มีจะกิน ไม่มีบ้านจะอยู่
อันนั้นโง่ เข้าขั้นโง่เลย
ฉะนั้นทำบุญทำอะไร มีโอกาสทำก็ทำ
ทำแบบรู้จักประมาณตัว พอดี
รู้จักคำว่าพอดี ชีวิตก็จะทุกข์น้อยหน่อย
ไม่รู้จักคำว่าพอดีทุกข์แน่นอน
กระทั่งทำดี ทำบุญก็ต้องรู้จักคำว่าพอดี
แต่ถ้าเราเห็นว่าโลกไม่มีสาระ
เราอยากพ้นโลกจริงๆ เราลงมือปฏิบัติธรรม
การปฏิบัติธรรมคือการศึกษาตัวเอง เรียนรู้ตัวเอง
เบื้องต้นก็พยายามศึกษาตัวเอง ไม่ใช่ศึกษาคนอื่น
ดูตัวเองไม่ใช่ดูคนอื่น
ถ้าคิดจะปฏิบัติแล้วก็คอยดูคนอื่น ไปไม่รอดหรอก
สนใจ อย่างมาบวชคนอื่นเขาจะทำอะไร
ใครเขาจะขยับซ้ายขยับขวาอะไรรู้หมดเลย
ความชั่วของตัวเองมองไม่เห็น อย่างนี้ล้มเหลว …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
13 สิงหาคม 2565
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา