18 ส.ค. 2022 เวลา 14:58 • ไลฟ์สไตล์
“ถ้าเราต้องการความพ้นทุกข์
เรียนรู้ตัวเองจนเข้าใจตัวเอง
จนปล่อยวางตัวเองได้”
" … ถ้าเราอยากพ้นทุกข์จริงๆ
เราเรียนรู้ตัวเอง เราดูตัวเองไว้
สนใจโลกข้างนอกเท่าที่จำเป็น
ให้มันเด็ดเดี่ยวลงไปที่จะเรียนรู้ตัวเอง
การเรียนรู้ตัวเอง
ก็คือการมีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง
ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง คอยรู้ลงไปเรื่อยๆ
ร่างกายเราเคลื่อนไหวอย่างไรคอยรู้สึก
หรือหน้าตาเรามันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ
เวลามีความสุขหน้าตาเราก็เป็นแบบหนึ่ง มันรู้ด้วยใจ
ไม่ต้องไปดูกระจกหรอก
เวลาโกรธหน้าตาน่าเกลียด
เวลาหื่นมีราคะรุนแรงหน้าตาน่าเกลียด
เวลาหลงหน้าตาก็น่าเกลียด
เราคอยดูหน้าตัวเอง คอยระลึกถึงหน้าของตัวเอง
เราจะเห็นเลยทุกคราวที่มีกิเลสเกิดขึ้น
หน้าตาเราน่าเกลียด
อย่างเวลาเราโกรธหน้าตาเหมือนยักษ์ เหมือนมาร
ดูไม่ได้เลย
เวลาเรามีราคะหน้าตาเราก็เป็นพวกเปรต ดูไม่ได้
เวลาเราหลงเราก็คล้ายๆ เดรัจฉาน
เผลอๆ เพลินๆ หลงๆ ไป
คอยรู้สึกหน้าตัวเอง ตอนเผลอๆ เพลินๆ
นึกถึงหน้าตัวเองปุ๊บ เหมือนหน้าหมาเลย
หมามันชอบหลงๆ เหม่อๆ เพลินๆ ไป รู้สึก
รู้สึกร่างกายตัวเองเคลื่อนไหว รู้สึก
นั่งอยู่ รู้สึก ยืนอยู่ รู้สึก เดินอยู่ รู้สึก นอนอยู่ รู้สึกไป
เรารู้สึกไม่ใช่คิด
ถ้าเจริญปัญญาจริงๆ ในขั้นเจริญวิปัสสนาจริงๆ
รู้สึกเอาไม่ใช่คิดเอา
ความรู้สึกสำคัญกว่าความคิด
เพราะฉะนั้นเราคอยรู้สึกในร่างกาย
ร่างกายยิ้ม รู้สึก ร่างกายหน้าบึ้ง รู้สึก
ร่างกายเฉยๆ หายใจออก รู้สึก
ร่างกายหายใจเข้า รู้สึก คอยรู้สึกมันไป
การเรียนรู้ตัวเองไม่ใช่นั่งพากย์ นั่งบรรยาย
ตัวเรามีระบบประสาทอย่างนี้ มีเส้นโลหิตอย่างนี้
มีกล้ามเนื้ออย่างนี้ มีกระดูกอย่างนี้ๆ
อันนั้นเอาไว้ให้นักเรียนแพทย์เขาเรียน
นักกรรมฐานไม่ต้องเรียนอย่างนั้น
รู้สึกลงมาในร่างกายนี้เลย
ร่างกายนี้นั่งอยู่ ร่างกายนี้เดินอยู่ ร่างกายนี้นอนอยู่
ร่างกายนี้เคลื่อนไหว ร่างกายนี้หยุดนิ่ง
ร่างกายนี้กำลังยิ้ม ร่างกายนี้ทำหน้าบึ้ง
ร่างกายหันซ้ายแลขวา คอยรู้สึกๆ ไป
รู้สึกถึงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของร่างกายไป
นี่ล่ะเป็นวิธีที่จะเรียนรู้ร่างกายตัวเอง
ส่วนการเรียนรู้จิตใจตัวเองก็ใช้ความรู้สึกอีกล่ะ
จิตใจเรามีความรู้สึกอะไร รู้ทันมันไปเรื่อยๆ
จิตใจรู้สึกสุขก็รู้ทัน จิตใจรู้สึกทุกข์ก็รู้ทัน
จิตใจโลภ โกรธ หลง ฟุ้งซ่าน หดหู่ ก็รู้ทัน
จิตเป็นกุศลก็รู้ทัน คอยรู้ไปเรื่อยๆ
เป็นความรู้สึกโกรธเกิดขึ้น
เราก็รู้ว่ามีความโกรธเกิดขึ้น
ความรู้สึกโลภเกิดขึ้นเรารู้ทัน ตอนนี้มันรู้สึกโลภแล้ว
ก็จะเห็นความโลภมันเกิดขึ้นมา เรียนรู้ไปเรื่อยๆ
การที่เราเรียนรู้กาย สุดท้ายเราจะเข้าใจกาย
การที่เราเรียนรู้จิต
จิตมีความรู้สึกนึกคิดพิสดารมากมาย
เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ทุกคราวที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์นั้น
จิตก็มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น
สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ดีบ้าง ร้ายบ้าง
เรามีสติรู้ไปเรื่อยๆ
พอเรารู้มากๆ ต่อไปเราก็เข้าใจจิต
รู้กายก็เข้าใจกาย รู้จิตก็เข้าใจจิต
การเรียนรู้ตัวเอง
เริ่มจากคอยสนใจดูกายดูใจของตัวเอง
ไม่ไปดูคนอื่นหรอก ดูตัวเอง
พอดูเนืองๆ ดูบ่อยๆ
ต่อไปก็เกิดความรู้ถูก ความเข้าใจถูก
ร่างกายเหมือนหุ่นยนต์ตัวหนึ่งเท่านั้นเอง
เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปเหมือนเครื่องจักร
เครื่องจักรอันนี้ตอนเครื่องจักรยังใหม่ๆ ก็แข็งแรง มีกำลังมาก พอเครื่องจักรนี้เก่าลงกำลังมันก็ตกลง เหมือนเครื่องยนต์เก่าๆ แล้วกว่าจะสตาร์ตได้ก็ลำบาก
เหมือนร่างกายเราตอนเด็กๆ
นึกจะไปไหนก็ลุกพรวดพราดวิ่งอ้าวไปเลย
เครื่องยนต์มันยังใหม่
พออายุเยอะๆ เครื่องยนต์มันเก่า
กว่าจะติดเครื่องได้ไม่ใช่ง่าย
นอนอยู่จะลุกขึ้นนั่ง จะลุกขึ้นเดิน ก็ต้องเว้นระยะ
ต้องมีเวลา ลุกขึ้นนั่งแล้วลุกพรวดพราดไปเลย
จากนอนแล้วลุกพรวดแล้วก็เดินเลย หัวทิ่มเลย
เครื่องยนต์มันสำลักแล้ว เดี๋ยวก็เครื่องดับหัวทิ่มดินไป
ฉะนั้นร่างกายจริงๆ เหมือนเครื่องจักรเท่านั้นเอง เครื่องจักรยังใหม่ๆ ก็ทำงานคล่องแคล่ว
ใช้งานไปนานๆ ชำรุดทรุดโทรม
บางทีก็ต้องเปลี่ยนมีอะไหล่มาเปลี่ยน
แต่เดิมก็มีเรื่องเปลี่ยนเลนส์ลูกตา
เป็นต้อกระจกเปลี่ยน เปลี่ยนของง่ายๆ ก่อน
หลังๆ ก็มาเปลี่ยนหัวใจ เปลี่ยนโน้น เปลี่ยนนี้
เปลี่ยนได้เยอะขึ้น
คล้ายๆ เครื่องยนต์นี้ทรุดโทรมมากแล้ว
ก็ไปซื้ออะไหล่มือสองมา เอามาใส่แทน
อะไหล่ใหม่หาไม่ได้ ซื้ออะไหล่มือสองมา
ไปซื้อเครื่องยนต์เก่าๆ จากญี่ปุ่นมา
เอามาเปลี่ยนในเครื่องจักรของเราซึ่งมันเก่ากว่า
ก็เหมือนเรารอบริจาคร่างกาย
อวัยวะต่างๆ เป็นของมือสองทั้งนั้น
บริจาคดวงตา ที่เราได้มามันก็ดวงตามือสอง
คนอื่นเขาใช้มาก่อน
บริจาคหัวใจก็หัวใจมือสอง คนอื่นเขาก็ใช้มาก่อน
คล้ายๆ จะต้องซ่อมเครื่องยนต์อันนี้
คือร่างกายนี้ต้องซ่อมแล้ว
ถึงขนาดต้องเปลี่ยนอะไหล่แล้ว
พอมีอะไหล่เก่าๆ ก็มาใส่ไปก่อน พอทนอยู่ได้อีกช่วงหนึ่ง
สุดท้ายไม่รู้จะเปลี่ยนอะไร เปลี่ยนไปหมดแล้ว
สุดท้ายก็ต้องเปลี่ยนภพ
เครื่องจักรพัง เข้าไปเป็นเศษเหล็ก
เป็นเครื่องจักรก็เป็นเศษเหล็ก
เอาไปหลอมมาใหม่
เปลี่ยนร่างกายเราตายก็กลับเป็นธาตุเอาไปฝังดิน
ต้นไม้ก็มากินไป สัตว์ก็มากินต้นไม้
คนก็มากินสัตว์
แล้วกลับมาเป็นเนื้อเป็นหนังของคนอื่นต่อ
ที่แย่งกันแทบเป็นแทบตาย สุดท้ายก็ว่างเปล่า
ไม่มีสาระ ไม่มีแก่นสารอะไรหรอก
เพราะฉะนั้นร่างกายจริงๆ
ถ้าเราเรียนรู้กายไปเรื่อยๆ เราจะรู้
ร่างกายไม่มีสาระแก่นสาร
ร่างกายนี้ไม่เที่ยง
ร่างกายนี้ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา
ด้วยความหิว ด้วยความกระหาย
ด้วยความหนาว ด้วยความร้อน
ด้วยความเจ็บไข้ได้ป่วย
ถูกบีบคั้นตลอดเวลา
ร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวตนอะไรที่แท้จริง
เหมือนเครื่องจักรตัวหนึ่งเท่านั้นเอง
เครื่องจักรวันหนึ่งนี้ก็ต้องพังไป
ชนะตัวเองก็คือชนะความไม่รู้
การที่เราเรียนรู้ร่างกายมากๆ
เราก็เข้าใจความจริงของร่างกาย
มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา
การที่เราคอยเห็นจิตเนืองๆ เห็นจิตมันทำงานบ่อยๆ
ต่อไปเราก็เข้าใจจิต
จิตนี้เดี๋ยวก็สุข จิตนี้เดี๋ยวก็ทุกข์
จิตนี้เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็โลภ เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็หลง
เดี๋ยวก็ฟุ้งซ่าน เดี๋ยวก็หดหู่
จิตใจนี้ไม่มีความแน่นอน เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
สั่งให้ดีก็ไม่ได้ สั่งให้สุขก็ไม่ได้
ห้ามชั่วก็ไม่ได้ ห้ามทุกข์ก็ไม่ได้
เรียนรู้จิตใจ รู้ทัน ความรู้สึกอะไรเกิดก็รู้ไป
สุดท้ายก็เข้าใจ
จิตใจนี้เต็มไปด้วยความไม่เที่ยง
จิตใจนี้ทนอยู่ไม่ได้ในภาวะอันใดอันหนึ่ง
จิตใจนี้ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา สั่งไม่ได้
อันนี้เราเรียนรู้ตัวเองจนเราเข้าใจตัวเอง
สุดท้ายเราก็ปล่อยวางตัวเอง
ดูกายจะเห็นความจริง
ไม่เห็นมีสาระแก่นสารเลยก็วางกาย
ดูจิตไปเรื่อยก็เห็นจิตนี้ไม่มีสาระแก่นสารเลย
ก็วางจิตได้
วางกายได้แล้วก็ไม่ทุกข์เพราะกายแล้ว
กายมันทุกข์อยู่โดยตัวของมันเอง
เพราะมันเป็นวัตถุ เป็นรูปธรรมก็ตกอยู่ใต้กองทุกข์
แต่จิตที่มันวางกายนั้นมันไม่ทุกข์ไปกับกาย
กายมันทุกข์ไปจิตมันไม่ทุกข์ด้วย
ถ้าเราวางจิตได้ เราก็ไม่ทุกข์
จะกระทบอารมณ์ที่ดี กระทบอารมณ์ที่ไม่ดี
จิตใจก็ไม่กระเพื่อมหวั่นไหว ไม่ทุกข์ไปด้วย
ฉะนั้นถ้าเราต้องการความพ้นทุกข์
เรียนรู้ตัวเองจนเข้าใจตัวเอง
จนปล่อยวางตัวเองได้
ถ้าไม่สนใจเรียนรู้ตัวเองคอยแต่ดูคนอื่นเขา
ใครเขาจะทำอะไร ใครเขาจะหันซ้ายหันขวา
ใครเขาจะมองหน้า อุบาทว์มากเลย
โง่ โง่อย่างแรงเลย
เรียนรู้ตัวเองไม่ใช่ไปดูคนอื่น
แล้วเห็นความจริงของกายของใจตัวเอง
ไม่ใช่หลงโลก เพลิดเพลินแล้ว
กายนี้ดีเหลือเกิน จิตใจของเรานี้ดีเหลือเกิน
เรียนรู้ลงไป สุดท้ายมันถึงจะวางได้
ตรงที่เราสามารถวางความยึดถือในกายในใจได้
เราชนะแล้ว ชนะความโง่ของเราเอง
ชนะความหลงผิดของเราเอง
ชนะกิเลส ชนะความปรุงแต่งทั้งปวง
ชนะตัวเองไม่ใช่ชนะคนอื่น
พระพุทธเจ้าท่านก็สอน
“ชนะตัวเองเป็นเลิศ ชนะคนอื่นก่อเวร”
อย่างเราชนะคนนี้เขา เราก่อเวรทำให้เขาเจ็บช้ำ
เขาก็เกลียดเรา เขาก็อาฆาตเรา
เราชนะตัวเองได้ โดยเฉพาะการเอาชนะกิเลส
ชนะความฟุ้งซ่านปรุงแต่ง
ชนะความหลงผิดของตัวเอง
ก็วางความยึดถือในกายในใจได้
นั่นคือชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาวพุทธเรา
ฉะนั้นอย่างถ้าเราลงมือปฏิบัติ
เราไม่ได้คิดที่จะเอาชนะกิเลสตัวเอง ชนะความโง่ของเราเอง
ปฏิบัติแล้วหวังว่าจะถูกหวย จะเฮง
จะอย่างโน้นจะอย่างนี้ ยังอ่อนนัก
ยังเวียนว่ายตายเกิดอีกนาน
ลองวัดใจเราดูด้วยความซื่อสัตย์ วัดใจตัวเองดู
ขณะนี้ในชีวิตเรา
เราอยากชนะตัวเองหรือเราอยากชนะคนอื่นอยู่
ซื่อสัตย์ในการประเมินตัวเองดู
ถ้าเรายังคิดจะชนะคนอื่น
โอกาสที่จะเกิดมรรคเกิดผลอะไร ยังไม่เกิดหรอก
เพราะอยากชนะคนอื่นแล้วก็จะสนใจคนอื่น
ดูแต่คนอื่นว่าเขาทำอะไร
ไม่ได้เรียนรู้กายรู้ใจตัวเอง
แล้วมันจะวางกายวางใจตัวเองได้อย่างไร
ฉะนั้นเราดูตัวเองเลย บางคนบอก
โอ๊ย ภาวนามา 10 ปี 20 ปีแล้ว ทำไมมันไม่ได้ผล
ทำไมคนอื่นเขาภาวนา 7 วัน 7 เดือนเขาได้ผลแล้ว
1
เพราะความมุ่งหมายไม่เหมือนกัน
ความมุ่งหมายที่ต่างกันก็ทำให้เกิดการกระทำที่ต่างกัน
การกระทำที่ต่างกันก็ทำให้เกิดผลของการกระทำแตกต่างกัน
เพราะความมุ่งหมายที่อยากอยู่กับโลกอย่างมีความสุข
ก็เกิดการกระทำ ทำบุญ
ผลก็มีความสุขอย่างโลกๆ ชั่วครั้งชั่วคราว
อยากมีความสุขแต่ทำชั่วทำบาป ก็มีผลเป็นความทุกข์
อยากชนะกิเลส อยากชนะตัวเอง
ชนะความโง่ของตัวเอง ไม่ใช่ชนะเรื่องอื่นหรอก
บางคนบอกชนะตัวเองเป็นอย่างไร
เช่น อยากกินข้าวแล้วไม่กินนี้ชนะตัวเอง ไม่ใช่
อยากนอนแล้วก็ไม่นอน ไม่ใช่
ชนะตัวเองก็คือชนะความไม่รู้
ชนะความโง่ของตัวเอง
เป็นชัยชนะที่สำคัญที่สุด
ถ้ามีความอยากแล้วก็ต่อต้าน เก็บกด
แล้วบอกชนะแล้ว อันนั้นไม่ใช่วิธีของพุทธ
ในลัทธิศาสนาอื่นเขาก็มี
เขาทรมานร่างกายเจ็บปวดแสนสาหัส
บางคนทรมานหนักจริงๆ จนพิกลพิการเลย
หลวงพ่อเคยไปอินเดียครั้งหนึ่ง
เห็นพวกเขาบำเพ็ญตบะ บางคนเขาชูมืออย่างนี้
ชูอยู่อย่างนั้นทั้งวันทั้งคืน ไม่เอามือลงเลย
เขาชนะใจตัวเองแล้ว ไม่เอามือลง
แขนลีบเลย มือพิการ
ได้อะไรขึ้นมา ไม่ได้ปัญญาอะไรเลย
ไม่ได้ความพ้นทุกข์อะไรเลย
เพราะฉะนั้นการชนะตัวเองไม่ใช่การทรมานตัวเอง
บอกแล้วว่าจะชนะตัวเองก็คือต้องเข้าใจตัวเอง
จะเข้าใจตัวเองก็เกิดจากการเรียนรู้ตัวเอง
รู้กายรู้ใจอย่างที่มันเป็นไปเรื่อยๆ แล้วจะเข้าใจมัน
1
ถ้าเข้าใจมันก็ปล่อยวาง
ตรงที่วางได้นั่นล่ะเราชนะแล้ว
วางได้คือชัยชนะ
ช่วงชิงมาได้ไม่ใช่ชัยชนะในทางธรรมที่แท้จริงหรอก …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
13 สิงหาคม 2565
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา