19 ส.ค. 2022 เวลา 08:24 • ไลฟ์สไตล์
“สำรวจตัวเองไปต้องการแค่ไหน
ต้องการอยู่กับโลกก็ทำความดีไป
ต้องการพ้นโลกก็เห็นความจริงไป
ความจริงของกายใจ”
“ … วางได้แล้วถึงจะชนะ
ในอรรถกถามีเรื่องอยู่เรื่องหนึ่ง พระสมัยก่อนชอบมากเลยชอบเล่า เพราะบางทีมีผลประโยชน์แฝง บอกมีวันหนึ่งพระพุทธเจ้าท่านเทศน์ ก็มีพราหมณ์ยากจนคนหนึ่ง แกจนมากบ้านนี้ มีผ้านุ่งกับเมียมีคนละผืนเท่านั้น
ส่วนผ้าห่ม สังเกตไหมแขกเขาจะมีผ้าห่ม ในบ้านมีอยู่ผืนเดียว เพราะฉะนั้นถ้าสามีจะออกจากบ้าน เมียต้องอยู่บ้าน ถ้าเมียจะออกจากบ้าน ตัวผัวมันก็ต้องอยู่บ้าน มีผ้าคลุมไหล่ผ้าคลุมตัวนี้ผืนเดียว
วันหนึ่งตาผัวอยากฟังเทศน์ก็ห่มผ้าไป ตอนเย็นๆ พระพุทธเจ้าท่านจะเทศน์ ปกติท่านก็เทศน์ไปช่วงหนึ่งแล้ว พอดึกๆ ท่านก็เลิก ให้คนกลับบ้านไปไม่ดึกมากหรอก
แต่วันนั้นท่านพิเศษท่านเทศน์ไม่เลิก เพราะตาคนนี้อยู่ในข่ายที่ท่านจะโปรดแล้ว ท่านก็ทนเทศน์ตั้งแต่หัวค่ำ เทศน์ไปจนจะสว่างเลย ไม่เลิก ตานี้ยังไม่ได้ธรรมะ
ช่วงที่พระพุทธเจ้าเทศน์ พระเจ้าปเสนทิโกศลเพิ่งไปทำสงครามชนะมา กำลังลำพองใจว่ารบชนะมา ข้าศึกแพ้ไปแล้ว ก็มาเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วย คล้ายๆ จะได้มาอวด รบชนะมาแล้ว ก็มานั่งฟังพระพุทธเจ้าเทศน์ด้วย
พระพุทธเจ้าก็เทศน์ๆๆ ไป ตาพราหมณ์นั้นก็ศรัทธา เกิดศรัทธาตั้งแต่หัวค่ำเลย อยากจะหาอะไรเป็นเครื่องบูชา เป็นอามิสบูชาพระพุทธเจ้า ทั้งเนื้อทั้งตัวก็มีแต่ผ้าห่มอยู่ผืนเดียว
คิดไม่ตก ถ้าถวายไปแล้วเดี๋ยวเมียก็จะด่าเอา เมียก็ไม่มีใช้ ตัวเองก็ไม่มีใช้ ก็ลังเลๆ อยู่
ตอนหัวค่ำก็ตัดใจไม่ได้ ตอนดึกก็ตัดใจไม่ได้
ตอนใกล้สว่างศรัทธาแรงกล้าเต็มที่ขึ้นมา
ก็ถวายผ้าได้แล้วก็ร้องตะโกนบอกว่า “ชัยยะๆ ชนะแล้วๆ”
พระเจ้าโกศลฟังแล้วหมั่นไส้ เราต่างหากชนะ เอ็งจะไปรบกับใครแก่ปานนั้นแล้ว จะไปชนะใครได้ พระเจ้าแผ่นดินเพิ่งรบชนะมา ยังไม่ตะโกนเลยว่าชนะแล้วๆ ตานี่ไม่เห็นทำอะไรบอกชนะ ก็ซักเลยว่า “แกชนะอะไร”
ตอบ “ชนะใจตัวเองได้แล้ว” กล้าเสียสละได้แล้ว
ในตำราก็เลยบอก โอ๊ย พระเจ้าโกศลปลาบปลื้มใจ เลยให้ผ้าตั้งหลายผืน
สมัยก่อนพวกพระชอบเทศน์ คนจะได้เอาของมาให้ หลังๆ ไม่ค่อยเทศน์ ไม่ค่อยมีเท่าไรแล้ว พระพุทธเจ้าท่านก็บอก “ชนะตัวเองเลิศที่สุด ดีที่สุด”
ท่านแสดงธรรมถึงจุดนี้ ตาคนนี้แกก็ได้พระโสดาบัน
แกเห็นแล้วตัวแกไม่มีหรอก ชนะตัวเองสูงสุดเลย
คือพบว่าตัวเองไม่มี มีแต่รูปธรรมนามธรรม
นิทานเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงหรือเปล่าไม่รู้
มันไม่ได้อยู่ในตัวพระไตรปิฎก อยู่ในอรรถกถา
แต่ว่าเนื้อหาใจความมันสำคัญ
ก็คือชนะคนอื่นสู้ชนะตัวเองไม่ได้
ชนะตัวเองก็คือชนะกิเลสของตัวเองได้ ดีที่สุด
ฉะนั้นพวกเราเป็นนักสู้ นักปฏิบัติคือนักต่อสู้
ต้องเอาชนะตัวเองให้ได้
วิธีจะชนะคือเรียนรู้ตัวเอง
มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง
ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง
ถ้าทำอย่างนี้ได้เนืองๆ ทำบ่อยๆ
ต่อไปก็จะเข้าใจตัวเอง
รูปนี้ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
จิตนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
นี่เข้าใจแล้ว พอเข้าใจมันก็วาง
ตรงที่วางได้นั่นล่ะคือชัยชนะ
ในโลกต้องได้มาถึงจะชนะ
วิ่งเร็วก็ได้เหรียญทอง เตะบอลเก่งก็ได้เหรียญ ได้ถ้วย
ก็ต้องมีการได้ขึ้นมา
ในทางธรรมของเรานี้วางได้แล้วถึงจะชนะ
วางไม่ได้ยึดเอาไว้ก็ทุกข์นั่นล่ะ
ฉะนั้นเราไปทำบุญ ทำทาน
แล้วก็ปรารถนาขอมีความสุขหลายภพหลายชาติ
มันก็มีความสุข มันสุขอย่างโลกๆ มันสุขเจือทุกข์
แล้ววันหนึ่งพออินทรีย์เราแก่กล้า
เราภาวนาเราย้อนระลึกไป
เราจะพบเลยว่าที่คิดว่าสุขนั้น ที่จริงทุกข์ทั้งนั้นเลย
นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่
นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป
มีแค่นั้นเอง โง่เสียตั้งนานกว่าจะเข้าใจความจริงแล้ววางได้
ของเราก็สำรวจตัวเอง เราต้องการอะไร
บางพวกบ้าบุญ ไม่ใช่พวกอยากพ้นทุกข์หรอก
พวกบ้าบุญพวกนี้อยากมีความสุขนานๆ ก็สุข
สุขโลกๆ สุขเจือทุกข์ไป
อยากพ้นทุกข์จริงก็เรียนรู้ตัวเองไป
เข้าใจตัวเอง ปล่อยวางตัวเองไป
วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ก็พอแล้ว
ไปสำรวจตัวเองว่าจริงๆ ต้องการอะไรแน่
ถ้าเราต้องการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในโลก
เราทำบุญไป แล้วเราหัดภาวนาอย่างที่หลวงพ่อสอนนี่ล่ะ
เพื่ออะไร เพื่อเป็นนิสัย
นิสัยหมายถึงให้ติดอยู่ในกมลสันดาน
ให้ติดฝังอยู่ในใจเรา เคยชินที่จะปฏิบัติไว้
อีกนับภพนับชาติไม่ถ้วน
สิ่งเหล่านี้มันสะสมไปเรื่อยๆ เราจะแก่กล้าขึ้น
แล้วเราจะมีกำลังที่จะภาวนาออกจากโลก
ออกจากทุกข์
ภาวนาเพื่อพ้นทุกข์แล้ว ไม่ใช่เพื่อมีความสุข
ฉะนั้นถ้าเราอินทรีย์แก่กล้า
เราก็ภาวนามุ่งไปสู่ความพ้นทุกข์เลย
เรียนรู้ตัวเอง เข้าใจตัวเอง ปล่อยวางตัวเองไป
อินทรีย์เรายังไม่แก่กล้า
ไม่พร้อมที่จะทำขนาดนั้น ไม่เป็นไร
ทำความดีไว้ ทำบุญอย่างเดียวไม่พอ
มีโอกาสได้ยินธรรมะภาคปฏิบัติแล้ว
ให้ลงมือปฏิบัติด้วย
ไม่ต้องกลัวบรรลุมรรคผลเร็วหรอก
ตั้งใจทำแทบเป็นแทบตายยังไม่บรรลุเลย
ทำเล่นๆๆๆ ทำบ้างหยุดบ้าง
ทำให้เป็นนิสัยให้เคยชินเอาไว้
ชาติต่อๆ ไปจะได้ภาวนาง่าย
ตั้งความหวังไว้อย่างนี้ล่ะ
แล้วทำบุญทำอะไรไว้เยอะๆ
ชาติต่อไปจะได้ไม่ลำบาก ไม่ลำบากไม่ทุกข์มาก
เห็นไหมมีทางให้เราเลือก เรามีอิสระที่จะเลือก
เลือกที่จะเวียนว่ายตายเกิดอย่างมีความสุข ก็ทำไป
แต่ฉลาดหน่อยหนึ่งก็คือหัดภาวนาไว้ด้วย
หัดเจริญสติไว้ด้วย
ถ้ามุ่งไปสู่ความพ้นทุกข์ก็ให้เด็ดเดี่ยวลงมา
ศีล สมาธิ ปัญญา ต้องทำ
เจริญปัญญาก็คือเรียนรู้ตัวเองจนเข้าใจตัวเอง
จนปล่อยวางตัวเองได้ นั่นเป็นผลของปัญญา
พวกเราภาวนา ตั้งอกตั้งใจเข้า
สำรวจตัวเองไปต้องการแค่ไหน
ต้องการอยู่กับโลกก็ทำความดีไป
ต้องการพ้นโลกก็เห็นความจริงไป
ความจริงของกายใจ
เรามีเสรีภาพ ต้องการอะไรแค่ไหนก็ทำเอา
ยุติธรรมมากเลย
ส่วนใหญ่คนในโลกใจไม่เด็ดเดี่ยวพอที่จะพ้นโลกจริง
ยังอาลัยอาวรณ์อยู่
ทำไมอาลัยอาวรณ์ เพราะไม่เห็นทุกข์
ถ้าเห็นโลกนี้ทุกข์ ไม่อาลัยอาวรณ์หรอก
ที่อาลัยอาวรณ์เพราะยังไม่เห็นทุกข์แค่นั้นเอง
เพราะฉะนั้นการไม่เห็นทุกข์คือไม่เห็นธรรม ไม่เห็นอริยสัจ
รู้ทุกข์ก็คือรู้ธรรม รู้อริยสัจได้
ตราบใดที่เราไม่รู้ทุกข์ เราไม่รู้อริยสัจ
เราก็ยังเวียนว่ายตายเกิดไม่เลิก
มีนักปฏิบัติพวกหนึ่งเขาพยายามพิจารณากาย
เป็นปฏิกูลอสุภะอะไร พิจารณาเรื่อยๆ
พิจารณาไปจิตก็ค่อยคลายออกจากราคะ
ในที่สุดจิตไม่มีราคะ
อันนี้ที่เขาพิจารณากายมาเขาจะรู้สึกจิตไม่มีราคะ
ได้พระอนาคามี
แต่วิธีปฏิบัติที่หลวงพ่อสอนให้พวกเราดู
อยากพ้นจากกามก็ต้องเห็นโทษของกาม
เห็นความเป็นไตรลักษณ์ของกาม
ความไม่มีสาระของกาม
อันนั้นถึงจะพ้นจริงๆ
ถ้าเราพิจารณาอสุภะไปเรื่อยๆ เหมือนไม่มีราคะ
แต่มันไม่มีราคะเพราะกำลังของสมาธิ
แต่ถ้าเราเห็นกระทั่งกามราคะอะไร
ที่ในโลกเขาว่าเอร็ดอร่อยนัก
เราเห็นว่ามันคือตัวทุกข์
เห็นจริงๆ ไม่ใช่โมเมคิดเอา มันละของมันเอง
ฉะนั้นหลวงพ่อเคยพูดให้ฟังนานนักหนาแล้ว
ว่าคนที่ดูทางกายแล้วเขาเห็นความไม่มีสาระของกาย
เขาวางกายได้ เป็นพระอนาคามีได้
อันนั้นเห็นทุกข์ของกาย
แต่พวกเราดูจิตเราไม่ได้ดูกายเป็นหลัก
แล้วมันวางกายได้อย่างไร
มันวางกายได้เมื่อจิตมันมีปัญญา
เห็นว่ามีความอยากเกิดขึ้นเมื่อไร มีความทุกข์เกิดขึ้นเมื่อนั้น
ความอยากในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ
เกิดขึ้นที่ใด เกิดขึ้นคราวใด ความทุกข์เกิดขึ้นคราวนั้น
จิตมันจะวางกาม
มันพ้นจากกามเพราะมันรู้แล้ว
กามนี้เป็นตัวทุกข์ไม่ใช่ตัวดี
สายดูจิต อาจจะไม่ข้องแวะไปที่กายเลย
ดูแต่จิตนี่ล่ะแล้วผ่านขั้นที่สามได้
หลวงปู่เทสก์ท่านเคยสอนน้องหลวงพ่อ ไปหาท่านด้วยกัน เขาไปถามท่านว่าทำอย่างไรจะละกามได้ อยากละกามแต่จิตยังอาลัยอาวรณ์อยู่
ท่านก็อุทานเลย “อ้าว อาลัยอาวรณ์มันก็ละไม่ได้สิ ต้องเห็นโทษของกาม”
คือเห็นทุกข์นั่นเอง
ฉะนั้นการเห็นทุกข์มันก็จะละสมุทัยได้
เห็นทุกข์ของกามคุณอารมณ์
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย
มันก็ละความอยากในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้
เห็นทุกข์ของฌานสมาบัติได้
ก็ละรูปราคะ อรูปราคะ ได้
นอกจากการเห็นทุกข์แล้ว ไม่มีทางเลือกทางอื่นหรอก
เส้นทางของอริยสัจนั้นเป็นเส้นทางของการรู้ทุกข์
จนกระทั่งมันละสมุทัยเอง
หลวงพ่อดูจิตมาเรื่อยๆ แล้วก็วันหนึ่งไปถามหลวงปู่ดูลย์ “ผมต้องย้อนไปดูกายไหม”
ท่านบอกว่า “กายเป็นของทิ้ง เมื่อเข้ามาถึงจิตแล้ว ไปเอาอะไรกับกาย กายเป็นของทิ้ง” ท่านว่าอย่างนี้
เราก็ดูมาเรื่อยๆ ในที่สุดเราก็เห็น
จิตมันอยาก อยากอะไร
อยากในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ
อยากทีไรเป็นทุกข์ทุกทีเลย มันเข้าใจอริยสัจขึ้นมาอีก
ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์
แล้วตัวกามคุณอารมณ์ทั้งหลายที่ได้มา
ก็ล้วนแต่ตกอยู่ในความไม่เที่ยง
เราเห็นรูปอย่างนี้ ทีแรกก็จิตยินดี
พอเห็นรูปนี้นานๆ จิตก็ยินร้ายเบื่อแล้ว
ตัวที่ยึดถือมันคือตัวจิต
ถ้ามองเข้ามาเห็นถึงตัวจิต
เห็นความไม่มีสาระแก่นสาร
มันก็แค่อารมณ์อย่างหนึ่งเท่านั้นเอง
จะกามคุณอารมณ์ หรือรูปฌาน อรูปฌาน
มันก็คือตัวอารมณ์
อารมณ์ในกามาวจร
หรืออารมณ์ในรูปาวจร อารมณ์ในอรูปาวจร
ในรูปฌานก็คืออารมณ์
จิตกระทบอารมณ์คราวใด จิตทุกข์ทุกทีเลย
จิตกระทบอารมณ์จิตก็ทุกข์
อารมณ์ในที่นี้ก็คือกามคุณอารมณ์ในกามาวจร
อารมณ์คือรูปฌาน
อารมณ์คืออรูปฌาน
ถ้าจิตไปยินดี ไปพอใจ ไปเกาะเกี่ยว จิตก็ทุกข์เลย
เห็นอย่างนี้มันก็วาง
ถ้าเห็นโทษของการที่จิตไปยึดกาม จิตก็พ้นกาม
เห็นโทษของการที่จิตไปยึดสภาวธรรมอันประณีตทั้งหลาย มันก็วางจิตลงไป
สุดท้ายมันก็วางจิตลงไป
ฉะนั้นนอกจากการเห็นทุกข์แล้ว
ไม่มีทางเลือกทางที่สองหรอก
ก็ต้องเห็นทุกข์จนละสมุทัย
จนกระทั่งแจ้งนิโรธเกิดอริยมรรคขึ้น นี่คือเส้นทาง …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
13 สิงหาคม 2565
1
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา