Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Sara ธรรมะ บทสวดมนต์ จิตวิญญาณ
•
ติดตาม
22 ส.ค. 2022 เวลา 03:52 • หนังสือ
ฉบับที่ 2 : สาเหตุที่ต้องปฏิบัติธรรม ตอนที่ ๒
บันทึกธรรมโดย : พระอาจารย์ชุมพล พลปญฺโญ (พะละปัญโญ)
12 เม.ย.2542
***ขออนุญาตตัดและย่นย่อจับแต่เนื้อความธรรมเท่านั้น****
สาเหตุแห่งความตาย ก็คือความเกิดนั่นเอง
การเกิดก็คือการจับจองป่าช้า
เกิดร้อยตายร้อย เกิดพันตายพัน เกิดหมื่นตายหมื่น
ฉะนั้น ร่างกายนี้ทุกข์แสนเข็ญ ผู้มีปัญญาจักษุ มีธรรมจักษุ
จะเห็นแต่ความทุกข์ในร่างกายนี้ คนโง่เขลาเบาปัญญาเข้าใจว่าสุข
สูทั้งหลาย จงมาดูโลกอันตระการตา ประดุจราชรถที่พวกคนโง่เขลาพากันหมกอยู่ แต่ผู้รู้หาข้องอยู่ไม่
ธรรมสุภาษิต
ร่างกายมันเป็นทุกข์ นอกจากเป็นทุกข์ ยังเป็นอนัตตา ไม่ใช่ของเรา ฝืนความปรารถนา ว่าไม่ฟัง บอกไม่เชื่อ ห้ามไม่ได้
ห้ามไม่ให้เจ็บก็ไม่ได้
ห้ามไม่ให้แก่ก็ไม่ได้
ห้ามไม่ให้ตายก็ไม่ได้
เมื่อบุคคลผู้มีปัญญาได้มองเห็นโทษมานี้
จึงมีศรัทธาคิดออกปฏิบัติ อันนี้ การปฏิบัติธรรม
ธรรมอะไรที่จะช่วยให้เราถอนความยึดมั่นในขันธ์ ๕ ได้
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงทางสายเอก ว่า
"เอกายโน อยํ ภิกฺขเว มคฺโค สตฺตานํ วิสุทฺธิยา"
ทางนี้คือทางสายเอก มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
เห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม
เพื่อจะหลุดพ้น พ้นออก พ้นไป หลุดลอย จากอุปาทาน ความยึดมั่นในขันธ์ ๕ ในฐานกายในกาย เราก็กำหนดที่กายนี้ เมื่อสติแยบคาย จึงเรียกว่าเห็นกายในกาย เมื่อสติยังไม่แยบคาย ก็ถือว่าเราเห็นกาย เรามีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ ไม่ทอดธุระ เราจะเห็นกายในกาย
สติ จำเป็นต้องฝึก มีค่าอย่างยิ่งที่จะทำให้เราพ้นทุกข์ ทุกข์จากกาย
ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็๋นทุกข์
ความโศกเศร้าพิรี้พิไร รำพัน ทุกข์กายทุกข์ใจ คับแค้นใจ พลักพรากจากของรัก
ประสบกับสิ่งที่ไม่รัก ปรารถนาสิ่งใดและไม่ได้สิ่งนั้น เป็นความทุกข์
การเจริญสติให้มาก ให้มีฐานกายในกาย บุคคลจะวางอุเบกขาในการกระทบอารมณ์ตามทวารทั้ง ๖
ความยินดีก็เป็นทุกข์ ความยินร้ายก็เป็นทุกข์
ความยินดีความยินร้าย เป็นอันเดียวกัน
ตรงที่ว่า..............เราอยากจะได้อย่างใจ
ถ้าได้สมใจก็ยินดี เพลิดเพลิน ยึดมั่น กอดรัด ก็ต้องเตรียมตัวเดือดร้อน
เมื่อไม่ได้ดั่งใจก็ทุกข์ โทมนัส เศร้าโศก กระวนกระวาย
รวมความแล้ว ทั้งความยินดียินร้าย ก็คือ
การจะเอาให้ได้อย่างใจ จะเอาให้ได้อย่างใจ
เพราะว่า เข้าใจผิดความจริง ผิดธรรมชาติ ไม่รู้ซึ้งถึงอนัตตา (ความไม่แน่นอน)
ขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา
การที่พูดว่า จะวางอุเบกขา พูดมันง่าย
จะทำอย่างไรจะทำได้
บุคคลนั้นจะต้องสมบูรณ์ด้วยสติ
เมื่อหยั่งสติลงในฐาน ฐานอันเป็นที่ตั้งแห่งสติ
ให้เรามีความเพียร ฟั่นเฝือ อบรม บ่มสติ ตามฐานต่าง ๆ
เริ่มต้นฐานกายในกาย เราต้องชำนาญในฐานกายในกายก่อน
เราต้องฝึกสติสัมปชัญญะในการคู้เข้าเหยียดออก จนมันสามารถปล่อยวางความยึดมั่นในกายได้บางส่วน จากนั้น เราจะแจ่มแจ้งในเรื่องเวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม ในเบื้องต้น เราจะต้องฝึกฐานกายในกายให้มาก
ถ้าจะถามว่า วิธีง่ายที่สุดที่จะบรรลุผลคือยังไง
ก็ต้องบอกว่า ในภาคปฏิบัติที่เราจะดับทุกข์
วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือ วิธีที่ยากที่สุด
วิธีที่ยากที่สุดก็คือ วิธีที่ง่ายที่สุด
หมายความว่า.... บุคคลที่ต้องการแสวงหาวิธีที่ง่ายที่สุด แสดงว่าจิตท้อถอยจากความเพียรซะแล้ว ฉะนั้น เมื่อท้อถอยจากความเพียร
นั่นแหละคือความยากที่สุด
บุคคลที่มีความเพียรไม่ท้อถอย มีความเพียรในการเจริญสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ นั่นแหละจึงจะเจอวิธีที่ง่ายที่สุด
วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือ วิธีที่ยากที่สุด
วิธีที่ยากที่สุดก็คือ วิธีที่ง่ายที่สุด
นั่นก็คือว่า ถ้าอยากพ้นทุกข์ อย่าละความเพียร
ตัวที่จะดับกิเลส คือ ตัวความเพียร
ที่จะเอาสติเอาปัญญามาสู้ เมื่อรู้สึกว่ากิเลสเกิด
กิเลสก็คือ ความยินดียินร้ายในขณะกระทบอารมณ์
ถ้ายินดีมาก ๆ เรียกว่า กามฉันทะ
ยินร้ายมากๆ ก็คือ โทสะ
สำหรับโมหะ ความหลง ก็คือตัวที่ปล่อยให้ความยินดียินร้ายเกิด คือโมหะ
เพราะสติไม่สมบูรณ์ ความเพียรย่อหย่อน ขี้เกียจยกมือ ขี้เกียจเดินจงกรม
อันนี้แหละโมหะ ความหลงมันนั่งอยู่บนหัวท่านผู้ปฏิบัติเหล่านั้น
เราเป็นนักวิปัสสนาต้องเจียมตัวว่า....
กิเลสสามารถขี่หัวเราได้เสมอ เพราะกิเลสมันเข้าทางทวารทั้ง ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อเรารู้ดังนี้ ต้องพยายามสั่งสมสติ สัมปชัญญะ มีความเพียร ไม่ทอดธุระ
ถ้าจะถามว่า
ผู้หมดทุกข์หรือผู้สำเร็จ
ผู้บรรลุจุดสูงสุดของวิปัสสนาคือใคร ?
คือคนประเภทไหน ?
ตอบว่า สูงสุดคืนสู่สามัญ ผู้บรรลุสูงสุดของวิปัสสนาคือ ผู้มีความเพียร เจริญสติ เจริญสัมปชัญญะ เพื่อจะวางอุเบกขาให้ได้ขณะกระทบอารมณ์ ไม่ประมาท เหมือนกับบอกว่า เศรษฐีคือคนประเภทไหน คือคนที่ว่า ทำงานตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ไม่มีเวลาพัก เศรษฐียังทำงานอยู่ พวกทำ ๆ หยุด เป็นพวกจน ๆ ทั้งนั้น
นี่แหละสูงสุดต้องคืนสู่สามัญ และยิ่งปฏิบัตินาน ความเจียมตัว ความถ่อมตัว ต้องมีมากกว่าคนใหม่ ๆ ไม่งั้นเรียกว่า ใช้ไม่ได้ ผิดทาง
ยิ่งปฏิบัติ ยิ่งเย่อหยิ่ง ถือดี เนี้ยแหละผิดทางแล้ว ปฏิบัติผิดแล้ว
ปฏิบัติถูกทางมันต้องลดละ มานะ ทิฏฐิ ประนีประนอม ถ่อมตน ไม่ถือดี ไม่เย่อหยิ่ง มันจะถือดีไม่ได้ เย่อหยิ่งไม่ได้ เพราะญาณปัญญามันลึกซึ้ง ก้องอยู่ในหัวว่า สิ่งทั้งปวงไม่เที่ยง สิ่งทั้งปวงไม่เที่ยงแล้ว จะเอาอะไรไปเป็นที่ตั้งแห่งความเย่อหยิ่ง
เจียมตัวเสมอว่า สังขารขันธ์ ๕ มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เดือดร้อน เป็นอนัตตา
ไม่อยู่ในอำนาจของเรา เราแพ้แล้วที่เกิดมา
ปฏิบัติธรรม
ธรรมชาติบำบัด
พัฒนาตัวเอง
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
เรื่องของธรรมะ
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย