25 ส.ค. 2022 เวลา 06:03 • อาหาร
“ร้านน้ำที่สูญหาย: วิถีวัฒนธรรมใหม่ หรือ ความไว้ใจที่ไม่เหมือนเดิม”
“ร้านน้ำ” ที่พจนานุกรมบอกว่า “น. ร้านที่ตั้งหม้อน้ำดื่มไว้เป็นทาน” ซึ่งก็คือการให้น้ำดื่มแก่ผู้คนโดยไม่คิดมูลค่า (แม้จะหวังบุญกุศล) ทั่วทุกภูมิภาคของไทยเคยมีให้เห็นทั่วไป แต่อาจพบเห็นได้ไม่ง่ายนักในปัจจุบัน เท่าที่เห็นคงเหลืออยู่บ้างแถบภาคเหนือของไทย กับในประเทศเมียนมาที่ยังคงมีอยู่ทุกบ้านเรือนและทุกหัวมุมถนน
หม้อน้ำดื่มในร้านน้ำวัดสีมากัลยานี เมืองหงสาวดี ประเทศเมียนมา 1 เมษายน 2556
ประโยชน์ของร้านน้ำ ที่ประกอบด้วย หม้อน้ำ กระบวย หรือภาชนะตักน้ำวางคู่กันริมทางสำหรับผู้สัญจรดื่มกินดับกระหาย เป็นการแบ่งปันแก่คนเดินทางโดยไม่จำเพาะเจาะจง ไม่จำเป็นต้องรู้จัก ถือเป็นทานอันยิ่งใหญ่ ธรรมเนียมที่เป็นดั่งกฎเกณฑ์ซึ่งสังคมเห็นพ้องกันมาแต่โบราณ ในเมืองไทยวันนี้อาจเป็นเรื่องไม่คุ้นเคย ขณะที่ในสังคมชนบทของเมียนมานั้นมีประจำทุกครัวเรือน ไนักท่องเที่ยวสามารถพบได้ตามข้างรั้ว ใต้ถุน และชานเรือน ที่เจ้าของเตรียมไว้เผื่อแผ่สำหรับผู้สัญจร
“ฮ้านน้ำ” เรือนอนุสารสุนทร มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
“ฮ้านน้ำ” บ้านเวียงป่าเป้า ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ (ภาพ www.panoramio.com)
ทำไม "ร้านน้ำ" จึงหายไปจากสังคมไทย?
จำได้ว่าสมัยเป็นเด็กอยู่บ้านสวน เวลามีแขกไปใครมาหรือแค่เดินผ่าน เจ้าของบ้านต้องรับรองตามธรรมเนียม เรียกให้แวะพักดื่มน้ำ ตักน้ำในตุ่มสักขันส่งให้ดับร้อนจากการเดินทาง หรือเลื่อนเชี่ยนหมากให้กิน ยิ่งหากมีเวลาก็ต้องเลี้ยงข้าวกันสักมื้อ
เรื่องน้ำดื่มนี้คนแก่คนเฒ่าถือมาก ใครไปใครมาก็ต้องกุลีกุจอหาน้ำดื่มรับรอง ไม่ว่าคนบ้านใกล้บ้านไกล เชื้อเชิญให้ดื่ม เพราะการให้น้ำถือเป็นบุญ ตรงข้ามกับการหวงน้ำที่จะเป็นบาปและน่าอาย (ทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรผิด) เชื่อกันว่า คนที่หวงน้ำเมื่อตายไปแล้วจะตกนรก อดอยากหิวโหย ไม่มีแม้แต่น้ำดื่ม
ธรรมเนียมใครถึงเรือนชานต้องต้อนรับ การสร้างอโรคยาศาลา (โรงพยาบาล) หรือที่พักรายทางนี้พบทั่วไปแถบอุษาคเนย์บ้านเรา การแสดงน้ำใจในการต้อนรับนักเดินทางไม่ต่างกัน ในเมืองไทยเราก็มีมาแต่โบราณ เพียงแต่ขาดหายไปภายหลัง ดังนั้นเมื่อพูดถึงธรรมเนียมร้านน้ำในเมืองไทยจึงอาจจะต้องย้อนอดีตไปไกล และในเมืองไทยปัจจุบันก็เหมือนจะเหลืออยู่เฉพาะแถบล้านนา
“ร้านน้ำ” เป็นที่ตั้งวางของ “โอ่งน้ำทาน” หรือ “น้ำต้น” ภาชนะสำหรับบรรจุน้ำ พจนานุกรมแปลคำไทยถิ่นเหนือของอาจารย์เปลื้อง ณ นคร ให้ความหมายว่า “น้ำต้น น. คนโทดินบรรจุน้ำ” ที่เป็นมากกว่าภาชนะบรรจุน้ำดื่ม
วัฒนธรรมร้านน้ำของชาติต่าง ๆ ในอุษาคเนย์
  • คนล้านนาทั่วไป รวมทั้งคนไทใหญ่ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา เรียกภาชนะบรรจุน้ำดื่มลักษณะอ้วนป้อม ช่วงคอสูงชะลูด ด้านข้างแกะสลักลวดลายสวยงามว่า "น้ำต้น"
  • คนล้านนาดั้งเดิมเรียก “น้ำต้นเงี้ยว" เนื่องจากเชื่อกันว่า เป็นงานฝีมือที่สืบทอดมาจากช่างชาวเงี้ยว หรือไทใหญ่ ที่อพยพและถูกกวาดต้อนมาจากเมืองปุและเมืองสาด รัฐฉาน ประเทศเมียนมา ตั้งแต่สมัยพระเจ้ากาวิโรรสสุริยวงศ์ เมื่อราว พ.ศ. 2399 - 2413
  • คนอีสาน และคนลาว เรียกร้านน้ำหรือหม้อน้ำดื่มริมทางลักษณะเดียวกันนี้ว่า “แอ่งดิน” หรือ “แอ่งน้ำ” หรือ “แอ่ง” ด้วยวิถีแบบเดียวกัน
  • คนใต้แถบคาบสมุทรมลายูเรียกว่า “เพล้ง” แขกถึงเรือนชานอย่างน้อยก็ต้องต้อนรับด้วยน้ำดื่มดับกระหาย
  • คนเขมรดั้งเดิมไม่มีวัฒนธรรม "ร้านน้ำ" เนื่องจากความเชื่อเรื่องคุณไสย การปล่อย "ของ" ทว่าเพิ่งมีขึ้นในชั้นหลัง เรียกว่า “ตน็อล”
  • คนมอญเรียก “ด้าจก์ต่าน” หรือ “น้ำทาน” มักมีอยู่ทุกชุมชนบ้านเรือน วัด ตลาด ท่าเรือ ท่ารถ และตามถนนหนทางสาธารณะ
  • คนพม่าและเกือบทุกชาติพันธุ์ในประเทศเมียนมาอย่างที่กล่าวแล้ว นักเดินทางยังคงอาศัยร้านน้ำเพื่อดับกระหาย ยิ่งในชนบท น้ำถือเป็นสิ่งมีค่าแต่ไม่มีมูลค่าในเชิงการค้า เป็นธรรมเนียมที่จะต้องให้แก่กันด้วยยินดี คนพม่าเรียกวัฒนธรรมนี้ว่า “เยโออะหลู่” หรือ “น้ำหม้อทาน”
ร้านน้ำแบบดั้งเดิมในเมียนมา
เหตุผลสำคัญที่ยังพบวัฒนธรรมร้านน้ำในประเทศเมียนมาที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตเนื่องจากลักษณะสังคมยังมีความเป็นดั้งเดิม ระบบน้ำประปามีจำกัด ประชากรส่วนใหญ่อุปโภคบริโภคน้ำบ่อ ธุรกิจน้ำดื่มเพิ่งเริ่มต้นไม่นาน ทั้งความสะดวกในการซื้อหาและราคา คนทั่วไปจึงมักจะมีหม้อน้ำตั้งอยู่ที่ชานเรือนสำหรับเจ้าของบ้านและแขกที่มาเยือนเสมอ ส่วนหม้อน้ำในร้านน้ำใต้ถุนบ้านหรือหน้าบ้านสำหรับคนเดินทางทั่วไป
หม้อน้ำดื่มในร้านน้ำบนลานพระเจดีย์มุตาว เมืองหงสาวดี 2 มิถุนายน 2553
การสร้างร้านน้ำ หม้อน้ำ และน้ำดื่มมักทำกันอย่างพิถีพิถัน หม้อน้ำมักจะตั้งอยู่ในร้านน้ำเพื่อไม่ให้หม้อซึ่งโดยมากทำจากดินเผาถูกกระทบแตกร้าว ป้องกันฝุ่นผงเจือปนและสัตว์เลี้ยงรบกวน รวมทั้งอยู่ในระดับความสูงที่พอเหมาะแก่การตักดื่ม ร้านน้ำมีหลายระดับ ทั้งประเภทที่ตั้งอยู่หน้าบ้านหรือในเขตบ้านของใครของมัน กับในพื้นที่ส่วนรวมตามชุมชนหมู่บ้าน ในวัด โดยมีหัวหน้าหมู่บ้าน ชาวบ้าน และชาววัดช่วยกันสร้างและดูแล
หม้อน้ำดื่มในร้านน้ำบนศาลาวัดถาดจย้าจก์ (วัดพระธาตุ) แขวงเมืองกะมาวัก รัฐมอญ ประเทศเมียนมา 4 มิถุนายน 2553
เจ้าของหม้อน้ำจะตักน้ำจากบ่อเทใส่หม้อน้ำผ่านผ้าขาวบางหรือตะแกรงตาถี่กรองฝุ่นผงและแมลง ปิดฝาหม้อมิดชิด กระบวยตักน้ำคว่ำครอบไว้บนฝาหม้อ หลายแห่งผูกเชือกฝาครอบและกระบวยป้องกันปลิวตกหล่นหรือสูญหาย เจ้าของจะคอยเติมน้ำให้เต็มตลอดเวลา และหมั่นขัดล้างทำความสะอาดภาชนะเสมอ ด้วยถือว่า สิ่งของที่ให้เป็นทานยิ่งต้องพิถีพิถันอย่างดี เมื่อผู้รับได้รับสิ่งดี ๆ ก็จะอนุโมทนาสาธุ สิ่งดี ๆ ก็จะสะท้อนถึงผู้ให้ทบเท่าทวีคูณ
หม้อน้ำดื่มในร้านน้ำริมถนนสายเมาะลำเลิง-เร (เย) แขวงเมืองมุฮ์เดิง รัฐมอญ ประเทศเมียนมา 5 มิถุนายน 2553
นอกจากวัฒนธรรมร้านน้ำที่เป็นธรรมเนียมรับรองผู้มาเยือนที่งดงามแล้ว ความงดงามที่เป็นรูปธรรม คือ งานศิลปะที่ปรากฏบนร้านน้ำ มักได้รับการตกแต่งประดิดประดอยอย่างประณีตสวยงาม แตกต่างกันไปตามฐานะและฝีมือผู้เป็นเจ้าของ บางร้านเรียบง่ายตามมีตามเกิด บางร้านรูปทรงแปลกสะดุดตา บางร้านฝากฝีมือแกะสลักไม้ ลายปูนปั้น และประดับกระจกสี รวมทั้งการเลือกหาหม้อน้ำ และภาชนะตักน้ำที่สวยงามคู่กัน
หม้อน้ำดื่มรอบโคนไม้บนลานพระเจดีย์มุตาว เมืองหงสาวดี ประเทศเมียนมา 8 เมษายน 2556
หม้อน้ำดื่มในร้านน้ำภายในหมู่บ้านเกาะซั่ว แขวงเมืองจย้าจก์แหมะโร่ะฮ์ รัฐมอญ ประเทศเมียนมา 8 เมษายน 2556
หม้อน้ำดื่มบนร้านน้ำ ตลาดเช้ามัณฑะเลย์ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา 23 เมษายน 2559
หม้อน้ำดื่มในร้านน้ำหน้าวัดมหามุนี เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา 23 เมษายน 2559
ความตายของร้านน้ำแบบดั้งเดิมในเมืองไทย
สมัยที่ผมเข้ากรุงเทพฯมาเรียนหนังสือใหม่ ๆ ตอนนั้นยังทันเห็นร้านน้ำและหม้อน้ำดื่มริมทางอยู่ 2 แห่ง คือ หน้าร้านขายรองเท้ายูนิเวอร์ส บางลำพู และหน้าร้านน้ำอบนางลอย ตรงประตูผี ข้างป้อมมหากาฬ แต่ทุกวันนี้ได้อันตรธานหายไปแล้วทั้งสองแห่ง
4
ร้านน้ำในกรุงเทพฯที่ดูจะเป็นร้านน้ำสมัยใหม่เกิดขึ้นเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 สร้างขึ้นด้วยรูปลักษณ์ตามพุทธประวัติ แต่วัตถุประสงค์ที่แท้จริง คือ ให้ประชาชนได้ใช้น้ำดื่มที่ไหลออกจากมวยผม "พระแม่ธรณีบีบมวยผม" ตรงหัวมุมสนามหลวงด้านทิศเหนือ นั้นดื่มกินดับกระหาย ก่อนจะเสื่อมความนิยมไปในปัจจุบัน และถูกใช้งานเพื่อประโยชน์ใช้สอยใหม่ไปในเชิงสิ่งศักดิ์สิทธิ์
1
ก่อนกรุงเทพมหานครจะมีร้านน้ำแบบใหม่ในเวลาต่อมา คือ "แท่นน้ำประปาดื่มได้" เป็นที่กดน้ำประปาสาธารณะซึ่งการประปานครหลวงสร้างขึ้น 400 จุดทั่วกรุงเทพฯ เมื่อปี 2541 ก่อนหน้านี้ยังพบเห็นอยู่บ้างแต่มักจะถูกใช้ล้างมือมากกว่าใช้ดื่ม รวมทั้งชำรุดทรุดโทรมไม่ได้รับการดูแล กรุงเทพมหานครจึงสั่งให้รื้อถอนออกไปทั้งหมดตั้งแต่ปลายปี 2564
ร้านน้ำแบบดั้งเดิมในกรุงเทพฯ 2 แห่งสุดท้ายเท่าที่สังเกตในเวลานั้นพบว่า คนผ่านไปผ่านมาก็ไม่นิยมดื่มกินกันสักเท่าไหร่ ผมเองเดินผ่านเกือบทุกวันก็ไม่เคยเลยสักครั้ง น่าจะด้วยหาซื้อน้ำดื่มได้ง่าย ไม่ต้องใช้ภาชนะตักน้ำดื่มที่ไม่รู้ว่าผ่านมือและปากใครมาบ้าง
ความตายของร้านน้ำแบบดั้งเดิมในเมียนมากำลังมา
เมื่อน้ำดื่มบรรจุขวดถูกเรียกร้องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มมากขึ้น และกำลังได้รับความนิยมในหมู่ชนชั้นกลางและชนชั้นสูงของเมียนมามากขึ้นด้วยเช่นกัน
ถังน้ำดื่มในร้านน้ำภายในวัดสุขะการิปริยัติ แขวงเมืองมะละแหม่ง รัฐมอญ ประเทศเมียนมา 26 เมษายน 2559
ถังน้ำดื่มในร้านน้ำภายในรีสอร์ทเวตะซิน เมืองทวาย ประเทศเมียนมา 27 เมษายน 2559
น้ำดื่มบรรจุขวดตรา “เนปิดอว์” ตลาดมัณฑะเลย์ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา 24 เมษายน 2559
หลังเมียนมาเปิดประเทศเมื่อ พ.ศ. 2558 เทคโนโลยีและโครงข่ายการค้าข้ามชาติ ตลอดจนข่าวสารสารสนเทศที่ไหลบ่าเข้ามาพร้อมวัฒนธรรมจากภายนอกเข้าปะทะสังคมเมียนมาแบบดั้งเดิม เป็นต้นว่า ค่านิยมเรื่องความสะอาด ชีวิตอันรีบเร่งแก่งแย่งแข่งขันของสังคมเมือง สอดรับกับการเกิดขึ้นของธุรกิจน้ำดื่มบรรจุขวด ที่ล้วนเรียกร้องและรอคอยการเปลี่ยนแปลง ธรรมเนียมร้านน้ำดั้งเดิมท่ามกลางภาวะเปลี่ยนผ่านจึงน่าจับตา
ขณะที่ประชากรเมียนมาส่วนใหญ่ยังคงดื่มน้ำจากร้านน้ำริมทางเป็นปกติ ด้วยน้ำดื่มบรรจุขวดยังมีราคาแพงเมื่อเทียบกับรายได้ของชนชั้นแรงงาน หม้อน้ำดื่มริมทางจึงยังคงมีความสำคัญต่อสังคมชนชั้นแรงงานเมียนมา
กระทั่งการปิดประเทศโดยนัยเมื่อกองทัพพม่าทำรัฐประหารรัฐบาลพลเรือนประชาธิปไตยเมื่อต้นปี 2564 ความไม่พอใจของประชาชนเมียนมา ส่งผลให้เกิดสงครามภายในทำให้เมียนมาก้าวถอยหลังกลับไปอยู่จุดเดิม หรือไกลกว่าเดิมก่อนเปิดประเทศ ทำให้คิดว่าวัฒนธรรมร้านน้ำในเมียนมาน่าจะคงอยู่ต่อไปอีกยาวนาน
สะท้อนกลับมาที่เมืองไทย ทางเลือกในการซื้อหาน้ำดื่มมีมาก เจ้าของไม่มีเวลาคิดเรื่องเผื่อแผ่น้ำดื่มอย่างอดีต หรือที่ยังคิด แต่หม้อน้ำที่วางอยู่ริมถนนกลางฝุ่นควัน สถานการณ์โรคระบาดร้ายแรง รวมทั้งคนดื่มก็ตั้งคำถามว่าจะมีคนพิเรนทร์จงใจใส่สิ่งแปลกปลอมลงไป รวมทั้งคนดื่มก่อนหน้าน่าไว้ใจ น่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ร้านน้ำล้มหายตายจาก หายไปทั้งที่ยังไม่หมดหน้าที่ทางสังคม หากแต่หมดความไว้ใจ
โฆษณา