25 ส.ค. 2022 เวลา 23:49 • ปรัชญา
“มันไม่มีหรอก ทางลัดในการพ้นทุกข์
การที่เราแสวงหาทางลัด มันคือการที่จิตใจเราก็กระวนกระวาย
อยากให้มันดีที่สุด อยากให้มันเร็วที่สุด อยากให้มันสบายที่สุด”
“ … มันเป็นธรรมดาของชาวโลกนะ ที่อยากได้รับสิ่งที่ดี
อะไรที่ว่าดีก็อยากได้ อยากให้มันดีที่สุดด้วย
อะไรที่ไม่ดี ก็ไม่อยากได้ ไม่เอานะ อยากได้สิ่งดี ๆ
เรียกว่าเกิดความกระวนกระวายขึ้นมานั่นเอง
พอมีโอกาสเข้ามาพบพระพุทธศาสนา ได้ศึกษาธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง พรองค์ตรัสถึงพระนิพพานเป็นบรมสุข ก็อยากได้ อยากบรรลุธรรม อยากเข้าถึงธรรม อยากให้มันดีที่สุด
สอนโลกเป็นกองทุกข์ ก็ไม่อยากได้แล้ว อยากผลักออก
ไม่เอาความทุกข์ อยากให้มันดี
พอฝึกหัดปฏิบัติธรรมไป มันเบาสบาย กายเบาสบาย รู้สึกดีก็อยากให้มันเบาอยู่อย่างนั้น พอมันไม่เบา มันหนัก มันร้อน ก็ไม่อยากได้ละ กระสับกระส่าย
พอฝึกไปจิตสงบนิ่งดี มีความสุขจากความสงบ ก็อยากให้มันสงบอีก พอมันเริ่มไม่สงบก็ไม่อยากได้แล้ว กระสับกระส่าย
พอฝึก ๆ ไป จิตมันว่าง ก็อยากให้มันว่างอยู่อย่างนั้น พอมันไม่ว่างก็ไม่อยากได้แล้ว เรียกว่ามันเกิดความกระวนกระวาย ท่านเรียกว่า เกิดตัณหา เกิดภวตัณหา
อะไรที่มันดีก็อยากได้ อยากรักษาไว้
เกิดวิภวตัณหา อะไรที่มันไม่ดี ก็อยากผลักออก ไม่เอา ไม่เอา มันเกิดความกระวนกระวายขึ้นมา
สิ่งนี้มันเกิดจากอวิชชา ความหลงที่ครอบงำหมู่สัตว์ ทำให้เกิดความกระวนกระวาย มันก็จะเคลื่อนออกจากความเป็นกลาง
เพราะฉะนั้นเราศึกษาปฏิบัติธรรมให้รู้เท่าทันกิเลสให้ละเอียด
การที่เราปฏิบัติแล้วจิตมันเบา มันนิ่ง มันสงบ มันว่าง มันละเอียด แล้วก็อยากได้ อยากรักษาสิ่งนี้ไว้ อย่างอื่นไม่เอาแล้ว ผลักออก โลกไม่เอาแล้ว ผลักออก ให้รู้เท่าทันว่ามันเกิดจากความกระวนกระวายของเรา เกิดจากอวิชชา
มันคือทางสุดโต่งนั่นเอง มันทำให้ใจเราน่ะเคลื่อนออกจากความเป็นกลาง ให้รู้เท่าทันกิเลสนะ
การดึงกลับสู่ทางสายกลาง ก็คือ การเรียนรู้ การยอมรับ ทุกสรรพสิ่งก็เป็นเช่นนั้นเอง
หลักสติปัฏฐาน ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่น รู้ธรรมเฉพาะหน้า รับรู้สภาวะที่ปรากฏ
จิตมันเบาก็รู้ รู้สักแต่ว่ารู้ ไม่ติดข้อง
จิตมันไม่เบาก็รู้ จิตมันฟุ้งซ่านก็รู้
จิตมันสงบก็รู้ จิตมันตั้งมั่นก็รู้
จิตมันว่างก็รู้ มันไม่ว่างก็รู้
รู้สักแต่ว่ารู้ ไม่ติดข้องอยู่
หัวใจของพระพุทธศาสนา ก็คือ ธรรมทั้งปวง ใคร ๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น นั่นเอง
ทำไมเวลาลงนำฝึกปฏิบัติ ถึงพาเริ่มตั้งแต่ กไก่ ขไข่
เริ่มตั้งแต่ความรู้สึกตัวเป็นส่วน ๆ จนรู้สึกขึ้นมาได้ทั้งตัว
จากนั้นก็เข้าสู่ฐานเวทนา รู้ตัวทั่วพร้อม
ไต่ระดับไป เข้าถึงฐานจิตเกิดความตั้งมั่น
แล้วยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา เกิดความเบิกบาน
รับรู้ตามความเป็นจริง และสลัดคืนสู่ความเป็นธรรมชาติ
แล้วทำไมจากนั้นจึงพาถอยกลับมา ถอยสู่ฐานจิต ถอยสู่ฐานเวทนา ถอยสู่ฐานกาย ถอนจากสมาธิ
ก็ในเมื่อความบริสุทธิ์ของธรรมชาตินั้นดีที่สุด ทำไมไม่นำเข้าความบริสุทธิ์เลย ? แล้วทำไมไม่อยู่อย่างนั้นเลย ? ทำไมต้องพาถอยกลับมา ?​
ทำไมพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงตรัสอานาปานสติ 16 ขั้น เหมือนบันได 16 ขั้นเลย ให้ไต่ขึ้นไต่ลงฝึกซ้อมให้ชำนาญ
ทำไมพระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ตอนจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระองค์จึงเดินจิตเป็นวาระสุดท้าย ให้เป็นแบบอย่าง ทรงเริ่มตั้งแต่ปฐมฌานเลย ระดับพระพุทธเจ้าท่านอยู่ด้วยสุญญตวิหาร อยู่ได้ด้วยบรมธรรม ทำไมพระองค์เดินตั้งแต่ปฐมฌาน
ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจา วิญญานัญจา อากิญจัญญา เนวสัญญานา จนเข้าถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ แล้วทำไมพระองค์ไม่อยู่อย่างนั้น ? ทำไมพระองค์ถอยกลับมา ?
กลับมาสู่เนวสัญญา อากิญจัญญา วิญญานนัญจา อากาสานัญจา จตุตถฌาน ตติยฌาน ทุติยฌาน ปฐมฌาน จากนั้นก็ดับวางขันธ์ในแต่ละระดับ ดับวางขันธ์ระดับปฐมฌาน เข้าถึงทุตยฌานดับวางขันธ์ จนถึงจตุตถฌานแล้วก็ดับทุกอย่าง ไม่มีส่วนเหลือ
ก็ในเมื่อความบริสุทธิ์มันดีที่สุด ทำไมพระองค์ไม่อยู่ตรงนั้นเลย ?
ทำไมพระองค์ถึงเดินในแต่ละระดับ เป็นขั้นบันได แล้วถอยกลับมาเป็นตัวอย่างให้แก่ชาวโลก พระองค์แสดงอะไรให้เราเห็น ?
… การไม่ติดข้องกับสิ่งใด ๆ ทั้งปวง นั่นคือความเป็นกลางของธรรมชาติ
การที่เราคิดว่าสิ่งนี้มันดี สิ่งนี้มันไม่ดี
สิ่งไม่ดีเราผลักออก เราไม่อยาก
เราอยากได้สิ่งที่มันดี รักษาไว้
นั่นคือความกระวนกระวาย
มันทำให้เราเคลื่อนออกจากความเป็นกลางนั่นเอง
การเข้าถึงความบริสุทธิ์ของธรรมชาติ
มันไม่ใช่เข้าถึงสภาวะที่เรากำหนดหรอก
ไม่ได้เข้าถึงความสงบ ไม่ได้เข้าถึงความว่างหรอก
… แต่มันเกิดจากการที่เราหมดความกระวนกระวาย
หมดความพยายามต่างหาก
เหมือนต้นไม้น่ะ การที่เราจะไปถึงจุดนั้นได้ มันต้องผ่านกระบวนการเพาะบ่ม
เริ่มตั้งแต่การเพาะบ่มเมล็ดพันธุ์ อยู่ในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ รดน้ำพรวนดินดูแลอย่างดี ค่อย ๆ หยั่งรากแตกต้นอ่อน แล้วค่อย ๆ เติบโตขึ้น โตขึ้น โตขึ้น
ผ่านกาลเวลา ผ่านฤดูหนาว ฤดูร้อน ฤดูฝน
จนต้นไม้เติบโตเต็มที่ เริ่มผลิดอกออกผล
เริ่มให้ผลเป็นผลมะม่วง โตขึ้นผลมะม่วงโตขึ้น
จนโตเต็มที่แล้วจริง ๆ น่ะ มีความสุกเต็มที่แล้ว
สุดท้ายผลมะม่วงเป็นไง ?​
… ทิ้งต้น ลืมต้น หลุดออกจากขั้วเองโดยธรรมชาติ
นั่นคือสภาวะของการคืนสู่ความเป็นธรรมชาติ
มันไม่ได้เกิดจากการที่เราพยายามผลักออก หรือพยายามดึงเข้า
แต่มันเกิดจากกระบวนการเพาะบ่ม
ทุกคนน่ะ มีเมล็ดพันธุ์แห่งพุทธะอยู่ในใจ ผ่านการเพาะบ่มด้วยมรรควิธีที่ถูกต้อง ที่เรียกว่าอริยมรรคมีองค์ 8 อบรมตนเองด้วยสติปัฏฐาน
มันไม่มีหรอก ทางลัดในการพ้นทุกข์
การที่เราแสวงหาทางลัด มันคือการที่จิตใจเราก็กระวนกระวาย
อยากให้มันดีที่สุด อยากให้มันเร็วที่สุด อยากให้มันสบายที่สุด
มันมีแต่ทางสายกลางต่างหาก ที่จะคืนสู่ความบริสุทธิ์ของธรรมชาติได้
ผ่านกระบวนการเพาะบ่มด้วยมรรควิธีที่ถูกต้อง เดินตามอริยมรรคมีองค์ 8 ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
เปรียบเหมือนการเพาะบ่มเมล็ดพันธุ์ จนเติบโตขึ้น เมื่อถึงจุดหนึ่งมันผลิบานเต็มที่แล้ว พุทธสภาวนะในใจมันผลิบานเต็มที่แล้ว ญานมันแก่รอบเต็มที่แล้ว มันจะหมดความกระวนกระวาย
มันจะหมดเยื่อใย สิ้นอาลัยในตัณหา
พร้อมที่จะทิ้งทุกอย่างลง วางทุกอย่างลง
แล้วซึมสู่ความบริสุทธิ์ของธรรมชาตินั่นเอง … “
.
ธรรมบรรยาย
โดย พระมหาวรพรต กิตฺติวโร
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา