6 ก.ย. 2022 เวลา 00:15 • ความคิดเห็น
❤️• Don’t Sweat The Small Stuff
✍🏻• Richard Carlson, Ph.D. เขียน || ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ แปล
🔖• 14 || สร้าง “ช่วงเวลาฝึกความอดทน”
📝• บันทึกใจความแบบดิบ ๆ ที่ยังไม่ผ่านกระบวนการแปรรูป พร้อม บันทึกการอ่านของ อิคิ ∙ 生き
[ Don’t Sweat The Small Stuff ]
⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯
14
สร้าง “ช่วงเวลาฝึกความอดทน”
⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯⎯
ดร.ริชาร์ด [ ผู้เขียน ] เริ่มต้นบทนี้ไว้ดังนี้ค่ะ....

ความอดทนเป็นคุณภาพของหัวใจ ซึ่งสามารถ
ฝึกฝนได้ และ วิธีที่ดร.ริชาร์ดใช้ฝึกความอดทน
ก็คือ…การสร้างช่วงเวลาฝึกฝนที่แท้จริงขึ้นมา
ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ดร.ริชาร์ดตั้งไว้ในใจว่า
จะฝึกศิลปะแห่งความอดทน
ดร.ริชาร์ดแนะนำให้เริ่มจากเวลาน้อย ๆ ก่อน
ซัก 5 นาทีแล้วค่อย ๆ เพิ่มขีดความอดทนขึ้นไป
ทีละเล็กทีละน้อย โดยบอกตัวเองว่า…

“เอาละห้านาทีต่อไปนี้ฉันจะไม่ปล่อยให้ตัวเอง
เสียอารมณ์ ฉันจะอดทน”
ดร.ริชาร์ด กล่าวว่า…ในแต่ละครั้งที่เรา
สามารถอดทนได้ตามเวลาที่ตั้งไว้ จะเป็นการ
ตอกย้ำว่า…เราสามารถที่จะอดทนได้จริง ๆ
หากเราทำได้อย่างต่อเนื่อง เราจะกลายเป็น
มนุษย์ผู้มีขันติในท้ายที่สุด
เวลาที่ดร.ริชาร์ดต้องจัดการกับลูก ๆ
เขาพบว่าการใช้ความสงบเยือกเย็น ทำให้
ลูก ๆ ฟังเขามากกว่าเวลาที่เขาสติแตก
การตั้งเป้าหมายเป็นเวลาสั้น ๆ ให้ตัวเอง
อดทนต่อความไม่ชอบใจ ทำให้ ดร.ริชาร์ด
สามารถอยู่กับปัจจุบันขณะได้ดีมากขึ้น
ในทางกลับกันเวลาที่หัวเสียเอาแต่คิดถึง
เรื่องที่ไม่ชอบใจจะทำให้ตัวเรารู้สึกทุกข์ตรม
ดร.ริชาร์ด ยังกล่าวอีกนะคะว่า…
การเป็นคนอดทนทำให้เขามีสติในเวลา
ที่อยู่ท่ามกลางสถานการณ์อันยากลำบาก
ทำให้เขามองความยุ่งยากที่อยู่ตรงหน้า
เป็นเพียง “อุปสรรคเล็ก ๆ ที่ต้องถูกจัดการ” ไม่ใช่
“เรื่องคอขาดบาดตาย" ที่จะต้องมานั่งตีโพยตีพาย
หากขาดความอดทนทุกเรื่องก็จะกลายเป็น
เรื่องสำคัญเร่งด่วน ซึ่งจะลงเอยด้วยการ
ทะเลาะเบาแว้ง ความขัดข้องใจ
ความรู้สึกเหมือนถูกทำร้าย
และความดันโลหิตสูงซึ่งไม่คุ้มเลย 😆
[ อิคิ ∙ 生き's Memo ]
สำหรับ อิคิ ∙ 生き…
การฝึกกล้ามเนื้อความอดทน
ก็เหมือนการฝึกนิสัยใหม่ทุกเรื่องค่ะ
ถ้าใครเคยทำก็จะรู้ว่า…
เวลาที่เราฝึกความอดทนในช่วงแรก
มันยากมาก ๆ ค่ะ เปรียบเสมือน
การที่เรากำลังยกน้ำหนักที่หนักมาก ๆ
ด้วยกล้ามเนื้ออันอ่อนแรง
และเช่นเดิม การฝึกกล้ามเนื้อที่อ่อนแรง
ให้มีพลัง จะต้องฝึกฝนด้วยการฝืนยก
อย่างสุดกำลังไปวันละเล็กวันละน้อย
ท้ายที่สุดกล้ามเนื้อของเราก็จะ
แข็งแรงขึ้นโดยปริยาย
แต่ปัญหาก็คือการฝึกความอดทน
ไม่เหมือนการสร้างความขยันค่ะ
เวลาเราต้องการสร้างนิสัยขยันหมั่นเพียร
ในบางสิ่งบางอย่าง สิ่งที่เราต้องทำก็คือ…
กำหนดตารางเวลาทำสิ่งนั้น เมื่อถึงเวลา
ที่กำหนด ก็ลงมือทำ
แต่ความอดทน ไม่สามารถกำหนดเวลา
ทำได้ค่ะ เราไม่สามารถบอกได้นะคะว่า
ตั้งแต่ 8 โมง จนถึง 9 โมงเราจะอดทนไม่โกรธ
เพราะเราไม่สามารถบังคับให้ใครมาทำ
ให้เราโกรธในช่วงเวลานั้นได้ค่ะ
ความโกรธ ความอดทนต่ำ ความไม่ได้ดั่งใจ
มักจะมากตอนที่เราไม่รู้เนื้อรู้ตัว
ดังนั้น หากเราจะฝึก “ขันติ” สิ่งที่จะทำได้
ก็คือ การเตรียมตัวให้พร้อม
รู้ตัวให้เร็ว มีสติรู้กายใจให้บ่อย
และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการตั้งค่าทัศนคติ
ของเราที่มีต่อโลกใบนี้ให้ถูกต้อง
ด้วยการฝึกฝนวิชาใจเบาให้กับ
หัวใจของเรา
ซึ่ง อิคิ ∙ 生き เคยกล่าวถึง “วิชาใจเบา”
ไปแล้วในบันทึกการอ่านหนังสือ
“Don’t Sweat The Small Stuff” ตอนที่ 13
แต่อย่างไรวันนี้…
เรามาทบทวนกันอีกสักครั้งนะคะ
อิคิ ∙ 生き รู้สึกว่าโลกจะเป็นเช่นไร
อยู่ที่มุมมองของเราที่มีต่อโลกค่ะ
หลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นเหตุแห่งความ
“ไม่สุข” ในชีวิต เกิดจาก การที่เรามองโลก
ผิดเพี้ยนและยึดเอาตนเองเป็นที่ตั้ง
หลายครั้งที่เราอดทนน้อยเพราะมองผู้อื่นผิดไป
และนำความต้องการของตนเองนำหน้า
ในตอนที่ 13 ที่ ดร.ริชาร์ด ได้ยกตัวอย่างถึง
เหตุการณ์รถติดบนถนนทำให้เราไปถึง
จุดหมายไม่ตรงเวลา ส่งผลให้ อิคิ ∙ 生き คิดว่า....
สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดบนท้องถนนก็เป็นโอกาสให้เรา
ฝึกได้มากเลยค่ะ หากใจเรามัวแต่ไปจดจ่อ
ถึงจุดหมายปลายทางของเรา เราจะใจร้อน
และไม่เคยสุขสงบกับการขับรถเลย
เมื่อก่อน อิคิ ∙ 生き ไม่สามารถอดทนรอ
กับไฟแดงได้เลยค่ะ ยิ่งถ้าเราเป็นรถคันแรก
ที่ติดไฟแดง ใจจะร้อนรุ่นเป็นไฟ สั่นเป็นเจ้าเข้า
แต่ถ้าเราตั้งจิตตนเองให้ท้องถนนเป็นเรื่อง
ของการฝึกใจ เราจะอยู่บนท้องถนนได้นานขึ้น
และสบายใจกว่าเคย
อิคิ ∙ 生き ใช้เวลาบนรถ ฝึกฝนสิ่งเหล่านี้ค่ะ
• ฝึกให้ไฟแดง เป็นเวลาในการฝึกหายใจและ
อดทนรอ
• ฝึกเมตตา ด้วยการยอมให้ผู้อื่นได้ไปก่อน
• ฝึกให้อภัยคนที่ขับรถแย่ ๆ ด้วยความเข้าใจว่า
เขาอาจมีเหตุให้ต้องทำเช่นนั้น เช่น ปวดท้องอย่างหนัก
ต้องเข้าห้องน้ำ หรือคนในรถป่วยกระทันหันต้องรีบ
ไปส่งโรงพยาบาล
• ฝึกเข้าใจคนที่ขับรถช้าเหมือนเต่า เพราะเขา
อายุมากแล้ว และสายตาไม่ดีเท่าเรา
สำหรับคนที่ขับรถบ่อย การฝึกบนท้องถนนเช่นนี้
ก็เพียงพอที่จะทำให้ชีวิตเราสุขสงบขึ้นแล้วค่ะ
เราจะได้สัมผัสว่า....
ใจที่เป็นผู้ให้นั้นช่างเบิกบานและอ่อนโยน
ซึ่งตรงกันข้ามกับใจที่ร้อนรุ่ม ไม่เป็นสุข
จากการนำตัวเองเป็นที่ตั้งค่ะ
การใช้ชีวิตช้าลง ก็คือการเปิดโอกาสให้เรา
ได้พิจารณาโลก เมื่อเราได้พิจารณา ความเข้าใจ
ในสิ่งต่าง ๆ ก็จะเกิดขึ้น เมื่อเข้าใจก็เบาใจค่ะ
หลายครั้งหลายคราวที่เราเหนื่อยหน่ายกับชีวิต
เป็นเพราะว่าเราต้องการทำให้ทุกสิ่งทุกอย่าง
เป็นไปอย่างที่เราคิด
หากแต่เราเปลี่ยนสักนิด....
จากใจที่อยากให้โลกเป็นอย่างใจคิด
เป็นใจที่เข้าใจความเป็นไปของโลก
ชีวิตเราก็จะสุขสงบ เบา และน่าอภิรมย์ขึ้นมากค่ะ
ดังนั้นวันนี้ อิคิ ∙ 生き จึงอยากชวนเพื่อน ๆ
มาวางของหนักทางใจลง
=======================
โดยการฝึกวิชาใจเบา กันดูนะคะ
=======================
ลองฝึกถอนตัวออกจากการไหล
ไปจมกับความคิด จงตั้งกติกาให้กับตัวเอง
ว่าเราจะใช้ชีวิตให้ช้าลง ตั้งปณิธานที่จะ
ใจเย็น สุข สงบกับทุกเหตุการณ์ให้ได้มากขึ้น
สังเกตใจตัวเองดี ๆ เมื่อไหร่ก็ตาม
ที่ใจเริ่มขุ่นมัวให้หยุดหายใจสักนิด
วางความต้องการของตัวเองลง นำใจของเรา
ไปพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า เพื่อให้ได้เห็น
ความเป็นจริงของโลกและเข้าใจผู้คน
ถ้าทำได้ชีวิตของเราจะเบาอย่างที่ไม่เคย
รู้สึกมาก่อนและนี่แหละค่ะที่เรียกว่า....
วิชาใจเบา
ก่อนจาก อิคิ ∙ 生き ขอแถม
อีกซักเล็กน้อยว่า…
เราตั้งเวลาเพื่อฝึกฝนความอดทน
หรือความใจเย็นไม่ได้นะคะ
แต่สิ่งที่เราต้องทำ คือ…
การติดตั้งเซนเซอร์ ตรวจจับความโกรธ
ความอดทนต่ำ ที่หัวใจเราไว้ตลอดเวลา
เมื่อไหร่ก็ตามที่ใจเราเริ่มร้อนรน
มีอาการผิดปกติ ใจไม่เป็นกลาง
เซนเซอร์ตรวจจับจะทำงาน
ด้วยการส่งสัญญาณ เตือนให้เรา…
หายใจเล็ก ๆ ตั้งจิตพิจารณา
ทำความเข้าใจ กับสิ่งที่เกิดขึ้น
และบอกตัวเองว่า ไหนลองอดทน
กับเหตุการณ์นี้ซัก 5 นาที แบบที่
ดร.ริชาร์ด แนะนำดูซิ
อย่างไรเพื่อน ๆ ลองดูนะคะ
สำหรับวันนี้ขอลาไปติดตั้งเซนเซอร์
ใจเบาให้กับหัวใจตัวเองก่อน
แล้วพบกันใหม่ กับบันทึกการอ่านหรือ
บทความต่อ ๆ ไปจาก อิคิ ∙ 生き กันนะคะ

สวัสดีค่ะ 🙏🏻😊
บันทึกโดย : ชีวิต ∙ อิคิ ∙ 生き : ใช้ชีวิตแบบที่อยากมีชีวิต
หมายเหตุ : หากเพื่อน ๆ ท่านใดอยากที่จะรีบเย็นใจ จนรอ อิคิ ∙ 生き สรุปเรื่องราวที่ละบทของ “Don’t Sweat The Small Stuff” ไม่ไหวก็สามารถสั่งซื้อหนังสือได้ที่ Link ด้านล่างนะคะ https://www.facebook.com/ohmygodbooks/
#สัปดาห์ละบทสองบท #dontsweatthesmallstuff

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา