18 ก.ย. 2022 เวลา 04:31 • ปรัชญา
“กิเลสมันเล่นงานทีเผลอ”
“ … งานหลักจริงๆ ก็คืองานลดละกิเลสของตัวเอง
ไม่ใช่งานเอาชนะคนอื่น
แต่เป็นการเอาชนะใจของเราเอง
การจะเอาชนะใจของเราเองได้
ก็ต้องหมั่นสังเกตจิตใจของตัวเองให้ดี
กิเลสมันชอบแทรกทีเผลอ
จำประโยคนี้ไว้เลย “กิเลสมันเล่นงานทีเผลอ”
คือมันเล่นตอนขาดสติ ถ้าไม่เผลอ ไม่ลืมเนื้อลืมตัว
รู้สึกกายรู้สึกใจอยู่กิเลสเล่นงานไม่ได้
พระพุทธเจ้าท่านถึงสอนสติปัฏฐาน
สติปัฏฐาน ให้เรามีสติระลึกรู้กาย
ระลึกรู้เวทนา ระลึกรู้จิต และระลึกรู้สภาวธรรม
ทั้งรูปธรรม ทั้งนามธรรม ทั้งกุศลธรรม ทั้งอกุศลธรรม
แล้วก็เห็นกระบวนการทำงาน
ความปรุงแต่งระหว่างความไม่รู้กับความทุกข์
เชื่อมโยงระหว่างอวิชชากับความทุกข์
ท่านสอนให้เราเห็นสิ่งเหล่านี้
การที่เราจะเจริญสติปัฏฐานจะด้วยกาย เวทนา จิต หรือธรรม อันใดอันหนึ่ง ก็ทำไปเพื่อให้เกิดสติบ่อยๆ
สติปัฏฐานนั้นมีวัตถุประสงค์ 2 อย่าง เบื้องต้นทำไปเพื่อความมีสติ เบื้องปลายทำไปเพื่อความมีปัญญา
ฉะนั้นสติปัฏฐานมี 2 ระดับ
เบื้องต้นทำไปเพื่อความมีสติ
เบื้องปลายทำไปเพื่อความมีปัญญา
ฉะนั้นการที่เรามีวิหารธรรม อย่างไปดูในสติปัฏฐาน
เริ่มต้นก็ต้องใช้กายในกายเป็นวิหารธรรม
หรือใช้เวทนาในเวทนาเป็นวิหารธรรม
หรือใช้จิตในจิตเป็นวิหารธรรม
หรือใช้ธรรมในธรรมเป็นวิหารธรรม
ก็ต้องมีวิหารธรรม
ต้องมีเครื่องอยู่ของจิต เครื่องระลึกของสติ
คำว่า “กายในกาย” “เวทนาในเวทนา” “จิตในจิต” “ธรรมในธรรม” ฟังแล้วมันแปลไม่ออกไม่รู้ว่าคืออะไร มันไม่ใช่ภาษาของคนรุ่นเราแล้ว
ธรรมะที่แปลจากบาลีเป็นภาษาไทย แปลกันเป็นพระไตรปิฎกภาษาไทย ก็มีสมัยรัชกาลที่ 5 เวลาร้อยกว่าปี ภาษามันเคลื่อนไปเยอะแล้ว
ฉะนั้นเราฟังบางทีไม่เข้าใจแล้ว ก็ต้องแปลไทยเป็นไทยอีกทีหนึ่ง “กายในกาย” เป็นอย่างไร หมายถึงเราไม่ต้องเรียนกายทั้งหมด เราไม่ต้องเรียนเวทนาทั้งหมด เราไม่ต้องเรียนจิตทั้งหมด ไม่ต้องเรียนธรรมะทั้งหมด
เราเรียนบางอย่างบางข้อ ถ้าเข้าใจแจ่มแจ้งในเรื่องนั้นแล้ว เราจะเข้าใจธรรมะทั้งหมด เป็นการสุ่มตัวอย่างมาเรียน ไม่ได้ผิดอะไรกับการทำงานวิจัยภาคสนามเลย
อย่างเราจะไปวิจัยทัศนคติของประชาชนต่อรัฐบาล หรือของคนกรุงเทพฯ ต่อตัวผู้ว่าฯ ของกทม. เราไม่ต้องถามคนทั้งประเทศ เพื่อจะรู้ทัศนคติต่อนายกฯ เราไม่ต้องถามคนทั้งกรุงเทพฯ เพื่อจะรู้ทัศนคติต่อผู้ว่าฯ กทม. เราสุ่มตัวอย่าง
ถ้าวิจัยเป็นก็สุ่มตัวอย่าง รู้จักวิธีเลือกตัวอย่างให้ดี แล้วมันจะสะท้อน จะเป็นตัวแทนภาพรวมของกลุ่มทั้งหมด ของกลุ่มคนทั้งหมด
การที่พระพุทธเจ้าสอนสติปัฏฐาน สอนไม่ได้แตกต่างกับหลักที่หลวงพ่อบอกเลย สุ่มตัวอย่างมาเรียน ถ้าเข้าใจในสิ่งที่เรียนแล้วจะเข้าใจทั้งหมด
แล้วพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ให้เราไปสุ่มส่งเดช ท่านกำหนดหัวข้อมาให้แล้ว อย่างเรื่องกาย ให้สุ่มเรียนอะไรบ้างเรื่องกาย ที่ง่ายๆ เช่น ร่างกายหายใจออกรู้สึก ร่างกายหายใจเข้ารู้สึก ทำอยู่แค่นี้
สุ่มตัวอย่างของร่างกายมา เอาแค่การหายใจอย่างเดียว
ถ้าเมื่อไรเราหายใจไปเรื่อยๆ จิตหนีไปเรารู้ สติมันก็เกิด
ต่อไปพอมีสติมีจิตเป็นผู้รู้ผู้ดูแล้ว
พอสติที่แท้จริงเกิด จิตจะเป็นผู้รู้อัตโนมัติเลย
สมาธิที่ถูกต้องจะเกิดอัตโนมัติขึ้นมา
พอมีสติระลึกรู้อารมณ์ในสติปัฏฐาน
ก็เป็นอารมณ์รูปนามนั่นล่ะ
โดยมีสติถูกต้องปุ๊บสมาธิที่ถูกต้องก็เกิด …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
27 สิงหาคม 2565
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา