15 ก.ย. 2022 เวลา 02:55 • ปรัชญา
“เข้าใจตัวเอง เข้าใจคนอื่น เข้าใจโลก
ใจจะร่มเย็นเป็นสุข ไม่เดือดร้อนไปกับโลกหรอก”
“ … พวกเราพยายามฝึกตัวเอง มีสติเรื่อยๆ ทำสติปัฏฐาน เลือกเอาถนัดอะไรเอาอันนั้น ถนัดกายก็เอากาย ถนัดกายบรรพไหนหมวดไหน ก็เอาอันนั้น
ถนัดเวทนาก็เอาเวทนา เวทนาทางกายก็เล่นยากหน่อย เวทนาอีกอันหนึ่ง เวทนาทางใจก็ง่ายหน่อย
ถนัดดูจิตก็ดูจิตไป แล้วสติเราจะเร็วขึ้นๆ สมาธิก็อัตโนมัติขึ้น เกิดอะไรขึ้น จิตมันจะดีดตัวเป็นผู้รู้ขึ้นมาอัตโนมัติเลย โดยที่ไม่ได้เจตนา
ถ้าเราฝึกจนถึงจุดนี้ได้ เราไม่ต้องกลัวหรอกเวลาตาย เวลาตายจิตเราจะตั้งมั่นเด่นดวงขึ้นมา อย่างไรก็ไปสุคติ มีสติจนกระทั่งตายไป อย่างไรก็สุคติ เพราะตายไปด้วยจิตที่มีสติ ด้วยจิตที่มีสัมมาสมาธิ
จิตที่มีสัมมาสมาธิต้องมีสติเสมอ
เพราะฉะนั้นถ้าเมื่อใดมีสติเมื่อนั้นโอเคแล้ว
แต่สติมี 2 อย่าง สติโลกๆ กับสติรู้กายรู้ใจ
สติโลกๆ เรียกสติเฉยๆ
สติรู้กายรู้ใจพระพุทธเจ้าท่านเรียกสัมมาสติ
เพราะฉะนั้นที่หลวงพ่อพูดมาตลอดเรื่องของสัมมาสติ ไม่ใช่เดินถนนแล้วไม่ตกท่อ น้ำกำลังท่วมกทม.เดินๆ ไปหล่นปุ๊บลงไปในท่อระบายน้ำ โผล่ไม่ขึ้นแล้วเพราะน้ำพาไปไหนแล้วก็ไม่รู้ บนหัวเราเป็นถนนไปแล้ว
ถ้าอย่างนั้นเดินไม่ตกท่อ ไม่ใช่สติปัฏฐาน เป็นสติธรรมดา ข้างขวดเหล้าชอบเขียน “ดื่มสุราทำให้ขาดสติ” รู้แล้วมาขายทำไม ทำให้ขาดสติ สติอันนั้นสติโลกๆ
แต่สติที่พวกเราชาวพุทธมุ่งคือสติปัฏฐาน คือสติที่ระลึกรู้กาย สติรู้เวทนา สติรู้จิตของตนเอง สติรู้รูปธรรม นามธรรม รู้กุศลธรรม อกุศลธรรม รู้กระบวนการทำงานของจิต สิ่งเหล่านี้
ฉะนั้นเราต้องฝึก ต้องซ้อม ไม่ฝึกไม่ซ้อมทำไม่ได้หรอก ก็ต้องทำเอา แล้วเวลาฉุกเฉินจวนตัว เวลาจะตาย จิตจะตั้งมั่นขึ้นมาแล้วตายอย่างสง่าผ่าเผย
หรือเวลาเกิดอุบัติเหตุคอจะหัก ก็อาจจะทุเลาได้ เปลี่ยนเป็นแขนหัก หลบเลี่ยงได้ ช่วยเราได้เยอะ ไฟไหม้บ้านคนอื่นตกใจ เราก็เฉยๆ ไม่ตกใจ
พอสติปัญญาทำงานควรจะขนอะไรหนี ขนของเครื่องอยู่นอกประกัน เครื่องเพชรอะไรต่ออะไร ไม่ใช่ขนตุ่มน้ำ คนโบราณตกใจขนตุ่มน้ำ กำปั่นใส่เงินไม่ขนไปแบกตุ่มน้ำ วิ่งออกไปนอกบ้าน อย่างนั้นไม่มีสติ
ถ้าเกิดอะไรขึ้นแล้วสติทำงาน มันจะรู้ว่าควรทำอะไร ใช้ประโยชน์ได้ทั้งทางโลก ใช้ประโยชน์ได้ทั้งทางธรรม ใช้ประโยชน์ทั้งในปัจจุบัน ใช้ประโยชน์สำหรับอนาคต
อย่างถ้าเราจะตายด้วยความมีสติ เป็นประโยชน์ในอนาคต
แล้วถ้าเราสามารถมีสติ มีสมาธิ แล้วเกิดปัญญาในขณะนั้น
เป็นประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน ฉะนั้นเจริญไว้ สติ ดูไปเรื่อยๆ
ขอยลโฉมคนในศาลาหน่อย ในศาลารู้สึกไหมจิตเราเปลี่ยน พอหลวงพ่อบอกว่าจะดูพวกเรา จิตเราก็เกิดความหวาดระแวง หวาดระแวงรีบอึดตั้งป้อมแล้ว จะต้องพยายามดีให้หลวงพ่อเห็น
ตรงที่พยายามดีนั้นล้มเหลวไปแล้ว
ตรงที่จิตฟุ้งซ่านแล้วรู้ว่าฟุ้งซ่าน ตรงนั้นดี
ดีหรือเลวในการปฏิบัติ ไม่เหมือนดีหรือเลวในทางจริยธรรม
ถ้าทำชั่วทำอะไร เลวในทางจริยธรรม
ทำบุญ ทำกุศล จิตใจดี อันนี้เป็นบุญในทางจริยธรรม
แต่ในทางการเจริญสติ เจริญปัญญา
จิตเป็นอกุศลรู้ว่าเป็นอกุศล ดี
อย่างจิตเราฟุ้งซ่านเรารู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน ดี
จิตเป็นอกุศลไม่รู้ว่าเป็นอกุศล เลว
มันเลวเพราะไม่รู้เท่าทัน
ถ้าจิตเป็นกุศลไม่รู้ว่าเป็นกุศล อันนี้ก็เลวเหมือนกันใช้ไม่ได้
ถ้าจิตเป็นกุศลเรารู้ว่าเป็นกุศล อันนี้ดี
เพราะฉะนั้นดีกับเลว อยู่ที่ว่าเรารู้ทันหรือไม่รู้ทัน
ไม่ใช่อยู่ที่ตัวมันดีหรือตัวมันเลว
ตัวมันดีตัวมันเลวนั้นเป็นเรื่องทางจริยธรรม
แต่ในทางการปฏิบัติ ตัวไหนที่เรารู้ทัน อันนั้นดี
อย่างจิตเราโกรธขึ้นมาเรารู้ว่าโกรธ อันนี้ดี
ดีในการปฏิบัติ แล้วความโกรธจะสอนธรรมะเรา
ความโลภ ความหลง สอนธรรมะเราได้หมดเลย
แล้วก็เฝ้ารู้เฝ้าดูไป
เพราะฉะนั้นมีกิเลสอะไรเกิดขึ้นก็รู้ทัน มีกิเลสเกิดขึ้นรู้ทัน
นั่นล่ะการเจริญสติ เจริญปัญญา
ประคองจิตอยู่นิดหนึ่ง ประคอง เพิ่งจะเริ่มประคองนี่ล่ะ รู้สึกไหมมันตั้งท่า เหมือนนักมวยตั้งการ์ด บางคนเลี้ยงหมาเลี้ยงแมว จิตใจผูกพัน จดจ่อ
ถ้าจิตใจไปผูก ไม่ดี จิตใจผูกอะไรก็ไม่ดีทั้งนั้นล่ะ
เมตตา ความเมตตา อย่างสมมติเรามีหมามีแมว
เรามีความเมตตา แต่ราคะความเป็นเจ้าของ รู้สึกนี่ของเราๆ
เราพัฒนาเมตตาไม่พัฒนาราคะขึ้นมา
ค่อยๆ ฝึกตัวเองไป
พัฒนาความกรุณาอย่าให้มันเปลี่ยนเป็นโทสะ
อย่างเราเห็นลูกเรา น้ำท่วมแล้วชอบไปลุยน้ำเล่น
กลัวตกท่อ กลัวงูกัด กลัวไฟฟ้าดูด
ห้ามไม่ฟังเราโกรธ กรุณาเปลี่ยนเป็นโทสะ
เมตตา เราเมตตาคนนี้ เมตตามากๆ กลายเป็นผูกพันเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ เมตตามันก็พลิกไปเป็นราคะได้
ฉะนั้นเราคอยสำรวจใจตัวเอง ไม่ว่าจะมีเมตตา กรุณา หรือมุทิตา มุทิตานี่ยินดีที่ผู้อื่นเขาได้ดี อันนี้แก้ความอิจฉาของเรา แต่ไม่ระวังก็หมั่นไส้ขึ้นได้ อะไรมันจะดีตลอดเวลา เขาดีเกินไปชักหมั่นไส้ เป็นกิเลสแทรก ก็ต้องหัดมีอุเบกขา
1
มีเมตตาแต่ก็มีอุเบกขา
มีกรุณา มีมุทิตา ก็มีอุเบกขากำกับ
อุเบกขาไม่ใช่ใจไม้ไส้ระกำ
ใจไม้ไส้ระกำนั้น ใจร้ายเป็นอกุศล
ใจที่มีอุเบกขาเป็นใจที่ดี
ใจเราจะเกิดอุเบกขาได้ ถ้ามันเข้าใจกฎแห่งกรรม
อย่างเรามีลูก เรารักๆ ลูกเราเกิดตายไป จิตเราเศร้าหมอง
แต่ถ้าเรารู้กฎแห่งกรรม ทำกรรมที่อยู่ร่วมกันเท่านี้
หรือพ่อแม่เราจะตาย เรายอมรับเรื่องกฎแห่งกรรม
ทำบุญร่วมกันมาเท่านี้ล่ะ เขาก็ต้องไปตามทางของเขา
อย่างนี้ใจเราก็จะเป็นอุเบกขา
ยอมรับสิ่งที่มีที่เป็นอยู่ ไม่ทุรนทุราย
ฉะนั้นเราสังเกตดู พยายามเรียนรู้กฎแห่งกรรมไว้ให้มากๆ เรียนอย่างไรกฎแห่งกรรม
เรียนที่ตัวเอง สังเกตดูเวลาจิตของเราทำชั่ว คิดชั่ว สิ่งที่ตามมาคือจิตที่เศร้าหมอง พอจิตเราคิดไปทางบุญทางกุศล เห็นไหมมีความสุขตามมา จิตผ่องใสเบิกบาน
เวลาจิตเป็นอกุศลความทุกข์ตามมาทันที
เวลาจิตเป็นบุญเป็นกุศล เห็นไหมความสุขตามมาทันที
เราเริ่มเรียนรู้กฎแห่งกรรมแล้ว
เวลาจิตเรามีราคะรุนแรง
ถัดจากนั้นถ้าไม่เซื่องซึมไปส่วนใหญ่ก็จะเป็นโทสะ
ถัดจากราคะแรงๆ โทสะมักจะแรง นี่กำลังรับวิบาก
เพราะเวลาจิตมีโทสะจิตจะไม่มีความสุข
เราค่อยๆ ดูจากตัวเองนั่นล่ะ เวลาเราคิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว จิตเราเศร้าหมอง เรากำลังรับผลกรรมอยู่ อย่างบางคนโมโหพ่อแม่ ตะคอกพ่อแม่ ดุพ่อแม่ พอหายโมโหแล้วเสียใจ จิตใจมีความทุกข์ตามหลังมา
เราเรียนรู้กฎแห่งกรรมที่ใจของเราเอง
แล้วต่อไปมันจะขยายความรับรู้ออกไปที่คนอื่น
เราจะพบเลยว่ากายนี้ใจนี้ของเรา เราก็ยังบังคับมันไม่ได้
ฉะนั้นกายคนอื่นจะแก่ จะเจ็บ จะตาย เราบังคับไม่ได้
อย่างพ่อเราไม่สบาย เราก็ดูแลเต็มที่ แต่ถ้าเขาจะต้องตาย อันนั้นเป็นเรื่องของกรรมแล้ว เขาทำกรรมของเขาที่จะได้เป็นมนุษย์ในชาตินี้แค่นี้ ธาตุขันธ์มันก็แตก ถ้าเรารู้ ยอมรับทุกอย่างเป็นไปตามกรรม เราก็ไม่เศร้าหมอง
ฉะนั้นพยายามเรียนรู้กฎแห่งกรรม เรียนจากใจของเรา ต่อไปมองโลกข้างนอกก็จะเข้าใจด้วย ถ้าเข้าใจจิตตนเองก็จะเข้าใจโลกข้างนอกด้วย พอเข้าใจแล้วจิตก็จะเป็นอุเบกขา เป็นอุเบกขาเพราะมีปัญญาเห็นความจริง ไม่ใช่ใจร้าย
เห็นคนตกน้ำช่วยได้ก็ไม่ช่วย บอกอุเบกขา อันนี้พวกใจร้าย เห็นคนติดในถ้ำ ยังมีความสามารถจะช่วยเหลือกันได้แล้วไม่ช่วย บอกเป็นกฎแห่งกรรม อันนั้นไม่ใช่ อันนั้นใจร้าย ไม่ใช่อุเบกขา
ค่อยๆ ฝึกที่จิตของเรา ในที่สุดจิตใจเราก็จะมองโลกตรงไปตรงมา แล้วไม่ชั่ว รับรองว่าไม่ชั่ว ฝึกจิตฝึกใจของตัวเองไป ความเมตตา ความกรุณา มีอัตโนมัติขึ้นมาในใจ
ความแปลกคือพวกขี้โมโห เวลาภาวนาดีๆ ขึ้น ความเมตตาสูง ยิ่งพวกขี้โมโหร้ายๆ สุดท้ายความเมตตาสูงๆ เป็นเรื่องแปลกมากเลย มันสุดขั้วกันเลย
เพราะฉะนั้นเราพยายามมาเรียนรู้กฎแห่งกรรมในใจของเราเรื่อยๆ ไป อย่างถ้าเราปล่อยใจเราฟุ้งซ่าน ผลของกรรมจิตใจเราไม่มีความสุข
เราภาวนาของเราทุกวันๆ จิตเรามีกำลังมากขึ้นๆ ตั้งมั่นเด่นดวง สงบสุข ก็เป็นผลของกรรม
เราทำกรรมฐานจิตใจเราก็ดีขึ้น
เราปล่อยจิตใจตามโลก ตามกิเลส จิตใจเราก็เศร้าหมอง
นี่ก็คือเรื่องของกฎแห่งกรรม
เรียนให้เยอะๆ แล้วเข้าใจตัวเอง เข้าใจคนอื่น เข้าใจโลก
ใจจะร่มเย็นเป็นสุข ไม่เดือดร้อนไปกับโลกหรอก … “
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
27 สิงหาคม 2565
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา