16 ก.ย. 2022 เวลา 10:30 • อาหาร
"ใบอนุญาตกินควายดิบ: พิธีกรรมเลี้ยงปู่แสะย่าแสะของคนลัวะ"
ค่านิยมกินอาหารดิบของคนลาวล้านนาและล้านช้างในปัจจุบันถูกท้าทายถึงขั้นตีตราจากนักโภชนาการ ต่างจากปลาดิบญี่ปุ่นที่ทวีความนิยมและมีคนพูดถึงข้อเสียของมันไม่มากนัก พื้นที่วัฒนธรรม และพื้นที่สื่อที่นำเสนออาหารดิบของคนพื้นเมืองดั้งเดิมในปัจจุบันจึงหดแคบ มีเพียงพื้นที่พิธีกรรมโบราณที่การกินควายดิบได้รับการยกเว้น
ปู่แสะย่าแสะในร่าง "ม้าขี่" กับซากควายดิบในพิธีกรรม "เลี้ยงดง" ปี 2561 (ภาพ: workpointtoday)
ขณะร่างทรงปู่แสะย่าแสะนั่งกินเนื้อควาย (ซ้ายสุดติดต้นไม้) ท่ามกลางกองทัพสื่อมวลชน
น่าแปลกที่พฤติกรรมการกินของคนเปลี่ยนได้ด้วยสื่อสังคมออนไลน์ เกิดปรากฏการณ์ “ถ่ายก่อนกิน” แบ่งปันออกสื่อ ยุคที่ใครต่างมีมือถือ และโทรศัพท์มือถือทุกรุ่นล้วนมีฟังก์ชั่นถ่ายภาพ เมื่อพบสิ่งสะดุดท้าทายสายตาก็ยกกล้องขึ้นส่องพึ่บพั่บ อำนาจของกล้องถ่ายภาพอยู่เหนือความขรึมขลังของพิธีกรรม ทุน แม้แต่ระบบราชการซึ่งเคยสะกดวิญญาณ (Spirit) สามัญชนเอาไว้ช้านาน
1
ไม่เว้นแม้แต่พิธีเลี้ยงผี “ปู่แสะย่าแสะ” ดังกล่าวข้างต้นที่สืบทอดมาแต่ครั้งบรรพกาล ก็ถูกกำกับจากคนถือกล้องรายรอบลานพิธี รวมทั้งการปรับเปลี่ยนเนื้อหาพิธีกรรมให้สอดรับกับกระแสธารอนุรักษ์ธรรมชาติและท้องถิ่นนิยม และการกินควายดิบก็เป็นความชอบธรรม
1
เมื่อต้นเดือนมิถุนายน ปี 2552 ผมมีโอกาสเข้าร่วมสังเกตการณ์พิธีกรรม “เลี้ยงดง” หรือ “เลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะ” ที่บ้านแม่เหียะใต้ เชิงดอยคำ หลังสถานีวิจัยเกษตรแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
1
เคยได้ยินได้ฟังพิธีกรรมเก่าแก่นี้มาบ้างแล้วว่า แต่เดิมชาวบ้าน พร้อมใจกันจัดพิธีกรรมนี้ขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเซ่นสังเวยปู่แสะย่าแสะบนลานโล่งใต้ร่มไม้หลายคนโอบสูงชะลูดครึ้มเขียว กลาง “ดง” ซึ่งแดดส่องไม่ถึงดิน แต่สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาก็คือ การเมืองท้องถิ่นได้เข้าไปยึดครองพื้นที่ อุปถัมภ์ค้ำชูปู่ย่าอย่างเป็นทางการ
ตำนานเชียงใหม่ปางเดิม ของ สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บันทึกความเป็นมาของพิธีเลี้ยงดงเอาไว้ว่า
ในอดีตกาล ย่านนี้เป็นบ้านเมืองของคนลัวะ ชื่อว่า “บุรพนคร” ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำปิงและดอยอ้อยช้าง (อุจฉุคีรี) อยู่มาวันหนึ่งชาวเมืองได้รับความเดือดร้อนจากยักษ์ 3 ตน พ่อแม่ลูกที่มาจับชาวเมืองไปกินทุกวัน จนชาวเมืองต้องพากันอพยพหลบหนีไปอยู่ที่อื่น
รูปปั้นปู่แสะย่าแสะภายในศาลที่สร้างโดยงบประมาณขององค์การบริหารส่วนจังหวัด
กล่าวถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงรับรู้ด้วยพระสัมมาสัมโพธิญาณ เห็นความเดือดร้อนของชาวเมืองบุพนคร พระองค์พร้อมด้วยเหล่าสาวกจึงเสด็จมาประทับที่ดอยใต้ ได้มีคนลัวะ 4 คน เข้าเฝ้าด้วยความเลื่อมใสถวายอาหารที่นำติดตัวมา พระองค์ทรงอนุโมทนาและแสดงธรรมโปรดจนชาวลัวะทั้ง 4 เห็นธรรมและขอบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์
พระพุทธองค์ได้มีพุทธทำนายว่า ในภายภาคหน้า เมืองของคนลัวะแห่งนี้จะได้ชื่อว่า “เมืองชีใหม่” (ต่อมาเพี้ยนเป็น “เชียงใหม่”) โดยเรียกตามเหตุการณ์ที่คนลัวะบวชใหม่ (ในอดีตเรียกพระว่าชี) จากนั้นพระพุทธเจ้าได้สนทนากับพระลัวะทั้ง 4 รูป จนรับรู้ความเดือดร้อนของชาวเมืองโดยตลอด รับสั่งให้พระอานนท์ไปตามยักษ์ทั้ง 3 ตนมาพบ ทรงแสดงอภินิหารให้เห็นและแสดงธรรมให้ฟังจนเกิดความเลื่อมใส ยักษ์ทั้ง 3 จึงได้สมาทานศีลห้าด้วยความปีติ
1
ต่อมายักษ์นึกขึ้นได้ว่า ตนเองเป็นยักษ์จำเป็นต้องกินเนื้อเป็นอาหาร จึงต่อรองขอกินสัตว์หูยาวแทนมนุษย์ ยักษ์ทูลขอกินควายวันละตัว พระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาต ยักษ์จึงทูลขอกินควายเดือนละตัว พระพุทธองค์ก็ไม่ทรงอนุญาต ที่สุดยักษ์จึงทูลขอกินควายปีละตัว พระพุทธองค์ไม่ตอบ
ยักษ์จึงขอกับเจ้าเมือง และเจ้าเมืองตกลงให้กินปีละตัว โดยยักษ์ปู่แสะขอกินควายเผือกเขาคำ ส่วนยักษ์ย่าแสะขอกินควายดำกลีบเผิ้ง (ควายหนุ่มเขาเสมอหู) ลักษณะเป็นควายรุ่น เขาเพียงหู กีบเท้าสีน้ำผึ้ง ที่ยังไม่เคยลงไถคราดดิน นำมาชำแหละเอาเครื่องในออกและแผ่นอนไว้ในคอก
มีข้อแม้ว่า ยักษ์ต้องรักษาพระพุทธศาสนาให้ครบ 5,000 ปี ตลอดจนปกปักรักษาชาวเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุข
1
พระพุทธเจ้าได้มอบหมายให้ยักษ์สองผัวเมียดูแลรักษาดอยคำและดอยอ้อยช้าง ส่วนลูกยักษ์ได้บวชเป็นพระภิกษุ ต่อมาลาสิกขาออกมาถือเพศเป็นฤๅษี มีนามว่า “สุเทพฤๅษี”
ส่วนดอยอ้อยช้าง หรือ ดอยเหนือ ต่อมาเรียกว่า ดอยสุเทพ ตามชื่อฤๅษีสุเทพซึ่งบำเพ็ญพรตอยู่ที่ถ้ำฤๅษีหลังดอยสุเทพ (ปัจจุบันปรากฏร่องรอยของบ่อน้ำ ชาวบ้านเรียกกันว่า บ่อฤๅษี)
ตำนานข้างต้น สืบทอดความเชื่อมาจนปัจจุบัน กล่าวคือ ภายหลังการเสียชีวิตของปู่แสะย่าแสะ ชาวบ้านชาวเมืองยังคงเกรงกลัวอิทธิฤทธิ์ และต้องการให้วิญญาณปู่แสะย่าแสะช่วยรักษาพระศาสนาและปกป้องคุ้มครองชาวเมือง จึงจัดให้มีพิธีเซ่นสรวงเป็นประจำทุกปีในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9 เหนือ (เป็งเดือนเก้า)
ตำนานพื้นเมืองเชื่อกันว่า ปู่แสะย่าแสะ เป็นบรรพชนของคนลัวะ ซึ่งส่วนหนึ่งได้สืบเชื้อสายมาเป็นคนล้านนาในปัจจุบัน มีหน้าที่ดูแลรักษาเมืองเชียงใหม่ ดังนั้น เจ้าเมือง เสนาอำมาตย์ และราษฎร จะต้องร่วมกันทำพิธีเลี้ยงปู่แสะย่าแสะ
1
เชื่อกันว่า หากไม่ทำพิธีเลี้ยงปู่แสะย่าแสะ บ้านเมืองจะเกิดภัยพิบัติ เช่นในสมัยพระเจ้าเมกุฏิ เจ้าเมืองเชียงใหม่ บ้านเมืองเดือดร้อนทุกข์เข็ญอย่างสาหัส ชาวบ้านโจษจันว่า เป็นเพราะพระเจ้าเมกุฏิสั่งห้ามชาวบ้านชาวเมืองทำพิธีเซ่นสรวงปู่แสะย่าแสะ เป็นเหตุให้เมืองเชียงใหม่ต้องเสียเอกราช ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า (เจ้าเมืองเชียงใหม่องค์นี้ถูกจับไปเป็นองค์ประกันที่พม่า ภายหลังสิ้นพระชนม์ได้กลายเป็นแนต [Nat] ที่ชาวพม่าให้ความเคารพศรัทธามากตนหนึ่ง)
1
ต่อมาในสมัยของเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าเมืองเชียงใหม่องค์สุดท้าย ได้มีการฟื้นฟูพิธีกรรมเลี้ยงดงหรือพิธีบวงสรวงปู่แสะย่าแสะขึ้นอีกครั้ง และปฏิบัติสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
พิธีเลี้ยงปู่แสะย่าแสะทำสืบต่อกันมาจนถึง พ.ศ. 2480 ทางราชการได้สั่งห้ามจัดพิธีนี้ (กรณีนี้คล้ายกับที่ได้มีการห้ามจัดพิธีรำผีมอญที่พระประแดงในยุคหนึ่ง เพราะทางการเกรงว่าการทำนายทายทักในทางร้ายของร่างทรงหรือผู้อำนวยพิธีจะทำให้ชาวบ้านชาวเมืองตื่นกลัว)
1
จนถึงสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา จึงได้รับการรื้อฟื้นขึ้นอีกครั้งแต่ให้ทำพิธีทางทิศตะวันออกบริเวณเชิงดอยคำ โดยมีชาวบ้านเชิงดอยสุเทพและบ้านแม่เหียะเป็นผู้ทำพิธี ซึ่งข้อกำหนดอย่างหนึ่งของการเป็นร่างทรง (ม้าขี่) ก็คือ บุคคลหนึ่งห้ามเป็นร่างทรงติดต่อกันเกิน 3 ปี
โดยรอบบริเวณลานพิธีเลี้ยงดงเป็นป่าไม้ค่อนข้างสมบูรณ์ ล้วนแต่ไม้ขนาดใหญ่ทั้งสิ้น สภาพอากาศเย็นชื้น
เช้าวันที่ผมไปถึงนั้น ฝนโปรยปรายลงมาตั้งแต่ก่อนฟ้าสาง ยอดหญ้าฉ่ำน้ำ ผืนดินนุ่มไร้ฝุ่น ท้องฟ้าครึ้มด้วยเมฆขาวหม่น บรรยากาศขรึมขลังชวนศรัทธา สิ่งที่ดูจะขัดแย้งกับบรรยากาศก็คือ เสียงล้อรถเสียดสีกับถนนและแตรรถกลบเสียงวงฆ้องกลอง (ปี่พาทย์) รถนานาชนิดจอดเรียงรายยาวเหยียด รวมทั้งรถตู้นักท่องเที่ยวหลากสัญชาติ
ป้ายผ้าปากทางเข้าลานพิธี ระบุชื่องานและหน่วยงานที่สนับสนุน
เมื่อถึงปากทางมองเห็นผาม (ปะรำพิธี) แต่ไกลกลางลานโล่ง สองรายทางเต็มไปด้วยร้านค้าแผงลอย (รวมทั้งเหล้าสี เหล้าขาว และเหล้าตอง แต่ปีหลังจากนี้คงจะไม่มี ภายหลังหน่วยงานส่งเสริมสุขภาพได้เข้าไปสนับสนุนกิจกรรมชาวบ้าน และอาจจะรวมไปถึงการนำควายมาต้มก่อนเซ่นสรวงปู่แสะย่าแสะ)
ด้านขวาเกือบสุดทางเดินก่อนถึงผาม เป็นอาสนสงฆ์ ด้านซ้ายเป็นเต้นท์กองอำนวยการ มีเสียงประชาสัมพันธ์ชื่อเสียงและผลงานของนักการเมืองท้องถิ่น และโฆษณาขายผืนผ้าพระบฏจำลอง
ขณะที่ผมเดินทางไปถึงนั้น ผ้าพระบฏ (ภาพเขียนพระพุทธเจ้า) ถูกนำออกจากหีบพระบฎ ขึงโยงไว้กับยอดไม้สูงเหนือหัวแล้ว ต่อจากนั้นพิธีกรรมก็เริ่มขึ้น
ภาพพระบฏ
ร่างทรงปู่แสะย่าแสะขึ้นไปยังผาม เปลี่ยนชุดตามแบบโบราณ เน้นผ้านุ่งผ้าห่มสีแดง ทำพิธีเซ่นสรวงเชิญวิญญาณปู่แสะย่าแสะเข้าร่าง รับหมากใส่ปากเคี้ยว สูบบุหรี่มอญมวนใหญ่ กระโจนลงจากผาม มุ่งตรงไปยังซากควายที่ชำแหละแผ่ไว้ทั้งเนื้อ หนัง และหัวที่มีพร้อมเขาครบทุกชิ้นส่วนกลางลานพิธี
ร่างทรงขึ้นขี่บนหลังควาย เกลือกร่างไปบนซากควาย ฉีกเนื้อใส่ปาก มือวักเลือดในภาชนะขึ้นดื่ม หิ้วเนื้อควายติดตัวไปบางส่วน เดินตรวจตราศาลบูชาขนาดเล็กที่ตั้งอยู่โดยรอบลานพิธี ทั้ง 12 ศาล ตามจำนวนปู่แสะย่าแสะ ลูก หลาน และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญของเมือง ภายในศาลวางกระทงใบตองตึง ใส่เครื่องเซ่นคาวหวานนานาชนิด
1
หลังปู่แสะย่าแสะรับเครื่องเซ่นแล้วครู่ใหญ่ก็เกิดเหตุอัศจรรย์ภาพพระบฏแกว่งไกว ชาวบ้านเชื่อกันว่า เป็นปาฏิหาริย์ซึ่งจะเกิดขึ้นทุกปี โดยไม่มีลมพัดต้องแม้แต่น้อย ภาพพระบฏที่แกว่งไปมาทำให้ร่างทรงปู่แสะย่าแสะต้องกลับเข้าผาม เปลี่ยนเครื่องแต่งกายเป็นชุดสีขาว เข้าไปไหว้สาพระบฏ อันเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของพระพุทธเจ้า
จากนั้นปู่แสะย่าแสะก็จะเดินเยี่ยมเยียนชาวบ้าน มีการเข้าทรง “เจ้านาย” เพื่อพยากรณ์ความเป็นอยู่และความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมือง การบอกกล่าวฝากฝังต่อนักการเมืองและผู้นำชุมชนให้บำรุงรักษาป่าไม้ ไม่ให้ใครบุกรุกทำลาย สาปแช่งคนบุกรุกให้มีอันเป็นไป (โชคดีที่ป่าผืนนั้นอยู่ในเขตทหาร คำสาปแช่งของปู่แสะย่าแสะจึงยังคงความศักดิ์สิทธิ์) ให้ชาวบ้านสามัคคีช่วยกันแก้ไขปัญหา
1
นอกจากตำนานจะกล่าวอ้างถึงคนลัวะ ชนพื้นเมืองของเชียงใหม่แล้ว ยังเป็นการผสานความเชื่อเรื่องผีที่มีมาแต่เดิม ผนวกเข้ากับความเชื่อทางพุทธศาสนาที่เข้ามาใหม่ ให้ดำเนินคู่กันอย่างกลมกลืน ไปกันได้
เท่ากับว่า ตำนานและพิธีกรรมในอดีตมีส่วนสำคัญในการร้อยเรียงผู้คนต่างชาติพันธุ์ ความเชื่อ และลัทธิทางศาสนา ด้วยกติกาที่ชุมชนร่วมกันตกลงในการที่จะอยู่ร่วมกัน แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป การเข้ามาของทุน สื่อสารเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งการเมือง นอกเหนือจากปัจจัยการดำรงชีวิต ผลประโยชน์และสถานภาพทางสังคมก็ได้เข้ามาเบียดบังพื้นที่ของผีและพรากความกลมเกลียวไปจากชุมชน
อำนาจสื่อรุกล้ำประชิดพื้นที่อำนาจของผี เพื่อให้ได้ภาพที่สวยงาม ในยุค Digital โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพได้ราคาถูกหาซื้อง่าย ไม่นับรวมนักเลงกล้องมืออาชีพ กล้องวิดีโอจากนักท่องเที่ยวหลายชาติ นักข่าวหลายสำนัก นับด้วยตาคร่าว ๆ (ต้องไม่ลืมนับผู้เขียนด้วย) ไม่ต่ำกว่า 100 ตัว รั้วไม้หยาบ ๆ กั้นได้แต่เพียงชาวบ้านเท่านั้น รั้วไม่สามารถกั้นช่างภาพและนักการเมืองให้เข้าไปเกาะติดผีได้
สื่อมวลชนสำนักต่างๆ รายงานเหตุการณ์สดๆ กลางลานพิธี
สื่อมวลชนรุมล้อมบันทึกภาพขณะร่างทรงปู่แสะย่าแสะตรวจตรารับเครื่องเซ่นในศาล
คำนิยามพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และพื้นที่อำนาจของปู่แสะย่าแสะจึงน่าจะถูกท้าทายอย่างรุนแรง น่าสนใจว่า พ่ออุ้ยแม่อุ้ยที่นั่งราบพนมมือแต้อยู่กับพื้นนอกรั้วรู้สึกอย่างไร ขณะที่ช่างภาพและนักการเมืองท้องถิ่นพูดกับร่างทรงปู่แสะย่าแสะอันเป็นจิตวิญญาณของพวกเขา
“อย่าเพิ่งลุก ๆ นั่งต่อแป๊บนึง กัดเนื้อควายค้างไว้ ขอมุมสวย ๆ อีกภาพ...”
หรือคำที่ผู้ร่วมพิธีคนหนึ่งกล่าวพร้อมหัวเราะ
“ปีก่อน ๆ กว่าจะขึ้นต้นไม้ได้ต้องดันกันแล้วดันกันอีก ปีนี้นักท่องเที่ยวเยอะ กล้องทีวีก็เยอะ นายกเทศบาลมาเองด้วย ร่างทรงกระโดดปลิวขึ้นต้นไม้ไปเลย ปีนขึ้นไปสูงซะด้วย...”
ร่างทรงปู่แสะย่าแสะเมื่อปีก่อนหน้า (ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์)
ดูคล้ายกับว่านักการเมืองกับช่างภาพต่างพึ่งพาอาศัยกันและกัน นั่นคือ นักการเมืองเกาะกุมจูงมือร่างทรงอยู่ชิดใกล้ที่สุดเพื่อออกสื่อ นักข่าวช่างภาพก็ต้องการภาพที่มุมสวยกว่าใคร การช่วงชิงจังหวะทำให้พิธีกรรมชุลมุน
ผมบอกไม่ได้ว่าผีมีจริงหรือไม่ แต่เท่าที่ผ่านมา มนุษย์ใช้งานผีด้วยความเคารพ ลำพังนักการเมืองไม่เข้ามาอิงแอบบารมีผีใช้เป็นฐานคะแนน ผีทั้งหลายก็มีที่อยู่ที่ยืนน้อยลงทุกทีเพราะความเชื่อเก่าถูกท้าทายลงทุกวัน ยิ่งทุกวันนี้ ภาพผีที่ถูกชี้นิ้วฉุดลากไปมาตรงหน้า อย่างที่นักการเมืองต้องการ จึงน่าจะเป็นเรื่องยากที่จะประคับประคองศรัทธาของผู้คนให้อยู่ต่อ
1
ซากความหลังร่างทรงปู่แสะย่าแสะทิ้งไว้
ขั้นตอนสำคัญของพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ เริ่มต้นขึ้นเมื่อ ใครคนหนึ่งแอบดึงผ้าพระบฏที่แขวนห้อยลงมาจากกิ่งไม้ให้กวัดแกว่งไปมา ขณะที่ปู่แสะย่าแสะกินเนื้อควายและเดินตรวจดูเครื่องเซ่นไปรอบ ๆ ด้วยท่าทีเกรี้ยวกราด หน้าตาเนื้อตัวเปรอะเปื้อนไปด้วยคราบเลือดและเศษเนื้อควาย ผ้าพระบฏรูปพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่กวัดแกว่ง (โดยไม่มีลม) ทำให้ปู่แสะย่าแสะหยุดนิ่งดังต้องมนต์ เป็นไปตามพระดำรัสของพระพุทธองค์ที่มีต่อยักษ์ปู่แสะย่าแสะว่า
“ตราบใดที่เราตถาคตยังเคลื่อนไหว ห้ามยักษ์ทำร้ายและกินเนื้อมนุษย์”
ร่างทรงปู่แสะย่าแสะจึงได้สติ รีบกลับขึ้นผาม เปลี่ยนชุดใหม่เน้นสีขาวบริสุทธิ์แล้วเข้าไปไหว้สาพระบฏ
ยุคสมัยไม่ได้ทำให้พิธีกรรมเลี้ยงดงถูกกำกับด้วยนักการเมืองและสื่อ-มวลชน และการกินควายดิบที่ผิดหลักสุขอนามัยจะได้รับการยกเว้นเท่านั้น คำของปู่แสะย่าแสะยังสะท้อนยุคสมัย และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ...
ก่อนที่พระบฏจะกวัดแกว่งขึ้น (โดยไม่มีลม) ปู่แสะย่าแสะในร่างทรงได้แผดเสียงคำเมืองก้อง
มนุษย์พวกนั้น ที่มันอยู่ที่นี่ มันผู้เอาที่ดินของปู่ย่าตายายไปขายกิน มันผู้นั้นจงพินาศฉิบหาย กูจะไปกินมัน...พวกมึงจงประกอบแต่กรรมดี รู้จักรักและหวงแหนผืนป่า อนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม...
ปู่แสะย่าแสะ (มิถุนายน 2552)
2
รายการอ้างอิง
องค์ บรรจุน. (2556). ปู่แสะย่าแสะของคนลัวะ. ใน ศิลปวัฒนธรรม. 34(3): 30-34.
โฆษณา