Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bnomics
•
ติดตาม
17 ก.ย. 2022 เวลา 12:19 • ประวัติศาสตร์
Queen Elizabeth II ราชินีอังกฤษผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากกว่า 9 ทศวรรษ
4
เมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา เกิดความเศร้าโศกครั้งใหญ่ไปทั่วโลกกับข่าวการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งประเทศอังกฤษ
สำหรับประวัติศาสตร์ในตอนนี้ ทางทีม Bnomics จึงอยากนำเสนอเรื่องราวของพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ผู้ทรงดำรงบทบาทในเชิงสัญลักษณ์และผ่านเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของโลกมามากมายเกือบ 100 ปี
📌 เจ้าหญิงที่ห่างไกลบัลลังก์สู่การเป็นพระราชินีที่ยิ่งใหญ่แห่งอังกฤษ
พระราชินีเอลิซาเบธ (พระนามเดิมเอลิซาเบธ อเล็กซานดรา แมรี วินด์เซอร์) ประสูติเมื่อวันที่ 21 เมษายน ปี 1926 เป็นพระธิดาองค์ใหญ่ของเจ้าชายอัลเบิร์ต ซึ่งเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 2 ของกษัตริย์พระเจ้าจอร์จที่ 5 (เสด็จปู่)
1
หากนับตามลำดับการสืบราชบัลลังก์ในขณะนั้น เจ้าหญิงเอลิซาเบธถือเป็นหลานที่เกิดในลูกชายคนรองของกษัตริย์ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ห่างไกลและไม่มีใครคาดคิดว่าเจ้าหญิงองค์น้อยจะกลายมาเป็นผู้ครองบัลลังก์ของอังกฤษในวันนี้…
ในปี 1936 หลังการสละราชสมบัติของกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 8 (เสด็จลุง) ทำให้ลำดับการครองราชย์ตกไปอยู่ที่รัชทายาทลำดับถัดมาซึ่งก็คือเจ้าชายอัลเบิร์ต ดยุกแห่งยอร์ก (พระบิดาของเจ้าหญิงเอลิซาเบธ)
จากเจ้าหญิงที่อยากใช้ชีวิตเยี่ยงสามัญชนคนธรรมดา ต้องมาแบกรับภาระอันหนักอึ้งในฐานะรัชทายาทลำดับที่ 1 ของราชวงศ์…
📌 ภารกิจของพระราชินีเอลิซาเบธในฐานะ “สายลมแห่งสันติภาพ”
เชื่อว่าใครหลายคนคงคุ้นตากับภาพของพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 กับเจ้าชายฟิลลิปส์เดินทางไปทั่วโลก เพื่อพบกับผู้นำหรือบุคคลสำคัญทั้งในอดีตและปัจจุบันอย่างมากมาย
จากจุดเริ่มต้นจนถึงจุดสิ้นสุดรัชสมัย พระราชินีเอลิซาเบธเสด็จเยือนมากกว่า 120 ประเทศเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีและสร้างสันติภาพไปทั่วโลก
ในปี 1953 ภารกิจแรกคือ การเสด็จเยือนทั่วเครือจักรภพในระยะเวลา 6 เดือน โดยเริ่มจากการไปเยือนออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
1
หลังเสร็จสิ้นการเดินทางในเครือจักรภพ ในปี 1957 เริ่มเดินทางออกนอกเหนือทวีปยุโรป โดยเริ่มไปที่แคนนาดาและสหรัฐอเมริกา
1
ในปี 1961 ได้สร้างปรากฎการณ์ครั้งใหม่ คือ การเสด็จเยือนอนุทวีปอินเดียเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี
3
และในปี 1968 เป็นประมุขอังกฤษคนแรกที่เดินทางไปเยี่ยมเยียนอเมริกาใต้
1
และภาพเหตุการณ์ที่สะท้อนความเป็นผู้นำสายลมแห่งสันติภาพมากที่สุดอันหนึ่งของพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 คือ การเสด็จเยือนไอร์แลนด์เหนือในปี 2011 พร้อมจับมือกับนายมาร์ติน แม็คกินเนส อดีตผู้นำขบวนการไออาร์เอ (ขบวนการต่อสู้ของไอร์แลนด์เหนือเพื่อยึดดินแดนคืนจากอังกฤษ)
ปัญหาความขัดแย้งที่รุนแรงระหว่างอังกฤษและไอร์แลนด์เหนือในครั้งนั้น ทำให้ลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบตเทน ซึ่งเป็นญาติสนิทของพระราชินีถูกสังหารด้วยระเบิดจนเสียชีวิต
ดังนั้น ภาพการจับมือระหว่างพระราชินีเอลิซาเบธและนายมาร์ติน จึงถือเป็นช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญ เป็นสัญลักษณ์แห่งการให้อภัยซึ่งกันและกัน
2
ท่าทีที่เป็นมิตรของพระราชินีในครั้งนั้น สร้างความประทับใจให้กับผู้คนทั่วโลกเป็นอย่างมาก…
นอกจากการเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ อีกหนึ่งภารกิจของพระองค์ คือ การพบปะพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีอังกฤษในทุกสัปดาห์ เพื่อรับฟังและให้คำแนะนำต่อปัญหาที่เกิดขึ้น
ตลอดรัชสมัยของพระองค์ ทรงปฏิบัติงานร่วมกับนายกรัฐมนตรีอังกฤษทั้งหมด 15 คน ตั้งแต่นายวินสตัน เชอร์ชิล (นายกรัฐมนตรีคนแรกในรัชสมัย) สู่นางลิซ ทรัสส์ (นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน)
3
การพบกับนายกรัฐมนตรีอังกฤษในทุกยุคสมัย ทำให้พระองค์สามารถถ่ายทอดเรื่องราวและให้คำแนะนำจากประสบการณ์ที่ผ่านมาในยุคทุกสมัยได้อย่างแหลมคม
📌 คริสตศักราชที่ 1992 พายุที่ถาโถมและมรสุมครั้งใหญ่ของราชวงศ์
ในปี 1992 ไม่ใช่ปีที่ข้าพเจ้าจะมองย้อนกลับไปด้วยความยินดีได้เลย
สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2
สุนทรพจน์ข้างต้น คือคำกล่าวพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งอธิบายถึงความเจ็บปวดอันแสนสาหัสที่เกิดขึ้นกับราชวงศ์ โดยพระองค์ได้กล่าวคำว่า “Annus Horribilis” ซึ่งเป็นภาษาละตินแปลว่า “ปีแห่งมรสุม”
1
การรักษาสถาบันกษัตริย์ในฐานะสัญลักษณ์แห่งความดีงามเป็นที่น่าเชื่อถือและยกย่องของประชาชน คือ หนึ่งในภารกิจสำคัญของพระราชินีอลิซาเบธที่ 2
หากแต่โชคไม่ได้ดีเช่นนั้น หายนะครั้งใหญ่ที่ทำให้ราชวงศ์สั่นสะเทือนก็มาถึง…
ในปี 1992 เกิดมรสุมครั้งใหญ่จากข่าวการอื้อฉาวของราชวงศ์ เรื่องการหย่าร้างของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เจ้าหญิงแอนน์ และเจ้าชายแอนดรูว์ ซึ่งการหย่าร้างของราชวงศ์ในสมัยนั้นยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากสังคม สร้างความตึงเครียดให้กับราชวงศ์อย่างมาก
แม้ใกล้สิ้นสุดปี 1992 แต่เหตุการณ์เลวร้ายของราชวงศ์ยังไม่จบลงเพียงเท่านั้น..
เมื่อพระราชวังวินด์เซอร์ถูกไฟไหม้โหมกระหน่ำครั้งใหญ่ยาวนานเกือบ 12 ชั่วโมง
ภาพอันสลดของเจ้าชายแอนดรูว์และเหล่าข้าราชบริพารที่วิ่งไปมา เพื่อเก็บรักษาสมบัติล้ำค่า งานศิลปะอันเก่าแก่ของประเทศขึ้นหน้าหนึ่งทุกสำนักข่าว
ไฟไหม้ในครั้งนี้สร้างความเสียหายอย่างหนักจนไม่สามารถประเมินมูลค่าได้
พระราชวังที่กลายเป็นเถ้าถ่านต้องใช้เวลาบูรณะถึง 5 ปี เป็นจำนวนเงินกว่า 36.5 ล้านปอนด์
โดยเงินที่ใช้ในการบูรณะพระราชวังวินด์เซอร์ได้มาจากการเปิดให้ประชาชนรับชมพระราชวังบักกิงแฮมและจากการเสียสละทรัพย์สินส่วนพระองค์
แม้จะเกิดมรสุมอย่างหนัก แต่พระราชินีเอลิซาเบธ ทรงนำพาราชวงศ์ก้าวข้ามผ่านเหตุการณ์เลวร้ายและเรียกศรัทธาจากประชาชนกลับคืนมาอีกครั้งด้วยความนิ่งสงบ พร้อมทั้งรับฟังความเห็นจากสาธารณะชนอย่างกว้างขวาง
📌 ผู้นำพาราชวงศ์ไปสู่ความทันสมัย ความใกล้ชิด และเข้าถึงง่าย
เหตุการณ์แรกที่สะท้อนให้เห็นถึงความทันสมัยในรัชสมัยของพระองค์คือ “การฉายภาพขึ้นครองราชย์ของพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ผ่านโทรทัศน์ในปี 1953”
การฉายผ่านโทรทัศน์นี้เป็นครั้งแรกที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับชมภาพการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์ ประชาชนกว่า 20 ล้านคนได้ร่วมรับชมการถ่ายทอดสดอย่างล้นหลาม ส่งผลให้ยอดขายโทรทัศน์พุ่งทะยานอย่างมาก
ไม่เคยมีใครได้เห็นภาพแบบนี้มาก่อน…ภาพที่กษัตริย์ถูกสวมมงกุฎในท้องพระโรงอันโอ่อ่า
จากที่เคยเป็นพิธีอันศักดิ์สิทธิ์และเป็นเรื่องภายในชนชั้นสูงเท่านั้น กลายเป็นเรื่องที่ประชาชนคนธรรมดาสามารถรับชมได้
อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่สะท้อนถึงการนำพาราชวงศ์สู่ความทันสมัย คือ การกล่าวคำปราศรัยในวันคริสมาสต์เป็นครั้งแรกของพระราชินีเอลิซาเบธ ผ่านการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์และวิทยุ ในปี 1957
1
แน่นอนว่าในอดีตไม่เคยมีภาพของกษัตริย์ออกมากล่าวคำอวยพรในวันคริสต์มาสผ่านทางโทรทัศน์มาก่อน
1
และนี่ถือเป็นปรากฎการณ์ครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้ง…
ประชาชนดูถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์มากกว่า 16.5 ล้านคนและฟังผ่านวิทยุจำนวน 9.5 ล้านคน (นับเฉพาะเกาะบริเตนใหญ่ คือ อังกฤษ เวลส์ สก็อตแลนด์) สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมของพระราชินีเป็นอย่างมาก
การถ่ายทอดสดในครั้งนี้ เป็นการแสดงถึงความใกล้ชิดสนิทสนมระหว่างราชวงศ์และประชาชนที่เพิ่มมากขึ้นได้เป็นอย่างดี
และเมื่อไม่นานมานี้ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2022 พระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ได้ทำการเซอร์ไพร์สคนอังกฤษและทั่วโลกอีกครั้งกับการปล่อยภาพวิดีโอเฉลิมฉลองครองราชย์ครบ 70 ปี (Platinum Jubilee) ร่วมกับตัวการ์ตูนชื่อดังของอังกฤษอย่างแพดดิงตัน แบร์ (Paddington Bear)
2
จากพิธีการเฉลิมฉลองที่เป็นเรื่องน่าเบื่อ ถูกนำเสนอด้วยความสดใหม่ สนุกสนานสะท้อนความเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
การปรับเปลี่ยนราชวงศ์สู่ความทันสมัย ทำให้ ประชาชนรู้สึกใกล้ชิดและเข้าถึงได้ง่าย เป็นการสะท้อนว่าสถาบันกษัตริย์อังกฤษพร้อมปรับตัวเปลี่ยนแปลงและอยู่เคียงข้างประชาชนเสมอมา…
และนี่คือสิ่งที่พระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ได้เคยกล่าวไว้ถึงคำนิยามของการอุทิศตนเพื่อรับใช้ประชาชนในรูปแบบของพระองค์ว่า…
ข้าพเจ้าไม่สามารถเป็นผู้นำทางทหาร ตรากฎหมาย หรือตัดสินความยุติธรรมให้ใครได้ หากแต่มีสิ่งอื่นที่ข้าพเจ้าสามารถทำได้ นั่นคือการอุทิศทั้งชีวิตและหัวใจ เพื่อปกป้องประชาชนและความเป็นปึกแผ่นในชาติของเรา
สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2
📌 บทสรุป
ในสมัยของพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ราชวงศ์อังกฤษต้องเผชิญกับสภาวะทางการเมือง เศรษฐกิจ ความนิยมชมชอบจากประชาชนที่ทั้งดีและร้ายในทุกยุคสมัย แต่สิ่งที่ทำให้ราชวงศ์คงอยู่และเป็นที่เคารพรัก คือ “การรู้จักปรับตัวให้เข้ากับบริบทสมัยใหม่อยู่เสมอ”
1
ทำให้พระองค์สามารถดำรงตนในฐานะประมุขแห่งอังกฤษให้เป็นที่เคารพรักของประชาชนอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง และสามารถธำรงสถาบันกษัตริย์ของอังกฤษให้คงอยู่มายาวนานตลอดรัชสมัยของพระองค์
ดังคำมั่นสัญญาที่พระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 เคยให้ไว้อย่างแน่วแน่ว่า…
“When I was 21, I pledged my life to the service of our people and I asked for God’s help to make good that vow. Although that vow was made in my salad days, when I was green in judgment, I do not regret nor retract one word of it.”
Queen Elizabeth II
5
เมื่อข้าพเจ้าอายุได้ 21 ปี ได้ให้คำมั่นกับตนเองว่าจะอุทิศชีวิตเพื่อรับใช้ประชาชน และได้ขอประทานพรจากพระเจ้าเพื่อให้ความหวังนั้นสำเร็จด้วยดี แม้การตั้งปณิธานนี้จะมีขึ้นในสมัยที่ข้าพเจ้ายังมีความคิดอ่านที่สับสนวุ่นวาย และยังอ่อนด้อยต่อการใช้วิจารณญาณนัก แต่ข้าพเจ้าไม่เคยเสียใจที่ได้ตั้งใจไว้เช่นนี้ และจะไม่ขอถอนคำพูดแม้แต่คำเดียว
สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2
1
ผู้เขียน : ขัตติยาภรณ์ ด้วงแก้ว Political Analyst, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:
●
https://www.aljazeera.com/news/2022/9/9/the-uk-queen-elizabeth-ii-in-quotes
●
https://thestandard.co/the-role-of-the-british-monarchy-through-the-series-the-crown/
●
https://edition.cnn.com/2012/12/17/world/europe/queen-elizabeth-ii---fast-facts/index.html
●
https://www.britannica.com/biography/Elizabeth-II
●
https://www.history.com/topics/british-history/queen-elizabeth
●
https://www.thehistorypress.co.uk/articles/the-windsor-castle-fire-25-facts/
●
https://www.mcmun.org/annus-horribilis-british-monarchy-vs-the-media-1992
●
https://www.history.com/news/queen-elizabeth-ii-1957-christmas-broadcast
●
https://www.historic-uk.com/HistoryUK/HistoryofBritain/The-Coronation-1953/
●
https://www.moneybuffalo.in.th/history/queen-elizabeth-ii-uk-economy
เครดิตภาพ : Dorothy Wilding/Camera Press/Redux และ MICHAEL KAPPELER/DDP/AFP via Getty Image
อังกฤษ
สหราชอาณาจักร
ควีนเอลิซาเบธที่2
33 บันทึก
22
28
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
All About History
33
22
28
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย