30 ก.ย. 2022 เวลา 02:59 • ไลฟ์สไตล์
“หลงอยู่ในโลกธรรมดานี้ยังไม่พอ
ยังไปหลงอยู่ในโลกโซเชียล
โลกข้างใน โลกเสมือนข้างในอีก”
“ … พ่อแม่ดีสอนลูกมาได้ดี หาเงินหาทองให้ลูก มันก็ไม่ยั่งยืนอะไร เอาสัมมาทิฏฐิให้ลูกได้นั้น ก็ประเสริฐที่สุดแล้ว
คนบอกว่าอยากนิพพานๆ
แต่จริงๆ แล้วมีไม่มากที่อยากนิพพานจริงๆ
ส่วนใหญ่ก็อยากเวียนว่ายตายเกิดไปอย่างมีความสุข
น้อยคนที่ไม่อยากเกิดอีก
เราพูดถึงนิพพานๆ ไม่รู้มันคืออะไร รู้แต่ว่ามันดี
นิพพานเป็นสภาวะที่สิ้นความอยาก
สิ้นตัณหา สิ้นความอยาก
ถ้าใจมีความอยากขึ้นเมื่อไร
ใจก็มีความดิ้นรนขึ้นเมื่อนั้น
ใจมีความดิ้นรนเกิดขึ้น ใจก็มีความยึดถือ
เข้าไปหยิบไปฉวยเอากายเอาใจนี้ มาเป็นตัวเราของเรา ก็ไม่พ้นทุกข์
ถ้าเมื่อไรใจเราสิ้นความอยาก
ใจมันก็สิ้นความดิ้นรนปรุงแต่ง ใจมันก็สงบสุข
นิพพานคืออะไร นิพพานมีลักษณะอย่างไร
นิพพานเป็นสภาวะที่สิ้นตัณหา สิ้นความอยาก
อย่าไปวาดภาพนิพพานพิลึกๆ
อย่างที่บอกคนส่วนใหญ่ มันต้องการเวียนว่ายตายเกิดไปอย่างดีๆ มีความสุข ฉะนั้นคิดถึงนิพพาน ก็คิดถึงนิพพานเป็นโลกของความสุข มีตัวเรา มีของเรา มีรูปธรรม มีนามธรรม ต้องมี เพราะว่ารักใคร่หวงแหนเหลือเกิน
ที่จริงนิพพานคือความสงบ มีลักษณะสงบ
เรียกว่ามีสันติลักษณะ ลักษณะของความสงบ
แล้วความสงบนั้นมีความสุขอันมหาศาล
ถ้าเราเข้าไปสัมผัสความสงบอันนั้น
เพราะพระพุทธเจ้าท่านก็บอกว่า “สุขอื่นเสมอด้วยความสงบไม่มี”
ใจของเราไม่เคยสงบ
มันดิ้นรนปรุงแต่งทั้งวันทั้งคืน
กระทั่งคิดถึงนิพพานเราก็ปรุงแต่ง
ให้มันมีรูปธรรม ให้มันมีนามธรรม
มันจะสงบได้อย่างไร
เมื่อมันมีรูปมันก็ยังไม่เที่ยง
มีนามธรรมมันก็ยังไม่เที่ยง ยังมีความแปรปรวนอยู่
มันก็ไม่สงบหรอก
อยากเห็นนิพพานก็ต้องฝึกจิตของเรา
ให้มันมีคุณภาพที่จะเห็นนิพพาน
บอกแล้วว่านิพพานคือสภาวะที่สิ้นตัณหา สิ้นความอยาก
ถ้าเราสามารถฝึกจิตของเราจนสิ้นความอยากได้
เราก็จะเห็นนิพพาน
บ่วงของมาร
นิพพานมีอยู่แล้ว ไม่ได้เกิดขึ้นมาใหม่ๆ แต่เราไม่เห็น
เพราะเรามีแต่ความอยาก
คนทั่วๆ ไปมันก็อยากอยู่กับโลก
อยากได้รูป ได้เสียง ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัสที่ดี
อยากคิดนึกเรื่องราวที่สนุกสนานเพลิดเพลินพอใจ
อันนี้มันอยากอย่างนี้เรียกว่าอยากในกาม
จิตใจเราก็ร่อนเร่ไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย
หรือไหลไปคิดในเรื่องของกาม ตัวรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย
เป็นกามคุณอารมณ์ เป็นตัวยั่วให้ใจเราดิ้นรนแสวงหา
ตัวรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ คือสิ่งสัมผัสกาย
เป็นบ่วงของมาร
จะคล้องเอาพวกเราให้อยู่ในอำนาจ
ไม่สามารถไปพระนิพพานได้
ฉะนั้นถ้าเรายังติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสอยู่ ส่วนใหญ่ก็ติดนั่นล่ะ คนที่พ้นจุดตรงนี้ได้ก็คือพระอนาคามี
เพราะฉะนั้นพวกเราต้องระมัดระวัง
เรายังตกอยู่ในบ่วงของมารอยู่
มารยังคล้ายๆ เอาเชือกผูกคอเราลากไปเรื่อยๆ
เวียนว่ายตายเกิดไปไม่รู้จักจักจบจักสิ้น
ถ้าอยากจะพ้นจากโลก
เราก็ต้องเห็นกามคุณอารมณ์ทั้งหลาย
รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสอะไรทั้งหลายทางร่างกายนี้
ไม่มีสาระแก่นสาร
มันทำให้จิตใจของเราเสียอิสรภาพ
เราชอบในรูปที่สวยงาม
จิตใจก็มีความอยากจะเห็นรูปนั้น
พอเราเห็นรูปนั้น เราก็อยากให้รูปนั้นคงอยู่
เราไปเห็นรูปที่ไม่พอใจ เราก็อยากให้รูปนั้นสิ้นไป
ความอยากมันก็เกิดขึ้น
เวลาเราได้ยินเสียง
เสียงนี้น่าพอใจ เราก็อยากให้มันอยู่นานๆ
เสียงนี้หายไป เราก็อยากให้มันกลับมา
เราได้ยินเสียงที่เราไม่พอใจ
อยากให้มันสิ้นไป หมดไปสิ้นไป
เสียงมันก็ล่อให้เรามีความอยากขึ้นมา
รูปก็ล่อให้มีความอยากขึ้นมา
กลิ่น รส สัมผัส ก็แบบเดียวกัน
เวลาเราสัมผัสอารมณ์ที่พอใจ
เราก็ติดอกติดใจอยากให้มันอยู่นานๆ
อยากให้อยู่นานๆ ก็คือเรียกว่า ภวตัณหา
การที่เราอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
ก็ติดอยู่ในภพอย่างนั้น ถึงเรียกว่าภวตัณหา
ถ้าสัมผัสรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ไม่พอใจ
ก็อยากให้สิ้นไป ก็เป็นวิภวตัณหา
ความอยากเกิดขึ้นเราก็จะไม่มีทางเห็นพระนิพพานหรอก เพราะความอยากเกิดขึ้นทีไร ความสงบก็ไม่มี ใจมันจะดิ้นๆๆ ไปเรื่อยๆ ตามอำนาจของความอยาก
อยากได้มาใจก็ดิ้น ได้มาอยากให้มันคงอยู่ใจก็ดิ้น
ได้มาแบบสิ่งที่ไม่พอใจ อยากให้มันหมดไปสิ้นไป
พอใจมีความอยาก ใจก็ดิ้นรนขึ้นมา
ใจไม่มีความสุขหรอก ไม่มีความสงบ
อันนี้พูดถึงโลกขั้นต่ำเรียกกามาวจร
โลกที่ประณีตขึ้นไปรูปาวจร อรูปาวจร โลกของพรหม
เป็นธรรมารมณ์ที่ละเอียด ที่ประณีต
อันนี้พวกเรายังเรียนไม่ถึง เพราะเราไม่ได้ทรงฌาน
ส่วนใหญ่น้อยคนที่ทรงฌานอยู่
ถ้าจิตเราเข้าสมาธิชำนิชำนาญ
ตอนเข้าฌานทีแรกเรารู้สึก
แหม มันมีความสุขจังเลย จิตเข้าปฐมฌานได้
มันตัดความรับรู้ ไม่สนใจเสียง ไม่สนใจรูปข้างนอก
ไม่สนใจกลิ่นข้างนอก ตัดความสนใจในกาม
กามคุณอารมณ์ออกไป
มันเข้ามาสงบอยู่ที่จิตอันเดียว
จิตก็มีปีติ มีความสุข มีวิตก มีวิจาร
วิตก คือจิตมันตรึกอยู่ในอารมณ์กรรมฐาน
วิจาร คือจิตมันเคล้าเคลียอยู่ในอารมณ์กรรมฐาน
เข้าปฐมฌานได้ โอ๊ย มีความสุขจัง
ถ้ามีสติมีปัญญาเราก็จะเห็น
การที่จิตยังต้องตรึกยังต้องตรอง มีวิตก มีวิจารอยู่
มันเป็นภาระ เป็นทุกข์
ถ้าจิตเห็นอย่างนี้ มันก็วางวิตก วิจาร
มันมาอยู่ที่ปีติ รู้สึก แหม ดีจังเลย
จิตมาอยู่กับปีติ อยู่กับความสุข
อันนี้เข้าฌานที่ 2
ตรงนี้ถ้าเพลิดเพลินไป
ก็หลงเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในรูปพรหม
ถ้าบุญบารมีพอ มันก็จะเห็นอีกว่า
ปีติก็เป็นสิ่งเสียดแทงจิตใจ มันหวือหวา
เช่นนั่งสมาธิแล้วตัวก็โยกไปโยกมา นึกว่าดี
หลวงพ่อไปเจอนั่งแล้วมันเกิดปีติชนิดโยก
เอ๊ะ เข้าท่า พอเริ่มนั่งปุ๊บก็โยกเลย สมาธิหมุน
หลวงพ่อทำมาตั้งแต่เล็กๆ เลย 7 – 8 ขวบ
เสร็จแล้วเราก็เห็นอีก ปีติมันก็เป็นภาระของจิต
บางทีมีปีติแล้วตัวใหญ่
รู้สึกตัวเรานี้โตๆๆๆ ขึ้นเป็นภูเขาเลย
ทั้งใหญ่ ทั้งหนัก ทั้งแน่น รู้สึกว่าดี
ดูไปๆ ก็เป็นภาระของจิตอีก
พอสติปัญญามันแก่กล้า มันก็เห็นปีติก็เป็นส่วนเกิน
จิตมันก็ทิ้งปีติไป นี้มันก็ทุกข์ ปฐมฌานก็ทุกข์
เพราะยังมีวิตก มีวิจาร มีการตรึก การตรองอยู่ในอารมณ์กรรมฐาน
ฌานที่ 2 ก็ยังเป็นทุกข์อยู่ มีปีติอยู่
จิตใจไม่ได้สงบสุขจริง
พอจิตมันวางปีติ มันเข้ามาที่ความสุข
รู้สึก แหม ตรงนี้ดีจัง ฌานที่ 3 ดี มีความสุข
พออินทรีย์เราแก่กล้าพอ
เราก็จะเห็นอีกความสุขนั้นก็เป็นเครื่องเสียดแทงจิต
ความสุขเป็นภาระของจิต ทำให้จิตไม่สงบ
จิตมันก็วางความสุข เป็นอุเบกขาเข้าไปที่ฌานที่ 4
พอฌานที่ 4 ถัดจากนั้นก็ฌาน 5 6 7 8
1
5 6 7 8 เป็นอรูปฌานแล้ว มันทิ้งรูปไป
รู้สึกรูปเป็นภาระ จิตก็เป็นอุเบกขาทรงอยู่อย่างนั้น
นึกว่าดี
แล้วภาวนาไปเรื่อยๆ อินทรีย์แก่กล้าจริงจะเห็น
มีจิตอยู่ก็มีทุกข์ จิตจะไปอยู่ในภพในภูมิอะไร
ในกามาวจร ในรูปาวจร ในอรูปาวจร มันก็ทุกข์ทั้งนั้น
ถ้าเดินในแนวของฌานมันจะเป็นแบบนี้
จะเห็นจิตนั้นล่ะตัวทุกข์ มันก็วาง วางอะไร วางจิต
มันเห็นอยู่แล้วว่าตัวกาม ตัวรูป ตัวอรูป หาสาระแก่นสารไม่ได้
กระตุ้นให้จิตทำงานดิ้นรนขึ้นมา
ให้เกิดความอยาก เกิดความดิ้นรน
ความอยากเรียกว่า ตัณหา
ความดิ้นรนของจิตเรียกว่า ภพ
สิ่งที่ตามมา มีภพทีไรก็มีทุกข์ทุกที
จะภพน้อยภพใหญ่
ภพใหญ่อย่างของเราขณะนี้ ภพใหญ่ของเราเป็นมนุษย์
ภพน้อยๆ ของเราเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา
เป็นภพในใจเราเรียกว่า กรรมภพ
เดี๋ยวจิตเราก็ดี เดี๋ยวจิตเราก็ร้าย
เดี๋ยวก็เป็นจิตโลภ เดี๋ยวเป็นจิตโกรธ เดี๋ยวเป็นจิตหลง
เดี๋ยวเป็นจิตฟุ้งซ่าน เดี๋ยวเป็นจิตหดหู่
เดี๋ยวเป็นจิตดี มีภพทีไรก็มีทุกข์ทุกที
ถ้าเห็นอย่างนี้จิตก็วางภพไป
อันนี้พูดถึงคนซึ่งภาวนาเต็มภูมิเต็มขั้นเลย
ผ่านภพทั้ง 3 ไปเลย
แต่สำหรับพวกเรานี้ เราไม่ได้ทรงฌาน
ส่วนใหญ่ไม่ได้ทรงฌานหรอก
ยุคนี้มีแต่ความฟุ้งซ่าน ของเล่นมันเยอะ
หลอกลวงให้เราหลงวุ่นวายทั้งวันเลย
เพราะอินเทอร์เน็ตนั่นล่ะตัวดีเลย ดึงดูดเราไป
หลงอยู่ในโลกธรรมดานี้ยังไม่พอ
ยังไปหลงอยู่ในโลกโซเชียล
โลกข้างใน โลกเสมือนข้างในอีก
คือแทนที่จะคลายออกจากโลก
ก็สร้างโลกให้มากขึ้นไปอีก ประณีตซับซ้อนเข้าไปอีก
ฉะนั้นโอกาสที่พวกเราจะพ้นจากโลกนี้ ไม่ใช่ง่ายเลย
แหวกวงล้อมของมารออกไปให้ได้
ฉะนั้นต้องอดทนมากเลย ในการที่จะต่อสู้แหวกวงล้อมของมารออกไปให้ได้ ทำอย่างไรเราจะผ่านตรงนี้ให้ได้
ขั้นแรกสุดต้องถือศีล 5
ถ้าเราไม่มีศีล 5 เราจะตกเป็นเหยื่อของมารอย่างรวดเร็วเลย
อย่างเราไม่มีศีล 5 เราเห็นรูปสวยๆ เห็นผู้หญิงสวยๆ ใจเราก็ไปชอบ ลูกเขาเมียใครก็ไม่สนใจแล้ว ก็จะตกเป็นเหยื่อของมาร
มารเอารูปที่สวยมาล่อเรา เราก็ยอมผิดศีลผิดธรรม
จะตกนรกหมกไหม้อะไรก็ไม่กลัวแล้ว
เอาเสียงเพราะๆ เสียงหวานๆ มาให้เราฟัง
เราก็หลงเพลินๆ ไป ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้
เพราะฉะนั้นเรายังสู้มารไม่ได้
มารมีเครื่องมือตั้งมากมายคือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย
นี้เครื่องมือของมารที่จะจับเราเอาไว้
เรายังไม่สามารถเอาชนะตรงนี้ได้
เราก็ต้องป้องกันตัวไว้ก่อน
การป้องกันตัวไม่ให้ตกไปฮุบเหยื่อของมาร
คือการรักษาศีล 5 เอาไว้
มีเครื่องป้องกันเราไม่ให้หลง
เราอยากเห็นรูปสวยๆ เห็นผู้หญิงสวยๆ
เรามีศีล 5 เราก็ไม่ทำผิด
ไม่ใช่คู่ของเรา เราก็ไม่ยุ่งด้วย
อย่างนี้เป็นเครื่องกีดกันตัวเอง
ไม่ให้โดดตะครุบเหยื่อของมาร
มันเหมือนมารมันตกปลา
เบ็ดของมารมันเอามาเกี่ยวเหยื่อ
เหยื่อที่มารใช้มาตกพวกเราเอาไว้
ก็คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นั่นล่ะ
เรียกว่าเป็นบ่วง
เป็นเหยื่อที่มารเอามาล่อเราให้ติดอยู่ในโลก
ฉะนั้นถึงมันจะล่อเอา
เรายังชอบมันอยู่ อยู่ๆ จะไม่ให้ชอบ ไม่ได้
คนที่ไม่ติดเหยื่อตรงนี้คือพระอนาคามี เราไม่ใช่
ส่วนใหญ่พวกเรายังเป็นปุถุชน พร้อมที่จะติดอยู่
เพราะฉะนั้นเราต้องมีศีล 5 ไว้ก่อน
เราไม่มีศีล 5 เราจะตกเป็นเครื่องมือของมารทันที
เป็นบริวารของมาร
โดนเขาเอาเหยื่อมาล่อก็เป็นปลาที่ไปกินเบ็ด
ถูกเขาจับเอาไว้ เอาไปฆ่าทิ้ง
เราถูกมารจับเอาไว้ฆ่าครั้งแล้วครั้งเล่า
นับภพนับชาติไม่ถ้วน
ที่เราต้องตายแล้วตายอีก
ก็เพราะว่าเราถูกจับเอาไว้ เป็นเหยื่อของมาร
เพราะฉะนั้นอย่างต่ำที่สุด
เราจะต้องถือศีล 5 เอาไว้ให้ได้
ถ้าเราถือศีล 5 ไว้ เราก็จะไม่ไปกินเหยื่อพร่ำเพรื่อ
กินเหยื่อบางอย่างเท่านั้น
ยังติดเหยื่อไหม ยังติดอยู่
แต่ไม่ใช่เที่ยวฮุบอุตลุดไปเลย วุ่นวาย
ทุกวันนี้ดูมีแต่วุ่นวาย แย่งอันโน้นแย่งอันนี้กัน
วุ่นวายกันใหญ่
เพราะฉะนั้นเรารักษาศีล 5 เอาไว้
งานต่อไปก็คือพอเรามีศีล 5 แล้วก็เป็นงานพัฒนาจิต …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
10 กันยายน 2565
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา