30 ก.ย. 2022 เวลา 13:27 • ปรัชญา
“ชื่นชมปัญญามาก ก็ผิดพลาด โน่นก็รู้ นี่ก็รู้
ไม่รู้อย่างเดียว ตอนนี้กิเลสอะไรกำลังเกิดในใจ ไม่เห็น
มีแต่ความรู้ข้างนอก”
1
“ … ถ้าภาวนาแล้วจิตใจสว่างไสว สงบร่มเย็นอยู่อย่างนั้นนานๆ ต้องเฉลียวใจ มันคงมีอะไรผิดแล้ว
ภาวนาจนจิตสว่างไสว ฟังแล้วดี
จิตมีความสุข มีความสงบ ไม่มีกิเลส ดูแล้วดี แต่มันขัด
ขัดกับที่พระพุทธเจ้าสอน
ท่านบอกจิตไม่เที่ยง ทำไมจิตเราเที่ยง
ท่านบอกจิตมันเป็นทุกข์ ทำไมจิตเราเป็นสุข
ท่านบอกว่าจิตเป็นอนัตตา บังคับไม่ได้ ทำไมเราบังคับได้
หลวงพ่อใช้วิธีสังเกตเอาแบบนี้ มันต้องมีอะไรผิด
ค่อยๆ ดู ค่อยๆ สังเกตไป
บางเรื่องเฉลียวใจนิดหนึ่ง ก็เข้าใจแล้วมันผิดตรงนี้ๆ
บางเรื่องใช้เวลาสังเกตนาน อย่างบางครั้งภาวนา เราคิดถึงการปฏิบัติปุ๊บ จิตมันจะไปสร้างภพๆ หนึ่งขึ้นมา คือภพของนักปฏิบัติ
พวกเราร้อยละร้อย เวลาภาวนา ปฏิบัติ ก็สร้างภพทั้งนั้น แล้วไม่รู้ว่ามันเป็นภพ
ค่อยๆ สังเกตแล้วก็มองไม่ออก ว่าจิตมันไปสร้างภพขึ้นมาตอนไหน รู้แล้วว่าจิตไปติดในภพบางอย่าง มันนิ่ง มันสงบ มันสว่าง มันสบาย มันเหมือนไม่มีกิเลส ก็ใช้ความสังเกตเอา
สังเกตที่ดีมากๆ เลย ตอนเราออกจากสมาธิ
หรือถ้าเราเข้าสมาธิไม่ได้ ขอแนะนำตอนตื่นนอน
ตอนตื่นนอนอย่ามัวบิดขี้เกียจอยู่ พอตื่นนอนปุ๊บ แล้วเราคิดถึงการปฏิบัติปั๊บ จิตมันจะสร้างภพของนักปฏิบัติทันทีเลย
มันจะเคลื่อน มันเคลื่อนไปสร้างความนิ่ง ความสว่าง ความสบาย ความสุขอะไรขึ้นมา แล้วค้างอยู่ตรงนั้น
ถ้ามันเข้าไปติดแล้ว ดูยากว่ามันเกิดอะไรขึ้น จะรู้สึกว่า
แหม มันสว่างๆ สบายๆ อยู่อย่างนั้น
ดูไม่ออกว่ามันเกิดอะไรขึ้น
หลวงพ่อสังเกตเอาตั้งแต่ตอนตื่น
ตื่นนอนปุ๊บคิดถึงการปฏิบัติ
ทันทีที่คิดถึงการปฏิบัติจิตจะทำงานทันทีเลย
ไปสร้างภพของนักปฏิบัติขึ้นมา
แล้วก็ไปตกค้างอยู่ในภพอันนั้น มองไม่ออกแล้ว
เพราะมันสร้างเสียจนชิน
แต่ตอนที่เราหลับ จิตไม่ได้สร้างภพของนักปฏิบัติ
มันสร้างตอนที่เราตื่นขึ้นมา
แล้วเราไปคิดว่าเราจะปฏิบัติอย่างไรดี
จิตมันจะสร้างภพของนักปฏิบัติทันทีเลย
ส่วนใหญ่หลวงพ่อใช้วิธีสังเกตเอาอย่างนี้
สังเกตว่าจิตมันไปสร้างอะไร
มันไปปรุงอะไรขึ้นมาแล้วเรารู้ไม่ทัน
จิตก็ไปติดไปข้องอยู่อย่างนั้น
บางทีภาวนาไปเรื่อยๆ
อาการอย่างโน้นอาการอย่างนี้ เกิดมากมาย
บางครั้งเกิดปัญญามากมาย
ธรรมะทั้งหลาย มันเหมือนเรานึกถึงเท่านั้นก็เข้าใจขึ้นมาหมดเลย
แล้วสามารถเชื่อมโยงธรรมะแต่ละเรื่องๆ
มันสามารถเชื่อมโยงเข้ามาอยู่ด้วยกันได้ทั้งหมดเลย
รวมลงได้หมดเลย เราก็รู้สึก แหม ดีจังเลย
เราภาวนาแล้วเกิดสติ เกิดปัญญา อย่างนี้น่าจะดี
มีปัญญาเยอะ แต่ภาวนาไปแล้วก็เริ่มสังเกต
มีปัญญาเยอะ ทำไมจิตใจเรายิ่งหนักขึ้นเรื่อยๆ
เครียดขึ้นเรื่อยๆ ต้องมีอะไรผิด
ค่อยๆ สังเกตเอา โอ๊ย เราไปยึดถือปัญญา
ยินดีพอใจในปัญญา
ภาวนาแล้วจิตก็ฟุ้งซ่านในธรรมะ
อันนี้เราเจอแทบทุกคน
ภาวนา มันจะมีช่วงที่เราเจริญวิปัสสนาแล้ว
แล้วกำลังของสมาธิมันตกลง มันเกิดวิปัสสนูปกิเลสขึ้น
วิปัสสนูปกิเลสมี 10 อย่างไปถามหลวงพ่อกูเกิลดู
มี อย่างตัวที่เล่านี้เป็นตัวปัญญา มันรอบรู้มาก
แตกฉานมาก ธรรมะทั้งหลายลิงก์เข้าด้วยกันได้หมดเลย
เราก็สังเกต เอ๊ะ ทำไมเรายิ่งภาวนา จิตใจเรายิ่งหนัก
ต้องมีอะไรผิดแล้ว ก็สังเกตไปเรื่อย
สุดท้ายก็เข้าใจ
เราไปยึดในตัวความรู้
เราภาวนา เกิดความรู้ความเข้าใจขึ้นมา
เข้าไปยึดถือเอาไว้ ก็ไม่ถูกอีกแล้ว
กลายเป็นภาระของจิต
ก็เลยมานึกถึงพระพุทธเจ้าท่านบอกว่า
“เราภาวนา ไม่ได้เอาชื่อเสียง ไม่ได้เอาลาภสักการะ”
อย่างเป็นพระบวชเข้ามาไม่ได้เพื่อชื่อเสียง
เพื่อลาภสักการะ เพื่อตำแหน่งชั้นนั้นชั้นนี้
ไม่ใช่เพื่อความมีศีลที่ดี
ไม่ใช่เพื่อความมีสมาธิที่ดี
ไม่ใช่เพื่อความมีปัญญา
แต่ว่าเป็นไปเพื่อความปล่อยวาง เพื่อวิมุตติความหลุดพ้น
ปฏิบัติเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น
ฉะนั้นเราภาวนา บางทีเราก็ไปติดอยู่ในขั้นทำทาน
บ้าทำทาน มีความสุขอยู่กับการทำทาน เพลินๆ
เมื่อก่อนก็มีพวกเราบางคน โอ๊ย ทำบุญทำทาน
ทำแล้วก็มีความสุขตาปรอยๆ อยู่อย่างนั้นทั้งวัน
นึกทีไรก็มีความสุข
ถามว่าดีไหม ก็ดี ดีกว่าคนไม่ทำทาน
แต่ถ้าหยุดอยู่แค่นั้น พระพุทธเจ้าบอกไม่ดี
ท่านไม่สรรเสริญความดีที่มันหยุดนิ่งอยู่กับที่
บางคนภาวนาก็อยากมีชื่อเสียง
ใจมันจะอยากหาบริวาร
เที่ยวสอนคนโน้น เที่ยวสอนคนนี้
เขาไม่ได้เรียกให้สอนก็อยากจะสอนเขา
เที่ยวไปทักจิตเขาไปอย่างโน้นอย่างนี้
อยากดัง อันนี้พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้สรรเสริญ
มีชื่อเสียง มีคนนับถือ เป็นภาระ ไม่ใช่เรื่องดี
บางคนก็คลุ้มคลั่งกับการถือศีล
ถือศีลแล้วก็ภูมิอกภูมิใจ แต่ละวันก็นั่งนับศีล
ฉันมีศีลเท่านั้นเท่านี้ อิ่มอกอิ่มใจที่ได้ถือศีล
ถามว่าดีไหม ถือศีล ดี
แต่ถ้าติดอยู่แค่นั้นก็จะเครียด
จะเดินไปตามถนน บางพวก บางศาสนา เขามีไม้กวาดไว้อันหนึ่ง เวลาเขาจะเดินเขาต้องกวาดพื้นไปก่อน เพื่อไม่ให้เหยียบสัตว์
3
หารู้ไม่ว่าตอนกวาด สัตว์อาจจะขาหักไปหลายตัวแล้วก็ได้ ตัวเล็กๆ
1
ระวังเรื่องศีลจนกระทั่งเครียดไปหมดเลย
จะทำอะไรก็เครียดๆๆๆ กังวลแต่เรื่องศีล
รักษาศีลดีไหม ดี แต่รักษาไม่เป็น มีโทษ
รักษาแล้วเครียด
ฉะนั้นเราไม่ได้ภาวนา
เราไม่ได้ปฏิบัติธรรมเพื่อจะต้องเอาศีลที่ Perfect
แต่ว่าศีลต้องมี แต่ไม่ถือศีลจนกระทั่งกิเลสเกิด
เราจะเคยเห็นไหมคนถือศีลแล้วกิเลสแรง
กูเก่ง กูดีกว่าคนไม่มีศีล เทียบเขาเทียบเรา
นี่มันกิเลส กิเลสชื่อมานะ
ฉะนั้นหลายๆ คนถือศีลแล้วก็กูดีกว่าคนอื่น
กูเก่งกว่าคนอื่น คนอื่นมันเลว
นี้ก็คือกิเลส กิเลสของคนถือศีลที่เราไม่เห็น
มันจะเทียบเขาเทียบเรา
กูดีกว่าเขา เขาแย่กว่าเราอะไรอย่างนี้
บางคนภาวนาก็เพื่อสมาธิ
มุ่งทำจิตให้สงบ ให้จิตสว่างไสว
หรือต้องการรู้โน่นรู้นี่ ระลึกชาติได้ รู้อดีต รู้อนาคต
รู้ว่าใครตายแล้วไปเกิดที่ไหน
รู้ว่าจิตใจของคนอื่นตอนนี้เป็นอย่างไร
สนใจแต่เรื่องที่เกิดจากอำนาจของสมาธิพวกนี้
หรือว่าไปเข้าสมาธิแล้วก็สว่างไสว สงบ อยู่อย่างนั้น นาน
ออกจากสมาธิมาเดี๋ยวก็รีบกลับเข้าสมาธิใหม่
หลวงพ่อก็เคยเป็น ตอนนั้นจิตมันชอบเข้าสมาธิอยู่
แล้วไปเจอหลวงปู่คำพันธ์
หลวงปู่คำพันธ์ท่านก็สอน สอนดีนะ
คนรู้จักท่านในฐานะพระเกจิ ปลุกเสกพระเครื่องเยอะแยะไปหมด
หลวงพ่อไปกราบท่าน ไม่ได้กราบในฐานะพระเกจิ
เรารู้ว่าท่านเป็นพระกรรมฐาน
ก็ไปนั่งอยู่กับท่าน ภาวนาของเราไปเรื่อยๆ
ใจสบาย สบาย อยู่เป็นวันๆ ก็อยู่ได้
คนเขาไปเช่าวัตถุมงคลท่าน
แล้วเอามาให้ท่านเสกให้อีก ท่านก็ทำให้
ใครขออะไรก็ให้ ยอม
จนกระทั่งคนไม่มีแล้ว ท่านถึงหันมาพูดกับหลวงพ่อ
ท่านสอนดี ยังจำได้ ท่านบอกว่า
“เราเดินทางไกล เราจะไปสู่แผ่นดินซึ่งอุดมสมบูรณ์
แต่ว่าพอเราเดินทางมา ท่ามกลางทะเลทรายร้อนแรง
เราไปเจอแอ่งน้ำเล็กๆ มีต้นไม้ เราก็ยินดีพอใจ
ไปนั่งอยู่ใต้ต้นไม้ มีน้ำอาบ มีน้ำกิน ไม่ขาดแคลน
มีแต่ความสุข แล้วเราไม่เดินต่อ
เราไม่ฝ่าทะเลทรายต่อไป ติดอยู่ที่โอเอซิสอย่างนั้น”
ท่านไม่ได้ใช้คำว่าโอเอซิส ท่านบอกว่า
“มันเดินไปในที่แห้งแล้งกันดาร
ไปเจอที่มีน้ำ มีต้นไม้ร่มเย็น แล้วก็ไปอยู่ตรงนั้น
แล้วก็ยินดีพอใจอยู่ตรงนั้น ไม่ยอมเดินต่อ”
นี่โดนท่านเข่นเอา
เรารู้เลยว่าเอาแต่สมาธิแล้วไม่เดินปัญญา
ก็ไม่ใช่วัตถุประสงค์ของการปฏิบัติ
ที่จริงหลวงพ่อไม่ชอบสมาธิเท่าไรหรอก
ก็ทำสมาธิมาแต่เด็ก ทำอยู่ 22 ปี แล้วไม่ได้อะไร
มาเจอหลวงปู่ดูลย์ ท่านสอนให้ดูจิตแล้วมันเกิดปัญญาขึ้นมา
ก็เลยดูถูกสมาธิ ชื่นชมในปัญญา
2
ชื่นชมปัญญามาก ก็ผิดพลาด โน่นก็รู้ นี่ก็รู้
ไม่รู้อย่างเดียว ตอนนี้กิเลสอะไรกำลังเกิดในใจ ไม่เห็น
มีแต่ความรู้ข้างนอก
ต่อมาก็สังเกต อือ ต้องทำสมาธิด้วย ก็ทำสมาธิ
พอทำสมาธิก็มีความสุข มีความสงบ ติดอยู่อย่างนั้น
ว่างๆ สว่าง สบาย
หลวงปู่คำพันธ์ท่านก็พูดเหมือนเล่านิทานให้ฟังว่า
“คนมันเดินทางไปท่ามกลางความแห้งแล้ง
ไปเจอบ่อน้ำ ไปเจอต้นไม้ ก็ไปนอนอยู่ใต้ต้นไม้
ไม่ยอมเดินต่อ”
ท่านพูดยิ้มๆ คนอื่นมันฟังก็ไม่เข้าใจหรอก
ว่าอยู่ๆ ท่านมาพูดเรื่องอะไร ต้นหมากรากไม้อะไร
เราฟังปุ๊บเรารู้แล้ว ท่านสอนเราแล้ว เตือนเราแล้ว
อย่าติดสมาธิ สงบ สบาย มีแต่ความสุขอยู่อย่างนั้น
ก็นึกถึงที่พระพุทธเจ้าสอน
เราไม่ได้ปฏิบัติเพื่อเอาสมาธิ
ไม่ได้ปฏิบัติเพื่อศีล เพื่อสมาธิ เพื่อปัญญา
ไม่ได้เอาสักอย่างหนึ่ง
เราปฏิบัติเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้นต่างหาก
เราจะเข้าถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้นได้
ก็ต้องเห็นความจริง
จนกระทั่งจิตมันหมดความยินดีหมดความยินร้าย
ในรูปธรรมในนามธรรมทั้งปวง
1
ที่เรายึดๆ ถ้าไม่ยึดรูปธรรมก็ยึดนามธรรม
ไม่ยึดนามธรรมก็ไปยึดรูปธรรม
ที่จริงก็คือยึดทั้งหมด อะไรปรากฏขึ้นมาก็ยึดอันนั้น
ร่างกายปรากฏก็ยึดกาย
นามธรรมปรากฏก็ยึดนามธรรม
จิตใจเราไปยึดถือ
เพราะฉะนั้นเราไม่มีทางพ้นทุกข์ได้หรอก
ถ้าเราไปยึดสิ่งต่างๆ ซึ่งล้วนแต่ไม่เที่ยง
ล้วนแต่ทนอยู่ไม่ได้ ล้วนแต่บังคับไม่ได้
เราไปยึดของซึ่งมันเหลวไหลพวกนี้
เพราะฉะนั้นเราจะถึงความสงบสุขที่แท้จริงไม่ได้หรอก
เราจะหมดความยึดถือ เราต้องเห็นความจริง
ยึดกายก็เห็นความจริงของกาย
ยึดในความสุข เกลียดชังในความทุกข์
เราก็เห็นความจริงของเวทนา
ยึดในกุศล เกลียดอกุศล
เราก็ต้องเห็นความจริงของสังขาร
สังขารขันธ์ ความปรุงดี ความปรุงชั่วทั้งหลาย
หรือเราเห็นจิต จิตทำงาน มันทำได้เอง
เดี๋ยวมันก็ทำงานไปก็เกิดสุข ทำงานไปก็เกิดทุกข์
ทำงานไปเกิดกุศล ทำงานไปเกิดอกุศล
เฝ้ารู้เฝ้าดูไป เห็นไตรลักษณ์ซ้ำๆๆ มันก็วาง
ไม่ยินดีในจิตที่มีความสุข เพราะรู้ว่ามันไม่เที่ยง
ไม่ยินร้ายในจิตที่มีความทุกข์ เพราะรู้ว่ามันไม่เที่ยง
ไม่ยินดีในจิตที่เป็นกุศล เพราะรู้ว่ามันไม่เที่ยง
ไม่ยินร้ายในจิตที่เป็นอกุศล เพราะรู้ว่ามันไม่เที่ยง
พอเราเห็นไตรลักษณ์ซ้ำๆๆ
ในที่สุดจิตก็หมดความยินดียินร้าย จิตก็เป็นกลาง
พอจิตมันไม่ยินดี ไม่ยินร้าย มันเป็นกลาง มันก็ไม่ดิ้นรน
จิตที่มันไม่ดิ้นรน ไม่มีความอยาก
ไม่มีความดิ้นรนเกิดขึ้น
มันก็เข้าถึงสันติสุข มันมีความสงบ
พระนิพพานไม่ใช่สิ่งอื่นหรอก พระนิพพานคือความสงบ
อย่าไปวาดนิพพานเป็นเมืองๆ หนึ่ง
อันนั้นอาจจะเป็นนิมิต
บางคนภาวนาแล้วก็เห็นโลกพระนิพพาน
อันนั้นเป็นนิมิต
บางท่านท่านเข้าใจความจริง
อย่างบางองค์ท่านภาวนาดี
แต่ท่านชอบพูดถึงโลกนิพพาน อันนั้นเป็นอุบาย
เป็นอุบายให้เราอยากได้นิพพานไปก่อน
แล้วพอเราเจริญสติปัฏฐานมากๆ
เราไม่ยึดรูป ไม่ยึดนาม ก็รู้จักนิพพานตัวจริงได้
เป็นอุบายของท่าน บางองค์ …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
17 กันยายน 2565
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา