Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Storytelling Beside Dish
•
ติดตาม
29 ก.ย. 2022 เวลา 11:36 • อาหาร
“กระยาสารท ขนมอุทิศเปรตชนประจำเทศกาลสารทเดือนสิบ: ขนมโบราณที่มีตำนานมาแต่สมัยพุทธกาล?”
“กระยาสารท” ถูกกำหนดให้เป็นขนมประจำเทศกาลสารทเดือนสิบโดยใครก็ไม่รู้ และก็เช่นเดียวกัน ไม่รู้ว่าใครอีกที่กำหนดว่ากระยาสารทต้องกินกับ “กล้วยไข่” ทั้งที่หมู่บ้านของเรามีกล้วยน้ำว้าสุกเต็มสวน แต่พอใกล้ถึงวันออกวัดทำบุญสารทเดือนสิบแม่ก็ต้องนั่งเรือหางยาวเข้าตลาดไปซื้อข้าวเม่า ถั่ว งา และกล้วยไข่ ยกเว้นน้ำตาลมะพร้าวที่บ้านเราทำได้เอง
กระยาสารทคลุกมะพร้าวห้าวหรือมะพร้าวทึนทึกขูด เมนูนี้จะอุบัติขึ้นที่บ้านสวนหลังเทศกาลสารทเดือนสิบผ่านไปนาน หรือย่างเข้าเทศกาลออกพรรษาแล้ว
ว่ากันว่า “กระยาสารท” เป็นขนมหวานโบราณของไทยอย่างหนึ่ง มีคนบอกให้เราเชื่อว่า กำเนิดของมันเกิดขึ้นในชมพูทวีป และมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลเป็นอย่างน้อย
“กระยาสารท” แปลว่า "อาหารที่ทําในฤดูสารท" และโดยคำศัพท์ “สารท” หมายถึง เทศกาลทำบุญในวันสิ้นเดือน 10 โดยนำพืชพรรณธัญญาหารแรกเก็บเกี่ยวปรุงข้าวทิพย์ และข้าวมธุปายาสถวายพระภิกษุสงฆ์ อุทิศกุศลแก่ญาติผู้ล่วงลับ
“กระยาสารท” ทำจากถั่วลิสง งา ข้าวคั่ว หรือข้าวเม่า หรือข้าวตอก กวนหรือผัดกับน้ำตาล เป็นอาหารตามประเพณี ที่มักจะทำกันมากในช่วงสารทไทย คือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 เพื่อทำบุญอุทิศกุศลผลบุญให้ปู่ย่าตายายและญาติมิตรทั้งหลายผู้ล่วงลับไปแล้ว
“กระยาสารท” นอกจากจะเป็นขนมเก่าแก่ของไทย และยังมีที่หน้าตาคล้าย ๆ กันนี้อยู่ทั่วไปในภูมิภาคอุษาคเนย์ของเรา เป็นขนมประจำเทศกาลสารทเดือนสิบ ช่วงเวลาที่ผู้คนทั้งภูมิภาคประกอบพิธีกรรมอุทิศพลีบรรพชนผู้ล่วงลับ เป็นค่านิยมของมนุษย์ที่รักใคร่ผูกพันปู่ย่าตายายญาติมิตรที่ย่อมรำลึกนึกถึงผู้ล้มหายตายจาก และขนมชนิดนี้ก็ใช้วัตถุดิบที่เป็นผลผลิตใหม่ของฤดูกาลที่เลือกสรรทำขึ้นแทนความนึกถึง
“กระยาสารท” เมื่อวิเคราะห์ตามวัตถุประสงค์ที่ทำขึ้นเพื่อรำลึกนึกถึงปู่ย่าตายายผู้ล่วงลับ ทำให้เชื่อได้ว่า ความเก่าแก่ที่อ้างอิงถึงสมัยพุทธกาลนั้นอาจมีความเป็นไปได้ แต่เกี่ยวกับพุทธศาสนาหรือไม่ อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา เป็นแต่การเชื่อมโยงภายหลังการยอมรับนับถือ “พุทธศาสนา” เข้ามาแทนที่ หรือควบรวม “ศาสนาผี” ของคนอุษาคเนย์แล้วก็เป็นไปได้
โดยจะพบว่า คนอุษาคเนย์มีประเพณีพิธีกรรมเพื่อรำลึกนึกถึงผีปู่ย่าตายายในช่วงเดือนสิบนี้มากมายถ้วนหน้า เป็นต้นว่า
คนล้านนา หรือคนทางภาคเหนือของไทยมีประเพณีงานทานสลากภัต หรือ "ตานก๋วยสลาก"
คนล้านช้าง หรือคนลาวและคนอีสานของไทยทำบุญข้าวสาก (จับสลาก) นอกจากนี้ คนลาวและคนอีสานยังมีประเพณี “บุญข้าวประดับดิน” ที่อุทิศมอบแด่บรรพชนผู้ล่วงลับเช่นกัน แต่ทำในเดือน 9
คนกัมพูชา หรือคนเขมร รวมทั้งคนเขมรถิ่นไทยมีสารทเขมร ประกอบพิธีกรรม “แซนโฎนตา” เซ่นไหว้บรรพชนปู่ย่าตายายผู้ล่วงลับ
คนมลายูหรือคนทางใต้ของไทยมีงานประเพณีสารทเดือนสิบ หรือ “ประเพณีชิงเปรต”ทำบุญอุทิศแด่เปรตชนเข่นเดียวกัน
1
2
คนมอญมีงานบุญ 3 ลักษณะ คือ ทำบุญรำลึกเปรตชน (ปัจจุบันหลงเหลืออยู่แต่มอญพระประแดง) อีกลักษณะหนึ่งคือ ประเพณีลอยเคราะห์ นิยมทำกันในหมู่คนมอญในรัฐมอญ ประเทศเมียนมา และสังขละบุรี ส่วนลักษณะที่สาม ได้แก่ ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง ประเพณีหลังนี้เน้นอุทิศถวายแด่พระภิกษุสงฆ์เป็นสำคัญ
ส่วนคนจีนมีประเพณีไหว้พระจันทร์ เพื่อเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยวพืชผล ขอบคุณเทพเจ้าและวิญญาณบรรพชนปู่ย่าตายายที่บันดาลให้การเพาะปลูกราบรื่น ให้ผลผลิตที่น่าพึงพอใจ
1
โดยรวมก็เป็นประเพณีเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยว เมื่อผลผลิตดีก็อดนึกถึงปู่ย่าตายายผู้ล้มหายตายจากที่เคยอยู่เคยกินด้วยกันไม่ได้ ก็คัดผลผลิตอย่างดี ข้าวใหม่ ๆ ถั่วเม็ดใหญ่ งาหอมมัน และน้ำตาลรสดี ประกอบอาหารทำบุญกรวดน้ำไปให้ ผ่านพิธีกรรมรำลึกนึกถึงคนล่วงลับ
“กระยาสารท” ของคนบ้านสวนแต่ไหนแต่ไรมาก็มีวัตุถุดิบ 3-4 อย่างเท่าที่เห็น หน้าตาไม่ได้เป็นแผ่นแข็งเหนียวเพราะใส่แบะแซ เวลากินต้องทุ่มเทพลังแรงงานที่ส่งจากกรามซ้ายขวาล่างบน กระยาสารทบ้านสวนเนื้อร่วน ข้าวเม่ายังเป็นเม็ดข้าวเม่า ถั่วยังเป็นเม็ดถั่ว และงาก็ยังเป็นเม็ดงา ต่างคนต่างอยู่ ของใครของมัน กวนเสร็จต้องตักใส่ปี๊บหรือโอ่งเก็บไว้
รสหวานแหลมของกระยาสารทจะถูกชำแรกด้วยรสมันและเค็มจากมะพร้าวขูดพรมน้ำเกลือ
ระหว่างหน้าเทศกาลคงไม่มีใครอยากแตะกระยาสารทเพราะทุกบ้านทำเหมือนกัน วันทำบุญที่วัดก็ล้นศาลาจนเด็กวัดเมินหน้า จนผ่านพรรษาไปแล้วเป็นเดือน หรือเวลาอดไม่มีอะไรกินจริง ๆ จึงจะนึกถึง ก็ตักเอากระยาสารทร่วน ๆ ในปี๊บมาแปรรูป ขูดมะพร้าวห้าว หรือมะพร้าวทึนทึก พรมน้ำเกลือพอปะแล่มๆ คลุกเคล้ากระยาสารท จะได้ขนมกระยาสารท Looks ใหม่วิไลกว่าเดิม
3
ประวัติศาสตร์อาหาร
เรื่องเล่าข้างสำรับ
ขนมหวาน
1 บันทึก
9
13
5
1
9
13
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย