30 ก.ย. 2022 เวลา 12:26 • หุ้น & เศรษฐกิจ
🔎 [INVESTMENT] - ทำไมจึงมีกองทุนรวมตราสารหนี้ที่สร้างผลตอบแทนได้เกือบ 14% ในรอบ 1ปีที่ผ่านมา ?!? ในขณะที่ดอกเบี้ยปรับขึ้นและราคาพันธบัตรปรับลง !
1
📝 บทความโดย T-Da
ในภาวะตลาดหุ้นขาลงแบบปัจจุบันนี้ กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นมักจะถูกใช้เป็นที่พักเงินสำหรับนักลงทุนเพราะมูลค่าหน่วยลงทุนจะไม่ค่อยผันผวนมาก นักลงทุนส่วนใหญ่มักจะติดภาพว่ากองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นนั้นให้ผลตอบแทนในระดับต่ำมาก ไม่เกิน 1%ต่อปี ในขณะที่กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะยาวได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้นถึงขั้นให้ผลตอบแทนติดลบ แต่ในช่วง 1ปีที่ผ่านมานี้กลับมีกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นบางกองทุนที่สร้างผลตอบแทนได้เกือบ 14% เป็นเพราะอะไร ?
หากเราคัดเอากองทุนรวมตราสารหนี้ที่ทำผลตอบแทนได้อย่างโดดเด่นในปีนี้มาวิเคราะห์ดู จะพบว่ากองทุนที่ทำผลตอบแทนได้สูงสุด 2 อันดับแรก อันได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ระยะสั้นต่างประเทศ (SCBFST) และกองทุนเปิดทิสโก้ยูเอสตราสารหนี้ระยะสั้น (TUSFIX) ล้วนเป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศระยะสั้น (อายุ 1-3เดือน) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะลงทุนในพันบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (US Treasury Bill) ระยะสั้นเหมือนกัน
1
นอกจากนี้ยังมีนโยบายการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของกองทุนที่เหมือนกัน คือ ไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน (หรือขึ้นกับดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน)
1
เมื่อนำผลตอบแทนย้อนหลัง 1ปี ของกองทุน SCBFST (14.04%) และ TUSFIX (13.65%) มาเปรียบเทียบกับการอ่อนค่าของเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ในรอบ 1ปีที่ผ่านมาที่อ่อนค่าไปเกือบ 13% แล้วจะพบว่าทิศทางการเคลื่อนไหวของผลตอบแทนของทั้ง 2 กองทุนนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับอัตราแลกเปลี่ยน USD/THB แทบจะตลอด
หมายความว่าผลตอบแทนส่วนใหญ่ (เกือบ 13%) นั้นมาจากกำไรในการถือครองสกุลเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นมาเทียบกับค่าเงินบาทนั่นเอง ในขณะที่ผลตอบแทนส่วนเกินจากนั้น (0.67%-1.06%) ต่างหากที่ได้มาจากตราสารหนี้ระยะสั้นที่กองทุนรวมนั้นลงทุนอยู่
3
แทบจะเรียกได้ว่าการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นต่างประเทศที่มีนโยบายไม่ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนนั้น เกือบจะเหมือนกับการซื้อเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ มาถือครองไว้เลยทีเดียว นั่นหมายความว่านักลงทุนจะได้กำไรหากเข้าลงทุนในช่วงที่เงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และในทางตรงกันข้ามก็จะประสบภาวะขาดทุนได้หากเข้าลงทุนในช่วงที่เงินบาทมีทิศทางแข็งค่าเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
1
การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ เร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (ล่าสุดขึ้น 0.75% มาอยู่ที่ 3.25% และคาดการณ์ว่าจะขึ้นอีก 0.75% ในเดือน ต.ค. นี้) เพื่อกดดันเงินเฟ้อให้กลับลงมา ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีการขึ้นดอกเบี้ยอย่างช้าๆ (ล่าสุดขึ้น 0.25% มาอยู่ที่ 1.00%) ด้วยความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง ทำให้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ - ไทยกว้างถึง 2.25% ในปัจจุบัน และมีแนวโน้มกว้างขึ้นอีกในอนาคต เพราะธนาคารกลางยังมีแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยในอัตราเร่งที่แตกต่างกัน
ปัจจัยเรื่องส่วนต่างดอกเบี้ยนโยบายนี้ นอกจากจะทำให้เกิดเงินทุนไหลออกจากไทยเพื่อไปหาผลตอบแทนที่สูงกว่าในสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าแล้ว ยังทำให้การป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนดูไม่น่าดึงดูดสำหรับกองทุนรวมที่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงบางส่วนหรือขึ้นกับดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุนด้วย เพราะอัตราแลกเปลี่ยนที่ขายได้ล่วงหน้าในอนาคตต่ำกว่าปัจจุบัน ทำให้ผลตอบแทนที่ได้ลดลง
ยกตัวอย่างเช่น อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันอยู่ที่ 38 บาท : 1 ดอลลาร์ฯ ในขณะที่คาดการณ์อัตราดอกเบี้ยในอนาคตจะเป็น 1.00%ต่อปี สำหรับเงินบาท : 4.00%ต่อปี สำหรับเงินดอลลาร์ ดังนั้นหากเราต้องการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับพันธบัตรที่จะครบอายุ 1ปีข้างหน้า จะไม่สามารถทำได้ที่อัตรา 38 บาท/ดอลลาร์ แต่จะได้ที่อัตรา 38บาท+ดอกเบี้ย1%ต่อปี : 1ดอลลาร์+ดอกเบี้ย4%ต่อปี นั่นคือ 38.38บาท : 1.04 ดอลลาร์ หรือคิดเป็น 36.9 บาท/ดอลลาร์ หมายถึงว่าผลตอบแทนจะหายไปทันที 1.1 บาท/ดอลลาร์
(เป็นตัวอย่างเพื่อความเข้าใจเท่านั้น อัตราที่แท้จริงในตลาดจะแตกต่างจากนี้)
จากข้อมูลข้างต้นนั้นสรุปได้ว่า การลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศจะดูแต่ผลตอบแทนในอดีตอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องวิเคราะห์ให้เข้าใจว่าที่มาที่ไปของผลตอบแทนนั้นคืออะไร สำหรับกองทุนรวมมีนโยบายไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนทั้งหมด นักลงทุนต้องคอยศึกษาดูแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนประกอบไปด้วย ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่อค่าเงินบาทนั้นไม่ได้มีเพียงส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยเรื่องดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งมีผลโดยตรงต่อความต้องการเงินบาทอีกด้วย
2
สำหรับกองทุนรวมตราสารหนี้ต่างประเทศที่มีอายุยาวกว่า 3เดือน จะมีความผันผวนของผลตอบแทนที่มากกว่าจึงมักจะมีนโยบายในการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน (อาจจะเต็มจำนวน หรือเป็นส่วนใหญ่) ทำให้ไม่ได้ผลประโยชน์จากการอ่อนค่าของเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ฯ ดังนั้นผลตอบแทนย้อนหลัง 1ปี ของกองทุนเหล่านี้และกองทุนรวมตราสารหนี้ไทย จึงอยู่ในระดับไม่เกิน 1% ซึ่งก็ยังตอบโจทย์ในการเป็นที่พักเงินในภาวะตลาดหุ้นขาลงได้
เช่น กองทุนเปิดเคเคพีตราสารหนี้พลัส (KKP Plus), กองทุนเปิดเอกตราสารหนี้คือกำไร (ONE-FAR) ซึ่งให้ผลตอบแทนย้อนหลัง 1ปี ที่ผ่านมาราว 0.48%-0.58%
ถ้าจะให้ตอบโจทย์การหาที่พักเงินในช่วงที่เงินเฟ้ออยู่ในขาขึ้นด้วยนั้นก็สามารถลงทุนในกองทุนรวมพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ (Inflation Linked Bond) ตามคำแนะนำของคุณปู่ Warren Buffet เช่น กองทุนเปิดกรุงไทยอ้างอิงเงินเฟ้อ (KTILF) ได้ แต่ต้องดูจังหวะการเข้าลงทุนด้วย (เพราะผลตอบแทนจะเริ่มปรับลงเมื่อ inflation expectation ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว)
ซึ่งเคยอธิบายรายละเอียดไว้ในบทความ "ทำความรู้จักกับพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ (Inflation Linked Bond) .... ทางเลือกในการลงทุนท่ามกลางเงินเฟ้อ ที่คุณปู่ Warren Buffet แนะนำ" ที่เคยเขียนไว้เมื่อเดือน พ.ค. 2022
🔊 นักลงทุนท่านใดสนใจเข้ามาร่วมกลุ่ม LINE เพื่อศึกษาการลงทุนที่ดีไปกับทีม Trader KP
สามารถติดต่อได้ที่ LINE Official @traderkp (https://lin.ee/a3S9iGv) ได้เลยครับ การลงทุนที่ดีอยู่ห่างจากคุณเพียงไม่กี่คลิก 👍😊
1
หรือรับการแจ้งเตือนข่าวด่วนทาง LINE กับ Trader KP ได้ที่ - https://bit.ly/3OPOvYV
#ทันโลกกับTraderKP #BlockditExclusive #TDa
โฆษณา