1 พ.ย. 2022 เวลา 02:00 • หนังสือ
วิทยาศาสตร์แห่งความสำเร็จ The Formula
มีใครเคยถามเกี่ยวกับความสำเร็จของตัวคุณหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นด้านการใช้ชีวิต การศึกษา อาชีพการงาน ความสัมพันธ์ หรือครอบครัว
ถ้าถามคนทั่ว ๆ ไป เรามักนิยามความสำเร็จส่วนบุคคลไว้ในหลายด้าน ตัวอย่างเช่น ประสบความสำเร็จในการศึกษา คือ จบปริญญาตรี ปริญญาโท หรือปริญญาเอก ประสบความสำเร็จในอาชีพการค้าขาย คือ ทำกำไรได้ต่อเนื่อง ธุรกิจเติบโต ไม่มีหนี้ ประสบความสำเร็จในการแข่งขันกีฬา คือ ชนะเลิศการแข่งขัน ได้รับเหรียญรางวัล
ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นความสำเร็จในมุมมองส่วนบุคคล มองในมุมของตัวเราเอง
จากการอ่านหนังสือ “วิทยาศาสตร์แห่งความสำเร็จ” หรือ The Forumula ผู้เขียน Albert-László Barabási (ผู้แปล ทีปกร วุฒิพิทยามงคล) ได้นำเสนอมุมมองความสำเร็จผ่านเลนส์นักวิทยาศาสตร์เครือข่าย (Network scientists) ซึ่งทำให้ความสำเร็จนั้น สามารถ ชั่ง ตวง วัด ได้ และนิยามความสำเร็จว่ามิใช่ความสำเร็จในมุมมองส่วนบุคคล แต่เป็นมุมมองของคนอื่นหรือเป็นของเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในศาสตร์หรือสาขานั้น ๆ
หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า ความสำเร็จในมุมมองของวิทยาศาสตร์เครือข่าย จะวัดในสิ่งที่คนอื่น ๆ หรือเครือข่ายนั้น ๆ รับรู้ ซึ่งอาจวัดออกมาในรูปของชื่อเสียง การได้รับการอ้างอิงถึง จำนวนถูกค้นหาบนเสิร์ชเอ็นจิ้นต่าง ๆ การตั้งราคาของผลงาน เป็นต้น
ในหนังสือมีตัวอย่างของความสำเร็จในมุมมองของวิทยาศาสตร์เครือข่ายไว้หลายอย่าง พร้อมชี้ให้เห็นว่า บางคนนั้นเก่งกาจ มีฝีมือ แต่ไม่ได้รับการยอมรับ แต่บางคนฝีมือไม่ต่างกัน แต่กลับเป็นที่ยอมรับมากกว่า ตัวอย่างเช่น โทมัส อัลวา เอดิสัน ไม่ได้ประดิษฐ์หลอดไฟฟ้าคนแรก แต่ทุกคนต่างคิดว่า เอดิสัน เป็นคนทำหลอดไฟ และเอดิสันมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในวงการและเป็นที่รู้จักมากกว่าคนที่ประดิษฐ์คนแรกเสียอีก
เมื่อความสำเร็จในมุมมองของวิทยาศาสตร์สามารถชั่งตวงวัดได้ ผู้เขียนหนังสือ ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์เครือข่าย จึงได้นำข้อมูลวิจัยที่รวบรวมได้มาวิเคราะห์และสังเคราะห์ กฎของความสำเร็จไว้ 5 ข้อเกี่ยวกับความสำเร็จไว้ดังนี้
กฎข้อที่ 1 ผลงานขับเคลื่อนความสำเร็จ แต่เมื่อวัดค่าผลงานไม่ได้ เครือข่ายจะเป็นตัวขับเคลื่อนความสำเร็จแทน
กฎข้อที่ 2 ผลงานมีขีดจำกัด แต่ความสำเร็จนั้นไม่มี
กฎข้อที่ 3 ความสำเร็จที่ผ่านมา x ความเหมาะสม = ความสำเร็จในอนาคต
กฎข้อที่ 4 ความสำเร็จของทีมมาจากความหลากหลายและสมดุล แต่มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่จะได้เครดิตว่าเป็นผู้สร้างความสำเร็จนี้
กฎข้อที่ 5 ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น
ถ้าเราต้องการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ในมิติของวิทยาศาสตร์เครือข่าย นอกจากจะต้องพัฒนาตนเองเพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่ดีและมีคุณค่าแล้ว การสร้างเครือข่ายและเชื่อมโยงผลงานตนเองเข้ากับเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เป็นปัจจัยสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม หนังสือเล่มนี้เปิดมุมมองใหม่ ๆ เกี่ยวกับความสำเร็จผ่านเลนส์ของวิทยาศาสตร์เครือข่ายได้เป็นอย่างดี

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา